‘ชาญชัย อิสระเสนารักษ์’ ติง กทม.-KT กรณีค่าจ้างเดินรถสายสีเขียว อ้างสัญญาไม่เป็นธรรมแล้วจะไม่จ่ายหนี้ไม่ได้ ยกกรณีคลองด่าน ศาลทำบรรทัดฐานไว้ชัด ต้องทำตาม
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 20 มกราคม 2566 นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต ส.ส.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ให้สัมภาษณ์ และมีการเปิดเผยในเว็บไซต์กรุงเทพธนาคมว่า ศาลปกครองกลางได้มีคำตัดสินให้ กทม. และ KT (บจ.กรุงเทพธนาคม) ชดใช้ค่าเสียหายจากสัญญาว่าจ้างระหว่าง BTS กับ กทม. และ BTS ได้ฟ้องกทม. และ KT ให้ชำระหนี้ค่าเดินรถเพิ่มเติมเป็นคดีที่ 2 อีกเป็นเงิน 10,600 ล้านบาท โดย กทม. และ KT ได้ทำคำให้การ ต่อศาลปกครองในคดีที่ 2 ของ BTS จำนวน 5 ประเด็น
โดยมีประเด็นหนึ่งที่ KT อ้างว่าทั้งหมดเป็นเรื่องของการได้สัญญามาโดยมิชอบ และมีการกล่าวว่า BTS ไม่สุจริตตั้งแต่เข้าทำสัญญาและฟ้องคดีโดยใช้สิทธิไม่สุจริต นอกจากนี้ ยังมีการอ้างถึงเขตอำนาจของศาลปกครองว่าไม่มีอำนาจในการพิจารณาคดี เนื่องจากคดีดังกล่าวเป็นเรื่องระหว่างเอกชนต่อเอกชน
ในขณะที่ผู้ว่า กทม. ได้ให้สัมภาษณ์ยอมรับว่าข้อต่อสู้ดังกล่าวเป็นแนวทางการต่อสู้คดีของ KT ซึ่ง กทม. เองก็อยู่ระหว่างการจัดทำคำให้การแก้ข้อกล่าวหาว่าสัญญากับ BTS ทำไม่ต้องถูกตามขั้นตอน และ กทม. จะไม่เก็บค่าโดยสารสำหรับการให้บริการเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 2 จนกว่าจะมีความชัดเจนว่าสัญญาถูกต้อง
@ยกคลองด่านเป็นกรณีศึกษา
นายชาญชัยเห็นว่า เป็นเรื่องที่น่าตกใจมากว่าทำไม กทม. และ KT ถึงกล้านำข้อต่อสู้ที่ตนเองเห็นว่าสัญญาไม่ชอบด้วยกฎหมายมาเป็นเหตุในการปฏิเสธชำระหนี้และปล่อยให้รัฐต้องแบกรับดอกเบี้ยที่ค้างชำระในระหว่างที่พิพาทกันมากยิ่งขึ้นไปอีก เพราะกรณีเช่นเดียวกัน ศาลปกครองสูงสุดในคดีคลองด่านพิพากษาไว้เป็นบรรทัดฐานว่า แม้จะมีประเด็นคดีความเรื่องการทำผิดกฎหมายอาญาค้างอยู่ในศาล แต่หากยังไม่มีคำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุดว่ามีการทุจริต สัญญาตกเป็นโมฆะหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย หนี้ตามสัญญาดังกล่าวยังสามารถบังคับกันได้อยู่
เมื่อเอกชนได้ทำงานตามสัญญาแล้ว รัฐก็ต้องชำระหนี้ตามสัญญาพิพาท หากจะกล่าวอ้างว่าสัญญาไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ที่จะมาตัดสินไม่ใช่หน่วยงานของรัฐที่เป็นคู่กรณี แต่เป็นเรื่องของศาลใดศาลหนึ่ง ซึ่งต่อมาศาลปกครองสูงสุดก็ได้ยืนยันหลักการเดียวกันกับคดีคลองด่าน ในคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดเลขที่ อ. 356/2565 ว่าหน่วยงานของรัฐมีหน้าที่ต้องชำระเงินตามสัญญาให้กับเอกชน ถ้าเอกชนได้ปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องแล้ว ตราบใดที่ศาลยังไม่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าสัญญาตกเป็นโมฆะ
ดังนั้น การที่ กทม. และ KT พึงรู้อยู่แล้วว่าหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารสัญญาภาครัฐจะเป็นไปตามแนวทางคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ที่ภาครัฐยังคงต้องชำระหนี้ให้แก่เอกชน ถ้าเอกชนได้ชำระหนี้ถูกต้องแล้ว จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าสัญญาไม่ถูกต้อง แต่ กทม. และ KT กลับจงใจประวิงเวลาโดยอ้างเพียงความเห็นหน่วยงานว่าสัญญาไม่ถูกต้องซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักการของศาลปกครองสูงสุด ทำให้รัฐต้องรับภาระดอกเบี้ยเพิ่มเติม ในขณะที่อีกด้านหนึ่งก็ยังคงให้เอกชนเดินรถต่อไปทั้งที่ตัวเองเห็นว่าสัญญาไม่ถูกต้อง จึงเห็นได้ว่าการกล่าวอ้างดังกล่าวเป็นการกล่าวอ้างโดยไม่สุจริตและทำให้รัฐเสียหาย ซึ่งอาจจะเข้าข่ายกระทำความผิดตามมาตรา 157 ประมวลกฎหมายอาญา
“เรื่องนี้ในการที่จะไปเบี้ยวเอกชน ที่จะไม่จ่ายค่าจ้าง แล้วไปอ้างข้อกฎหมายให้กับศาลปกครองสูงสุด เป็นเรื่องที่น่าศึกษาและติดตาม แต่เป็นเรื่องที่น่าตกใจมากที่ กทม. และ KT ผิดพลาดได้ขนาดนี้ ในการยกเอาเหตุดังกล่าวขึ้นมาอ้างกับศาลปกครองสูงสุด โดยที่บรรทัดฐานการตัดสินคดีสัญญาภาครัฐก็ไม่ได้เป็นไปตามแนวทางนั้น และไม่มีหลักฐานใดยืนยันว่าสิ่งที่ตัวตนอ้างนั้นเป็นความจริง นอกจากนี้ ในข้อกล่าวอ้างของ KT ที่ว่าสัญญาไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะไม่ได้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมลงทุน ก็ได้ต่อสู้โดยขัดแย้งกับอดีตที่คณะกรรมการกฤษฎีกา หรือหน่วยงานรัฐ ฝ่ายกฎหมายได้วินิจฉัยว่าการกระทำดังกล่าวไม่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมลงทุน ดังที่กล่าวอ้าง ซึ่งเป็นเรื่องที่ กทม. และ KT เอง ก็ทราบดี แต่กลับยกเอาเหตุที่อ้างไปขัดกับข้อเท็จจริงที่เป็นลายลักษณ์อักษรที่ กทม. และ KT เคยทำเรื่องถามไป จากข้อกฎหมายและข้อมูลที่ศาลปกครองสูงสุดเคยคำพิพากษาดังกล่าว จึงอยากให้กรุงเทพมหานครสู้ให้ถูกทาง มิฉะนั้นโอกาสรัฐจะเสียดอกเบี้ยบาน ภาษีประชาชนจะเสียหายโดยความบกพร่องต่อหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐเอง" นายชาญชัยกล่าวในที่สุด
อ่านประกอบ
‘BTS’ โต้ ‘กรุงเทพธนาคม’ ขอให้รีบจ่ายค่าจ้างเดินรถสายสีเขียว ปัดรู้เห็นกระบวนการทำสัญญา
- ‘กรุงเทพธนาคม’ แจง ‘ศาลปกครอง’ โต้ BTSC ปมฟ้องร้องค่าจ้างเดินรถอีกหมื่นล้าน
- ‘ชัชชาติ’ รับ ‘กทม.’แบกภาระขาดทุนเดินรถไฟฟ้า‘สายสีเขียว’ ช่วงปี 73-84 รวม 8.57 หมื่นล.
- มีเงินสะสม7หมื่นล.! กทม.พร้อมจ่ายหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว แต่ต้องรอผ่านสภากรุงเทพฯ ก่อน
- ‘ชัชชาติ’ ส่งความเห็น ‘สายสีเขียว’ ถึง ‘มหาดไทย’ แล้ว ลุ้นครม.พิจารณา
- กทม.ส่งความเห็น ‘มหาดไทย’ ปมสายสีเขียว สัปดาห์หน้า
- ‘ชัชชาติ’ รับมติสภากทม. ศึกษา ‘สายสีเขียว’ เก็บค่าโดยสารส่วน 2 เลื่อนไม่มีกำหนด
- สภากทม.คว่ำ ‘ญัตติ’ รถไฟฟ้าสายสีเขียว ตีความ คำสั่งม.44 ไม่ให้อำนาจ กทม.-ส.ก.พิจารณา
- ‘ชัชชาติ’ ประกาศไม่ต่อสัมปทานสายสีเขียว เสนอรัฐบาลอุดหนุนค่าก่อสร้าง 5.8 หมื่นล้าน
- ‘ชัชชาติ’ ลุ้น สภากทม. เคาะค่าโดยสาร ส่วนต่อขยายสายสีเขียว 26 ต.ค.นี้
- ศาลสั่ง ‘กทม.-เคที’ จ่าย 1.1 หมื่นล้าน ปมค้างค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว
- เจาะคำพิพากษาศาลปกครองกลาง เกาะติดท่าที 'กทม.-เคที'อุทธรณ์คดีค่าเดินรถ'สายสีเขียว'
- เบื้องหลัง 2 แนวคิดเก็บค่าตั๋วส่วนต่อขยาย‘สายสีเขียว’คั้นรายได้ 2.6 พันล.โปะหนี้ BTSC
- 2 สัญญา 3.5 แสนล.! ย้อนดูค่าจ้าง เดินรถ'สายสีเขียว'ส่วนต่อขยาย ก่อน'เคที'จ่อรื้อใหม่
- ISRA WHY? : ‘ธงทอง จันทรางศุ’แม่ทัพ'กรุงเทพธนาคม'ภารกิจสุดขอบฟ้า ล้างหลุมดำ กทม.
- แก้จ้างเดินรถ BTS ชัดเจนปีนี้ ‘ธงทอง’เคลียร์ส่วนต่อขยาย 1-2
- ไม่เกินส.ค.นี้เสนอสภากทม.เคาะค่าโดยสารสายสีเขียว ถอดรายได้ 2 สูตรจ่ายค่าเดินรถ
- กทม.ขอ 2 เดือน เคลียร์โอนหนี้สายสีเขียว เผยยอดหนี้ ‘หมอชิต-คูคต’พุ่ง 5.4 หมื่นล้าน