2 สหภาพฯแรงงาน ‘การบินไทย’ ยื่นหนังสือถึง ‘รมว.แรงงาน’ ขอให้ตรวจสอบการเปลี่ยน ‘สภาพการจ้าง’ ของบริษัทฯ หลังพบส่อขัด พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ เหตุไม่เป็นคุณกับพนักงานมากกว่าเดิม พร้อมโชว์หนังสือ ‘กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน’ ชี้ข้อบังคับการทำงานของบริษัทฯ 2 ฉบับ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หากไม่ได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อน
.......................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 21 เม.ย.ที่ผ่านมา ตัวแทนสหภาพแรงงานฯ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) 2 สหภาพฯ ได้แก่ สหภาพแรงงานพนักงานบริษัทการบินไทย (สร.พบท.) และสหภาพแรงการบินไทยร่วมใจสัมพันธ์ (สร.กบท.สพ.) ซึ่งมีสมาชิกรวมกันกว่า 5,000 คน เข้ายื่นหนังสือต่อถึงนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ผ่านผู้แทนของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
โดยทั้ง 2 สหภาพฯ เรียกร้องให้กระทรวงแรงงานตรวจสอบกระบวนการกลั่นกรองฯและการเปลี่ยนสภาพการจ้างงานของพนักงานในการเข้าสู่โครงสร้างองค์กรใหม่ของบริษัท การบินไทย ปี 2564 ที่ส่อขัดต่อพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 20 ที่ระบุว่า “เมื่อข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับแล้วห้ามมิให้นายจ้างทำสัญญาจ้างแรงงานกับลูกจ้างขัดหรือแย้งกับข้อตกลง เกี่ยวกับสภาพการจ้าง เว้นแต่สัญญาจ้างแรงงานนั้นจะเป็นคุณแก่ลูกจ้างยิ่งกว่า”
นายสรยุทธ์ หอมสุคนธ์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย (สร.พบท.) กล่าวกับสำนักข่าวอิศราว่า การที่บริษัท การบินไทย เปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างของพนักงานใหม่ ผ่านกระบวนการกลั่นกรองฯพนักงานเข้าสู่โครงสร้างองค์กรใหม่ (Relaunch) ปี 2564 ที่ไม่เป็นคุณกับพนักงานยิ่งกว่าเดิมนั้น เป็นการกระทำที่ขัดต่อ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 20 จึงน่าจะมีผลทำให้กระบวนการ Relaunch ทั้งหมด เป็นโมฆะ
ขณะเดียวกัน สหภาพฯได้รับคำยืนยันจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานว่า กรมฯจะไม่มีการยกเว้นในการนำ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ฯ มาบังคับใช้กับนายจ้างที่อยู่ในระหว่างกระบวนการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการที่ศาลให้ความเห็นชอบแล้ว และจะคุ้มครองแรงงานมิให้ถูกเลิกจ้างในกรณีต่างๆอย่างไม่เป็นธรรม
นายสรยุทธ์ กล่าวด้วยว่า หลังจากบริษัท การบินไทย พ้นสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจ เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2563 และบริษัท การบินไทย ได้ประกาศข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ฉบับประกาศ ณ วันที่ 4 มิ.ย.2563 นั้น ตัวแทนพนักงานฯได้เจรจากับผู้แทนบริษัท การบินไทย เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.2563 ซึ่งในประเด็นข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานนั้น บริษัทฯยืนยันว่า ลูกจ้างจะได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการเป็นไปตามสภาพการจ้างงานเดิม
ขณะเดียวกัน สร.พบท. และ สร.กบท.สพ. ออกแถลงการณ์ร่วมฉบับที่ 1/2564 ลงวันที่ 21 เม.ย.2564 โดยระบุตอนหนึ่งว่า สร.พบท. และ สร.กบท.สพ. ขอให้ความมั่นใจแก่พนักงานบริษัทการบินไทย ที่ไม่แสดงความจำนงสมัครงานใหม่ภายใต้โครงสร้างใหม่ ว่า ท่านยังมีข้อตกลงสภาพการจ้างเดิมทุกประการ ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือนสวัสดิการ และสิทธิประโยชน์อื่นใดตามระเบียบบริษัทการบินไทย จำกัด มหาชน ว่าด้วยระเบียบการบริหารงานบุดคลทั้ง 21 ตอนเช่นเดิม
นอกจากนี้ ผู้แทนสหภาพแรงงานฯทั้ง 2 สหภาพฯ ยังได้รับคำชี้แจงจากผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายของกรมสวัสดิการและตุ้มครองแรงงานว่า หนึ่งองค์กรสามารถมีโครงสร้างองค์กร และข้อตกลงสภาพการจ้างได้ถึง 2 แบบ โดยไม่มีปัญหาใดๆ ทั้งยังเป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหาร และสหภาพแรงงานฯ ที่จะต้องร่วมเจรจาทำความเข้าใจร่วมกันอย่างจริงจัง เพื่อประโยชน์ของพนักงาน และหลอมรวม 2 โครงสร้างใน 1 องค์กรให้เป็นหนึ่งเดียวได้ในที่สุด
ก่อนหน้านี้ นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ระบุว่า เพื่อให้การฟื้นฟูกิจการสำเร็จลุล่วงจนบริษัทฯสามารถประกอบกิจการต่อไปได้ บริษัทฯจำเป็นต้องปรับปรุงโครงสร้างองค์กร และกลยุทธ์ทางธุรกิจหลายๆด้าน เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินงานมากขึ้น อันจะนำไปสู่การเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน และการบริหารจัดการต้นทุนให้สามารถแข่งขันในตลาดได้
ส่วนการปรับโครงสร้างองค์กรนั้น บริษัทฯใช้วิธีขอความร่วมมือจากพนักงานให้ความยินยอมเปลี่ยนสภาพการจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน โดยขอให้พนักงานพิจารณาให้ความช่วยเหลือบริษัทฯ เพื่อให้การฟื้นฟูกิจการสามารถทำได้สำเร็จเพื่อที่การบินไทยจะได้กลับมาเป็นองค์กรที่แข่งขันได้ และสามารถสร้างความภูมิใจแก่ประเทศไทยได้ในฐานะที่เป็นสายการบินแห่งชาติที่มีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศ
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 8 เม.ย.ที่ผ่านมา บริษัท การบินไทย ประกาศรายชื่อพนักงานที่แสดงความจำนงเข้าสู่กระบวนการกลั่นกรองฯและผ่านการกลั่นกรองรอบที่แรก 9,304 คน จากพนักงานที่แสดงความจำนงฯทั้งหมด 13,554 คน และมีพนักงานที่ไม่ผ่านการกลั่นกรองฯ 4,250 คน ที่เข้าไปอยู่ในกลุ่มพนักงานฟ้าใหม่ ขณะที่ปัจจุบันบริษัทฯอยู่ระหว่างการคัดเลือกพนักงานที่แสดงความจำนงเข้าสู่กระบวนการกลั่นกรองฯรอบที่ 2 (Relaunch 2) และจะประกาศผลวันที่ 28 เม.ย.2564
อย่างไรก็ตาม บริษัท การบินไทย ยังไม่ได้เรียกพนักงานที่ผ่านการกลั่นกรองฯ 9,304 คน เข้ามาลงนามสัญญาจ้างใหม่แต่อย่างใด ส่วนพนักงานการบินไทย 4,250 คน ที่แสดงความจำนงเข้าสู่กระบวนการกลั่นกรองฯรอบที่ 2 แต่ไม่ผ่านการคัดเลือกอาจจะต้องเลือกเข้าสู่โครงการร่วมใจจากองค์กร MSP B หรือ MSP C ขณะที่พนักงานที่ไม่แสดงความจำนงเข้าสู่กระบวนการกลั่นกรองฯรอบที่ 2 จะเข้าไปอยู่ในกลุ่มพนักงาน No Relaunch ซึ่งเดิมมีประมาณ 800 คน
รายงานข่าวแจ้งว่า ขณะนี้พนักงานบริษัท การบินไทย สมัครเข้าร่วมใจจากองค์กร MSP B หรือ MSP C แล้ว กว่า 3,000 คน เมื่อรวมกับพนักงานที่ได้รับอนุมัติเข้าโครงการ MSP A ก่อนหน้านี้ ที่มีจำนวน 1,862 คน จึงเท่ากับว่าบริษัทฯสามารถลดจำนวนพนักงานลงได้แล้วกว่า 4,800 คน
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 2 มี.ค.2564 นายชาญศิลป์ ระบุว่า บริษัท การบินไทย ตั้งเป้าหมายว่าจะลดจำนวนพนักงานลง 6,000-7,000 คน หรือลดจาก 1.9 หมื่นคน เหลือ 1.3-1.5 หมื่นคน ภายในกลางปี 2564
ด้านนายนเรศ ผึ้งแย้ม ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานการบินไทยร่วมใจสัมพันธ์ (สร.กบท.สพ.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 9 เม.ย.ที่ผ่านมา กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน มีหนังสือที่ รง 0505/2737 เรื่อง ข้อหารือเกี่ยวกับการวินิจฉัยประเด็นข้อกฎหมายและการออกคำสั่งทางปกครองให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎมาย ซึ่งเป็นการตอบข้อหารือของ สร.กบท.สพ. ที่ได้สอบถามกรณีที่บริษัท การบินไทย มีการเปลี่ยนสภาพการจ้างของพนักงานใหม่
โดยหนังสือดังกล่าวระบุตอนหนึ่งว่า ประกาศข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของบริษัท การบินไทย ลงวันที่ 11 มี.ค.2564 และข้อกำหนดบริษัท การบินไทย ว่าด้วยสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ของพนักงาน ลงวันที่ 11 มี.ค.2564 ซึ่งประกาศทั้ง 2 ฉบับจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 พ.ค.2564 นั้น อาจมีผลในการยกเลิกระเบียบบริษัท การบินไทย ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล ลงวันที่ 9 ก.ค.2537 รวมทั้งยกเลิกสิทธิประโยชน์และสวัสดิการของพนักงานตามที่ระบุไว้ในระเบียบ
ดังนั้น หากจะมีการประกาศ กำหนด หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานฯในทางที่ไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้างหรือพนักงาน จะต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างหรือพนักงานก่อน หรือต้องแจ้งข้อเรียกร้องต่อลูกจ้างหรือพนักงานตามพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 และดำเนินการเจรจาข้อเรียกร้องจนกว่าจะมีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานฉบับใหม่ จึงจะมีผลผูกพันต่อลูกจ้างหรือพนักงาน
“หากบริษัทฯ มิได้ดำเนินการการดังกล่าว ย่อมเป็นการดำเนินการที่มิชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น ระเบียบบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล ลงวันที่ 9 ก.ค.2537 และระเบียบฯ สัญญาจ้างของพนักงาน ข้อบังคับ ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือระเบียบอื่นใด เฉพาะในส่วนที่เป็นคุณกับลูกจ้างหรือพนักงานยิ่งกว่าข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานทั้งสองฉบับย่อมเป็นสภาพการจ้างให้บริษัทฯต้องปฏิบัติตาม” หนังสือระบุ
ขณะที่ฝ่ายภาพลักษณ์และสื่อสารองค์กร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ออกเอกสารข่าวชี้แจงว่า ตามที่บริษัทฯ ได้ปรับปรุงโครงสร้างองค์กรและปรับปรุงสิทธิประโยชน์ และสวัสดิการของพนักงานเพื่อให้สอดคล้องกับฐานะทางการเงินและการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน โดยได้ขอพนักงานพิจารณาให้ความร่วมมือกับบริษัทฯ เพื่อให้การฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ สามารถดำเนินการได้สำเร็จ
บริษัทฯ จึงได้สื่อสารทำความเข้าใจกับพนักงานอย่างต่อเนื่อง พนักงานส่วนใหญ่มีความเข้าใจสถานการณ์ของบริษัทฯ และให้ความร่วมมือเข้ากระบวนกลั่นกรองสู่โครงสร้างองค์กรใหม่ (Relaunch) ด้วยความสมัครใจ ถึง 96% ทั้งนี้ พนักงานที่ไม่ได้รับการคัดเลือกในครั้งที่ 1 ก็สามารถเข้าสู่กระบวนกลั่นกรองฯ ครั้งที่ 2 ได้ และตามโครงสร้างใหม่นี้ บริษัทฯ ยังมีตำแหน่งงานรองรับได้อีกหลายอัตราขณะเดียวกันพนักงานอีกจำนวนหนึ่ง ได้สมัครใจเข้าโครงการร่วมใจจากองค์กร MSP (Mutual Separation Program A, B, และ C) เพื่อเป็นการช่วยเหลือบริษัทฯ
อย่างไรก็ดี สำหรับพนักงานที่ไม่ได้รับการคัดเลือกเข้าสู่โครงสร้างใหม่ทั้ง 2 ครั้ง รวมถึงพนักงานที่ไม่แสดงความจำนงเข้าสู่กระบวนกลั่นกรองฯ พนักงานก็ยังคงมีสถานะเป็นพนักงานการบินไทย โดยบริษัทฯจะดูแลพนักงานทุกคนของบริษัทฯ และดำเนินการทุกอย่างภายใต้กรอบของกฎหมายคุ้มครองแรงงานทุกประการ
อ่านประกอบ :
'การบินไทย' ประกาศ บ.ลูก 'ปตท.' ชนะประมูล 'ศูนย์ฝึกอบรมหลักสี่' 1,810 ล้าน
โหวตรับแผนฟื้นฟูฯ! ท่าทีสหกรณ์เจ้าหนี้‘การบินไทย’-เปิดรับสมัคร‘พนง.’กลั่นกรองฯรอบ 2
ได้รับเลือก 9,304 คน! ‘การบินไทย’ ประกาศรายชื่อ ‘พนง.’ เข้าโครงสร้างองค์กรใหม่
‘การบินไทย’วุ่น! ‘นักบิน’ จี้โละผลประเมินเข้าโครงสร้างใหม่-พนง.รอเก้อไม่เรียกสัมภาษณ์
52 เจ้าซื้อซอง! ประมูลศูนย์ฝึกอบรมหลักสี่ ‘การบินไทย’ พบ ‘ปตท.-สิงห์-เซ็นทรัล’ มาด้วย
ปิดฉาก ‘ศูนย์ซ่อมฯอู่ตะเภา’ ผุด MRO ใหม่ 8.3 พันล. ‘ทัพเรือ’ สร้าง ‘การบินไทย’ เช่า
เปิดแผนฟื้นฟูฯ ‘การบินไทย’ (4) ค่าจ้าง ‘ผู้ทำแผน-ที่ปรึกษาฯ’ 5 เดือน 388.5 ล้าน
สมัครเออร์ลี่ฯรอบใหม่อีก 2.8 พันคน! ‘ชาญศิลป์’ มั่นใจ ‘การบินไทย’ พ้นวิกฤติ
ปลดนักบิน-ลูกเรือ 2.3 พันคน! ‘บิ๊กการบินไทย’ ร่อนสารแจงพนง.-ขอไม่ฟ้องร้องกัน
เปิดแผนฟื้นฟูฯการบินไทย (3) อำนาจ 2 ว่าที่ผู้บริหารแผน ‘จักรกฤศฏิ์-ปิยสวัสดิ์’
เปิดแผนฟื้นฟูฯ ‘การบินไทย’ (2) ปฏิรูปธุรกิจเต็มรูปแบบ ‘4 เสาหลัก’ คาดพลิกกำไรปี 66
เปิดแผนฟื้นฟูฯการบินไทย! ‘รบ.-แบงก์’ พร้อมใส่เงินใหม่ 5 หมื่นล.-เพิ่มทุน 3.8 บ./หุ้น
เปิดลงชื่อเข้าโครงสร้างใหม่ ‘การบินไทย’! ‘ชาญศิลป์’ ขอพนง.ร่วมมือเปลี่ยนสภาพการจ้าง
นายกฯสั่ง ‘รมว.แรงงาน’ ดูแลพนง. ‘การบินไทย’ หลังบริษัทให้เขียน 'ใบสมัคร' ใหม่
โรดโชว์หาเงินใหม่! ‘ชาญศิลป์’ มั่นใจรัฐบาลช่วย-ยก 3 ปัจจัยหนุน ‘การบินไทย’ ฟื้น
‘การบินไทย’ ประกาศเกณฑ์คัด ‘กัปตัน-ผู้ช่วยนักบิน’-'ชัยพฤกษ์'เซ็นตั้ง 8 ผอ.ใหญ่
สัญญาณชัดต้องอุ้ม! วัดใจ ‘บิ๊กตู่-ขุนคลัง' ทุบโต๊ะเพิ่มทุน ‘การบินไทย’
ชง‘ปิยสวัสดิ์-จักรกฤศฏิ์’! นั่งผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯ ‘การบินไทย’-หาทุนใหม่ 5 หมื่นล.
ไม่เกิน 55 ปี-ไม่อ้วน! ‘การบินไทย’เพิ่มเกณฑ์คัด ‘แอร์ฯ-สจ๊วต’-สหกรณ์ฯพอใจแผนคืนหนี้
ปิดศูนย์ซ่อมฯอู่ตะเภา! ‘การบินไทย’ คืนพื้นที่ ‘สกพอ.’-โยก 300 พนง.กลับดอนเมือง
ขาดทุนพุ่ง 1.4 แสนล.! ‘การบินไทย’ แจ้งงบปี 63 หนี้ท่วม-เงินสดเหลือ 8.6 พันล้าน
เสียง 'คนการบินไทย' : 'โปรดอย่าทอดทิ้งพนง.กลางทาง' ก่อนบังคับใช้โครงสร้างใหม่
‘การบินไทย’ นัดถก ‘ทอท.’ต่อสัญญาเช่าศูนย์ซ่อมฯดอนเมือง-จับตา ‘เวียตเจ็ท’ยึดอู่ตะเภา
ลดผู้บริหารเหลือ 500 คน! ‘การบินไทย’ ประกาศโครงสร้างใหม่-เปลี่ยนสภาพ‘จ้างงาน’
เข้าข่าย 2.6 พันคน!‘การบินไทย’ เออร์ลี่ฯรอบ 2 ชดเชยสูงสุด 400 วัน-เงินพิเศษ 4 เดือน
พนง.ระส่ำหนัก! ‘การบินไทย’ เปิด MSP C โละคนไม่ได้รับเลือกเข้า 'โครงสร้างใหม่'
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage