'ผลวิจัยฯ' ชี้หากภาครัฐต้องการเพิ่ม 'เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ' เป็น 3,000 บาท/คน/เดือน จะทำให้มีต้นทุนเทียบเท่ากับการขึ้นภาษีแวตเป็น 16.9% เสนอปรับเปลี่ยนโยบาย ‘กองทุนประกันสังคม’ ก่อนเงินหมดในอีก 30 ปีข้างหน้า
...........................
เมื่อวันที่ 25 ต.ค. นายพิทวัส พูนผลกุล นักวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ เปิดเผยในงาน PIER Research Brief เรื่อง “ระบบจัดการรายได้ผู้สูงอายุ : ควรปรับเปลี่ยนอย่างไรให้เพียงพอและยั่งยืน” โดยระบุตอนหนึ่งว่า หากภาครัฐต้องการเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุให้เป็น 3,000 บาท/คน/เดือน จะต้องทยอยปรับเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat) เป็น 2 เท่า จากปัจจุบัน หรือเพิ่มจาก 7% เป็น 16.9% เพื่อรองรับภาระการจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว
“ค่าใช้จ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เนื่องจากไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้จำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น หากจะทำให้ภาครัฐมีรายได้ครอบคลุมกับรายจ่ายเบี้ยยังชีพในอัตราปัจจุบันที่ 600 บาท แล้ว จะต้องเพิ่มภาษีแวตจาก 7% เป็น 9% ซึ่งเป็นการยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม แต่ทั้งนี้ ไม่ได้หมายว่าภาครัฐจะต้องขึ้นแวตเสมอไป เพราะยังมีอีกหลายช่องทางที่ทำให้รัฐมีรายได้มาสนับสนุนค่าใช้จ่ายเพียงยังชีพได้เช่นกัน
และหากภาครัฐจะเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็น 3,000 บาท ตามที่หลายฝ่ายเสนอ ซึ่งแม้ว่าจะช่วยลดความยากจนในกลุ่มผู้สูงวัยลงได้บ้าง แต่เมื่อคำนวณต้นทุนจากการเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตามแบบจำลอง โดยวัดจากการปรับขึ้นแวต พบว่าภาครัฐจะต้องขึ้นภาษีแวตเป็น 2 เท่าจากปัจจุบัน หรือปรับเพิ่มแวตจาก 7% เป็น 16.9% อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ว่าเราไม่เห็นด้วยกับการเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ เพียงแต่การประเมินแต่ละทางเลือกจะต้องพิจารณาให้รอบคอบ” นายพิทวัส กล่าว
นายพิทวัส กล่าวต่อว่า เช่นเดียวกับกองทุนประกันสังคม หากไม่มีปรับเปลี่ยนโยบายกองทุนประกันสังคมเลย เช่นในเรื่องการส่งเงินสมทบ และการให้สิทธิประโยชน์ต่างๆแล้ว ผลศึกษาพบว่าเงินกองทุนฯจะหมดลงในปี 2588-2593 หรือในอีก 30 ปีจากนี้ เนื่องจากจำนวนผู้ส่งเงินสมทบประกันสังคมจะน้อยลง แต่มีผู้รับบำนาญเพิ่มขึ้น ขณะที่ปัจจุบันอัตราการส่งเงินสมทบของนายจ้างและลูกจ้างฝ่ายละ 5% นั้น ยังต่ำกว่าสิ่งที่ได้รับจากกองทุนฯ หรือคิดเป็นต้นทุนฝ่ายละ 8%
“หากไม่มีการปรับเปลี่ยนอะไร เงินกองทุนประกันสังคมจะหมดลงในอีก 30 ปีข้างหน้า ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้นจะมีทางเลือก 2 ทางเลือก คือ ทางเลือกที่ 1 ลดสิทธิประโยชน์ต่างๆลง 1 ใน 3 จากปัจจุบัน เช่น เงินบำเหน็จบำนาญจะลดลงและทางเลือกที่ 2 คือ ผู้ประกันตนจะเพิ่มเงินสมทบเป็น 20% ของเงินเดือน หรือภาครัฐจะเข้ามาสนับสนุนส่วนนี้ เพื่อคงสิทธิประโยชน์ผู้ประกันตนไว้เดิม” นายพิทวัส ระบุ
นายพิทวัส เสนอว่า ภาครัฐควรทยอยปรับเปลี่ยนนโยบายกองทุนประกันสังคมในตอนนี้ แทนที่จะรอให้เงินกองทุนประกันสังคมหมดลงไปก่อน แต่ทั้งนี้ ทุกฝ่ายต้องช่วยกันทำความเข้าใจถึงปัญหาของระบบ เพื่อให้กองทุนมีความยั่งยืนในระยะยาว
ด้าน น.ส.นฎา วะสี หัวหน้ากลุ่มงานวิจัย สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ กล่าวว่า แม้ว่าปัจจุบันประเทศไทยจะมีการจัดตั้งระบบจัดการรายได้ของผู้สูงอายุหลายระบบ เช่น ระบบบำนาญพื้นฐานหรือเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ การช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ,บำนาญจากมาตรการบังคับออมในระบบประกันสังคม (แรงงานมาตรา 33) ,บำนาญจากการออมของแรงงานนอกระบบในระบบประกันสังคม (แรงงานมาตรา 40)
กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ระบบบำเหน็จบำนาญของข้าราชการ รวมถึงมาตรการสนับสนุนการออมภาคสมัครใจเพิ่มเติม เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุน RMF
แต่ปรากฏว่าระบบการออมและการให้บำนาญดังกล่าว มีการบริหารจัดการที่แยกออกจากกัน หรือต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างปรับ เมื่อมีการปรับปรุงระบบใดระบบหนึ่ง จึงทำให้เกิดปัญหาตามมา ที่สำคัญไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งระบบบำนาญในรูปแบบใดก็ตาม ต่างก็ต้องใช้งบประมาณจากภาครัฐสนับสนุนทั้งสิ้น
ขณะเดียวกัน แม้ว่าไทยจะมีการจัดตั้งระบบจัดการรายได้ของผู้สูงอายุหลายระบบ แต่พบว่าเงินบำนาญที่ผู้สูงอายุได้จากระบบส่วนใหญ่ยังต่ำกว่าเส้นความยากจน มีเพียงผู้สูงอายุที่ข้าราชการในบำเหน็จบำนาญเท่านั้น ที่มีรายได้สูงกว่าเส้นยากจน จึงมีความจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐ หรือผู้ที่อยู่ในวัยแรงงานที่จะกลายเป็นผู้สูงอายุในอนาคตจะต้องมีการออมมากขึ้นจากปัจจุบัน
“เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นการใช้งบจากรัฐโดยตรง แต่ถ้าไปดูระบบอื่นๆจะพบว่าใช้งบของภาครัฐเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นระบบประกันสังคม หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพราะเงินที่ส่งไปในระบบเหล่านี้ สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งนับเป็นรายจ่ายของภาครัฐ ดังนั้น การมองระบบจัดการรายได้ของผู้สูงอายุจะต้องมองทั้งระบบ ไม่เช่นนั้น เราจะไม่รู้ว่ารัฐกำลังช่วยคนรวยมากกว่าคนจนหรือเปล่า และเงิน 1 บาทจะใช้ไปในระบบใดจึงจะคุ้มค่ามากที่สุด” น.ส.นฎา กล่าว
อ่านบทวิจัยประกอบ : ระบบจัดการรายได้ผู้สูงอายุ: ควรปรับเปลี่ยนอย่างไรให้เพียงพอและยั่งยืน
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/