เปิดแผนฟื้นฟูฯ ‘การบินไทย’ เผย ‘รัฐบาล-แบงก์เจ้าหนี้’ พร้อมจัดหาแหล่งทุนใหม่ 5 หมื่นล้านบาท เล็งขายหุ้นเพิ่มทุน 6,472 ล้านหุ้น หุ้นละ 3.8624 บาท พร้อมเปิดเจ้าหนี้แปลงหนี้เป็นทุนหุ้นละ 3.8624 บาท ขณะที่ฝ่ายสื่อสารฯ แจง พนง.ที่แสดงความจำนงเข้าโครงสร้างใหม่ แต่ไม่ได้รับเลือก จะยังอยู่ภายใต้ 'สัญญาจ้างเดิม-อัตราเงินเดือนเดิม' แก้เกมกลุ่มพนักงาน ‘ไทยเฉย’
...................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า จากกรณีผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ส่งแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท การบินไทย ให้กับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ กองฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ กรมบังคับคดี และเจ้าหนี้ของบริษัท การบินไทย เมื่อวันที่ 2 มี.ค.2564 พบว่า ภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการฯดังกล่าว บริษัท การบินไทย จะมีการปรับโครงสร้างทุน โดยการลดทุนและเพิ่มทุน ซึ่งมีรายละเอียด คือ
1.ภายใน 60 วันนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน การบินไทยจะดำเนินการลดทุนจดทะเบียนจากจำนวน 26,989,009,500 บาท ให้เหลือจำนวน 21,827, 719,170 บาท โดยการตัดหุ้นในการบินไทยที่ยังไม่ได้ออกและจำหน่าย จำนวน 516,129,033 หุ้น
2.หลังจากการลดทุนดังกล่าวข้างต้น การบินไทยจะดำเนินการเพิ่มทุนจดทะเบียน จำนวน 196,449,472,530บาท จากทุนจดทะเบียนเดิมจำนวน 21,827,719,170 บาท เป็นทุนจดทะเบียนใหม่จำนวน 218,277,191,700 บาท โดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนใหม่จำนวน 19,644,947,253 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท
@เล็งขายหุ้นเพิ่มทุน 6.4 พันล้านหุ้นๆละ 3.8624 บาท
3.บริษัท การบินไทย จะจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุน แบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่
-จัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนของการบินไทย จำนวนไม่เกิน 6,472,659,485 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ10 บาท และกำหนดราคาเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในราคาหุ้นละ 3.8624 บาท ให้แก่นักลงทุนรายใหม่ และ/หรือ ผู้ถือหุ้นเดิม และ/หรือบุคคลใดๆ โดยอาจทำในคราวเดียวหรือหลายคราวก็ได้ แต่จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปีนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน
-การจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนของการบินไทย จำนวนไม่เกิน 11,877,422,109 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ10 บาท และกำหนดราคาแปลงหนี้เป็นทุนที่ราคาหุ้นละ 3.8624 บาท ในวงเงินเพิ่มทุนไม่เกิน 118,774,221,090 บาท เพื่อชำระหนี้โดยการแปลงหนี้เป็นทุนให้แก่เจ้าหนี้กลุ่มที่ 5 และ/หรือ กลุ่มที่ 6 และ/หรือ เจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้ รายที่แสดงความประสงค์ที่จะแปลงหนี้เป็นหุ้นสามัญ
-การจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนของการบินไทย จำนวนไม่เกิน 1,294,531,897 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท และกำหนดราคาแปลงหนี้เป็นทุนที่ราคาหุ้นละ 3.8624 บาท ในวงเงินเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 12,945,318,970 บาท ให้แก่เจ้าหนี้รายที่ 9602 และเจ้าหนี้รายที่ 10047 (เจ้าหนี้ในกลุ่มที่ 6) ในกรณีที่เจ้าหนี้ข้างต้นแสดงความประสงค์ที่จะแปลงหนี้เป็นหุ้นสามัญตามเงื่อนไข
@'รัฐบาล-แบงก์เจ้าหนี้' รับหาทุนใหม่ 5 หมื่นล.ให้ 'การบินไทย'
สำนักข่าวอิศรารายงานต่อว่า แผนฟื้นฟูกิจการฯยังระบุถึงการก่อหนี้ และการระดมเงินทุน รวมถึงแหล่งของเงินทุนต่างๆ ว่า จากประมาณการทางการเงิน การที่บริษัท การบินไทย จะสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง และสามารถชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ได้ตามแผน บริษัท การบินไทย จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนเงินทุน และ/หรือ วงเงินสินเชื่อใหม่ในช่วง 2-3 ปีนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน เป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 50,000 ล้านบาท
โดยผู้บริหารแผนมีอำนาจใช้เงินทุน และ/หรือ วงเงินสินเชื่อใหม่ เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน ค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจปกติ ค่าใช้จ่ายในการลงทุนสำหรับการบินไทยและบริษัทย่อย การปรับปรุงหรือซ่อมแซมทรัพย์สินของการบินไทย การปรับโครงสร้างองค์กรโดยการลดจำนวนพนักงานให้เหมาะสม การปรับปรุงและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภายในองค์กร ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการพาณิชย์ และการปรับฝูงบินให้เหมาะสมกับสถานการณ์ตลาดและการประกอบธุรกิจการบินที่อาจเปลี่ยนแปลงไป
ส่วนการได้รับการสนับสนุนเงินทุน และ/หรือวงเงินสินเชื่อใหม่ ผู้บริหารแผนอาจดำเนินการใดๆ ด้วยวิธีการต่างๆดังต่อไปนี้
1.ขายหุ้นเพิ่มทุน ให้แก่นักลงทุนรายใหม่ และ/หรือ ผู้ถือหุ้นเดิม และ/หรือ บุคคลใดๆ เป็นจำนวนประมาณ25,000 ล้านบาท ภายในหนึ่งปีนับจากวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน หากผู้บริหารแผนเล็งเห็นว่าไม่สามารถหานักลงทุนรายใหม่และ/หรือ ผู้ถือหุ้นเดิม และ/หรือ บุคคลใดๆ เข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนได้เต็มตามจำนวน 25,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ผู้บริหารแผนอาจขอการสนับสนุนสินเชื่อใหม่จากสถาบันการเงิน เจ้าหนี้ของการบินไทย และ/หรือ บุคคลอื่นใดเพิ่มเติมให้เต็มจำนวน 25,000 ล้านบาท เพื่อให้การบินไทยมีสภาพคล่องเพียงพอตามที่ได้ประมาณการไว้
2.การขอรับการสนับสนุนสินเชื่อใหม่จากสถาบันการเงิน เจ้าหนี้ของการบินไทย และ/หรือ บุคคลอื่นใด เป็นจำนวนประมาณ 25,000 ล้านบาท ในรูปแบบสินเชื่อระยะยาว (Term Loan) สินเชื่อเงินทุนหมุนเวียน (Revolving Loan) และ/หรือตราสารอื่นใดตามที่ผู้บริหารแผนจะได้เจรจากับผู้ให้การสนับสนุนทางการเงินต่อไป
อย่างไรก็ตาม แผนฟื้นฟูกิจการฯ มีการระบุด้วยว่า เพื่อให้แผนสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างสมเหตุสมผล และได้รับการยอมรับจากที่ประชุมเจ้าหนี้และศาล ซึ่งในเบื้องต้นรัฐบาลในฐานะผู้ถือหุ้นหลัก และเจ้าหนี้สถาบันการเงินรายหลักได้แสดงเจตนาว่า จะช่วยจัดหาแหล่งทุนเพิ่มเติมจำนวนฝ่ายละ 25,000 ล้านบาท รวมเป็นเงินทุนเพิ่มเติมประมาณ 50,000 ล้านบาท
สำหรับเจ้าหนี้สถาบันการเงินรายหลัก 3 อันดับแรกของบริษัท การบินไทย ได้แก่ อันดับ 1 ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยรวม 9,344.65 ล้านบาท ,อันดับ 2 ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยรวม 6,866.98 ล้านบาท และอันดับ 3 ธนาคารออมสิน ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยรวม 3,826.12 ล้านบาท
@พนง.การบินไทยลังเลแสดงความจำนงเข้าโครงสร้างใหม่
ส่วนความคืบหน้ากรณีบริษัท การบินไทย เปิดให้พนักงานแสดงความจำนงเข้าสู่กระบวนการกลั่นกรองสู่โครงสร้างองค์กรใหม่ 2564 ระหว่างวันที่ 11-19 มี.ค.2564 นั้น ล่าสุดพนักงานการบินไทยยังคงมีความลังเลใจว่า หากแสดงความจำนงเข้าสู่กระบวนการกลั่นกรองฯและได้รับการคัดเลือก สัญญาจ้างใหม่จะเป็นอย่างไร หรือกรณีแสดงความจำนงแล้ว แต่ไม่ได้รับเลือกเข้าโครงใหม่ ซึ่งจะต้องเข้าไปอยู่ในกลุ่มพนักงานฟ้าใหม่และจะถูกเลิกจ้างในอนาคตหรือไม่
นอกจากนี้ พนักงานการบินไทยบางราย เรียกร้องให้ผู้บริหารการบินไทยเปิดเวทีประชาคมคนการบินไทย เพื่อให้พนักงานได้มีโอกาสซักถามในเรื่องต่างๆกับผู้บริหารโดยตรง
ขณะที่พนักงานการบินไทยจำนวนหนึ่งเลือกที่จะเป็นกลุ่ม ‘ไทยเฉย’ คือ กลุ่มพนักงานที่ไม่แสดงความจำนงเข้าสู่กระบวนการกลั่นกรองฯ เพราะแม้ว่าบริษัทฯ มีสิทธิเลิกจ้างพนักงานกลุ่มนี้ได้ในอนาคต เนื่องจากไม่มีตำแหน่งในโครงสร้างองค์กรใหม่ แต่ในขณะที่ยังเป็นพนักงานอยู่ พนักงานกลุ่มไทยเฉยจะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน และเป็นพนักงานของบริษัทฯภายใต้สภาพการจ้างเดิม
(ที่มา : บริษัท การบินไทย)
ด้านนายนเรศ ผึ้งแย้ม ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานการบินไทยร่วมใจสัมพันธ์ (สร.กบท.สพ.) เขียนข้อความแจ้งเพื่อนสมาชิกสหภาพฯ ว่า สร.กบท.สพ. ได้นำข้อมูลเชิงเปรียบเทียบข้อดีและข้อเสียระหว่างการแสดงเจตจำนงเข้าสู่กระบวนการกลั่นกรองฯ และการไม่แสดงความจำนงเข้าสู่กระบวนการกลั่นกรองฯ ดังนี้
กรณีพนักงานไม่แสดงความจำนงเข้าสู่กระบวนการกลั่นกรองฯ หรือเป็นพนักงาน ‘กลุ่มไทยเฉย’ นั้น ตำแหน่ง ค่าจ้าง สวัสดิการ และสภาพการจ้างของพนักงานจะคงเดิมทุกอย่าง และได้รับความคุ้มครองตามพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 และพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ส่วนกรณีที่พนักงานกลุ่มไทยเฉยถูกเลิกจ้างจะได้รับการชดเชยตามกฎหมาย โดยได้รับเงินชดเชยตามอายุงาน ซึ่งคำนวณจากค่าจ้างเดือนสุดท้าย และได้เงินค่าตกใจ เป็นต้น
ส่วนกรณีพนักงานแสดงความจำนงเข้าสู่กระบวนการกลั่นกรองฯ หรือ ‘กลุ่มสมัครใจ’ และได้รับการคัดเลือกเข้าสู่โครงสร้างใหม่จะได้รับค่าจ้าง สวัสดิการ สัญญาจ้าง และสภาพการจ้างใหม่ตามข้อบังคับใหม่ของบริษัท แต่หากพนักงานแสดงความจำนงฯแล้ว แต่ไม่ได้รับการคัดเลือกเข้าโครงสร้างใหม่นั้น จะถือว่าพนักงานคนดังกล่าวสละสิทธิ์จากตำแหน่งงานเดิม ค่าจ้างเดิม และสวัสดิการเดิม โดยไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นแบบใด
นอกจากนี้ ในกรณีที่พนักงานที่แสดงความจำนงเข้าสู่กระบวนการกลั่นกรองฯ แต่ไม่ได้รับการคัดเลือกเข้าโครงสร้างใหม่ดังกล่าว ต้องถูกบริษัทฯเลิกจ้างในอนาคต คือ ถูกเลิกจ้างตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 1 พ.ค.2564 จะได้สิทธิได้การชดเชยตามกฎหมายเหมือนพนักงานกลุ่มไทยเฉย แต่หากถูกเลิกจ้างหลังวันที่ 1 พ.ค.2564 เป็นต้นไป สิทธิ์การได้รับการชดเชยตามกฎหมายจะเปลี่ยนไปตามเงินเดือนค่าจ้าง สัญญาจ้าง และข้อบังคับการทำงานฉบับใหม่
(ที่มา : บริษัท การบินไทย)
@‘การบินไทย’ แจงพนง. ‘ฟ้าใหม่’ อยู่ภายใต้สัญญาจ้าง-เงินเดือนเดิม
ด้านนายกิตติพงษ์ สารสมบูรณ์ รักษาการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายภาพลักษณ์และสื่อสารองค์กร บริษัท การบินไทย ทำหนังสือชี้แจงสำนักข่าวอิศรากรณี ‘โครงการฟ้าใหม่ หรือ New Sky’ ว่า ฝ่ายภาพลักษณ์และสื่อสารองค์กรฯ ขอชี้แจงว่า พนักงานที่แสดงความจำนงเข้าสู่กระบวนกลั่นกรองโครงสร้างองค์กรใหม่ 2564 บริษัทฯ จะประกาศรายชื่อพนักงานที่อยู่ในโครงสร้างองค์กรใหม่ในวันที่ 1 เม.ย.2564 ส่วนพนักงานที่แสดงความจำนงฯเช่นกัน แต่ไม่มีรายชื่อในโครงสร้างองค์กรใหม่จะจัดอยู่ใน ‘โครงการฟ้าใหม่’
ทั้งนี้ หลังจากวันที่ 4 เม.ย.2564 จะทราบว่ามีพนักงานที่มีรายชื่ออยู่ในโครงสร้างองค์กรใหม่ แต่ประสงค์จะสละสิทธิ์หรือไม่ บริษัทฯ จะดำเนินการให้พนักงานที่อยู่ใน 'โครงการฟ้าใหม่' เข้าไปทดแทน (Replace) พนักงานที่สละสิทธิ์ไม่เข้าสู่โครงสร้างองค์กรใหม่ฯ ตามตำแหน่งและลำดับที่ได้แสดงความจำนงฯ ไว้และประกาศรายชื่อเพิ่มเติมพนักงานที่ได้รับอนุมัติเข้าสู่โครงสร้างองค์กรใหม่อีกครั้ง ในวันที่ 22 เม.ย.2564
ส่วนพนักงานใน ‘โครงการฟ้าใหม่’ ที่ไม่ได้รับการทดแทน (Replace) จะยังคงอยู่ภายใต้สัญญาจ้างเดิมอัตราเงินเดือนเดิม ทั้งนี้ บริษัทฯจะขอปรับลดอัตราเงินเดือนระยะหนึ่ง และดำเนินการพัฒนาทักษะใหม่ๆ ในการทำงาน (Re-skill) เพื่อรอเข้าหน่วยงานที่ยังขาดคนหรือโครงการใหม่ๆ ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อฟื้นฟูกิจการ เช่น โครงการสร้างรายได้โครงการลดรายจ่ายและโครงการเพิ่มประสิทธิภาพต่างๆต่อไป
สำหรับพนักงานที่ไม่แสดงความจำนงเข้าสู่กระบวนกลั่นกรองโครงสร้างองค์กรใหม่ 2564 และไม่ได้แสดงความจำนงใดๆ จะไม่ได้อยู่ใน 'โครงการฟ้าใหม่' ยังคงอยู่ภายใต้สัญญาจ้างเดิม อัตราเงินเดือนเดิมและข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบบริษัท การบินไทยจำกัด (มหาชน) ว่าด้วยการบริหารงานบุคคลทั้งหมดข้อบังคับ ข้อกำหนด ประกาศคำสั่งหรือระเบียบใดๆ ที่มีอยู่ตามเดิม จนกว่าบริษัทฯจะมีนโยบายใดๆต่อไป
อ่านประกอบ :
เปิดลงชื่อเข้าโครงสร้างใหม่ ‘การบินไทย’! ‘ชาญศิลป์’ ขอพนง.ร่วมมือเปลี่ยนสภาพการจ้าง
นายกฯสั่ง ‘รมว.แรงงาน’ ดูแลพนง. ‘การบินไทย’ หลังบริษัทให้เขียน 'ใบสมัคร' ใหม่
โรดโชว์หาเงินใหม่! ‘ชาญศิลป์’ มั่นใจรัฐบาลช่วย-ยก 3 ปัจจัยหนุน ‘การบินไทย’ ฟื้น
‘การบินไทย’ ประกาศเกณฑ์คัด ‘กัปตัน-ผู้ช่วยนักบิน’-'ชัยพฤกษ์'เซ็นตั้ง 8 ผอ.ใหญ่
สัญญาณชัดต้องอุ้ม! วัดใจ ‘บิ๊กตู่-ขุนคลัง' ทุบโต๊ะเพิ่มทุน ‘การบินไทย’
ไม่เกิน 55 ปี-ไม่อ้วน! ‘การบินไทย’เพิ่มเกณฑ์คัด ‘แอร์ฯ-สจ๊วต’-สหกรณ์ฯพอใจแผนคืนหนี้
ปิดศูนย์ซ่อมฯอู่ตะเภา! ‘การบินไทย’ คืนพื้นที่ ‘สกพอ.’-โยก 300 พนง.กลับดอนเมือง
ขาดทุนพุ่ง 1.4 แสนล.! ‘การบินไทย’ แจ้งงบปี 63 หนี้ท่วม-เงินสดเหลือ 8.6 พันล้าน
เสียง 'คนการบินไทย' : 'โปรดอย่าทอดทิ้งพนง.กลางทาง' ก่อนบังคับใช้โครงสร้างใหม่
‘การบินไทย’ นัดถก ‘ทอท.’ต่อสัญญาเช่าศูนย์ซ่อมฯดอนเมือง-จับตา ‘เวียตเจ็ท’ยึดอู่ตะเภา
ลดผู้บริหารเหลือ 500 คน! ‘การบินไทย’ ประกาศโครงสร้างใหม่-เปลี่ยนสภาพ‘จ้างงาน’
เข้าข่าย 2.6 พันคน!‘การบินไทย’ เออร์ลี่ฯรอบ 2 ชดเชยสูงสุด 400 วัน-เงินพิเศษ 4 เดือน
พนง.ระส่ำหนัก! ‘การบินไทย’ เปิด MSP C โละคนไม่ได้รับเลือกเข้า 'โครงสร้างใหม่'
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage