"...อีกทั้งประโยชน์ของบำนาญพื้นฐาน คือ สามารถช่วยป้องกันวิกฤตสังคมเรื่องความยากจนในผู้สูงอายุ ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตมนุษย์ รักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ส่งผลดีต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านตัวทวีคูณทางการคลัง และสามารถลดความเหลื่อมล้ำผ่านการออกแบบเครื่องมือทางการคลัง โดยงานวิจัยนานาชาติแสดงให้เห็นว่า การลดความเหลื่อมล้ำช่วยเกิดผลทางบวกต่อศักยภาพทางเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้เร็วกว่า และลดความเสี่ยงที่จะเกิดความขัดแย้งรุนแรงทางการเมือง..."
ต้นเดือนพ.ค.67 ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้เสนอความเห็นเรื่องบำนาญประชาชนไปเป็นครั้งแรก โดยเสนอว่า ถึงเวลาที่ประเทศไทยควรเริ่มต้นจัดสวัสดิการเรื่องนี้อย่างจริงจัง ก่อนจะสายเกินไป และควรทำไปพร้อมๆกับการปฏิรูปโครงสร้างภาษีและการขยายฐานผู้เสียภาษีเพื่อรองรับ โดยผู้เขียนเสนอว่า ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภงด.90และภงด.91)ยังสามารถขยายได้อีกมาก หากรัฐฯรู้จักสร้างแรงจูงใจด้วยการกำหนดให้บำนาญประชาชนผูกโยงกับการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา : ไทยเก็บได้ต่ำมากที่สุดประเทศหนึ่ง
เมื่อต้นปี 2566 กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้เสนอ “ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับสวัสดิการของรัฐ พ.ศ.2565 “ ต่อที่ประชุมครม.ซึ่งสำรวจโดยสนง.สถิติแห่งชาติ สำรวจประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไปทุกจังหวัด จำนวน 6,970 คน ระหว่างวันที่ 17-31 ตุลาคม 2565 มีข้อมูลสำคัญที่น่าสนใจคือ ปัจจุบันภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา( ภงด.90 และ 91) รัฐเก็บได้เพียง 12.2% จากภาษีทั้งหมด ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น นอกจากนั้น ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ยังพบว่า ประชาชน 44.6%ยินยอมให้จัดเก็บได้โดยให้เหตุผลว่า เพื่อให้ได้สวัสดิการที่ครอบคลุมและทั่วถึงทุกช่วงวัย ยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเท่าเทียม ส่วนประชาชนอีก 37.5% ไม่ยินยอมให้จัดเก็บด้วยเหตุผลว่า ไม่มีเงินเพียงพอที่จะเสียภาษี กลัวรัฐฯจัดสวัสดิการไม่ทั่วถึง และไม่มีหลักเกณฑ์หรือกฎหมายที่แน่นอนที่จะรับประกันว่ารัฐฯจะจัดสวัสดิการให้
ผลสำรวจนี้บ่งบอกชัดเจนว่า ประชาชนไม่ไว้ใจรัฐฯในเรื่องการจัดสวัสดิการและเกรงจะนำภาษีไปใช้จัดสวัสดิการไม่ทั่วถึง
ตัวเลขในปี 2564 พบว่า มีผู้ยื่นแบบภงด.90และ91 รวม 10.8 ล้านคน แต่มีผู้จ่ายภาษี 4.17ล้านคน คิดเป็น 38%ของผู้ยื่นแบบ คิดเป็นเงิน 3.38 แสนล้านบาทเฉลี่ยแล้วเสียภาษี 81,055 บาท/คน/ปี และในจำนวน 4.17 ล้านคนนี้เป็นภงด.91จำนวนราว 2.8 ล้านคน เป็นภงด.90 จำนวนราว 1.4 ล้านคน
ตัวเลขปี 2565 มีผู้ยื่นแบบภงด.90และ91 รวม 11.3 ล้านคน มีผู้จ่ายภาษี 4.23 ล้านคน คิดเป็นเงิน 3.68 แสนล้านบาท เฉลี่ยแล้วเสียภาษี 86,997 บาท/คน/ปี นอกจากนั้นยังพบว่า ช่วงปี 2556 – 2564 มีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 1.6% เท่านั้น ถือว่าต่ำมาก
และจากการสำรวจยังพบอีกว่า
-มีแรงงานที่มีรายได้จากเงินเดือนประจำและค่าจ้าง 18.6 ล้านคน มีรายได้ถึงเกณฑ์เสียภาษีและต้องยื่นแบบ 10.5 ล้านคน มีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีต้องยื่นแบบ 8.1 ล้านคน มายื่นแบบจริงเพียง 7.9 ล้านคน
-มีแรงงานประเภทอื่น เช่น ทำอาชีพอิสระ เกษตรกร หรือผู้มีรายได้ที่มิใช่เงินเดือนหรือค่าจ้างประจำ มีจำนวน 20.2 ล้านคน มีรายได้ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีและต้องยื่นแบบ 8.5 ล้านคน มีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษ๊ที่ต้องยื่นแบบ 11.7 ล้านคน มายื่นแบบจริงเพียง 2.9 ล้านคน
ตัวเลขภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่กล่าวมาข้างต้นสอดคล้องกับผลสำรวจที่ได้มา และเป็นประเด็นที่ผู้เขียนยืนยันว่า หากหน่วยงานรัฐฯไม่กำหนดหลักเกณฑ์ว่า จะจัดสวัสดิการ “บำนาญประชาชน”ให้ชัดเจน ย่อมไม่สร้างแรงจูงใจให้ประชาชนยินยอมและยินดีเสียภาษี โดยเฉพาะในขณะนี้ที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ
ข้อเสนอของคณะกรรมาธิการสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2567
ผู้เขียนได้อ่านรายงานข้อเสนอของคณะกรรมาธิการสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2567 ซึ่งเสนอว่า ให้เปลี่ยนจากคำว่า “ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ” เป็น “ บำนาญพื้นฐานประชาชน ”แบบถ้วนหน้า / จัดตั้งเป็นกองทุนบำนาญแห่งชาติ / และให้ปรับเพิ่มเป็น 1,200 บาทในปี 2568 , เพิ่มเป็น 2,000 บาทในปี 2569 และเพิ่มเป็น 3,000 บาทในปี 2570 โดยเมื่อปรับเพิ่มเป็น 3,000 บาท/คน/เดือนแล้ว จะต้องใช้งบประมาณ 450,000 แสนล้านบาท/ปี พร้อมกับเสนอที่มาของงบประมาณในการสมทบเข้ากองทุนฯโดยแบ่งสัดส่วนจากเงินรายได้ประเภทต่างๆมาสมทบ อาทิ ภาษีความมั่งคั่ง ภาษีจากการขายหุ้นและอสังหาริมทรัพย์ ภาษีจากสินค้าสุรา ยาสูบ ภาษีปิโตรเลียมและยานพาหนะ ส่วนแบ่งจากกองสลาก ค่าสัมปทานต่างๆ ภาษีจากแหล่งสถานบันเทิงทุกรูปแบบ รวมถึงภาษีVAT ฯลฯ
ถือเป็นความพยายามที่ดีของคณะกรรมาธิการฯที่กำหนดตัวเลขเป้าหมายของ “บำนาญพื้นฐานประชาชน” อย่างเป็นรูปธรรม หากผลักดันได้สำเร็จนับเป็นความก้าวหน้าของนโยบาบสวัสดิการถ้วนหน้าของประเทศไทย แต่ผู้เขียนเห็นว่ายังไม่มีอะไรใหม่ นอกจากเสนอให้มีการจัดสรรปันส่วนจากภาษีแต่ละประเภทเพื่อสมทบทุนกองทุนบำนาญแห่งชาติ ไม่ได้มีข้อเสนอแนวทางการขยายฐานผู้เสียภาษี และ/หรือแนวทางการเพิ่มรายได้ประเทศเพื่อรองรับสวัสดิการนี้
คณะกรรมาธิการฯจะเจอแรงต้านเดิมๆ อาทิ งบประมาณไม่เพียงพอ ฐานผู้เสียภาษียังน้อยเกินไปทำให้รายได้จากภาษีไม่เพียงพอ ฯลฯ
ปรับ Mindset ขยายฐานผู้เสียภาษีบุคคลธรรมดาแบบสมัครใจ
ผู้เขียนเห็นว่า นอกจากข้อเสนอของคณะกรรมาธิการฯในเรื่องการปันส่วนจากภาษีประเภทต่างๆแล้ว ควรกำหนดให้การจ่าย “บำนาญประชาชน” มีอัตราก้าวหน้าแปรผันตาม “ยอดจ่ายภาษีบุคคลธรรมดาสะสม” กล่าวคือ ผู้ใดจ่ายภาษีบุคคลธรรมดามียอดสะสมสูง สมควรได้บำนาญหลังเกษียณสูงตาม ผู้ใดจ่ายภาษีบุคคลธรรมดาน้อยจะได้รับบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้าในอัตรา 3,000 บาท/เดือนตามข้อเสนอของคณะกรรมาธิการฯ
ผู้เขียนเชื่อว่า นโยบายบำนาญประชาชนอัตราก้าวหน้า จะสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนวัยทำงานไม่ว่าจะอยู่ในสถานะคนกินเงินเดือนประจำ ผู้ประกอบการ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ คนทำงานฟรีแลนซ์หรือผู้ทำงานหารายได้เสริมนอกจากงานประจำจะยินดีเข้าสู่ระบบภาษี ยินดีเสียภาษีเต็มเม็ดเต็มหน่วย หากทำได้ก็จะเป็น Mindset ใหม่ของประชาชน จำนวนผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทั้งภงด.90 และ91 จะเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณเป็น 8.4 ล้านถึง 10 ล้านคนได้ ไม่ใช่มีเพียง 4.2 ล้านคนอย่างที่เป็นอยู่ ยอดรายได้จากภาษีบุคคลธรรมดาควรมีเป้าหมายอยู่ที่ 8-9 แสนล้านบาทต่อปี มิใช่ 3.7 แสนล้านบาทดังปัจจุบัน
ผู้เขียนลองเสนออัตราบำนาญประชาชนก้าวหน้า ดังนี้
อย่างไรก็ตาม ตารางตัวเลขบำนาญประชาชนก้าวหน้านี้อาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องกับความเป็นจริงได้
ผู้เขียนเชื่อว่า การให้หลักประกันที่ชัดเจนแก่ประชาชนจะส่งผลบวกต่อการขยายฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สร้างความมั่นใจในอนาคตต่อประชาชนหลังวัยทำงาน และยังเพิ่มรายได้แก่รัฐฯเป็นเท่าทวีคูณ เนื่องจาก เงินบำนาญเหล่านี้ไม่สูญหายไปไหน แต่จะเข้าไปหมุนกลับเข้าในระบบเศรษฐกิจ ทั้งในเรื่องการบริโภค จับจ่ายใช้สอย ท่องเที่ยว การดูแลสุขภาพและกิจกรรมบันเทิงใจของผู้สูงอายุ ซึ่งรัฐฯจะได้คืนเพิ่มจากภาษีการค้า , ภาษีมูลค่าเพิ่ม และเพิ่มศักยภาพการผลิตทั้งในภาคอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว การพาณิชย์และภาคบริการอื่นๆ
และหากรวมกับบำนาญที่ได้รับจากกองทุนประกันสังคม และ/หรือกองทุนการออมแห่งชาติ จะช่วยให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งกายและใจ
บทสรุป
ผู้เขียนขอนำข้อเขียนช่วงหนึ่งในบทความเรื่อง “ อัตราบำนาญพื้นฐานที่เหมาะสมและข้อพิจารณาทางเศรษฐกิจของประเทศ ”โดย ผศ.ดร.ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย ศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม (CRISP) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเขียนไว้ดังนี้
“ ...หลักการทางเศรษฐศาสตร์ที่ควรต้องคำนึง หากจะอ้างว่า ไม่มีงบประมาณ คือ การจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสังคม จะต้องพิจารณา “ความมีประสิทธิภาพ” คือ การใช้งบประมาณสำหรับบำนาญพื้นฐานมีประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากผลทวีคูณทางการคลัง (fiscal multipliers) และความคุ้มครองความยากจน (poverty protection) เปรียบเทียบกับการสะสมทุนปีละหมื่นล้านแสนล้านของแต่ละตระกูลเครือข่ายบนยอดปิรามิด และความไร้ประสิทธิภาพของการใช้งบประมาณที่ไม่เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและมีการฉ้อฉลคดโกงทุจริตงบประมาณ
อีกหลักการสำคัญที่จะต้องพิจารณาได้แก่ “การกระจายอย่างเป็นธรรม” คือ การถ่ายโอนทรัพยากรให้สังคมโดยรวมมีระดับความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยควรตระหนักถึงปัญหาโครงสร้างความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเราสามารถออกแบบระบบบำนาญพื้นฐาน เป็นเครื่องมือช่วยลดความเหลื่อมล้ำผ่านนโยบายการคลังแบบก้าวหน้า
ยิ่งไปกว่านั้น หากจะอ้างว่า ไม่ได้จ่ายภาษี จึงไม่ควรได้รับ ก็ควรจะต้องยึดหลักพื้นฐานทางภาษีที่สำคัญประการหนึ่ง คือ “ความเป็นธรรมในแนวดิ่ง” (vertical equity) หมายความว่า กลุ่มที่มีโอกาสและทรัพยากรมากกว่า ควรจะเป็นผู้เสียภาษีมากกว่า
อีกทั้งทุกคนในสังคมได้ร่วมจ่ายภาษีจากการบริโภค เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีการค้า ภาษีธุรกิจเฉพาะ อากรแสตมป์ ภาษีศุลกากร ภาษีน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน ภาษีเครื่องดื่ม ภาษีเครื่องใช้ไฟฟ้า ภาษีรถยนต์ ภาษีรถจักรยานยนต์ ภาษีแบตเตอรี่ ภาษีสุราและยาสูบ เป็นต้น จึงไม่ใช่ความจริงตามที่กล่าวอ้างกันว่า คนไทยเสียภาษีแค่ 4 ล้านคน
ดังนั้น จึงสามารถสรุปได้ว่า การใช้งบประมาณเพื่อสร้างความคุ้มครองทางสังคมให้ผู้สูงอายุ มีความสมเหตุสมผลทางเศรษฐศาสตร์ ไม่ใช่เป็นภาระงบประมาณ และทุกคนสมควรจะได้รับประโยชน์จากการพัฒนาเศรษฐกิจแบบทั่วถึงและเป็นธรรม เพราะทั้งสังคมได้ร่วมกันจ่ายภาษี
อีกทั้งประโยชน์ของบำนาญพื้นฐาน คือ สามารถช่วยป้องกันวิกฤตสังคมเรื่องความยากจนในผู้สูงอายุ ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตมนุษย์ รักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ส่งผลดีต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านตัวทวีคูณทางการคลัง และสามารถลดความเหลื่อมล้ำผ่านการออกแบบเครื่องมือทางการคลัง โดยงานวิจัยนานาชาติแสดงให้เห็นว่า การลดความเหลื่อมล้ำช่วยเกิดผลทางบวกต่อศักยภาพทางเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้เร็วกว่า และลดความเสี่ยงที่จะเกิดความขัดแย้งรุนแรงทางการเมือง..”
อ่านเพิ่มเติม : บำนาญประชาชน : ถึงเวลานับหนึ่งได้หรือยัง?