“…การที่ กปภ. ใช้วิธีการต่อสัญญาฯให้ บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด ไปอีก 20 ปี นั้น อาจทำให้เกิดข้อควรหาว่า เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนเพียงรายเดียว และเป็นการหลีกเลี่ยงการประกวดที่ให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรมใช่หรือไม่ รวมทั้งเป็นวิธีที่ กปภ. อาจไม่ได้รับประโยชน์สูงสุด…”
.............................
เป็นประเด็นที่ต้องจับตามอง
เมื่อ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการประปาส่วนภูมิภาค (สร.กปภ.) เข้ายื่นหนังสือต่อ ประธานคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.) ขอให้ตรวจสอบกรณี การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) เตรียมแก้ไข (ต่อ) สัญญาให้สิทธิดำเนินการผลิตและจำหน่ายน้ำประปาให้ บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด ออกไปอีก 20 ปี
เนื่องจาก สร.กปภ. เห็นว่าอาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้เอกชนเพียงรายเดียว หลีกเลี่ยงการประกวดราคา และอาจส่งผลให้รัฐได้รับความเสียหายใน ‘ส่วนต่างของผลกำไร’ สูงถึง 1.44 หมื่นล้านบาท ในช่วงอายุสัญญา 20 ปี (อ่านประกอบ : ร้องประธานกมธ.‘ป.ป.ช.’ สอบ ‘กปภ.’ เล็งต่อสัญญาซื้อน้ำประปา 20 ปี เอื้อเอกชนรายเดียว)
ขณะที่ก่อนหน้านี้ คือ เมื่อวันที่ 12 ต.ค.2564 สร.กปภ. ยื่นฟ้อง กปภ. ต่อศาลปกครอง ขอให้ศาลฯมีคำพิพากษาให้ กปภ. ยุติกระบวนการการแก้ไขเพื่อขยายสัญญาให้สิทธิดำเนินการผลิตและจำหน่ายน้ำประปาให้ บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด เนื่องจากเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชน
พร้อมทั้ง ขอให้ศาลฯสั่งให้ กปภ. ดำเนินการตามความเห็นของ รมต.มหาดไทย และมติของคณะกรรมการ กปภ. ในการประชุมครั้งที่ 4/2562 เมื่อวันที่ 24 เม.ย.2562 ซึ่งมีมติให้ กปภ. เป็นผู้ดำเนินกิจการผลิตและจำหน่ายน้ำประปาเอง ภายหลังรับโอนทรัพย์สินจาก บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด ในวันที่ 14 ต.ค.2566 ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดสัญญา
@ย้อนที่มาสัญญาขายน้ำประปา ‘บ.ประปาปทุมธานี’
เพื่อให้สาธารชนรับทราบที่มาของเรื่องนี้ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอสรุปความเป็นมาและปมพิพาทกรณีที่ กปภ. เตรียมพิจารณาต่อสัญญาให้สิทธิดำเนินการผลิตและจำหน่ายน้ำประปาให้ บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด ออกไปจนถึงปี 2586 ดังนี้
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 31 ส.ค.2538 กปภ. ทำสัญญาให้สิทธิดำเนินการผลิตและจำหน่ายน้ำประปาแก่ บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด ในพื้นที่ปทุมธานีและรังสิต ในรูปแบบ BOOT (Build-Own-Operate-Transfer) คือ ให้บริษัทฯ ลงทุนระบบผลิตและจำหน่ายน้ำประปา และมีสถานะเป็นเจ้าของ ทรัพย์สินหลังก่อสร้างแล้วเสร็จ
และให้บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด มีหน้าที่ดูแลบำรุงรักษาระบบผลิตและจำหน่ายน้ำประปา และจำหน่ายน้ำประปาให้กับ กปภ. เพื่อนำน้ำประปาที่ผลิตได้ไปขายต่อให้กับประชาชนพื้นที่ปทุมธานีและรังสิต โดยมีอายุสัญญา 25 ปี นับตั้งแต่วันเริ่มขายน้ำประปา หรือมีอายุสัญญาตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค.2541-14 ต.ค.2566
สัญญายังระบุว่า เมื่อสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 14 ต.ค.2566 บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด จะต้องส่งมอบทรัพย์สินทั้งหมดให้แก่ กปภ.
ทั้งนี้ นับตั้งแต่ บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด เริ่มขายน้ำประปาให้ กปภ. พบว่ามีการแก้ไขสัญญา 3 ครั้ง (วันที่ 15 ก.ย.2549 , วันที่ 8 พ.ย.2549 และวันที่ 3 ก.ย.2558) ซึ่งมีสาระสะคัญ คือ ให้ กปภ. เพิ่มปริมาณการรับซื้อน้ำประปาจาก บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด
ส่งผลให้ปัจจุบัน กปภ. เพิ่มปริมาณการซื้อน้ำประปาจาก บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด เป็น ‘ไม่น้อยกว่า’ 358,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน จากสัญญาฉบับแรกที่กำหนดให้ กปภ. รับซื้อน้ำประปา ‘ไม่เกิน’ 288,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน
ส่วนราคาน้ำประปาที่ กปภ. รับซื้อจาก บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด นั้น นับตั้งแต่ปี 2541 จนถึงปัจจุบัน พบว่า ราคาเพิ่มจาก 7.89 บาทต่อลูกบาศก์เมตร เป็น 12.50 บาทต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งการปรับเพิ่มราคาน้ำประปาดังกล่าวเป็นตามที่ระบุไว้สัญญา ซึ่งคำนวณจากอัตราเงินเฟ้อ (CPI)
@พบข้อมูล ‘กปภ.’เตรียมต่อสัญญาให้เอกชนอีก 20 ปี
แต่ทว่า ก่อนที่สัญญาให้สิทธิดำเนินการผลิตและจำหน่ายน้ำประปาแก่ บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด จะสิ้นสุดลงในวันที่ 14 ต.ค.2566 หรือในอีกประมาณ 2 ปีข้างหน้านั้น
ปรากฏว่า เมื่อเดือน มิ.ย.2564 มีร่างเอกสารสัญญาให้สิทธิดำเนินการผลิตและจำหน่ายน้ำประปา (ฉบับแก้ไข) ระหว่าง กปภ. และ บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด ฉบับวันที่ 30 ก.ย.2564 เผยแพร่ออกมา และกำหนดชื่อผู้ลงนามฝ่าย กปภ. คือ สมบูรณ์ สุนันทพงศ์ศักดิ์ ผู้ว่าการ กปภ.
โดยร่างสัญญาฯฉบับนี้ ระบุว่า กปภ. จะแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาให้สิทธิดำเนินการผลิตและจำหน่ายน้ำประปาให้ บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด โดยจะขยายเวลาการให้สิทธิดำเนินการผลิตและจำหน่ายน้ำประปาให้ บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด ออกไปจนถึงวันที่ 14 ต.ค.2586 จากสัญญาปัจจุบันที่จะสิ้นสุดวันที่ 14 ต.ค.2566
กปภ.ยังเพิ่มปริมาณรับซื้อน้ำประปาขั้นต่ำจาก บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด เป็น 440,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค.2564 ถึงวันที่ 14 ต.ค.2566 และในช่วงท้ายๆของสัญญา จะรับซื้อน้ำประปาขั้นต่ำเป็น 530,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค.2568 ไปจนถึงวันสิ้นสุดสัญญา (14 ต.ค.2586)
สำหรับราคารับซื้อน้ำประปานั้น กปภ.จะชำระค่าน้ำประปาให้แก่ บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด ในอัตรา 10.15 บาทต่อลูกบาศก์เมตร (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) และปรับเพิ่มค่าน้ำประปาทุกวันที่ 1 ม.ค.ของแต่ละปี ตามอัตราเงินเฟ้อ
ในขณะที่ บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด จะชำระค่าตอบแทนสำหรับการใช้ทรัพย์สินเดิมให้ กปภ. เป็นเงิน 1,500 ล้านบาท แบ่งจ่ายเป็น 2 งวด ได้แก่ งวดแรก 750 ล้านบาท ภายใน 60 วัน นับแต่วันลงนามสัญญา และงวดที่สอง 750 ล้านบาท ภายใน 1 ปี หลังจากชำระเงินงวดแรก
พร้อมกันนั้น บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด จะมีภาระลงทุนเพิ่มเติมในการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำประปาให้แล้วเสร็จภายใน 24 เดือนหรือ 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ลงนามสัญญา (อ่านเอกสารเพิ่มเติม)
(ที่มา : บางส่วนของร่างเอกสารสัญญาให้สิทธิดำเนินการผลิตและจำหน่ายน้ำประปา (ฉบับแก้ไข) ระหว่าง กปภ. และ บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด ฉบับวันที่ 30 ก.ย.2564)
@อ้าง‘พล.อ.อนุพงษ์’ เปิดทางต่อสัญญากับเอกชนรายเดิม
อย่างไรก็ตาม แม้ว่า (ร่าง) สัญญาให้สิทธิดำเนินการผลิตและจำหน่ายน้ำประปาให้ บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด ไปจนถึงปี 2586 ดังกล่าว จะ ‘ไม่สอดคล้อง’ กับมติคณะกรรมการการ กปภ. เมื่อวันที่ 24 เม.ย.2562 ซึ่งได้รับความเห็นชอบจาก รมว.มหาดไทย แล้ว
คือ ให้ กปภ.เตรียมความพร้อมเพื่อรับโอนกิจการหรือทรัพย์สินจากบริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด หลังสิ้นสุดสัญญา (14 ต.ค.2566) และดำเนินกิจการผลิตและจำหน่ายน้ำประปาเอง เนื่องจากผลศึกษาพบว่าเป็นวิธีที่ทำให้ กปภ. ได้รับประโยชน์สูงสุด ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 49 วรรค 1 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ พ.ศ.2562
แต่ต่อมาได้มีการชี้แจงจากบอร์ด กปภ. บางคน โดยอ้างว่า พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ได้เห็นชอบกับมติบอร์ด กปภ.ชุดใหม่ ที่มี ธนาคม จงจิระ เป็นประธาน (ครม.มีมติแต่งตั้งบอร์ด กปภ.ชุดใหม่ วันที่ 23 มี.ค.2564)
ที่มีมติให้ กปภ. ต่อสัญญาการให้สิทธิดำเนินการผลิตและจำหน่ายน้ำประปาให้แก่ บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด ไปจนถึงปี 2586 โดยไม่ต้องมีการ ‘เปิดประมูล’ คัดเลือกเอกชน ตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ พ.ศ.2562
@ตั้ง 5 ประเด็น หาก ‘กปภ.’ต่อสัญญา ‘บ.ประปาปทุมธานี’
สร.กปภ. ตั้งประเด็นคำถามกรณีที่ กปภ.จะต่อสัญญาการให้สิทธิดำเนินการผลิตและจำหน่ายน้ำประปาให้แก่ บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด สรุปได้ 5 ประเด็น ได้แก่
ประเด็นแรก เมื่อ กปภ.มีศักยภาพในการดำเนินการผลิตและบำรุงรักษาระบบน้ำประปาอยู่แล้ว เหตุใดจึงต้องต่ออายุสัญญาให้สิทธิการดำเนินการผลิตและจำหน่ายน้ำประปาให้แก่เอกชน หรือ กปภ. ต้องการเป็นเพียง ‘นายหน้า’ รับซื้อน้ำประปาจากเอกชน แล้วนำไปขายต่อให้กับประชาชนอีกทอดหนึ่ง
ประเด็นที่สอง หาก กปภ.ไม่ผลิตน้ำประปาเอง และเปิดประมูลคัดเลือกเอกชนเข้ามาร่วมทุนผลิตและจำหน่ายน้ำประปาฯ ภายใต้พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ จะทำให้เกิดการแข่งขันในด้านราคา ซึ่งจะส่งผลให้ราคาน้ำประปาที่ กปภ. รับซื้อจากเอกชนคู่สัญญา ต่ำกว่า 10.15 บาทต่อลูกบาศก์เมตร ก็เป็นได้
ประเด็นที่สาม ในขณะที่สัญญาการให้สิทธิผลิตและจำหน่ายน้ำประปาฯ ยังเหลือระยะเวลาอีก 2 ปี จึงมีเวลาเพียงพอที่ กปภ. จะเริ่มกระบวนการเปิดประมูลตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯได้ และจะไม่กระทบต่อความต่อเนื่องในการให้บริการประชาชนด้วย เพราะหากประมูลไม่ทัน กปภ.สามารถดำเนินการผลิตน้ำประปาไปพรางก่อน
ประเด็นที่สี่ จากข้อมูลของ สร.กปภ. พบว่า ณ เดือน ก.ย.2564 กปภ. รับซื้อน้ำประปาจาก บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด เฉลี่ยวันละ 400,284 ลูกบาศก์เมตร แต่กลับขายให้ประชาชนได้เพียงวันละ 232,418 ลูกบาศก์เมตร คิดเป็นปริมาณสูญเสียถึง 42% หรือคิดเป็นเงินที่สูญเสีย 2 ล้านบาท/วัน
ซึ่งหมายความว่า บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด ที่มีหน้าที่ดูแลบำรุงรักษาระบบผลิตและจำหน่ายน้ำประปา ตามสัญญาฯ นั้น มีประสิทธิภาพการดำเนินการไม่มาก ดังนั้น หากเปิดให้เอกชนรายอื่นเข้ามาแข่งขัน และกำหนดเงื่อนไขเรื่องการลดการรั่วไหลของน้ำประปาให้เข้มงวด ก็ลดการสูญเสียน้ำประปาของ กปภ.ได้มาก
ประเด็นที่ห้า การที่ กปภ. ใช้วิธีการต่อสัญญาฯให้ บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด ไปอีก 20 ปี นั้น อาจทำให้เกิดข้อควรหาว่า เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนเพียงรายเดียว และเป็นการหลีกเลี่ยงการประกวดที่ให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรมใช่หรือไม่ รวมทั้งเป็นวิธีที่ กปภ. อาจไม่ได้รับประโยชน์สูงสุด
@ผู้ว่าฯกปภ.แจงยังไม่มีการต่อสัญญา-อยู่ในขั้นตอนพิจารณา
สำนักข่าวอิศรา โทรศัพท์สอบถาม สมบูรณ์ สุนันทพงศ์ศักดิ์ ผู้ว่าการ กปภ. กรณีที่มีกระแสข่าวว่า กปภ. เตรียมต่อสัญญาให้สิทธิดำเนินการผลิตและจำหน่ายน้ำประปาให้แก่ บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด ไปจนถึงปี 2586 ว่า “เรื่องนี้ยังไม่ได้ทำอะไรเลย และขอยืนยันว่ายังไม่มีการต่อสัญญาอะไร”
เมื่อถามว่า จะมีการใช้วิธีเปิดประมูลเพื่อคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมทุนโครงการผลิตและจำหน่ายน้ำประปาในพื้นที่ปทุมธานีและรังสิต หลังจากสัญญาฉบับปัจจุบันสิ้นสุดลงในวันที่ 14 ต.ค.2566 หรือไม่ สมบูรณ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ยังอยู่ในขั้นตอนหารือ และยังมีเรื่องที่ต้องพิจารณากันอีกมาก
จากนี้จึงต้องติดตามกันต่อไปว่า การให้สิทธิดำเนินการผลิตและจำหน่ายน้ำประปาในพื้นที่ปทุมธานีและรังสิต ซึ่งมีผลประโยชน์มูลค่านับหมื่นล้านบาท
จะได้ข้อยุติอย่างไร!
อ่านประกอบ :
ร้องประธานกมธ.‘ป.ป.ช.’ สอบ ‘กปภ.’ เล็งต่อสัญญาซื้อน้ำประปา 20 ปี เอื้อเอกชนรายเดียว
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/