“…รายงานของบริษัทที่ปรึกษาฯใน ‘โครงการงานออกแบบศูนย์ซ่อมอากาศยาน MRO’ ซึ่งมีที่ตั้งโครงการอยู่ที่สนามบินอู่ตะเภา อ.บ้านฉาง จ.ระยอง ของกองทัพเรือ ข้อมูล ณ วันที่ 28 ม.ค.2563 พบว่า งานก่อสร้าง ‘อาคาร MRO’ ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา มีมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 6,448 ล้านบาท ไม่รวมงานถมและงานปรับพื้นที่…”
....................
หลังจากเปิดดำเนินการมาเป็นเวลากว่า 20 ปี
ในที่สุดศูนย์ซ่อมอากาศยานแห่งที่ 2 สนามบินอู่ตะเภา หรือ ‘ศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา’ ของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ก็ปิดตัวลงอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 31 มี.ค.2564 ที่ผ่านมา
เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (ส.กพอ.) แจ้งยกเลิกสัญญาเช่า เพราะต้องนำพื้นที่ไปก่อสร้างทางวิ่งที่ 2 และอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 3 โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก (อ่านประกอบ : ปิดศูนย์ซ่อมฯอู่ตะเภา! ‘การบินไทย’ คืนพื้นที่ ‘สกพอ.’-โยก 300 พนง.กลับดอนเมือง)
“ค่าทุบทิ้งและรื้อย้ายอุปกรณ์ต่างๆในศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภาของการบินไทยน่าจะอยู่ที่ประมาณ 10 ล้านบาท” แหล่งข่าวจากบริษัท การบินไทย กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org)
(พนักงานบริษัท การบินไทย ประจำศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา ถ่ายรูปอำลา ก่อนปิดศูนย์ซ่อมฯอย่างเป็นทางการวันที่ 31 มี.ค.2564 ขอบคุณภาพ Navin Nualaroon)
แต่ทว่าการ ‘ปิดฉาก’ ศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ‘บรรหาร ศิลปอาชา’ มีมติเมื่อวันที่ 21 พ.ย.2538 หรือเมื่อ 25 ปีก่อน โดยอนุมัติให้บริษัท การบินไทย ลงทุนในวงเงิน 3,004.67 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าก่อสร้าง 2,477.57 ล้านบาท และเงินสำรองเพื่อใช้ในการดำเนินงาน 527.10 ล้านบาท นั้น
ไม่ได้ทำให้ไทย ‘เบนเข็ม’ ออกจากเป้าหมายในการเป็น ‘ฮับ’ ซ่อมบำรุงอากาศยานและการผลิตชิ้นส่วนอากาศยานในภูมิภาค แต่อย่างใด
ล่าสุด ‘กองทัพเรือ’ ยังคงเดินหน้าลงทุนศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา (MRO) ในส่วนงานปรับถมดินสำหรับงานก่อสร้างศูนย์ซ่อมอากาศยาน และงานปรับพื้นที่เพื่อก่อสร้างทางขับระยะที่ 1 จำนวน 4 สัญญา มูลค่า 1,890 ล้านบาท ซึ่งเปิดประมูลไปเมื่อปี 2563 และได้ผู้ชนะประมูลทั้ง 4 สัญญาแล้ว อย่างต่อเนื่อง
ส่วนการลงทุน ‘อาคาร MRO’ เพื่อให้บริษัท การบินไทย เช่าดำเนินงานต่อนั้น แม้ว่ากองทัพเรือได้ชะลอการก่อสร้างออกไป 1 ปี หลังจาก ส.กพอ. มีหนังสือแจ้งขอให้ชะลอการก่อสร้าง เพราะบริษัท การบินไทย อยู่ระหว่างการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการฯ
คาดว่าการก่อสร้าง ‘อาคาร MRO’ จะเริ่มเดินหน้าอีกครั้งในปี 2565
ทั้งนี้ จากรายงานของบริษัทที่ปรึกษาฯใน ‘โครงการงานออกแบบศูนย์ซ่อมอากาศยาน MRO’ ซึ่งมีที่ตั้งโครงการอยู่ที่สนามบินอู่ตะเภา อ.บ้านฉาง จ.ระยอง ของกองทัพเรือ ณ วันที่ 28 ม.ค.2563 พบว่า งานก่อสร้าง ‘อาคาร MRO’ อู่ตะเภา มีมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 6,448 ล้านบาท ไม่รวมงานถมและงานปรับพื้นที่
เช่น การสร้างโรงพ่นสีอากาศยาน (Paint Shop) มูลค่า 1,285 ล้านบาท ,การก่อสร้างโรงซ่อมอากาศยานอัจฉริยะ (Smart Hanger) มูลค่า 3,070 ล้านบาท อาคารขนถ่ายสินค้าอาคารเก็บอะไหล่ชิ้นส่วนอากาศยาน มูลค่า 247 ล้านบาท และอาคารถังเก็บน้ำและโรงหล่อเย็น มูลค่า 338 ล้านบาท เป็นต้น
หรือคิดเป็นวงเงินลงทุนอาคารและโครงสร้างพื้นฐานที่ 'กองทัพเรือ' ได้รับจัดสรรงบประมาณเพื่อลงทุน ทั้งสิ้น 8,338 ล้านบาท
ขณะที่ฝั่งบริษัท การบินไทย เอง มีแผนหาพันธมิตรเข้ามาร่วมลงทุนศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา โดยเมื่อต้นเดือนธ.ค.2563 บริษัทฯส่งหนังสือไปยังเอกชน 23 ราย เพื่อเชิญชวนเข้ามาร่วมลงทุนศูนย์ซ่อมอากาศยานทั้งที่ดอนเมือง และอู่ตะเภา (อ่านประกอบ : ร่อนจม.หาพันธมิตร! ‘การบินไทย’ เปิดร่วมทุนศูนย์ซ่อมฯ-มี ‘ไทยเบฟฯ-คิงพาวเวอร์’ ด้วย)
สอดคล้องกับแผนฟื้นฟูกิจการฯบริษัท การบินไทย ฉบับวันที่ 2 มี.ค.2564 ที่ระบุว่า “บริษัทฯจะศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนร่วมกับภาครัฐหรือภาคเอกชน ในโครงการประเภทต่างๆ เช่น หน่วยธุรกิจสินค้าคงคลัง (Cargo) ,ครัวการบิน (Catering)…งานซ่อมบำรุงเครื่องบินและเครื่องยนต์ (MRO-Aircraft Maintenance Repair & Overhaul)…”
จากการหารือกันภายใน เบื้องต้นบริษัท การบินไทย มีแผนลงทุนระบบและอุปกรณ์สำหรับงานซ่อมบำรุงอากาศยาน 3 งานหลัก ได้แก่ 1.งานซ่อมบำรุงใหญ่ (Heavy Maintenance) 2.งานซ่อมบำรุงระดับลานจอด (Line Maintenance) และ3.งานพ่นสีอากาศยาน (Aircraft Painting) ที่ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภาแห่งใหม่ โดยคาดว่าจะเปิดดำเนินการในปี 2568
ส่วนอัตราค่าเช่ารายปีนั้น กองทัพเรือ และบริษัท การบินไทย อาจจะต้องมีการเจรจากันใหม่ เนื่องจากสถานการณ์ของบริษัท การบินไทย เปลี่ยนไปจากเดิม
ขณะที่ก่อนหน้านี้ มีการตกลงว่า บริษัท การบินไทย จะจ่ายค่าเช่ารายปีให้กองทัพเรือในอัตรา 3% ของเงินลงทุนก่อสร้างอาคาร หรือประมาณปีละ 180 ล้านบาท และกองทัพเรือจะได้รับส่วนแบ่งรายได้ในอัตรา 1% ของรายได้ค่าซ่อมอากาศยานของการบินไทย ตลอดอายุสัญญา 50 ปีด้วย
(ที่มา : บริษัท การบินไทย)
อย่างไรก็ตาม โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภาแห่งใหม่ที่ ‘กองทัพเรือ’ กำลังจะก่อสร้าง เพื่อให้บริษัท การบินไทย เช่าดำเนินการต่อ ในขณะที่บริษัท การบินไทย ประเมินว่า MRO อู่ตะเภาแห่งนี้ จะสร้างรายได้ให้บริษัทฯ เป็นเงินกว่า 5 แสนล้านบาท ตลอดอายุสัญญาเช่า ‘อาคาร MRO’ 50 ปี นั้น
ยังคงถูกตั้งคำถามถึงความเป็นไปได้และความสำเร็จ ?
ประเด็นแรก ปัจจุบัน บริษัท การบินไทย ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจแล้ว ดังนั้น การที่กองทัพเรือจะให้บริษัท การบินไทย ทำสัญญาเช่า ‘อาคาร MRO’ เป็นระยะเวลา 50 ปี โดยใช้วิธีการคัดเลือกแบบเฉพาะเจาะจงแบบเดิม คงไม่สามารถทำได้ และต้องดำเนินการตามพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ โดยเปิดให้เอกชนรายอื่นๆเข้ามาร่วมแข่งขันประมูล
ประเด็นที่สอง การลงทุนติดตั้งระบบและอุปกรณ์ซ่อมบำรุงอากาศยาน ภายในอาคาร MRO นั้น จะต้องใช้เม็ดเงินนับหมื่นล้านบาท จึงมีคำถามว่า ในภาวะที่บริษัท การบินไทย มีหนี้สินล้นพ้นตัว และกว่าธุรกิจการบินจะกลับมาฟื้นตัวเต็มที่ในปี 2567 ตามที่บริษัทฯคาดการณ์ไว้นั้น บริษัทฯจะนำเงินลงทุนมาจากแหล่งใด
ประเด็นที่สาม ขณะนี้เวียดเจ็ทแอร์ (Vietjet Air) สายการบินของเวียดนาม ได้รับอนุญาตจาก ส.กพอ. ในการเข้ามาสำรวจและลงทุนศูนย์ซ่อมอากาศยานที่อู่ตะเภาเช่นกัน โดยมีบริษัทที่ปรึกษา คือ Triumph Avaiation Services Asia, Ltd. (TASA) หากเวียดเจ็ทแอร์ลงทุนศูนย์ซ่อมอากาศยานเสร็จก่อน ก็เท่ากับเป็นการแย่งลูกค้าของบริษัท การบินไทย
ประเด็นที่สี่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ร่วมกับพันธมิตร คือ บริษัท ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จัดตั้งบริษัทร่วมทุน บริษัท FORTH MRO และได้สัมปทานประกอบกิจการศูนย์ซ่อมอากาศยาน ณ สนามบินดอนเมือง เป็นเวลา 15 ปี โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2565
ที่สำคัญศูนย์ซ่อมอากาศยานดอนเมืองของ บริษัท FORTH MRO ที่มีต้นทุนค่าเช่าพื้นที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับ ‘ค่าเช่า’ ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานดอนเมือง (MMK MRO) ในปัจจุบันที่ ทอท. คิดค่าเช่าจากบริษัท การบินไทย เดือนละ 35 ล้านบาท ซึ่งอาจทำให้ FORTH MRO ดึงลูกค้าบางส่วนไปจากบริษัท การบินไทย ได้
ประเด็นที่ห้า การเผชิญกับแข่งขันที่รุนแรงจากบรรดาศูนย์ซ่อมอากาศยานในภูมิภาค โดยเฉพาะสิงค์โปร์ ซึ่งได้รับลิขสิทธิ์ซ่อมเครื่องยนต์ 'โรลส์-รอยซ์' แต่เพียงรายเดียว หรือศูนย์ซ่อมอากาศยานในจีนที่มี 'ค่าแรงงาน' ใกล้เคียงกับไทย ขณะที่อินโดนีเซีย เวียดนาม และมาเลเซีย ต่างก็พัฒนาศูนย์ซ่อมอากาศยานของตัวเอง
แม้ว่าการทุบทิ้งศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภาของ ‘การบินไทย’ ก่อนที่ ‘กองทัพเรือ’ จะก่อสร้าง MRO อู่ตะเภาแห่งใหม่ มูลค่า 8,338 ล้านบาท และให้บริษัท การบินไทย เช่าดำเนินการ จะเป็นแนวทางการสร้างรายได้ให้กับบริษัท การบินไทย ในอนาคต
เพียงแต่ว่าการฝ่าฟันไปสู่จุดหมายนั้น กลับไม่ไช่เรื่องที่ง่ายเลย !
อ่านประกอบ :
ปิดศูนย์ซ่อมฯอู่ตะเภา! ‘การบินไทย’ คืนพื้นที่ ‘สกพอ.’-โยก 300 พนง.กลับดอนเมือง
‘การบินไทย’ นัดถก ‘ทอท.’ต่อสัญญาเช่าศูนย์ซ่อมฯดอนเมือง-จับตา ‘เวียตเจ็ท’ยึดอู่ตะเภา
โค้งสุดท้าย! แผนฟื้นฟูฯ ‘การบินไทย’ ‘รื้อฝูงบิน-ลดพนง.-หาทุนใหม่’ ชงรัฐขอสิทธิพิเศษ
การบินไทย'ขอสิทธิพิเศษ! ให้ ‘ทอ.-ตช.’ เปิดทางเข้าซ่อม ‘เครื่องบิน-ฮ.’-ทอท.ลดค่าเช่า
ร่อนจม.หาพันธมิตร! ‘การบินไทย’ เปิดร่วมทุนศูนย์ซ่อมฯ-มี ‘ไทยเบฟฯ-คิงพาวเวอร์’ ด้วย
ชงเข้าแผนฟื้นฟูฯ! 'การบินไทย' ดันศูนย์ซ่อมอู่ตะเภา-ตั้ง ‘บ.ร่วมทุนฯ’ ถือหุ้น 51%
ผลประโยชน์ทับซ้อน? ทอท. ตั้ง ‘ศูนย์ซ่อมฯเครื่องบิน’ แข่ง 'การบินไทย'
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage