คมนาคม-กทม. ถกโอนหนี้สิน-ทรัพย์สิน สายสีเขียวส่วนต่อขยายเหนือ-ใต้ 5.4 หมื่นล้าน เผยขอ 2 เดือนผ่าทางตัน เสนอ สภากทม.-ตรวจร่าง คาดเสนอ ครม. เพื่อทราบในขั้นตอนสุดท้าย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 17 มิถุนายน 2565 นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกำกับดูแลและติดตามโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว หารือร่วมกันในประเด็นการดำเนินการตาม บันทึกข้อตกลง (MOU) การรับโอนหนี้สินและทรัพย์สินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต วงเงิน 51,785.37 ล้านบาท ระหว่างการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และกรุงเทพมหานคร (กทม.)
เบื้องต้น ทาง กทม. รายงานว่า วงเงินค่าหนี้สินที่ต้องรับโอนจาก รฟม. ณ สิ้นเดือน มี.ค. 2565 อยู่ที่ 53,313.22 ล้านบาท หากนับถึงเดือน พ.ค. 2565 อยู่ที่ 53,321.904 ล้านบาท และเมื่อนับรวมถึงสิ้นปีงบประมาณ 2565 ในเดือน ก.ย. 2565 จะมีมูลหนี้รวม 54,284.07 ล้านบาท ในเงินจำนวนนี้แบ่งเป็นส่วนของสายสีเขีบวใต้ จำนวน 19,150 ล้านบาท และส่วนเขียวเหนือ จำนวน 34,171 ล้านบาท
ตอนนี้ กทม. ขอเวลาในการเสนอสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) พิจารณาให้ความเห็นชอบร่าง MOU ฉบับดังกล่าว และส่งร่าง MOU นี้ให้กับกองกฎหมาย กทม. พิจารณาตรวจทานด้วย คาดว่าจะใช้เวลาอีก 2-3 เดือน จึงจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเพื่อทราบได้
“ตัวเลขหนี้ดังกล่าวยังเป็นการประมาณการณ์ ต้องรอว่า กทม. จะรับจริงเมื่อไหร่ เพื่อทำการปิดบัญชี เดิม MOU ฉบับนี้มีฉบับเดียวที่ ครม. เห็นชอบเมื่อปี 2561 เพียงแต่ตอนนั้นการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต ยังไม่แล้วเสร็จ เสร็จเพียงส่วนใต้ช่วงแบริ่ง - เคหะสมุทรปราการ ทำให้การรับโอนหนี้ทรัพย์สินหนี้สิน จึงสำเร็จเฉพาะส่วนนี้ ดังนั้น MOU ฉบับนี้จึงเป็นส่วนเพิ่มเติมที่คำนวณยอดหนี้ในส่วนที่เหลือไว้” นายภคพงศ์กล่าว
นายภคพงศ์ กล่าวต่อว่า ส่วนแนวคิดที่จะรับโอนกลับมาให้ รฟม. ดูแลนั้น ส่วนตัวมองว่า การดำเนินการโอนหนี้สิน-ทรัพย์ทำมาไกลเกินแล้ว และไม่อยากตอบแบบคาดการณ์อะไรไปล่วงหน้า มันเป็นเรื่องของการแยกก้อนหนี้ส่วนหนึ่งของ รฟม. มารอจำหน่ายให้ กทม. แต่เมื่อขั้นตอนยังไม่สมบูรณ์ หนี้ก้อนนี้จึงยังอยู่กับ รฟม. ต่อไป อีกทั้ง บจ.กรุงเทพธนาคม (KT) ก็ไปดำเนินติดตั้งงานระบบส่วนต่อขยายหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต อีก การจะไปรับคืน จึงต้องพิจารณาโดยหลักการให้ละเอียดรอบคอบ เหมือนการทำ Due diligence
กทม.ชี้ขอ 5 เดือน ไม่ใช่ 2 เดือน
ด้านแหล่งข่าวจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผย ‘สำนักข่าวอิศรา’ ว่า ได้รายงานผลการประชุมในวันนี้ให้นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่า กทม. ทราบแล้ว ส่วนการดำเนินการจะเป็นอย่างไร คงต้องแล้วแต่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ในฐานะผู้ว่า กทม.
ส่วนการดำเนินการตาม MOU ที่หารือกัน เบื้องต้น จะใช้เวลาประมาณ 5 เดือน เพราะต้องนำ MOU กลับมาเสนอบรรจุในวาระพิจารณาของสภา กทม. ก่อน ซึ่งในส่วนนี้จะใช้เวลา 2-3 เดือนเป็นอย่างน้อย เมื่อสภากทม.พิจารณาแล้ว จะส่งร่าง MOU ไปให้กองกฎหมายของ กทม.พิจารณา เสร็จแล้วส่งให้กระทรวงคมนาคม และ รฟม. ตรวจร่าง หากไม่มีประเด็นคัดค้านอะไรอีก ก็จะเสนอที่ประชุม ครม. รับทราบ MOU ฉบับดังกล่าวต่อไป