‘ชัชชาติ’ ไปไม่ถึงฝัน ‘สภากทม.’ คว่ำญัตติรถไฟฟ้าสายสีเขียว ทั้งการขอความเห็นเสนอ ‘มหาดไทย’ และชงค่าโดยสารส่วนต่อขยาย ชี้เพราะมีคำสั่งม.44 คุมบังคับส่วนต่อขยาย 1-2 รวมเป็นก้อนเดียว ต้องให้คณะกรรมการตามคำสั่งดังกล่าวเป็นผู้พิจารณา
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 26 ตุลาคม 2565 ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร (สภา กทม.) สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สี่ (ครั้งที่ 4) ประจำปี 2565 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เสนอญัตติขอรับความคิดเห็นของ สภา กทม. ในการดำเนินโครงการถไฟฟ้าสายสีเขียว และขอรับความเห็น เรื่อง แนวทางการเก็บค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต และช่วงแบริ่ง - สมุทรปราการ
@ส.ก.ลุกขึ้นค้าน ชี้ กทม.ไม่มีอำนาจตัดสินใจ
ในช่วงเริ่มต้น นายวิรัช คงคาเขตร ส.ก.บางกอกใหญ่ พรรคประชาธิปัตย์ ลุกขึ้นขอหารือในที่ประชุมก่อนว่า ตามเดิมที่ประชุมมีข้อสรุปให้คณะกรรมการจราจรและขนส่ง ของ กทม. ไปหารายละเอียดในบางประเด็นก่อน แล้วจึงมานำเสนอต่อที่ประชุมสภา กทม. หรือที่ประชุมวิป สภากทม.ก็ได้ และส่วนตัวเห็นว่า ญัตตินี้ ยังไม่สมควรที่จะเข้ามาสู่ สภากทม. ในเวลานี้ ต้องฟังความเห็นของคณะกรรมการจราจรและขนส่งของกทม.ก่อนว่า มีความเห็นอย่างไรในประเด็นที่มีการถกเถียงกัน หากมีความเห็นทางใดก็ตาม จึงจะนำญัตตินี้เข้าบรรจุในวาระการประชุม
ขณะที่นายพีรพล กนกวลัย ส.ก.พญาไท พรรคก้าวไกล ลุกขึ้นกล่าวว่า สิ่งที่จะพิจารณานี้เกี่ยวข้องกับข้อกฎหมายว่า กทม. มีอำนาจตามนี้หรือไม่ อยากให้ประธานสภากทม.ดูคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2562 ก่อน เพราะในข้อที่ 2 ของคำสั่งนี้ให้ กทม. จ้างเอกชนติดตั้งระบบรถไฟฟ้าและจัดการเดินรถไฟฟ้าแล้ว ทั้งๆที่ยังไม่มีการจัดสรรงบประมาณ อีกทั้งอ้างว่าให้มีการเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวเดิมและส่วนต่อขยายที่ 1 (ช่วงสะพานตากสิน - บางหว้า และอ่อนนุช - แบริ่ง) และเมื่อดูในข้อที่ 3 มีการตั้งคณะกรรมการ 1 ชุดขึ้นมา โดยมีปลัดกทม.เป็นเลขานุการ และมีปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน เพื่อทำหน้าที่ตามคำสั่งนี้
ซึ่งในคำสั่งนี้ กำหนดให้คณะกรรมการชุดนี้ เป็นผู้กำหนดราคาค่าโดยสาร ไม่ใช่ กทม. ไม่ว่าจะส่วนใดก็ตาม เพราะฉะนั้นถือว่า สภากทม.ไม่มีหน้าที่กำหนดราคาและจัดการเดินรถ ดังนั้น การพิจารณาในญัตตินี้ไม่ใช่หน้าที่ของสภากทม. และผู้ว่ากทม. อีกต่อไป แต่เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการชุดนี้ เพราะคำสั่งหัวหน้าคสช. มีศักดิ์เทียบเท่า พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)
และเมื่อดูข้อบัญญัติ กทม. เรื่อง ค่าบริการระบบขนส่งมวลชนของกรุงเทพมหานคร 2552 แม้ให้อำนาจในการกำหนดค่าโดยสาร แต่คำสั่งหัวหน้าคสช.นี้เป็นการตัดอำนาจไปแล้ว เพราะมีสถานะทางกฎหมายต่ำกว่า ดังนั้น ญัตตินี้ ผู้บริหาร กทม. ไม่สามารถขอรับความเห็นใดๆได้ เพราะคำตอบมันจะออกในทางเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบ ถ้าเห็นด้วยก็ปฏิบัติอะไรไม่ได้ หรือถ้าไม่เห็นด้วย ก็ทำอะไรไม่ได้อีก เสี่ยงที่จะผิดการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ จึงอยากเตือนผู้ว่า กทม. ต้องดำเนินการให้รอบคอบ ต้องมีการหาทางออกที่ไม่ใช่การหารือแบบนี้ และหากยังดึงดันทำต่อ ก็จะขอไม่ร่วมประชุม เพราะอาจจะดำเนินการไม่ถูกต้องตามกฎหมาย
สอดคล้องกับนายนภาพล จีระกุล ส.ก.บางกอกน้อย พรรคประชาธิปัตย์ ลุกขึ้นกล่าวสนับสนุนนายพีรพลว่า ในฐานะนักกฎหมายเห็นด้วย และในคำสั่งคสช.ระบุให้รวมรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งส่วนต่อขยายที่ 1 และ 2 เข้าด้วยกัน โดยส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงสะพานตากสิน - บางหว้า มีความเห็น 2 ส่วนคือ ในทีแรก กทม. จะก่อสร้างเอง แต่รัฐบาลกลางไม่ให้งบประมาณในการก่อสร้าง จนสุดท้าย สภากทม. เห็นความจำเป็นจึงอนุมัติก่อสร้างเองในที่สุด และต่อมาก็สร้างช่วงอ่อนนุช - แบริ่งด้วย
แต่เมื่อมีคำสั่ง คสช. ให้รวมส่วนต่อขยายที่ 1 และ 2 เป็นสายเดียวกัน ก็ทำให้แยกกันไม่ได้อีกต่อไป ขณะที่ส่วนต่อขยายที่ 2 แบริ่ง - เคหะสมุทรปราการ และช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต หากอ้างอิงตาม มาตรา 93 พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร 2528 ในการบริหารโครงการที่อยู่นอกเขต กทม. จะต้องขอความเห็น สภากทม. ผู้ว่าราชการจังหวัดที่เกี่ยวข้อง และกิจการนั้นมีความจำเป็น ก่อนจึงจะรับมาดำเนินการได้
ดังนั้น เมื่อ คสช. มีคำสั่งให้ดำเนินการรวมเป็นสายเดียวกัน จึงยังมีข้อสงสัยอยู่ว่า การที่ยังไม่ผ่าน สภากทม. จะทำได้อย่างไรหรือไม่ และการขอหารือในครั้งนี้ จะต้องฟันธงออกไปทางใดทางหนึ่ง จึงต้องขอฟังการพิจารณาของคณะกรรมการจราจรและขนส่ง ของ กทม.ก่อน
หลังจาก ส.ก.ทั้ง 3 อภิปราย นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภา กทม. ได้ชี้แจงว่า ที่บรรจุญัตตินี้ เนื่องจากคณะกรรมการจราจรและขนส่ง ได้ส่งเอกสารที่ได้หารือกันมาก่อนเรียบร้อย และเคยมีการบรรจุไว้เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2564 ในสมัยสภากทม.ชุดที่แล้ว ส่วนผลการหารือที่ฝ่ายบริหารส่งมาจะเป็นอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับมติสภาและผลการอภิปราย และต่อมามีการอนุมัติให้รวมญัตติขอรับความคิดเห็นของ สภา กทม. ในการดำเนินโครงการถไฟฟ้าสายสีเขียว และขอรับความเห็น เรื่อง แนวทางการเก็บค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต และช่วงแบริ่ง - สมุทรปราการเข้าเป้นเรื่องเดียว
@เสนอตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษาให้ลึกซึ้งก่อน
อย่างไรก็ตาม หลังจากมีการให้รวมเป็นเรื่องเดียว นายวิรัช ส.ก.บางกอกใหญ่ ลุกขึ้นขอหารือก่อนว่า คำสั่ง คสช.ที่ 3/2562 เป็นคำสั่งที่เด็ดขาด เพราะฉะนั้น ประเด็นนี้ ส.ก.ส่วนใหญ่ไม่พร้อมที่จะหารือและรับฟัง เพื่อนำแนวทางไปพูดคุยกัน อยากให้เกียรติประธาน สภาและนายชัชชาติ โดยขอให้ถอนญัตตินี้ออกไปก่อน แล้วตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาให้ลึกซึ้งก่อน เพราะคำสั่ง คสช.นี้ทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้นมา อีกทั้ง เรื่องนี้ควรจะเข้าสภากทม.ชุดที่แล้ว เพราะมาจากการแต่งตั้งของ คสช. และมีผู้ทรงคุณวุฒิทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นมาจาก ป.ป.ช.บ้าง สตง.บ้าง หรือข้าราชการระดับอธิบดีก็มาเป็น แล้ว ส.ก.ชุดปัจจุบันที่มาจากลูกชาวบ้าน ก็ขอเวลาศึกษาหน่อย
ต่อมา นายชัชชาติพยายามขอแถลงญัตติดังกล่าว แต่นายนภาพล ลุกขึ้นขอหารือว่า การเข้าระเบียบวาระที่ 6 โดยข้ามระเบียบวาระที่ 4 ที่ให้คณะกรรมาธิการจราจรฯ สรุปผลเป็นไปได้หรือไม่ ซึ่งประธานสภากทม.ชี้แจงว่า เนื่องจากคณะกรรมาธิการฯ เสนอขอให้รวมระเบียบวาระที่ประชุมที่ 6.1 และ 6.2 ซึ่งเป็นเรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้เป็นวาระเดียว จึงต้องฟังการนำเสนอวาระของผู้บริหาร กทม.ก่อน
ทำให้นายพีรพล ลุกขึ้นขออภิปรายว่า การที่ให้ผู้ว่ากทม. ชี้แจงประเด็นคือ การให้เริ่มญัตติหรือไม่ หากให้เริ่ม จะถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่ได้มีอำนาจรองรับทางกฎหมาย จะขอไม่ร่วมหารือในการประชุมครั้งนี้ ซึ่งประธาน สภากทม. ชี้แจงกลับไปว่า กำลังจะเข้าญัตติ ขอให้ผู้ว่าฯ ชี้แจงก่อน
พีรพล กนกวลัย ส.ก.พญาไท พรรคก้าวไกล
@ชัชชาติ ชี้ขอความเห็น ไม่ได้ขอให้ลงมติอะไร
นายชัชชาติชี้แจงว่า ไม่ได้ขออนุมัติ มาขอความเห็นสภากทม.เท่านั้น ซึ่งผู้บริหารก็จดบันทึกไว้ ส่วนที่กระทรวงมหาดไทยให้ กทม.ทำความเห็นเกี่ยวกับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ก็ถามเจาะจงมาที่ผู้บริหาร และ สภากทม. ซึ่งไม่ได้ใช้อำนาจหรือลงมติอะไร ถ้าเราเป็นตัวแทนประชาชนแล้วไม่พูด แล้วประชาชนจะพูดผ่านใคร การเสนอญัตติในวันนี้ไม่ได้ขออนุมัติอะไร ใจตนไม่ได้ไปผิดอำนาจอะไร แต่ถ้าส.ก.เห็นว่า อาจจะกระทำผิดกฎหมาย เราก็จดเอาไว้ ซึ่งยังไม่จำแค่นี้ รถไฟฟ้าสายสีเขียวยังมีอีกยาว
“แม้เราจะไม่ใช่ผู้ตั้งเรื่องมาแต่เดิม แต่เรามารับต่อเพื่อทำประโยชน์ให้ประชาชนสูงสุด ผมว่ามันควรจะเริ่มพูดกัน ถ้ามันช้าไปสุดท้ายปัญหามันจะยิ่งมากขึ้นๆ วันนี้ไม่ว่าความเห็นจะเป็นยังไงผมว่าแนวทางที่สมาชิกเสนออาจจะตั้งคณะทำงานศึกษาเราก็น้อมรับและดำเนินการต่อ” นายชัชชาติระบุตอนหนึ่ง
@ส.ก.ค้านต่อ ชงญัตติซ้อน
อย่างไรก็ตาม เมื่อกำลังจะเข้าญัตติ นายพีรพล ส.ก.พญาไท ได้ลุกขึ้นตอบโต้ว่า คำว่า ญัตติ แปลว่าต้องลงมติไม่ว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ หากจะปรึกษาหารือ ต้องขอเสนอปรึกษาหารือ ไม่ใช่ขอตั้งญัตติ การตั้งญัตติต้องมีการลงมติ ดังนั้น ขอให้เปลี่ยนจากการตั้งญัตติ เป็นขอปรึกษาหารือดีกว่า ซึ่งประธาน สภากทม.ได้ชี้แจงว่า ผู้ว่ากทม.สามารถส่งเป็นญัตติได้ ไม่จำเป็นที่การตั้งญัตติจะต้องลงมติเสมอไป และที่ตนบรรจุญัตตินี้ ก็เพื่อให้เกิดการหารือในสภากทม.แห่งนี้ และผู้ว่าก็ยืนยันว่า ต้องการให้สภากทม.ให้ความเห็น ไม่ได้ขอมติอะไร ซึ่งหลังจากที่ชี้แจง ทำให้นายพีรพลลุกขึ้นออกจากห้องประชุมไป
ต่อมา เมื่อนายชัชชาติลุกขึ้นชี้แจงไปได้สักครู่ นายวิรัช ส.ก.บางกอกใหญ่ ได้ลุกขึ้นเสนอญัตติซ้อนให้นายชัชชาติถอนญัตตินี้กลับไปก่อน ทำให้ประธานสภากทม.กล่าวว่า หากเสนอญัตติซ้อนจะทำให้ญัตติที่นายชัชชาติเสนอต้องตกไป นายนภาพล ส.ก.บางกอกน้อย จึงลุกขึ้นกล่าวว่า จากที่นายชัชชาติบอกว่า เรื่องนี้ ผู้บริหารและสภากทม.ชุดนี้ไม่ได้ทำ และบอกเองว่ามีรายละเอียดเยอะ ฝ่ายบริหารก็ต้องมาพูดคุยและให้รายละเอียด ซึ่งสภากทม.รู้เพียง 10-20% ของเรื่องราวทั้งหมด และ กทม. ยินดีจะจ่ายเฉพาะส่วนต่อขยายที่ 1 แต่ส่วนต่อขยายที่ 2 ไม่ยินดีจ่าย และยังไม่รวมสัมปทานหลักอีก ก็ถ้าศึกษาก่อน และให้คณะกรรมาธิการฯ แถลงผลการศึกษา เชื่อว่า สมาชิกจะให้ความเห็นได้ชัดเจนขึ้น และผู้บริหารจะดำเนินการต่อได้
แต่เพราะเรื่องนี้มีคำสั่งคสช.ครอบไว้ ซึ่งเกินกว่าอำนาจของผู้ว่าฯกทม. จะกระทำได้ในการกำหนดค่าโดยสาร ตอนนี้เราเข้าเนื้อและต้องแบกภาระเยอะมาก หากเอาออกไปก่อนก้ไม่เสียหาย แม้จะช้าไปบ้างก็ตาม แต่เชื่อว่าน่าจะดีกว่าการทะเลาะกันในวันนี้ ด้านนายวิรัตน์ ในฐานะประธานสภากทม. กล่าวว่า หากส.ก.จะตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาอีก ก็อาจจะต้องมานั่งคุยกันอีก และหากลงมติกันก็มีคำถามว่า จะดำเนินการตามที่คณะกรรมาธิการฯเสนอได้หรือไม่ อีกทั้งก็มีคณะกรรมาธิการศึกษาเรื่องนี้เรียบร้อยแล้ว
ทำให้นายนภาพล ลุกขึ้นโต้ว่า หากจะบอกว่ามีคณะกรรมาธิการฯ ศึกษาแล้ว ก็ควรให้คณะกรรมาธิการรายงานให้สมาชิกทราบก่อนจะเข้าญัตตินี้ ถ้าเราทราบก่อน สมาชิกอาจจะเห็นด้วยก็ได้ แต่ถ้าให้รายงานในญัตติ ไม่เห็นด้วย ประธานสภากทม.จึงชี้แจงว่า ตนให้ผู้ว่ากทม.ชี้แจงก่อน แล้วให้คณะกรรมาธิการฯอ่านรายงาน จะได้รายงานตรงกัน และครบถ้วนทั้ง 2 ส่วน และผู้ว่าฯก็ย้ำแล้วว่า ไม่ได้ขอให้มีการลงมติใดๆ และในเรื่องที่ผู้ว่าฯ ก็มีส่วนที่จะขอความเห็น สภากทม. ด้วย
ทำให้นายพุทธิพัชร์ ธันยาธรรมนนท์ ส.ก.ยานนาวา พรรคก้าวไกล ลุกขึ้นตอบโต้ว่า เข้าใจการปรึกษาหารือ แต่ขอให้เปิดข้อบังคับ การประชุมสภากรุงเทพมหานคร 2562 ข้อที่ 28 พิจารณาก่อน โดยในข้อที่ 28 ระบุว่า การประชุมสภาต้องดำเนินการระเบียบวาระการประชุม เว้นแต่ที่ประชุมจะลงมติเป็นอื่น วรรคที่ 2 การประชุมปรึกษาหรือพิจารณาในสภา ต้องเป็นกิจการที่เกี่ยวกับอำนาจและหน้าที่ของสภาห้ามมิให้ปรึกษาพิจารณาในเลือดนอกหน้าที่และอำนาจ อยากให้ลองดูดีๆ
พุทธิพัชร์ ธันยาธรรมนนท์ ส.ก.ยานนาวา พรรคก้าวไกล
นภาพล จีระกุล ส.ก.บางกอกน้อย พรรคประชาธิปัตย์
@ถอนวาระสายสีเขียว
ซึ่งนายวิรัตน์ ได้ชี้แจงอีกว่า สภากทม.ชุดที่แล้วมีมติรับญัตติของฝ่ายบริหาร หารือเรื่องนี้หลายครั้งแล้ว และคณะกรรมาธิการฯก็ดูเรื่องอำนาจหน้าที่ส่วนหนึ่งแล้ว ซึ่งนายวิรัช ส.ก.บางกอกใหญ่ ยืนยันว่าให้ผู้ว่ากทม.ถอนเรื่องนี้ออก โดยในท้ายที่สุด ประธานสภากทม.วินิจฉัยให้นายัชชาติถอนวาระพิจารรารถไฟฟ้าสายสีเขียวออกในที่สุด
อ่านประกอบ
‘ชัชชาติ’ ประกาศไม่ต่อสัมปทานสายสีเขียว เสนอรัฐบาลอุดหนุนค่าก่อสร้าง 5.8 หมื่นล้าน
‘ชัชชาติ’ ลุ้น สภากทม. เคาะค่าโดยสาร ส่วนต่อขยายสายสีเขียว 26 ต.ค.นี้
ศาลสั่ง ‘กทม.-เคที’ จ่าย 1.1 หมื่นล้าน ปมค้างค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว
เจาะคำพิพากษาศาลปกครองกลาง เกาะติดท่าที 'กทม.-เคที'อุทธรณ์คดีค่าเดินรถ'สายสีเขียว'
เบื้องหลัง 2 แนวคิดเก็บค่าตั๋วส่วนต่อขยาย‘สายสีเขียว’คั้นรายได้ 2.6 พันล.โปะหนี้ BTSC
2 สัญญา 3.5 แสนล.! ย้อนดูค่าจ้าง เดินรถ'สายสีเขียว'ส่วนต่อขยาย ก่อน'เคที'จ่อรื้อใหม่
ISRA WHY? : ‘ธงทอง จันทรางศุ’แม่ทัพ'กรุงเทพธนาคม'ภารกิจสุดขอบฟ้า ล้างหลุมดำ กทม.
แก้จ้างเดินรถ BTS ชัดเจนปีนี้ ‘ธงทอง’เคลียร์ส่วนต่อขยาย 1-2
ไม่เกินส.ค.นี้เสนอสภากทม.เคาะค่าโดยสารสายสีเขียว ถอดรายได้ 2 สูตรจ่ายค่าเดินรถ