“...วันนี้พูดตรงๆ เราจนลงกว่าเดิม จึงต้องทำให้มีตังค์มากขึ้น แล้วอย่างที่บอกว่า ไปตัดตรงนั้น ตรงนี้ พูดง่าย แต่ทำไม่ง่าย เพราะเขาจะเอาตัวเลขต่างๆมายัน นอกจากใช้อำนาจตัดสินใจเด็ดขาดไป ซึ่งก็ไม่ทำได้ง่ายๆ ทำไป ก็ถูกรัฐประหารหลายทีแล้ว...”
.........................................
เมื่อวันที่ 18 ม.ค.ที่ผ่านมา มูลนิธิมิตรภาพบำบัด จัดเวทีเสวนา เรื่อง ‘นโยบายบำนาญแห่งชาติ’ ภายในงาน ‘รำลึก 15 ปี นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์’ โดยมีผู้แทนจากพรรคการเมือง 5 พรรค ได้แก่ พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคก้าวไกล พรรคไทยสร้างไทย และพรรคภูมิใจไทย เข้าร่วมเวทีเสวนาฯ ซึ่งมีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้
@‘เพื่อไทย’ ชี้ ‘บำนาญฯ 3 พัน’ ใช้งบสูง-ต้องเน้นเพิ่มรายได้ผู้สูงอายุ
นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ประธานคณะกรรมการนโยบาย พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยแล้ว โดยมีสัดส่วนผู้สูงอายุคิดเป็น 1 ใน 5 ของประชากร และสัดส่วนผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นเป็น 1 ใน 3 ภายใน 20 ปีข้างหน้า ขณะที่การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยของไทยที่ใช้เวลาเพียง 17 ปี เทียบกับสหรัฐที่ใช้เวลา 72 ปี อังกฤษใช้เวลา 46 ปี และญี่ปุ่นใช้เวลา 24 ปี นั้น ทำให้เกิดปัญหาว่าผู้สูงอายุของไทยมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ
“ครึ่งหนึ่งของผู้สูงวัย ขณะนี้กำลังทำงานอยู่ โดย 63% อยู่ในภาคเกษตร และอีก 17% เป็นแรงงานนอกระบบ ถ้าจะแก้ปัญหานี้ คงไม่ใช่แค่ดูเฉพาะเงินบำนาญเท่านั้น ซึ่งผมทราบว่า มีการเสนอบำนาญฯ 3,000 บาท/คน/เดือน ถ้าเอา 3,000 บาท คูณ 12.5 ล้านคน แล้วคูณกับ 12 เดือน จะต้องใช้งบประมาณต่อปีเท่ากับ 4.5 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 11-12% ของงบประมาณแผ่นดิน
แต่ปัญหาสำคัญ คือ ถ้าทำแบบนั้น เราคงไม่ต้องทำอย่างอื่น เพราะจ่ายแต่ค่าใช้จ่ายที่จะให้แก่คนชรา จึงกลับมาว่า มันดูอย่างเดียวไม่ได้ หัวหน้าสหภาพฯจะเรียกร้องอย่างเดียวไม่ได้ ถ้าเป็นบริษัทก็ต้องกลับมาดูว่าผู้ประกอบการ เขาทำอะไรได้ เพื่อให้อยู่ด้วยกันได้อย่างมีความสุข และที่เราต้องมาจัดสวัสดิการให้ผู้สูงอายุ เพราะรายได้ไม่พอให้เขาดำรงชีวิตอย่างพอเพียง รัฐจึงมีหน้าที่เอาส่วนเกินมาเจียดจ่ายให้คนที่ยังขาด” นพ.พรหมินทร์ ระบุ
นพ.พรหมินทร์ กล่าวต่อว่า หากต้นเหตุที่ทำให้รัฐต้องจัดสวัสดิการฯให้ผู้สูงอายุ มาจากการที่ผู้สูงอายุมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ และไม่มีเงินเก็บ สิ่งที่รัฐต้องทำ คือ การเพิ่มรายได้ โดยพรรคฯมีนโยบายเพิ่มรายได้ให้กับทุกเซ็กเตอร์ ซึ่งในส่วนการเพิ่มรายได้ของภาคเกษตร พรรคฯมีนโยบายส่งเสริมการปลูกข้าวโพดและถั่วเหลืองเพื่อทดแทนการจากต่างประเทศ และส่งเสริมการเลี้ยงวัว ซึ่งจีนมีความต้องการวัวไทย 1 ล้านตัว และตะวันออกกลางต้องการ 3 ล้านตัว/ปี
นอกจากนี้ พรรคฯมีโครงการที่เรียกว่า ‘1 ครอบครัว 1 ศักยภาพ’ เพื่อเพิ่มรายได้ให้ครัวเรือน ซึ่งครัวเรือนไทยมีทั้งสิ้น 22 ล้านครัวเรือน หากแต่ละครอบครัวมี 1 คน ที่เพิ่มผลผลิตได้ และถ้าสามารถเพิ่มรายได้ 1.6 หมื่นบาท/เดือน หรือประมาณ 2 แสนบาท/ปี ก็จะเพิ่มรายได้ได้ถึง 4 ล้านล้านบาท เป็นต้น
“โดยสรุปแล้ว เราดูแลเรื่องการเพิ่มรายได้ แต่มิได้บอกว่า เราจะละเลยคนที่ขาด เพียงแต่เงินที่เรามีอยู่นั้นเศรษฐศาสตร์ 101 บอกว่า ทรัพยากรน้อย ต้องยิงให้ตรงเป้า เราจึงต้องกวาดหาส่วนที่มีความจำเป็น โดยคนที่อ่อนด้อยจะต้องได้รับการดูแลก่อน” นพ.พรหมินทร์ กล่าว
@‘ก้าวไกล’ เสนอเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุเป็น 3 พันบาท ภายในปี 2570
ด้าน เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการ Think Forward Center พรรคก้าวไกล ระบุ ปัจจุบันประเทศไทยมีกลุ่มคนที่เป็นผู้สูงอายุจำนวน 12 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้ที่มีการออมอยู่ที่ประมาณ 1 ใน 3 ส่วนอีก 2 ใน 3 นั้น ไม่มีการออม ดังนั้น สิ่งที่พรรคก้าวไกลคิด คือ ต้องเติมสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุในทันที ซึ่งจากคำนวณพบว่า อัตราการให้บำนาญผู้สูงอายุหรือเบี้ยผู้สูงอายุที่เหมาะสม และเป็นระดับที่สมเหตุสมผลนั้น ควรอยู่ที่ 3,000 บาท/คน/เดือน
“ตัวเลขเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่ 3,000 บาท แม้ว่าจะทำให้ความยากจนของผู้สูงอายุลดลงเหลือ 1% แต่ก็ยังมีผู้สูงอายุอีก 30% ที่มีความมั่นคงทางเงินไม่เพียงพอ หากต้องเป็นผู้ป่วยติดบ้าน ติดเตียง ซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายระยะยาว พรรคฯจึงมองว่า นอกจากการเพิ่มเบี้ยยังชีพหรือบำนาญประชาชนแล้ว จำเป็นต้องตั้งกองทุนดูแลผู้สูงอายุระยะยาว ซึ่งทราบว่า สปสช. มีการดำเนินการเรื่องนี้อยู่แล้ว แต่งบที่มีอาจไม่เพียงพอ” เดชรัต กล่าว
เดชรัต กล่าวต่อว่า ส่วนคนที่ยังไม่เป็นผู้สูงอายุนั้น พรรคฯเห็นว่าจะต้องเพิ่มการออม และเมื่อตัวเลขรายได้ที่ผู้สูงอายุควรจะมีควรอยู่ที่ 5,000-6,000 บาท/เดือน ดังนั้น หากเพิ่มรายได้เบี้ยยังชีพฯเป็น 3,000 บาท บวกกับการทำงานหรือการออมอื่นๆแล้ว จะทำให้ผู้สูงอายุมีรายได้ตามที่ควรจะเป็น ขณะเดียวกัน พรรคฯเสนอให้รวมกองทุนประกันสังคมในส่วนการดูแลสุขภาพเข้ากับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งจะทำให้เงินที่ผู้ประกันตนเสียไปเพื่อการดูแลสุขภาพถูกนำไปออม
“สิ่งนี้ เป็นสิ่งที่ภาคประชาชนใช้คำว่า ‘ปิ่นโต 3 ชั้น’ ชั้นแรก คือ สวัสดิการที่ได้จากภาครัฐ 3,000 บาท ชั้นที่สอง เป็นส่วนเติมที่ได้มาจากการออมโดยใช้กลไกภาคบังคับ ซึ่งพรรคฯเราได้เปิดนโยบายว่า อยากให้มีการประกันสังคมแบบถ้วนหน้า คือ ทุกคนเข้าสู่ระบบประกันสังคม และเข้าสู่การออมภาคบังคับต่อไป” เดชรัต กล่าว
เดชรัต ระบุว่า เมื่อพิจารณาเฉพาะการให้บำนาญฯหรือเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเดือนละ 3,000 บาทแล้ว พบว่าจะต้องใช้งบ 4.2 แสนล้านบาท แต่เนื่องจากพรรคก้าวไกลได้เสนอสวัสดิการอื่นๆอีก เช่น การเพิ่มเงินอุดหนุนค่าเลี้ยงดูเด็กเล็กจากเดือนละ 600 บาท เป็น 1,200 บาท และเป็นการอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้าด้วย จึงทำให้ตัวเลขงบประมาณกลมๆอยู่ที่ 6.5 แสนล้านบาท ซึ่งพรรคก้าวไกลมีภาระต้องตอบกับประชาชนว่างบ 6.5 แสนล้านบาท ดังกล่าว จะมาจากไหน
“เราจะหางบมาจาก 3 ทาง ทางแรก คือ ปรับลดงบประมาณที่ไม่จำเป็น ลดขนาดกองทัพ ลดธุรกิจกองทัพ ลดโครงการที่ไม่จำเป็นต้องดำเนินการ ซึ่งเราคำนวณแล้วว่า น่าจะลดได้งบ 1.8 แสนล้าน หรือคิดเป็น 5% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ส่วนที่สอง การเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้จากฐานภาษีที่มีอยู่แล้ว ซึ่งจะได้อีก 2.5 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 10% ของรายได้ภาษีที่เราจัดเก็บได้อยู่แล้ว
และสุดท้าย คือ การเพิ่มแหล่งรายได้ใหม่ๆ เช่น ภาษีความมั่งคั่ง โดยจัดเก็บภาษีจากผู้มีทรัพย์สินสุทธิมากกว่า 300 ล้านบาท และเก็บภาษีที่ดินแบบรวมแปลง ไม่ใช่คิดทีละแปลง คือ นำที่ดินทุกแปลงของแต่ละคนที่มีในประเทศไทยมารวมกัน แล้วคิดออกมาว่ามีมูลค่าเท่าไหร่ และให้เสียภาษีในอัตราก้าวหน้า ซึ่งการเก็บภาษีจากแหล่งรายได้ใหม่ตรงนี้น่าจะได้เงินประมาณ 2.2 แสนล้านบาท รวมกันทั้งหมดแล้วจะได้ตัวเลข 6.5 แสนล้านบาท” เดชรัต กล่าว
อย่างไรก็ตาม เดชรัต ระบุ การปรับเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็น 3,000 บาท นั้น คงไม่สามารถทำได้ในปีแรกที่ได้เข้ามาเป็นรัฐบาล เพราะต้องขอเวลาในการจัดระบบ ปรับลดงบประมาณ และการเพิ่มการจัดเก็บรายได้ รวมทั้งต้องจัดสรรงบไปทำสวัสดิการอื่นๆที่ไม่ใช่เฉพาะผู้สูงอายุ เช่น เงินอุดหนุนค่าเลี้ยงดูเด็กเล็กด้วย ดังนั้น พรรคก้าวไกลจึงต้องขอเวลา 4 ปี หรือจะเพิ่มยังชีพผู้สูงอายุเป็นเดือนละ 3,000 บาท ภายในปี 2570
เดชรัต ย้ำด้วยว่า การจัดเก็บภาษีที่เพิ่มขึ้นเพื่อนำมาทำบำนาญแห่งชาตินั้น ไม่ได้มาจากการจัดเก็บภาษีจากคนชั้นกลาง แต่จะมาจากจัดเก็บภาษีจากความมั่งคั่ง โดยเฉพาะจากคนที่มีทรัพย์สินเกิน 300 ล้านบาท ขณะที่การจัดทำบำนาญฯดังกล่าว จะทำให้คนชั้นกลางมีความมั่นคงในชีวิตมากขึ้น
@จ่ายเบี้ยฯ 3 พันบาท ‘เฟสแรก’ ให้เฉพาะผู้มีรายได้ไม่เพียงพอก่อน
ด้าน รศ.ดร.โภคิน พลกุล ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนประเทศ พรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า เรื่องบำนาญประชาชน คือ การเอาความมั่งคั่งของประเทศมาแบ่งปันกัน เพื่อให้ผู้สูงวัยมีชีวิตที่มีศักดิ์ศรีและมีความมั่นคง โดยในปีงบ 2565 มีการจัดสรรงบเพื่อจ่ายเป็นเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเดือนละ 600-1,000 บาท อยู่ที่ประมาณ 8 หมื่นล้านบาท และหากมีการปรับเพิ่มเบี้ยยังชีพเป็น 3,000 บาท จะต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นเป็น 4.2 แสนล้านบาท
“ตัวเลข (ผู้สูงอายุ) 12 ล้านคนนั้น ถ้าคำนวณว่าทุกคนได้คนละ 3,000 บาท ก็ 4 แสนล้านบาทแล้ว จึงต้องถามว่า ถ้าเราจะดูแล ต้องดูแลทั้ง 12 ล้านคนหรือไม่ ซึ่งผมคิดว่าต้องแบ่งเป็นช่วง คือ ในช่วงแรก ต้องดูแลคนสูงวัยที่ไม่มีรายได้เพียงพอต่อการยังชีพ เราต้องมาดูตรงนี้ก่อน เพราะรัฐธรรมนูญเขียนว่าเป็นสิทธิ์ของเขา และถ้าเราตัดคนที่มีรายได้มากพออยู่แล้วออกไป เช่น ข้าราชการบำนาญ 1-2 ล้านคน ก็จะเหลือคน 10 ล้านคน ซึ่งเราจะใช้เงิน 3.6 แสนล้านบาท/ปี
โดยวันนี้เบี้ยยังชีพฯที่เราจ่ายอยู่ก็เข้าไปเกือบ 1 แสนล้าน เราจึงต้องหาเงินอีก 2.6 แสนล้านบาทโดยประมาณ ถามว่า 2.6 แสนล้านบาท จะเอามาจากไหนได้บ้างนั้น ถ้าเอามาจากภาษีบาป ภาษีจิปาถะ ค่าธรรมเนียม ค่าสัมปทาน ค่าใบอนุญาต และสลากกินแบ่ง น่าจะได้ 2 หมื่นล้านบาท ถัดมา คือ ภาษี Vat ตอนนี้เราเก็บ 7% แล้วเราเก็บได้ 8 แสนล้านบาท ซึ่งถ้าเศรษฐกิจดีๆ และคนเข้าสู่ระบบมากขึ้น ก็จะเก็บ Vat ได้มากกว่านี้เยอะ
และถ้ามีการขึ้นภาษี Vat สินค้าฟุ่มเฟือยจาก 7% เป็น 10% จะได้เงินประมาณ 1 แสนล้านบาท แล้วเอาเงินส่วนที่เกินมาช่วยตรงนี้ ไม่ใช่เอาไปทำเรื่องอื่น อีกทั้งวันนี้คนเข้าสู่ระบบภาษี Vat ยังไม่มาก โดยเฉพาะ SMEs ที่เป็นนิติบุคคล ซึ่งมีประมาณ 7.5 แสนราย และที่เสีย Vat ประมาณ 4.6 แสนราย แสดงว่ายังเหลืออีก 3 แสนราย ที่ยังไม่เข้าสู่ระบบ Vat ถ้าเราทำให้ 3 แสนรายเข้าสู่ระบบ Vat ได้ เราจะได้เงินอีก 1.6 แสนล้านบาท
ซึ่งทั้งหมดนี้ ครอบคลุมกับรายจ่าย 2.6 แสนล้านบาทแล้ว โดยที่ยังไม่ได้ทำอะไรใหม่เลย และถ้าเราทำให้ SMEs อีกเป็นล้านราย ที่ยังไม่เป็นนิติบุคคล เข้าสู่ระบบได้ ก็จะมีรายได้เพิ่ม อีกอัน คือ ตัดงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งงบประมาณแผ่นดินอยู่ที่ 3 ล้านล้านนั้น ถ้าตัด 5% ก็ได้ 2 แสนล้านบาท แต่ผมคิดว่าตัดได้ 10%”
รศ.ดร.โภคิน กล่าวและว่า “การให้ (เบี้ยยังชีพฯ) เสมอภาคทุกคนนั้น ขอเป็นอนาคต เอาคนที่เขาไม่ไหว คนมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการยังชีพ ต้องช่วยเขาก่อน"
รศ.ดร.โภคิน ย้ำว่า เรื่องบำนาญแห่งชาติเป็นสิ่งที่ทำได้ 100% และต้องทำด้วย แต่ต้องทำให้ครบวงจร จะดูเฉพาะผู้สูงวัยอย่างเดียวไม่ได้ ต้องดูทุกช่วงวัย ตั้งแต่ผู้ที่อยู่ในครรภ์ เด็กก่อนวัยเรียน วัยเรียน และวัยทำงานทั้งหมด ไปจนถึงวัยเกษียณ เพราะทุกคนถือเป็นพลังในการสร้างรายได้ให้ประเทศ และหากไม่ปรับปรุงทั้งวงจร แล้วไปโฟกัสเฉพาะผู้สูงวัย ก็อาจจะทำให้ผลที่ได้ไม่เป็นอย่างที่หวังไว้เท่าที่ควร
@‘ภูมิใจไทย’ หนุน ‘ระบบบำนาญแห่งชาติ’ แต่ยังไม่มีนโยบายเฉพาะ
พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะตัวแทนจากพรรคภูมิใจไทย ระบุ แม้ว่าขณะนี้พรรคภูมิใจไทยจะยังไม่มีนโยบายเฉพาะเกี่ยวกับเรื่องบำนาญของผู้สูงอายุ แต่พรรคฯสนับสนุนเรื่องระบบบำนาญแห่งชาติ และสนับสนุนการสร้างหลักประกันรายได้ถ้วนหน้าเพื่อประชาชน (universal basic income) ให้กับประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมโดยไม่มีเงื่อนไข เพื่อทำให้คุณค่าของคนเท่าเทียมกัน
“เราได้เสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หมวด 5 มาตรา 55/1 ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพราะโลกเปลี่ยนไป เทคโนโลยีทันสมัยมากขึ้น มี AI มีปัญหาประดิษฐ์ ซึ่งทำให้ต่อไปจะมีวิกฤติแรงงานตามมา เพราะมีหุ่นยนต์มาช่วยงาน และในนั้นเรายังระบุด้วยสังคมไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เพราะฉะนั้น ประชาชนกลุ่มนี้จะต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษอย่างไร ซึ่งรวมถึงการดูแลคนที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน 6.7 ล้านคนด้วย” พญ.เพชรดาว กล่าว
พญ.เพชรดาว กล่าวด้วยว่า ก่อนหน้านี้ คณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร ได้เสนอรายงาน เรื่อง แนวทางการเสนอกฎหมายบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ ซึ่งพรรคการเมืองทุกพรรค รวมถึงพรรคภูมิใจไทย ได้ลงมติเห็นชอบรายงานดังกล่าว และเห็นด้วยกับแนวทางการให้บำนาญแก่ผู้สูงอายุเดือนละ 3,000 บาท ที่ต้องเป็นแบบถ้วนหน้า ไม่ใช่การสงเคราะห์ เพราะทุกวันนี้เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่ให้ 600 บาท/เดือน หรือวันละ 20 บาทนั้น ไม่เพียงพอ
@‘ประชาธิปัตย์’ ยังไม่พูดถึง ‘บำนาญแห่งชาติ’ แต่ยืนยันสานต่อ ‘เบี้ยคนชรา’
ขณะที่ พิสิฐ ลี้อาธรรม ประธานนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า วันนี้ประเทศไทยมีระบบการออมสำหรับคนชราเพื่อการใช้จ่ายในอนาคต เช่น ระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือระบบ กบข. ของข้าราชการ แต่จะทำอย่างไรให้ข้าราชการที่มีเงินออมอยู่ในกองทุน กบข. หรือผู้ที่ออมเงินอยู่ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ นำเงินเหล่านั้นไปซื้อบ้านได้ รวมทั้งต้องมีระบบ reverse mortgage ที่สามารถเอาเงินมาเลี้ยงดูในยามชราได้ ซึ่งนี่เป็นเรื่องหนึ่งที่พรรคประชาธิปัตย์จะทำ
นอกจากนี้ พรรคประชาธิปัตย์มีนโยบายที่จะทำอีกหลายเรื่อง เช่น การปลดล็อกอายุเกษียณ เพื่อเปิดทางให้ผู้สูงอายุทำงานได้ 10-20 ปี เพราะสาเหตุที่ผู้สูงอายุยังต้องทำงาน เพราะไม่มีเงินออม ,การปรับระบบการรักษาพยาบาลทั้ง 3 ระบบ ได้แก่ ระบบรักษาพยาบาลข้าราชการ ประกันสังคม และบัตรทอง ให้มีมาตรฐานใกล้เคียงกัน ,การปรับระบบสุขภาพที่มุ่งแต่การรักษาไปสู่การป้องกันมากขึ้น และการทำให้ทุกคนสามารถเบิกค่าตรวจสุขภาพประจำปีได้ เป็นต้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในช่วงการเปิดให้ผู้เข้าร่วมเสวนาฯแสดงความคิดเห็นนั้น นิมิตร์ เทียนอุดม ตัวแทนเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ แสดงความเห็นว่า ขณะนี้เป็นจังหวะที่ดีที่พรรคการเมืองจะทำเรื่องบำนาญแห่งชาติให้เป็นนโยบาย แต่เมื่อฟังทั้ง 5 พรรคแล้ว พรรคเพื่อไทยบอกว่าไม่มีนโยบายจะทำเรื่องนี้ มีแต่นโยบาย 6 ข้อที่นำขึ้นบนกระดาน เพราะพรรคเพื่อไทยมองว่านโยบายนี้แพงเกินไป ประเทศทำไม่ได้ ต้องไปสร้างรายได้ก่อน
ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ก็ยังไม่มีนโยบายเรื่องบำนาญแห่งชาติ โดยพูดเรื่องจะให้ข้าราชการกู้เงินบำนาญ กู้เงิน กบข. มาใช้ และไปเน้นเรื่องการออม พรรคภูมิใจไทยพูดชัดเจนว่า ยังไม่มีนโยบายเรื่องนี้ ยังไม่เป็นนโยบายพรรค แต่พรรคสนับสนุนผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการฯในสภา พรรคไทยสร้างไทยพูดหลายประเด็นที่น่าสนใจ แต่บอกว่าเรื่องบำนาญถ้วนหน้ายังไม่ใช่ตอนนี้ มีเพียงพรรคก้าวไกลที่พูดว่าจะทำเรื่องบำนาญ แต่บอกว่าไม่ใช่ตอนนี้ จะต้องใช้เวลา 4 ปี
“ที่ผมพยายามจะสรุปสิ่งที่ผมได้ยินทั้ง 5 พรรคพูด เพื่อจะสื่อสารกับพี่น้องเครือข่ายฯว่า ตอนนี้จังหวะของเรา คือ เรากำลังมองหาพรรคการเมืองที่จะตอบโจทย์ผู้สูงอายุ เพราะเบี้ยยังชีพ 600 บาท ตอนนี้ไม่พอ แก่แล้ว ไม่มีปัญญาจะอยู่ในระบบจ้างงานแล้ว จะออมตอนนี้ก็ไม่มีปัญญาแล้ว แล้วข้อเสนอของภาคประชาชนที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้ คือ เราอยากจะเปลี่ยนเบี้ยยังชีพ ให้เป็นบำนาญที่ยึดโยงกับเส้นความยากจน” นิมิตร์ กล่าว
จากนั้น พิสิฐ ตอบว่า เนื่องจากเวลามีจำกัดจึงไม่ได้พูดเรื่องบำนาญแห่งชาติ แต่ขอย้ำว่า เรื่องเบี้ยคนชราเป็น DNA ของพรรคประชาธิปัตย์อยู่แล้ว โดยท่านชวน หลีกภัย อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตนายกรัฐมนตรี เป็นคนริเริ่มนโยบายนี้ ตั้งแต่ประเทศเรายังจนมากๆ โดยเริ่มจากเดือนละ 200 บาท แม้แต่ตอนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ท่านชวนก็ยังเพิ่มเบี้ยคนชราเป็นเดือนละ 300 บาท ต่อมาในยุคที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกฯ ก็ปรับเบี้ยให้มากขึ้น
“ยอมรับว่าเรื่องนี้ ไม่ง่าย เพราะเรากำลังพูดถึงคนชราจำนวน 12 ล้านคน หรือ 20 ล้านคน ซึ่งตัวคูณสูงมาก และถ้าเราให้ 3,000 บาทอย่างที่พูดกัน หมายถึงงบประมาณที่ต้องหามาอีก 4.5 แสนล้าน แน่นอนว่ามันพูดง่ายๆว่า ให้ไปตัดงบโน่นนี่ ตัดงบกลาโหม ไม่ซื้ออาวุธ เราไปขึ้นภาษี แล้วรับปากว่าจะทำ ซึ่งการพูดแบบนี้ไม่ใช่วิสัยของผมที่จะพูดแบบนี้ แต่ถามว่าประชาธิปัตย์มีนโยบายนี้ไหม ก็ตอบว่า มี และเป็น DNA ของประชาธิปัตย์อยู่แล้ว
เพียงแต่ว่าตัวเลขข้างใน เรายังไม่อยากเปิดออกไป เพราะถ้าเราเปิดออกไป ก็จะมีพรรคอื่นมาเกทับเราอยู่เรื่อยๆ เพราะถ้าบอกว่า 3,000 บาท เดี๋ยวก็มีพรรคอื่นบอกว่าให้ 4,000 บาท อีกพรรคบอกว่าจะให้ 5,000 บาท แล้วจะทำอย่างไร และก็มีการเล่นแร่แปรธาตุบอกว่า ไม่ใช่ปีนี้หรอก แต่เป็นอีก 3 ปี 5 ปี พูดง่ายๆ คือ เราต้องดูเจตนารมณ์ของพรรคการเมืองแต่ละพรรคก่อนว่า เขามีประวัติความเป็นมาในเรื่องของการสัญญาในเรื่องเหล่านี้อย่างไร” พิสิฐ กล่าว
พิสิฐ กล่าวว่า “เรื่องเบี้ยคนชรา เป็นเรื่องที่พรรคได้เริ่มต้นมา เพราะฉะนั้น เราต้องสานต่ออยู่แล้ว เพียงแต่เราต้องดูแลให้เหมาะสม ตัวเลขเรามี แต่เห็นว่ายังไม่เหมาะสมที่จะเอามาพูด เพราะเป็นตัวเลขที่อาจมีการบิดเบี้ยวกันได้”
ขณะที่ นพ.พรหมินทร์ กล่าวว่า ขอยืนยันว่าพรรคเพื่อไทยไม่ได้ละเลย แต่กำลังคิดว่าจะทำตัวไหนก่อน และเราไม่อยากเกทับกัน ถ้าพูดได้ ก็ต้องทำได้
“ผมเคยเป็นรัฐมนตรีพลังงาน สิ่งที่ผมอยากทำ 100% ผมทำได้ 30% ส่วนที่เหลือมีอะไรเต็มหมด เช่น งบไม่มี แต่ถ้าข้าราชการเขาอยากทำ พรุ่งนี้เข้ามาเสนอไอเดียกระฉูดเลย ดังนั้น จุดเริ่มแรก และสภาวะอย่างนี้ เราต้องชดเชยด้วยทางอื่นก่อน ส่วนค่าใช้จ่ายตรงนี้ก็ขยับเพิ่มขึ้นอย่างมีจังหวะ” นพ.พรหมินทร์ กล่าว
และว่า “วันนี้พูดตรงๆ เราจนลงกว่าเดิม จึงต้องทำให้มีตังค์มากขึ้น แล้วอย่างที่บอกว่า ไปตัดตรงนั้น ตรงนี้ พูดง่าย แต่ทำไม่ง่าย เพราะเขาจะเอาตัวเลขต่างๆมายัน นอกจากใช้อำนาจตัดสินใจเด็ดขาดไป ซึ่งก็ไม่ทำได้ง่ายๆ ทำไป ก็ถูกรัฐประหารหลายทีแล้ว”
เหล่านี้เป็นจุดยืนล่าสุดของ ‘5 พรรคการเมือง’ ต่อนโยบายบำนาญแห่งชาติ และต้องติดตามว่าสุดท้ายแล้วพรรคการเมืองต่างๆประกาศนโยบายบำนาญแห่งชาติอย่างไร ในการหาเสียงเลือกตั้งปี 66!
อ่านประกอบ :
ข้อเสนอ 'บำนาญถ้วนหน้า' เดือนละ 3 พันบาท ทำได้-ไม่ได้ ใช้เงินเท่าไหร่-หาเงินจากไหน?
จี้เลิกลดหย่อนภาษีคนรวย-เจ้าสัว! ‘ภาคปชช.’เคลื่อนไหวผลักดัน‘บำนาญถ้วนหน้า’ 3 พันบาท/ด.
จาก'สงเคราะห์'สู่'สวัสดิการ' เพิ่ม'เบี้ยผู้สูงอายุ' 3 พันบาท ทางเลือกที่รัฐบาลทำได้?
ครม.อนุมัติ 8.3 พันล้าน เพิ่มเบี้ยยังชีพคนชรา 100-250 บาท 6 เดือน
ผลวิจัยฯชี้เพิ่ม‘เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ’เป็น 3 พันบาท/ด. ต้นทุนเทียบเท่าขึ้นแวต 16.9%
รมว.พม.รับข้อเสนอเครือข่ายประชาชน พัฒนา 'เบี้ยผู้สูงอายุ' เป็นระบบบำนาญ