'ศาลปกครองกลาง' พิพากษาเพิกถอน 'ประกาศ กทม.' เก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้า 'สายสีเขียว' สูงสุด 104 บาท ชี้กระบวนการการออกประกาศฯไม่ได้ปฏิบัติตามมติ ครม.
........................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 12 เม.ย. ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาเพิกถอนประกาศกรุงเทพมหานคร (กทม.) ฉบับลงวันที่ 15 ม.ค. 2564 เรื่อง การกำหนดค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่กำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวไว้ที่ 15-104 บาท เนื่องจากการออกประกาศฉบับดังกล่าว กรุงเทพมหานคร (กทม.) และผู้ว่าฯ กทม.ไม่ได้ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 26 พ.ย.2561
“…กรณีจึงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามข้ออ้างของผู้ฟ้องคดีทั้งหกว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กรุงเทพมหานคร) โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร) ดำเนินการออกประกาศพิพาทโดยได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 พ.ย.2561 หรือไม่
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 มาตรา 49 บัญญัติว่า ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้... (4) บริหารราชการตามที่คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมอบหมาย มาตรา 89 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายอื่น ให้กรุงเทพมหานคร มีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการในเขตกรุงเทพมหานครในเรื่องดังต่อไปนี้...
(27) หน้าที่อื่นๆตามที่กฎหมายระบุให้เป็นอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ เทศบาลนครหรือตามที่คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมอบหมายหรือที่กฎหมายระบุเป็นหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฎว่า ในคราวประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 พ.ย.2561 นอกจากคณะรัฐมนตรีจะได้ลงมติเห็นชอบให้ รฟม. ดำเนินการจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต (ไม่รวมอาคารจอดแล้วจร) ให้กระทรวงมหาดไทย (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) รับโอนกรรมสิทธิ์และการบริหารจัดการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ของ รฟม. ต่อไปแล้ว
คณะรัฐมนตรียังได้มีมติให้กระทรวงคมนาคมและผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 บูรณาการการเชื่อมต่อโครงการรถไฟฟ้าต่าง ๆ รวมทั้งการกำหนดอัตราค่าแรกเข้าและอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม เป็นธรรม และไม่ก่อให้เกิดภาระต่อประชาชนผู้ใช้บริการมากเกินไป รวมทั้งให้เร่งรัดดำเนินการเรื่องระบบตั๋วร่วมให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ทั้งนี้ ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 พิจารณากำหนดอัตราค่าแรกเข้าและการใช้ระบบตั๋วร่วมให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ตามความเห็นของกระทรวงการคลังด้วย
โดยให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 พิจารณาดำเนินการ (1) บริหารจัดการเงินรายได้และตั้งงบประมาณของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ให้เพียงพอต่อการชำระหนี้ดังกล่าวอย่างเคร่งครัด รวมทั้งพิจารณากำหนดค่าโดยสารให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับค่าครองชีพของผู้ใช้บริการด้วย
และ (2) บริหารจัดการสัญญาของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้มีระยะสิ้นสุดพร้อมกันทุกช่วง เพื่อให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 สามารถเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมแข่งขันประมูลการให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวได้ทั้งสาย อันจะเป็นการจูงใจให้มีเอกชนรายใหม่เข้าร่วมแข่งขัน ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อภาครัฐและผู้ใช้บริการระบบขนส่งมวลชนต่อไป
ประกอบกับเมื่อได้พิจารณาบทบัญญัติมาตรา 49 (4) ประกอบมาตรา 89 วรรคหนึ่ง (27) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 ที่กำหนดให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ต้องบริหารราชการตามที่คณะรัฐมนตรีมอบหมายและกำหนดหน้าที่ทั่วไปของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ให้มีหน้าที่อื่นๆ ตามที่คณะรัฐมนตรีมอบหมายแล้ว
จึงเห็นว่า แม้รัฐธรรมนูญจะบัญญัติรับรองให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ซึ่งเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น มีความเป็นอิสระตามหลักแห่งการปกครองตนเองและหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืนก็ตาม แต่การใช้อำนาจบริหารราชการและการจัดทำบริการสาธารณะของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ก็ยังคงต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาลตามหลักการกระจายอำนาจทางปกครองของรัฐ
ดังนั้น การจัดเก็บค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งแม้จะอยู่ในความรับผิดชอบของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และเป็นอำนาจของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ที่สามารถกระทำได้ก็ตาม แต่เมื่อปรากฎว่าการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวดังกล่าวมิได้จำกัดอยู่เฉพาะพื้นที่ในเขตกรุงเทพมหานครของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงพื้นที่ในเขตปริมณฑล และเป็นโครงการที่รัฐบาลกำหนดไว้ในแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
นอกจากนี้ ยังมีโครงการระบบขนส่งมวลชนโดยรถไฟฟ้าสายอื่นๆ อันเป็นบริการสาธารณะที่รัฐจัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์บรรเทาปัญหาการจราจร และเพิ่มทางเลือกในการเดินทางที่มีประสิทธิภาพให้ประชาชน ลดปริมาณการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญให้การจราจรติดขัดอีกด้วย
ดังนั้น เพื่อให้การจัดทำบริการสาธารณะด้านการขนส่งมวลชนของรัฐเกิดการบูรณาการด้านการเดินรถให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนผู้รับบริการในการเดินทาง และการกำหนดอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสมเป็นธรรมของโครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆ การจัดเก็บค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงต้องพิจารณาโดยภาพรวมให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนผู้ใช้บริการ
ดังนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 พ.ย.2561 กล่าวคือ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ต้องบูรณาการร่วมกับกระทรวงคมนาคมในการกำหนดอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม เป็นธรรม ไม่ก่อให้เกิดภาระต่อประชาชนผู้ใช้บริการมากเกินไป ทั้งต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลตามความเห็นกระทรวงการคลัง รวมทั้งพิจารณากำหนดค่าโดยสารให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับค่าครองชีพของผู้ใช้บริการด้วย
เมื่อข้อเท็จจริงในสำนวนคดี ไม่ปรากฎว่าก่อนดำเนินการออกประกาศพิพาทเพื่อกำหนดอัตราค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้ดำเนินการร่วมกับกระทรวงคมนาคมในการพิจารณากำหนดอัตราค่าโดยสารตามที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย กรณีจึงเป็นการกระทำโดยไม่ถูกต้องตามขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้ อันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
การที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองอ้างว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองมีความเป็นอิสระตามหลักแห่งการปกครองตนเองและหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยรัฐธรรมนูญและกฎหมายมิได้บัญญัติว่าการบริหารจัดการบริการสาธารณะและการพิจารณากำหนดอัตราค่าบริการดังกล่าวจะต้องผ่านการพิจารณาและเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี นั้น ฟังไม่ขึ้นดังที่ได้วินิจฉัยไว้ข้างต้น
ส่วนกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองอ้างในคำให้การว่า ได้ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 พ.ย.2561 แล้ว นั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำให้การของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองดังกล่าว เป็นกรณีการตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลและติดตามผลการดำเนินงาน (ที่มีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธานคณะกรรมการ)เพื่อทำการศึกษาและบูรณาการเกี่ยวกับการรับโอนและบริหารจัดการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว
โดยไม่ปรากฏว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้ร่วมกับกระทรวงคมนาคมพิจารณากำหนดอัตราค่าโดยสารตามที่คณะรัฐมนตรีมอบหมายแต่อย่างใด ข้ออ้างของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองในประเด็นนี้ จึงฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
สำหรับปัญหาว่า การออกประกาศพิพาทได้ดำเนินการให้เป็นไปตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2562 ลงวันที่ 11 เม.ย.2562 เรื่อง การดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว หรือไม่ นั้น
เห็นว่า โดยที่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 3/2562 ลงวันที่ 11 เม.ย.2562 ได้กำหนดให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ดำเนินการจ้างผู้ประกอบการเอกชนเพื่อติดตั้งระบบรถไฟฟ้า จัดการเดินรถไฟฟ้า และบริหารการเดินรถไฟฟ้าโครงการส่วนต่อขยายที่ 2 (ส่วนต่อขยายช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อแก้ปัญหาการจราจรและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ได้ใช้บริการรถไฟฟ้าโดยเร็ว สะดวก และประหยัดค่าโดยสาร
รวมทั้งเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการเดินรถเชื่อมต่อระบบรถไฟฟ้ากับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว (ช่วงหมอชิต-อ่อนนุช และช่วงสถานีสนามกีฬาแห่งชาติ - สะพานตากสิน) และโครงการส่วนต่อขยายที่ 1 (ส่วนต่อขยายช่วงสถานีสะพานตากสิน-สถานีบางหว้า และช่วงสถานีอ่อนนุช-สถานีแบริ่ง) โดยไม่ถือเป็นการร่วมลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน
รวมทั้งกำหนดให้กระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่งโดยมีองค์ประกอบตามที่กำหนดเพื่อทำหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์การแบ่งปันผลประโยชน์จากค่าโดยสาร รวมถึงกำหนดหลักเกณฑ์อื่นเพื่อประโยชน์ในการรวมโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว โครงการส่วนต่อขยายที่ 1 และโครงการส่วนต่อขยายที่ 2 ให้สามารถเดินรถแบบต่อเนื่องเป็นโครงข่ายเดียวกัน (Through Operation)
และให้ดำเนินการเจรจาร่วมกับผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวจนได้ผลการเจรจาเป็นที่ยุติและดำเนินการแก้ไขสัญญาสัมปทานกับผู้รับสัมปทาน โดยต้องคำนึงถึงประโยชน์ของรัฐและประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนหรือผู้ใช้บริการ ความสะดวกและความปลอดภัยในการใช้บริการ การประหยัดค่าโดยสาร และการแบ่งปันผลประโยชน์ต่อภาครัฐอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม
เมื่อดำเนินการจนได้ผลการเจรจาเป็นที่ยุติและร่างสัญญาร่วมลงทุนฉบับแก้ไขแล้ว ให้ถือว่าเป็นการดำเนินการตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 ในส่วนของการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนแล้ว และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เสนอร่างสัญญาร่วมลงทุนฉบับแก้ไขต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนส่งสำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณาเมื่อสำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณาเสร็จแล้ว ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
กรณีจึงเห็นว่า คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2562 ลงวันที่ 11 เม.ย.2562 ดังกล่าว เป็นคำสั่งเกี่ยวกับการบริหารจัดการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวในส่วนของการจัดทำสัญญาสัมปทาน ซึ่งกระทรวงมหาดไทยต้องดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อดำเนินการเจรจาร่วมกับผู้รับสัมปทาน เมื่อเจรจาได้ข้อยุติและร่างสัญญาร่วมลงทุนฉบับแก้ไขแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ต้องเสนอร่างสัญญาร่วมลงทุนฉบับแก้ไขต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนส่งสำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณา
เมื่อสำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณาเสร็จแล้ว จึงให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป ซึ่งผลการดำเนินการตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติดังกล่าวจะเป็นประการใด และคณะรัฐมนตรีจะได้เห็นชอบผลการเจรจาและร่างสัญญาร่วมลงทุนฉบับแก้ไขหรือไม่ ย่อมถือเป็นคนละส่วนกับการใช้อำนาจตามกฎหมายของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ในการออกประกาศพิพาทคดีนี้
ดังนั้น ปัญหาว่าการออกประกาศพิพาทได้ดำเนินการให้เป็นไปตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2562 ลงวันที่ 11 เม.ย.2562 หรือไม่ จึงไม่เกี่ยวกับประเด็นพิพาทคดีนี้ กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัย
อย่างไรก็ดี ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาล ข้อเท็จจริงปรากฎว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้ออกประกาศกรุงเทพมหานคร ลงวันที่ 8 ก.พ.2564 ให้เลื่อนการจัดเก็บค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวตามประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง กำหนดค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ลงวันที่ 15 ม.ค.2564 ออกไปก่อน และในวันนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 มี.ค.2566 ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองแถลงต่อศาลว่าปัจจุบันยังไม่มีการจัดเก็บค่าโดยสารตามประกาศพิพาทแต่อย่างใด
ดังนั้น คดีจึงมีปัญหาที่ต้องพิจารณาในประการสุดท้ายว่า กรณีมีเหตุสมควรที่ศาลจะสั่งเพิกถอนประกาศพิพาท หรือไม่ประการใด
เห็นว่า เมื่อประกาศพิพาทออกโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ตามมาตรา 92 และมาตรา 97 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528
ประกอบกับข้อ 4 ของข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าบริการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2552 ที่มีผลบังคับเป็นการทั่วไปแก่ผู้ใช้บริการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งส่วนเส้นทางหลัก โครงการส่วนต่อขยายที่ 1 และโครงการส่วนต่อขยายที่ 2 โดยไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดหรือบุคคลใดเป็นการเฉพาะ จึงมีลักษณะเป็นกฎตามนัยมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542
แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้มีประกาศกรุงเทพมหานคร ลงวันที่ 8 ก.พ.2564 ให้เลื่อนการจัดเก็บค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวตามประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง กำหนดค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ลงวันที่ 15 ม.ค.2564 ออกไปก่อน และปัจจุบันยังไม่มีการจัดเก็บค่าโดยสารตามประกาศพิพาทก็ตาม
แต่กรณีก็ย่อมจะเห็นได้ว่า ประกาศกรุงเทพมหานคร ฉบับลงวันที่ 8 ก.พ.2564 ดังกล่าว มิได้มีผลเป็นการยกเลิกหรือเพิกถอนประกาศพิพาทแต่อย่างใด ดังนั้น ประกาศกรุงเทพมหานคร ลงวันที่ 15 ม.ค.2564 เรื่อง การกำหนดค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวซึ่งเป็นเหตุแห่งความเดือดร้อนหรือเสียหายอันเป็นเหตุแห่งคดีพิพาทจึงยังไม่หมดสิ้นไป การแก้ไขหรือบรรเทาความเดือดร้อนเสียหายจึงต้องมีคำบังคับของศาลตามมาตรา 72 วรรคหนึ่ง (1) แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542
เมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ดำเนินการออกประกาศพิพาทโดยมิได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 พ.ย.2561 อันเป็นการกระทำโดยไม่ถูกต้องตามขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้ จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีจึงมีเหตุสมควรที่ศาลจะสั่งเพิกถอนประกาศพิพาทดังกล่าว...” คำพิพากษาศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขดำที่ 163/2564 คดีหมายเลขแดงที่ 652/2566 ลงวันที่ 12 เม.ย.2566 ระบุ
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า สำหรับประกาศกรุงเทพมหานคร (กทม.) ฉบับลงวันที่ 15 ม.ค. 2564 เรื่อง การกำหนดค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ฉบับนี้ ทำขึ้นในสมัย พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. แต่ต่อมา ส.ส.พรรคภูมิใจไทย 6 คน นำโดยนายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส.ภูมิใจไทย ยื่นฟ้องศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้ศาลฯมีคำสั่งเพิกถอนประกาศฉบับดังกล่าว