“…ถึงแม้ว่าผู้ทำแผนจะประมาณการรายได้จากการการดำเนินงานและคาดว่าจะสามารถดำเนินธุรกิจให้มีผลกำไรสุทธิ แต่หากการบินไทยไม่สามารถดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ได้สำเร็จ การบินไทยอาจไม่สามารถดำเนินธุรกิจให้มีผลประกอบการตามที่คาดการณ์ไว้ในประมาณการทางการเงิน อันจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้…”
................
การตัดสินใจไม่ ‘แฮร์คัต’ หนี้เงินต้น
หวังสร้างแรงจูงใจให้ ‘เจ้าหนี้’ 36 กลุ่ม รวมแล้วกว่า 13,000 ราย ตัดสินใจโหวต ‘รับ’ แผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่ ‘คณะผู้ทำแผน’ ยื่นต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และเจ้าหนี้ของบริษัท การบินไทยฯ เมื่อวันที่ 2 มี.ค.2564 ก่อนเสนอที่ประชุมเจ้าหนี้โหวตในวันที่ 12 พ.ค.2564 นั้น
แน่นอนว่าจะทำให้แผนฟื้นฟูกิจการฯ ‘ผ่าน’
“เราได้หารือกับเจ้าหนี้แต่ละกลุ่มหลายๆรอบ เพื่อซาวเสียงแผนเวอร์ชั่นที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 จนมาถึงแผนสุดท้ายเลย และถ้าไม่เป็นออปชั่นนี้ (ไม่ลดหนี้เงินต้น) ความเป็นไปได้ที่แผน จะไม่ผ่านมีความเป็นไปได้สูง” ชาย เอี่ยมศิริ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายการเงินและการบัญชี บริษัท การบินไทย กล่าว
แต่ทว่าแรงจูงใจสำคัญให้ผู้ถือหุ้นเดิม นักลงทุนใหม่ สถาบันการเงิน และเจ้าหนี้เดิม ตัดสินใจลง ‘เงินใหม่’ เพื่อเติมสภาพคล่องให้กับบริษัท การบินไทย สำหรับใช้เป็นทุนในการประกอบธุรกิจระยะต่อไป ทั้งการขายหุ้นเพิ่มทุนและปล่อยสินเชื่อใหม่ หรือแม้แต่การที่เจ้าหนี้เดิมตัดสิใจ ‘แปลงหนี้เป็นทุน’ นั้น
ปัจจัยชี้ขาดอยู่ที่ ‘ความเชื่อมั่น’ ที่มีต่อแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท การบินไทยฯ
หากพิจารณาแผนฟื้นฟูฯบริษัท การบินไทย ที่คณะผู้ทำแผนยื่นต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และเจ้าหนี้ พบว่า นอกจากการปรับโครงสร้างทุน การปรับโครงสร้างหนี้ การปรับโครงสร้างธุรกิจ แผนการคืนหนี้เจ้าหนี้เดิม และแผนจัดหาเงินทุนใหม่แล้ว (อ่านประกอบ : เปิดแผนฟื้นฟูฯการบินไทย! ‘รบ.-แบงก์’ พร้อมใส่เงินใหม่ 5 หมื่นล.-เพิ่มทุน 3.8 บ./หุ้น)
แผนฟื้นฟูกิจการฯฉบับวันที่ 2 มี.ค.2564 มีการระบุถึง ‘การปฏิรูปธุรกิจแบบเต็มรูปแบบ’ หลังจากในช่วงระหว่างการฟื้นฟูกิจการฯนั้น บริษัท การบินไทย มีการลดพนักงานและลูกจ้างลง 9,200 คน และปรับปรุงสวัสดิการต่างๆให้สอดคล้องกับอุตสาหกรรม รวมถึงลดต้นทุนค่าเช่าเครื่องบินลง 40% เป็นต้น
โดยการปฏิรูปธุรกิจเต็มรูปแบบ 4 ด้าน มีเป้าหมายเพื่อผลักดันให้บริษัท การบินไทย กลับมามีรายได้และผลกำที่ยั่งยืนจากธุรกิจ ภายใต้วิสัยทัศน์ ‘สายการบินคุณภาพสูงที่ให้บริการเต็มรูปแบบด้วยความแข็งแกร่งของอัตลักษณ์ความเป็นไทยเชื่อมโยงประเทศไทยสู่โลก และสร้างผลกำไรที่ดีอย่างต่อเนื่อง’ ได้แก่
1.การเป็นสายการบินในใจของลูกค้าที่ลูกค้านึกถึงอยู่เสมอ เช่น การออกแบบผลิตภัณฑ์หรือบริการ เพื่อสร้างมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้ลูกค้าด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าในปัจจุบันบัน และการกำหนดราคาบัตรโดยสารพร้อมบริการเสริมแบบแยกรายการ (Unbundling Fare) ที่เอื้อต่อการเลือกซื้อบัตรโดยสารราคาประหยัดของลูกค้า
2.ความเป็นเลิศด้านการพาณิชย์ เช่น กำหนดเครือข่ายเส้นทางบินในช่วงที่เริ่มกลับมาบิน (Restart) เมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย การปรับปรุงแผนเครือข่ายเส้นทางบินที่เหมาะสม โดยเน้นให้บริการเส้นทางบินที่มีผลกำไร การลงทุนด้านดิจิทัลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของช่องทางขายบัตรโดยสาร และปรับวิธีการทำงานแบบใหม่ เป็นต้น
3.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุน เช่น นำเกณฑ์มาตรฐาน (Benchmark) ในการดำเนินงานทั้งกระบวนการ (End-to-End) ของบริษัทอื่นๆในอุตสาหกรรมการบินมาเปรียบเทียบและประเมินผล วิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการปรับปรุงพัฒนาวิธีการดำเนินงานของการบินไทย
การปรับโครงสร้างองค์กร ปรับจำนวนพนักงานให้เหมาะสมกับกำลังการผลิตและปรับผลตอบแทนให้สอดคล้องกับเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งคาดว่าจะลดต้นทุนบุคลากรได้กว่า 50% ,การต่อรองเงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบินให้เป็นไปตามแผนการปรับเปลี่ยนฝูงบินและเครื่องบิน ,การลดต้นทุนการจ้างงานตลอดทั้งกระบวนการ ปรับปรุงหน่วยจัดซื้อให้มีเอกภาพ เป็นต้น
4.การเป็นสายการบินชั้นนำ เช่น การออกแบบกระบวนการทำงานและระบบการปฏิบัติการอย่างครอบคลุม พัฒนาขีดความสามารถพนักงานทุกระดับ รวมทั้งพิจารณาว่าจ้างผู้บริหารระหว่างกาล (Interim Executive) ในสายงานที่สำคัญต่อธุรกิจการบิน การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาด้านวัฒนธรรมองค์กร และทัศนคติของพนักงานภายในองค์กร
พร้อมกันนั้น บริษัทฯ จะมีการศึกษาความเป็นได้ในการลงทุนร่วมกับภาครัฐและเอกชน ในโครงการประเภทต่างๆ เช่น หน่วยธุรกิจสินค้าคงคลัง (Cargo) ,ครัวการบิน (Catering) ,การให้บริการอุปกรณ์ภาคพื้นดิน ,การให้บริการลูกค้าภาคพื้นดิน งานซ่อมบำรุงเครื่องบินและเครื่องยนต์ (MRO) หรือบริษัทร่วมหรือบริษัทย่อย เป็นต้น
นอกจากนี้ ภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการฯ ได้มีการจัดทำประมาณการทางการเงินของบริษัท การบินไทย ระหว่างปี 2564-2579 โดยคาดว่าบริษัทฯจะกลับมามีกำไรตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป โดยปี 2566 คาดว่าบริษัทฯจะมีรายได้ 100,080 ล้านบาท และมีกำไร 4,912 ล้านบาท และปี 2567 คาดว่าจะมีรายได้ 119,029 ล้านบาท และมีกำไร 21,177 ล้านบาท
ขณะที่ในช่วง 2 ปีแรกของแผนฯ คาดว่าบริษัทฯ จะยังมีผลขาดทุนต่อเนื่อง ได้แก่ ปี 2564 คาดว่าจะมีรายได้ 14,837 ล้านบาท และขาดทุน 12,488 ล้านบาท โดยเฉพาะในปี 2564 บริษัทฯ จะมีรายจ่ายค่าชดเชยกรณีเลิกจ้างพนักงานเป็นเงิน 15,120 ล้านบาท แต่จะมีกำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้ 21,834 ล้านบาท ส่วนปี 2565 คาดว่ารายได้จะอยู่ที่ 57,201 ล้านบาท และขาดทุน 5,867 ล้านบาท
ส่วนประมาณการงบกระแสเงินสดสุทธิ คาดว่าปี 2564 บริษัทฯจะมีกระแสเงินสดสุทธิอยู่ที่ 1,164 ล้านบาท ,ปี 2565 อยู่ที่ 1,473 ล้านบาท ,ปี 2566 อยู่ที่ 13,214 ล้านบาท ปี 2567 อยู่ที่ 6,505 ล้านบาท และปี 2568 อยู่ที่ 91 ล้านบาท เป็นต้น
ส่วนประมาณการฐานทางการเงินของบริษัท การบินไทย คาดว่าส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ จะติดลบต่อเนื่อง 9 ปี หรือตั้งแต่ปี 2564-2572 ก่อนที่จะเป็นบวกในปี 2573
โดยปี 2564 ติดลบ 117,981 ล้านบาท ,ปี 2565 ติดลบ 117,349 ล้านบาท ,ปี 2566 ติดลบ 112,437 ล้านบาท ,ปี 2567 ติดลบ 91,260 ล้านบาท ,ปี 2568 ติดลบ 71,661 ล้านบาท ,ปี 2569 ติดลบ 52,728 ล้านบาท ,ปี 2570 ติดลบ 34,897 ล้านบาท ,ปี 2571 ติดลบ 17,372 ล้านบาท ปี 2572 ติดลบ 4,991 ล้านบาท และปี 2573 บวก 6,305 ล้านบาท
“ถึงแม้ว่าผู้ทำแผนจะประมาณการรายได้จากการการดำเนินงานและคาดว่าจะสามารถดำเนินธุรกิจให้มีผลกำไรสุทธิ แต่หากการบินไทยไม่สามารถดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ได้สำเร็จ การบินไทยอาจไม่สามารถดำเนินธุรกิจให้มีผลประกอบการตามที่คาดการณ์ไว้ในประมาณการทางการเงิน อันจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้” แผนฟื้นฟูกิจการฯบริษัท การบินไทย ฉบับวันที่ 2 มี.ค.2564 ระบุ
จึงต้องติดตามว่าการเดินหน้า ‘ปฏิรูปธุรกิจแบบเต็มรูปแบบ’ 4 เสาหลัก ภายใต้การกุมบังเหียนสั่งการของ ‘ผู้บริหารแผน’ ที่คณะผู้ทำแผนเสนอรายชื่อไป 2 ราย คือ ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ และ จักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล นั้น จะสามารถพลิกฟื้นธุรกิจและทำให้บริษัท การบินไทย กลับมาทำกำไรในปี 2566 หรือในอีก 3 ปีนับจากนี้ได้หรือไม่
รวมถึงจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับ ‘เจ้าหนี้’ และ ‘นักลงทุนรายใหม่’ ได้หรือไม่!
อ่านประกอบ :
เปิดแผนฟื้นฟูฯการบินไทย! ‘รบ.-แบงก์’ พร้อมใส่เงินใหม่ 5 หมื่นล.-เพิ่มทุน 3.8 บ./หุ้น
เปิดลงชื่อเข้าโครงสร้างใหม่ ‘การบินไทย’! ‘ชาญศิลป์’ ขอพนง.ร่วมมือเปลี่ยนสภาพการจ้าง
นายกฯสั่ง ‘รมว.แรงงาน’ ดูแลพนง. ‘การบินไทย’ หลังบริษัทให้เขียน 'ใบสมัคร' ใหม่
โรดโชว์หาเงินใหม่! ‘ชาญศิลป์’ มั่นใจรัฐบาลช่วย-ยก 3 ปัจจัยหนุน ‘การบินไทย’ ฟื้น
‘การบินไทย’ ประกาศเกณฑ์คัด ‘กัปตัน-ผู้ช่วยนักบิน’-'ชัยพฤกษ์'เซ็นตั้ง 8 ผอ.ใหญ่
สัญญาณชัดต้องอุ้ม! วัดใจ ‘บิ๊กตู่-ขุนคลัง' ทุบโต๊ะเพิ่มทุน ‘การบินไทย’
ชง‘ปิยสวัสดิ์-จักรกฤศฏิ์’! นั่งผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯ ‘การบินไทย’-หาทุนใหม่ 5 หมื่นล.
ไม่เกิน 55 ปี-ไม่อ้วน! ‘การบินไทย’เพิ่มเกณฑ์คัด ‘แอร์ฯ-สจ๊วต’-สหกรณ์ฯพอใจแผนคืนหนี้
ปิดศูนย์ซ่อมฯอู่ตะเภา! ‘การบินไทย’ คืนพื้นที่ ‘สกพอ.’-โยก 300 พนง.กลับดอนเมือง
ขาดทุนพุ่ง 1.4 แสนล.! ‘การบินไทย’ แจ้งงบปี 63 หนี้ท่วม-เงินสดเหลือ 8.6 พันล้าน
เสียง 'คนการบินไทย' : 'โปรดอย่าทอดทิ้งพนง.กลางทาง' ก่อนบังคับใช้โครงสร้างใหม่
‘การบินไทย’ นัดถก ‘ทอท.’ต่อสัญญาเช่าศูนย์ซ่อมฯดอนเมือง-จับตา ‘เวียตเจ็ท’ยึดอู่ตะเภา
ลดผู้บริหารเหลือ 500 คน! ‘การบินไทย’ ประกาศโครงสร้างใหม่-เปลี่ยนสภาพ‘จ้างงาน’
เข้าข่าย 2.6 พันคน!‘การบินไทย’ เออร์ลี่ฯรอบ 2 ชดเชยสูงสุด 400 วัน-เงินพิเศษ 4 เดือน
พนง.ระส่ำหนัก! ‘การบินไทย’ เปิด MSP C โละคนไม่ได้รับเลือกเข้า 'โครงสร้างใหม่'
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage