“…การเพิ่มทุน เราเปิดหมดไม่ว่าจะเป็นรัฐ เอกชน ต่างชาติ และเจ้าหนี้เดิม แต่ต้องยอมรับว่าการหาผู้ร่วมทุนใหม่ค่อนข้างลำบาก เพราะเหตุว่าเราไม่ได้แฮร์คัตหนี้เดิม ทำให้การขาดทุนสะสมยังสูงอยู่ ดังนั้น เงินที่เพิ่มทุนเข้ามาอาจจะมาจากเจ้าหนี้หรือผู้ถือหุ้นเดิม…”
.................
ในวันที่ 12 พ.ค.2564 หรืออีก 2 เดือนนับจากนี้
จะเป็นวันตัดสินอนาคตครั้งสำคัญของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยที่ประชุมเจ้าหนี้จะมีการโหวตว่าจะ ‘ยอมรับ’ แผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท การบินไทย และ ‘ผู้บริหารแผน’ ฝ่ายลูกหนี้ ภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการฯ ตามที่คณะผู้ทำแผนเสนอหรือไม่ (อ่านประกอบ : ชง‘ปิยสวัสดิ์-จักรกฤศฏิ์’! นั่งผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯ ‘การบินไทย’-หาทุนใหม่ 5 หมื่นล.)
หากที่ประชุมเจ้าหนี้โหวต ‘ยอมรับ’ แผนฯ ในขั้นตอนต่อไป เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะรายงานมติของที่ประชุมเจ้าหนี้ที่ยอมรับแผนต่อศาลล้มละลาย เพื่อขอให้ศาลฯมีคำสั่งว่าจะเห็นชอบด้วยแผนหรือไม่
หากศาลฯมีคำสั่ง ‘เห็นชอบ’ ให้ศาลแจ้งคำสั่งแก่ ‘ผู้บริหารแผน’ และผู้ทำแผน โดยไม่ชักช้า และให้บรรดาสิทธิและอำนาจหน้าที่ของผู้ทำแผนตกเป็นของ ‘ผู้บริหารแผน’ ตั้งแต่ผู้บริหารแผนได้รับทราบคำสั่งศาล ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 90/59 แห่งพ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
เริ่มต้นนับหนึ่งการบริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย ที่มีระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี และขอต่ออายุได้ไม่เกิน 2 ครั้งๆละไม่เกิน 1 ปี หรือรวมแล้วไม่เกิน 7 ปี
หากการฟื้นฟูกิจการฯไม่สำเร็จตามแผนฯ ศาลฯ ‘อาจ’ พิจารณาให้บริษัท การบินไทย เข้าสู่กระบวนการ ‘ล้มละลาย’ และมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดต่อไป
แต่อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการบริษัท การบินไทย ซึ่งคณะผู้ทำแผนได้เสนอชื่อ ‘ผู้บริหารแผน’ จำนวน 2 ราย คือ ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ และ จักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง ตามที่ผู้ถือหุ้นใหญ่ คือ กระทรวงการคลังเสนอนั้น ถือเป็นสัญญาณว่า
รัฐบาลพร้อมโอบอุ้มและให้ความช่วยเหลือ บริษัท การบินไทย ต่อไป
เช่นเดียวกับในหลายๆประเทศ เช่น สหรัฐ เยอรมนี สิงคโปร์ และตรุกี เป็นต้น ซึ่งรัฐบาลได้เข้ามาให้ความช่วยเหลือสายการบินในประเทศ เพื่อให้อยู่รอดท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังยืดเยื้อ
“รายชื่อผู้บริหารแผนมาจากคนที่เป็น 'ผู้ถือหุ้นใหญ่' ซึ่งมี 2 ท่าน คือ ท่านจักรกฤศฏิ์ และท่านปิยสวัสดิ์ มีแค่ 2 คน และจริงๆแล้ว (ผู้บริหารแผน) ไม่ต้องมีเยอะ เพราะว่าประเดี๋ยวการบริหารงานต่างๆ ทีมทั้งหมดจะเป็นคนทำ” ชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย และ 1 ในคณะผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการฯ ระบุในการชี้แจงแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท การบินไทย หลังจากเข้ายื่นแผนฯต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เมื่อวันที่ 2 มี.ค.ที่ผ่านมา
(ที่มา : ข้อมูลการแถลงแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย เมื่อวันที่ 2 มี.ค.2564)
สอดคล้องกับเหตุการณ์เมื่อวันที่ 22 ก.พ.ที่ผ่านมา หรือไม่ถึง 10 วัน ก่อนวันที่ผู้ทำแผนฯมีกำหนดยื่นแผนฟื้นฟูฯต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้ประชุมร่วมกับ สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯ และรมว.พลังงาน , วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหาบริษัท การบินไทยฯ และอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เพื่อรับทราบความคืบหน้าแผนฟื้นฟูกิจการฯบริษัท การบินไทย โดยพล.อ.ประยุทธ์ ตั้งความหวังว่า การบินไทยจะกลับมาบินเพื่อคนไทยและนักท่องเที่ยวทุกคน
"...ผมเชื่อมั่นว่าหากทุกคนร่วมมือร่วมใจกัน การบินไทยจะสามารถกลับมาบินเพื่อพวกเราคนไทย และนักท่องเที่ยวทุกคนได้อย่างภาคภูมิใจแน่นอนครับ" พล.อ.ประยุทธ์ โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก 'ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha' เมื่อวันที่ 22 ก.พ.2564
(พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประชุมติดตามความคืบหน้าแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย เมื่อวันที่ 22 ก.พ.2564)
ที่สำคัญเมื่อแผนฟื้นฟูกิจการฯที่คณะผู้ทำแผนยื่นไปนั้น ไม่มีการลดหนี้ (แฮร์คัต) เงินต้นของเจ้าหนี้ เพียงแต่ขยายเวลาชำระหนี้ของเจ้าหนี้แต่ละกลุ่มออกไปอีก 6 ปีนั้น ทำให้หนี้สะสมของการบินไทยยังอยู่ใน 'ระดับสูง' และส่วนของผู้ถือหุ้น 'ติดลบ' ส่งผลให้โอกาสในการหา 'ผู้ร่วมทุนใหม่' เป็นไปยาก (อ่านประกอบ : ขาดทุนพุ่ง 1.4 แสนล.! ‘การบินไทย’ แจ้งงบปี 63 หนี้ท่วม-เงินสดเหลือ 8.6 พันล้าน)
ดังนั้น จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่กระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ จะต้องเข้ามาบทบาทในการใส่เงิน ‘เพิ่มทุน’ ให้กับบริษัท การบินไทย
โดยเฉพาะเงิน ‘ก้อนแรก’ ที่ต้องเริ่มทยอยเข้ามาในเดือนมิ.ย.นี้ เพื่อจ่ายค่าชดเชยให้พนักงานที่เข้าร่วมโครงการร่วมใจจากองค์กร (MSP) ประมาณ 6,000-7,000 คน ขณะที่บริษัท การบินไทย ประเมินว่า ความต้องการใช้แหล่งเงินใหม่จะอยู่ที่ 5 หมื่นล้านบาท ในช่วง 2 ปีข้างหน้า
“การเพิ่มทุน เราเปิดหมดไม่ว่าจะเป็นรัฐ เอกชน ต่างชาติ และเจ้าหนี้เดิม แต่ต้องยอมรับว่าการหาผู้ร่วมทุนใหม่ค่อนข้างลำบาก เพราะเหตุว่าเราไม่ได้แฮร์คัตหนี้เดิม ทำให้การขาดทุนสะสมยังสูงอยู่ ดังนั้น เงินที่เพิ่มทุนเข้ามาอาจจะมาจากเจ้าหนี้หรือผู้ถือหุ้นเดิม” ชาย เอี่ยมศิริ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายการเงินและการบัญชี (DE) บริษัท การบินไทย ระบุ
ชาย ย้ำด้วยว่า “ถามว่าแผนนี้เป็นแผนที่การบินไทยหรือผู้ทำแผนอย่างจะเห็นหรือไม่ ตอบได้เลยว่า ไม่ใช่ แต่บางครั้ง เนื่องจากว่าตามกระบวนการทำแผนฟื้นฟูฯ เราต้องได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมเจ้าหนี้มากกว่า 50% เพราะฉะนั้น ถ้ามีการแฮร์คัตเราต้องไปหารือ ก่อนจะเป็นแผนฟื้นฟูฯฉบับสุดท้าย
ซึ่งเราได้หารือกับเจ้าหนี้แต่ละกลุ่มหลายๆรอบ เพื่อซาวเสียงแผนเวอร์ชั่นที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 จนมาถึงแผนสุดท้ายเลย และถ้าไม่เป็นออปชั่นนี้ (ไม่ลดหนี้เงินต้น) ความเป็นไปได้ที่แผนฯ จะไม่ผ่านก็มีความเป็นไปได้สูง และเราได้บอกกับเจ้าหนี้ว่า เมื่อเราไม่แฮร์คัตหนี้ เราก็อยากให้ท่านมาเป็นผู้ถือหุ้นเราด้วย มาเป็นพันธมิตรระยาวร่วมกัน”
ชาญศิลป์ ตรีนุชกร (ซ้าย) และชาย เอี่ยมศิริ (ขวา) เมื่อวันที่ 2 มี.ค.2564
แต่ทว่าการ 'เพิ่มทุน' หรือค้ำประกันเงินกู้ใหม่ให้กับบริษัท การบินไทย โดยกระทรวงการคลังนั้น อาจทำได้ไม่ง่ายนัก เพราะปัจจุบันการบินไทย ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจแล้ว อีกทั้งรัฐบาลเองมีภาระหนี้เพิ่มขึ้น โดยล่าสุดครม.อนุมัติแผนบริหารหนี้ปีงบ 2564 ปรับปรุงครั้งที่ 1 ที่กระทรวงการคลังเสนอ ซึ่งทำให้ระดับหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนก.ย.2564 อยู่ที่ 56.74% จีดีพี (อ่านประกอบ : กู้เพิ่ม 1.99 แสนล.! ครม.ไฟเขียวแผนบริหารหนี้ใหม่-ธปท.กระตุ้นรัฐเร่งเบิกจ่าย)
“สถานการณ์ในช่วง 1-2 ปีนี้ คงยังไม่กลับมาเหมือนก่อนโควิด ถ้าเขาต้องดำเนินกิจการต่อ เขาต้องมีเงินไปเสริมสภาพคล่อง รวมทั้งเขามีเรื่องพนักงานที่สมัครใจลาออก ซึ่งต้องมีเงินจ่ายชดเชย เขาจึงต้องการเงินก้อนหนึ่ง เดี๋ยวทางกระทรวงการคลังต้องมาดูว่า การเพิ่มทุนหรือการให้กู้ หรือการค้ำประกันนั้น มีข้อจำกัดและมีข้อกฎหมายอะไรบ้าง” ปานทิพย์ ศรีพิมล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ให้สัมภาษณ์สื่อเมื่อวันที่ 2 มี.ค.ที่ผ่านมา
ขณะที่เพียง 1 วันก่อนหน้านั้น อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ยังไม่ยืนยันว่า กระทรวงการคลังจะเพิ่มทุนให้กับบริษัท การบินไทย หรือไม่ เพราะต้องดูแผนฟื้นฟูกิจการฯก่อนว่าเป็นอย่างไร
ส่วนความหวังของบริษัท การบินไทย ที่อยากจะเห็นกลุ่มเจ้าหนี้เดิม ‘แปลงหนี้เป็นทุน’ ตามที่บริษัทฯได้เสนอทางเลือกเอาไว้นั้น ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายและมีเงื่อนไขที่ปฏิบัติ โดยเฉพาะการแปลงหนี้เป็นทุนในส่วนของสหกรณ์ออมทรัพย์ฯ 87 แห่ง ซึ่งเป็นเจ้าหนี้หุ้นกู้บริษัท การบินไทย มูลค่ากว่า 4.3 หมื่นล้านบาท
“เรายังไม่แน่ใจว่าสหกรณ์แห่งใดจะสนใจทางเลือกนี้บ้าง และที่ผ่านมาก็ยังไม่เคยมีการสำรวจมาก่อน แต่ถ้าให้ผมวิเคราะห์ ผมคิดว่าคงไม่มีสหกรณ์ฯแห่งใด จะแปลงหนี้เป็นทุน
เพราะการแปลงหนี้เป็นทุน หรือการแปลงหนี้เป็นหุ้นสามัญในกรณีของบริษัท การบินไทย ซึ่งไม่ใช่รัฐวิสาหกิจแล้วนั้น ตามมาตรา 62 (6) แห่งพ.ร.บ.สหกรณ์ฯ ระบุว่า จะต้องได้รับความยินยอมจากนายทะเบียนสหกรณ์ (อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์) ก่อน” ไพบูลย์ แก้วเพทาย หนึ่งในคณะกรรมการติดตามการแก้ไขปัญหาหุ้นกู้ บริษัท การบินไทย กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org)
ส่วนกรณีที่มีข้อเสนอให้สหกรณ์เข้าไปซื้อ ‘หุ้นกู้ใหม่’ ของบริษัท การบินไทย ที่จะนำออกขายในอนาคต ซึ่งคาดว่าดอกเบี้ยจะอยู่ที่ 3-4% ต่อปีนั้น ไพบูลย์ ระบุว่า ทำไม่ได้ เพราะตามประกาศของคณะกรรมการพัฒนาสหกรณ์แห่งชาติ (คพช.) กำหนดให้สหกรณ์ลงทุนได้เฉพาะหุ้นกู้ที่มีเครดิตเรตติ้งตั้งแต่ A- ขึ้นไปเท่านั้น
ดังนั้น เมื่อปัจจุบัน บริษัท การบินไทย ไม่ได้มีเครดิตเรตติ้งตั้งแต่ A- ขึ้นไป สหกรณ์ฯจึงไม่สามารถซื้อหุ้นกู้ใหม่ของบริษัท การบินไทย ได้ เว้นเสียแต่ว่า (คพช.) จะมีการแก้ไขหลักเกณฑ์ดังกล่าวก่อน (อ่านประกอบ : โค้งสุดท้าย! แผนฟื้นฟูฯ ‘การบินไทย’ ‘รื้อฝูงบิน-ลดพนง.-หาทุนใหม่’ ชงรัฐขอสิทธิพิเศษ)
จากนี้ไปคงต้องติดตามว่า บริษัท การบินไทย จะมี ‘แหล่งเงินใหม่’ เพื่อใช้เป็นสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ และจ่ายเงินค่าชดเชยให้กับพนักงานที่เข้าร่วมโครงการร่วมใจจากองค์กรฯ จะมาจากแหล่งใดบ้าง
แต่ที่แน่ๆมีความเป็นไปได้สูง ที่ทั้งกระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ และพล.อ.ประยุทธ์ จะต้องควักเงินเพิ่มทุนให้กับบริษัท การบินไทย!
อ่านประกอบ :
ไม่เกิน 55 ปี-ไม่อ้วน! ‘การบินไทย’เพิ่มเกณฑ์คัด ‘แอร์ฯ-สจ๊วต’-สหกรณ์ฯพอใจแผนคืนหนี้
ปิดศูนย์ซ่อมฯอู่ตะเภา! ‘การบินไทย’ คืนพื้นที่ ‘สกพอ.’-โยก 300 พนง.กลับดอนเมือง
ขาดทุนพุ่ง 1.4 แสนล.! ‘การบินไทย’ แจ้งงบปี 63 หนี้ท่วม-เงินสดเหลือ 8.6 พันล้าน
เสียง 'คนการบินไทย' : 'โปรดอย่าทอดทิ้งพนง.กลางทาง' ก่อนบังคับใช้โครงสร้างใหม่
‘การบินไทย’ นัดถก ‘ทอท.’ต่อสัญญาเช่าศูนย์ซ่อมฯดอนเมือง-จับตา ‘เวียตเจ็ท’ยึดอู่ตะเภา
ลดผู้บริหารเหลือ 500 คน! ‘การบินไทย’ ประกาศโครงสร้างใหม่-เปลี่ยนสภาพ‘จ้างงาน’
เข้าข่าย 2.6 พันคน!‘การบินไทย’ เออร์ลี่ฯรอบ 2 ชดเชยสูงสุด 400 วัน-เงินพิเศษ 4 เดือน
พนง.ระส่ำหนัก! ‘การบินไทย’ เปิด MSP C โละคนไม่ได้รับเลือกเข้า 'โครงสร้างใหม่'
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage