“…สำหรับประชาชนทุกคน การมีหลักประกันทางรายได้เมื่อสูงอายุถือว่าเป็นสิทธิที่จำเป็น และต้องมีจำนวนที่พอเพียง เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพ โดยรัฐต้องจัดให้มีบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้าแบบถ้วนหน้า ให้ประชาชนที่อายุ 60 ปีทุกคน ด้วยสิทธิที่เสมอกัน ภายใต้หลักการสวัสดิการ…”
...............................................
สืบเนื่องจากกรณีที่ นายกรัฐมนตรี ‘ไม่รับรอง’ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการมีบำนาญประชาชนฯ ซึ่งเป็น ร่าง พ.ร.บ.ที่เกี่ยวด้วยการเงิน หรือ ‘ร่างการเงิน’ จำนวน 3 ฉบับ ประกอบด้วย ร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติและสวัสดิการผู้สูงอายุ พ.ศ. .... เสนอโดยคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ กับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 11,856 คน
ร่าง พ.ร.บ.บำนาญพื้นฐานถ้วนหน้า พ.ศ. .... เสนอโดยนายเซีย จำปาทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กับคณะ และ ร่าง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เสนอโดย นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กับคณะ นั้น (อ่านประกอบ : นายกฯตีตก‘ร่าง พ.ร.บ.บำนาญประชาชน’ 3 ฉบับ-‘ภาคปชช.’ไม่แปลกใจ เหตุรบ.มุ่งแจก‘เงินหมื่น’)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอสาระสำคัญของ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการมีบำนาญประชาชนฯ ทั้ง 3 ฉบับ สรุปได้ ดังนี้
@ให้‘บำนาญพื้นฐานถ้วนหน้า’ 3 พันบาท-ปรับทุก 3 ปี
ร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติและสวัสดิการผู้สูงอายุ พ.ศ. .... เสนอโดยคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ กับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 11,856 คน มีจำนวน 42 มาตรา สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
หลักการของกฎหมาย
ร่าง พ.ร.บ.นี้ เป็นการกำหนดให้ผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และมีสัญชาติไทยได้รับบำนาญแห่งชาติเป็นจำนวนเงิน 3,000 บาทต่อเดือนต่อคน และได้รับความช่วยเหลือสวัสดิการด้านอื่นๆ
บททั่วไป (ร่างมาตรา 6 ถึง ร่างมาตรา 10)
-กำหนดให้รัฐต้องจัดให้มีบำนาญแห่งชาติเพื่อเป็นหลักประกันรายได้อันเพียงพอแก่การยังชีพผู้สูงอายุ
-กำหนดให้รัฐต้องให้ความช่วยเหลือผู้สูงอายุ โดยให้ผู้สูงอายุได้รับการคุ้มครอง การส่งเสริม และการสนับสนุนเพื่อให้การใช้ชีวิตของผู้สูงอายุเป็นไปอย่างมีคุณภาพ
-ร่าง พ.ร.บ.นี้ เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ คือ
1.ไม่มีการจัดตั้งกองทุนขึ้นใหม่ แต่เป็นการกำหนดให้กองทุนผู้สูงอายุที่มีอยู่แล้วตาม พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 ยังคงดำรงอยู่ต่อไปใน พ.ร.บ.นี้
2.ไม่ได้สร้างบทบัญญัติการเรียกเก็บเงินบำรุงกองทุนจากผู้มีหน้าที่เสียภาษีสรรพสามิต ในส่วนที่เกี่ยวกับสุราและยาสูบขึ้นใหม่ แต่เป็นการกำหนดให้บทบัญญัติดังกล่าวใน พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 ยังคงดำรงอยู่ต่อไปในพระราชบัญญัตินี้
หมวด 2 สิทธิผู้สูงอายุในการได้รับบำนาญแห่งชาติและความช่วยเหลือสวัสดิการจากรัฐ (ร่างมาตรา 11 ถึง ร่างมาตรา 16)
-กำหนดให้ผู้สูงอายุมีสิทธิได้รับบำนาญแห่งชาติในอัตรา 3,000 บาทต่อเดือนต่อคน โดยเบิกจ่ายจากกองทุนผู้สูงอายุ
-ผู้สูงอายุซึ่งมีสิทธิ์ได้รับบำนาญตามกฎหมายอื่น สามารถเลือกรับบำนาญแห่งชาติตามกฎหมายนี้ได้ หากยกเลิกสิทธิบำนาญตามกฎหมายอื่น แต่สำหรับผู้สูงอายุที่ได้รับสิทธิเบี้ยความพิการ การรับบำนาญชราภาพจากกองทุนประกันสังคมหรือกองทุนการออมแห่งชาติ สามารถใช้สิทธิรับบำนาญแห่งชาติได้ โดยไม่ต้องไปยกเลิกสิทธิที่ตนมีอยู่
-ในกรณีผู้สูงอายุเลือกที่จะยกเลิกสิทธิการได้รับบำนาญตามกฎหมายอื่น เพื่อมารับบำนาญแห่งชาติ สิทธิที่เป็นจำนวนเงินตามกฎหมายอื่นจะถูกโอนมาเป็นเงินและทรัพย์สินของกองทุนผู้สูงอายุตามกฎหมายนี้
-กำหนดให้ในทุก 3 ปี ต้องมีการศึกษาว่าอัตราบำนาญแห่งชาติ 3,000 บาทต่อเดือนต่อคนนั้น ควรปรับปรุงหรือไม่และเป็นจำนวนเท่าใด
-กำหนดให้ผู้สูงอายุได้รับความช่วยเหลือสวัสดิการเพื่อการคุ้มครองการส่งเสริม และการสนับสนุนจากรัฐในด้านต่างๆ เพื่อการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพของผู้สูงอายุ เช่น การบริการทางการแพทย์ การประกอบอาชีพหรือการฝึกอาชีพ การอำนายความสะดวก ในการใช้อาคารสถานที่ หรือยานพาหนะ การช่วยเหลือค่าโดยสารยานพาหนะและการอื่นตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติกำหนด
หมวด 3 กองทุนผู้สูงอายุ (ร่างมาตรา 17 ถึง ร่างมาตรา 28)
-กำหนดให้กองทุนผู้สูงอายุตาม พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 ยังคงดำรงอยู่ โดยเป็นกองทุนผู้สูงอายุตามพระราชบัญญัตินี้
-เงินและทรัพย์สินของกองทุนได้มาจากเงินและทรัพย์สินของกองทุนผู้สูงอายุตาม พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 เงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาค เงินรายได้จากการออกสลากการกุศล หรือเงินบำรุงตามมาตรา 20 เป็นต้น โดยเงินและทรัพย์สินเหล่านี้ไม่ต้องนำส่งกระทรวงการคลังเป็นรายได้แผ่นดิน
-ร่างมาตรา 20 กำหนดให้บทบัญญัติการเรียกเก็บเงินบำรุงกองทุนผู้สูงอายุ จากผู้มีหน้าที่เสียภาษีสรรพสามิตของสุราและยาสูบตาม พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 ยังคงมีผลอยู่ โดยนำมาไว้ในพระราชบัญญัตินี้
-กำหนดโทษให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีสรรรพสามิต หากไม่ส่งเงินบำรุงเข้ากองทุนหรือส่งไม่ครบถ้วนต้องระวางโทษปรับเป็นจำนวน 20 เท่าถึง 40 เท่าของจำนวนเงินที่ต้องนำส่งโดยไม่มีโทษจำคุก
-กำหนดให้ผู้บริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้แก่กกองทุนหรือผู้อุปการะเลี้ยงดูผู้สูงอายุ มีสิทธิได้รับการลดหย่อนภาษีตามที่ประมวลรัษฎากรกำหนด
หมวด 4 การควบคุมและการบริหาร (ร่างมาตรา 29 ถึง ร่างมาตรา 40)
-กำหนดให้มีคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ประกอบด้วยกรรมการโดยตำแหน่งและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานกรรมการ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี และจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน 2 วาระไม่ได้ เป็นต้น
-กำหนดหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ เช่น การกำหนดนโยบายและแผนหลักเกี่ยวกับบำนาญแห่งชาติ บำนาญ การคุ้มครอง การส่งเสริม และการสนับสนุนการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพของผู้สูงอายุ
-กำหนดให้มีคณะกรรมการบริหารกองทุน ซึ่งประกอบด้วยกรรมการ โดยตำแหน่งและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ โดยให้ปลัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานกรรมการ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิแต่งตั้งโดยคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ เป็นต้น
@รัฐมีหน้าที่จัด‘บำนาญพื้นฐาน’ไม่ต่ำกว่าเส้นความยากจน
ร่าง พ.ร.บ.บำนาญพื้นฐานถ้วนหน้า พ.ศ. .... เสนอโดยนายเซีย จำปาทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล (ขณะนั้น) กับคณะ มี 15 มาตรา สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
หลักการ
ให้มีกฎหมายบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้า
เหตุผล
โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย มาตรา 48 ได้บัญญัติให้บุคคลซึ่งมีอายุเกินหกสิบปีและไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ และบุคคลผู้ยากไร้ย่อมมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสมจากรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ
และหมวด 6 แนวนโยบายบายแห่งรัฐ มาตรา 71 ได้บัญญัติให้รู้พึงให้ความช่วยเหลือเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ยากไร้และผู้ด้อยโอกาส ให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ
ปัจจุบันประเทศไทยมีระบบบำนาญเพื่อเป็นหลักประกันทางรายได้สำหรับผู้สูงอายุในหลายระบบ ที่รัฐดำเนินการเพื่อจ่ายเป็นรายได้รายเดือนไปตลอดช่วงชีวิตของผู้สูงอายุ ทั้งนี้ เป็นการใช้จ่ายเงินจากงบประมาณในหลายรูปแบบ คือ การจ่ายเป็นเบี้ยยังชีพให้ผู้สูงอายุทุกคน การจ่ายเป็นบำเหน็จบำนาญให้ข้าราชการ ข้าราชการส่วนท้องถิ่น
การสมทบเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนของครูโรงเรียนเอกชน กองทนการออมแห่งชาติ นอกจากนี้ รัฐยังบังคับให้นายจ้างและลูกจ้างร่วมจ่ายเข้าในกองทุนบำนานาญภายใต้กฎหมายประกันสังคม
สำหรับประชาชนทุกคน การมีหลักประกันทางรายได้เมื่อสูงอายุถือว่าเป็นสิทธิที่จำเป็น และต้องมีจำนวนที่พอเพียง เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพ โดยรัฐต้องจัดให้มีบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้าแบบถ้วนหน้า ให้ประชาชนที่อายุ 60 ปีทุกคน ด้วยสิทธิที่เสมอกัน ภายใต้หลักการสวัสดิการ
เป็นสิทธิอันพึงมีของประชาชน ที่มิใช่เป็นหน้าที่ของรัฐในการสงเคราะห์ ไม่มีความแตกต่างเหลือมล้ำกันในระหว่างประชากรอาชีพต่างๆ ทั้งนี้ สมควรให้มีกฎหมายว่าด้วยบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้า เพื่อเป็นบำนาญพื้นฐาน เป็นหลักประกันรายได้สำหรับผู้สูงอายุทุกคน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
สรุปสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.บำนาญพื้นฐานถ้วนหน้า พ.ศ. ....
หมวด 1 บททั่วไป
-กำหนดให้บุคคลทุกคนที่มีสัญชาติไทยซึ่งมีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปให้ได้รับบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้า โดยไม่ตัดสิทธิประโยชน์ของผู้สูงอายุที่ได้รับบำนาญตามกฎหมายอื่น (ร่างมาตรา 5)
-กำหนดให้รัฐมีหน้าที่จัดบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้า และกำหนดอัตราบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้าปรับเพิ่มทุกสามปีตามเส้นความยากจนที่กำหนดโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ร่างมาตรา 6)
หมวด 2 อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ
-ให้คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติเป็นคณะกรรมการบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้า และมีอำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ.นี้ (ร่างมาตรา 7)
-ให้กรรมการที่มีส่วนได้เสียในเรื่องที่พิจารณา ห้ามมิให้เข้าร่วมพิจารณาในเรื่องนั้น (ร่างมาตรา 8)
-กำหนดให้การปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ.นี้ คณะกรรมการมีอำนาจออกคำสั่งเรียกให้บุคคลผู้เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำ และให้ส่งเอกสารประกอบการพิจารณาได้ (ร่างมาตรา 9)
-กำหนดให้มีคณะอนุกรรมการเฉพาะด้านเพื่อปฏิบัติหน้าที่ ให้คำแนะนำปรึกษาต่อคณะกรรมการ แนะนำเสนอแนะทางวิชาการต่อคณะกรรมการ และปฏิบัติการอื่นตามที่คณะกรรมการมอบหมาย (ร่างมาตรา 10)
หมวด 3 บทกำหนดโทษ
-กำหนดให้ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการตามมาตรา 7 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (ร่างมาตรา 12)
-กำหนดให้ผู้ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (ร่างมาตรา 13)
-กำหนดให้กรณีที่รัฐจ่ายเงินบำนาญพื้นฐานล่าช้า ไม่ครบถ้วน รัฐต้องจ่ายเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี จนกว่าจะจ่ายครบถ้วน (ร่างมาตรา 14)
บทเฉพาะกาล
-กำหนดให้คณะกรรมการใช้อำนาจตามมาตรา 7 ประกาศปรับเปลี่ยนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุให้เป็นบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้า ตามมาตรา 6 ภายใน 180 สิบวัน หลัง พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ (ร่างมาตรา 15)
@ให้‘บำนาญพื้นฐานรายเดือน’ สร้าง‘หลักประกันรายได้’
ร่าง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เสนอโดย นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล (ขณะนั้น) กับคณะ ประกอบด้วย 5 มาตรา ดังนี้
ร่างมาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติผู้สูงอายุ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....”
ร่างมาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ร่างมาตรา 3 ให้ยกเลิกความใน (11) ของมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2553 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“(11) การจ่ายเงินบำนาญพื้นฐานเป็นรายเดือนเพื่อเป็นหลักประกันรายได้แก่ผู้สูงอายุตามอัตราที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ และมีอัตราไม่ต่ำกว่าเส้นความยากจนตามที่กำหนดโดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในปีก่อนจ่าย ในกรณีผู้สูงอายุได้รับสิทธิสวัสดิการจากรัฐตามกฎหมายอื่นที่มีการจ่ายในทำนองเดียวกันกับเงินบำนาญพื้นฐานนี้ ให้ผู้นั้นเลือกรับสิทธิได้ทางเดียวเว้นแต่ผู้สูงอายุที่ได้รับสิทธิเบี้ยความพิการ การรับบำนาญชราภาพจากกองทุนประกันสังคม การรับบำนาญจากกองทุนการออมแห่งชาติ ทั้งนี้ ให้แต่ละปีมีการปรับปรุงอัตราการจ่ายไม่ต่ำกว่าเส้นความยากจน”
ร่างมาตรา 4 ในระยะเริ่มแรกให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาปรับอัตราการรับบำนาญพื้นฐานของประชาชนให้เพิ่มขึ้น ให้มีอัตราเท่ากับเส้นความยากจนตามที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกำหนด ทั้งนี้ จะต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในสามปีนับตั้งแต่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
ร่างมาตรา 5 ให้นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
@‘รมว.พม.’ยังไม่เสนอ‘ครม.’เคาะปรับเพิ่ม‘เบี้ยผู้สูงอายุ’
อย่างไรก็ดี ในขณะที่ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการมีบำนาญประชาชนฯ ทั้ง 3 ฉบับ อยู่ในสถานะ ‘ไม่ได้รับการรับรอง’ จากนายกฯ ทำให้ร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 3 ฉบับ ถูกตีตกไป นั้น ปรากฎว่าในส่วนของการปรับเพิ่ม ‘เบี้ยผู้สูงอายุ’ จาก 600-1,000 บาท/ราย เป็น 1,000 บาท แบบ ‘ถ้วนหน้า’ ตามมติคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนสวัสดิการโดยรัฐ เมื่อวันที่ 21 ก.พ.2567 และมติที่ประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ครั้งที่ 1/2567
ยังไม่มีความคืบหน้าเช่นกัน
โดยในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.2567 ที่มี แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ เป็นประธานฯ ครม. มีมติรับทราบสรุปผลการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 24 ต.ค.2567
และ ครม. ได้ มอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) นำข้อเสนอการปรับปรุงสวัสดิการกลุ่มเปราะบาง ตามมติคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนฯ ครั้งที่ 1/2567 ได้แก่
(1) ปรับการสนับสนุนเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดจนถึง 6 ปี จำนวน 600 บาท เป็นแบบถ้วนหน้า
(2) ปรับการอุดหนุนเบี้ยผู้สูงอายุ เป็นแบบถ้วนหน้า เดือนละ 1,000 บาท
(3) ปรับเบี้ยความพิการจาก 800 บาทต่อคนต่อเดือน เป็น 1,000 บาทต่อเดือน และค่าตอบแทนผู้ช่วยคนพิการ เป็นชั่วโมงละ 100 บาท และ
(4) เงินอุดหนุนสตรีมีครรภ์ (อายุครรภ์ตั้งแต่ 5 เดือนถึงคลอด) จำนวน 3,000 บาท/คน/เดือน แบบถ้วนหน้า
ไปพิจารณาให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ก่อนนำมาเสนอ ครม.อีกครั้ง
“คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 24 ธ.ค.2567 รมว.กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีความเห็นว่า สรุปผลการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 24 ต.ค.2567 ที่เสนอมาในครั้งนี้
มีประเด็นเกี่ยวกับการปรับปรุงสวัสดิการของกลุ่มเปราะบาง ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกับที่ ครม. ได้มีมติ (29 พ.ย.2567) รับทราบข้อเสนอ “การพัฒนาหลักประกันบริการทางสังคมแก่กลุ่มเป้าหมายที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน” (เช่น ขยายเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดให้ครอบคลุม โดยให้เงินอุดหนุนแบบถ้วนหน้าและขยายอายุของเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์ 4 เดือน ถึง 6 ปี ในอัตรา 600 บาทต่อคนต่อเดือน การปรับเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแบบขั้นบันได) ของคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ
และมอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นหน่วยงานหลักรับเรื่องนี้ไปพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับความจำเป็นเหมาะสมของการดำเนินการตามข้อเสนอนโยบายดังกล่าวให้สอดคล้องกับสถานการณ์และสภาพสังคมในปัจจุบัน โดยให้คำนึงถึงประโยชน์และความคุ้มค่าในการดำเนินการ รวมทั้งภาระงบประมาณที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งในขณะนี้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์อยู่ระหว่างการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว
ดังนั้น ในชั้นนี้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จึงขอรับสรุปผลการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมครั้งที่ 1/2567 เฉพาะในส่วนของเรื่อง เห็นชอบการขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการโดยรัฐ ด้านสวัสดิการกลุ่มเปราะบาง
ไปพิจารณาให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและข้อเสนอนโยบายตามมติคณะรัฐมนตรี (29 พ.ย.2567) ดังกล่าว ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่งต่อไป ซึ่งคณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้วลงมติว่า
1.รับทราบสรุปผลการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 24 ต.ค.2567 ยกเว้นในส่วนของเรื่อง เห็นชอบการขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการโดยรัฐ ด้านสวัสดิการกลุ่มเปราะบาง และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดดำเนินการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องตามหน้าที่และอำนาจต่อไป ตามที่คณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมเสนอ
ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม คณะอนุกรรมการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รับความเห็นของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและกระกระทรวงยุติธรรม ไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปด้วย
2.ในส่วนของเรื่อง เห็นชอบการขับเคลื่อนโยบายสวัสดิการโดยรัฐ ด้านสวัสดิการกลุ่มเปราะบาง เห็นชอบให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์รับ ไปพิจารณาให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและข้อเสนอนโยบายตามมติคณะรัฐมนตรี (29 พ.ย.2567) แล้วให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่งต่อไป ตามความเห็นของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์” มติ ครม. เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.2567 ระบุ
โดยหลังจาก ครม. มีมติเมื่อวันที่ 24 ธ.ค.2567 จนุถึงขณะนี้ผ่านมาเป็นเวลาเกือบ 2 เดือนแล้ว แต่ วราวุธ ศิลปอาชา รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ยังไม่ได้เสนอเรื่องการขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการโดยรัฐ ด้านสวัสดิการกลุ่มเปราะบาง ซึ่งรวมถึงแนวทางการปรับเพิ่ม ‘เบี้ยผู้สูงอายุ’ ให้ ครม. พิจารณาแต่อย่างใด ทั้งนี้ คาดว่า พม. น่าจะมีการเสนอเรื่องดังกล่าวเข้า ครม. ในเร็วๆนี้
แม้ว่า ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการมีบำนาญประชาชนฯ ที่เสนอโดยภาคประชาชนและสส.ฝ่ายค้าน มีอันต้องแท้งไป เพราะ ‘นายกฯไม่รับรอง’ ด้วยเหตุว่าการจัดสวัสดิการ ‘บำนาญประชาชนถ้วนหน้า’ ดังกล่าว จะสร้างภาระทางการคลังอย่างมากในระยะยาว แต่ก็ยังต้องติดตามกันต่อไปว่าการขับเคลื่อน ‘บำนาญประชาชน’ ในประเทศไทย จะมีบทสรุปอย่างไร?
นายกฯตีตก‘ร่าง พ.ร.บ.บำนาญประชาชน’ 3 ฉบับ-‘ภาคปชช.’ไม่แปลกใจ เหตุรบ.มุ่งแจก‘เงินหมื่น’
บำนาญประชาชน : ถึงเวลานับหนึ่งได้หรือยัง? ( 3 )
บำนาญประชาชน : ถึงเวลานับหนึ่งได้หรือยัง? (2)
'อัตราบำนาญพื้นฐาน'ที่เหมาะสม และข้อพิจารณาทางเศรษฐกิจของประเทศ
บำนาญประชาชน : ถึงเวลานับหนึ่งได้หรือยัง?
เพิ่ม'เบี้ยผู้สูงอายุ' 1 พันบาท 'ถ้วนหน้า' ปูทาง'บำนาญประชาชน'?
เปิดรายงาน'กมธ.'ฉบับล่าสุด ชี้ช่อง'แหล่งรายได้'โปะ‘บำนาญประชาชน’-แนะลดงบฯซ้ำซ้อน 4 หมื่นล.
'เครือข่ายภาคปชช.'เรียกร้อง'รัฐบาล'ผลักดันนโยบาย'บำนาญแห่งชาติ'
'วราวุธ'แจงขึ้นเบี้ยผู้สูงอายุถ้วนหน้า 1 พันบาทไม่ได้ ชี้รายรับ-รายจ่าย รบ.สวนทางกัน
อีกครั้งสำหรับการพัฒนา'บำนาญผู้สูงอายุ' เพื่อระบบเศรษฐกิจที่เป็นธรรม
ต่างกัน 4 เท่า! เทียบงบ‘เบี้ยผู้สูงอายุ-บำนาญขรก.’10ปี ก่อน‘รบ.บิ๊กตู่’รื้อเกณฑ์จ่ายคนชรา
‘จุรินทร์’ยันไม่ปรับเกณฑ์จ่าย‘เบี้ยผู้สูงอายุ’-‘นักวิชาการ’มองรัฐไม่กล้าเก็บภาษีคนรวย
รบ.แจงปรับลดเบี้ยผู้สูงวัย เฉพาะคนรวย ลดภาระงบประมาณ
รายจ่ายยากลดทอน 2 ล้านล.! เปิด‘ความเสี่ยงการคลัง’ล่าสุด หลัง‘นักการเมือง’โหม‘ประชานิยม’
สำรวจนโยบาย 'บำนาญแห่งชาติ-เพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ' สู้ศึกเลือกตั้ง-เสี่ยงภาระการคลัง?
เวทีเสวนาฯชงรีดภาษีมั่งคั่ง-ขึ้นVat หางบโปะ‘บำนาญแห่งชาติ’-ห่วง‘รุ่นเกิดล้าน’แก่แล้วจน
จุดยืนล่าสุด 5 พรรคการเมือง หนุน‘บำนาญแห่งชาติ’ แต่ไม่ฟันธงได้เดือนละ 3 พันบาท ปีไหน!
ข้อเสนอ 'บำนาญถ้วนหน้า' เดือนละ 3 พันบาท ทำได้-ไม่ได้ ใช้เงินเท่าไหร่-หาเงินจากไหน?
จี้เลิกลดหย่อนภาษีคนรวย-เจ้าสัว! ‘ภาคปชช.’เคลื่อนไหวผลักดัน‘บำนาญถ้วนหน้า’ 3 พันบาท/ด.
จาก'สงเคราะห์'สู่'สวัสดิการ' เพิ่ม'เบี้ยผู้สูงอายุ' 3 พันบาท ทางเลือกที่รัฐบาลทำได้?
ครม.อนุมัติ 8.3 พันล้าน เพิ่มเบี้ยยังชีพคนชรา 100-250 บาท 6 เดือน
ผลวิจัยฯชี้เพิ่ม‘เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ’เป็น 3 พันบาท/ด. ต้นทุนเทียบเท่าขึ้นแวต 16.9%
รมว.พม.รับข้อเสนอเครือข่ายประชาชน พัฒนา 'เบี้ยผู้สูงอายุ' เป็นระบบบำนาญ