‘กรุงเทพธนาคม’ สู้ ‘BTSC’ ปมถูกฟ้องร้องเรียกค่าจ้างเดินรถอีกคดี วงเงิน 10,600 ล้านบาท เผย 5 ประเด็นสู้กลับ มั่นใจศาลจะได้ข้อมูลครบถ้วน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 16 มกราคม 2566 นายธงทอง จันทรางศุ ประธานคณะกรรมการ บจ.กรุงเทพธนาคม (เคที) เปิดเผยสำนักข่าวอิศราว่า หลังจากที่ได้อุทธรณ์ศาลปกครองสูงสุด ในคดีที่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า BTS ยื่นฟ้องกรุงเทพมหานคร (กทม.) และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) กรณีผิดสัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เพื่อขอให้ชำระหนี้ ประกอบด้วย ค่าจ้างบริการเดินรถและซ่อมบำรุง 2,731 ล้านบาท, ดอกเบี้ยในอัตราที่กำหนดตามสัญญาของเงินต้น 2,581 ล้านบาท, ค่าจ้างเดินรถช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคตและแบริ่ง - สมุทรปราการ (ส่วนต่อขยายที่ 2) 9,406 ล้านบาท, อัตราดอกเบี้ยส่วนต่อขยายช่วงหมอชิต - คูคต ของเงินต้น 3,255 ล้านบาท และดอกเบี้ยส่วนต่อขยายช่วงสำโรง - สมุทรปราการ ของเงินต้น 5,531 ล้านบาท เมื่อต้นเดือนตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา
ล่าสุด ได้รับทราบว่า บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ได้ยื่นฟ้องศาลปกครองเรียกค่าจ้างเดินรถรถไฟฟ้าสายสีเขียวในช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต และช่วงแบริ่ง - เคหะสมุทรปราการ หรือส่วนต่อขยายที่ 2 เพิ่มเติมอีกประมาณ 10,600 ล้านบาท โดยการฟ้องร้องกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นจำเลยที่ 1 และกรุงเทพธนาคม จำเลยที่ 2 ครั้งนี้นับเป็นคดีใหม่ แต่อยู่ในประเด็นที่เคยฟ้องร้องมาแล้ว
ธงทอง จันทรางศุ ประธานคณะกรรมการ บจ.กรุงเทพธนาคม (เคที)
ดังนั้น ทางกรุงเทพธนาคมจึงได้ทำคำชี้แจงถึงศาลปกครองกลาง ดังนี้
1. สัญญาระหว่างกรุงเทพธนาคม กับ BTSC นั้น นำมาสู่ข้อพิพาทระหว่างบริษัทเอกชนด้วยกัน ไม่ได้มีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครอง จึงไม่อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง
2. กรุงเทพธนาคม ไม่มีอำนาจเข้าทำสัญญาว่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง เพราะตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 58 ลงวันที่ 25 ม.ค.2515 ในข้อ 4 ให้กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับกิจการรถราง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เท่านั้น เป็นผู้มีอำนาจพิจารณาอนุญาตให้บุคคลใดประกอบกิจการได้ ทั้งนี้กรุงเทพธนาคมก็ไม่เคยได้รับการอนุญาตจากัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
3. สัญญาจ้างที่กรุงเทพธนามคม กระทำกับ BTSC เป็นสัญญาที่ไม่ชอบ เพราะจงใจจัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์แห่งสัญญาที่ฝ่าฝืนมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขัดต่อกฎหมายหลายฉบับ อาทิเช่น ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องการพัสดุฯ เรื่องการงบประมาณ ตลอดจนพ.ร.บ.ร่วมทุน ซึ่งตามหลักกฎหมายนั้น ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน กล่าวคือกรุงเทพธนาคมไม่มีอำนาจนำเอางานที่รับจ้างกรุงเทพมหานคร (กทม.) ไปทำสัญญาจ้างกับบุคคลอื่นตามอำเภอใจได้
4. การที่กรุงเทพธนาคม ไปทำสัญญาว่าจ้าง BTSC ให้เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวโดยตรง โดยไม่ได้เปิดโอกาสให้เอกชนรายอื่นที่อาจเสนอตัวเข้าร่วมโครงการ ย่อมส่งผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะและขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนอีกด้วย สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาที่ไม่ชอบ
5. การฟ้องคดีของ BTSC ในคดีนี้ เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เพราะ BTSC ทราบดีอยู่แล้วว่า กรุงเทพธนาคม ไม่สามารถดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 และ 2 ได้ด้วยตนเอง แต่ BTSC ยังสมัครใจเข้าทำสัญญากับกรุงเทพธนาคม ซึ่งไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะเข้าทำสัญญาได้ แล้วจึงกลับมาฟ้องบริษัท กรุงเทพธนาคม เป็นคดีนี้ ถือเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
ด้านนายยประแสง มงคลศิริ กรรมการผู้อำนวยการบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เปิดเผยด้วยว่า คำให้การในคดีที่ 2 นี้ มีความสมบูรณ์กว่าในคดีแรก ซึ่งศาลได้ปิดสำนวนไปในช่วงที่ผู้บริหารกรุงเทพธนาคมชุดนี้เข้ามาทำหน้าที่เร่งหาข้อเท็จจริงเพียง 2 เดือน ซึ่งก็เป็นไปตามคาดการณ์ว่า BTSC จะฟ้องคดีใหม่มาอีก จึงได้ตั้งคณะทำงานตรวจสอบเอกสาร รวบรวมข้อเท็จจริงเชิงลึกโครงการกว่า 30 ปี ตลอดจนข้อกฎหมายที่รอบด้านกว่าคดีแรกอย่างมีนัยสำคัญ
“ดังนั้นเราจึงเชื่อมั่นว่าศาลท่านจะมีข้อเท็จจริงครบถ้วนมากขึ้น ในการพิจารณาคดี ที่ 2 นี้ ส่วนผลคดีจะเป็นอย่างไรนั้น อยู่ที่อำนาจของศาล” นายประแสง กล่าวย้ำด้วยความมั่นใจ
อ่านประกอบ
- ‘ชัชชาติ’ รับ ‘กทม.’แบกภาระขาดทุนเดินรถไฟฟ้า‘สายสีเขียว’ ช่วงปี 73-84 รวม 8.57 หมื่นล.
- มีเงินสะสม7หมื่นล.! กทม.พร้อมจ่ายหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว แต่ต้องรอผ่านสภากรุงเทพฯ ก่อน
- ‘ชัชชาติ’ ส่งความเห็น ‘สายสีเขียว’ ถึง ‘มหาดไทย’ แล้ว ลุ้นครม.พิจารณา
- กทม.ส่งความเห็น ‘มหาดไทย’ ปมสายสีเขียว สัปดาห์หน้า
- ‘ชัชชาติ’ รับมติสภากทม. ศึกษา ‘สายสีเขียว’ เก็บค่าโดยสารส่วน 2 เลื่อนไม่มีกำหนด
- สภากทม.คว่ำ ‘ญัตติ’ รถไฟฟ้าสายสีเขียว ตีความ คำสั่งม.44 ไม่ให้อำนาจ กทม.-ส.ก.พิจารณา
- ‘ชัชชาติ’ ประกาศไม่ต่อสัมปทานสายสีเขียว เสนอรัฐบาลอุดหนุนค่าก่อสร้าง 5.8 หมื่นล้าน
- ‘ชัชชาติ’ ลุ้น สภากทม. เคาะค่าโดยสาร ส่วนต่อขยายสายสีเขียว 26 ต.ค.นี้
- ศาลสั่ง ‘กทม.-เคที’ จ่าย 1.1 หมื่นล้าน ปมค้างค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว
- เจาะคำพิพากษาศาลปกครองกลาง เกาะติดท่าที 'กทม.-เคที'อุทธรณ์คดีค่าเดินรถ'สายสีเขียว'
- เบื้องหลัง 2 แนวคิดเก็บค่าตั๋วส่วนต่อขยาย‘สายสีเขียว’คั้นรายได้ 2.6 พันล.โปะหนี้ BTSC
- 2 สัญญา 3.5 แสนล.! ย้อนดูค่าจ้าง เดินรถ'สายสีเขียว'ส่วนต่อขยาย ก่อน'เคที'จ่อรื้อใหม่
- ISRA WHY? : ‘ธงทอง จันทรางศุ’แม่ทัพ'กรุงเทพธนาคม'ภารกิจสุดขอบฟ้า ล้างหลุมดำ กทม.
- แก้จ้างเดินรถ BTS ชัดเจนปีนี้ ‘ธงทอง’เคลียร์ส่วนต่อขยาย 1-2
- ไม่เกินส.ค.นี้เสนอสภากทม.เคาะค่าโดยสารสายสีเขียว ถอดรายได้ 2 สูตรจ่ายค่าเดินรถ
- กทม.ขอ 2 เดือน เคลียร์โอนหนี้สายสีเขียว เผยยอดหนี้ ‘หมอชิต-คูคต’พุ่ง 5.4 หมื่นล้าน