‘สร.กปภ.’ ยื่นหนังสือต่อประธาน กมธ. ‘ป.ป.ช.’ ตรวจสอบกรณี ‘กปภ.’ เตรียมต่อสัญญาซื้อน้ำประปา 20 ปี ชี้เอื้อประโยชน์เอกชนรายเดียว คาดทำรัฐได้รับความเสียหายจากเงิน ‘ส่วนต่างกำไร’ 1.44 หมื่นล้าน
.............................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 20 ต.ค. นายธงชัย ไวยบุญญา ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการประปาส่วนภูมิภาค (สร.กปภ.) เข้ายื่นหนังสือต่อ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ กรณี กปภ.เตรียมดำเนินการเพื่อให้มีการต่อสัญญาซื้อน้ำประปาจากเอกชน หรือให้สิทธิเป็นผู้ดำเนินการผลิตน้ำประปา ซึ่งอาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้เอกชนเพียงรายเดียว หลีกเลี่ยงการประกวดราคา และอาจส่งผลให้รัฐได้รับความเสียหายในส่วนต่างของผลกำไรถึง 1.44 หมื่นล้านบาท
สำหรับหนังสือของ สร.กปภ. ระบุว่า
วันที่ 31 สิงหาคม 2538 การประปาส่วนภูมิภาค ได้ทำสัญญาให้สิทธิดำเนินการผลิตและจำหน่ายน้ำประปาแก่ บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด
โดยให้เอกชนร่วมลงทุนในรูปแบบสัญญา BOOT (Build-Own-Operate-Transfer) ซึ่งเป็นรูปแบบที่ให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างระบบผลิตและจำหน่ายน้ำประปา โดยเอกชนดำเนินการออกแบบและก่อสร้างระบบประปา มีสถานะเป็นเจ้าของ ทรัพย์สินหลังจากก่อสร้างแล้วเสร็จ
จากนั้นเอกชนจะเป็นผู้ใช้ทรัพย์สินดังกล่าวในการระบบผลิต ดูแลบำรุงรักษา และขายน้ำประปาให้กับ กปภ. ตลอดอายุของสัญญา โดยเมื่อสิ้นสุดสัญญาเอกชนร่วมลงทุนจะต้องส่งมอบทรัพย์สินทั้งหมดคืนให้ กปภ. หรือ ณ วันสิ้นสุดสัญญาทรัพย์สินทั้งหมดจะตกเป็นของ กปภ.
โดยสัญญาฯดังกล่าวจะสิ้นสุดลงในวันที่ 14 ตุลาคม 2566 นับอายุสัญญา 25 ปี จากวันที่บริษัทฯ เริ่มขายน้ำเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2541 กำหนดรับซื้อน้ำ “ไม่เกิน” 288,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ในราคาเริ่มต้นที่ 7.89 บาทต่อลูกบาศก์เมตร (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) โดยราคาค่าน้ำจะถูกปรับ (เพิ่มขึ้น) ทุกปีตามดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)
ที่ผ่านมามีการปรับปรุงแก้ไขสัญญาดังกล่าว 3 ครั้ง เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2549 , วันที่ 8 พฤศจิกายน 2549 และวันที่ 3 กันยายน 2558 โดยเป็นการปรับเพิ่มปริมาณการซื้อน้ำ และปรับเพิ่มราคาตามฐานราคาในปีนั้น
โดยสัญญาแก้ไขเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2549 “ปลดล๊อค” ปริมาณซื้อน้ำขั้นสูงเดิมที่กำหนดให้ซื้อไม่เกิน 288,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน โดยการเพิ่มการรับซื้อน้ำอีก 70,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ที่ราคาเริ่มต้น 9.90 บาทต่อลูกบาศก์เมตร (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เพิ่มทุกปีตามค่า CPI
พร้อมระบุข้อความในสัญญาข้อ 4 วรรคแรก ความว่า “คู่สัญญาตกลงให้มีการกำหนดปริมาณน้ำขั้นต่ำที่ต้องซื้อ...” ซึ่งหมายความว่า กปภ. จำต้องซื้อน้ำในปริมาณไม่เกิน 288,000 (ตามสัญญาแรก) รวมกับปริมาณไม่น้อยกว่า 70,000 (ตามสัญญาแก้ไข) รวมแล้ว จะต้องซื้อน้ำจากบริษัทฯ “ไม่น้อยกว่า” 358,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน โดยมีผลบังคับใช้ตามสัญญาจนถึงปัจจุบัน
จากแก้ไขสัญญา (ซื้อน้ำเพิ่ม) ทั้ง 3 ครั้ง ปัจจุบัน การประปาส่วนภูมิภาค รับซื้อน้ำในปริมาณเฉลี่ยมากกว่า 400,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ที่ราคาเฉลี่ย 12.50 บาทต่อลูกบาศก์เมตร
วันที่ 19 กันยายน 2562 นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และประธานกรรมการการประปาส่วนภูมิภาค ในขณะนั้น ได้มีบันทึกข้อความแจ้งต่อผู้ว่าการการประปาส่วนภูมิภาคว่ารัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยได้พิจารณาและเห็นชอบแนวทางการดำเนินกิจการฯ ภายหลังสิ้นสุดสัญญาโครงการเอกชนร่วมลงทุนปทุมธานี-รังสิต คือให้ กปภ. เป็นผู้ดำเนินกิจการเอง เนื่องจากมีความคุ้มค่าทางการเงินมากที่สุด
โดยแนวทางดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการการประปาส่วนภูมิภาค เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2562
และมติของคณะกรรมการและความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว เป็นการดำเนินการตามความในมาตรา 49 วรรคแรก แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 โดยหลังจากที่รัฐมนตรีกระทรวงเจ้าสังกัดให้ความเห็นชอบแล้ว การประปาส่วนภูมิภาคมีหน้าที่ในการจัดเตรียมความพร้อมในทุกด้านเพื่อรับโอนกิจการหรือทรัพย์สินจากบริษัทภายหลังสิ้นสุดสัญญา (14 ตุลาคม 2566)
วันที่ 28 ตุลาคม 2563 นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ลาออกจากประธานกรรมการการประปาส่วนภูมิภาค ส่งผลให้องค์ประกอบของคณะกรรมการไม่ครบในส่วนของประธานกรรมการ กรรมการที่เหลือจึงไม่อาจถือเป็นคณะกรรมการ และไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้
วันที่ 23 มีนาคม 2564 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแต่งตั้ง นายธนาคม จงจิระ เป็นประธานกรรมการการประปาส่วนภูมิภาค พร้อมแต่งตั้งกรรมการอีก 7 ตำแหน่ง รวม 8 ตำแหน่ง เป็นคณะกรรมการการประปาส่วนภูมิภาคชุดปัจจุบัน
ในช่วงประมาณเดือนมิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา มีกระแสข่าวและปรากฏข้อเท็จจริงที่เป็นเอกสารและร่างสัญญา กรณีมี “กลุ่มขบวนการ” ที่มีการดำเนินการเพื่อให้มีการต่อสัญญาให้แก่บริษัทฯ โดยเป็นการแก้ไขสัญญาที่เป็นการต่ออายุสัญญาออกไปอีก 20 ปี ถึง 14 ตุลาคม 2586 เพิ่มปริมาณการซื้อน้ำจากบริษัทฯ สูงถึง 530,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน และให้สามารถซื้อมากว่าปริมาณนี้ได้ หากไม่เพียงพอต่อผู้ใช้น้ำ (ข้อมูลจากร่างสัญญาแก้ไขฯ ร่างเสร็จวันที่ 30 กันยายน 2564)
โดยผู้ที่เกี่ยวข้อง อ้าง บริษัทฯ ยื่นข้อเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เสนอลดค่าน้ำจากสัญญาเดิมลง 2 บาท และจะขยายกำลังผลิตเพิ่มขึ้นอีก 100,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน โดยอ้างเหตุผลต่างๆ ที่จะให้มีการต่อสัญญา โดยอ้างกฎหมายมาตรา 46 47และ 48 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562
ในช่วงเวลาดังกล่าว สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการประปาส่วนภูมิภาค (สร.กปภ.) ได้มีหนังสือแจ้งผู้ว่าการฯ เพื่อขอรับทราบข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับร่างสัญญาแก้ไขเพื่อต่อสัญญาดังกล่าว แต่ไม่ได้รับคำตอบ
ภายใต้ความคลางแคลงและกังวลในสิ่งที่ผิดปกติอย่างมีนัย สหภาพแรงงานได้ทำหนังสือคัดค้านการต่อสัญญาให้กับบริษัท โดยยืนยันสนับสนุนให้ กปภ. เป็นผู้ดำเนินกิจการเองภายหลังรับโอนทรัพย์สินจากเอกชนในวันที่ 14 ตุลาคม 2566 หนังสือสหภาพแรงงานฯ คัดค้านหลายฉบับ แจ้งต่อผู้ว่าการฯ ประธานคณะกรรมการฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี จนถึงวันนี้ยังไม่ได้รับความตอบถึงความชัดเจนการในกรณีการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
วันที่ 7 ตุลาคม 2564 สหภาพแรงงานฯ ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อหน่วยงานตรวจสอบที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน ได้แก่ ป.ป.ช. และ สตง โดยหวังพึ่งอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานดังกล่าว เพื่อขอให้พิจารณายุติกระบวนการการต่อสัญญาดังกล่าวฯ
วันที่ 12 ตุลาคม 2564 สหภาพแรงงานฯ ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน
ในวันเดียวกัน สหภาพแรงงานฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง เพื่อให้มีคำพิพากษายุติกระบวนการเพื่อให้เกิดการแก้ไขสัญญาฯ เนื่องจากมีกระบวนการดำเนินการพิจารณาที่ผิดต่อข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ได้เคยมีข้อตกลงไว้กับสหภาพแรงงานฯ พร้อมขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวในกรณีดังกล่าว
ประเด็นปัญหา
1.มท. ได้เห็นชอบในมติของอดีตคณะกรรมการ กปภ. ชุดนายฉัตรชัย พรหมเลิศ ในการที่ให้ กปภ. เป็นผู้ดำเนินกิจการเองภายหลังสิ้นสุดสัญญาในปี 2566 เป็นการดำเนินการโดยชอบตามมาตรา 49 วรรค 1 แห่ง พ.ร.บ. การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 แล้ว เหตุใด กปภ. จึงรับข้อเสนอของบริษัทฯ แล้วมีกระบวนการให้เกิดสัญญาแก้ไขเพื่อต่อขยายระยะเวลาให้บริษัทฯ โดยอ้างมาตรา 46 47 และ 48 ในกฎหมายฉบับเดียวกัน
ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นความพยายามในการต่อสัญญาให้บริษัทฯ จึงเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนเพียงรายเดียว เป็นการหลีกเลี่ยงการประกวดที่ให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรมใช่หรือไม่
2.กรณีสหภาพแรงงานฯ ได้มีหนังสือคัดค้านการต่อสัญญา เสนอต่อผู้ว่าการฯ และประธานกรรมการฯ เหตุใดยังไม่มีคำชี้แจงหรืออธิบายในสิ่งที่เกิดขึ้น ในการขอข้อมูลรายละเอียดดังกล่าวของสหภาพแรงงานฯ เหตุใด กปภ. ไม่ยอมจัดส่งข้อมูลดังกล่าวให้ มีเจตนาที่จะปกปิด อำพราง หรือขาดความสุจริตในเรื่องดังกล่าวหรือไม่
3.เมื่อผู้ว่าการฯ ประธานกรรมการฯ ยังไม่แสดงความชัดเจนใด ๆ ในประเด็นปัญหาดังกล่าว สหภาพแรงงานฯ จึงแจ้งแสดงเจตจำนงในการคัดค้านการแก้ไขสัญญา โดยยื่นหนังสือต่อ มท. และ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี โดยสหภาพแรงงานฯ ยังรอคอยและคาดหวังให้มีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยอำนาจหน้าที่ของท่านตามที่กฎหมายกำหนด
4.สหภาพแรงงานฯ มีความจำเป็นที่จะต้องร้องเรียนปัญหาที่เกิดขึ้นต่อหน่วยงานตรวจสอบ ปปช. สตง. และผู้ตรวจการแผ่นดิน รวมถึงต้องพึ่งพาอำนาจศาลปกครองในการยุติปัญหาดังกล่าว เพื่อระงับ ยับยั้งมิให้เกิดการลงนามในสัญญาแก้ไข เพราะหากมีการลงนามในสัญญาจริง หากสัญญานี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต้องถูกยกเลิกไป กปภ.อาจต้องเสีย “ค่าโง่” เงินชดเชยค่าเสียประโยชน์ทางธุรกิจคืนให้แก่บริษัท ค่าเสียหายดังกล่าว มูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นบุคคลใดจะเป็นผู้รับผิดชอบ
5.ข้อมูลจากกองพัฒนาธุรกิจ กปภ. ในกรณีที่ กปภ. เป็นผู้ดำเนินกิจการเอง โดยไม่ต่อสัญญาให้กับบริษัท ปรากฏตัวเลขส่วนต่างของผลกำไรสูงถึง 14,400 ล้านบาท ไม่นับรวมเป็นมูลค่าการสูญเสียประโยชน์และโอกาสทางธุรกิจต่างๆ เงินจำนวนนี้ที่รัฐสูญเสีย ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ ไม่รวมถึงภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือในฐานะกิจการของรัฐที่มีหน้าที่ผลิตและจำหน่ายน้ำรายใหญ่ของประเทศ
6.การอ้างความเดือดร้อนของประชาชนผู้ใช้น้ำเป็นตัวประกัน ตลอดจนปริมาณการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้นทุกปี แม้ว่าสัญญาดังกล่าวจะล่วงเลยมาแล้วนานถึง 23 ปี ข้ออ้างดังกล่าวสนองข้อเสนอของเอกชนที่ได้เสนอการลงทุนเพื่อเพิ่มกำลังผลิตอีก 1 แสนลูกบาศก์เมตรต่อวัน รวมถึงข้ออ้างการไม่มีเงินงบประมาณในการลงทุน กปภ.ฯ แต่ไม่เคยชี้แจงว่าสามารถถเพิ่มน้ำสำหรับให้บริการประชาชนได้โดยไม่ต้องเพิ่มกำลังผลิต 2 แนวทางหลัก ดังนี้
6.1 การบริหารและควบคุมน้ำสูญเสีย โดยพิจารณาข้อมูล ณ เดือนกันยายน 2564 กปภ. ซื้อน้ำประมาณวันละประมาณ 400,000 ลูกบาศก์เมตร แต่สามารถขายน้ำให้ประชาชนเพียงร้อยละ 58 โดยประมาณ ที่เหลือเป็นน้ำสูญเสียที่ไม่เกิดรายได้
ตัวอย่างข้อมูลประจำเดือนกันยายน 2564 ซื้อน้ำเฉลี่ยต่อวัน 400,284 ลูกบาศก์เมตร แต่ขายได้เพียง 232,418ลูกบาศก์เมตร ที่หายไปคือน้ำสูญเสีย จำนวน 167,888 ลูกบาศก์เมตร คิดเป็นมูลค่าที่ต้องจ่ายให้บริษัทในอัตราประมาณ 12.73 บาทต่อลูกบาศก์เมตร เป็นเงินที่สูญเสียไปมากกว่า 2 ล้านบาทต่อหนึ่งวัน ปัญหาดังกล่าว กปภ. สามารถลดหรือควบคุมน้ำสูญเสียให้ลดลงได้ โดยไม่จำเป็นต้องให้บริษัทขยายกำลังผลิตแล้วนำมาเป็นข้ออ้างในการต่อสัญญา
6.2 การประปาส่วนภูมิภาค กับ การประปานครหลวง ได้เคยมีบันทึกร่วมกัน ว่าด้วยความเข้าใจด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและการให้บริการน้ำประปา ฉบับลงวันที่ 15 มิถุนายน 2559 โดยบันทึกดังกล่าวได้ระบุข้อตกลงในการให้ความร่วมมือกันบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและให้บริการน้ำประปาในพื้นที่รอยต่อของพื้นที่การให้บริการของทั้งสองรัฐวิสาหกิจ
เมื่อพิจารณาบันทึกความเข้าใจดังกล่าว ประกอบกับข้อมูลในด้านศักยภาพของการประปานครหลวง ทั้งในด้านกำลังผลิตน้ำประปา ต้นทุนน้ำประปาภายใต้ความคุ้มครองแห่ง พ.ร.บรักษาคลองประปา พ.ศ.2526 ดังนั้น หากการประปาส่วนภูมิภาคจะพิจารณารับซื้อน้ำประปาจากการประปานครหลวง ในราคาน้ำประปาขายส่ง (Bulk Sale) ในอัตราคงที่ 10.50 บาทต่อลูกบาศก์เมตร เพื่อจำหน่ายน้ำให้กับประชาชนผู้ใช้น้ำในเขตพื้นที่รอยต่อของการให้บริการ ซึ่งรวมถึงพื้นที่ปทุมธานีและรังสิต
จะเป็นการดำเนินการที่ได้ประโยชน์ร่วมที่ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย เป็นการซื้อขายระหว่างรัฐวิสาหกิจด้วยกัน เงินรายได้ที่เกิดขึ้นจะกลายเป็นเงินรายได้ของรัฐ ประชาชนในพื้นที่รอยต่อของการให้บริการจะได้รับประโยชน์อย่างยั่งยืน เนื่องจากได้รับการบริการจากรัฐวิสาหกิจสองแห่งที่มีความเชี่ยวชาญในการผลิตและให้บริการน้ำประปา เป็นต้น โดยมีข้อสังเกตว่า การซื้อน้ำจาก กปภ. จะมีความคุ้มค่ามากกว่าราคาที่บริษัทเสนอที่มีการปรับเพิ่มขึ้นทุกปีตามดัชนีราคาผู้บริโภค หรือ CPI
กรณีตัวอย่างผลกระทบจากค่า CPI สามารถเทียบเคียงในโครงการเอกชนร่วมลงทุนนครปฐม–สมุทรสาคร กปภ. ซื้อน้ำจากเอกชนในราคาเริ่มต้นในอัตรา 13.90 บาทต่อลูกบาศก์เมตร เมื่อปี พ.ศ.2543 มีการปรับราคาเพิ่มทุกปีตามค่า CPI จนถึงปัจจุบันในปีนี้ (พ.ศ.2564) กปภ. ซื้อน้ำจากเอกชนในราคาที่สูงถึง 29 บาทต่อลูกบาศก์เมตร (โดยประมาณ) แต่สามารถขายน้ำให้ประชาชนผู้ใช้น้ำในอัตรา 10.50 บาทต่อลูกบาศก์เมตร (สำหรับผู้ใช้น้ำภาคครัวเรือน) สัญญาดังกล่าวส่งผลให้ กปภ. ขาดทุนอย่างร้ายแรงในโครงการดังกล่าว
6.3 ในกรณีที่ กปภ. มีข้ออ้างที่อาจเชื่อได้ว่า กปภ. มีข้อจำกัดในงบประมาณเพื่อลงทุนในการเพิ่มกำลังการผลิต หรือขาดศักยภาพในการที่จะเป็นผู้ผลิตน้ำด้วยบุคลากรของตนเอง อาจพิจารณาดำเนินการภายหลังจากรับโอนทรัพย์สินจากบริษัท ณ วันสิ้นสุดสัญญา
โดยการให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในฐานะเป็นผู้รับจ้างผลิตน้ำ หรือเป็นผู้เช่าทรัพย์สินนั้น ด้วยวิธีการประกวดราคาโดยให้มีการแข่งขันที่เป็นธรรมเพื่อให้ กปภ. ได้รับประโยชน์สูงสุด (ค่าจ้างผลิตน้ำในราคาที่ต่ำที่สุด หรือได้รับค่าเช่าทรัพย์สินในราคาที่สูงสุด) แต่มิใช่หลีกเลี่ยงการประกวดราคาโดยเอื้อประโยชน์ผูกขาดให้เอกชนเพียงรายเดียวยาวนานอีกถึง 20 ปี ดังเช่นกระบวนการที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage