‘ชัชชาติ’ เยี่ยม สำนักขนส่ง กทม. เผยรถไฟฟ้าสายสีเขียว หวังรัฐบาลใหม่จบปัญหา หลังสัมปทานตามม.44 ยังค้าง ครม. พร้อมเตรียมหารือโอนรถไฟฟ้าสายใหม่ในมือ 2 โครงการ ‘สายสีเทา-สีเงิน’ ให้รัฐบาลทำเอง หลังสู้ค่าก่อสร้างไม่ไหว เล็งยกเครื่องรถเมล์ BRT ก่อนหมดสัญญา ส.ค.นี้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 22 มีนาคม 2566 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 21 มี.ค.66 ได้ไปสัญจรที่สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.)
@ลุ้นรัฐบาลใหม่ฝ่าทางตัน สัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว
ประเด็นสำคัญที่ได้หารือคือ กรณีรถไฟฟ้าสายสีเขียว หลังจากที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติแจ้งข้อกล่าวหาแก่คณะผู้บริหาร กทม. และ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง (BTS) รวม 13 ราย สัญญาจ้างเดินรถที่ทำเมื่อปี 2555 ก็ต้องทำคำชี้แจงไปที่ศาลปกครองสูงสุดเพิ่มเติม ถือเป็นประเด็นใหม่ที่สามารถใช้ต่อสู้คดีความกันได้ และเนื่องจากการแจ้งข้อกล่าวหาเป็นเอกสารลับ จึงเผยแพร่ต่อสาธารณะไม่ได้
ส่วนทาง BTS ยืนยันให้ความเป็นธรรมเต็มที่ เพราะไม่ได้ขัดแย้งกับใคร แต่ต้องทำให้ถูกต้องตามกฎหมายและแนวปฏิบัติ แต่มีข้อกังวลคือ เมื่อยุบสภาแล้ว ประเด็นสัมปทานที่ยังค้างในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ไม่แน่ใจว่าจะลงเอยอย่างไร เพราะตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2562 กำหนดให้ ครม. เป็นผู้ตัดสินใจในการอนุมัติต่อสัญญา แต่ไม่มีบอกให้ยกเลิกได้ มีแต่ให้ปรับแก้เท่านั้น อีกทั้งเมื่อเป็น ครม.รักษาการ ก็ไม่แน่ใจว่าการต่อสัญญาสัมปทานจะลงเอยอย่างไร และผู้ใดจะมีอำนาจไปหักล้างคำสั่งตาม มาตรา 44 นี้ได้ เพราะคำสั่งหัวหน้า คสช.มีศักดิ์เท่ากับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)
“ปัจจุบันรถไฟฟ้าสายสีเขียวยังเป็นของเรา คงต้องรออีกทีว่า สรุปรถไฟฟ้าสายสีเขียวจะลงเอยอย่างไร รัฐบาลใหม่จะรับไปไหมและอาจจะมีผลประโยชน์ตอบแทนให้กทม.กลับมา แต่สุดท้ายเราต้องเอาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก” นายชัชชาติกล่าว
@เล็งโอนรถไฟฟ้าใหม่ให้ รฟม. ดูแล
ขณะเดียวกัน ได้เตรียมหารือรัฐบาลชุดใหม่เกี่ยวกับโครงการรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) สายสีเทา ช่วงวัชรพล-ทองหล่อ ระยะทาง 16.3 กม. วงเงิน 27,500 ล้านบาท และโครงการรถไฟฟ้ารางคู่ขนาดเบา (LRT-Light Rail Transit) สายบางนา-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ วงเงิน 40,000 ล้านบาท ทั้งสองเส้นนี้ศึกษาและมีแนวคิดจะทำ PPP
แต่จากการศึกษา กทม.ต้องลงทุนด้านงานโยธาจำนวนมากประมาณ 60,000 ล้านบาท จึงจะเสนอรัฐบาลใหม่เป็นผู้ลงทุนทางด้านนี้ และถ้าต้องเอาเงินจำนวน 60,000 ล้านบาทมาลงทุน อาจจะกระทบกับภารกิจด้านอื่นของ กทม.ได้ โดยหน่วยงานที่เหมาะสมคือ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)
นอกจากนี้ ยังมีส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงบางหว้า - ตลิ่งชัน เท่าที่ศึกษาจะมีผู้โดยสาร 35,000 คน/วัน ซึ่งยังไม่มาก แต่จะหารือกับกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เจ้าของเขตทางที่จะต้องก่อสร้างต่อไป
รถโดยสารด่วนพิเศษ สายสาทร–ราชพฤกษ์ (BRT) ภาพจาก : กรุงเทพธนาคม
@ฺเร่งทบทวนรถ BRT ก่อนหมดสัญญา ส.ค.66
ขณะที่ประเด็นรถโดยสารด่วนพิเศษ สายสาทร–ราชพฤกษ์ (BRT) กำลังจะหมดสัญญาในเดือน ส.ค.2566 นี้ ที่ผ่านมาผู้โดยสารมีไม่มาก ตอนนี้สั่งให้ สจส. พิจารณาว่า หากจะทำต่อไป ต้องเพิ่มจำนวนรถในราคาไม่แพงมากนัก และอาจจะพิจารณาให้เป็นรถเมล์ปกติ แต่เพิ่มป้ายรถเมล์ตามสี่แยก เพื่อให้คนมาใช้บริการมากขึ้น
@เล็งฟื้นเรือคลองภาษีเจริญ
ด้านการเดินเรือคลองผดุงกรุงเกษม ได้นำกลับมาให้บริการแล้ว โดยลดต้นทุนจาก 2.4 ล้านบาท/เดือน เหลือประมาณ 1.8 ล้านบาท/เดือน ปัจจุบันผู้โดยสารประมาณ 450 คนต่อวัน ช่วงเช้าประมาณ 150 คน ส่วนหนึ่งก็มาจากท่าเรือเทเวศร์แล้วเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ตอนเย็นมีผู้โดยสารประมาณ 300 คน กลางวันแทบไม่มีผู้โดยสาร ส่วนวันเสาร์และอาทิตย์มีผู้โดยสารน้อย อนาคตให้ดูว่าถ้าเดินเรือถึงคลองบางลำพูเพื่อการท่องเที่ยวจะมีผู้โดยสารมากน้อยเพียงใด ซึ่งจากการทดลองวิ่งดูแล้วพบว่ามีวิวที่สวยงามและจุดท่องเที่ยวหลายจุด
ส่วนการเดินเรือคลองภาษีเจริญ บจ.กรุงเทพธนาคม (KT) เคยเดินเรือช่วงแรกที่ยังไม่มีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน มีผู้โดยสารอยู่บ้าง แต่พอรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเปิดทำให้คนใช้บริการลดลงเพราะรถไฟฟ้าอาจจะสะดวกกว่า อย่างไรก็ตามที่ปลายทางมีโรงเรียนอยู่ซึ่งอาจมีนักเรียนที่ใช้บริการ จึงให้สจส.ไปดูรายละเอียดอีกครั้ง รวมถึงศึกษาความเป็นไปได้ในการเดินเรือคลองลาดพร้าวและคลองประเวศบุรีรมย์เพิ่มเติม ว่าจะมีเอกชนสนใจเดินเรือหรือไม่
@ปลื้มแนวคิด Feeder คนใช้เยอะ
สำหรับรถ Feeder จาก ศาลาว่าการกทม.2 (ดินแดง)ไปสถานีรถไฟฟ้า BTS ทำได้ค่อนข้างดี มีคนใช้ประมาณ 500 คนต่อวัน อีกเส้นคือ แอร์พอร์ตลิ้งค์ไปลาดกระบังมีคนใช้บริการประมาณ 1,000 คนต่อวัน และประชาชนอยากให้มีการเพิ่มรถ ส่วนเสาร์-อาทิตย์นำไปวิ่งตลาดน้ำตลิ่งชันมีคนใช้บริการหลักพันคนต่อวัน จึงอยากทำฟีดเดอร์เพิ่มขึ้น ขณะนี้เป็นการทดสอบเดินรถนำร่องจึงยังไม่มีการเก็บค่าโดยสาร ซึ่งในอนาคตถ้ามีเอกชนสนใจนำรถมาวิ่งก็จะช่วยขยายเส้นทางเพิ่มเติมต่อไปได้
นอกจากนี้มีแนวคิดในการเพิ่มเส้นทางจักรยาน ซึ่งไม่ได้เป็นเส้นทางหลักแต่ให้เป็น Feeder ปั่นออกจากบ้านไปขึ้นรถไฟฟ้า นั่งรถไฟฟ้ามาแล้วปั่นจักรยานกลับบ้าน ถ้าสามารถเชื่อมโยงจากบ้านมาถึงรถไฟฟ้าก็ทำให้คนเดินทางได้สะดวกขึ้น แต่ไม่ใช่เป็นการใช้จักรยานในระยะทางยาวหรือระยะไกล แต่เป็นเพียงระยะสั้น ๆ และอาจหาชุมชนต่าง ๆ ร่วมพัฒนาให้จักรยานเป็นทางเลือกมากขึ้น อีกทั้งมีแนวคิดทำไบค์แชร์ริ่ง เป็นการใช้จักรยานร่วมกันคล้ายโครงการ “ปันปั่น”แต่ทำให้คล่องตัวขึ้น
ขณะที่ทางม้าลาย ก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะเกี่ยวกับความปลอดภัย จากสถิติปี 2565 มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนกว่า 800 คน ได้ตั้งเป้าหมายให้ทาง สจส.ลดผู้เสียชีวิตลง อย่างน้อยปีละ 20% คือปีละประมาณ 160 คน การเสียชีวิตจากอุบัติเหตุในกรุงเทพฯ อาจมีสาเหตุ 2 ส่วน คือ พฤติกรรม และกายภาพ เรื่องพฤติกรรมอาจจะควบคุมได้ยาก ก็ได้มีการรณรงค์ร่วมกับภาคีเครือข่าย เช่น การใส่หมวกกันน็อก ส่วนเรื่องกายภาพ ได้มีการทำ Risk Map จุดที่ปัญหาอุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อย และเข้าไปปรับปรุงจุดที่มีความเสี่ยงเหล่านี้ ทำให้ข้อจำกัดทางกายภาพลดลง และสามารถลดการตายได้ ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีทางม้าลายทั้งหมดประมาณ 2,800 จุด ในปี 2566 มีการปรับปรุงทางม้าลายประมาณ 1,200 จุด โดยทาสีทางม้าลายที่ซีดจาง (สีขาว) 500 จุด ทาสีโคลด์พลาสติก (สีแดง) 210 จุด ล้างทำความสะอาดจุดที่เคยทาสีไว้แล้ว 507 จุด และปี 2567 จะทำอีกประมาณ 1,300 จุด ปี 2566 มีการทำสัญญาณไฟบริเวณทางข้าม 104 จุด แบ่งเป็น ทางแยก 2 จุด ไฟกดคนข้าม 52 จุด และไฟกระพริบ 50 จุด
และเรื่องกล้อง CCTV สำคัญในเรื่องความปลอดภัยและจราจร ที่ผ่านมามีการลิ้งค์สัญญาณกล้องไป บก.02 ประมาณ 80 กล้อง ปัจจุบันมีการเปิดให้ประชาชนขอภาพจากกล้องทางออนไลน์ได้ซึ่งมีคนขอภาพประมาณ 30% แต่ละเดือนมีคนขอภาพจากกล้อง CCTV ประมาณ 4,000 คน และกรุงเทพมหานครเสียค่าบำรุงรักษากล้อง CCTV ประมาณ 800 ล้านบาท ค่อนข้างสูง ต่อไปในปี 2567 จะทำเป็นรูปแบบ single command center รวมผู้ให้บริการกล้อง CCTV ที่มีอยู่ 6 ราย มาอยู่ด้วยกัน เพื่อลดค่าใช้จ่ายและให้ประสิทธิภาพการรวมรวบข้อมูลของกล้องดีขึ้น รวมทั้งนำ Intelligent Traffic Management System (ITMS) มาใช้ร่วมกับ Area Traffic Control (ATC) ปัจจุบันการกดไฟจราจรต่างคนต่างกดไม่ได้ใช้ข้อมูลที่เชื่อมโยงกัน การนำ ITMS มาใช้ร่วมกับ ATC เป็นการควบคุมสัญญาณไฟจราจรวงรอบใหญ่แทนการทำเป็นจุดก็จะส่งต่อการจราจรได้ดีขึ้น ตอนนี้มีทาง JICA มาช่วยทดสอบระบบ อาจทำให้การลงทุนถูกลงได้
อ่านประกอบ
- ‘คีรี’ เปิดใจ ป.ป.ช.แจ้งข้อหา BTS เหมือนถูกแกล้ง
-
'วัชรพล' สั่งสอบเอกสารแจ้งข้อกล่าวหาคดีรถไฟฟ้าสีเขียวหลุด-พนง.BTSC ยกพลจี้ถาม
- ‘ชาญชัย’ ติง ‘กทม.-KT’ อ้างสัญญาไม่ชอบ แล้วจะไม่จ่ายค่าจ้างเดินรถสายสีเขียวไม่ได้
-
‘BTS’ โต้ ‘กรุงเทพธนาคม’ ขอให้รีบจ่ายค่าจ้างเดินรถสายสีเขียว ปัดรู้เห็นกระบวนการทำสัญญา
-
‘กรุงเทพธนาคม’ แจง ‘ศาลปกครอง’ โต้ BTSC ปมฟ้องร้องค่าจ้างเดินรถอีกหมื่นล้าน
-
‘ชัชชาติ’ รับ ‘กทม.’แบกภาระขาดทุนเดินรถไฟฟ้า‘สายสีเขียว’ ช่วงปี 73-84 รวม 8.57 หมื่นล.
-
มีเงินสะสม7หมื่นล.! กทม.พร้อมจ่ายหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว แต่ต้องรอผ่านสภากรุงเทพฯ ก่อน
-
‘ชัชชาติ’ ส่งความเห็น ‘สายสีเขียว’ ถึง ‘มหาดไทย’ แล้ว ลุ้นครม.พิจารณา
-
‘ชัชชาติ’ รับมติสภากทม. ศึกษา ‘สายสีเขียว’ เก็บค่าโดยสารส่วน 2 เลื่อนไม่มีกำหนด
-
สภากทม.คว่ำ ‘ญัตติ’ รถไฟฟ้าสายสีเขียว ตีความ คำสั่งม.44 ไม่ให้อำนาจ กทม.-ส.ก.พิจารณา
-
‘ชัชชาติ’ ประกาศไม่ต่อสัมปทานสายสีเขียว เสนอรัฐบาลอุดหนุนค่าก่อสร้าง 5.8 หมื่นล้าน
-
‘ชัชชาติ’ ลุ้น สภากทม. เคาะค่าโดยสาร ส่วนต่อขยายสายสีเขียว 26 ต.ค.นี้
-
ศาลสั่ง ‘กทม.-เคที’ จ่าย 1.1 หมื่นล้าน ปมค้างค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว
-
เจาะคำพิพากษาศาลปกครองกลาง เกาะติดท่าที 'กทม.-เคที'อุทธรณ์คดีค่าเดินรถ'สายสีเขียว'
-
เบื้องหลัง 2 แนวคิดเก็บค่าตั๋วส่วนต่อขยาย‘สายสีเขียว’คั้นรายได้ 2.6 พันล.โปะหนี้ BTSC
-
2 สัญญา 3.5 แสนล.! ย้อนดูค่าจ้าง เดินรถ'สายสีเขียว'ส่วนต่อขยาย ก่อน'เคที'จ่อรื้อใหม่
-
ISRA WHY? : ‘ธงทอง จันทรางศุ’แม่ทัพ'กรุงเทพธนาคม'ภารกิจสุดขอบฟ้า ล้างหลุมดำ กทม.
-
ไม่เกินส.ค.นี้เสนอสภากทม.เคาะค่าโดยสารสายสีเขียว ถอดรายได้ 2 สูตรจ่ายค่าเดินรถ
-
กทม.ขอ 2 เดือน เคลียร์โอนหนี้สายสีเขียว เผยยอดหนี้ ‘หมอชิต-คูคต’พุ่ง 5.4 หมื่นล้าน