“…เมื่อเปรียบเทียบเงินอุดหนุน ‘เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ’ ในปี 2566 สำหรับผู้สูงอายุประมาณ 11 ล้านคน ซึ่งอยู่ที่ 80,457.20 ล้านบาท กับการจัดสรร ‘งบบำนาญข้าราชการ’ ในปีงบ 2566 สำหรับข้าราชการบำนาญประมาณ 8 แสนคน ซึ่งมีวงเงิน 322,790 ล้านบาท พบว่าตัวเลขวงเงินงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรแตกต่างกันถึง 4 เท่าตัว…”
...........................................
เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันไปทั้งบ้านทั้งเมือง
เมื่อ เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ‘ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2566’ ลงชื่อโดย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ทั้งนี้ ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 ส.ค.2566 เป็นต้นไป และให้ยกเลิกระเบียบฯว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 4 ฉบับ
โดยระเบียบฯฉบับนี้ ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์ ‘คุณสมบัติของผู้มีสิทธิจะได้รับเงินเบี้ยยังชีพ’ เป็นว่า ผู้มีสิทธิจะได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติ ดังนี้ “...(4) เป็นผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด…”
แตกต่างจาก ‘ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2561’ ที่เพิ่งถูกยกเลิกไป ซึ่งกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิจะได้รับเงินเบี้ยยังชีพ ว่า
“(4) ไม่เป็นผู้ได้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่
(ก) ผู้รับเงินบํานาญ เบี้ยหวัด บํานาญพิเศษ หรือเงินอื่นใดในลักษณะเดียวกัน
(ข) ผู้สูงอายุที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ของรัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
(ค) ผู้ได้รับเงินเดือน ค่าตอบแทน รายได้ประจำ หรือผลประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่รัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดให้เป็นประจำ
บุคคลตาม (ก) (ข) หรือ (ค) ไม่รวมถึง ผู้พิการหรือผู้ป่วยเอดส์ ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจ่ายเงินสงเคราะห์เพื่อการยังชีพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2548 หรือผู้ที่ได้รับสวัสดิการอื่นตามมติคณะรัฐมนตรี”
ส่งผลให้นับจากนี้ไป ผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ที่มีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จะต้องได้รับการพิสูจน์ว่า ‘เป็นผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ’ แตกต่างจากระเบียบฉบับเดิมที่สิทธิการได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุนั้น เป็น ‘สวัสดิการขั้นพื้นฐาน’ โดยที่ผู้สูงอายุไม่ต้อง ‘พิสูจน์ความยากจน’ เสียก่อน
@รัฐบาลอ้างรื้อเกณฑ์จ่าย‘เบี้ยคนชรา’ เพื่อลดภาระงบประมาณ
เมื่อมีเสียงวิจารณ์ในเรื่องนี้ ‘รัฐบาลรักษาการ’ ได้ชี้แจงเหตุผลกรณีการปรับปรุงหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ว่า เพื่อเป็นการลดรายจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุในกลุ่ม ‘ผู้สูงอายุที่ร่ำรวย’ เพราะปัจจุบันงบประมาณรายจ่ายในเรื่องเบี้ยผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นทุกปี โดยคาดว่าจะแตะ 9 หมื่นล้านบาท ในปีงบ 2567
“วันนี้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ มีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และจะเพิ่มต่อเนื่อง งบประมาณจากเคยตั้งไว้ 50,000 ล้านบาทต่อปี เพิ่มเป็น 80,000 ล้านบาท และแตะ 90,000 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2567 ดังนั้น หากลดการจ่ายเบี้ยฯแก่ผู้สูงอายุ เฉพาะกลุ่มที่มีรายได้สูงหรือผู้สูงอายุที่ร่ำรวย เพราะงบประมาณที่จ่ายให้ไป อาจจะไม่มีความจำเป็น
ถือเป็นการใช้นโยบายการคลังที่พุ่งเป้า เพื่อช่วยเหลือไปยังกลุ่มคนที่มีความจำเป็นและเดือดร้อนกว่า อีกทั้ง คือ การสร้างความยั่งยืนทางการคลังระยะยาว ขอฝ่ายการเมืองอย่ามองเป็นการลักไก่” รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุเมื่อวันที่ 14 ส.ค.ที่ผ่านมา (อ่านประกอบ : รบ.แจงปรับลดเบี้ยผู้สูงวัย เฉพาะคนรวย ลดภาระงบประมาณ)
ขณะที่ กองสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย (สป.มท.) เผยแพร่เอกสารข่าวโดยอ้างคำพูดของ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ชี้แจงกรณีที่ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุฯ พ.ศ.2566 ใน 3 ประเด็น ดังนี้
ประเด็นที่ 1 ที่มาของการแก้ไขระเบียบกระทรวงมหาดไทยฯ
“เกิดขึ้นจากคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีคำวินิจฉัย เรื่อง การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่มีความซ้ำซ้อนกับสวัสดิการอื่น
โดยระบุว่า ระเบียบคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ และระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2552 ขัดกับพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 และไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
กล่าวคือ ในอดีตผู้ที่ได้รับสวัสดิการภาครัฐ เช่น บำเหน็จ บำนาญ จะไม่ได้รับเบี้ยผู้สูงอายุ แต่อาจจะเป็นผู้มีรายได้น้อย ไม่เพียงพอกับการดำรงชีวิต ดังนั้น กระทรวงมหาดไทย จึงจำเป็นต้องปรับแก้ระเบียบฯ ให้สอดคล้องกับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยเปิดกว้างให้ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ มีโอกาสได้รับการช่วยเหลือเพิ่มเติม
ดังนั้น จึงไม่ใช่การลักไก่ออกระเบียบฯ ในช่วงรัฐบาลรักษาการแต่อย่างใด”
ประเด็นที่ 2 ผู้มีสิทธิรายใหม่ที่จะมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์
“ต้องมีคุณสมบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ที่กำหนดว่า “ต้องเป็นผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด” โดยในขณะนี้ คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ซึ่งมีกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นฝ่ายเลขานุการ ยังไม่ได้มีการกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิ
ดังนั้น ในระหว่างที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ยังไม่ได้มีการกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิ ผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยยังชีพก็ยังได้รับเหมือนเดิมทุกประการ รวมถึงผู้มีสิทธิรายใหม่ด้วย ดังนั้น ไม่ต้องกังวล”
ประเด็นที่ 3 การกำหนดหลักเกณฑ์ผู้มีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพ
“ในส่วนนี้ คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรีชุดใหม่จะพิจารณา โดยอยู่บนหลักของความทั่วถึงและเป็นธรรม”
(ที่มา : เพจ กระทรวงมหาดไทย PR ซึ่งเป็นเพจประชาสัมพันธ์ของกระทรวงมหาดไทย)
เหล่านี้สะท้อนถึงวิธีคิดของ ‘รัฐบาลรักษาการ’ ที่พุ่งเป้าไปที่การตัดงบสวัสดิการ ‘เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ’ โดยอ้างเหตุผลว่ามีงบประมาณไม่เพียงพอ แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีแนวคิดที่จะเปิดโอกาสให้ผู้ที่ได้รับสวัสดิการภาครัฐ เช่น บำเหน็จ บำนาญ ที่อาจจะเป็นผู้มีรายได้น้อย ไม่เพียงพอกับการดำรงชีวิต ได้มีโอกาสได้รับการช่วยเหลือเพิ่มเติม
ดังนั้น สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอภาพรวมการจัดสรรงบประมาณในการจ่าย ‘เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ’ และ ‘งบบำนาญข้าราชการ’ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปีงบ 2557-พ.ศ.2566) มีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้
@พบ 10 ปีรายจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น 31.89% แตะ 8 หมื่นล.
จากข้อมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พบว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่าน (ปีงบ 2557-พ.ศ.2566) รัฐบาลได้จัดสรรเงินอุดหนุนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในส่วนของ ‘เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ’ เพิ่มขึ้นจาก 60,999.87 ล้านบาท เป็น 80,457.20 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 31.89% มีรายละเอียด ดังนี้
ปีงบ 2557 จัดสรรเงินอุดหนุน 60,999.87 ล้านบาท
ปีงบ 2558 จัดสรรเงินอุดหนุน 61,372.10 ล้านบาท
ปีงบ 2559 จัดสรรเงินอุดหนุน 63,219.44 ล้านบาท
ปีงบ 2560 จัดสรรเงินอุดหนุน 64,783.64 ล้านบาท
ปีงบ 2561 จัดสรรเงินอุดหนุน 66,407.36 ล้านบาท
ปีงบ 2562 จัดสรรเงินอุดหนุน 71,911.17 ล้านบาท
ปีงบ 2563 จัดสรรเงินอุดหนุน 76,279.64 ล้านบาท
ปีงบ 2564 จัดสรรเงินอุดหนุน 79,300.15 ล้านบาท
ปีงบ 2565 จัดสรรเงินอุดหนุน 77,096.40 ล้านบาท
ปีงบ 2566 จัดสรรเงินอุดหนุน 80,457.20 ล้านบาท
@งบบำนาญข้าราชการพุ่ง 3.22 แสนล้าน โต 143% ในช่วง 10 ปี
ในขณะที่ข้อมูล ‘งบประมาณโดยสังเขป (ฉบับปรับปรุง)’ ของสำนักงบประมาณ พบว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปีงบ 2557-พ.ศ.2566) รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณเป็นค่าใช้จ่าย ‘บำนาญข้าราชการ’ ผ่านงบกลาง รายการ ‘เงินเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ’ เพิ่มขึ้นจาก 132,277 ล้านบาท เป็น 322,790 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 143.64% มีรายละเอียดดังนี้
ปีงบ 2557 จัดสรรงบ 132,277 ล้านบาท
ปีงบ 2558 จัดสรรงบ 144,842 ล้านบาท
ปีงบ 2559 จัดสรรงบ 175,693 ล้านบาท
ปีงบ 2560 จัดสรรงบ 179,167 ล้านบาท
ปีงบ 2561 จัดสรรงบ 191,222.7 ล้านบาท
ปีงบ 2562 จัดสรรงบ 223,762 ล้านบาท
ปีงบ 2563 จัดสรรงบ 265,716.3 ล้านบาท
ปีงบ 2564 จัดสรรงบ 300,435.5 ล้านบาท
ปีงบ 2565 จัดสรรงบ 310,600 ล้านบาท
ปีงบ 2566 จัดสรรงบ 322,790 ล้านบาท
ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบเงินอุดหนุน ‘เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ’ ในปี 2566 สำหรับผู้สูงอายุประมาณ 11 ล้านคน ซึ่งอยู่ที่ 80,457.20 ล้านบาท กับการจัดสรร ‘งบบำนาญข้าราชการ’ ในปีงบ 2566 สำหรับข้าราชการบำนาญประมาณ 9 แสนคน ซึ่งมีวงเงิน 322,790 ล้านบาท พบว่าตัวเลขวงเงินงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรแตกต่างกันถึง 4 เท่าตัว
@หาช่องตัดงบ‘เบี้ยผู้สูงอายุ’ เพราะไม่แตะโครงสร้างเหลื่อมล้ำ
“ความเหลื่อมล้ำหรือช่องว่างระหว่างงบ ‘เบี้ยผู้สูงอายุ’ และ ‘บำนาญข้าราชการ’ น่าจะเห็นกันชัดเจนอยู่แล้ว แต่ที่อยากจะชี้ก็คือ งบบำนาญข้าราชการได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แทนที่จะลดขนาดกำลังคนข้าราชการ แต่กลับไปเพิ่มกำลังคนในภาครัฐ ทำงบประมาณต่างๆเพิ่มขึ้น ซึ่งไม่ใช่แค่บำนาญ แต่ยังมีเรื่องงบค่ารักษาพยาบาลด้วย
และเราก็รู้กันดีว่า งบพวกนี้สูงกว่าประชาชนทั่วไปเยอะมาก และอย่างที่เคยบอกไป แม้ว่าเราจะใช้ระบบให้บำนาญประชาชน 3,000 บาทถ้วนหน้า แต่ในระยะยาวแล้ว งบประมาณก้อนนี้ ก็ยังน้อยกว่างบบำนาญข้าราชการ” ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย แห่งศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา
ทีปกร ซึ่งเป็นหนึ่งทีมวิจัยเรื่อง ‘การวิเคราะห์ช่องว่างทางการคลัง แหล่งรายได้และความเป็นไปได้ทางเศรษฐศาสตร์การเมืองของการจัดตั้งระบบบำนาญแห่งชาติ โดยคำนึงถึงผลกระทบของ COVID-19 ที่มีต่อผู้สูงอายุ’ ยังให้ข้อมูลว่า ในปี 2564 มีผู้ได้เบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ 9.5 แสนคน หรือคิดเป็นงบต่อหัวเฉลี่ย 26,000 บาท/เดือน เทียบกับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่จ่ายในอัตรา 600-1,000 บาท/เดือน
(ที่มา : ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย)
ทีปกร ยังระบุด้วยว่า ไม่เห็นด้วยกับระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2566 ที่กำหนดให้ผู้ที่จะได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จะต้องพิสูจน์ความยากจนก่อน จากเดิมที่สิทธิการได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เป็นเรื่องของสวัสดิการทางสังคม ซึ่งจัดสรรให้กับผู้สูงอายุแบบถ้วนหน้า
“การมีสวัสดิการเบี้ยผู้สูงอายุนั้น วัตถุประสงค์ คือ เพื่อคุ้มครองความยากจนในกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งการไปยกเลิกสวัสดิการถ้วนหน้า แล้วใช้การจัดสรรแบบพุ่งเป้าแทนนั้น ถ้าใช้แนวคิดนี้จริง จะทำให้คนจนที่ควรได้รับเบี้ยผู้สูงอายุเกิดการตกหล่น และกลายเป็นว่าคนที่ไม่จนจะได้เงินไปก็ได้ เพราะเราจะรู้ได้อย่างไรว่า เขามีรายได้จริงๆเท่าไหร่
มีวิธีที่จะทำให้เราเข้าถึงข้อมูลได้อย่างสมบูรณ์หรือไม่ว่า เขาจนจริงหรือจนไม่จริง และในด้านเศรษฐศาสตร์การพัฒนา ต้นทุนในการไปชี้วัดคนจนแบบพุ่งเป้า เป็นเรื่องยาก มีต้นทุนสูง แต่ก็มีวิธีที่ง่ายกว่าในแง่การพุ่งเป้า คือ เอาคนรวยออก คือ กรองคนรวยออกไปจะง่ายกว่า เช่น ไปดูทรัพย์สิน รถ ดูว่ามีการยื่นภาษี มีรายได้ และมีกิจการหรือไม่” ทีปกร ระบุ
(ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย)
อย่างไรก็ดี ทีปกร ย้ำว่า โดยหลักการแล้ว ตนสนับสนุนการจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุในลักษณะเป็นสวัสดิการแบบถ้วนหน้า โดยมีเงื่อนไขสำคัญว่า รัฐบาลจะต้องเข้าไปแตะโครงสร้างความเหลื่อมล้ำของประเทศ เพราะหากรัฐบาลไม่แตะเรื่องโครงสร้างความเหลื่อมล้ำแล้ว รัฐบาลก็จะไม่มีงบประมาณมาใช้ในการจัดทำสวัสดิการฯตรงนี้
“มีข้อเสนอมากมายที่ให้ลดความเหลื่อมล้ำ แต่ถ้าไม่แตะประเด็นนี้ ก็ไม่มีเงินแน่ๆ พอไม่มีเงิน ก็จะหาทางตัดงบเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ขอถามว่าเคยมีหน่วยงานราชการใดบ้างไหมที่พูดออกชัดๆว่า จะให้เก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า ส่วนรัฐบาลเองก็ไม่กล้าใช้เครื่องมือทางการคลังเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เพราะมีเรื่องผลประโยชน์ของกลุ่มทุนอยู่” ทีปกร กล่าว
ทีปกร ระบุว่า “ถ้ารัฐบาลอยากมีเงินมาทำสวัสดิการฯ (เบี้ยผู้สูงอายุ) ก็ต้องแตะโครงสร้างความเหลื่อมล้ำ เราไม่ใช่ประเทศยากจนที่ไม่มีเงิน เพียงแต่จะทำอย่างไรที่จะทำให้มีการจัดสรรทรัพยากรอย่างเป็นธรรม”
จากนี้จึงต้องติดตามกันต่อไปว่า ‘รัฐบาลรักษาการ’ ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม จะมีปฏิกิริยาต่อท่าทีความไม่พอใจของภาคประชาชนในครั้งนี้อย่างไร และจะมีการปรับปรุงระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุฯ ฉบับนี้หรือไม่?
อ่านประกอบ :
‘จุรินทร์’ยันไม่ปรับเกณฑ์จ่าย‘เบี้ยผู้สูงอายุ’-‘นักวิชาการ’มองรัฐไม่กล้าเก็บภาษีคนรวย
รบ.แจงปรับลดเบี้ยผู้สูงวัย เฉพาะคนรวย ลดภาระงบประมาณ
รายจ่ายยากลดทอน 2 ล้านล.! เปิด‘ความเสี่ยงการคลัง’ล่าสุด หลัง‘นักการเมือง’โหม‘ประชานิยม’
สำรวจนโยบาย 'บำนาญแห่งชาติ-เพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ' สู้ศึกเลือกตั้ง-เสี่ยงภาระการคลัง?
เวทีเสวนาฯชงรีดภาษีมั่งคั่ง-ขึ้นVat หางบโปะ‘บำนาญแห่งชาติ’-ห่วง‘รุ่นเกิดล้าน’แก่แล้วจน
จุดยืนล่าสุด 5 พรรคการเมือง หนุน‘บำนาญแห่งชาติ’ แต่ไม่ฟันธงได้เดือนละ 3 พันบาท ปีไหน!
ข้อเสนอ 'บำนาญถ้วนหน้า' เดือนละ 3 พันบาท ทำได้-ไม่ได้ ใช้เงินเท่าไหร่-หาเงินจากไหน?
จี้เลิกลดหย่อนภาษีคนรวย-เจ้าสัว! ‘ภาคปชช.’เคลื่อนไหวผลักดัน‘บำนาญถ้วนหน้า’ 3 พันบาท/ด.
จาก'สงเคราะห์'สู่'สวัสดิการ' เพิ่ม'เบี้ยผู้สูงอายุ' 3 พันบาท ทางเลือกที่รัฐบาลทำได้?
ครม.อนุมัติ 8.3 พันล้าน เพิ่มเบี้ยยังชีพคนชรา 100-250 บาท 6 เดือน
ผลวิจัยฯชี้เพิ่ม‘เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ’เป็น 3 พันบาท/ด. ต้นทุนเทียบเท่าขึ้นแวต 16.9%
รมว.พม.รับข้อเสนอเครือข่ายประชาชน พัฒนา 'เบี้ยผู้สูงอายุ' เป็นระบบบำนาญ