‘ชัชชาติ’ อัปเดตค่าโดยสารส่วนต่อขยายที่ 2 สายสีเขียว เตรียมเสนอสภากทม.ภายในเดือน ส.ค.นี้ รับยังไม่ฟังธงจะใช้สูตรเก็บค่าโดยสารแบบไหนดีระหว่าง ‘15 บาทตลอดสาย’ และ ‘14+2x’
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 18 สิงหาคม 2565 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผย ‘สำนักข่าวอิศรา (https://www.isranews.org/) ว่า ความคืบหน้าการพิจารณาเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว ขณะนี้ร่างประกาศของ กทม. ได้เตรียมพร้อมแล้ว และจะมีการเสนอให้สภากรุงเทพมหานคร (สภากทม.) พิจารณารับทราบก่อน ทั้งนี้คาดว่าภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ จะเสนอให้สภากทม.รับทราบได้ทันที
ส่วนสาเหตุที่ต้องเสนอให้สภากทม.พิจารณานั้น ก็เพราะว่าแม้ กทม. จะมีอำนาจลงนามในประกาศได้ทันที แต่การลงนามในประกาศดังกล่าว มีส่วนที่เกี่ยวข้องกับการตั้งงบประมาณรายจ่าย ซึ่งต้องเสนอ สภากทม.พิจารณาก่อน จึงจะนำเงินจากงบประมาณมาชำระค่าจ้างเดินรถบางส่วนได้ ที่ผ่านมาค่าจ้างเดินรถยังไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายในการเดินรถ
ทั้งนี้ ตามข้อมูลที่มี ส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงอ่อนนุช - แบริ่ง และช่วงสะพานตากสิน - บางหว้า ที่มีกทม.เป็นผู้ก่อสร้าง และให้บจ.กรุงเทพธนาคม (KT) ไปจ้าง บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) เดินรถ มีต้นทุนประมาณ 2,000 ล้านบาท/ปี แต่ปัจจุบันมีรายได้จากการเก็บค่าโดยสารส่วนนี้ 15 บาทตลอดสาย วงเงินรวมที่ 800 - 900 ล้านบาท/ปี เหลือเป็นหนี้ที่ต้องของบประมาณมาจ่ายปีละประมาณ 1,000-1,100 ล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้มีการจัดทำงบประมาณเพื่อนำมาชำระหนี้ส่วนนี้ทุกปี
ขณะที่ส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต และช่วงแบริ่ง - เคหะสมุทรปราการ ที่รับโอนมาจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และ กทม.มอบหมาย KT ไปจ้าง BTSC ดำเนินการติดตั้งระบบเดินรถและระบบไฟฟ้า รวมถึงการให้เดินรถบริการประชาชนด้วย สำหรับส่วนต่อขยายนี้ปัจจุบันยังไม่มีการเก็บค่าโดยสาร จนทำให้กทม.มีภาระหนี้สินรวม 40,000 ล้านบาท
โดยหากคำนวณเฉพาะค่าเดินรถในส่วนต่อขยายที่ 2 จะมีต้นทุนค่าจ้างเดินรถตกปีละ 5,700 ล้านบาท/ปี เมื่อรวมทั้ง 2 ส่วน จะทำให้มีหนี้ค่าจ้างเดินรถส่วนต่อขยายที่ 6,700- 6,800 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า ยังไม่ได้ตัดสินใจว่า จะใช้โมเดลไหนในการเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยายที่ 2 เพราะนอกจากค่าโดยสารที่ต้องเป็นธรรมกับประชาชนแล้ว ยังต้องคิดถึงรายได้จากการเดินรถที่ต้องนำมาชำระค่าจ้างเดินรถปีละ 6,700 - 6,800 ล้านบาทด้วย ซึ่งโมเดลการเก็บค่าโดยสารแบบที่ 1 คือ 15 บาทตลอดสาย จะทำให้กทม.มีรายได้ที่ 1,899 ล้านบาท/ปี ส่วนการเก็บค่าโดยสารแบบที่ 2 คือ 14+2x (X = สถานี) จะทำให้ กทม. มีรายได้ที่ 1,917 ล้านบาท/ปี ซึ่งทั้ง 2 แบบ แต่ก็ยังไม่พอที่จะชำระค่าจ้างเดินรถดังกล่าวอยู่ดี
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.)
อ่านเพิ่มเติม:
เบื้องหลัง 2 แนวคิดเก็บค่าตั๋วส่วนต่อขยาย‘สายสีเขียว’คั้นรายได้ 2.6 พันล.โปะหนี้ BTSC
เปิดสัญญาจ้างเดินรถสายสีเขียวแล้ว ผ่าปม 2 ส่วนต่อขยายสุดหิน
2 สัญญา 3.5 แสนล.! ย้อนดูค่าจ้าง เดินรถ'สายสีเขียว'ส่วนต่อขยาย ก่อน'เคที'จ่อรื้อใหม่
แก้จ้างเดินรถ BTS ชัดเจนปีนี้ ‘ธงทอง’เคลียร์ส่วนต่อขยาย 1-2
ISRA WHY? : ‘ธงทอง จันทรางศุ’แม่ทัพ'กรุงเทพธนาคม'ภารกิจสุดขอบฟ้า ล้างหลุมดำ กทม.