เปิดใจ ‘ธงทอง จันทรางศุ’ ปธ.บอร์ดกรุงเทพธนาคม โฟกัสปัญหาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว รับแก้ส่วนต่อขยาย 1-2 สางปมค่าจ้างเดินรถ นัด BTSC เจรจาครั้งแรกภายในเดือนก.ค.นี้ มองอาจต้องจ้างที่ปรึกษาดูโครงสร้างราคาใหม่ทั้งหมด พร้อมถามป.ป.ช.อัปเดตคดี ขณะที่ส่วนต่อขยายที่ 2 โยนกทม.ดูเรื่องโอนหนี้ รฟม. พร้อมเจรจาเอกชนเรื่องทวงหนี้ 3.8 หมื่นล้าน วางกรอบสิ้นปีต้องเห็นทางออก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 6 กรกฎาคม 2565 นายธงทอง จันทรางศุ ประธาน บจ.กรุงเทพธนาคม (เคที) ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ ‘สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org)’ ตอนหนึ่งว่า ประเด็นรถไฟฟ้าสายสีเขียวหลังจากได้ประชุมบอร์ดกรุงเทพธนาคม 2 ครั้งที่ผ่่านมา รวมถึงการได้หารือกับคณะผู้บริหารกทม.คือ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) และนายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่ากทม. คิดว่า มีความชัดเจนในการทำงานเบื้องต้นว่า จะต้องแบ่งหน้าที่และต้องทำงานในลักษณะคู่ขนานกันไประหว่างกรุงเทพฯและกรุงเทพธนาคม
ลักษณะทั่วไปโครงการนี้มีทั้งหมด 3 ส่วนประกอบด้วย ส่วนที่ 1 สัญญาสัมปทานหลักช่วงหมอชิต - อ่อนนุช และสนามกีฬาแห่งชาติ - สะพานตากสิน หรือที่รู้จักกันดีในนามสัญญาสัมปทานไข่แดง ในส่วนนี้ไม่มีความจำเป็นต้องทำอะไร เพราะเป็นสิ่งที่ กทม. ทำสัญญาสัมปทานกับ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) โดยตรง และยังมีอายุสัญญาเหลืออยู่ถึงปี 2572 จึงยังต้องเดินตามสัญญาที่ทำไว้ต่อไป
จ่อคุย BTSC เจรจา-จ้างที่ปรึกษาดูโครงสร้างสัญญาจ้างเดินรถ
แต่สิ่งที่กรุงเทพธนาคมจะต้องเข้าไปดูก็คือ ส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงบางจาก - แบริ่ง และกรุงธนบุรี - บางหว้า ส่วนนี้ กทม. เป็นผู้ลงทุนก่อสร้างทั้งหมด แต่มีปัญหาเรื่องการจ้าง BTSC เป็นผู้เดินรถ ซึ่งสัญญาจัดทำในปี 2555 สมัย ม.ร.ว. สุขุมพันธ์ บริพัตร เป็นผู้ว่ากทม. ไปสิ้นสุดในปี 2585 ยอมรับว่า เป้าหมายการแก้ไขสัญญาเพื่อให้ร่นระยะเวลาจากปี 2585 เหลือถึงปี 2572 ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ค่าใช้จ่ายในการเดินรถ ส่วนตัวคิดว่าควรที่จะต้องทบทวนได้แล้ว เพราะจาก 10 ปีที่ผ่านมามีการพบว่าตัวแปรบางอย่างเปลี่ยนไป โดยมีทั้งตัวแปรที่ดีและแย่ลง ซึ่งควรจะต้องเชิญ BTSC มาคุยกัน โดยอยู่ระหว่างประสานงานติดต่อกัน คาดว่าภายในเดือนกรกฎาคมนี้ น่าจะเริ่มเจรจากันได้
“ผมคิดว่าเรื่องนี้ ต้องเอาข้อมูลเดิมเมื่อปี 2555 มาดูว่าในขณะนั้นทำสัญญาบนสมมติฐานอะไร แล้วปัจจุบันสมมติฐานเหล่านั้นยังเป็นแบบเดิมหรือไม่ หรือมีบางอย่างเปลี่ยนแปลงไป สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องฝันเองเห็นเอง ผมว่าเราต้องทำการบ้านกันพอสมควร แต่อย่างน้อยต้องเปิดพื้นที่เปิดโอกาสให้พูดคุยกัน ” นายธงทองกล่าว
ทั้งนี้ การเจรจาพูดคุยกับ BTSC อาจไม่ใช่แค่การพูดคุยเพียง 1-2 สัปดาห์ก็แล้วเสร็จ อาจจะต้องมีการจ้างที่ปรึกษาในการศึกษารูปแบบโครงการใหม่ ซึ่งคาดว่าทาง BTSC ก็คงมีการเตรียมความพร้อมในการจัดจ้างที่ปรึกษาไว้ด้วยเช่นกัน ซึ่งปลายทางของการเจรจากันคือ จะต้องได้ค่าจ้างเดินรถที่เป็นปัจจุบันที่สุดคือ ต้องลดลง ส่วนเรื่องการกำหนดค่าโดยสาร ไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของกรุงเทพธนาคม เป็นเรื่องของกทม.ตัดสินใจ
“อย่างน้อยก็ต้องตั้งต้นเรื่องการพูดคุยกันให้ได้ แล้วจึงเปิดประเด็นเรื่องของค่าใช้จ่ายในการเดินรถที่น่าจะต้องมีการทบทวน จากนั้นจึงเป็นการตั้งที่ปรึกษากัน ส่วนสุดท้ายเอกชนจะยอมแก้สัญญาเพื่อลดค่าจ้างเดินรถหรือไม่นั้น ก็ต้องไปถามทางเอกชน ขณะเดียวกันหากเอกชนมีตัวเลขหรือผลการศึกษาที่ไม่เหมือนกับทางเรา เราก็พร้อมรับฟังและแลกเปลี่ยนกันได้” นายธงทองกล่าวตอนหนึ่ง
เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียวในปัจจุบัน
จ่อส่งหนังสือแจ้ง ป.ป.ช. 2 ประเด็น
เมื่อถามถึงกรณีที่สัญญาจ้างเดินรถ 30 ปี มีการ้องไปที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายธงทองระบุว่า จะมีหนังสือไปถึง ป.ป.ช. เพื่อแจ้งใน 2 ประเด็นคือ 1. กรุงเทพธนาคมยินดีให้ความร่วมมือและให้ข้อมูลในการตอบคำถามต่างๆ และ 2. ขอให้ ป.ป.ช. แจ้งความคืบหน้าการพิจารณาประเด็นนี้ว่ามีความคืบหน้า หรือจะมีผลอย่างไร ส่วนสัญญาจ้างเดินรถจะกลายเป็นสัญญาที่กระทำโดยมิชอบหรือไม่ คงต้องรอการชี้มูลของ ป.ป.ช. ก่อน แล้วค่อยมาดูผลจากนั้นกัน
“หากผลการวินิจฉัยของ ป.ป.ช. ออกมาในระหว่างที่เราเจรจากัน ก็อาจจะมีผล แต่หากเราคุยจบแล้่ว แล้วอีก 5 ปีต่อมา ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด เราก็ไม่คอย หากคอยป.ป.ช.ก่อน แล้วค่อยคุยมันก็ไม่ได้สิ” นายธงทองกล่าว
ส่วนต่อขยายที่ 2 ไม่ผ่าน สภากทม.
นายธงทองกล่าวต่อว่า สำหรับส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงแบริ่ง - เคหะสมุทรปราการ และช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต ในส่วนนี้จะเกี่ยวข้องกับ กทม. เป็นส่วนใหญ่ ประเด็นสำคัญคือ กระบวนการพิจารณาที่ยังไม่ผ่านการพิจารณาของสภากรุงเทพมหานคร (สภากทม.) ทาง กทม. ต้องไปหาทางทำให้ถูกต้อง เพราะส่วนต่อขยายส่วนนี้ เป็นไปในลักษณะมอบหมายงานให้เป็นตัวแทน กทม. ไปทำแทน แต่ไม่ได้มอบในลักษณะเป็นคำสั่ง เพราะ กรุงเทพธนาคม มีสถานะเป็นบริษัทจำกัด ไม่ได้เป็นหน่วยงานแบบส่วนราชการภายใต้ กทม.
โอนหนี้ รฟม. โอนกทม.ดู - เจรจาคดีค้างจ่ายเดินรถ 3.8 หมื่นล้าน
และมีประเด็นเกี่ยวเนื่องกันอีกคือ การจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต (ไม่รวมอาคารจอดแล้วจร) ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) รวมถึงเป็นผู้บริหารจัดการเดินรถ ซึ่งมติครม.เมื่อปี 2561 ระบุว่า มีภาระค่าใช้จ่ายเป็นเงิน 51,785.37 ล้านบาทนั้น นายธงทองกล่าวว่า เรื่องนี้เป็นของกทม.และรฟม.ต้องไปเคลียร์กันเอง ไม่เกี่ยวกับกรุงเทพธนาคม และอาจจะต้องหารือกันในระดับนโยบาย ซึ่งหมายถึงการหารือกับรัฐบาลด้วย ซึ่งประเด็นนี้นายชัชชาติรับการบ้านไปแล้ว
เมื่อถามว่า กรณีหนี้สะสมที่ กทม. มีต่อ BTSC ตั้งแต่เดือน เม.ย.2560 ถึงปัจจุบัน จนมูลหนี้อยู่ที่ 38,000 ล้านบาทแล้วนั้น นายธงทองกล่าวว่า ก็ต้องเจรจากันก่อน แต่ยังไม่รู้ว่าตัวเลขปัจจุบันหนี้ขึ้นไปเท่าไหร่แล้ว ส่วนการขอทุเลากับศาลปกครอง คงยังไม่ทำไม่ได้ตอนนี้ เพราะศาลปกครองจะต้องมีคำพิพากษาสั่งให้กระทำอย่างใดอย่างหนึ่งก่อน จึงจะไปขอทุเลาคำสั่งได้
อย่างไรก็ตาม จะต้องตรวจสอบคำให้การแก้ฟ้องของคณะกรรมการชุดเดิม ก็ต้องพิจารณาและเอาสิ่งนี้มาว่ากัน ส่วนการที่คณะผู้บริหาร กทม. ชุดที่แล้วไม่ดำเนินการเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยายที่ 2 จนทำให้เกิดหนี้สะสม ถือว่าทำให้เสียหายหรือไม่ เบื้องต้น เป็นประเด็นของกทม. เพราะกรุงเทพธนาคมเป็นผู้รับค่าโดยสารจากประชาชน มาส่งให้กทม.เท่านั้น ทุกอย่างทำด้วยอำนาจทางกฎหมาย ทีนี้ หากให้วิเคราะห์ว่า ทำไมผู้ว่ากทม.ยุคก่อน ถึงไม่เก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยายที่ 2 เสียที อาจจะเพราะความรับผิดชอบทางการเมืองก็ได้ แต่ในทางกฎหมาย ก็ต้องไปดูให้ถี่ถ้วน หากกระบวนการถูกต้องและทำภายใต้อำนาจที่มี ก็ไปว่าอะไรไม่ได้
ส่วนปลายทางของส่วนต่อขยายที่ 2 จะนำไปสู่การโอนกลับไปให้ รฟม. และกระทรวงคมนาคม ดูแลหรือไม่นั้น นายธงทองตอบว่า เป็นเรื่องของ กทม. ต้องไปถามนายชัชชาติ ส่วนตัวพยายามจำกัดบทบาทของกรุงเทพธนาคมว่าหน้าที่แค่ไหน การเจรจากับรัฐบาลเป็นเรื่องของ กทม.
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่า กทม. ประชุมร่วมกับคณะกรรมการกรุงเทพธนาคม (เคที) เพื่อหารือกรณีรถไฟฟ้าสายสีเขียว เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2565 ที่ผ่านมา
วางจบปีนี้
ผู้สื่อข่าวถามในช่วงท้ายว่า ประเด็นปัญหาส่วนต่อขยายทั้ง 2 ช่วงจะสามารถจบได้ภายในปี 2565 นี้หรือไม่ นายธงทองตอบว่า หวังว่าการเจรจาในส่วนค่าจ้างเดินรถน่าจะมีความคืบหน้าที่พอเห็นเค้าลาง แต่จะให้จบแน่ คงไม่ง่ายขนาดนั้น วงเงินโครงการเป็นหมื่นล้านบาท ไม่ใช่ค่าจ่ายกับข้าว แต่คิดว่าภายในปีนี้น่าจะเห็นแนวทางว่าจะไปทางไหน ส่วนการแก้ปัญหาค่าจ้างเดินรถจะนำไปสู่การลดค่าโดยสารหรือไม่ ก็น่าจะมีผล เพราะค่าจ้างเดินรถสัมพันธ์กับค่าโดยสารอยู่แล้ว