"...บำนาญประชาชนจะเป็นแรงจูงใจสำคัญที่ทำให้คนไทยที่มีรายได้อยากเข้าสู่ระบบภาษี ผู้เขียนเชื่อว่า อาชีพฟรีแลนซ์หลายแสนคนในประเทศที่เคยเลี่ยงจ่ายภาษี จะยินดีจ่ายภาษี ผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อยที่เป็นบุคคลธรรมดาและเสียภาษีแบบเหมาจ่าย จะยินยอมจ่ายภาษีเหมาจ่ายที่สูงขึ้น ผู้ประกอบอาชีพอิสระจำนวนมากเช่น ขับรถรับจ้าง ขับแท็กซี่ ขับวินมอเตอร์ไซค์ นักแสดงอิสระ ฯลฯ จะยินดีเข้าสู่ระบบภาษี..."
1. เกริ่นนำ
เรื่องสวัสดิการโดยรัฐดูจะเป็นเรื่องสำคัญที่ถูกกล่าวถึงมาไม่น้อยกว่า 20 ปี และการเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่ผ่านมาในปี 2566 หลายพรรคการเมืองนำประเด็นนี้มาหาเสียงกันมากขึ้น
ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการโดยรัฐแบบสวัสดิการถ้วนหน้าที่มีการยกมาพูดกันมากที่สุด ประกอบด้วย
1.เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตั้งแต่เดือนละ 1,000-3,000 บาท
2.เรียนฟรีตั้งแต่ระดับประถม 1 ถึงระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6
3.ทุนสวัสดิการเด็กแรกเกิดถึง 3 ขวบและ/หรือถึง 6 ขวบ
4.เพิ่มสิทธิประโยชน์ในโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
ผู้เขียนไม่แน่ใจว่า พรรคการเมืองทั้งหลายที่นำประเด็นเหล่านี้มาหาเสียงในช่วงรณรงค์เลือกตั้ง ได้มีการศึกษาในรายละเอียดมาอย่างรอบด้านมากน้อยเพียงใด เพราะแต่ละประเด็นที่นำเสนอล้วนต้องใช้งบประมาณไม่น้อย
คำถามแรกง่ายๆคือ รัฐฯจะเอาเงินมาจากไหน?
คำตอบของพรรคการเมืองต่างบอกว่ามีหลากหลายวิธีที่จะเพิ่มเม็ดเงิน อาทิ ปฏิรูปงบประมาณกองทัพ เพิ่มรายได้จากการดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติ ดึงเม็ดเงินจากการลงทุนของต่างชาติ บลาๆๆๆ ซึ่งผู้เขียนเห็นว่า เป็นคำตอบที่เข้าข่ายเพ้อฝันเสียส่วนใหญ่ ไม่เห็นเป็นรูปธรรม จับต้องไม่ได้
ในขณะที่ข้อเท็จจริงของสถานการณ์ปัจจุบัน ประเทศกำลังเผชิญวิกฤตรอบด้านในหลายเรื่องพร้อมๆกัน เช่น ปัญหาโลกร้อน ปัญหาฝุ่นPM2.5และสิ่งแวดล้อม ปัญหาค่าครองชีพสูง ปัญหาหนี้ครัวเรือน ปัญหาแพทย์สมองไหล ปัญหาพยาบาลไม่เพียงพอ ปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติด ปัญหาคอรัปชั่นที่ดูจะยังไม่ดีขึ้น(ค่าCPIแย่ลง) ยังไม่รวมถึงปัญหาวิกฤตศรัทธาต่อองค์กรยุติธรรม( ตำรวจ อัยการ ศาล )ที่ดูจะรุนแรงขึ้นด้วย วิกฤตด้านการศึกษา( ทั้งปริมาณและคุณภาพ ) รวมถึงความกังวลต่อการรับมือสังคมผู้สูงอายุ ฯลฯ
สถานการณ์ของปัญหาและวิกฤตต่างๆที่กล่าวมานี้ ส่งผลให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นต่ออนาคตของตนเอง ของครอบครัว และต่ออนาคตประเทศ...อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
2.เมื่อขาดความเชื่อมั่นในอนาคตประเทศ ส่งผลต่อพฤติกรรมคนในสังคมอย่างไร?
1.เอาตัวเองให้รอดไว้ก่อน เรื่องส่วนรวม เรื่องสังคมเอาไว้ทีหลัง ผู้คนรอบตัวจะเห็นแก่ตัวมากขึ้น เชื่อว่าเรื่องนี้ทุกท่านพบเห็นได้จากคนรอบตัวได้ไม่ยาก และจะยิ่งน่าเป็นห่วงหากคนในสังคมมีทัศนคติเช่นนี้แพร่ขยายออกไปเป็นจำนวนมากขึ้นๆ
2.มุ่งสะสมความมั่งคั่งเหมือนไม่รู้จักพอ เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่ลำบากในการดูแลตนเองหลังเกษียณอายุ และเผื่อไว้ให้ลูกหลานได้ยิ่งดี
3.ไม่จำเป็นต้องแต่งงานหรือมีครอบครัว เพราะเห็นเป็นภาระมากกว่ามีความสุข หรือถ้าแต่งงานก็ไม่จำเป็นต้องมีลูก เพราะค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูลูก 1 คนในภาวะปัจจุบันอาจสูงเกินกำลัง และ กลัวว่าเมื่อลูกโตขึ้นจะยิ่งอยู่ยากในสังคม ( จึงไม่น่าแปลกใจที่เด็กรุ่นใหม่ไม่นิยมมีลูก ส่งผลให้เด็กเกิดน้อยลง )ส่งผลต่อปัญหาโครงสร้างประชากรตามมา
4.คนจำนวนไม่น้อยจะหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีบุคคลธรรมดา เชื่อว่าทุกท่านคงทราบดีว่าผู้มีอาชีพอิสระจำนวนไม่น้อย หากเลือกได้จะไม่แจ้งรายได้เพื่อคำนวณภาษี หรือหากเลี่ยงไม่ได้ ก็จะแจ้งต่ำกว่าความเป็นจริง หรือกระจายการใช้ชื่อผู้อื่นเป็นผู้รับแทน ยิ่งปัจจุบัน มีคนทำงานฟรีแลนซ์กันมากมาย ผู้เขียนเชื่อว่าจำนวนน้อยมากที่ไม่แจ้งรายได้เพื่อคำนวณภาษี หรือแจ้งต่ำ หรือใช้ชื่อผู้อื่นรับแทน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อรวมเข้ากับปัญหาการคอรัปชั่นที่เกิดขึ้นในแทบทุกหน่วยงานรัฐฯด้วยแล้วจนคนในสังคมเห็นเป็นเรื่องไม่ผิดปกติไปแล้ว ยิ่งเป็นแรงจูงใจให้คนเลือกที่จะเลี่ยงการจ่ายภาษีอย่างมีเหตุผล
มองในแง่ร้าย เรากำลังค่อยๆคืบคลานไปสู่ “รัฐล้มเหลว( Fail State )” โดยไม่รู้ตัวหรือไม่??
3.ปัจจุบัน ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์
มีประชากรผู้สูงวัยอายุเกิน 60 ปี มากกว่า 13 ล้านคนหรือคิดเป็นร้อยละ 19 ของประชากรไทย เป็นอันดับ 2 ในอาเซียนรองจากสิงคโปร์ และมีการคาดการณ์ว่าในทศวรรษนี้จะเพิ่มไปถึงร้อยละ 28 หรือประมาณ 20 ล้านคนภายใน 10 ปี ขณะที่สัดส่วนการเกิดน้อยลงเหลือ 500,000 คนต่อปี หลายปีต่อเนื่อง นับเป็น อัตราการเกิดที่ต่ำที่สุดในรอบ 71 ปี หากไม่มีการเตรียมการรับมือ ในปี 2585 ประชากรไทยอาจเหลือเพียง 30ล้านคนเท่านั้น อีกทั้งเด็กเกิดใหม่จนถึงอายุ15ปี ถึงร้อยละ 57 เกิดในครอบครัวที่ยากจน จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างคาดไม่ถึง ส่งผลต่อสมดุลรายได้ – รายจ่ายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
หากประเทศไม่มีแผนรับมือตั้งแต่วันนี้ ความหายนะของประเทศจะอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม
น่าเสียดายที่นักการเมือง และพรรคการเมืองไทยมุ่งคิดและทำแต่เรื่องฉาบฉวย หวังเพียงคะแนนเสียงเลือกตั้งในครั้งต่อไป ผู้มีอำนาจในรัฐบาลไม่ว่าจะมาจากการรัฐประหารหรือมาจากการเลือกตั้งมักไม่ต่างกันในเรื่องนี้ ประเทศจึงเสียโอกาสในการวางแผนระยะยาวในหลายๆเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องการสร้าง ”คน” ให้เป็น ”คนคุณภาพ” การวางแผนผังเมืองระยะยาวเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลง การวางแผนการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศในทุกมิติ (ไม่ใช่คิดเฉพาะมิติทางเศรษฐกิจ) เป็นต้น
4.บำนาญประชาชนคือทางออก
4.1 บำนาญประชาชน ในที่นี้หมายถึง เงินรายได้ที่ประชาชนพึงได้รับจากรัฐฯเมื่อถึงวัยสูงอายุ(เกินกว่า60ปี)และไม่มีรายได้จากการทำงานหรือประกอบอาชีพแล้ว แต่หากอายุเกิน60ปีแต่ยังมีรายได้อยู่ในเกณฑ์ที่สามารถเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ ยังจะไม่ได้รับเงินบำนาญประชาชน
4.2 บำนาญประชาชน มีสถานะเป็น “สวัสดิการเฉพาะคนผู้เสียภาษีเงินได้บุคคธรรมดา” ต่างจาก “เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ” ซึ่งมีสถานะเป็นสวัสดิการถ้วนหน้า
4.3 บำนาญประชาชน จะพิจารณาจากผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่เสียภาษีให้รัฐฯตลอดชีวิตการทำงานยอดสะสมไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาทขึ้นไป จนถึงสูงสุด 50 ล้านบาท จะได้รับเงินบำนาญหลังเกษียณอายุงานแล้วไปตลอดชีวิต เริ่มต้นเดือนละ 10,000 บาทได้ถึงสูงสุดเดือนละ50,000บาท เป็นอัตราก้าวหน้าแบบขั้นบันได
ผู้ที่ได้รับ “บำนาญประชาชน/เดือน” ไม่ถึง 15,000บาท มีสิทธิ์ได้รับ “เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ” ด้วย ส่วนข้าราชการที่ได้รับบำนาญตามระเบียบราชการมีสิทธิ์เลือกรับ “บำนาญข้าราชการ” หรือ “บำนาญประชาชน” อย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น
ส่วนผู้ที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสะสมตลอดชีวิตการทำงานไม่ถึง 1 ล้านบาทแต่ไม่น้อยกว่า 5 แสน ได้รับ “บำนาญประชาชน” 6,000 บาท/เดือน
ทั้งนี้ “เงินบำนาญจากประกันสังคม” ยังคงมีสิทธิ์ได้รับปกติตามเกณฑ์ของกองทุนประกันสังคม
4.4 ผลจากข้อ 4.2 จะช่วยให้มีการขยายฐานผู้เสียภาษีบุคคลธรรมดาเพิ่มมากขึ้นเป็นเท่าตัวหรือหลายเท่าตัว
บำนาญประชาชนจะเป็นแรงจูงใจสำคัญที่ทำให้คนไทยที่มีรายได้อยากเข้าสู่ระบบภาษี ผู้เขียนเชื่อว่า อาชีพฟรีแลนซ์หลายแสนคนในประเทศที่เคยเลี่ยงจ่ายภาษี จะยินดีจ่ายภาษี ผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อยที่เป็นบุคคลธรรมดาและเสียภาษีแบบเหมาจ่าย จะยินยอมจ่ายภาษีเหมาจ่ายที่สูงขึ้น ผู้ประกอบอาชีพอิสระจำนวนมากเช่น ขับรถรับจ้าง ขับแท็กซี่ ขับวินมอเตอร์ไซค์ นักแสดงอิสระ ฯลฯ จะยินดีเข้าสู่ระบบภาษี
บำนาญประชาชนจะเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้คนในวัยทำงานยินดีเข้าสู่ระบบภาษี และต้องการเสียภาษีให้ถึงตัวเลขเป้าหมาย เพื่อความมั่นคงของรายได้หลังเกษียณจากวัยทำงานแล้ว
คนทุกคนยินดีทำงานหนัก ยินดีเสียภาษีเต็มเม็ดเต็มหน่วย หากรู้ว่าเขาจะได้รับหลักประกันในชีวิตหลังวัยเกษียณแล้ว
ในทางตรงกันข้าม ทุกวันนี้คนทุกคนทำงานหนักแต่พร้อมที่จะเลี่ยงจ่ายภาษี แล้วสะสมไว้กับตนเองเพื่อรองรับชีวิตความเป็นอยู่ในวัยเกษียณ เพราะพึ่งพาสวัสดิการจากรัฐฯไม่ได้
บทสรุป
ในสถานการณ์ที่ประเทศก้าวสู่สังคมผู้สูงวัยแล้วนับตั้งแต่ปี 2564 การขยายฐานผู้เสียภาษีเป็นเรื่องสำคัญยิ่งสำหรับรัฐฯ และสวัสดิการดูแลผู้สูงวัยก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน ผู้เขียนเสนอว่านโยบาย ”บำนาญประชาชน” ควรทำควบคู่ไปกับการ “ขยายฐานผู้เสียภาษี” ได้ ผลพลอยได้จากนโยบายนี้อีกประการหนึ่งคือ ครอบครัวคนรุ่นใหม่จะยินยอมมีบุตร เป็นการแก้ปัญหา “คนเกิดน้อยกว่าคนตาย” ในปัจจุบัน
อยากเห็นรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐมองปัญหาของประเทศอย่างเชื่อมโยง อย่ามองปัญหาแยกจากกัน เพราะในชีวิตจริงของสังคมทุกปัญหาเชื่อมโยงกัน
ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ความเชื่อ วัฒนธรรม ค่านิยม วิถีการดำรงชีพ เชื่อมโยงและส่งผลกระทบต่อกันเสมอมานับร้อยนับพันปี เพียงแต่ผู้ถืออำนาจบริหารประเทศจะมองเห็นและเข้าใจมากน้อยเพียงใด มีความตั้งใจจริงในการแก้ปัญหาเพียงใด
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก https://www.freepik.com