‘BTS’ ตั้งโต๊ะโต้ ‘กรุงเทพธนาคม’ ปมแฉ 5 ประเด็นต่อสู้ฟ้องร้องค่าจ้างเดินรถสายสีเขียวรอบใหม่ ระบุขอให้รีบจ่าย เพราะต้องอุ้มภาระตรงนี้ 500-600 ล้านบาท/เดือน ชี้ไม่เกี่ยวข้องในกระบวนการทำสัญญาที่ไม่ชอบ ด้านแหล่งข่าวเคทีขยายความ 2 สัญญาที่มีปัญหา
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 17 มกราคม 2566 นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC, พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย ที่ปรึกษาประธานกรรมการ และนายสยาม สีวราภรณ์สกุล ผู้อำนวยการใหญ่สายงานกฎหมาย บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS จัดแถลงข่าวชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ “การทำสัญญาจ้างเดินรถ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว”
นายสุรพงษ์ เริ่มต้นว่า หลังจากบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด หรือ เคที เผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณะ และประเด็นของคำให้การที่กรุงเทพธนาคม จะยื่นต่อศาลปกครอง เกี่ยวกับคดีที่ 2 ที่ BTSC ฟ้องให้ กรุงเทพมหานคร (กทม.) และเคที ชำระค่าจ้างเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายสำหรับเดือนมิถุนายน 2564 ถึงเดือนตุลาคม 2565 เป็นจำนวนกว่า 11,000 ล้านบาท
@อัดทำให้เกิดความเสียหาย
สิ่งที่กรุงเทพธนาคมอ้างว่า สัญญาจ้างเดินรถที่กรุงเทพธนาคม ทำกับรถไฟฟ้าบีทีเอส เป็นสัญญาที่ไม่ชอบ พร้อมทั้งกล่าวอ้างว่า การใช้สิทธิฟ้องคดีของ BTSC เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เพราะ BTSC ต้องทราบดีอยู่แล้วว่าบริษัทฯ ไม่สามารถดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 และที่ 2 ได้ด้วยตนเอง แต่ BTSC ยังสมัครใจเข้าทำสัญญากับกรุงเทพธนาคม ซึ่งไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะเข้าทำสัญญาได้ แล้วจึงกลับมาฟ้องบริษัท กรุงเทพธนาคมเป็นคดีนั้น
ข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลที่ทำให้ BTSC ได้รับความเสียหาย อาจทำให้ประชาชนเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมาย ของสัญญาจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ตลอดจนทำให้เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดีของบริษัท ต่อสาธารณชน กล่าวคือ ทำให้ประชาชนเข้าใจว่าบริษัทไม่สุจริตตั้งแต่ขั้นตอนการเข้าทำสัญญาจ้างเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย โดยรับทราบอยู่แล้วว่ากรุงเทพธนาคมไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะเข้าทำสัญญาจ้างเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายได้ และยังไม่สุจริตมาฟ้องกรุงเทพธนาคมเป็นคดีอีก
@ไม่รู้ในกระบวนการของ กทม.-เคที
เพื่อเป็นการปกป้องชื่อเสียง ต้องอธิบายให้ประชาชนรับทราบว่า BTSC ไม่มีสิทธิหรือความเกี่ยวข้องใด ๆ ในกระบวนการอนุมัติและการปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบและ หรือข้อบัญญัติของ กทม.และกรุงเทพธนาคม แต่ BTSC เชื่อมั่นมาโดยตลอดว่า กทม.และกรุงเทพธนาคม ซึ่งโดยปกติจะมีคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานอัยการเป็นผู้ให้คำปรึกษาทางด้านกฎหมาย ได้ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ และหรือข้อบัญญัติที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน และถูกต้องแล้ว
ทั้งนี้ บริษัทได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการเข้าทำสัญญาจ้างเดินรถไฟฟ้าทั้งของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงสะพานตากสิน - บางหว้า และช่วงอ่อนนุช - แบริ่ง และที่ 2 ช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต และช่วงแบริ่ง - เคหะสมุทรปราการ เฉพาะในขั้นตอนการยื่นข้อเสนอเพื่อรับคัดเลือกเป็นผู้รับจ้าง และการเจรจาสัญญาว่าจ้างเท่านั้น
ซึ่งตลอดระยะเวลาการดำเนินการในขั้นตอนดังกล่าว BTSC ได้ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และกฎเกณฑ์การคัดเลือกผู้รับจ้างอย่างถูกต้องครบถ้วน ดังนั้น การเข้าทำสัญญาจ้างเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ของบริษัทจึงเป็นไปโดยสุจริต และถูกต้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว ซึ่งมีผลทำให้สัญญามีความชอบด้วยกฎหมาย และผูกพันคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายตั้งแต่ปี 2555 และคู่สัญญาได้ถือปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าวมาโดยตลอด
@โอดครวญ 4 ปี ต้องเอาเงินส่วนอื่นมาโปะเดือนละ 500 - 600 ล้านบาท
นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า ขอเรียนเพิ่มเติมอีกว่า ตลอดระยะเวลาเกือบ 4 ปีที่ กทม. และกรุงเทพธนาคม ค้างชำระค่าจ้างเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายต่อบริษัทนั้น BTSC ได้พยายามอย่างดีที่สุดที่จะทำให้ประชาชนไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการค้างชำระค่าจ้างดังกล่าว โดยบริษัทต้องอาศัยเงินทุนและการเงินกู้ยืมของบริษัทมาดำเนินการ และชำระค่าใช้จ่ายในการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายให้แก่ประชาชน
ซึ่งเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารของ กทม. และกรุงเทพธนาคม ตั้งแต่ช่วงกลางปีที่แล้ว บริษัทก็หวังว่าจะได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐในการชำระเงินค่าจ้างเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายให้ถูกต้อง เพื่อให้บริษัทสามารถให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายแก่ประชาชนได้อย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันค่าจ้างเดินรถ BTSC ต้องใช้จ่ายส่วนนี้ที่ 500-600 ล้านบาท/เดือน หรือปีละ 6,000 - 7,200 ล้านบาท
แต่กลับกลายเป็นว่า แม้ศาลปกครองกลางได้พิพากษาให้ กทม.และกรุงเทพธนาคมชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายให้แก่บริษัท ตามคำพิพากษาศาลปกครองกลางคดีหมายเลขแดงที่ 1926/2565 บริษัทก็ยังไม่ได้รับชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายครบถ้วน และยังคงปล่อยให้บริษัท ซึ่งเป็นเอกชนเป็นผู้แบกรับภาระการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายทั้งหมดให้แก่ประชาชน
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาถึงข้อมูล และประเด็นทั้งหมดที่กรุงเทพธนาคมจะให้การต่อศาลปกครองของตามที่เผยแพร่ต่อสาธารณชนแล้ว จะเห็นได้ว่ากรุงเทพธนาคมได้ชี้แจงว่าได้มีการตรวจสอบเชิงลึกแล้ว และมีความเห็นว่าสัญญาจ้างเดินรถส่วนต่อขยายที่ 1 และที่ 2 ไม่ชอบด้วยกฎหมายและ BTSC ใช้สิทธิไม่สุจริตในการฟ้องคดี
@ซัดสัญญาไม่ชอบจริง ทำไมยังทำตามสัญญาที่ผิด
“บริษัท (BTSC) จึงขอตั้งข้อสังเกตต่อความเห็นของกรุงเทพธนาคมดังกล่าวว่า หากกรุงเทพธนาคมได้ตรวจสอบ และเชื่อโดยสุจริตตามความเห็นดังกล่าว เหตุใดกรุงเทพธนาคมยังคงยอมรับ และปฏิบัติตามสัญญาที่เกี่ยวข้องกับการเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายนี้ ทั้งในส่วนของสัญญาระหว่าง กทม. และกรุงเทพธนาคม และสัญญาระหว่างกรุงเทพธนาคม และ BTSC โดยเฉพาะในส่วนของสัญญาระหว่างกรุงเทพธนาคมและ BTSC ซึ่งขณะนี้บริษัทยังคงต้องให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายตามสัญญาจ้างเดินรถต่อไป แต่กทม. และกรุงเทพธนาคมกลับยังไม่ชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายและเลือกแต่จะกล่าวอ้างตามความเห็นดังกล่าว” นายสุรพงษ์ระบุ
ดังนั้นการอ้างความเห็นว่า ยังไม่ชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถให้แก่บริษัท เพราะเห็นว่าสัญญาจ้างเดินรถไม่ชอบด้วยกฎหมาย ความเห็นดังกล่าวก็ไม่สอดคล้องกับหลักกฎหมายที่ศาลปกครองสูงสุดในคดีหมายเลขแดง ที่ 356/2565 ได้เคยวางหลักไว้ว่า ตราบใดที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้สัญญาเป็นโมฆะ ก็ไม่อาจรับฟังได้ว่าสัญญาเป็นโมฆะ และคู่สัญญาฝ่ายรัฐต้องชำระหนี้ตามสัญญาให้กับคู่สัญญาฝ่ายเอกชน เพื่อเป็นการตอบแทนที่คู่สัญญาฝ่ายเอกชนได้ปฏิบัติถูกต้องตามสัญญาแล้ว ดังนั้น การที่กทม. และกรุงเทพธนาคมยังคงไม่ชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายนี้โดยกล่าวอ้างตามความเห็นข้างต้น จะยิ่งสร้างความเสียหายมากขึ้นให้แก่ กทม. และกรุงเทพธนาคมจากดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นในแต่ละวัน
จากที่กล่าวมาทั้งหมด บริษัท หวังเป็นอย่างยิ่งที่ กทม. และกรุงเทพธนาคมจะให้ความอนุเคราะห์ในการแก้ไขปัญหาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายให้กับประชาชนอย่างจริงใจ โดยเร็วและไม่ปล่อยให้เอกชนเป็นผู้รับภาระการเดินรถไฟฟ้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายให้แก่ประชาชนโดยลำพังอีกต่อไป
ในขณะเดียวกัน BTSC ขอเรียนผู้โดยสารทุกท่านว่า บริษัท จะยังคงใช้ความพยายามอย่างดีที่สุดในการให้บริการเดินรถไฟฟ้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายต่อไป จึงขอเรียนชี้แจงข้อเท็จจริง และสถานการณ์ปัจจุบันเพื่อให้ทุกท่านเข้าใจ และรับทราบข้อมูลนี้
@ฟ้องหมิ่น เคที ยังไม่คิด
ส่วนจะฟ้องหมิ่นประมาทกับกรุงเทพธนาคมหรือไม่นั้น นายสุรพงษ์ตอบว่า ขอดูก่อน ส่วนกรณีที่สัญญาจ้างเดินรถส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต และช่วงแบริ่ง - เคหะสมุทรปราการ มีความเสี่ยงที่จะผิดกฎหมายจากการที่มีการทำนิติกรรมบนโครงการที่กระบวนการรับโอนทรัพย์สินและหนี้สินจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ยังไม่แล้วเสร็จนั้น ก็เป็นเรื่องของภาครัฐ เอกชนไม่ได้ไปยุ่งเกี่ยว การที่มีการเรียก BTSC ไปทำข้อเสนอ ณ ตอนนั้นก็เชื่อว่า ทุกอย่างถูกต้องตามกฎหมายทั้งหมด ส่วนภายหลังสัญญานี้จะมีปัญหาเกิดขึ้นนั้น ก็คงต้องหารือกัน แต่ปกติเมื่อสัญญาผูกพันแล้ว ก็ควรจะต้องต่อเนื่องกันไป
เมื่อถามต่อไปว่า หากเคทีขอเจรจาพร้อมจะพูดคุยหรือไม่ นายสุรพงษ์ตอบว่า พร้อมเจรจา หารือกันได้อยู่แล้ว แต่คงต้องดูว่าจะเจรจาอะไร
พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย ที่ปรึกษาประธานกรรมการ
@เคที ทำปัญหาซ้อนปัญหา
ด้านพ.ต.อ. สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย กล่าวว่า สิ่งที่เคทีทำถือเป็นการสร้างปัญหาซ้อนปัญหา เพราะสิ่งที่เคทีเอาประเด็นต่างๆมาเผยแพร่นั้น เป็นการเอาสิ่งที่จะต่อสู้คดีความในชั้นศาลมาเปิดเผยต่อสาธารณชน และก่อให้เกิดความเสียหายแก่ BTSC คนทั่วไปจะเข้าใจผิดว่า BTSC เลวไปสมคบกับกระบวนการที่ผิด ดังนั้น เราจึงต้องออกมาบอกว่า ไม่จริง และสิ่งที่เคทีทำก็ผิดกฎหมายบ้านเมือง
ส่วนสิ่งที่เป็นปัญหาซ้อนคือ เคทีกำลังไม่ยอมรับสัญญาจ้างส่วนต่อขยายที่ 1-2 หรือไม่ เพราะอ้างว่าวัญญาไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ตนขอถามว่าแล้วเคทีจะทำอย่างไรต่อไป จะเอามาเป็นประเด็นต่อสู้เฉยๆ หรือจะต้องเอามาปฏิบัติ แจ้ง BTSC ยกเลิกการเดินรถหรือไม่ ซึ่งหากเคทีอ้างตรงนี้แล้วไม่ทำอะไร เคทีเองก็มีความเสี่ยงที่จะผิดกฎหมายด้วย หากไม่ทำอะไรต่อ
“3 ปีที่ผ่านมา ท่านไม่จ่ายเงินเลย ท่านอ้างเหตุผลต่อสู้คดีมาร้อยแปดพันเก้า ในปี 2564 ท่านอ้างเหตุอย่างหนึ่ง พอแพ้คดี ท่านก็มาสู้อีกอย่างหนึ่ง ถ้าท่านแพ้อีก ท่านก็อ้างเหตุผลอื่นสู้คดีไปเรื่อยๆหรือไม่ ผมถามว่า ท่านกำลังสร้างบรรทัดฐานอะไรให้บ้านเมืองนี้ แล้วต่อไปจะมีเอกชนที่ไหนกล้ามาทำสัญญากับรัฐ ขอให้เห็นแก่เอกชนที่ทำงานด้วยความสุจริตว่า อย่ามาทำแบบนี้ ถ้าจะต่อสู้คดี อันนั้นเป็นสิทธิของท่าน แต่การที่มาโพสต์เฟซบุ๊กและแถลงออกสื่อนั้น ถามว่าใครเสียหายจากสิ่งที่โพสต์ และท่านทำเพื่ออะไร?” พ.ต.อ.สุชาติกล่าว
@กรุงเทพธนาคม ชี้เป้าความผิดปกติ 2 สัญญา
ด้านแหล่งข่าวจากกรุงเทพธนาคม (เคที) กล่าวกับสำนักข่าวอิศราว่า ประเด็นความไม่ชอบทางสัญญามี 2 ประเด็นที่ได้พบ คือ 1. สัญญาการใช้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงในการจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวในเส้นทางส่วนต่อขยาย คือสถานีอ่อนนุช-แบริ่ง และสถานีสะพานตากสิน - บางหว้า ระยะเวลา 30 ปี (2555-2585) เป็นการดำเนินการในสมัยของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็นผู้ว่ากทม. ซึ่งยังมีคำถามในเรื่องของการที่สัญญาไม่ผ่านกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง หรือกระบวนการตาม พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ (พ.ร.บ.ร่วมทุน) ซึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กำลังพิจารณาอยู่
ซึ่งเมื่อเร็วๆนี้ เคทีได้สอบถามความคืบหน้าการพิจารณาของ ป.ป.ช.ไปแล้ว 2 ครั้ง ได้รับแจ้งกลับมาเพียงว่า ยังอยู่ในกระบวนการพิจารณา ซึ่งความชัดเจนในสัญญาจึงอาจจะต้องรอไปก่อน
กับ 2. การที่เคทีได้รับมอบหมายจาก กทม. ให้จ้าง BTSC ดำเนินการเดินรถและติดตามงานระบบส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต และช่วงแบริ่ง - เคหะสมุทรปราการ เบื้องต้นได้พบว่า ส่วนต่อขยายที่ 2 นี้ ยังดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อปี 2559 และปี 2561 ไม่ครบถ้วน โดยเฉพาะในกระบวนการรับโอนทรัพย์สินและหนี้สินจาก รฟม. วงเงินประมาณ 51,000 ล้านบาท โดยการที่ผู้บริหารกทม. สั่งการให้ทำนิติกรรม โดยที่โครงการยังไม่ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของกทม.จึงมีความเสี่ยงที่จะผิดกฎหมายได้
โดยการที่ทำการจ้างโดยที่กรรมสิทธิ์ยังไม่เป็นของกทม.นั้น ส่วนหนึ่งมองว่า เป็นเพราะทำเพื่อรอให้การต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่มีคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 3/2562 กำหนดครอบลงมา โดยรวบทุกสัญญาเป็นสัญญาเดียว แล้วต่อขยายไปถึงปี 2602 มีผล ซึ่ง ณ ตอนนี้คำสั่งคสช.ฉบับดังกล่าวก็ยังมีผลบังคับใช้อยู่ แต่ตัวสัมปทานอยู่ระหว่างเสนอ ครม. พิจารณา
ดังนั้น จาก 2 ประเด็นดังกล่าวข้างต้น ทางเคทีจึงได้ทำเป็นหนังสือเพื่อชี้แจงกับศาลปกครองกลางไปเพียงเท่านั้น โดยนอกจากการชี้ประเด็นดังกล่าวแล้ว ยังขอให้ศาลพิจารณาถึงแนวทางแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นจากการที่สัญญาทั้ง 2 อาจจะเสี่ยงผิดกฎหมายในอนาคตด้วย ซึ่งทางคณะกรรมการของเคทีก็มองกันว่า คงไม่ถึงกับต้องรื้ออะไรใหม่ทั้งหมด แต่อาจจะออกมาในแนวทางเดียวกันคดีของการก่อสร้างคอนโด แอชตัน อโศก ก็ได้ ที่ศาลก็ไม่ได้มีคำสั่งให้รื้อคอนโดที่สร้างเสร็จแล้วออกไป แต่มีมาตรการเยียวยาอย่างอื่นแทน แม้จะมีการพบว่า การก่อสร้างบนที่ของ รฟม. มีความผิดทางกฎหมายก็ตาม
อ่านประกอบ
- ‘กรุงเทพธนาคม’ แจง ‘ศาลปกครอง’ โต้ BTSC ปมฟ้องร้องค่าจ้างเดินรถอีกหมื่นล้าน
-
- ‘ชัชชาติ’ รับ ‘กทม.’แบกภาระขาดทุนเดินรถไฟฟ้า‘สายสีเขียว’ ช่วงปี 73-84 รวม 8.57 หมื่นล.
- มีเงินสะสม7หมื่นล.! กทม.พร้อมจ่ายหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว แต่ต้องรอผ่านสภากรุงเทพฯ ก่อน
- ‘ชัชชาติ’ ส่งความเห็น ‘สายสีเขียว’ ถึง ‘มหาดไทย’ แล้ว ลุ้นครม.พิจารณา
- กทม.ส่งความเห็น ‘มหาดไทย’ ปมสายสีเขียว สัปดาห์หน้า
- ‘ชัชชาติ’ รับมติสภากทม. ศึกษา ‘สายสีเขียว’ เก็บค่าโดยสารส่วน 2 เลื่อนไม่มีกำหนด
- สภากทม.คว่ำ ‘ญัตติ’ รถไฟฟ้าสายสีเขียว ตีความ คำสั่งม.44 ไม่ให้อำนาจ กทม.-ส.ก.พิจารณา
- ‘ชัชชาติ’ ประกาศไม่ต่อสัมปทานสายสีเขียว เสนอรัฐบาลอุดหนุนค่าก่อสร้าง 5.8 หมื่นล้าน
- ‘ชัชชาติ’ ลุ้น สภากทม. เคาะค่าโดยสาร ส่วนต่อขยายสายสีเขียว 26 ต.ค.นี้
- ศาลสั่ง ‘กทม.-เคที’ จ่าย 1.1 หมื่นล้าน ปมค้างค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว
- เจาะคำพิพากษาศาลปกครองกลาง เกาะติดท่าที 'กทม.-เคที'อุทธรณ์คดีค่าเดินรถ'สายสีเขียว'
- เบื้องหลัง 2 แนวคิดเก็บค่าตั๋วส่วนต่อขยาย‘สายสีเขียว’คั้นรายได้ 2.6 พันล.โปะหนี้ BTSC
- 2 สัญญา 3.5 แสนล.! ย้อนดูค่าจ้าง เดินรถ'สายสีเขียว'ส่วนต่อขยาย ก่อน'เคที'จ่อรื้อใหม่
- ISRA WHY? : ‘ธงทอง จันทรางศุ’แม่ทัพ'กรุงเทพธนาคม'ภารกิจสุดขอบฟ้า ล้างหลุมดำ กทม.
- แก้จ้างเดินรถ BTS ชัดเจนปีนี้ ‘ธงทอง’เคลียร์ส่วนต่อขยาย 1-2
- ไม่เกินส.ค.นี้เสนอสภากทม.เคาะค่าโดยสารสายสีเขียว ถอดรายได้ 2 สูตรจ่ายค่าเดินรถ
- กทม.ขอ 2 เดือน เคลียร์โอนหนี้สายสีเขียว เผยยอดหนี้ ‘หมอชิต-คูคต’พุ่ง 5.4 หมื่นล้าน