"...เมื่อคำนวณค่าโดยสารส่วนต่อขยายที่ 2 คาดว่า กทม.จะมีรายได้จากการเดินรถช่วงนี้ประมาณ 2,600 ล้านบาท/ปี ซึ่งปัจจุบันส่วนต่อขยายที่ 2 มีผู้โดยสารเฉลี่ย 300,000 เที่ยวคน/วัน แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะใช้หนี้เดินรถที่ บจ.กรุงเทพธนาคม (เคที) จ้าง บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) จำนวน 18,000 ล้านบาท ซึ่งก็ต้องเจรจากับ BTSC ต่อไปว่า หากจะชำระไปก่อนบางส่วนจะยินยอมหรือไม่..."
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 15 ส.ค.2565 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯกทม.) เปิดเผยความคืบหน้าการพิจารณา จัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอสส่วนต่อขยายส่วนที่ 2 คือ แบริ่ง-เคหะสมุทรปราการ และ ห้าแยกลาดพร้าว-คูคต ที่จะเริ่มดำเนินการในเดือน ก.ย.นี้
นายชัชชาติ บอกว่าขณะนี้มี 2 แนวคิดที่อยู่ระหว่างพิจารณา ดังนี้
1.เก็บส่วนต่อขยาย 15 บาทตลอดสาย
2.เก็บตามระยะทาง ผ่านสูตร 14 + 2x และเมื่อเข้ามาในระบบที่เรียกว่าไข่แดง ก็จะเสียในอัตราของในเมือง
เบื้องหลังแนวคิดเหล่านี้มีที่มาที่ไป สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ประมวลข้อมูลมานำเสนอ ดังนี้
สำหรับส่วนขยายที่ 2 ที่ยังไม่สะเด็ดน้ำนี้ ในสมัยผู้ว่าฯ กทม. ‘พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง’ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงการมอบหมายให้ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เป็นผู้บริหารจัดการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว (ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วง แบริ่ง-สมุทรปราการ) เมื่อวันที่ 28 ก.ค.2559
ต่อมา บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ทำสัญญาว่าจ้าง BTSC เป็นผู้ให้บริการ ‘เดินรถและซ่อมบำรุง’ รถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 เป็นระยะเวลา 25 ปี หรือตั้งแต่ปี 2560-2580 ปรากฏวงเงินค่าใช้จ่ายในการว่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง เป็นวงเงิน 161,054.8 ล้านบาท
ซึ่งการไปดำเนินการจ้างต่อ โดยที่โครงการยังไม่ได้รับมอบกรรมสิทธิ์อย่างเป็นทางการจะมีปัญหาอื่นใดตามมาอีกหรือไม่? ก็คงต้องตามกันต่อไป
- 2 สัญญา 3.5 แสนล.! ย้อนดูค่าจ้าง เดินรถ'สายสีเขียว'ส่วนต่อขยาย ก่อน'เคที'จ่อรื้อใหม่
- แก้จ้างเดินรถ BTS ชัดเจนปีนี้ ‘ธงทอง’เคลียร์ส่วนต่อขยาย 1-2
- ISRA WHY? : ‘ธงทอง จันทรางศุ’แม่ทัพ'กรุงเทพธนาคม'ภารกิจสุดขอบฟ้า ล้างหลุมดำ กทม.
TDRI ชงสูตรเริ่มต้น 14 บาท
นายสุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัย ด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เปิดเผยว่า หนึ่งในสูตรคำนวณการจัดเก็บค่าโดยสารมาที่มาจาก TDRI หลังจากวันที่ 17 มิ.ย.ที่ผ่านมา นายชัชชาตินำคณะมาหารือและรับฟังความเห็นของทาง TDRI เพื่อนำไปปรับใช้
รูปแบบที่เสนอไปยังนายชัชชาติ คือ เป็นลักษณะเดียวกันกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) คือ มีค่าแรกเข้า 14 บาท บวกค่าโดยสารตามระยะทางที่ 2-3 บาทต่อสถานี ส่วน กทม.จะเอาตามข้อเสนอนี้หรือไม่ ก็คงแล้วแต่ กทม.
ขณะที่ผู้บริหารบางส่วนของ กทม.เห็นควรจัดเก็บค่าโดยสารที่ 15 บาทตลอดสายในส่วนต่อขยายดังกล่าว นายสุเมธ มีความเห็นว่า เป็นราคาที่ดีกับประชาชน แต่เนื่องจากส่วนต่อขยายที่ 2 มีระยะทางค่อนข้างยาว 10 สถานี หรือระยะทางประมาณ 8-9 กิโลเมตร (กม.) การเก็บ 15 บาทตลอดสายจะมีปัญหา เพราะอาจจะถูกเกินไป
โดยเมื่อเทียบกับระบบขนส่งประเภทอื่น เช่น รถแท็กซี่ ค่าโดยสารอยู่ที่ 70-80 บาท , รถประจำทางอยู่ที่ 16-17 บาท ซึ่งจะมีประเด็นด้านการแข่งขันเพิ่มเข้ามาด้วย นายสุเมธ ประเมินว่าดังนั้นการคิดค่าโดยสารตามระยะทางน่าจะเหมาะสมที่สุด
อย่างไรก็ตาม ยังมีแนวคิดเพิ่มเติมอีกว่า ไม่ว่าสูตรคำนวณจะเป็นอย่างไร ค่าโดยสารทั้งโครงข่ายรถไฟฟ้าสายนี้ ควรมีราคาไม่เกิน 59 บาท เพราะน้อยมากที่จะมีคนเดินทางจากต้นทางไปปลายทาง
นายสุเมธ ยังเปิดเผยด้วยว่า การแบ่งรายได้จากค่าโดยสารให้เอกชน ยังไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ เพราะในสัญญาสัมปทานส่วนหลักที่จะหมดอายุปี 2572 ระบุชัดเจนว่า เอกชนจะได้รับค่าโดยสารสูงสุดที่ 44 บาท เมื่อเดินทางออกมานอกสายหลักก็ถือเป็นรายได้ของ กทม. แต่หากจะเก็บรายได้แล้วนำไปใช้หนี้เอกชนเรื่องจ้างเดินรถอย่างไรก็เป็นคนละเรื่องกัน ดังนั้น การจัดเก็บค่าโดยสารที่แนะนำไปจึงเป็นมาตรการชั่วคราวในช่วงที่ไม่มีการจัดเก็บค่าโดยสาร ขั้นตอนต่อไป กทม. ก็ต้องดูว่ามีงบประมาณมาสนับสนุนการขาดทุนในส่วนต่อขยายนี้หรือไม่ หากไม่มี กทม. ก็ต้องทบทวนสัญญา หรือหาทางอื่นๆตามสมควรก็ต้องดำเนินการต่อไป
“ต้องเข้าใจว่า ส่วนต่อขยายผู้โดยสารน้อย เพราะฉะนั้นการไปผูกค่าจ้างเดินรถกับค่าโดยสารตั้งแต่วันแรกที่เปิดเดินรถไม่มีทางเป็นไปได้ ช่วงแรกจะขาดทุน แล้วค่อยๆกำไรในภายหลัง ซึ่งต้องใช้เวลา และในช่วงแรก รัฐบาลต้องอุดหนุน” นายสุเมธกล่าว
สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัย ด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)
คาด ก.ย. 65 เริ่มเก็บเงิน
แหล่งข่าวจาก กทม. เปิดเผยว่า ทางสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) ได้พิจารณาโครงสร้างค่าโดยสารของส่วนต่อขยายที่ 2 เสร็จเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะส่งกลับไปให้นายชัชชาติพิจารณา เพื่อลงนามในประกาศ กทม. ให้มีผลอย่างเป็นทางการ ก่อนที่จะเสนอถึงนายชัชชาติได้ โดยคาดว่าการเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยายนี้น่าจะมีผลในเดือน ก.ย. 2565
สำหรับสูตรค่าโดยสารใช้สูตรของ รฟม.คือ การเก็บตามระยะทาง 14+2x ตัวเลข 14 คือ ค่าแรกเข้า 14 บาท บวกค่าโดยสารตามระยะทาง 2 บาท/สถานี
หากขยายความลงไปในส่วนต่อขยายส่วนที่ 2 ซึ่งมี 2 ส่วน ดังนี้
ด้านเหนือ ช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต ระยะทาง 19 กม. จำนวน 16 สถานี ค่าโดยสารเฉพาะส่วนนี้จะอยู่ระหว่าง 16-46 บาท
ด้านใต้ เนื่องจากมีบางสถานีของส่วนต่อขยายที่ 1 ยังไม่ได้เก็บค่าโดยสาร จึงจะผนวกรวมเอาไว้ด้วย เริ่มตั้งแต่ช่วงอ่อนนุช - เคหะสมุทรปราการ ระยะทางประมาณ 17 กม. จำนวน 14 สถานี ค่าโดยสารเฉพาะส่วนนี้จะอยู่ระหว่าง 16-42 บาท
แต่หากเดินทางเข้าสู่ส่วนสัมปทานหลักและส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงหมอชิต – อ่อนนุช และช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ - บางหว้า ราคาค่าโดยสารสูงสุดจะอยู่ที่ 59 บาทเท่านั้น
ทั้งนี้ เมื่อคำนวณค่าโดยสารส่วนต่อขยายที่ 2 คาดว่า กทม.จะมีรายได้จากการเดินรถช่วงนี้ประมาณ 2,600 ล้านบาท/ปี ซึ่งปัจจุบันส่วนต่อขยายที่ 2 มีผู้โดยสารเฉลี่ย 300,000 เที่ยวคน/วัน แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะใช้หนี้เดินรถที่ บจ.กรุงเทพธนาคม (เคที) จ้าง บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) จำนวน 18,000 ล้านบาท ซึ่งก็ต้องเจรจากับ BTSC ต่อไปว่า หากจะชำระไปก่อนบางส่วนจะยินยอมหรือไม่
อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 15 ส.ค.ที่ผ่านมา นายชัชชาติ ยังเปิดเผยอีกว่า ขณะนี้สภากรุงเทพมหานครกำลังจะตั้งตัวแทนเข้ามาร่วมพิจารณาความเหมาะสม เพราะแม้ว่า กทม.จะเก็บค่าโดยสารแล้ว แต่ยังถือว่าไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายให้เอกชนเดินรถน่าจะเก็บได้ประมาณ 1,500 - 2,000 ล้านบาท
ทั้งหมดเป็นความคืบหน้าที่ กทม.ต้องเร่งพิเคราะห์ให้ตกผลึก ก่อนที่จะเริ่มมีการจัดเก็บค่าโดยสารเพิ่มเติมในส่วนที่ต่อขยาย ที่มีกำหนดเดิมคือ ก.ย.2565
แผนที่จำแนกส่วนต่างๆของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว