"...แน่นอนว่า ประเทศไทยก็ยังมีโอกาสเลือกทิศทางที่มีเป้าหมายพัฒนาเศรษฐกิจให้เป็นธรรม ไม่ใช่กระจุกทรัพยากรและโอกาสเพียงแค่คนส่วนน้อยบนยอดปีรามิด แบบคนส่วนใหญ่ทำงานทั้งชีวิตก็ไม่มีโอกาสได้ลืมตาอ้าปาก ทั้งที่ร่วมจ่ายภาษีการบริโภคมาตลอด ในขณะที่ตระกูลรวยสุดกอบโกยด้วยการเอารัดเอาเปรียบจากการผูกขาดและมีอำนาจเหนือตลาด..."
.......................................
หมายเหตุ : บทความเรื่อง 'อีกครั้งสำหรับการพัฒนาบำนาญผู้สูงอายุเพื่อระบบเศรษฐกิจที่เป็นธรรม' โดย ดร.ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย ศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม (CRISP) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เมื่อวันที่ 21 ธ.ค.ที่ผ่านมา ได้มีการยื่นเสนอกฎหมายร่างพระราชบัญญัติผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่อาคารรัฐสภา
โดยเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (We Fair) เครือข่ายสลัมสี่ภาค เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ และประชาชนทั่วไป ร่วมกันยื่น 43,826 รายชื่อ ต่อคุณวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร คุณปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่หนึ่ง และคุณณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ประธานกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม
เป็นความพยายามอีกครั้งของภาคประชาชนที่พยายามขับเคลื่อนระบบหลักประกันรายได้และคุ้มครองความยากจนผู้สูงอายุ
เป็นความพยายามที่เต็มเปี่ยมด้วยจิตใจของการต่อสู้ หลังจากที่โดนปัดตก นั่งทับ หรือ “มีบัญชาไม่รับรอง” ข้อเสนอร่าง พรบ.บำนาญผู้สูงอายุ จากอย่างน้อย 5 ครั้งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
เป็นความพยายามที่จะผลักดันขับเคลื่อนให้เป็นสังคมที่มีความเป็นธรรม อันสะท้อนเสียงความต้องการของประชาชนต่อนโยบายผู้ชนะการเลือกตั้งที่ได้คะแนนเป็นอันดับหนึ่ง
เป็นเสียงความต้องการของสังคม ผ่านกระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่ต้องการหลักประกันรายได้ยามสูงวัย และเป็นเสียงความต้องการของประเทศผ่านแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เช่น “ความอยู่ดีมีสุขของคนไทยและสังคมไทย” และ “ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและการกระจายรายได้”
สำหรับผู้เขียนแล้ว คือ เรื่องการต่อสู้เพื่อแย่งชิงทรัพยากรทางเศรษฐกิจกลับคืนมา ไม่แตกต่างจากการต่อสู้ของแรงงานเรื่องวันลาคลอด เมื่อปี 2536 หรือ 3 ทศวรรษที่แล้ว แรงงานหญิงมีครรภ์ที่ต้องออกไปประท้วง อดข้าว และ กรีดเลือด จนได้สิทธิวันลาคลอดได้เพิ่มขึ้นจากเดิม 60 วัน เป็น 90 วัน อันทำให้แรงงานหญิงที่ทำงานออฟฟิศ ได้รับอานิสงค์ผลบุญไปด้วย
ประเทศไทยพัฒนาเศรษฐกิจโดยการกดขี่ขูดรีดแรงงานและการเอารัดเอาเปรียบโดยกลุ่มทุน โดยเฉพาะไม่กี่ตระกูลบนยอดปีรามิด อันครอบคลุมชีวิตคนไทยในทุกมิติ แน่นอนว่า การลดความเหลื่อมล้ำจะต้องอาศัยแรงขับเคลื่อนโดยตรงจากภาคการเมือง หรือผู้ที่จะมีอำนาจในการตัดสินใจเชิงนโยบาย เพื่อให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม อันจะนำไปสู่ข้อสรุปที่มีความสมเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์และทางศีลธรรม
การจัดสรรทรัพยากรให้เป็นธรรมมากขึ้น จะสามารถปรากฏเป็นจริงได้ จึงขึ้นอยู่กับความมุ่งมั่นจริงจังของรัฐบาล
โดยเราสามารถมีงบประมาณ สำหรับระบบสวัสดิการคนไทยและการลงทุนในอนาคตของประเทศ โดยการเพิ่มรายได้จากภาษี และปฏิรูปการใช้จ่ายงบประมาณ ตลอดจนสมทบการออมในวัยทำงาน ตามข้อเสนอและรายงานการศึกษามากมายจากนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำ และ องค์การระหว่างประเทศหลายหน่วยงาน ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา
รายงานในปีนี้ของธนาคารโลกเรื่อง "การประเมินรายได้และรายจ่ายภาครัฐของประเทศไทย-การส่งเสริมอนาคตที่ทั่วถึงและยั่งยืน" จึงเสนอให้ประเทศไทยสามารถปฏิรูปเศรษฐกิจให้มีความเท่าเทียมและความยืดหยุ่น (resilience) มากขึ้นได้ โดย
1.เพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายภาครัฐ
2.เพิ่มการจัดเก็บรายได้ภาครัฐ และ
3.ช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางและนโยบายรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิรูปภาษี "แบบก้าวหน้า" เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับการใช้จ่ายภาครัฐที่จะเพิ่มสูงขึ้น เพราะการเข้าสู่สังคมสูงวัย จะเพิ่มค่าใช้จ่ายในด้านบำนาญ สวัสดิการผู้สูงอายุ และสวัสดิการรักษาพยาบาล ซึ่งจะเป็นข้อจำกัดของการเติบโตทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญต่อการเพิ่มงบประมาณภาครัฐด้านความช่วยเหลือทางสังคม โดยอย่างยิ่ง นโยบายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ซึ่งอยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานสากล
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เคยกล่าวในปาฐกถาว่า อนาคตของเศรษฐกิจไทย จำเป็นต้องกระจายอย่างทั่วถึง (inclusive) ไม่ใช่เติบโตแบบกระจุกอยู่เพียงบางกลุ่มคน บางธุรกิจ หรือ บางพื้นที่ ทำให้เศรษฐกิจมีความเปราะบาง เราจำเป็นต้องเปลี่ยนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เราจะเผชิญแรงกดดันจากการทำลายล้างทางดิจิทัล (digital disruption) และ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ดังนั้น ถ้าเราไม่ทำให้การเจริญเติบโต (growth) สามารถแบ่งปันกันในวงกว้าง เราจะไม่สามารถเติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืน
ศาสตราจารย์ ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยเสนอแนะแนวทางการพัฒนาระบบภาษีและการปฏิรูประบบงบประมาณ โดยเราสามารถมีแหล่งรายได้ที่สำคัญสำหรับพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไทย ได้แก่
1.จัดระบบความสำคัญก่อนหลังในการจัดสรรงบประมาณประจำปี กล่าวคือ ลดงบที่ไม่จำเป็นและไม่เกิดประโยชน์ต่อประชาชน
2.ยกเลิกสิทธิพิเศษและค่าลดหย่อนทางภาษีสำหรับมหาเศรษฐีและกลุ่มทุนขนาดใหญ่ เช่น BOI และ Capital Gain Tax
3.เก็บภาษีเพิ่มจากส่วนต่างของกำไรที่ได้จากการขายหลักทรัพย์และที่ดิน
4.ปรับการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้มีประสิทธิภาพ
5.ลดเกณฑ์ยกเว้นภาษีการรับมรดกที่มูลค่า 100 ล้านบาท ส่งผลให้ผู้ที่ได้รับมรดกไม่ถึง 100 ล้านบาท ก็จะได้รับการยกเว้นภาษี ควรจะปรับลดลงมาให้สมเหตุสมผลมากกว่านี้
6.เพิ่มอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล และ อัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม เพราะอัตราต่ำเกินไปเมื่อเทียบกับสากล
7.ปรับระบบภาษีเงินได้ ไม่ว่าจะมาจากแหล่งใดก็ตามต้องเสียภาษีในอัตราเดียวกันหมด ไม่ใช่เหลื่อมล้ำกันระหว่างภาษีรายได้ที่จัดเก็บจากเงินเดือน เงินปันผล กำไร หรือ ที่ดิน ซึ่งโดยเฉลี่ยคนรวยเสียภาษีในอัตราต่ำกว่ามนุษย์เงินเดือน
8.หน่วยงานของรัฐที่ถือครองที่ดินมากเกินจำเป็นและไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ ควรนำมาให้ประชาชนเช่าทำมาหากิน เมื่อประชาชนมีฐานะดีขึ้น รัฐจะเก็บภาษีได้มากขึ้น
ในส่วนของภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ปีนี้ธนาคารโลกยืนยันเสนอหลายครั้งผ่านสื่อให้ขึ้น VAT เป็น 10% ตามรายงาน "การประเมินรายได้และรายจ่ายภาครัฐของประเทศไทย-การส่งเสริมอนาคตที่ทั่วถึงและยั่งยืน"
โดยผู้เขียนเห็นว่า ควรทำ earmarked คือ เก็บเพิ่มเอามาใช้จ่ายตรงให้เป็นประโยชน์กับประชาชน และ ต้องควบคุมการฉวยโอกาสขึ้นราคาของนายทุนที่ยึดกุมธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง
แน่นอนว่า ประเทศไทยก็ยังมีโอกาสเลือกทิศทางที่มีเป้าหมายพัฒนาเศรษฐกิจให้เป็นธรรม ไม่ใช่กระจุกทรัพยากรและโอกาสเพียงแค่คนส่วนน้อยบนยอดปีรามิด แบบคนส่วนใหญ่ทำงานทั้งชีวิตก็ไม่มีโอกาสได้ลืมตาอ้าปาก ทั้งที่ร่วมจ่ายภาษีการบริโภคมาตลอด ในขณะที่ตระกูลรวยสุดกอบโกยด้วยการเอารัดเอาเปรียบจากการผูกขาดและมีอำนาจเหนือตลาด
เพราะเราคงไม่อยากจะเห็นภาพที่ความเหลื่อมล้ำสะสมมากเข้า จนในที่สุดกลายเป็นโศกนาฏกรรมตามประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ
ในเมื่อประเทศไทยจำเป็นต้องหาแหล่งรายได้เพิ่มขึ้นสำหรับงบบำนาญข้าราชการและงบรักษาพยาบาลข้าราชการที่จะพุ่งขึ้นในอนาคต ก็ควรจะเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส โดยใช้หลักวิชาการทางการคลัง ทั้งด้านงบประมาณและภาษีเพื่อแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างด้านความเหลื่อมล้ำของประเทศ ช่วยสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยด้วยระบบสวัสดิการ และเป็นเส้นทางอันพึงปรารถนาของการพัฒนาที่ยั่งยืนและปรองดอง
อ่านประกอบ :
ต่างกัน 4 เท่า! เทียบงบ‘เบี้ยผู้สูงอายุ-บำนาญขรก.’10ปี ก่อน‘รบ.บิ๊กตู่’รื้อเกณฑ์จ่ายคนชรา
‘จุรินทร์’ยันไม่ปรับเกณฑ์จ่าย‘เบี้ยผู้สูงอายุ’-‘นักวิชาการ’มองรัฐไม่กล้าเก็บภาษีคนรวย
รบ.แจงปรับลดเบี้ยผู้สูงวัย เฉพาะคนรวย ลดภาระงบประมาณ
รายจ่ายยากลดทอน 2 ล้านล.! เปิด‘ความเสี่ยงการคลัง’ล่าสุด หลัง‘นักการเมือง’โหม‘ประชานิยม’
สำรวจนโยบาย 'บำนาญแห่งชาติ-เพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ' สู้ศึกเลือกตั้ง-เสี่ยงภาระการคลัง?
เวทีเสวนาฯชงรีดภาษีมั่งคั่ง-ขึ้นVat หางบโปะ‘บำนาญแห่งชาติ’-ห่วง‘รุ่นเกิดล้าน’แก่แล้วจน
จุดยืนล่าสุด 5 พรรคการเมือง หนุน‘บำนาญแห่งชาติ’ แต่ไม่ฟันธงได้เดือนละ 3 พันบาท ปีไหน!
ข้อเสนอ 'บำนาญถ้วนหน้า' เดือนละ 3 พันบาท ทำได้-ไม่ได้ ใช้เงินเท่าไหร่-หาเงินจากไหน?
จี้เลิกลดหย่อนภาษีคนรวย-เจ้าสัว! ‘ภาคปชช.’เคลื่อนไหวผลักดัน‘บำนาญถ้วนหน้า’ 3 พันบาท/ด.
จาก'สงเคราะห์'สู่'สวัสดิการ' เพิ่ม'เบี้ยผู้สูงอายุ' 3 พันบาท ทางเลือกที่รัฐบาลทำได้?
ครม.อนุมัติ 8.3 พันล้าน เพิ่มเบี้ยยังชีพคนชรา 100-250 บาท 6 เดือน
ผลวิจัยฯชี้เพิ่ม‘เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ’เป็น 3 พันบาท/ด. ต้นทุนเทียบเท่าขึ้นแวต 16.9%
รมว.พม.รับข้อเสนอเครือข่ายประชาชน พัฒนา 'เบี้ยผู้สูงอายุ' เป็นระบบบำนาญ