“…แผนกำหนดให้นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ และนายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล เป็นผู้บริหารแผน...ให้ผู้บริหารแผนทั้ง 2 คนใช้อำนาจร่วมกันในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ โดยในการลงนามในเอกสารใดๆ เพื่อทำธุรกรรมหรือเพื่อให้มีผลผูกพันการบินไทย ให้ผู้บริหารแผน 2 คน มีอำนาจลงนามร่วมกันเพื่อผูกพันการบินไทย…”
....................
การตัดสินใจดำเนินการในเรื่องต่างๆของ ‘ผู้บริหารแผน’
เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลให้การบริหารแผนฟื้นฟูกิจการฯ ‘สำเร็จ’ หรือ ‘ล้มเหลว’
เช่นกัน แผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่คณะผู้ทำแผนยื่นต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และเจ้าหนี้ เมื่อวันที่ 2 มี.ค.2564 ที่ผ่านมา ฝ่ายลูกหนี้มีการเสนอรายชื่อ ‘ผู้บริหารแผน’ จำนวน 2 คน ได้แก่ ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ และ จักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล
“การที่ฝ่ายลูกหนี้เสนอชื่อผู้บริหารแผน 2 คนนั้น สิ่งน่าสนใจ คือ หากผู้บริหารแผนจะตัดสินใจทำเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ผู้บริหารแผนทั้ง 2 คน จะต้องเห็นพ้องกัน ถ้าคนใดคนหนึ่งไม่เห็นด้วย การดำเนินการในเรื่องนั้นๆก็ไม่อาจทำไม่ได้ หรือเรียกง่ายๆ คือ เขาไม่ต้องการให้มีเสียงข้างมาก หรือเสียงข้างน้อย” ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายล้มละลายรายหนึ่งตั้งข้อสังเกต
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) พบว่า แผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท การบินไทย ฉบับลงวันที่ 2 มี.ค.2564 มีการกำหนดอำนาจและหน้าที่ของผู้บริหารแผนไว้ค่อนข้าง ‘เบ็ดเสร็จเด็ดขาด’ เพื่อผลักดันให้การดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการฯประสบความสำเร็จ ซึ่งมีทั้งหมด 18 ข้อ ได้แก่
1.บริหารจัดการเส้นทางการบิน โครงข่ายการบิน และการบริหารจัดการเครื่องบิน เครื่องยนต์ อุปกรณ์ อะไหล่การซ่อมบำรุงเครื่องบินและเครื่องยนต์ รวมถึงการเจรจา ต่อรอง เข้าทำนิติกรรม สัญญา ข้อตกลง และธุรกรรมใดๆ ตลอดจนค่าใช้จ่ายใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการบิน เพื่อประโยชน์ของการบินไทย รวมถึงแต่ไม่จำกัดเพียงการเจรจาและเข้าทำนิติกรรมสัญญาเพื่อแก้ไขข้อสัญญาเดิม ตามบันทึกข้อตกลง (Letter of Intent) หรือเอกสาร สัญญาอื่นใด ที่ผู้ทำแผนได้เจรจาตกลงไว้ และ/หรือ ที่ผู้บริหารแผนได้เจรจาเพิ่มเติมต่อไป
2.บริหารงานบุคคล ปรับปรุง หรือกำหนดอำนาจการบริหารงานภายใน ตลอดจนปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรภายในของการบินไทย รวมถึงการปรับลด/โอนย้ายพนักงานตามความเหมาะสมกับโครงสร้างธุรกิจ แก้ไขปรับปรุง ออกกฎ ข้อบังคับ ระเบียบคำสั่ง ประกาศเกี่ยวกับการบริหารบุคคลทั้งหมด แก้ไขปรับปรุงค่าตอบแทนสวัสดิการ และสิทธิประโยชน์ต่างๆ
ดำเนินการเลิกจ้าง จ่ายค่าชดเชยและค่าใช้จ่ายในการเลิกจ้าง เข้าทำสัญญาจ้างใหม่ เจรจาต่อรองและตกลงระงับข้อพิพาทในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการปรับโครงสร้างองค์กร เจรจาเสนอและเข้าทำข้อตกลงใด ๆ ทั้งนี้ เพื่อความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ และ/หรือ ประโยชน์ในการฟื้นฟูกิจการ
3.ปรับปรุงนโยบาย กระบวนการ ข้อบังคับ ระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ การจัดซื้อจัดจ้างเพื่อให้กระบวนการดังกล่าวมีความคล่องตัว ความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ และมีประสิทธิภาพ
4.บริหารจัดการและลงทุน/ร่วมลงทุนด้านการพาณิชย์ การตลาด การให้บริการ เทคโนโลยีสารสนเทศและดิจิทัลทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการบิน การซ่อมบำรุง และธุรกิจต่อเนื่องกับธุรกิจการบิน และในส่วนอื่นๆ เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจและศักยภาพในการสร้างรายได้ของการบินไทยและบริษัทย่อย รวมถึงการเข้าทำนิติกรรม สัญญา ข้อตกลงและธุรกรรมใด ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจและเพิ่มรายได้ของการบินไทย
5.ดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปรับโครงสร้างทุน การเพิ่มทุน และการแปลงหนี้เป็นทุน ตลอดจนร้องขอต่อศาลให้ดำเนินการดังกล่าว รวมทั้งขอแก้ไข เปลี่ยนแปลงข้อบังคับ วัตถุประสงค์ และ/หรือ หนังสือบริคณห์สนธิ ตลอดจนเอกสารใด ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เป็นไปตามแนวทางที่กำหนดไว้ในแผน
รวมถึงการยื่นเอกสาร และ/หรือ คำขอต่อกระทรวงพาณิชย์ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ/หรือ หน่วยราชการอื่นใด เพื่อการปรับโครงสร้างทุนและการจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนตามที่ระบุไว้ในแผนนี้ ซึ่งรวมถึงแต่ไม่จำกัดเพียงอำนาจในการยื่นคำขอจดทะเบียนเพิ่มทุน และ/หรือ ยกเลิกเพิกถอนทุนจดทะเบียน ทุนจดทะเบียนชำระแล้ว การออกหุ้น การจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนการเปลี่ยนแปลงการออกหุ้น การลดทุนการตัดหุ้นกรณีที่ทุนดังกล่าวไม่ต้องจัดสรรตามแผนนี้
การแก้ไขเปลี่ยนแปลงหนังสือรับรอง ข้อบังคับ และรายชื่อผู้ถือหุ้นและเอกสารคำขอหรือเอกสารอื่นใดที่จำเป็นทุกประการ ทั้งนี้ หากเกิดข้อขัดข้องประการใด ให้ผู้บริหารแผนมีอำนาจในการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำสั่งต่าง ๆ ที่จำเป็นตามที่ศาลเห็นสมควร ในการดำเนินการเพิ่มทุนและแปลงหนี้เป็นทุนในข้อนี้ ให้ผู้บริหารแผนมีอำนาจในการดำเนินการใด ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของการบินไทยและความเหมาะสม
6.ก่อหนี้ หรือกู้ยืมเงินในนามของการบินไทยตามแนวทางที่กำหนดไว้ในแผน หรือตามความจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งการฟื้นฟูกิจการ
7.สรรหา และจัดจ้างผู้บริหารของการบินไทยที่มีความรู้ความสามารถ ซึ่งรวมถึงแต่ไม่จำกัดเพียงกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และตำแหน่งที่จำเป็นตามสายงานต่างๆ เพื่อประโยชน์ในการดำเนินกิจการตามแผนและบริหารธุรกิจของการบินไทย
8.สรรหา และแต่งตั้งกรรมการและผู้บริหารในบริษัทย่อย จัดจ้างผู้บริหารของบริษัทย่อยที่มีความรู้ความสามารถเพื่อประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจของบริษัทย่อย
9.เข้าตรวจสอบ ควบคุม กำกับดูแล รวมทั้งให้ความเห็นชอบ สำหรับการดำเนินการใดๆ ของบริษัทย่อย
10.พิจารณาและว่าจ้างที่ปรึกษาทางกฎหมาย ที่ปรึกษาทางการเงิน บัญชีและภาษี ที่ปรึกษาทางธุรกิจ ที่ปรึกษาด้านทรัพยากรบุคคล ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและดิจิทัล ผู้สอบบัญชี และที่ปรึกษาในด้านต่างๆ เท่าที่จำเป็นและเหมาะสม ตลอดจนมีอำนาจจ่ายเงินค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายอื่นใดที่เกี่ยวข้อง
11.จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมใดๆ ในทรัพย์สินของการบินไทยต่อเจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ทรัพย์สินดังกล่าวเป็นหลักประกันการชำระหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามที่กำหนดไว้ในแผน ตลอดจนเข้าทำสัญญาใดๆ ที่เกี่ยวข้อง
12.บริหารกิจการ และจัดการทรัพย์สิน รวมถึงทรัพย์สินทางปัญญาของการบินไทยและบริษัทย่อย ตลอดจนดำเนินการอื่นใดอันจำเป็นและสมควรเพื่อให้การดำเนินการตามแผนบรรลุผลสำเร็จ ซึ่งรวมถึงการจัดสรรเงิน เพื่อชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในแผน และบริหารจัดการสัญญา นิติกรรมและค่าใช้จ่ายใด ๆ กับคู่ค้าในการดำเนินธุรกิจของการบินไทย
13.จำหน่าย จ่าย โอน ให้เช่า เข้าทำธุรกรรมใดๆ เพื่อใช้หรือหาประโยชน์ซึ่งทรัพย์สินรอง โดยหมายรวมถึงที่ดิน อาคาร อุปกรณ์ หุ้นหรือเงินลงทุนในบริษัทร่วม/ย่อย เครื่องบิน เครื่องยนต์ พาหนะ และ/หรือสินค้าคงเหลือ/พัสดุที่ไม่จำเป็นต่อการดำเนินงาน ตามแนวทางที่กำหนดไว้ในแผน
14.โยกย้าย เปิด-ปิด ปรับปรุง สำนักงาน สำนักงานสาขา สถานประกอบการ ศูนย์ปฏิบัติการ และ/หรือพื้นที่อื่นใดของการบินไทย เพื่อความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ และ/หรือ ประโยชน์ในการฟื้นฟูกิจการ รวมถึงการดำเนินการใดๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว
15.มีอำนาจหน้าที่ในการติดตามทวงถาม ดำเนินการใดๆให้ลูกหนี้ของการบินไทยให้ชำระหนี้ให้แก่การบินไทยโดยผู้บริหารแผนมีอำนาจในการติดตามเร่งรัด มีหนังสือบอกกล่าวให้ชำระหนี้ ให้ดำเนินคดีหรือดำเนินคดีต่อไป ทั้งคดีแพ่ง และคดีอาญา ทั้งนี้ ให้ผู้บริหารแผนมีอำนาจในการเจรจา ประนีประนอมยอมความ ลดหนี้ ปลดหนี้ ให้แก่ลูกหนี้ ในมูลหนี้ที่เกี่ยวข้อง ตามที่ผู้บริหารแผนเห็นสมควร ตามแนวทางที่กำหนดไว้ในแผนนี้
16.พิจารณาและดำเนินการแก้ไขปัญหาหรือข้อขัดข้องที่เกิดขึ้นในระหว่างการดำเนินการตามแผน ตามแนวทางและวัตถุประสงค์ของการฟื้นฟูกิจการของการบินไทยและแผนฟื้นฟูกิจการ
17.ในกรณีมีข้อสงสัย หรือความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับข้อความในแผนนี้ หรือมีข้อความผิดหลงเล็กน้อย ผู้บริหารแผนมีอำนาจตีความหรือเพิ่มเติมข้อความให้เป็นไปตามเจตนารมณ์แห่งแผนนี้ แต่ทั้งนี้ การตีความดังกล่าวจะต้องไม่เปลี่ยนแปลงในหลักการของแผนฟื้นฟูกิจการและไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อผลประโยชน์ของการบินไทยและบรรดาเจ้าหนี้
18.มีอำนาจกระทำการใดๆ ที่เห็นว่าจำเป็นหรือสมควร ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์หรือเพื่อการบริหารกิจการของการบินไทย หรือเพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ของการบินไทย หรือเพื่อให้การดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการบรรลุวัตถุประสงค์ รวมถึงเพื่อเพิ่มศักยภาพในการจัดหากระแสเงินสดของการบินไทย แม้จะมิได้ระบุไว้โดยตรงหรือชัดแจ้งในแผน ทั้งนี้ ผู้บริหารแผนต้องยึดถือหลักธรรมาภิบาลเป็นสำคัญ
ทั้งนี้ ผู้บริหารแผนจะได้รับค่าตอบแทนจากการเป็นผู้บริหารแผนรวมกันไม่เกินปีละ 5 ล้านบาท/ท่าน
“แผนกำหนดให้นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ และนายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล เป็นผู้บริหารแผน...ให้ผู้บริหารแผนทั้ง 2 คนใช้อำนาจร่วมกันในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ โดยในการลงนามในเอกสารใดๆ เพื่อทำธุรกรรมหรือเพื่อให้มีผลผูกพันการบินไทย ให้ผู้บริหารแผน 2 คน มีอำนาจลงนามร่วมกันเพื่อผูกพันการบินไทย
หลังจากที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนและแจ้งคำสั่งดังกล่าวให้แก่ผู้บริหารแผนและผู้ทำแผนทราบแล้ว ให้บรรดาสิทธิและอำนาจหน้าที่ของผู้ทำแผนตกเป็นของผู้บริหารแผนโดยทันที อีกทั้งให้ผู้บริหารแผนมีสิทธิ อำนาจ และหน้าที่ในการดำเนินการตามแผน โดยมีอำนาจหน้าที่ตามที่ระบุไว้ในแผนนี้” แผนฟื้นฟูกิจการการบินไทยระบุ
สำหรับประวัติการทำงานของ ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ เคยดำรงตำแหน่งกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงานในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยดำรงตำแหน่งรมว.พลังงานในรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ และเคยเป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย ระหว่างปี 2552-2555
ปัจจุบันเป็นประธานและกรรมการในบริษัทหลายแห่ง เช่น ประธานและกรรมการอิสระ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล ,กรรมการอิสระ บมจ.พฤกษา โฮลดิ้ง ,กรรมการอิสระ ธนาคารกสิกรไทย ,กรรมการอิสระ บมจ.การบินไทย และผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ และกรรมการบริษัท Kiroro Resort Holding Company Limited
ส่วน จักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล เคยดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงการคลังรวม 6 ปี แบ่งเป็น 2 ช่วงเวลา ได้แก่ ช่วงปี 2560-2563 และช่วงปี 2555-2557 เป็นอธิบดีกรมธนารักษ์ระหว่างปี 2558-2560 และเป็นผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ และเคยดำรงตำแหน่งนายกสภาวิชาชีพบัญชีในพระบรมราชูปถัมภ์ ระหว่างปี 2560-2563 เป็นต้น
ปัจจุบันเป็นประธานและกรรมการบริษัทฯ 7 แห่ง ได้แก่ กรรมการบมจ.การบินไทย และผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ ,ประธาน และประธานคณะกรรมการตรวจสอบบริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด ,ประธานบริษัท เอ็นบีดี เฮลแคร์ จำกัด ,ประธานกรรมการตรวจสอบ บมจ.ปิ่นทอง อินดัสเตรียล ปาร์ค
ประธานกรรมการตรวจสอบ บมจ.ซินเน็ค (ประเทศไทย) ,กรรมการและกรรมการตรวจสอบ บมจ.อาร์เอส และประธานกรรมการธรรมภิบาล บมจ.หลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี
อย่างไรก็ดี ภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการฯ กำหนดให้มีการแต่งตั้ง ‘คณะกรรมการเจ้าหนี้’ จำนวนไม่น้อยกว่า 3 คน แต่ไม่เกินกว่า 7 คน โดยมีอำนาจและหน้าที่ 6 ข้อ ได้แก่
1.ให้คำปรึกษาแก่ผู้บริหารแผนตามที่ผู้บริหารแผนร้องขอ อย่างไรก็ตาม ตามมาตรา 90/67 แห่ง พ.ร.บ. ล้มละลาย ในกรณีที่ผู้บริหารแผนไม่ดำเนินการตามแผน หรือกรณีอื่นตามที่ได้ระบุไว้ คณะกรรมการเจ้าหนี้สามารถยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งตามที่เห็นสมควรได้
2.ติดตามดูแลการดำเนินการตามแผนของผู้บริหารแผน และรับทราบความคืบหน้าของการดำเนินการตามแผนตลอดจนให้คำแนะนำในการดำเนินการตามแผนแก่ผู้บริหารแผน
3.ให้ความเห็นชอบเกี่ยวกับการกระทำการใด ๆ ของผู้บริหารแผน ตามที่แผนได้กำหนดให้ผู้บริหารแผนต้องหารือหรือขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการเจ้าหนี้ โดยจะต้องใช้ดุลยพินิจอันสุจริตและสมควร และในระยะเวลาอันเหมาะสมโดยไม่ชักช้า
4.ให้ความเห็นชอบในการขยายระยะเวลาการดำเนินการต่าง ๆ ตามเงื่อนไขที่แผนกำหนดว่าเป็นอำนาจของคณะกรรมการเจ้าหนี้
5.ในกรณีที่ผู้บริหารแผนไม่ดำเนินการตามแผน หรือปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต หรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าหนี้หรือลูกหนี้ หรือขาดคุณสมบัติของผู้บริหารแผนตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง หรือมีเหตุอื่นที่ไม่สมควรเป็นผู้บริหารแผนต่อไป ให้คณะกรรมการเจ้าหนี้มีอำนาจลงมติเพื่อยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้บริหารแผนพ้นจากตำแหน่งหรือมีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ศาลเห็นสมควร
6.คณะกรรมการเจ้าหนี้จะพ้นจากตำแหน่งหน้าที่เมื่อมีการยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ หรือมีการยกเลิกการฟื้นฟูกิจการหรือขอลาออกจากการเป็นคณะกรรมการเจ้าหนี้ หรือเมื่อตนได้รับชำระหนี้ตามแผนเสร็จสิ้น
เหล่านี้เป็นอำนาจและหน้าที่ของ 2 ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย ที่มีอำนาจการจัดการค่อนข้าง 'เบ็ดเสร็จเด็ดขาด’ แต่มีการ ‘คานอำนาจ’ ระหว่างผู้บริหารแผนด้วย เพื่อขับเคลื่อน ‘สายการบินไทย’ ให้ฟื้นคืนชีพและกลับมาจ่ายคืนหนี้ให้กับเจ้าหนี้กลุ่มต่างๆ ในช่วง 5 ปีของแผน และต่อเวลาได้ 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 1 ปี หรือรวมแล้วไม่เกิน 7 ปี
แต่หากทำไม่สำเร็จตามแผนฟื้นฟูฯ ‘การบินไทย’ อาจจะต้องเข้าสู่กระบวนการ ‘ล้มละลาย’ ต่อไป!
อ่านประกอบ :
เปิดแผนฟื้นฟูฯ ‘การบินไทย’ (2) ปฏิรูปธุรกิจเต็มรูปแบบ ‘4 เสาหลัก’ คาดพลิกกำไรปี 66
เปิดแผนฟื้นฟูฯการบินไทย! ‘รบ.-แบงก์’ พร้อมใส่เงินใหม่ 5 หมื่นล.-เพิ่มทุน 3.8 บ./หุ้น
เปิดลงชื่อเข้าโครงสร้างใหม่ ‘การบินไทย’! ‘ชาญศิลป์’ ขอพนง.ร่วมมือเปลี่ยนสภาพการจ้าง
นายกฯสั่ง ‘รมว.แรงงาน’ ดูแลพนง. ‘การบินไทย’ หลังบริษัทให้เขียน 'ใบสมัคร' ใหม่
โรดโชว์หาเงินใหม่! ‘ชาญศิลป์’ มั่นใจรัฐบาลช่วย-ยก 3 ปัจจัยหนุน ‘การบินไทย’ ฟื้น
‘การบินไทย’ ประกาศเกณฑ์คัด ‘กัปตัน-ผู้ช่วยนักบิน’-'ชัยพฤกษ์'เซ็นตั้ง 8 ผอ.ใหญ่
สัญญาณชัดต้องอุ้ม! วัดใจ ‘บิ๊กตู่-ขุนคลัง' ทุบโต๊ะเพิ่มทุน ‘การบินไทย’
ชง‘ปิยสวัสดิ์-จักรกฤศฏิ์’! นั่งผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯ ‘การบินไทย’-หาทุนใหม่ 5 หมื่นล.
ไม่เกิน 55 ปี-ไม่อ้วน! ‘การบินไทย’เพิ่มเกณฑ์คัด ‘แอร์ฯ-สจ๊วต’-สหกรณ์ฯพอใจแผนคืนหนี้
ปิดศูนย์ซ่อมฯอู่ตะเภา! ‘การบินไทย’ คืนพื้นที่ ‘สกพอ.’-โยก 300 พนง.กลับดอนเมือง
ขาดทุนพุ่ง 1.4 แสนล.! ‘การบินไทย’ แจ้งงบปี 63 หนี้ท่วม-เงินสดเหลือ 8.6 พันล้าน
เสียง 'คนการบินไทย' : 'โปรดอย่าทอดทิ้งพนง.กลางทาง' ก่อนบังคับใช้โครงสร้างใหม่
‘การบินไทย’ นัดถก ‘ทอท.’ต่อสัญญาเช่าศูนย์ซ่อมฯดอนเมือง-จับตา ‘เวียตเจ็ท’ยึดอู่ตะเภา
ลดผู้บริหารเหลือ 500 คน! ‘การบินไทย’ ประกาศโครงสร้างใหม่-เปลี่ยนสภาพ‘จ้างงาน’
เข้าข่าย 2.6 พันคน!‘การบินไทย’ เออร์ลี่ฯรอบ 2 ชดเชยสูงสุด 400 วัน-เงินพิเศษ 4 เดือน
พนง.ระส่ำหนัก! ‘การบินไทย’ เปิด MSP C โละคนไม่ได้รับเลือกเข้า 'โครงสร้างใหม่'
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage