“...สิ่งที่ดำเนินการทั้งหมด ก็เพื่อให้ตัวสัญญาสัมปทานสายหลักที่จะหมดอายุในปี 2572 กลับมาเป็นของ กทม. การไปทำสัญญจ้างเดินรถที่จะหมดอายุในปี 2585 มีความเกี่ยวเนื่องกับความพยายามที่จะต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวออกไปถึงปี 2602 ทั้งๆที่ปี 2572 สิ่งที่เหลืออยู่ของสัมปทานสายหลัก จะได้นำกลับมาลดราคาค่าโดยสารได้ต่อไป…”
"จะไม่ทำให้ผิดหวังครับ... วันนี้ไม่ใช่วันแห่งการฉลองชัยชนะ แต่เป็นวันที่รับคำสั่งจากประชาชนให้เดินทางต่อ เราเดินมาแล้วปีครึ่ง เป็นภาระที่หนัก แต่ยินดีทำ"
คำประกาศชัยชนะตอนหนึ่งของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ในช่วงค่ำวันที่ 22 พ.ค. 2566 หลังจากได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1,386,215 คะแนน จากจำนวนผู้มีสิทธิทั้งหมด 4,481,523 คน
ล้มสถิติเดิมของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตรที่ได้รับเลือกเมื่อปี 2556 ที่ 1,256,349 คะแนน อย่างราบคาบ
จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่การได้รับชัยชนะถล่มถลายขนาดนี้ ย่อมมาพร้อมกับความคาดหวังมากล้นตามไปด้วย
เป็นที่ทราบกันดี ว่ากรุงเทพมหานคร (กทม.) มีปัญหาที่หมักหมมหลายข้อ หนึ่งในนั้นคือ ปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ขนาดรัฐบาลอำนาจเต็มยุค คสช. ยังไม่สามารถหาทางออกได้ จนปัญหาลากยาวถึงปัจจุบัน
ในฐานะผู้ว่าฯกทม.คนใหม่ ที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ จึงมีประชาชนฝากความหวังให้นายชัชชาติ เคลียร์ปัญหานี้ให้ได้
แต่ปัจจุบันเวลาผ่านพ้นมา 1 ปีแล้ว ปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว ดูเหมือนจะยังคงหยุดนิ่งสนิทไม่คืบหน้าไปไหน
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. ร่วมประชุมกับคณะกรรมการของ บจ.กรุงเทพธนาคม เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 65
ภาพจาก: กรุงเทพธนาคม
@ รีวิว 1 ปี สายสีเขียวยังไม่ขยับ
แม้ในช่วงเริ่มต้น ผู้ว่าฯ กทม. 'ชัชชาติ' จะมีความกระตือรือร้น เชิญ บจ.กรุงเทพธนาคม (เคที)ชุดเก่ามาคุย ก่อนโละออกทั้งหมด แล้วดึงตัว ‘ธงทอง จันทรางศุ’ อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีมานั่งเป็นประธานคณะกรรมการ เซตอัพกรรมการต่างๆใหม่ยกชุด เร่งเปิดฉากหารือกันบ่อยครั้ง แต่ในระยะเวลาต่อมา ประเด็นสายสีเขียวกับ กรุงเทพธนาคม ก็สร่างซาลงไปตามวัฎจักรข่าว
อีกด้านหนึ่ง ผู้ว่าฯกทม.ก็ปิ๊งไอเดีย นำเอกสารสัญญา 2 ฉบับ ได้แก่ 1.สัญญาที่กทม. ได้ว่าจ้างบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เป็นผู้บริหารระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร ระยะเวลา 30 ปี ลงนามเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2555 และ 2. บันทึกข้อตกลงการมอบหมายกิจการในอำนาจหน้าที่ของกทม. โครงการระบบขนส่งมวลชนสายสีเขียวช่วงหมอชิต - สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ให้กับบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2559 มาเปิดเผยผ่านช่องทางออนไลน์ https://data.bangkok.go.th/ ซึ่งเรียกเสียงชื่นชมในสังคมอย่างมาก
แต่การเปิดเผยสัญญาทั้ง 2 ฉบับ เป็นการเปิดเผยสัญญาระหว่าง กทม. และ กรุงเทพธนาคม ไม่ได้ก้าวไปถึงการเปิดเผยสัญญาที่ทำกับเอกชนแต่อย่างใด ทำให้ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับประเด็นนี้ยังไม่กระจ่างเท่าที่ควร
ขณะที่ปัญหาการเก็บอัตราค่าโดยสารในส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต และช่วงแบริ่ง - สมุทรปราการ ซึ่งที่ผ่านมานับแต่เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการครบสายทางเมื่อปี 2563 ก็มีความพยายามที่จะเสนอเข้าสภากรุงเทพมหานคร (สภากทม.) แต่ปรากฎว่า เสียงส่วนใหญ่โหวตคว่ำญัตติของพ่อเมืองคนปัจจุบัน จนต้องรีเซ็ตกันใหม่ด้วยการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาศึกษาปัญหานี้อย่างละเอียด แถมเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญที่ไม่กำหนดระยะะเวลาด้วย
ปิดท้ายด้วยเอฟเฟกต์การทวงหนี้จาก บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง (BTS) ที่งัดทุกวิถีทางในการทวงหนี้เดินรถส่วนต่อขยายที่ 1 อ่อนุช-แบริ่ง ตากสิน – บางหว้า และส่วนต่อขยายที่ 2 ที่ปัจจุบันศาลปกครองกลางตัดสินให้กทม.และเคทีร่วมกันชำระเงินให้ BTSC เป็นจำนวนรวมทั้งสิ้น 1.17 หมื่นล้านบาท โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด หลังจากทั้ง กทม.และเคทียื่นอุทธรณ์เมื่อปลายปี 2565
นอกจากคดีนี้แล้ว BTS ได้ยื่นฟ้องศาลปกครองกลางเมื่อเดือนพ.ย. 2565 โดยเป็นการฟ้องในฐานความผิดเดิม คือ กรณีที่ กทม.และเคที ค้างชำระค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงสะพานตากสิน - บางหว้า และช่วงอ่อนนุช - แบริ่ง และส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต และช่วงแบริ่ง - เคหะสมุทรปราการ แต่เป็นคนละช่วงเวลา คือ ค้างชำระในช่วงเดือน มิ.ย. 2564 - ต.ค. 2565 เป็นจำนวนรวม 10,600 ล้านบาท ซึ่งทั้งสองฝ่ายอยู่ระหว่างต่อสู้กันอยู่
เรียกได้ว่าเป็น 1 ปีของรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ยังยักตื้นติดกึก ยักลึกติดกัก
ภาพจาก: กรุงเทพมหานคร (กทม.)
@ ขอรัฐบาลผ่าทางตัน ต่อ-ไม่ต่อสัมปทานสายสีเขียว
เกี่ยวกับปัญหาเรื่องนี้ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า ประเด็นรถไฟฟ้าสายสีเขียว ปัญหาสำคัญคือ การทำสัญญาในส่วนต่อขยายที่ 2 ซึ่งไม่ได้ผ่านที่ประชุมสภากทม. ตอนนี้ทางสภากทม.ได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาในประเด็นนี้แล้ว ซึ่งในส่วนนี้ก็มีหนี้ที่ยังติดค้างกับ BTS จำนวนหนึ่ง การจะนำเงินมาจ่ายหนี้ให้ ในความเห็นมองว่า จะต้องผ่านสภากทม.ก่อน เพราะการนำเงินที่เหลืออยู่ของ กทม.มาจ่าย ตามกฎหมายต้องให้ สภากทม. เป็นผู้อนุมัติ
“ที่เราไม่จ่ายเงินค่าจ้างให้เขา (ฺBTS) เราไม่ได้เริ่มนะ แต่มาจากคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2562 ที่ใช้อำนาจตาม มาตรา 44 รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ให้เอาหนี้ทั้งหมดไปรวมในก้อนสัมปทานใหม่เพื่้อเจรจากับเอกชนในการต่อสัมปทานไปอีก 30 ปี ซึ่ง กทม.ได้ส่งความเห็นไปถึงคณะรัฐมนตรีแล้วในประเด็นนี้ แต่ยังไม่ได้รับแจ้งอะไรกลับมา ก็คงต้องรอ ครม.ใหม่พิจารณา” นายชัชชาติกล่าว
นอกจากประเด็นนี้แล้ว นายชัชชาติยังระบุต่อไปว่า ยังมีประเด็นที่จะต้องพิจารณาอีก คือ การที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติแจ้งข้อกล่าวหาอดีตผู้บริหาร กทม., กรุงเทพธนาคม และผู้บริหาร BTS รวม 13 คน กรณีว่าจ้าง บมจ. ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 3 เส้นทาง ไปจนถึงปี 2585 ซึ่งเป็นการหลีกเลี่ยงและไม่ปฏิบัติตามพ.ร.บ.ร่วมทุน 2535 และพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ 2542
อีกประเด็นหนึ่งคือ การการดำเนินการตาม บันทึกข้อตกลง (MOU) การรับโอนหนี้สินและทรัพย์สินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต วงเงิน 51,785.37 ล้านบาท ระหว่างการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และกทม. ที่แนวโน้มในกรณีนี้จะทำเรื่องให้รัฐบาลเป็นผู้จ่ายแทน กทม.ได้หรือไม่ ซึ่งในมติคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) กำหนดให้รัฐบาลหารือ กทม.ในการแบ่งสัดส่วนการลงทุนกัน เพราะรถไฟฟ้าทุกสายรัฐบาลลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแทบทั้งนั้น ถ้าให้ กทม.จ่าย เกรงว่า งบประมาณรายปีที่มีเฉลี่ย 80,000 ล้านบาท/ปี จะไม่พอใช้จ่ายกับภารกิจด้านอื่น
“เรื่อง BTS ไม่ใช่ว่าเราไม่ทำนะ เราคิดทุกวัน แต่ต้องรอบคอบ เพราะไม่ใช่เงินเรา เป็นเงินประชาชน ส่วนคดีความที่ฟ้องกันไปมา ก็เคารพศาลทุกอย่าง แต่ว่าถ้าท้ายที่สุดศาลให้เราจ่าย เราจะเอาเรื่องนี้เข้าสภากทม. และก็หวังว่า รัฐบาลใหม่จะตัดสินใจสักทีว่า กรณีสัมปทานจะเอาอย่างไร ซึ่งใจผมการต่อสัญญาสัมปทานสายสีเขียวตามมติเดิม มันผ่านคนไม่กี่คน ไม่ได้ดูละเอียดตามพ.ร.บ.ร่วมทุนปกติ ใจเราอยากให้ทำตามกระบวนการปกติ” นายชัชชาติกล่าวในท้ายที่สุด
ประแสง มงคลศิริ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด
ภาพจาก: กรุงเทพธนาคม
@ขอ ป.ป.ช. กัน เคทีเป็นพยาน คดีจ้างเดินรถปี 55
ด้านนายประแสง มงคลศิริ กรรมการผู้อำนวยการ บจ. กรุงเทพธนาคม (เคที) เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา ว่า ในส่วนของกรุงเทพธนาคม จะเป็นเรื่องราวในเชิงคดีความมากกว่า ซึ่งได้เข้าไปชี้แจงกรณีที่ถูก ป.ป.ช. แจ้งข้อกล่าวหากรณีว่าจ้าง BTSC เดินรถส่วนต่อขยายที่ 1 แล้ว โดยได้สืบค้นข้อมูลย้อนไปถึงสมัยนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน เป็นผู้ว่าฯกทม.ประมาณปี 2547-2548 มาชี้แจงกับ ป.ป.ช. ไล่มาถึงช่วงปี 2555 ที่มีการลงนามในการทำสัญญาจ้างเดินรถ
เมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2566 ได้เข้าไปให้ถ้อยคำ และขอกับทาง ป.ป.ช. เมตตากับ บจ.กรุงเทพธนาคม เพราะข้อมูลที่ให้ไปเป็นประโยชน์ในคดีนี้ จึงขอให้กัน บจ.กรุงเทพธนาคมเป็นพยาน โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. แนะนำให้ทำเป็นหนังสือเข้ามา โดยได้ส่งถึง พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. เรียบร้อยแล้ว ที่ขอให้กันเป็นพยาน นอกจากข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในสืบสวนแล้ว ยังมีความเสียหายทางแพ่งที่ต้องพิจารณาด้วย โดยตอนนี้ ป.ป.ช.ปิดสำนวนแล้ว รอป.ป.ช.สั่งฟ้องต่อไป
ส่วนกรณีที่BTS ได้ยื่นฟ้องศาลปกครองกลางเมื่อเดือนพ.ย. 2565 ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว วงเงิน 10,600 ล้านบาท อยู่ระหว่างไต่สวน
@ปลายทางส่วนต่อขยายที่ 2 ต้องไปศาล
ขณะที่ประเด็นส่วนต่อขยายที่ 2 แบริ่ง – เคหะสมุทรปราการ และหมอชิต – สะพานใหม่ - คูคต ทาง BTS ส่งหนังสือทวงหนี้เข้ามาเป็นระยะๆ โดยเฉพาะส่วนที่ศาลปกครองกลางพิพากษาไปเมื่อปลายปี 2565 ยังเหลือค่าติดตั้งระบบเดินรถและอาณัติสัญญาณ ที่มี BTS อ้างว่ามีจำนวนรวมที่ 20,768 ล้านบาท ซึ่งยังไม่ได้ฟ้อง แต่มีการทวงเงินมาที่เคทีเป็นระยะๆ คาดว่า ประเด็นนี้จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมต่อไป
เมื่อถามว่า แต่ส่วนต่อขยายที่ 2 ยังมีประเด็นที่ยังรับโอนทรัพย์สินและหนี้สินจาก รฟม.ไม่สมบูรณ์ เพราะยังค้างค่าโอนรับทรัพย์สินและหนี้สินอีก 50,000 ล้านบาท การที่ไปจ้าง BTS สร้างระบบไฟฟ้าและอาณัติสัญญาณไปก่อน จะทำให้เกิดผลตามมาในภายหลังหรือไม่ นายประแสงระบุว่า ก็ยังเป็นประเด็นอยู่ และส่วนต่อขยายนี้ เคที ไม่มีหลังพิง เพราะการจ้างให้ทำงานบนส่วนต่อขยายที่ 2 นั้นเกิดขึ้นก่อนมีคำสั่งคสช.ที่ 3/2562 และเป็นการจ้างที่ไม่ผ่านสภากทม.ด้วย จึงยิ่งเพิ่มความเสี่ยง แต่โดยส่วนตัวอยากให้ประเด็นนี้เข้าสู่กระบวนการศาล เพราะตนพร้อมจะขึ้นศาลในคดีนี้
@ปลายทาง สายสีเขียว ต้องกลับมาเป็นของ กทม.
ช่วงท้าย นายประแสงระบุว่า สิ่งที่ดำเนินการทั้งหมด ก็เพื่อให้ตัวสัญญาสัมปทานสายหลักที่จะหมดอายุในปี 2572 กลับมาเป็นของ กทม. การไปทำสัญญจ้างเดินรถที่จะหมดอายุในปี 2585 มีความเกี่ยวเนื่องกับความพยายามที่จะต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวออกไปถึงปี 2602 ทั้งๆที่ปี 2572 สิ่งที่เหลืออยู่ของสัมปทานสายหลัก จะได้นำกลับมาลดราคาค่าโดยสารได้ต่อไป
“ทำไมผู้ว่าฯชัชชาติกล้าบอกว่า ทำไม 8 สถานีแรกต้องมีค่าโดยสารที่ 25-30 บาท? ก็เพราะว่าวันหนึ่งสัมปทานสายสีเขียวนี้จะกลับมาเป็นของ กทม. เมื่อ กทม.เป็นเจ้าของการคิดส่วนลดค่าโดยสารมันก็เป็นไปได้ เพราะฉะนั้น การต่อสู้ในคดีความต่างๆ จึงเป็นการสู้เพื่อจุดประสงค์นี้ ประชาชนจะได้โดยสารในราคาถูก” นายประแสงกล่าวทิ้งท้้าย
ความฝัน และ เป้าหมายที่ปลายทางดังกล่าวจะเป็นไปได้หรือไม่? คงต้องติดตามกันอีกยาว
เพราะปมรถไฟฟ้าสายสีเขียว แม้เรียนผูกกันมายาวนาน แต่การเรียนแก้ก็มิใช่เรื่องง่าย ซึ่งต้องวัดใจฝีมือพ่อเมืองและผู้บริหารกรุงเทพธนาคมชุดนี้ วาระ 3 ปีที่เหลือจะปลดฉนวนปัญหาได้หรือไม่ ต้องตามกันต่อ
อ่านประกอบ
- ไม่ปฏิบัติตามมติ ครม.! 'ศาลปค.'สั่งถอนประกาศ กทม. เก็บค่าตั๋ว'สายสีเขียว'สูงสุด 104 บาท
- ‘ชัชชาติ’ หวังรัฐบาลใหม่ จบปัญหา ‘สัมปทานสายสีเขียว’เล็งโอนรถไฟฟ้าสายใหม่ให้ รฟม. ทำ
- ‘สภาผู้บริโภค’ แนะทางออก 2 รถไฟฟ้า ‘สายสีส้มประมูลใหม่’ - ‘สายสีเขียวไม่ต่อสัมปทาน’
- ‘คีรี’ เปิดใจ ป.ป.ช.แจ้งข้อหา BTS เหมือนถูกแกล้ง
- 'วัชรพล' สั่งสอบเอกสารแจ้งข้อกล่าวหาคดีรถไฟฟ้าสีเขียวหลุด-พนง.BTSC ยกพลจี้ถาม
- ‘ชาญชัย’ ติง ‘กทม.-KT’ อ้างสัญญาไม่ชอบ แล้วจะไม่จ่ายค่าจ้างเดินรถสายสีเขียวไม่ได้
- ‘BTS’ โต้ ‘กรุงเทพธนาคม’ ขอให้รีบจ่ายค่าจ้างเดินรถสายสีเขียว ปัดรู้เห็นกระบวนการทำสัญญา
- ‘กรุงเทพธนาคม’ แจง ‘ศาลปกครอง’ โต้ BTSC ปมฟ้องร้องค่าจ้างเดินรถอีกหมื่นล้าน
- ‘ชัชชาติ’ รับ ‘กทม.’แบกภาระขาดทุนเดินรถไฟฟ้า‘สายสีเขียว’ ช่วงปี 73-84 รวม 8.57 หมื่นล.
- มีเงินสะสม7หมื่นล.! กทม.พร้อมจ่ายหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว แต่ต้องรอผ่านสภากรุงเทพฯ ก่อน
- ‘ชัชชาติ’ ส่งความเห็น ‘สายสีเขียว’ ถึง ‘มหาดไทย’ แล้ว ลุ้นครม.พิจารณา
- กทม.ส่งความเห็น ‘มหาดไทย’ ปมสายสีเขียว สัปดาห์หน้า
- ‘ชัชชาติ’ รับมติสภากทม. ศึกษา ‘สายสีเขียว’ เก็บค่าโดยสารส่วน 2 เลื่อนไม่มีกำหนด
- สภากทม.คว่ำ ‘ญัตติ’ รถไฟฟ้าสายสีเขียว ตีความ คำสั่งม.44 ไม่ให้อำนาจ กทม.-ส.ก.พิจารณา
- ‘ชัชชาติ’ ประกาศไม่ต่อสัมปทานสายสีเขียว เสนอรัฐบาลอุดหนุนค่าก่อสร้าง 5.8 หมื่นล้าน
- ‘ชัชชาติ’ ลุ้น สภากทม. เคาะค่าโดยสาร ส่วนต่อขยายสายสีเขียว 26 ต.ค.นี้
- ศาลสั่ง ‘กทม.-เคที’ จ่าย 1.1 หมื่นล้าน ปมค้างค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว
- เจาะคำพิพากษาศาลปกครองกลาง เกาะติดท่าที 'กทม.-เคที'อุทธรณ์คดีค่าเดินรถ'สายสีเขียว'
- เปิดสัญญาจ้างเดินรถสายสีเขียวแล้ว ผ่าปม 2 ส่วนต่อขยายสุดหิน
- เบื้องหลัง 2 แนวคิดเก็บค่าตั๋วส่วนต่อขยาย‘สายสีเขียว’คั้นรายได้ 2.6 พันล.โปะหนี้ BTSC
- 2 สัญญา 3.5 แสนล.! ย้อนดูค่าจ้าง เดินรถ'สายสีเขียว'ส่วนต่อขยาย ก่อน'เคที'จ่อรื้อใหม่
- ISRA WHY? : ‘ธงทอง จันทรางศุ’แม่ทัพ'กรุงเทพธนาคม'ภารกิจสุดขอบฟ้า ล้างหลุมดำ กทม.
- แก้จ้างเดินรถ BTS ชัดเจนปีนี้ ‘ธงทอง’เคลียร์ส่วนต่อขยาย 1-2
- ไม่เกินส.ค.นี้เสนอสภากทม.เคาะค่าโดยสารสายสีเขียว ถอดรายได้ 2 สูตรจ่ายค่าเดินรถ
- กทม.ขอ 2 เดือน เคลียร์โอนหนี้สายสีเขียว เผยยอดหนี้ ‘หมอชิต-คูคต’พุ่ง 5.4 หมื่นล้าน