“…หาก กปภ. รับข้อเสนอจาก บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด จะเป็นการเอื้อประโยชน์ ก่อให้เกิดการผูกขาดโดยเจตนา และหลีกเลี่ยงมิให้การเปิดประมูลราคา ตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562…”
..............................
สืบเนื่องจากกรณี สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการประปาส่วนภูมิภาค (สร.กปภ.) เข้ายื่นหนังสือต่อ ประธานคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.) ขอให้ตรวจสอบ
กรณี การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) เตรียมต่อสัญญาให้สิทธิดำเนินการผลิตและจำหน่ายน้ำประปากับ บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด อีก 20 ปี ว่า เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนรายเดิม นั้น (อ่านประกอบ : ร้องประธานกมธ.‘ป.ป.ช.’ สอบ ‘กปภ.’ เล็งต่อสัญญาซื้อน้ำประปา 20 ปี เอื้อเอกชนรายเดียว)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) พบข้อมูลว่า ในการประชุมคณะกรรมการการประปาส่วนภูมิภาค (บอร์ด กปภ.) เมื่อวันที่ 28 ก.ย.2564 ที่ประชุมบอร์ด กปภ. ได้มีมติ ‘เห็นชอบ’ ผลการเจรจาปรับลดราคาค่าน้ำ และเพิ่มกำลังผลิตน้ำประปา ระหว่าง กปภ. และบริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด
และ กปภ. จัดทำร่างสัญญาให้สิทธิดำเนินการผลิตและจำหน่ายน้ำประปากับ บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด ให้เป็นไปตามผลการเจรจา และสอดคล้องกับประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนฯ (อ่านประกอบ : เปิดร่างสัญญา‘กปภ.’! ยืดเวลาซื้อน้ำประปา 20 ปี หมื่นล. หลังถูกร้องเอื้อเอกชนรายเดียว)
บอร์ด กปภ. ยังมอบหมายให้ ‘คณะทำงานเตรียมความพร้อมก่อนสิ้นสุดสัญญาให้สิทธิดำเนินการผลิตและจำหน่ายน้ำประปา ระหว่าง การประปาส่วนภูมิภาค กับ บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด ตามมาตรา 49’ ทบทวนผลการศึกษา ‘แนวทางการดำเนินกิจการของรัฐภายหลังสัญญาสิ้นสุดโครงการเอกชนร่วมทุนปทุมธานี-รังสิต’
โดยให้เหตุผลว่าเพื่อให้เป็นไป ‘ตามเหตุปัจจัยที่เกิดขึ้นใหม่’
ส่งผลให้ผลการศึกษา ‘แนวทางการดำเนินกิจการของรัฐภายหลังสัญญาสิ้นสุดโครงการเอกชนร่วมทุนปทุมธานี-รังสิต’ ที่บอร์ด กปภ. เคยมีมติทราบเมื่อวันที่ 24 เม.ย.2562 ก่อนจะมีมติเห็นชอบให้ กปภ. ดำเนินการผลิตและจำหน่ายในพื้นที่ปทุมธานีและรังสิตเอง เนื่องจากมีความคุ้มค่าทางการเงินมากที่สุด นั้น
เป็นอันต้องยกเลิกไป
(ที่มา : สรุปมติคณะกรมการการประปาส่วนภูมิภาค เมื่อวันที่ 28 ก.ย.2564)
(ที่มา : หนังสือแจ้งมติคณะกรรมการการประปาส่วนภูมิภาค เมื่อวันที่ 24 เม.ย.2562)
แต่ทว่าก่อนที่บอร์ด กปภ. เมื่อวันที่ 28 ก.ย.2564 จะมีมติเห็นชอบให้ต่อสัญญาให้สิทธิดำเนินการผลิตและจำหน่ายน้ำประปากับ บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด นั้น
ปรากฎมีข้อเท็จจริงว่า มงคล กัลยกฤต ผู้อำนวยการกองพัฒนาธุรกิจ ฝ่ายยุทธศาสตร์องค์กร กปภ. ทำบันทึกข้อความ เรื่อง ‘ชี้แจงความเห็นของกองพัฒนาธุรกิจ โครงการเอกชนร่วมทุมปทุมธานี-รังสิต’ ถึง ผอ.ฝ่ายยุทธศาสตร์องค์กร ลงวันที่ 23 ส.ค.2564
โดยคัดค้านข้อเสนอของ บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด ที่เสนอลดราคาขายน้ำประปาให้ กปภ. ลงเหลือ 10.15 บาท/ลูกบาศก์เมตร และขยายกำลังผลิตน้ำประปาอีก 100,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน แลกกับการที่ กปภ. ขยายอายุสัญญาให้กับ บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด ออกไปอีก 20 ปี
เนื่องจาก หาก กปภ. ผลิตน้ำประปาเองต้นทุนการผลิตจะอยู่ที่ 4.42 บาท/ลบ.ม. ในขณะที่ราคาน้ำประปาที่ บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด เสนอขายให้ กปภ. ในอัตรา 10.30 บาท/ลบ.ม. จะทำให้มี 'ส่วนต่างกำไร' ในอัตรา 5.88 บาท/ลบ.ม.
เมื่อนำ 'ส่วนต่างกำไร' ไปคูณกับประมาณการความต้องการใช้น้ำตลอดสัญญา 20 ปี รวมแล้วประมาณ 3,600 ล้านลบ.ม. จะเท่ากับว่า กปภ. เสียประโยชน์จาก ‘ผลกำไรส่วนต่าง’ เป็นเงิน 1.44 หมื่นล้านบาท
สำหรับบันทึก เรื่อง ‘ชี้แจงความเห็นของกองพัฒนาธุรกิจ โครงการเอกชนร่วมทุมปทุมธานี-รังสิต’ ของผู้อำนวยการกองพัฒนาธุรกิจ มีรายละเอียด ดังนี้
1.ในการประชุมคณะกรรมการ กปภ. ครั้งที่ 4/2562 เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2562 คณะกรรมการฯ มีมติเห็นชอบให้ กปภ. ดำเนินการเอง ตามมาตรา 47 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 ยุติไปแล้ว นั้น
2.ปัจจุบัน กปภ. อยู่ในขั้นตอนตามหมวด 6 การกำกับดูแลและติดตามผล ตาม พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 ซึ่ง มท. มีคำสั่งที่ 1125/2562 ลงวันที่ 11 มิถุนายน 2562 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการเอกชนร่วมลงทุนปรับปรุงขยายการประปาปทุมธานี-รังสิต
3.ดังนั้น การเห็นชอบให้นำเรื่องพิจารณาการลดค่าน้ำประปาและเพิ่มกำลังผลิตในจังหวัดปทุมธานี ตามที่บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด เสนอมา นำเสนอต่อคณะกรรมการ ครป. (คณะกรรมการโครงการร่วมดำเนินงานในกิจการของการประปาส่วนภูมิภาค) เพื่อแสดงถึงความโปร่งใสในการพิจารณาดำเนินการ จึงไม่เป็นไปตามที่ มท. (กระทรวงมหาดไทย) ได้สั่งการไว้แล้ว รวมถึงไม่เป็นไปตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด
กปภ.จะใช้ดุลพินิจขัดแย้งแตกต่างไปจากการที่ มท. สั่งการไม่ได้ อันนำไปสู่การแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน ซึ่งเป็นการขัดแย้งต่อนโยบายของ มท. อย่างชัดแจ้ง
โดย มท. เห็นว่า กปภ. ไม่สามารถปรับขึ้นราคาค่าน้ำได้ จึงเห็นชอบให้ กปภ. ดำเนินการเอง เพื่อนำกำไรในพื้นที่ที่ บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด ดำเนินการอยู่ ภายหลังสัญญาสิ้นสุด ระบบผลิตน้ำประปา จะโอนกรรมสิทธิ์กลับมาเป็นของ กปภ. แล้ว สามารถนำรายได้กำไรจากการประกอบการ (Operating) มาลดปัญหาการขาดทุนของ กปภ. ได้
4.การเสนอเรื่องการลดราคาและการลงทุนเพิ่มกำลังผลิตอีก 100,000 ลบ.ม./วัน ซึ่งมีมูลค่าร่วมหมื่นล้านบาท นั้น มีข้อมูลที่จำกัด คณะกรรมการ ครป. จึงไม่มีอำนาจหน้าที่พิจารณาให้โปร่งใสได้ และไม่สามารถหยิบยกนำมติคณะกรรมการ ครป. ไปกล่าวอ้างใดๆได้
5.กปภ. ไม่สามารถอ้างว่า กปภ. ไม่สามารถดำเนินการผลิตน้ำประปาในระบบผลิตที่มีกำลังการผลิตขนาดใหญ่ ซับช้อน และทันสมัย รวมถึงพนักงาน กปภ. ไม่มีความรู้ความสามารถได้
6.เนื่องจากสัญญาโครงการเอกชนร่วมลงทุนปทุมธานี-รังสิต เป็นรูปแบบ BooT ภายหลังสัญญาสิ้นสุด ระบบผลิตน้ำประปาจะโอนกรรมสิทธิ์กลับมาเป็นของ กปภ. โดย กปภ. ต้องจัดเตรียมพนักงานที่มีความรู้ความสามารถ เพื่อรองรับระบบผลิตน้ำประปาให้สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องเมื่อสัญญาสิ้นสุดลง
7.กรณีกำลังการผลิตน้ำประปาเต็มศักยภาพของ บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด นั้น กปภ. ต้องจัดเตรียมแผนรองรับความต้องการใช้น้ำในอนาคต โดยการลงทุนก่อสร้างขยายระบบผลิตน้ำประปา 100,000 ลบ.ม./วัน โดยไม่จำเป็นต้องขยายสัญญาให้บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) และบริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด
ซึ่งเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนรายเดิม รวมทั้งก่อให้เกิดการผูกขาดโดยเจตนา
8.จากข้อเสนอของบริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด โดยการลดค่าน้ำประปาและขยายกำลังการผลิตอีก 100,000 ลม./วัน นั้น เป็นข้อเสนอที่บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด คาดหวังผลประโยชน์จาก กปภ. โดยต้องอยู่บนพื้นฐานของ Financial Model ใหม่ ซึ่งทาง กปภ. จะพิจารณาการเปิดประมูลใหม่ (Bidding) เมื่อสิ้นสุดสัญญาแล้ว ในปี 2566
9.ราคาค่าน้ำประปาที่ บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด เสนอมีอัตรา 10.30 บาท/ลบ.ม. และมีการปรับราคาค่าน้ำประปาตามดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ทุกปี เป็นระยะเวลา 20 ปี นั้น เมื่อนำไปคำนวณลบต้นทุนตามที่ กปภ. เสนอ เท่ากับ 5.88 บาท/ลบ.ม.
ส่วนต่างระหว่างราคาค่าน้ำประปาที่ บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด เสนอ กับ ต้นทุนที่ กปภ. เสนอ ประมาณ 4.42 บาท/ลบ.ม.
โดยเมื่อประมาณความต้องการใช้น้ำที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตตลอดการต่ออายุสัญญาโครงการอีก 20 ปี จะเท่ากับ 3,600 ล้าน ลบ.ม. ดังนั้น ประมาณการผลกำไรส่วนต่างระหว่างราคาค่าน้ำประปาที่บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด เสนอ กับต้นทุนที่ กปภ. เสนอ เท่ากับ 1.44 หมี่นล้านบาท
หาก กปภ. นำพื้นที่ที่มีกำไรให้เอกชนรายเดิมดำเนินการ ต่อสัญญาอีก 20 ปี จะส่งผลให้มูลค่าหุ้นของบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ได้ถือหุ้นในบริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด
10.หาก กปภ. รับข้อเสนอจากบริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด จะเป็นการเอื้อประโยชน์ ก่อให้เกิดการผูกขาดโดยเจตนา และหลีกเลี่ยงมิให้การเปิดประมูลราคา ตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562
11. หาก กปภ. เปิดให้มีการประมูลราคา บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด และบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นเอกชนรายเดิมที่มีข้อมูลต้นทุน และเป็นผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่ สามารถเข้ามาร่วมการแข่งขันในครั้งนี้ กับผู้เข้าแข่งขันรายใหม่ได้
อย่างไรก็ตาม กปภ. อาจจะต้องจ้างดำเนินการปฏิบัติงานและการบำรุงรักษา (Operation & Maintenance: O&M) ระบบผลิตน้ำประปาระยะสั้นๆ หลังจากนั้น กปภ. จะเข้าไปดำเนินการผลิตน้ำประปาเองต่อไป
12. เมื่อพิจารณาต้นทุนคงที่และต้นทุนผันแปร ภายหลังที่ระบบผลิตน้ำประปาโอนกรรมสิทธิ์กลับมาเป็นของ กปภ. ประมาณ 3 บาท เทียบกับราคาค่าน้ำประปา 10.30 บาท ที่บริษัท ประปา ปทุมธานี จำกัด เสนอ จะเหลือต้นทุนบำรุงรักษาประมาณ 7.30 บาท
การ ‘ต่ออายุ’ สัญญาให้สิทธิดำเนินการผลิตและจำหน่ายน้ำประปากับ บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด มูลค่านับหมื่นล้านบาท ท่ามกลางเสียงทักท้วงของ 'คนใน กปภ.' จะได้ข้อสรุปอย่างไร
ยังคงต้องติดตามกันต่อไป!
อ่านประกอบ :
เปิดร่างสัญญา‘กปภ.’! ยืดเวลาซื้อน้ำประปา 20 ปี หมื่นล. หลังถูกร้องเอื้อเอกชนรายเดียว
ร้องประธานกมธ.‘ป.ป.ช.’ สอบ ‘กปภ.’ เล็งต่อสัญญาซื้อน้ำประปา 20 ปี เอื้อเอกชนรายเดียว
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/