"...แหล่งข่าวจาก กทม.เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา ว่า นายชัชชาติยังไม่ได้หารือกับนายธงทอง จันทรางศุ ประธาน บจ.กรุงเทพธนาคม แต่คาดว่าไม่เกินสัปดาห์นี้น่าจะมีการหารืออย่างเป็นทางการ อนึ่งคำพิพากษาจากศาลปกครองเพิ่งออกมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ตามระเบียบต้องยื่นอุทธรณ์ใน 30 วัน ดังนั้นยังมีเวลาในการพิจารณา..."
เมื่อวันที่ 7 ก.ย.2565 ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้ กรุงเทพมหานคร (กทม.) และ บจ.กรุงเทพธนาคม (เคที) ชดใช้ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) เป็นจำนวนรวมทั้งสิ้น 1.17 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงอ่อนนุช - สำโรงและช่วงสะพานตากสิน - บางหว้าพร้อมดอกเบี้ย วงเงิน 2,348 ล้านบาท และหนี้เดินรถและซ่อมบำรุงส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงหมอชิต - คูคตและช่วงแบริ่ง - สมุทรปราการพร้อมดอกเบี้ย วงเงิน 9,406 ล้านบาท โดยให้ชำระให้แล้วเสร็จภายใน 180 วันตั้งแต่วันที่คดีถึงที่สุด
ล่าสุด ‘ธงทอง จันทรางศุ’ ประธานคณะกรรมการ บจ.กรุงเทพธนาคม นัดประชุมบอร์ดทันทีในวันที่ 8 ก.ย. 2565 ที่ผ่านมา โดยมีมติให้อุทธรณ์คำพิพากษา พร้อมกับจะนำความหารือ ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ ผู้ว่ากทม.ต่อไป โดย ‘วิศณุ ทรัพย์สมพล’ รองผู้ว่ากทม.ที่กำกับงานด้านโครงสร้างพื้นฐาน บอกว่า จะนำหารือในการประชุมสภา กทม.14 ก.ย.นี้ด้วย โดยล่าสุดมีรายงานข่าวว่า การยื่นอุทธรณ์ศาลปกครองสูงสุดจะเกิดขึ้นไม่เกินวันที่ 7 ต.ค. 2565 แน่นอน
- ศาลสั่ง ‘กทม.-เคที’ จ่าย 1.1 หมื่นล้าน ปมค้างค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว
- เคาะอุทธรณ์จ่ายเดินรถ ‘สายสีเขียว’ ‘ธงทอง’ จ่อถก ‘ชัชชาติ’ เพื่อความชัดเจน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สืบค้นคำพิพากษาฉบับเต็มในคดีหมายเลขดำที่ 1242/2564 คดีหมายเลขแดงที่ 1926/2565 มีสาระสำคัญ ดังนี้
ปฐมบทแห่งการฟ้องร้อง
BTSC ในฐานะผู้ฟ้องคดี ได้ฟ้องร้อง กทม.เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และ บจ.กรุงเทพธนาคม เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 โดยกทม.ทำสัญญาจ้างเคที บริหารจัดการเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงสะพานตากสิน - บางหว้า และช่วงอ่อนนุช - แบริ่ง จากนั้นเคทีได้ทำสัญญาว่าจ้าง BTSC เป็นผู้ให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง สัญญาเลขที่ กธ.ส.006/55 ลงวันที่ 3 พ.ค. 2555 โดยตามสัญญา เคทีจะต้องชำระเงินค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงให้ BTSC ภายในวันที่ 20 ของทุกเดือน ซึ่งในสัญญาระบุถึงจำนวนเงินที่ต้องจ่ายในแต่ละเดือนไว้แล้ว ซึ่งเคทีไม่ได้ชำระเลยตั้งงวดเดือน พ.ค. 2562 - ปัจจุบัน รวมมูลหนี้ 2,731,911,852.94 บาท
อีกทั้ง ในส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต และช่วงแบริ่ง - เคหะสมุทรปราการ หลังจากมีการทำ MOU รับโอนภาระทางการเงินและจำหน่ายโครงการส่วนนี้มาให้ กทม. จากนั้น กทม.ได้ทำบันทึกมอบหมายกิจการในอำนาจหน้าที่ให้เคทีเป็นผู้บริหารจัดการโครงการและมีสิทธิ์ในการดำเนินโครงการ รวมถึงจัดให้มีระบบเดินรถและบริหารจัดการการเดินรถ ซึ่งในบันทึกดังกล่าวระบุให้เคทีนำรายได้ค่าโดยสารจากบัญชีธนาคารที่เปิดในนาม กทม. มาชำระค่าจ้างการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงตามจำนวนค่าใช้จ่ายของโครงการที่เกิดขึ้นจริง หากรายได้ค่าโดยสารไม่พอ กทม.ตกลงที่จะจะอุดหนุนเงินมาชำระค่าใช้จ่ายในส่วนที่ขาดได้
หลังจากเคทีก็มาว่าจ้าง BTSC เป็นผู้บริหารจัดการเดินรถ แต่ส่วนต่อขยายนี้ไม่เคยมีการเก็บค่าโดยสารเลย ทำให้เคทีไม่จ้างค่าจ้างตามที่มีการทำสัญญาจ้างกันไว้ จนทำให้มียอดหนี้รวมทั้งหมด 9,406,418,719.36 บาท ดังนั้น BTSC จึงเห็นว่าทั้ง กทม.และเคทีควรจ่ายหนี้ตามสัญญาข้างต้นพร้อมดอกเบี้ย วงเงินรวม 12,137,618,572.30
กทม.-เคที อ้างคำสั่ง ม.44 ทำให้ต้องชะลอจ่าย
หนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้ กทม.และเคที ไม่ได้จ่ายหนี้ดังกล่าว ทั้ง 2 หน่วยงานอ้างตรงกันว่า เป็นเพราะการออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2562 เรื่อง การดำเนินการรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยอ้างว่าคณะกรรมการที่จัดตั้งตามคำสั่งนี้ ได้นำค่าบริการเดินรถและค่าซ่อมบำรุง รวมเข้ามาอยู่ในเงื่อนไขการเจรจากับทาง BTSC ที่ในคำสั่งนี้ระบุให้มีการเจรจาด้วย จึงได้มีหนังสือแจ้งไปยังเคทีทราบถึงการดำเนินการตามคำสั่งดังกล่าว และให้ชะลอการจ่ายเงินส่วนที่ขาดในปี 2561 และ 2562 โดยเรื่องนี้กำลังอยู่ระหว่างการเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา ดังนั้น จึงไม่ถือว่า BTSC มีสิทธิโต้แย้งอันเป็นเหตุให้ได้รับความเสียหาย ผู้ฟ้องคดีจึงไม่มีสิทธิฟ้องคดีนี้ต่อศาล
และเมื่อ BTSC ส่งหนังสือทวงหนี้มา เคทีก็ได้แจ้งกทม.ให้จ่ายหนี้ดังกล่าวแล้ว ซึ่ง กทม. ก็มีการเสนอข้อบัญญัติ กทม. เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 (ฉบับที่...) พ.ศ....ต่อสภากรุงเทพมหานคร (สภากทม.) แล้ว เพื่อนำเงินสะสมของกทม.ออกมาชำระ แต่สภากทม.ไม่อนุมัติ
การประชุมคณะกรรมการ บจ.กรุงเทพธนาคม (เคที) เมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2565 ที่ผ่านมา
เคที อ่วม ยกกฎหมายแพ่งเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้แล้ว
ศาลปกครองพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ในส่วนของส่วนต่อขยายที่ 1 ตามสัญญาเลขที่ กธ.ส.006/2555 ลงวันที่ 3 พ.ค. 2555 ได้ระบุถึงเงื่อนไขในข้อ 7.1 ว่า ‘หากเคทีไม่จ่ายค่าจ้างให้ BTSC ในวันที่ 20 ของเดือนถัดไป เคทีจะต้องชำระดอกเบี้ยสำหรับค่าจ้างที่ค้างชำระนั้นในอัตราดอกเบี้ยตามสัญญา’ ถือว่าหนี้จำนวนนี้ เป็นหนี้ที่มีกำหนดเวลาในการชำระหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่ง มาตรา 203 วรรคสอง ประกอบมาตรา 204 วรรคสอง จึงให้ถือว่า เคทีเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้แล้วโดยมิต้องพักเตือน
ในส่วนของส่วนต่อขยายที่ 2 ตามสัญญาเลขที่ กธ.ส.024/2559 ลงวันที่ 1 ส.ค. 2559 กำหนดเงื่อนไขการจ่ายค่าจ้างในการแก้ไขสัญญาเพิ่มเติม (ครั้งที่ 1) ว่า งวดเดือน เม.ย. 2560 - พ.ย. 2561 เคทีจะจ่ายค่าจ้างให้ภายในวันที่ 20 ของเดือนถัดไป หากไม่ชำระได้ทั้งหมด จะมีหนังสือแจ้ง BTSC ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในส่วนต่อขยายที่ 2 นี้ ยังไม่มีนโยบายให้เก็บค่าโดยสารจากผู้โดยสาร เคทีจึงไม่สามารถนำเงินค่าโดยสารเป็นค่าใช้จ่ายในส่วนต่อขยายที่ 2 ได้ จึงไม่สามารถจ่ายค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงได้ตั้งแต่งวดเดือน เม.ย. 2560 - พ.ค. 2564
กทม.ไม่รอด ต้องรับผิดชอบตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารฯ
อย่างไรก็ตาม คดีนี้มีปัญหาต้องพิจารณาต่อว่า แล้วกทม.จะต้องรับผิดชอบหนี้ดังกล่าวร่วมกับเคทีหรือไม่ กรณีนี้ศาลเห็นว่า กทม.ดำเนินกิจการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 และ 2 ก็เพื่อบรรเทาปัญหาจราจรในกรุงเทพฯ จึงเป็นการดำเนินกิจการบริการสาธารณะ ที่อยู่ในอำนาจหน้าที่จองกทม. ตามพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร 2528 มาตรา 89 วรรคหนึ่ง (6)(7) และ (8)
อีกทั้ง กทม. เป็นผู้ถือหุ้น 99.98% ในเคที ซึ่งการบริหารโครงการของเคทีตามสัญญาหรือบันทึกข้อตกลงระหว่าง กทม. กับเคที มิใช่เป็นการแสวงหาประโยชน์หรือกำไร แต่เพื่อให้กิจการสาธารณะของ กทม. คล่องตัว กทม.ยังมีหน้าที่สนับสนุนค่าบริการเดินรถและซ่อมบำรุงให้เคที ดังนั้น หากเคทีมีหนี้ต้องชำระตามสัญญา กทม.ก็ต้องร่วมรับผิดชอบในการชำระหนี้ดังกล่าวกับเคที ให้แก่ BTSC ด้วย
กทม.-เคที ยังไม่ได้นัดคุยกัน
แหล่งข่าวจาก กทม.เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา ว่า นายชัชชาติยังไม่ได้หารือกับนายธงทอง จันทรางศุ ประธาน บจ.กรุงเทพธนาคม แต่คาดว่าไม่เกินสัปดาห์นี้น่าจะมีการหารืออย่างเป็นทางการ อนึ่งคำพิพากษาจากศาลปกครองเพิ่งออกมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ตามระเบียบต้องยื่นอุทธรณ์ใน 30 วัน ดังนั้นยังมีเวลาในการพิจารณา
เมื่อถามถึงกรณีที่นายชัชชาติระบุว่า หากสุดท้ายรัฐบาลไม่เห็นด้วยกับการอุดหนุนหนี้การโอนทรัพย์สินหนี้สินในส่วนต่อขยายที่ 2 วงเงิน 5.1 หมื่นล้านบาท จะโอนกลับไปให้กระทรวงคมนาคมนั้น เป็นความจริงหรือไม่่ แหล่งข่าวปฏิเสธที่จะตอบคำถามนี้ โดยขอให้สอบถามกับนายชัชชาติเอง
ด้านความเคลื่อนไหวฝั่งเคที ผู้สื่อข่าวพยายามโทรศัพท์สอบถามความคืบหน้าจากนายธงทอง แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถติดต่อได้
ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม (เสื้อเทา)
'ศักดิ์สยาม' โยน 'ชัชชาติ' ตอบเอง - 'คมนาคม' เผยโอนกลับทำได้ แต่เสียเวลา
ขณะที่ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยสำนักข่าวอิศราถึงกรณีที่ กทม. อาจจะโอนส่วนต่อขยายที่ 2 กลับมาเป็นของกระทรวง และ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) สามารถทำได้หรือไม่ นายศักดิ์สยาม ตอบกลับเพียงว่า "ไม่ทราบ ขอให้ไปถามกับนายชัชชาติ"
ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า แนวคิดดังกล่าวเป็นสิ่งที่กระทรวงสามารถทำได้โดยที่ กทม.จะต้องขอแก้มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปี 2559 และ 2561 ที่กำหนดให้มีการโอนหนี้สินทรัพย์สินจาก รฟม.ไปสู่ กทม. แต่ในขั้นตอนก็ต้องมีการตั้งคณะกรรมการหารือร่วมกันอยู่ดี เหมือนเมื่อครั้งสมัย ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร เป็นผู้ว่าฯกทม.ที่มาขอรับโครงการส่วนนี้ไป โดยยืนยันว่าบริหารได้ ไม่เป็นปัญหา จนนำมาสู่มติ ครม.ที่ให้โอนในปี 2559 ในที่สุด
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่ กทม.อ้างว่า มูลค่าหนี้ 5.1 หมื่นล้านบาท รับไม่ไหว จริงๆแล้วงานโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น รถไฟฟ้า ทางหลวง ทางด่วน มอเตอร์เวย์ เป็นโครงการที่ต้องใช้เวลาในจ่ายหนี้ยาวนานอยู่แล้ว และเป็นที่รู้กันว่าโครงการเหล่านี้คืนทุนช้า ต้องใช้เวลา 20-30 ปี เป็นอย่างน้อย ดังนั้น กทม.ก็ไม่น่าจะวิตกกังวลอะไร
"10 ปีที่แล้ว มาขอเราว่าทำได้ มีศักยภาพเพียงพอที่จะดูแลโครงการนี้ เรา (กระทรวงคมนาคม) ก็ไม่ได้คัดค้าน มีการเสนอ ครม. ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาคุยกัน ใช้เวลายาวนานเกือบ 10 ปีกว่าจะได้ข้อยุติ มาวันนี้กระบวนการโอนกำลังจะเสร็จสิ้นก็เปลี่ยนอีกแล้ว จะขอให้กระทรวงคมนาคมรับกลับไปเองอีก ก็ต้องมาเสียเวลาคุยกันอีก ก็ขอให้กทม.อย่าเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาแบบนี้อีก เพราะเสียเวลาทำงานในด้านอื่นๆ ที่ยังมีภารกิจต้องทำอีกมาก" แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมกล่าวในช่วงท้าย
ต้องจับตาดูว่ารถไฟฟ้าสายสีเขียวในมือ 'ชัชชาติ สิทธิพันธุ์' ที่เสมือนเป็น 'เผือกร้อน' จะไปจบลงตรงไหน?