“…กำหนดให้มีการพิจารณาศึกษาการนำแหล่งรายได้ในอนาคตมาใช้เพื่อบำนาญพื้นฐานประชาชน เช่น รายได้จากการจัดเก็บภาษีทางอ้อม การจัดสรรงบประมาณบางส่วนจากการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต (ภาษีบาป) จากธุรกิจกัญชา กระท่อม การจัดเก็บรายได้ใหม่จากการใช้พลังงาน การจัดเก็บภาษีในกลุ่มธุรกิจพลังงาน ภาษีคาร์บอนเครดิต ภาษีสิ่งแวดล้อม…”
...................................
ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 29 ก.พ.ที่ผ่านมา ที่ประชุมสภาฯ มีมติ 'เห็นชอบ' รายงานผลการพิจารณาศึกษา เรื่อง การพัฒนาระบบบำนาญพื้นฐานประชาชน ของคณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร พร้อมทั้งข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ ตามข้อบังคับ ข้อ 104 และ 105 ประกอบข้อ 88
โดยรายงานฯของคณะกรรมาธิการสวัสดิการฯ ฉบับนี้ เป็นรายงานฉบับใหม่ล่าสุด ซึ่งเสนอให้มีการผลักดันนโยบาย 'บำนาญประชาชน' หลังจากเมื่อปี 2564 คณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคมฯ 'ชุดก่อน' ได้นำเสนอรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง 'แนวทางการเสนอกฎหมายบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ' ซึ่งมีข้อเสนอให้รัฐบาลจัดทำนโยบายบำนาญประชาชน เช่นกัน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอรายงานผลการพิจารณาศึกษา เรื่อง ‘การพัฒนาระบบบำนาญพื้นฐานประชาชน’ ในส่วนของ ‘ข้อเสนอแนะและข้อสังเกต’ ของคณะกรรมาธิการฯ เกี่ยวกับการพัฒนา 'ระบบบำนาญพื้นฐานประชาชน' หรือ 'บำนาญประชาชน 3 พันบาท' โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้
@‘สวัสดิการบำนาญ’ต้องไม่ใช่การสงเคราะห์
ข้อเสนอแนะ และข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการ
ปัจจุบันผู้สูงอายุมีจำนวนมากและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นและมีอายุยืนยาว การที่รัฐจัดให้มีสวัสดิการบำนาญให้กับประชาชน จะสามารถช่วยเป็นเครื่องมือทางสังคมเพื่อป้องกันความยากจนของผู้สูงอายุ
การจัดสวัสดิการควรจะเป็นสิทธิอันพึงมีของประชาชนที่มิใช่การสงเคราะห์ ไม่ควรมีความแตกต่างและเหลื่อมล้ำกัน ควรมีความเท่าเทียมกัน และมีระดับความคุ้มครองที่ผู้สูงอายุสามารถนำมาดูแลตนเองในระดับพอเพียงและเหมาะสมต่อการดำรงชีวิต ดังนั้น รัฐควรจัดให้มีหลักประกันรายได้ โดยให้ผู้สูงอายุได้รับเงินบำนาญพื้นฐานประชาชนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม
ตามรายงานธนาคารโลก เรื่อง “การลดปัญหาความยากจนของผู้สูงอายุในประเทศไทย : บทบาทของโครงการบำนาญและการช่วยเหลือทางสังคม” ปี 2555 ระบุว่า รัฐบาลมีโครงการบำนาญหลายโครงการเพื่อรับมือกับปัญหา แต่ก็ยังมีสิ่งที่ประเทศไทยสามารถจะทำได้อีกมาก เพื่อเพิ่มประสิทธิผลในการคุ้มครองความยากจน
ลักษณะสำคัญบางประการของระบบบำนาญของประเทศไทย คือ สิทธิประโยชน์ส่วนใหญ่จะตกอยู่กับผู้ที่ไม่ได้ยากจน มีเพียงระบบ “เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ” เท่านั้นที่มีความครอบคลุมผู้สูงอายุได้แบบถ้วนหน้า หลายโครงการมีข้อจำกัดด้านกรอบกฎหมายไว้ไม่เพียงพอ ทำหน้าที่กำกับดูแลด้านการเงินโดยรวม และไม่มีนโยบายบำเหน็จบำนาญระดับชาติที่มีความเชื่อมโยงกัน การที่ไม่มีนโยบายบำนาญแห่งชาติที่ชัดเจน จึงทำให้เกิดความซ้ำซ้อนและขาดการประสานงานระหว่างแต่ละหน่วยงานที่ดูแลโครงการบำนาญต่างๆ
รายงานธนาคารโลกฉบับดังกล่าว ระบุด้วยว่า ประเทศไทยมีโครงการบำนาญมากเกินไป จึงควรพิจารณาบูรณาการแต่ละโครงการเข้าด้วยกัน และมีการปรับเปลี่ยนระบบบำนาญทั้งหมด โดยมุ่งเน้นที่การลดความยากจนในผู้สูงอายุ ตั้งหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลโครงการบำนาญ และกำหนดความรับผิดชอบ (accountability) ที่ชัดเจนไว้ในนโยบายบำนาญรวม
เมื่อเรามาพิจารณาสภาพในปัจจุบัน ปี 2567 คนจำนวนมากที่ยากไร้โอกาสตั้งแต่กำเนิด ก็ยังคงไม่มีระบบรองรับทางสังคม (social safety net) ด้านความยากจนในวัยชรา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศไทยยังไม่มีระบบการออมที่สามารถครอบคลุมทุกคนในวัยทำงาน เหมือนหลายประเทศพัฒนาแล้วที่บังคับให้ทุกคนต้องอยู่ในระบบ และมีข้อน่ากังวลที่เบี้ยยังชีพขั้นพื้นฐานต่ำเกินไป จนไม่สามารถคุ้มครองความยากจนได้ และเป็นอัตราที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงตามภาวะเงินเฟ้อ
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาได้มีข้อเสนอเกี่ยวกับการสร้างระบบบำนาญพื้นฐานประชาชน เพื่อเป็นหลักประกันรายได้ของผู้สูงอายุมาอย่างยาวนาน แม้แต่นโยบายของรัฐบาลเองซึ่งก็เห็นความสำคัญในการจ่ายเบี้ยยังชีพของผู้สูงอายุ ดังที่มีแนวคิดเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2535
แต่ก็ยังพบว่าการจัดทำบำนาญพื้นฐานประชาชนให้เป็นผลสำเร็จตามความเหมาะสมนั้นยังไม่เกิดขึ้นอย่างแท้จริง ด้วยเหตุผลที่อ้างว่าเป็นภาระงบประมาณ ประเด็นการคัดค้านนี้ ควรจะพิจารณาด้วยมุมมองและเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ ดังนี้
@‘บำนาญแห่งชาติ’เป็นเครื่องมือลด‘เหลื่อมล้ำ’
ประเด็น “เป็นภาระงบประมาณ” มีข้อควรพิจารณา ตามหลักการพื้นฐานทางเศรษฐศาสตร์สาธารณะในการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสังคม คือ พิจารณา “ความมีประสิทธิภาพ” และ “การกระจายอย่างเป็นธรรม”
ความมีประสิทธิภาพของการใช้งบประมาณควรคำนึงถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการเกิดผลทวีคูณต่อระบบเศรษฐกิจ (multiplier effect) และการช่วยคุ้มครองความยากจน (poverty protection) สำหรับทั้งผู้สูงอายุและครอบครัว ซึ่งสาระสำคัญ คือ การถ่ายโอนทรัพยากร เพื่อให้สังคมโดยรวมมีระดับความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เปรียบเทียบกับความไร้ประสิทธิภาพของการใช้งบประมาณมากมายที่ไม่เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและเกิดการทุจริตคอร์รัปชั่น
ในขณะที่การกระจายอย่างเป็นธรรม ก็สามารถใช้ระบบบำนาญแห่งชาติเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างด้านความเหลื่อมล้ำเพื่อสร้างความเป็นธรรม โดยงานวิจัยนานาชาติแสดงให้เห็นว่า การลดความเหลื่อมล้ำ จะมีผลทางบวกต่อศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ ช่วยทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้เร็วกว่า และลดความเสี่ยงที่จะเกิดความขัดแย้งรุนแรงทางการเมือง
ระบบคุ้มครองความยากจนผู้สูงอายุ เป็นการลงทุนเพื่อป้องกันความเสี่ยงของสังคมจากวิกฤตความยากจนผู้สูงอายุ โดยเราสามารถพัฒนาแนวทางแก้ไขปัญหาความซ้ำซ้อนของระบบ
เช่น กำหนดระดับความคุ้มครองความยากจนขั้นพื้นฐาน แล้วคนที่ได้ส่วนที่เกินจากระดับขั้นพื้นฐานอย่างข้าราชการที่ได้รับเงินบำนาญ ก็ไม่ต้องได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ซึ่งตามหลักการทางเศรษฐศาสตร์สามารถใช้เครื่องมือทางการคลังในการจัดสรรทรัพยากรให้สังคมมีความยุติธรรมมากขึ้น ช่วยลดความเหลื่อมล้ำเป็นสวัสดิการเพื่อความเป็นธรรมและความปรองดองของสังคม ไม่ใช่การสงเคราะห์คนจน
นอกจากนี้ งานวิจัยความเป็นไปได้ของการจัดตั้งกองทุนบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ (2566) จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงให้เห็นว่า การจัดสวัสดิการบำนาญให้กับประชาชนผู้สูงอายุ ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นและส่งผลให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ 5 รอบ โดยงบประมาณ 4.5 แสนล้าน จะทำให้ GDP เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 และมีผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจกลับมา 7 แสนล้านบาท
ด้วยเหตุผลนี้ จึงควรวางระบบบำนาญของประเทศไทย โดยมุ่งหมายให้ประชาชนได้รับบำนาญพื้นฐานประชาชนในลักษณะเป็นสิทธิสวัสดิการขั้นพื้นฐานแบบถ้วนหน้า ซึ่งประชาชนสัญชาติไทยทุกคนที่มีอายุถึงเกณฑ์ที่กำหนดสิทธิได้รับทุกคน
โดยสิทธิดังกล่าวนี้ มุ่งหมายเพื่อสร้างความมั่นคงด้านรายได้ที่เพียงพอในการดำรงชีพหลังการเกษียณอายุ และคณะกรรมาธิการเห็นว่า หากผู้สูงอายุมีหลักประกันรายได้ยามชราภาพที่มั่นคง ก็จะช่วยลดภาระการพึ่งพิงวัยแรงงาน อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจทางอ้อมผ่านการใช้จ่ายของครัวเรือนผู้สูงอายุอีกด้วย
ในเมื่อประเทศไทยจำเป็นต้องหาแหล่งรายได้เพิ่มขึ้น สำหรับงบบำนาญข้าราชการและงบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการที่จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในอนาคต ก็ควรจะดำเนินการตามหลักวิชาการทางเศรษฐศาสตร์สาธารณะ ทั้งการบริหารจัดการงบประมาณและการปฏิรูปภาษี เพื่อแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างด้านความเหลื่อมล้ำของประเทศ ช่วยสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทย
โดยภาพที่ 1-3 แสดงงบประมาณรายจ่ายสวัสดิการบุคลากรภาครัฐที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
@เสนอจ่ายบำนาญผู้สูงอายุหัวละ 3 พัน ในปีงบ 70
หลักการในเบื้องต้นนี้ต้องมีการขับเคลื่อนด้วยกลไกทางกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน ประกอบกับการดำเนินงานนโยบายของรัฐบาลที่ต้องสนับสนุนให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม จากผลการพิจารณาของคณะกรรมาธิการจึงมีข้อสรุป ดังนี้
1.การจ่ายบำนาญพื้นฐานประชาชน
คณะกรรมาธิการมีแนวคิดในการจ่ายบำนาญพื้นฐานประชาชน ในลักษณะการจ่ายแบบถ้วนหน้าให้แก่ผู้สูงอายุที่มีสิทธิ
หากพิจารณาจากการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในปัจจุบันซึ่งดำเนินการตามหลักเกณฑ์ของระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2566 แบบขั้นบันได โดยผู้ที่อายุ 60-69 ปี จะได้รับเบี้ยยังชีพเดือนละ 600 บาท ผู้ที่อายุ 70-79 ปีจะได้รับเบี้ยยังชีพเดือนละ 700 บาท ผู้ที่อายุ 80-89 ปี จะได้รับเบี้ยยังชีพเดือนละ 800 บาท และผู้ที่อายุ 90 ปีขึ้นไป จะได้รับเบี้ยยังชีพเดือนละ 1,000 บาท
จะพบว่าในแต่ละปีงบประมาณ จะมีการใช้งบประมาณที่เพิ่มขึ้นทุกปี เนื่องจากจำนวนผู้สูงอายุมีแนวโน้มที่สูงขึ้นตามสถานการณ์สังคมสูงวัยอย่างเต็มรูปแบบ ดังนั้น ประเด็นเรื่องแหล่งรายได้ที่จะนำมาใช้เป็นงบประมาณในการจ่ายบำนาญพื้นฐานประชาชน จึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะจะเป็นภาระผูกพันงบประมาณรายจ่ายในระยะยาวต่อไปในอนาคต
แต่เมื่อพิจารณาตามหลักการทางเศรษฐศาสตร์แล้วระบบคุ้มครองความยากจนผู้สูงอายุ ไม่ได้เป็นภาระงบประมาณ เพราะเป็นการลงทุนเพื่อป้องกันความเสี่ยงของสังคมจากวิกฤตความยากจนผู้สูงอายุ สามารถช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายภาคครัวเรือน มีผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและเป็นเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงทางเศรษฐกิจทั้งระดับมหภาคและครัวเรือน
การดำเนินการจ่ายบำนาญพื้นฐานประชาชน ควรมีเป้าหมายในการดำเนินการอย่างเป็นระบบด้วยการปรับฐานการจ่ายเงินให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับเส้นความยากจน ซึ่งปัจจุบันเมื่อพิจารณาจากงบประมาณที่ใช้ในเรื่องเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแล้ว คณะกรรมาธิการได้พิจารณากรอบในการจ่ายเบี้ยบำนาญพื้นฐานประชาชน โดยเริ่มปรับฐานการจ่าย ดังนี้
(1) ปีงบประมาณ พ.ศ.2568 จ่ายบำนาญผู้สูงอายุ จำนวน 1,200 บาท
(2) ปีงบประมาณ พ.ศ.2569 จ่ายบำนาญผู้สูงอายุ จำนวน 2,000 บาท
(3) ปีงบประมาณ พ.ศ.2570 จ่ายบำนาญผู้สูงอายุ จำนวน 3,000 บาท
คณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม เห็นว่าในระยะเริ่มแรก ควรมีการปรับปรุงแหล่งที่มาของรายได้ เพื่อนำมาเป็นรายได้สมทบกับเงินงบประมาณประจำปี สามารถจ่ายบำนาญพื้นฐานประชาชนได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
เช่น ข้อเสนอแนะของสำนักงบประมาณของรัฐสภา กรณีการปรับลดเงินงบประมาณรายการงบกลาง ซึ่งจากสถิติพบว่า การใช้จ่ายบางรายการ ไม่ใช่รายการฉุกเฉินหรือจำเป็น จึงไม่ควรมาขอใช้งบประมาณในส่วนของงบกลาง ซึ่งแหล่งรายได้ในส่วนนี้สามารถนำมาใช้ในระบบบำนาญพื้นฐานประชาชน โดยมีงบประมาณกว่า 40,000 ล้านบาท
หากจะนำมาจัดสรรในเรื่องบำนาญพื้นฐานประชาชนควรมีการปรับปรุงแก้ไขระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณรายจ่ายงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น และการปรับปรุงรายการงบซ้ำซ้อน รวมทั้งการกำหนดแหล่งงบประมาณ เพื่อนำส่งเข้ากองทุนผู้สูงอายุจากแหล่งงบประมาณที่มีการใช้อยู่เดิมหรือแหล่งงบประมาณในอนาคต ตลอดจนการปฏิรูประบบภาษี เพื่อเป็นแหล่งรายได้สำหรับงบประมาณของรัฐเพิ่มเติม
ทั้งนี้ รัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญในการผลักดันเรื่องแหล่งงบประมาณที่จะนำมาใช้เพื่อบำนาญพื้นฐานประชาชนอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นการขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติ หรือการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนนำข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการไปประกอบการพิจารณา
@แก้ พ.ร.บ.ผู้สูงอายุฯ จ่ายบำนาญไม่น้อยกว่า‘เส้นยากจน’
2.การแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ.2546
คณะกรรมาธิการเสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 เนื่องจากพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 มาตรา 11 เป็นกฎหมายในการกำหนดให้ผู้สูงอายุมีสิทธิได้รับการคุ้มครอง การส่งเสริม และการสนับสนุนในด้านต่างๆ โดยกำหนดไว้ในมาตรา 11 (11) ว่าให้มีการจ่ายเบี้ยยังชีพเป็นรายเดือนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ดังนั้น มาตรา 11 (11) จึงเป็นหลักการสำคัญในเรื่องการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
โดยเสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 มาตรา 11 (11) ดังนี้
ให้ยกเลิกความใน (11) ของมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2560 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“(11) การจ่ายเงินบำนาญพื้นฐานเป็นรายเดือน เพื่อเป็นหลักประกันรายได้แก่ผู้สูงอายุตามอัตราที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ และมีอัตราไม่ต่ำกว่าเส้นความยากจนตามที่กำหนดโดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในปีก่อนจ่ายด้วย
ในกรณีผู้สูงอายุได้รับสิทธิสวัสดิการจากรัฐตามกฎหมายอื่นที่มีการจ่ายในทำนองเดียวกันกับเงินบำนาญพื้นฐานนี้ ให้ผู้นั้นเลือกรับสิทธิได้ทางเดียวเว้นแต่ผู้สูงอายุที่ได้รับสิทธิเบี้ยความพิการ การรับบำนาญชราภาพจากกองทุนประกันสังคม การรับบำนาญจากกองทุนการออมแห่งชาติ ทั้งนี้ ให้แต่ละปีมีการปรับปรุงอัตราการจ่ายไม่ต่ำกว่าเส้นความยากจน”
พร้อมทั้งกำหนดว่าในระยะเริ่มแรกให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาปรับอัตราการรับบำนาญพื้นฐานของประชาชนให้เพิ่มขึ้น ให้มีอัตราเท่ากับเส้นความยากจนตามที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกำหนด ทั้งนี้ จะต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในสามปีนับตั้งแต่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เพื่อเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนการวางระบบบ านาญพื้นฐานประชาชนให้มีความเป็นรูปธรรมต่อไป
@เสนอ‘บำนาญพื้นฐานประชาชน’เป็นวาระแห่งชาติ
แนวทางในการขับเคลื่อน
การขับเคลื่อนเพื่อให้การวางระบบบำนาญพื้นฐานประชาชน บรรลุตามวัตถุประสงค์เป็นสิ่งสำคัญ
โดยคณะกรรมาธิการได้ศึกษาจากรายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ เรื่อง การวิเคราะห์ช่องว่างทางการคลัง แหล่งรายได้ และความเป็นไปได้ทางเศรษฐศาสตร์การเมืองของการจัดตั้งระบบบำนาญแห่งชาติ โดยคำนึงถึงผลกระทบของ COVID-19 ที่มีต่อผู้สูงอายุ โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย และผู้ช่วยศาสตราจารย์ดวงมณี เลาวกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีแนวทางในการขับเคลื่อน ดังนี้
-การผลักดันนโยบายต่างๆ อาศัยเจตจำนงทางการเมืองเป็นสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจ ซึ่งข้าราชการที่มีหน้าที่ถ่ายทอดนโยบายลงสู่การปฏิบัติล้วนมีข้อมูลและความพร้อม อาศัยเพียงความตั้งใจของผู้มีอำนาจที่จะผลักดันระบบบำนาญแห่งชาติให้ถ่ายทอดลงมาสู่ผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งหากผู้มีอำนาจมีความตั้งใจจริง ย่อมได้รับแรงสนับสนุนจากกลุ่มต่างๆ ในสังคมที่ผลักดันเรื่องนี้มาเป็นเวลานาน
-สิ่งที่จะทำให้ระบบบำนาญแห่งชาติเกิดขึ้นได้จริงและมีความยั่งยืนได้นั้น เกิดจากแหล่งรายได้ โดยเฉพาะการปฏิรูประบบภาษีและการจัดสรรงบประมาณอย่างรอบคอบ ซึ่งจำเป็นต้องมีการเสนอและผลักดันแบบเป็นชุด (package) อาศัยแรงสนับสนุนจากสังคม
-กลยุทธ์ด้านการสื่อสาร ควรสื่อสารให้ชัดว่า “สิ่งที่จะได้มา (บำนาญผู้สูงอายุ) มีมากกว่าสิ่งที่จะเสียไป (ภาษี)” และควรเปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่เข้ามามีวิวาทะ (dialogue) รวมถึงใช้กลุ่มคนที่มีอิทธิพลทางความคิด (influencer) และการสื่อสารออนไลน์ต่างๆ เพื่อชักชวนให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเชิงสร้างสรรค์
-ระบบบำนาญแห่งชาติมีความสมเหตุสมผล (rationale) ทางด้านเศรษฐศาสตร์ กล่าวคือ การใช้จ่ายของรัฐด้านสวัสดิการ เป็นรายจ่ายประเภทหนึ่งที่ส่งผลบวกต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ สามารถเป็นกลไกรักษาเสถียรภาพโดยอัตโนมัติ (automatic stabilizer) เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ และช่วยกระจายทรัพยากรจากจุดที่มีการกระจุกตัวไปยังภาคส่วนต่างๆ ของสังคมโดยตรง
-หากแหล่งรายได้ส่วนหนึ่งของระบบบำนาญแห่งชาติมาจากภาษีฐานทรัพย์สิน และการลดนโยบาย pro-rich (นโยบายที่เอื้อให้กับคนรวย) ก็อาจกลายเป็นกลไกสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในสังคมลงได้
-ระบบบำนาญแห่งชาติ ควรจะกำหนดเป้าหมายทำให้ผู้สูงอายุทุกคนมีรายได้ยามชราภาพเพียงพอต่อการยังชีพ ช่วยป้องกันไม่ให้ความเหลื่อมล้ำในช่วงวัยเรียนและวัยทำงาน ส่งผลให้กลายเป็นความยากจนเมื่อวัยชรา โดยเป็นระบบที่มีความยั่งยืนทางการคลัง และต้องคำนึงถึงมูลค่าของเงินที่ลดลงเมื่อเวลาผ่านไป
สิ่งที่ควรดำเนินการในขั้นต่อไป คือ
(1) กำหนดให้ระบบบำนาญพื้นฐานประชาชน เป็นวาระแห่งชาติ (national agenda) ที่มีหน่วยงานรับผิดชอบชัดเจน
(2) มีการแก้ไขกฎหมายและระเบียบต่างๆ ที่เป็นข้อจำกัด เพื่อให้มีการกำหนดสวัสดิการถ้วนหน้าด้านบำนาญ เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนมีสิทธิได้รับ และสามารถคุ้มครองความยากจน จากเส้นความยากจนในแต่ละปี เช่น แก้ไขพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 โดยกำหนดให้เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นบำนาญพื้นฐานประชาชน และสามารถมีแหล่งรายได้เพิ่มมากขึ้นสำหรับกองทุนผู้สูงอายุ
(3) สร้างระบบฐานข้อมูล โดยกำหนดให้ผู้ที่ต้องการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุส่วนเพิ่มจะต้องเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ในวัยทำงาน
@ลดงบซ้ำซ้อน 4 หมื่นล.-นำเงินสลากฯ โปะ‘บำนาญปชช.’
ข้อเสนอแนะ และข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการ
ระยะสั้น
1.เสนอให้ประชาชนทุกคนมี “สิทธิบำนาญพื้นฐาน” เพราะสวัสดิการด้านบำนาญเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนควรได้รับ เพื่อความมั่นคงด้านรายได้ที่เพียงพอในการดำรงชีพหลังการเกษียณอายุ จึงควรพิจารณาสิทธิบำนาญพื้นฐานให้เป็นลักษณะถ้วนหน้า ที่ให้ประชาชนผู้มีอายุถึงเกณฑ์ตามที่รัฐกำหนดมีสิทธิได้รับทุกคน แม้ว่าประชาชนบางส่วนจะได้รับสวัสดิการบำนาญจากกองทุนการออมภาคบังคับอื่นแล้วก็ตาม
หากประชาชนผู้สูงอายุมีหลักประกันรายได้ยามชราภาพที่มั่นคง ก็จะช่วยลดภาระการพึ่งพิง ลดการส่งต่อความยากจนจากรุ่นสู่รุ่น ช่วยแก้ปัญหาความยากจนเรื้อรังได้อย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจทางอ้อม ซึ่งรัฐจะได้ผลตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจคืนมาได้รูปแบบของภาษีประเภทต่างๆ
2.กำหนดให้ระบบบำนาญพื้นฐานประชาชน เป็นวาระแห่งชาติ (national agenda) ที่มีหน่วยงานรับผิดชอบชัดเจน ตลอดจนมีการผลักดันนโยบายต่างๆ โดยอาศัยเจตจำนงทางการเมืองเป็นสำคัญ เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้
3.เสนอให้แก้ไขพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 ซึ่งเป็นแนวทางที่ไม่ซับซ้อน และสามารถดำเนินการได้ง่าย และรวดเร็วกว่า เนื่องจากเป็นการแก้ไขกฎหมายที่มีอยู่เดิม อีกทั้งเป็นกฎหมายแม่บทในการคุ้มครอง ส่งเสริม และสนับสนุนผู้สูงอายุในเรื่องต่างๆ ให้เพิ่มขึ้น
โดยให้ยกเลิกการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและให้เปลี่ยนเป็นการจ่ายบำนาญพื้นฐานประชาชนแทน ซึ่งเดิมการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุมีกรมกิจการผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์รับผิดชอบ จึงไม่จำเป็นต้องมีการจัดตั้งหน่วยงานและจัดสรรอัตรากำลังเพิ่มเติม
รวมทั้งพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 นั้น มีกองทุนผู้สูงอายุซึ่งเป็นแหล่งเงินงบประมาณที่มีกฎหมายและระเบียบรองรับอยู่แล้ว จึงสามารถจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อรองรับระบบบำนาญพื้นฐานได้ทันที
4.เสนอให้มีการแก้ไขระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ.2562 โดยลดงบประมาณที่มีความซ้ำซ้อนหรืองบประมาณที่ไม่ใช่รายการฉุกเฉินหรือจำเป็น ซึ่งรายได้ส่วนนี้จะสามารถนำเงินมาจัดสรรเป็นงบประมาณบำนาญพื้นฐานได้ประมาณ 40,000 ล้านบาท
5.การเรียกคืนที่ดินจากการบริหารจัดการที่ราชพัสดุตามภารกิจของกรมธนารักษ์ (จำนวนร้อยละ 91) ซึ่งให้ประโยชน์แก่ส่วนราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามกฎหมาย กรณีที่ส่วนราชการหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นไม่ได้ใช้ประโยชน์จากที่ราชพัสดุดังกล่าว
โดยการนำที่ราชพัสดุไปจัดหาประโยชน์เพื่อสร้างรายได้ให้รัฐเพิ่มจากเดิมที่มีเพียงร้อยละ 9 ของที่ดินทั้งหมดรวมถึงการปฏิรูปเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีที่ราชพัสดุที่อยู่ในการกำกับดูแลของกรมธนารักษ์
6.การกำหนดให้มีการนำส่งรายได้จากแหล่งงบประมาณที่มีการดำเนินการอยู่แล้วในปัจจุบันเข้ากองทุนผู้สูงอายุ เพื่อเป็นแหล่งงบประมาณในการจ่ายบำนาญพื้นฐานประชาชน เช่น รายได้จากภาษีเกี่ยวกับสินค้าสุรา ยาสูบ น้ำมันเชื้อเพลิง หรือยานพาหนะ เงินนำส่งจากการออกสลากการกุศลเพื่อบำนาญ ตลอดจนรางวัลค้างจ่ายพร้อมดอกผล ส่วนแบ่งค่าสัมปทาน
ค่าธรรมเนียมใบอนุญาต ในกิจการสื่อสาร วิทยุ โทรทัศน์ และคมนาคมตามกฎหมายว่าด้วยองค์การจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับดูแลกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เงินนำส่งที่คลังได้รับมาตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารทุนหมุนเวียน เงินบำรุงกองทุนที่ได้จากภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่มและอากรขาเข้า ที่ไม่ได้รับการต่อสิทธิพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยส่งเสริมการลงทุนและภาษีมรดก เป็นต้น
@แนะ‘เพิ่มแวต-เก็บภาษีมั่งคั่ง’-ลดสวัสดิการฯที่ซ้ำซ้อน
ระยะกลาง
1.พิจารณาความซ้ำซ้อนของการได้รับสวัสดิการสังคมของผู้สูงอายุ ซึ่งปัจจุบันยังมีความซ้ำซ้อน เช่น ลดความซ้ำซ้อนของการใช้งบประมาณด้านการจ่ายเงินสำหรับผู้สูงอายุ กรณีผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ หากว่ามีรายได้น้อยด้วยแล้ว ก็จะอยู่ในเกณฑ์ของโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นต้น จึงต้องมีการจัดระบบสวัสดิการของผู้สูงอายุให้เป็นระบบ เพื่อที่จะได้มีการใช้งบประมาณสำหรับบำนาญพื้นฐานประชาชนอย่างเต็มประสิทธิภาพ
2.กำหนดให้มีการพิจารณาศึกษาการนำแหล่งรายได้ในอนาคตมาใช้เพื่อบำนาญพื้นฐานประชาชน เช่น รายได้จากการจัดเก็บภาษีทางอ้อม การจัดสรรงบประมาณบางส่วนจากการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต (ภาษีบาป) จากธุรกิจกัญชา กระท่อม การจัดเก็บรายได้ใหม่จากการใช้พลังงาน การจัดเก็บภาษีในกลุ่มธุรกิจพลังงาน ภาษีคาร์บอนเครดิต
ภาษีสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ค่าธรรมเนียมการอนุญาตค่าธรรมเนียมการใช้ ค่าปรับ ค่าภาษีมลพิษ ใบอนุญาตปล่อยมลพิษ ค่าธรรมเนียมผลิตภัณฑ์ การจัดเก็บรายได้จากค่าธรรมเนียมในการออกใบอนุญาตประกอบการจากสถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex)
เงินบำรุงที่ได้จากภาษีการท่องเที่ยว ค่าธรรมเนียมวีซ่า ส่วนแบ่งรายได้ที่ได้จากการยึดทรัพย์สินที่มาจากการกระทำความผิดในคดีอาญา โดยมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดิน ตลอดจนกำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาการออกสลากการกุศล เพื่อนำมาใช้ในเรื่องของบำนาญพื้นฐานประชาชน เป็นต้น
3.งบประมาณรายจ่ายด้านบำนาญผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วภายในสองทศวรรษข้างหน้า โดยส่วนมากมาจากงบบำนาญข้าราชการ ดังนั้น ในเมื่อประเทศไทยจะต้องหาแหล่งรายได้เพิ่มขึ้น ก็ควรจะใช้เป็นโอกาสแก้ไขปัญหาโครงสร้างของประเทศ โดยปฏิรูประบบเศรษฐกิจให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น และสร้างระบบสวัสดิการเพื่อให้คุณภาพชีวิตของทุกคนดีขึ้น
โดยมีแหล่งรายได้ที่สำคัญ ได้แก่ การจัดระบบความสำคัญในการจัดสรรงบประมาณประจำปี กล่าวคือ ลดงบที่ไม่จำเป็นและไม่เกิดประโยชน์ต่อประชาชน ยกเลิกสิทธิพิเศษและค่าลดหย่อนทางภาษีสำหรับมหาเศรษฐีและกลุ่มทุนขนาดใหญ่ เช่น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และ Capital Gain Tax เก็บภาษีเพิ่มจากส่วนต่างของกำไรที่ได้จากการขายหลักทรัพย์และที่ดิน
ปรับการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้มีประสิทธิภาพ ลดเกณฑ์ยกเว้นภาษีการรับมรดกที่มูลค่า 100 ล้านบาท ส่งผลให้ผู้ที่ได้รับมรดกไม่ถึง 100 ล้านบาท ก็จะได้รับการยกเว้นภาษี ควรจะปรับลดลงมาให้สมเหตุสมผลมากกว่านี้ เพิ่มอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล และอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม เพราะอัตราต่ำเกินไปเมื่อเทียบกับสากล
ปรับระบบภาษีเงินได้ ไม่ว่าจะมาจากแหล่งใดก็ตามต้องเสียภาษีในอัตราเดียวกันหมด ไม่ใช่เหลื่อมล้ำกันระหว่างภาษีรายได้ที่จัดเก็บจากเงินเดือน เงินปันผล กำไร หรือที่ดิน ซึ่งโดยเฉลี่ยคนรวยเสียภาษีในอัตราต่ำกว่ามนุษย์เงินเดือน และกรณีที่หน่วยงานของรัฐที่ถือครองที่ดินมากเกินจำเป็นและไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ ควรนำมาให้ประชาชนเช่าทำมาหากิน เมื่อประชาชนมีฐานะดีขึ้น รัฐจะเก็บภาษีได้มากขึ้น เป็นต้น
4.การปฏิรูปภาษีของประเทศไทยตามช่วงเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดงบประมาณของภาครัฐมากยิ่งขึ้น
เช่น ปฏิรูปภาษีที่ดินแบบรวมแปลง รวมถึงภาษีสิ่งปลูกสร้าง โดยมีการจัดเก็บในอัตราที่เพิ่มขึ้น การจัดเก็บภาษีความมั่งคั่งจากผู้มีรายได้เกิน 300 ล้านบาท ภาษีกำไรจากหุ้นและหลักทรัพย์ ภาษีมรดก จัดเก็บภาษีลาภลอย
ปฏิรูปภาษีจากการให้สิทธิประโยชน์ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ภาษีจากกัญชาและกระท่อมเสรี ภาษีหรือค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว ภาษีคาร์บอนเครดิต ภาษีสิ่งแวดล้อม ตลอดจนเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax)
5.แนวคิดเกี่ยวกับการส่งเสริมการออมจากการจ่ายภาษีบริโภคของประชาชน ถือเป็นนวัตกรรมที่มีการออกแบบความคิด เพื่อการออมที่จะสามารถนำไปใช้ในเรื่องบำนาญของประชาชน เมื่อก้าวเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ ซึ่งในต่างประเทศนั้นมีการดำเนินการมาเป็นเวลาช้านานแล้ว อย่างไรก็ตาม ในการจัดเก็บภาษี ควรนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการดำเนินการ ซึ่งจะทำให้เห็นที่มาที่ไปของเงินว่านำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ใด
ระยะยาว
รัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญในการผลักดันเรื่องแหล่งงบประมาณที่จะนำมาใช้ เพื่อบำนาญพื้นฐานประชาชนอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นการขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติ การศึกษาแหล่งงบประมาณในอนาคต หรือการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ทั้งหมดนี้เป็น ‘ข้อเสนอแนะ-ข้อสังเกต’ ในรายงานผลการพิจารณาศึกษา เรื่อง ‘การพัฒนาระบบบำนาญพื้นฐานประชาชน’ ของคณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร และยังคงต้องติดตามต่อไปว่า นโยบาย ‘บำนาญประชาชน’ ที่ยังคงมี ‘ข้อถกเถียง’ จากหลายฝ่าย จะเกิดขึ้นผลเป็นเรื่องรูปธรรมได้เมื่อไหร่ และอย่างไร?
อ่านฉบับเต็ม : รายงานผลการพิจารณาศึกษา เรื่อง การพัฒนาระบบบำนาญพื้นฐานประชาชน ของคณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร
อ่านประกอบ :
'เครือข่ายภาคปชช.'เรียกร้อง'รัฐบาล'ผลักดันนโยบาย'บำนาญแห่งชาติ'
อีกครั้งสำหรับการพัฒนา'บำนาญผู้สูงอายุ' เพื่อระบบเศรษฐกิจที่เป็นธรรม
ต่างกัน 4 เท่า! เทียบงบ‘เบี้ยผู้สูงอายุ-บำนาญขรก.’10ปี ก่อน‘รบ.บิ๊กตู่’รื้อเกณฑ์จ่ายคนชรา
‘จุรินทร์’ยันไม่ปรับเกณฑ์จ่าย‘เบี้ยผู้สูงอายุ’-‘นักวิชาการ’มองรัฐไม่กล้าเก็บภาษีคนรวย
รบ.แจงปรับลดเบี้ยผู้สูงวัย เฉพาะคนรวย ลดภาระงบประมาณ
รายจ่ายยากลดทอน 2 ล้านล.! เปิด‘ความเสี่ยงการคลัง’ล่าสุด หลัง‘นักการเมือง’โหม‘ประชานิยม’
สำรวจนโยบาย 'บำนาญแห่งชาติ-เพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ' สู้ศึกเลือกตั้ง-เสี่ยงภาระการคลัง?
เวทีเสวนาฯชงรีดภาษีมั่งคั่ง-ขึ้นVat หางบโปะ‘บำนาญแห่งชาติ’-ห่วง‘รุ่นเกิดล้าน’แก่แล้วจน
จุดยืนล่าสุด 5 พรรคการเมือง หนุน‘บำนาญแห่งชาติ’ แต่ไม่ฟันธงได้เดือนละ 3 พันบาท ปีไหน!
ข้อเสนอ 'บำนาญถ้วนหน้า' เดือนละ 3 พันบาท ทำได้-ไม่ได้ ใช้เงินเท่าไหร่-หาเงินจากไหน?
จี้เลิกลดหย่อนภาษีคนรวย-เจ้าสัว! ‘ภาคปชช.’เคลื่อนไหวผลักดัน‘บำนาญถ้วนหน้า’ 3 พันบาท/ด.
จาก'สงเคราะห์'สู่'สวัสดิการ' เพิ่ม'เบี้ยผู้สูงอายุ' 3 พันบาท ทางเลือกที่รัฐบาลทำได้?
ครม.อนุมัติ 8.3 พันล้าน เพิ่มเบี้ยยังชีพคนชรา 100-250 บาท 6 เดือน
ผลวิจัยฯชี้เพิ่ม‘เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ’เป็น 3 พันบาท/ด. ต้นทุนเทียบเท่าขึ้นแวต 16.9%
รมว.พม.รับข้อเสนอเครือข่ายประชาชน พัฒนา 'เบี้ยผู้สูงอายุ' เป็นระบบบำนาญ