“…ถ้ารัฐบาลมีเจตจำนงทางการเมืองที่จะปรับปรุงอะไร มันจะทำได้ แต่ถ้าไม่มีเจตจำนง มันก็ไม่ไปไหน เพราะไม่คิดจะทำ ซึ่งวันนี้เรื่องการปรับเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุมีข้อเสนอเยอะแยะไปหมด แต่ถ้าผู้กำหนดนโยบายไม่มีเจตจำนงที่จะทำ ข้อเสนอต่างๆก็ไม่มีผลอะไร…”
.................................
แม้ว่าเสียงเรียกร้องให้มีการปรับเพิ่ม ‘เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ’ เพื่อสร้างหลักประกันด้านรายได้ให้แก่ ‘ผู้สูงอายุ’ จะมีมาอย่างต่อเนื่อง
แต่ทว่าตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปัจจุบัน การจ่ายเงินเบี้ยผู้สูงอายุแบบ ‘ขั้นบันได’ นั้น รัฐบาลยังคงจัดสรรในอัตราเท่าเดิม โดยปัจจุบันผู้มีอายุ 60-69 ปี จะได้รับเบี้ยผู้สูงอายุ 600 บาท/เดือน ,อายุ 70-79 ปี ได้รับ 700 บาท/เดือน ,อายุ 80-89 ปี ได้รับ 800 บาท/เดือน และอายุ 90 ปีขึ้นไป ได้รับ 1,000 บาท/เดือน
ที่สำคัญในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งทั่วไป เมื่อปี 2562 มีพรรคการเมือง โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) หาเสียงว่า จะปรับเพิ่ม ‘เบี้ยผู้สูงอายุ’ เป็น 1,000 บาท/เดือน ทุกช่วงวัย แต่ พปชร. ซึ่งเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล กลับไม่สามารถผลักดันนโยบายการเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ 'ทุกช่วงวัย' ตามนโยบายที่หาเสียงไว้ได้
จึงทำให้เกิดคำถามใหญ่ว่า เหตุใดการปรับเพิ่ม ‘เบี้ยผู้สูงอายุ’ ไม่สามารถเกิดขึ้นในทางปฏิบัติ
ในขณะที่ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำได้เพียงการมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 26 เม.ย.2565 ปรับเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ รายละ 100-250 บาท ตามช่วงอายุ เป็นการชั่วคราว 6 เดือน หลังจากตั้งรัฐบาลมาแล้ว 3 ปี (อ่านประกอบ : ครม.อนุมัติ 8.3 พันล้าน เพิ่มเบี้ยยังชีพคนชรา 100-250 บาท 6 เดือน)
(โปสเตอร์หาเสียงการเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุของ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562)
@ย้อนนโยบาย ‘เบี้ยผู้สูงอายุ’ จากระบบ ‘สงเคราะห์’ สู่ ‘ระบบสวัสดิการ’
ย้อนกลับไปในปี 2536 กรมประชาสงเคราะห์ในขณะนั้น ได้ดำเนินการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพให้ผู้สูงอายุที่มีความยากจน หมู่บ้านละ 5 คนๆละ 200 บาท/เดือน ซึ่งเป็นไปตามระเบียบกรมประชาสงเคราะห์ว่าด้วยการจ่ายเงินอุดหนุนกองทุนส่งเสริมสวัสดิการผู้สูงอายุและครอบครัวในชุมชน พ.ศ. 2536 โดยให้ผู้สูงอายุรับเป็น ‘เงินสด’ หรือ ‘ผ่านบัญชี’
ต่อมาในปี 2544 กรมประชาสงเคราะห์ ออกระเบียบกรมประชาสงเคราะห์ว่าด้วยการจ่ายเงินสงเคราะห์เพื่อการยังชีพผู้สูงอายุ พ.ศ.2543 ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 19 ก.พ.2545 โดยให้จ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จากเดิม 200 บาท/เดือน เป็น 300 บาท/เดือน เนื่องจากประสบปัญหาภาวะเศรษฐกิจถดถอย
จากนั้นในปี 2546 พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 มีผลบังคับใช้ และในมาตรา 11 (11) มีการกำหนดสิทธิของผู้สูงอายุในเรื่องของการสงเคราะห์เบี้ยยังชีพ โดยให้ผู้สูงอายุได้รับเบี้ยยังชีพตามความจำเป็นอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม และถ่ายโอนภารกิจเรื่องเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)
ต่อมาในปี 2548 กระทรวงมหาดไทยได้ออกระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจ่ายเงินสงเคราะห์เพื่อการยังชีพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2548 โดยยังคงหลักเกณฑ์ว่า ในการจ่ายเบี้ยยังชีพกับผู้สูงอายุนั้น ให้จ่ายเบี้ยยังชีพเฉพาะผู้สูงอายุที่มีฐานะยากจนเท่านั้น
และในอีก 1 ปีหลังจากนั้น คือ ในปี 2549 ครม.ได้มีมติปรับเพิ่ม ‘เงินสงเคราะห์เบี้ยยังชีพ’ ของผู้สูงอายุ จาก 300 บาท/เดือน เป็น 500 บาท/เดือน แต่ยังคงหลักเกณฑ์เดิม คือ ให้เฉพาะผู้สูงอายุที่มีฐานะยากจนเหมือนเดิม
จนกระทั่งในปี 2552 การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุได้มาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ เมื่อรัฐบาลในขณะนั้น ปรับเปลี่ยนนโยบายการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจากเดิมที่เป็น ‘ระบบสงเคราะห์’ มาเป็น ‘ระบบสวัสดิการ’
โดยปี 2552 รัฐบาลมีนโยบายสร้างหลักประกันรายได้ให้กลุ่มผู้สูงอายุ โดยจัดสรรเบี้ยยังชีพให้แก่ผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 'ทุกคน' ที่ขึ้นทะเบียนฯในอัตราเดือนละ 500 บาท ต่อมาในปี 2553 มีการแก้ไข พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ.2446 (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2553 กำหนดจ่ายเบี้ยยังชีพเป็นรายเดือนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม
ขณะที่ในปี 2554 รัฐบาลมีนโยบายเร่งด่วน เรื่อง การยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน โดย ครม.มีมติเมื่อวันที่ 18 ต.ค.2554 จัดให้มีเบี้ยยังชีพรายเดือนแบบ 'ขั้นบันได' สำหรับผู้สูงอายุ ตั้งแต่ 600-1,000 บาท/เดือน จากเดิมที่เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุอยู่ที่ 500 บาท/เดือน โดยเริ่มจ่ายในปีงบ 2555 ดังนี้
1.อายุ 60-69 ปี ได้รับเบี้ยผู้สูงอายุ 600 บาท/เดือน 2.อายุ 70-79 ปี ได้รับผู้สูงอายุ 700 บาท/เดือน 3.อายุ 80-89 ปี ได้รับผู้สูงอายุ 800 บาท/เดือน และ 4.อายุ 90 ปีขึ้นไป ได้รับผู้สูงอายุ 1,000 บาท/เดือน
ทั้งนี้ ตั้งแต่ปีงบ 2555-2564 รัฐบาลได้จัดสรรงบสนับสนุนเบี้ยผู้สูงอายุให้ อปท. กรุงเทพมหานคร (กทม.) และพัทยา รวมทั้งสิ้น 655,156 ล้านบาท
โดยปีงบ 2564 รัฐบาลจัดสรรงบเบี้ยผู้สูงอายุ 79,300.15 ล้านบาท สำหรับผู้สูงอายุ 10.48 ล้านคน เทียบกับในปีงบ 2555 ที่รัฐบาลจัดสรรงบเบี้ยผู้สูงอายุ 52,535.42 ล้านบาท สำหรับผู้สูงอายุ 6.78 ล้านคน
ส่วนในปีงบ 2565 รัฐบาลอนุมัติจัดสรรงบเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ วงเงิน 83,999 ล้านบาท สำหรับผู้สูงอายุ 10.58 ล้านคน และจัดสรรงบเพิ่มเติมอีก 8,348.16 ล้านบาท สำหรับการปรับเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุชั่วคราว 6 เดือน ขณะที่ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปีงบ 2566 รัฐบาลจัดสรรงบเบี้ยผู้สูงอายุไว้ที่ 8.7 หมื่นล้านบาท
(ที่มา : เอกสารประกอบการพิจารณาของ ครม. เรื่อง การเพิ่มสวัสดิการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เมื่อวันที่ 26 เม.ย.2565)
@ชี้ปัญหาใหญ่ ‘เบี้ยผู้สูงอายุ’ จ่ายแค่ 600 บาท/เดือน ไม่พอแล้ว
อย่างไรก็ดี ในช่วงหลายที่ผ่านมา เสียงเรียกร้องของภาคประชาสังคมให้รัฐบาลปรับเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุดังขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ไม่ได้มีการปรับเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุเลย ขณะเดียวกัน ภาคประชาชนมีข้อเสนอให้รัฐบาลปรับเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุเป็น 3,000 บาท/เดือน จากปัจจุบันที่อยู่ที่ 600-1,000 บาท/เดือน
“มีงานวิจัยของอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ทำให้เรา บอกว่า ถ้าจะทำให้ทุกคนพ้นเส้นความยากจน เบี้ยผู้สูงอายุน่าจะอยู่ที่ประมาณ 2,000 บาท/เดือน แต่เราเองก็สนับสนุนตัวเลขที่ภาคประชาสังคมหรือประชาชนที่กำลังเคลื่อนไหวตอนนี้ คือ 3,000 บาท/เดือน ซึ่งมีความเป็นได้
ถ้าผู้สูงอายุทุกคนได้ 3,000 บาท ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งอยู่ในวิสัยที่รัฐบาลสนับสนุนได้ แต่เราก็ต้องเพิ่มมาตรการอื่นๆด้วย เช่น ส่งเสริมการออมตั้งแต่ในช่วงที่เขายังไม่เป็นผู้สูงอายุ” นพ.ภูษิต ประคองสาย เลขาธิการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org)
นพ.ภูษิต ระบุด้วยว่า เบี้ยผู้สูงอายุเดือนละ 600-1,000 บาท ซึ่งใช้อยู่ในปัจจุบันนั้น ไม่เพียงพอสำหรับการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะยากจน หรือไม่มีญาติพี่น้อง และถ้าเราไปพิจารณาภาระทางการคลัง คิดว่าประเทศไทยมีทรัพยากร มีเงิน และงบประมาณพอสมควรที่จะนำมาเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุได้
แต่ปัญหาที่พบเจอในขณะนี้ คือ ภาครัฐใช้จ่ายงบฯบางหมวดไม่มีประสิทธิภาพ เช่น ห้องสันทนาการของท่าน ส.ส. และ ส.ว. ซึ่งคนทั่วไปเข้าไปใช้ไม่ได้ หรือจ่ายไปในสิ่งที่ไม่ควรจ่ายมากเกินไป เช่น ซื้ออาวุธ เครื่องบิน เรือดำน้ำ ซึ่งไม่ใช่หลักหมื่นล้าน แต่เป็นหลักแสนล้าน ดังนั้น งบบางอย่างต้องทบทวนว่าจำเป็นหรือไม่
“ปัญหา คือ เราไม่กล้าปฏิรูปวิธีใช้จ่ายงบประมาณ หน่วยราชการไหนไม่จำเป็น ก็ควรจะยุบไป หรือตัดงบไป งบส่วนไหนไม่เกิดประสิทธิภาพ ก็ต้องตัด ถ้าทำแบบนั้น เราจะมีงบมาจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุได้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นการสร้างหลักประกัน สร้างสวัสดิการให้กับผู้สูงอายุในประเทศไทยที่จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ” นพ.ภูษิต กล่าว
นพ.ภูษิต ย้ำว่า “เรื่องเบี้ยผู้สูงอายุ ปัญหาอย่างเดียวที่เราเจอตอนนี้ คือ มันไม่พอ ถ้าเขาอยู่คนเดียว เบี้ย 600 บาท ไม่พอต่อการดำรงชีวิตใน 1 เดือนแน่”
@‘นักวิชาการ’ เสนอ 3 ทางเลือก การปรับเพิ่ม ‘เบี้ยผู้สูงอายุ’
ด้าน ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในทีมวิจัย เรื่อง “การวิเคราะห์ช่องว่างทางการคลัง แหล่งรายได้ และความเป็นไปได้ทางเศรษฐศาสตร์การเมือง ของการจัดตั้งระบบบํานาญแห่งชาติ โดยคำนึงถึงผลกระทบของ COVID-19 ที่มีต่อผู้สูงอายุ” ระบุว่า ทีมวิจัยได้เสนอทางเลือกในการเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุที่เป็นไปได้ไว้ 3 ทางเลือก ได้แก่
ทางเลือกแรก ปรับเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุเป็นเดือนละ 2,000 บาท ซึ่งเป็นเบี้ยขั้นต่ำในการคุ้มครองผู้สูงอายุที่ยากจนสุด โดยใช้งบปีแรก 2.5 แสนล้านบาท (คำนวณจากจำนวนผู้สูงอายุในปัจจุบัน) แต่หากเป็นการให้เบี้ยผู้สูงอายุทั่วหน้า งบจะเพิ่มเป็น 3 แสนล้านบาท/ปี และในอีก 10 ปีข้างหน้าจะเพิ่มเป็น 3.4 แสนล้านบาท/ปี
ทางเลือกที่สอง ปรับเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุเป็นเดือนละ 3,000 บาท ซึ่งเป็นอัตราเท่ากับเส้นความยากจน โดยใช้งบในปีแรก 3.7 แสนล้านบาท แต่หากเป็นการจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุทั่วหน้า คือ ผู้สูงอายุได้สิทธิ์ทุกคน งบที่ต้องใช้จะเพิ่มเป็น 4.5 แสนล้านบาท/ปี และในอีก 10 ปีข้างหน้า งบส่วนนี้จะเพิ่มเป็น 6 แสนล้านบาท/ปี
ทางเลือกที่สาม ปรับเบี้ยผู้สูงอายุเป็นเดือนละ 1,900 บาท ซึ่งเป็นการการันตีรายได้ขั้นต่ำของผู้สูงอายุ แล้วให้รัฐบาลจัดทำระบบการออมเพิ่ม โดยประชาชนและรัฐบาลสมทบในอัตราเท่ากัน แนวทางนี้จะทำให้ผู้สูงอายุได้รับบำนาญในระดับมาตรฐานการครองชีพ คือ เดือนละ 6,000 บาท ภายใต้ข้อสมมติว่าครึ่งหนึ่งของผู้สูงอายุมีการออมเอง จะใช้งบปีละ 5 แสนล้านบาท ในอีก 10 ปีข้างหน้า
@แนะ ‘ขยายฐานภาษี-ลดการลดหย่อนภาษี’ เพิ่มรายได้รัฐบาล
ผศ.ดร.ดวงมณี กล่าวต่อว่า แน่นอนว่าการปรับเพิ่มเบี้ยผู้สุงอายุจะทำให้รัฐบาลมีภาระรายจ่ายเพิ่มขึ้น และจำเป็นต้องหางบมาเพิ่มเติม ซึ่งงานวิจัยมีข้อเสนอเกี่ยวกับแนวทางการเพิ่มรายรับและลดรายจ่ายของรัฐบาล ได้แก่ 1.การขยายฐานภาษี และ2.การปฏิรูประบบงบประมาณ
โดยเรื่องการขยายฐานภาษีนั้น ภาครัฐต้องขยายฐานภาษีผู้มีเงินได้บุคคลธรรมดา คือ ต้องให้ผู้มีเงินได้เข้ามาอยู่ในฐานภาษีให้มากขึ้น โดยใช้วิธี Negative Income Tax เพื่อเพิ่มแรงจูงใจให้ผู้มีรายได้น้อยเข้าสู่ฐานภาษี ,การมีมาตรการที่ทำให้ผู้ที่มีรายได้มากแต่ไม่เสียภาษี เข้ามาสู่ฐานภาษี
ขณะเดียวกัน ภาครัฐจะต้องลดหรือยกเลิกค่าลดหย่อนต่างๆที่ไม่จำเป็นออกไป เช่น ลดหรือยกเลิกค่าหย่อนกรณีซื้อกองทุน LTF ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนเป็น SSF (กองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว) ออกไป เพราะการลดหย่อนภาษีดังกล่าว ผู้ที่ได้ประโยชน์ส่วนใหญ่ คือ ผู้มีรายได้สูง
“คนที่ได้ประโยชน์จาการลดหย่อน LTF ในอดีต ซึ่งปัจจุบันเป็น SSF คือ กลุ่มที่มีรายได้สูง ซึ่งในความเป็นจริงคนกลุ่มนี้เขามีช่องทางที่จะออมเงินหรือลงทุนอยู่แล้ว ดังนั้น การลดหย่อนพวกนี้น่าจะลดได้แล้ว แต่ถ้าจะส่งเสริมการออมจริงๆ ควรจะมุ่งไปที่กลุ่มคนมีรายได้ปานกลาง” ผศ.ดร.ดวงมณี
ผศ.ดร.ดวงมณี ระบุว่า งานวิจัยฯยังเสนอให้ทบทวนสิทธิประโยชน์ BOI โดยเฉพาะเรื่องภาษี เพราะเป็นการเอื้อกลุ่มทุนขนาดใหญ่ และภาครัฐไม่มีการประเมินให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การลดภาษี BOI จริงๆแล้วมีผลต่อเศรษฐกิจมากน้อยเพียงใด หรือภาษีที่เราไม่ได้รับมีมูลค่าเท่าไหร่ เพราะไม่เคยเปิดข้อมูลเหล่านี้ออกมา
“การดึงให้ชาวต่างชาติมาลงทุนในประเทศไทย อาจไม่ต้องใช้สิทธิพิเศษทางภาษีแล้ว แต่เป็นเรื่องอื่นๆ เช่น ทำให้คนมีศักยภาพที่จะทำงานหรือรองรับการลงทุนของเขา การมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี หรือทำอย่างไรให้การธุรกิจเกิดความคล่องตัว และมีการอำนวยความสะดวกในแง่กฎหมาย เป็นต้น” ผศ.ดร.ดวงมณี ระบุ
นอกจากนี้ รัฐบาลควรทบทวนภาษีทรัพย์สิน ภาษีมรดก และภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพราะการยกเว้นภาษีมรดกไม่เกิน 100 ล้านบาท หรือยกเว้นภาษีบ้านหลังหลักที่มูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท นั้น เป็นการยกเว้นที่มากเกินจำเป็น รวมทั้งหารายได้อื่นๆ เช่น เก็บภาษีซื้อขายหุ้น และเก็บภาษีกำไรจากการขายหุ้น
ผศ.ดร.ดวงมณี ยังกล่าวถึงข้อเสนอที่ให้รัฐบาลขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat) เพื่อนำสนับสนุนการจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุว่า แม้ว่าการขึ้นภาษี Vat จะทำให้รัฐบาลมีรายได้เป็นกอบเป็นกำ แต่วิธีการนี้จะกระทบกับผู้มีรายได้น้อย จึงอยากให้เป็นทางเลือกสุดท้าย หลังจากที่รัฐบาลตัดสิทธิพิเศษภาษีของกลุ่มทุน และกลุ่มคนรวยแล้ว
“มีคนเสนอว่าให้ขึ้นภาษี Vat แต่ให้ระบุว่าเอาไปทำสวัสดิการ ในเชิงวิชาการเห็นว่า ไม่ควรทำ เพราะทำให้การจัดทำงบไม่ยืดหยุ่น และสิ่งที่รัฐบาลควรทำ คือ ขยายฐานภาษี เอาสิทธิพิเศษของกลุ่มทุน และคนรวยทั้งหลายออกไป แต่ถ้าจำเป็นต้องหารายได้เพิ่ม โดยขึ้น Vat ก็จะอธิบายประชาชนได้” ผศ.ดร.ดวงมณีระบุ
(ที่มางานวิจัย เรื่อง “การวิเคราะห์ช่องว่างทางการคลัง แหล่งรายได้ และความเป็นไปได้ทางเศรษฐศาสตร์การเมือง ของการจัดตั้งระบบบํานาญแห่งชาติ โดยคำนึงถึงผลกระทบของ COVID-19 ที่มีต่อผู้สูงอายุ” โดย ดร.ทีปกร จิรฐิติกุลชัย และ ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะ)
@รัฐบาลต้องปฏิรูประบบงบประมาณ-ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น
ส่วนเรื่องการปฏิรูประบบงบประมาณนั้น ปัจจุบันพบว่ารายจ่ายของภาครัฐมีรูรั่วค่อนข้างมาก ทำอย่างไรที่จะอุดรูรั่วเหล่านี้ และการประเทศไทยเป็นรัฐรวมศูนย์ มีระบบราชการที่ใหญ่โตมาก ทำอย่างไรที่จะลดขนาดลง และเพิ่มการกระจายอำนาจไปยังท้องถิ่นให้มากขึ้น หรือหากหน่วยงานใดทำงานซ้ำซ้อนกันก็ควรยุบเลิก
“งบบางด้าน บางภาวะอาจไม่จำเป็น เช่น งบกลาโหม ถามว่าในปัจจุบันเราจำเป็นต้องซื้ออาวุธมากขนาดนั้นเลยหรือ หรือจริงๆแล้วเราสามารถใช้วิธีการทางการทูตโดยไม่ต้องใช้กำลังอาวุธได้ แล้วเอางบไปทำอย่างอื่น รวมถึงทำอย่างไรที่จะทำให้การจัดซื้อจัดจ้างโปร่งใส ลดการทุจริต ซึ่งจะทำให้ให้เรามีเงินพัฒนาประเทศได้อีกเยอะ” ผศ.ดร.ดวงมณี กล่าว
ผศ.ดร.ดวงมณี ย้ำว่า “การเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ น่าจะเหมือนกับเรื่องหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในช่วงเริ่มต้น ซึ่งตอนนั้นคนก็ถามว่าจะเอางบมาจากไหน แต่ถ้ารัฐบาลมีเจตจำนงทางการเมืองที่จะปรับปรุงอะไร มันจะทำได้ แต่ถ้าไม่มีเจตจำนง มันก็ไม่ไปไหน เพราะไม่คิดจะทำ ซึ่งวันนี้เรื่องการปรับเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุมีข้อเสนอเยอะแยะไปหมด แต่ถ้าผู้กำหนดนโยบายไม่มีเจตจำนงที่จะทำ ข้อเสนอต่างๆก็ไม่มีผลอะไร”
(ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล)
@งานวิจัยสถาบันป๋วยฯ เพิ่มเบี้ย 3,000 บาท เท่ากับขึ้นแวตเป็น 16.9%
ก่อนหน้านี้ ทีมวิจัยจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ นำโดย นฎา วะสี หัวหน้ากลุ่มงานวิจัย และ พิทวัส พูนผลกุล นักวิจัยอาวุโส เผยแพร่งานศึกษา เรื่อง “ระบบจัดการรายได้ผู้สูงอายุ : ควรปรับเปลี่ยนอย่างไรให้เพียงพอและยั่งยืน”
โดยระบุว่า หากภาครัฐต้องการเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุให้เป็น 3,000 บาท/คน/เดือน จะต้องทยอยปรับเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat) เป็น 2 เท่า จากปัจจุบัน หรือเพิ่มจาก 7% เป็น 16.9% เพื่อรองรับภาระการจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว
“หากจะเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็น 3,000 บาท ตามที่หลายฝ่ายเสนอ แม้ว่าจะช่วยลดความยากจนในกลุ่มผู้สูงวัยลงได้บ้าง แต่เมื่อคำนวณต้นทุนตามแบบจำลอง โดยวัดจากการปรับขึ้นแวต พบว่าภาครัฐจะต้องขึ้นภาษีแวตเป็น 2 เท่าจากปัจจุบัน หรือเพิ่มแวตจาก 7% เป็น 16.9%” พิทวัส กล่าวในงาน PIER Research Brief เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2564 (อ่านประกอบ : ผลวิจัยฯชี้เพิ่ม‘เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ’เป็น 3 พันบาท/ด. ต้นทุนเทียบเท่าขึ้นแวต 16.9%)
@จี้รัฐบาลเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ 1,000 บาท ทันที-ชี้ไม่กระทบภาระการคลัง
วรรณวิภา ไม้สน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งร่วมผลักดันร่าง พ.ร.บ.บำนาญพื้นฐานถ้วนหน้า พ.ศ. … กล่าวว่า เมื่อพิจารณาจากงบรายจ่ายประจำปีในขณะนี้ รัฐบาลสามารถเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุเป็น 1,000 บาท/เดือนได้ทันที
“ถ้าดูตามงบประมาณ และภาระการเงินการคลังตอนนี้ รัฐบาลสามารถเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุตามที่ได้มีการหาเสียงไว้ที่เดือนละ 1,000 บาท ได้ทันที ซึ่งใช้งบประมาณ 1 แสนล้านบาท จากตอนนี้ที่รัฐบาลจัดสรรรงบเบี้ยผู้สูงอายุในปีงบ 2566 ที่ 8.7 หมื่นล้านบาทอยู่แล้ว ถ้าเพิ่มงบเป็น 1 แสนล้าน ก็ขึ้นไม่เยอะมาก” วรรณวิภา ระบุ
ส่วนข้อเสนอปรับเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุเป็นเดือนละ 3,000 บาท/คน นั้น วรรณวิภา กล่าวว่า ในระยะแรก การเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุเป็น 3,000 บาท คงทำไม่ได้ทันที เพราะภาครัฐมีภาระผูกผันหลายอย่าง แต่ในช่วงการทำงานของรัฐบาลชุดหนึ่งๆ หรือ 4 ปี สามารถเพิ่มไปถึง 3,000 บาท ซึ่งจะใช้งบแต่ละปีประมาณ 3.6 แสนล้านบาท
“เรื่องงบที่จะเอามาใช้ มีหลายเรื่องที่ทำได้ เช่น เอาหวยใต้ดินมาไว้บนดิน ทำหวยออนไลน์ หรือถ้าเอางบจากกองสลากฯก็ทำได้ รวมถึง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ที่พรรคก้าวไกล เสนอ ซึ่งจะทำให้มีเม็ดเงินเข้าประเทศเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ส่วนตัวเห็นว่าการเพิ่มบำนาญประชาชน โดยเฉพาะการเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ รัฐบาลไม่จำเป็นต้องไปขึ้นภาษีมากมายขนาดนั้น
ถ้ารัฐบาลหาเงินเข้าประเทศ และปลดล็อคเรื่องต่างๆ ก็จะมีเงินมาทำสวัสดิการได้ แม้กระทั่งการเอางบกลาง 5-6 แสนล้าน ซึ่งตรวจสอบไม่ได้ด้วย เข้ามาเป็นกองทุนฯเริ่มต้นก็ทำได้ ที่สำคัญในขณะที่สวัสดิการเบี้ยผู้สูงอายุใช้งบปีละ 8.7 หมื่นล้าน แต่สวัสดิการบำนาญข้าราชการกลับใช้งบปีละ 3 แสนล้าน เราอยากให้ช่วงห่างตรงนี้ลดลง” วรรณวิภา ระบุ
(วรรณวิภา ไม้สน)
วรรณวิภา กล่าวว่า “ถ้าไม่มีการปรับเพดานเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขึ้นไป ตัวเลขความเหลื่อมล้ำรายได้จะยิ่งห่างออกไปเรื่อยๆ”
พร้อมทั้งระบุว่า “วันนี้ทุกพรรคการเมืองไม่ว่าจะเป็น ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล และพรรคฝ่ายค้าน มีเสียงไปทางเดียวกันว่า ให้เพิ่มบำนาญผู้สูงอายุ แต่ว่าฝ่ายบริหาร คือ นายกฯไม่เซ็นรับรองลงมา”
ทั้งนี้ วรรณวิภา บอกด้วยว่า ล่าสุด จุติ ไกรฤกษ์ รมว.กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคง แจ้งกับคณะกรรมาธิการฯ ว่า รัฐบาลจะยกร่าง พ.ร.บ.บำนาญประชาชนฯ อีกฉบับ ซึ่งเป็นฉบับของ ครม. เพื่อนำมาประกบกับร่าง พ.ร.บ.บำนาญพื้นฐานถ้วนหน้าฯ ที่สภาเสนอ แต่ยังไม่ทราบว่าจะยกร่างเสร็จเมื่อไหร่
@ภาคประชาชนฯเสนอ ‘ตัดงบไม่จำเป็น-ขึ้นแวต’ นำเงินเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ
ขณะที่ สุรีรัตน์ ตรีมรรคา เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ระบุว่า การปรับเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุถ้วนหน้า 3,000 บาท/คน/เดือน เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ หากรัฐบาลมีการปรับระบบการบริหารจัดการงบประมาณใหม่ เพราะปัจจุบันรัฐบาลเองมีการจัดงบบำนาญให้ข้าราชการปีละ 2 แสนล้านบาท และงบส่วนนี้ก็เพิ่มขึ้นทุกปี
“การเพิ่มเบี้ยเป็น 3,000 บาท ทำได้ แต่รัฐบาลต้องปรับวิธีจัดการงบของหน่วยงานราชการใหม่ โดยหันมาให้ความสำคัญกับสวัสดิการ และหากรัฐบาลจะใช้วิธีการขึ้น Vat เพื่อหาแหล่งเงินมาจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุ รัฐบาลควรบอกให้ชัดเลยว่า ถ้าขึ้น Vat 1% เราจะเอามาจัดสวัสดิการบำนาญพื้นฐานให้ประชาชน” สุรีรัตน์ ระบุ
สุรีรัตน์ ระบุว่า หากมีเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุเป็นเดือนละ 3,000 บาท รัฐบาลต้องจัดสรรงบเพิ่ม 3 แสนล้านบาท จากปัจจุบันที่จัดสรร 7-8 หมื่นล้านบาท ซึ่งหากมีการขึ้นภาษี Vat 1% รัฐบาลจะได้เงินเข้ามา 1 แสนล้านบาท เมื่อนำไปรวมกับรายได้ภาษีทรัพย์สิน ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และภาษีอื่นๆ รวมถึงการลดงบส่วนอื่นๆ เชื่อว่ารัฐบาลจะมีงบเพียงพอ
“เรื่องนี้ ขึ้นอยู่กับเจตจำนงของรัฐบาล อย่าเพิ่งไปบอกว่าเงินไม่พอ ใครก็พูดทั้งนั้นว่าเงินไม่พอ แต่เรื่องนี้เป็นการบริหารจัดการเงิน ถ้ารัฐบอกให้ประชาชนรู้จักออมเพื่อจะได้มีเงิน เราก็อยากจะกับรัฐว่า รัฐก็ต้องรู้จักออมเหมือนกัน อย่างลดการซื้ออาวุธสงครามลง ก็จะทำให้เรามีงบส่วนหนึ่งเข้ามาได้” สุรีรัตน์ กล่าว
(สุรีรัตน์ ตรีมรรคา)
สุรีรัตน์ ระบุด้วยว่า การที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนอย่างแท้จริง ทำให้หลายๆนโยบายไม่เกิดขึ้นจริง โดยเฉพาะนโยบายการเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ ที่ พปชร.หาเสียงไว้ เพราะประชาชนไม่สามารถกดดันรัฐบาลได้ ที่สำคัญรัฐบาลเองก็ไม่เคยบอกว่า การปรับเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุจะทำอย่างไร และมีกระบวนการอย่างไร
“ตอนนี้เราไม่ได้อยู่ในภาวะสงคราม งบจัดซื้ออาวุธจะลดลงได้ไหม แล้วสวัสดิการที่รัฐบาลให้กับข้าราชการเยอะไปหรือไม่ และจะปรับอย่างไรให้กระจายไปสู่ประชาชนอื่นๆได้ไหม ซึ่งรัฐบาลต้องมาคิดเรื่องนี้ แต่เท่าที่เห็น รัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญกับการจัดสวัสดิการประชาชน” สุรีรัตน์ กล่าว
เหล่านี้เป็นมุมมองและข้อเสนอแนะจากนักวิชาการและภาคประชาชน ที่สะท้อนไปถึงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการปรับเพิ่ม ‘เบี้ยผู้สูงอายุ’ จากที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และยังต้องติดตามกันต่อไปว่า รัฐบาลจะมีการปรับนโยบายเบี้ยผู้สูงอายุหรือไม่และอย่างไร ท่ามกลางสถานการณ์ประเทศไทยมีภาระการคลังในระดับสูง
อ่านประกอบ :
ครม.อนุมัติ 8.3 พันล้าน เพิ่มเบี้ยยังชีพคนชรา 100-250 บาท 6 เดือน
ผลวิจัยฯชี้เพิ่ม‘เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ’เป็น 3 พันบาท/ด. ต้นทุนเทียบเท่าขึ้นแวต 16.9%
รมว.พม.รับข้อเสนอเครือข่ายประชาชน พัฒนา 'เบี้ยผู้สูงอายุ' เป็นระบบบำนาญ