กทม.แถลงปมรถไฟฟ้าสายสีเขียว ย้ำไม่มีเจตนาเบี้ยวหนี้ มีเงินสะสมกว่า 70,000 ล้าน พร้อมจ่ายแต่กระบวนการไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ขาดการพิจารณาจากสภากรุงเทพฯ จึงต้องชะลอออกไปก่อน ย้ำต้องให้ประชาชนแบกรับภาระน้อยที่สุด
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2565 ศาลว่าการกรุงเทพมหานคร นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และนายต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงข่าวความคืบหน้ารถไฟฟ้าสายสีเขียว
นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ตามที่มีกระแสข่าวกทม.ชะลอการชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวไม่เป็นความจริง กทม.ไม่มีเจตนาเช่นนั้น แต่เป็นเพราะกระบวนการไม่ครบถ้วนจึงชะลอออกไปก่อน
นายวิศณุ ระบุว่า สืบเนื่องจากส่วนต่อขยาย 1 และ 2 มีความแตกต่างกัน โดยส่วนต่อขยาย 1 (สายสีลม ช่วงสถานีสะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่ และสถานีวงเวียนใหญ่-บางหว้า สายสุขุมวิท สถานีอ่อนนุช-แบริ่ง) เป็นสัญญาจ้างที่กทม.จ้างกรุงเทพธนาคม (KT) และส่วนต่อขยาย 2 (แบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) กทม.แค่มอบหมายให้กับกรุงเทพธนาคมเป็นผู้ดำเนินงาน แล้วกรุงเทพธนาคมก็ไปจัดทำสัญญาระบบ สัญญาโอนต่อไป
กทม.มีการตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมมีการทำสัญญาก่อนทำบันทึกมอบหมาย ทั้งที่ในส่วนต่อขยาย 1 ก็มีการทำตามขั้นตอนทุกกระบวนการครบถ้วนสมบูรณ์ มีการบรรจุโครงการให้สภากทม. เห็นชอบก่อน จากนั้นจึงไปทำสัญญาจ้างระหว่างกทม.กับกรุงเทพธนาคม
โดยส่วนต่อขยาย 2 เริ่มปี 2559 มีข้อสังเกตว่ากรุงเทพธนาคมไปทำสัญญาระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) กับเอกชน ตั้งแต่ มิ.ย. 2559 ก่อนที่จะมีการลงนามบันทึกมอบหมายเมื่อ ก.ค. 2559 โดยข้อสังเกตคือ การลงนามบันทึกมอบหมายไม่ได้ผ่านสภากทม. หลังจากนั้นกรุงเทพธนาคมไปทำสัญญาเดินระบบและซ่อมบำรุง (O&M) เมื่อ ส.ค. 2559 จากนั้นกทม.นำรายละเอียดงบประมาณเข้าสภากรุงเทพฯ แต่สภาพิจารณาแล้วไม่ผ่าน ดังนั้นเลยเกิดเป็นปัญหาที่ยืดยาวว่างบประมาณส่วนนี้ยังไม่ผ่าน
@ ฝ่ายบริหารกทม.อยากจะจ่ายเงินอย่างตรงไปตรงมา
นายวิศณุ ระบุอีกว่า ฝ่ายบริหารกทม.อยากจะจ่ายเงินอย่างตรงไปตรงมา ไม่มีเจตนารมณ์ที่จะไปชะลอแต่เนื่องจากมีขั้นตอนที่ยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ คือยังขาดการพิจารณาจากสภากรุงเทพฯ โดยรายละเอียด คือ เมื่อปี 2561 นำเรื่องเข้าสภาไปแล้ว แต่พิจารณาแล้วไม่ผ่าน และอีกครั้งเมื่อปี 2564 สภาก็ยังคงไม่เห็นชอบ โดยในระหว่างดำเนินการช่วง เม.ย. 2562 ก็มีคำสั่งคสช. ตั้งคณะกรรมการเจราจาเรื่องหนี้ เจรจาเรื่องการแก้ไขปัญหา และเจรจาเรื่องขยายสัญญาสัมปทาน
กทม.มีข้อสังเกตคือ กรรมการชุดนี้แต่งตั้งโดยคสช. ให้เวลา 30 ในการเจรจาและมีการต่อขยายอีก 30 วัน รวมเป็น 60 วัน ในช่วง 60 วันข้างต้นก็ได้ร่างสัญญา โดยเนื้อหาในร่างสัญญาเกี่ยวกับค่าจ้างเดินรถ (ส่วนต่างค่าจ้างเดินรถจากรายจ่าย - รายรับค่าเดินรถ) ผู้รับสัมปทานจะเป็นผู้รับผิดชอบ ดังนั้นค่าจ้างเดินรถตั้งแต่ พ.ค. 2562 กทม.จึงยังไม่ได้จ่าย
"เพราะว่ามันเป็นผลจากการเจรจาของกรรมการชุดนี้ เจรจาแล้วว่าค่าจ้างเดินรถตั้งแต่ พ.ค. 2562 เป็นต้นไป ให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของการขยายสัญญาสัมปทาน นี่เป็นเหตุผลทั้งหมดที่เรายังไม่ได้จ่ายเงิน KT"
นายวิศณุ ชี้แจงเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตามผู้ว่ากทม.มีหนังสือตอบกลับมหาดไทยที่ขอทราบการดำเนินการเกี่ยวกับรถไฟฟ้าสีเขียว โดยตอบกลับไปตั้งแต่ช่วง มิ.ย. 2565 ที่เข้ามารับตำแหน่ง โดยสิ่งที่ตอบกลับไปคือ กทม.เห็นด้วยกับนโยบายที่ให้มีการดำเนินการเพียงรายเดียว เพื่อให้รถไฟฟ้าสายสีเขียวมีความต่อเนื่อง ขอให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณสำหรับโครงสร้างพื้นฐานและงานติดตั้งการเดินรถ ขณะเดียวกันกทม.คิดว่าโครงการรถไฟฟ้านี้มีมูลค่าสูง ควรมีการพิจารณาโครงการอย่างรอบคอบ ไม่ใช่ใช้เวลาเพียง 60 วันพิจารณาอย่างที่ผ่านมา เพื่อให้เกิดความโปร่งใส รอบคอบ ควรพิจารณาตามพรบ.ร่วมทุน
"ที่เรา (กทม.) ยังดำเนินการไม่ได้ ไปค้างที่ค่าจ้างเดินรถตั้งแต่ พ.ค. 2562 เป็นส่วนหนึ่งของร่างสัญญาที่คณะกรรมการเจรจาตามมาตรา 44 ให้ผู้รับสัมปทานเป็นผู้รับผิดชอบ ยืนยันว่า กทม.ไม่มีเจตนาไม่ชำระหนี้อย่างที่เรียน เพราะเราก็รอทางครม.คิดเห็นอย่างไรในเรื่องของประเด็นการต่อขยายสัมปทาน ถ้ามีข้อสรุปตรงนี้ก็เดินหน้าได้ ถ้าครม.เห็นชอบกับการต่อขยายสัมปทานก็จบแล้ว หนี้ทั้งหมดก็จะไปอยู่ในส่วนสัญญาของสัมปทาน แต่ถ้าครม.ไม่เห็นด้วยในการขยายสัมปทาน พวกเราก็กลับมาเจรจา"
นายวิศณุ กล่าวย้ำว่า เมื่อศาลปกครองมีคำสั่งลงมาก็มีการอุทรณ์ต่อ โดยส่วนที่อุทรณ์ต่อมีสาระสำคัญ คือ ส่วนของดอกเบี้ย เนื่องจากคำพิพากษาให้กทม.จ่ายทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ทั้งนี้กทม.ไม่มีเจตนาที่จะไม่ชำระหนี้แต่อย่างใดจึงขอไม่ชำระค่าดอกเบี้ย เพราะการจ่ายดอกเบี้ยจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีการเบี้ยวชำระหนี้ อีกทั้งกทม.ไม่ได้เจรจากับ KT ในเรื่องของดอกเบี้ย ดังนั้นเรื่องของดอกเบี้ยต้องให้ KT รับผิดชอบดูแล
@ ย้ำไม่มีเจตนาไม่ชำระหนี้
นายวิศณุ กล่าวย้ำอีกว่า ส่วนต่อขยาย 1 เป็นสัญญาจ้าง และดำเนินการตามขั้นตอนครบถ้วนไม่มีปัญหาใด ๆ แต่ส่วนต่อขยาย 2 ยังดำเนินการไม่ครบถ้วนตามกระบวนการ ที่ขาดการพิจารณาจากสภากทม. แม้ครม.จะมีมติเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการต่อสัญญาขยายสัมปทาน กทม.ก็ยังต้องนำเรื่องเข้าสภาเพื่อพิจารณางบประมานตามกระบวนการต่อไป และย้ำว่ากทม.ไม่มีเจตนาที่จะไม่ชำระหนี้
ส่วนที่เอกชนยืนยันให้กทม.จ่ายในส่วนต่อขยาย 2 แสดงว่าถูกต้องตามกฎหมาย นั้น นายวิศณุ กล่าวว่า ก็ต้องอุทรณ์ต่อไป การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้กทม.ชำระเงินเป็นเพราะกทม.ไม่ได้กล่าวถึงความไม่ครบถ้วยสมบูรณ์ของส่วนต่อขยาย 2 แต่ต่อมากทม. ค้นพบข้อมูลใหม่ ๆ เกี่ยวกับความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ของส่วนต่อขยาย 2 จึงต้องสู้ต่อ ต้องติดตามผลต่อไป และต้องถามว่าทำไมบริษัทเอกชนถึงกล้าเซ็นสัญญากับ KT ทั้งที่ KT ยังไม่มีบันทึกมอบหมายกับกทม.
รองผู้ว่ากทม. กล่าวยืนยันด้วยว่า กทม.พร้อมจ่าย ยินดีจ่าย แต่ติดที่การเจรจาของคณะกรรมการที่แต่งตั้งโดยคสช. เมื่อเม.ย. 2562 ที่ให้ผู้รับสัมปทานเป็นผู้รับผิดชอบค่าจ้างเดินรถ
"ส่วนถ้าครม.ไม่ต่อสัมปทานจะทำอย่างไรกับหนี้ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะส่วนต่อขยาย 2 ที่ไม่มีหนังสือมอบหมายเป็นทางการ คิดว่าต้องนำมาพิจารณาที่สภากทม. โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือส่วนในอดีตที่เกิดไปแล้ว ถ้าสภากทม.เห็นด้วยจะมีการให้สัตยาบรรณว่าจะจ่ายหนี้ หรือ ถ้าสภาไม่เห็นด้วยก็ต้องให้ศาลตัดสิน แต่ถ้าเป็นส่วนใหม่ที่เป็นส่วนของอนาคต คิดว่าต้องเจรจาใหม่ ทำให้ถูกต้องครบถ้วน ต้องผ่านสภากทม."
รองผู้ว่ากทม. กล่าวอีกว่า อย่างไร เกี่ยวกับเรื่องนี้ ต้องเจรจา หลักการคือต้องใช้การเดินรถที่ต่อเนื่องกัน (Through Operation) โดยมีเจ้าของเพียงรายเดียว (Single Owner) จึงจะดีที่สุด อันนี้เป็นนโยบายของผู้ว่า นอกจากนี้รองผู้ว่ายังกล่าวถึงประเด็นการส่งคืนรถไฟฟ้าให้รฟม.ว่าถ้าจะคืนก็คืนทั้งหมด ไม่คืนแค่ส่วนเดียว โดยจำนวนหนี้ของส่วนต่อขยาย 1 ยอดเมื่อ เม.ย 2565 อยู่ที่ตัวเลขประมาณ 2,300 ล้านบาท
ส่วน นายต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาของผู้ว่ากทม. กล่าวว่า กทม.มีเงินสะสม ณ วันที่ 1 ต.ค. 2565 มีเงินอยู่ 70,000 กว่าล้านบาท โดยเงินที่เตรียมไว้จ่าย กทม.ก็เตรียมไว้แล้ว
"เราพร้อม แต่กระบวนการมันต้องครบถ้วน ไม่งั้นมันไปไม่ได้ ที่สำคัญที่สุดคือ ชุดเก่าเอาเข้าสภาไปแล้ว แล้วไม่อนุมัติ วันดีคืนดีชุดใหม่เข้ามาบอกว่าเราจะจ่าย เราต้องคิดให้รอบคอบ เรายินดีจะจ่าย เราเห็นใจผู้ประกอบการที่เดินรถไม่หยุด แต่กระบวนการต้องครบถ้วน ขนาดสภาชุดนู้นที่เขามีความเกี่ยวกันเขายังไม่จ่ายเลย แต่ถ้ามันถึงที่สุดก็ต้องให้ประชาชนแบกรับภาระน้อยที่สุด "