“…ค่าดัชนีรวมฯ ณ สิ้นปีงบฯ 2565 มีค่าอยู่ที่ 3.35 ปรับตัวสูงขึ้นจาก 2.45 ณ สิ้นปีงบฯ 2564 ยังอยู่ในระดับปกติ แต่เข้าใกล้ระดับขีดเตือนภัยที่ค่า 5 มากขึ้น รัฐบาลจึงควรให้ความสำคัญในการลดระดับการก่อหนี้ในระดับสูงโดยเร็ว เพื่อลดแรงกดดันของความเสี่ยงที่มีต่อภาคการคลังในอนาคตลง…”
..........................................
เป็นอีกครั้งที่ ‘สนามเลือกตั้งใหญ่’ ปี 2566
กลายเป็นเวทีที่บรรดา ‘พรรคการเมือง-นักการเมือง’ ต่างแข่งขันประชันนโยบาย 'ประชานิยม' ประเภท ‘ลด-แลก-แจก-แถม’ หวังเรียกคะแนนเสียงจากประชาชน ไม่ว่าจะเป็นบัตรสวัสดิการพลัส 1,000 บาท/เดือน ,แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ,บัตรประชารัฐ 700 บาท/เดือน ,ลดราคาก๊าซหุงต้มเหลือ 250 บาท/ถัง และลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20-50 บาท เป็นต้น
หรือแม้กระทั่งการนำเสนอนโยบาย ‘บำนาญประชาชน’ หรือการเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ ‘ถ้วนหน้า’ เป็นเดือนละ 3,000-5,000 บาท ซึ่งจะเป็นการสร้างระบบสวัสดิการสังคมครั้งสำคัญของประเทศ ไม่ต่างจากโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (อ่านประกอบ : สำรวจนโยบาย 'บำนาญแห่งชาติ-เพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ' สู้ศึกเลือกตั้ง-เสี่ยงภาระการคลัง?)
แต่ทว่านโยบายเหล่านี้ย่อมจะสร้างภาระทางการคลังไม่น้อยเลยทีเดียว และทำให้เกิดความกังวลถึง ‘ความเป็นไปได้จริง’ ทั้งในทางการคลังและทางกฎหมายเพียงใด
“ข้อห่วงใยที่สำคัญที่สุด คือ แม้นโยบายหลายอย่างที่พรรคการเมืองประกาศออกมาเป็นนโยบายที่มีจุดประสงค์ดีที่มุ่งแก้ไขความเดือดร้อน และปัญหาของประชาชนกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางก็ตาม แต่ก็ยังมีหลายนโยบายที่น่าจะสร้างปัญหาให้แก่ประเทศในระยะยาว ด้วยเหตุผลหลายประการ คือ
หนึ่ง สร้างภาระทางการคลังจากการใช้งบประมาณมากเกินตัว
สอง มีแนวโน้มว่าจะใช้เงินนอกงบประมาณผ่านรัฐวิสาหกิจต่างๆ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ซึ่งทำให้การใช้เงินดังกล่าวไม่ผ่านกระบวนการงบประมาณและทำให้รัฐสภาในฐานะผู้แทนของประชาชนไม่สามารถตรวจสอบได้หรือ
สาม สร้างบรรทัดฐานหรือวัฒนธรรมซึ่งทำลายวินัยของประชาชนในการชำระเงินกู้ เช่น นโยบายที่จะยกเว้นหรือลดหนี้เงินกู้ต่างๆ โดยไม่สมเหตุผล หรือลดบทบาทของเครดิตบูโร
ทีมวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI)ประมาณการพบว่า มีอย่างน้อย 2 พรรคการเมืองที่น่าจะต้องใช้เงินงบประมาณเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันอีกกว่า 2 ล้านล้านบาทต่อปี เพื่อดำเนินนโยบายที่ประกาศไว้ และหากรวมต้นทุนด้านการคลังของนโยบายของทั้ง 9 พรรคการเมือง (โดยไม่นับนโยบายที่ซ้ำกัน) ก็จะต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นทั้งหมด 3.14 ล้านล้านบาทต่อปี หรือเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจากงบประมาณรายจ่ายสำหรับปี 2566
ทั้งนี้ ยังไม่ได้รวมนโยบายของบางพรรคการเมืองที่มีข่าวว่าจะทยอยประกาศออกมา “เกทับ” นโยบายของพรรคการเมืองอื่นที่ประกาศมาก่อน เช่น นโยบายลดราคาน้ำมันเบนซินและดีเซลขนานใหญ่” ข้อสังเกตและข้อห่วงใยต่อนโยบายด้านเศรษฐกิจและสังคมของพรรคการเมืองในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2566 ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เผยแพร่เมื่อวันที่ 28 ก.พ.2566 ระบุ
(ที่มา : ข้อสังเกตและข้อห่วงใยต่อนโยบายด้านเศรษฐกิจและสังคมของพรรคการเมืองในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2566 ของ TDRI)
แต่ก่อนที่นโยบายหาเสียงเหล่านี้จะกลายเป็นจริง หลังจากมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่แล้ว สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอ ‘รายงานความเสี่ยงทางการคลัง’ ประจำปีงบประมาณ 2565 ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบเมื่อวันที่ 28 มี.ค.2566 ที่ผ่านมา เฉพาะในประเด็นความเสี่ยง ‘ด้านรายได้-ด้านรายจ่าย-ด้านหนี้’ มีสาระสำคัญ ดังนี้
@รายได้รัฐบาลลดลงต่อเนื่อง-แต่รายจ่ายมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
สถานการณ์และแนวโน้มความเสี่ยงด้านรายได้
ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลในปีงบฯ 2565 อยู่ที่ 2,531,656 ล้านบาท ขยายตัว 6.57% จากปีก่อน และสูงกว่าประมาณการ (ที่ 2,400,000 ล้านบาท) 5.49% จากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้รายได้ของประชาชน ผลประกอบการของภาคเอกชน รวมถึงการบริโภคของภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น
นอกจากนี้ ยังได้รับอานิสงค์จากราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มสูงขึ้น และอัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่าลง อย่างไรก็ดี เม็ดเงินของผลการจัดเก็บในปีงบประมาณ 2565 ยังคงต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤต (ปีงบ 2562) ในขณะที่สัดส่วนรายได้รัฐบาลสุทธิต่อ GDP (ปีปฏิทิน) ในปีงบฯ 2565 ยังลดลงต่อเนื่องอยู่ที่ 14.58%
สถานการณ์และแนวโน้มความเสี่ยงด้านรายจ่าย
กรอบวงเงินและการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี
วงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบฯ 2565 มีจำนวน 3,100,000 ล้านบาท ปรับตัวลดลงจากปีก่อน 5.66% โดยวงเงินรายจ่ายลงทุนตามเอกสารงบประมาณอยู่ที่ 611,933 ล้านบาท ลดลง 5.76% จากปีงบประมาณก่อน คิดเป็นสัดส่วน 19.74% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีต่ำกว่าวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล
โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากวงเงินการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลที่อยู่ในระดับสูง ตามประมาณการรายได้ที่ลดลงจากผลกระทบทางเศรษฐกิจของการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ที่ยังมีอยู่ต่อเนื่อง ประกอบกับการปรับตัวลดลงของวงเงินงบประมาณรายจ่ายฯ ทำให้รัฐบาลมีพื้นที่ทางการคลัง (Fiscal space) ในการจัดสรรรายจ่ายลงทุนลดลง
อย่างไรก็ดี สัดส่วนรายจ่ายลงทุนต่องบประมาณรายจ่ายฯปี 2565 ยังคงสูงกว่าช่วงปีงบฯ 2553-2558 สะท้อนให้เห็นถึงเจตนารมณ์และผลสัมฤทธิ์ของการบังคับใช้ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ ที่ต้องการให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายลงทุนซึ่งเป็นรายจ่ายที่ส่งผลระยะยาวต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และพยายามลดทอนรายจ่ายประจำเป็นลำดับแรก โดยเฉพาะกรณีที่วงเงินงบประมาณรายจ่ายขยายตัวได้ในระดับต่ำหรือมีการหดตัว
@เปิด 4 ภาระรายจ่ายยากต่อการลดทอน 2.06 ล้านล้าน
แนวโน้มรายจ่ายที่ยากต่อการลดทอน
รายจ่ายส่วนหนึ่งเป็นภาระผูกพันที่รัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณให้ตามนโยบายของรัฐบาลและเป็นรายจ่ายที่ยากต่อการลดทอน โดยอาจเป็นภาระผูกพันตามกฎหมาย มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือสัญญาต่างๆ รวมไปถึงอาจเกิดจากแรงกดดันทางด้านเศรษฐกิจและสังคมที่รัฐบาลจำเป็นต้องเข้าไปจัดการดูแล
รายงานความเสี่ยงทางการคลังฉบับนี้ได้รวบรวมรายจ่ายที่ยากต่อการลดทอนที่มีนัยสำคัญเชิงนโยบาย โดยในปีงบประมาณ 2565 มีสัดส่วนรายจ่ายที่ยากต่อการลดทอนต่องบประมาณรายจ่ายฯ รวมอยู่ที่ 66.72% ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจาก 62.78% ในปีงบประมาณ 2554 โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการปรับตัวลดลงของวงเงินงบประมาณรายจ่ายฯ
ในขณะที่รัฐบาลมีรายจ่ายเพื่อชำระหนี้และภาระผูกพันฯเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการดำเนินมาตรการเพื่อเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ในอดีต รวมไปถึงและรายจ่ายสวัสดิการบุคลากรภาครัฐที่เพิ่มขึ้นตามการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
ทั้งนี้ มีรายละเอียดของรายจ่ายที่ยากต่อการลดทอนแต่ละประเภท ในปีงบ 2565 มีวงเงินทั้งสิ้น 2,068,366 ล้านบาท ดังนี้
(1) รายจ่ายเพื่อชำระหนี้และภาระผูกพันจากการดำเนินนโยบายในอดีต
รายจ่ายเพื่อชำระหนี้และภาระผูกพันฯ เป็นรายจ่ายที่ไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินนโยบายต่างๆ ในปัจจุบัน และส่วนใหญ่เป็นรายจ่ายไม่ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน
ดังนั้น หากรายจ่ายในส่วนนี้มีสัดส่วนมากขึ้นย่อมส่งผลต่อพื้นที่ทางการคลังในการดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล รวมถึงส่งผลให้แรงกระตุ้นทางการคลัง (Fiscal impulse) ของงบประมาณรายจ่ายฯ ลดลง
ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2565 รัฐบาลมีรายจ่ายเพื่อชำระหนี้และภาระผูกพันฯ รวมทั้งสิ้น 407,722 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.83% จากปีงบประมาณก่อน คิดเป็นสัดส่วน 13.15% ของงบประมาณรายจ่ายฯ
โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการดำเนินมาตรการเพื่อเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ที่ผ่านมา ส่งผลให้รัฐบาลมีรายจ่ายในการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นตามระดับหนี้รัฐบาล รวมไปถึงรายจ่ายชดใช้ทุนสำรองจ่ายที่ได้เบิกใช้ไปในปี 2563
(2) รายจ่ายเงินเดือน เงินสมทบ และค่าตอบแทนบุคลากรภาครัฐ
รายจ่ายเงินเดือน เงินสมทบ และค่าตอบแทนบุคลากรภาครัฐในปีงบประมาณ 2565 มีจำนวนรวมอยู่ที่ 811,771 ล้านบาท หดตัว 0.87% จากปีงบประมาณก่อน คิดเป็นสัดส่วน 26.19% ของงบประมาณรายจ่ายฯ ปี 2565 เปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปีงบ 2561-2565)
เนื่องจากรัฐบาลไม่มีการปรับฐานเงินเดือนในช่วงเวลาดังกล่าว ขณะที่จำนวนกำลังคนภาครัฐมีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย (ในปีงบ 2564 กำลังคนภาครัฐฝ่ายพลเรือน มีจำนวน 2,089,429 ตำแหน่ง ลดลง 1.30% จากปีงบประมาณก่อน โดยในช่วงปีงบ 2560 - 2564 ลดลงเฉลี่ย 0.77% ต่อปี)
(3) รายจ่ายสวัสดิการบุคลากรภาครัฐ
รายจ่ายสวัสดิการบุคลากรภาครัฐในปีงบฯ 2565 มีจำนวนรวมอยู่ที่ 478,123 ล้านบาท ขยายตัว 6.36% จากปีงบประมาณก่อน คิดเป็นสัดส่วน 15.42% ของงบประมาณรายจ่าย เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย โดยเฉพาะส่วนของค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล และเงินเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ
(4) รายจ่ายสวัสดิการสำหรับประชาชน
รายจ่ายสวัสดิการสำหรับประชาชนในปีงบฯ 2565 มีจำนวนรวมอยู่ที่ 370,750 ล้านบาท ปรับตัวลดลงจากปีงบประมาณก่อน 7.70% คิดเป็นสัดส่วน 11.96% ของงบประมาณรายจ่ายฯ ลดลงเล็กน้อยจากปีก่อน แต่คาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคตตามการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ของประเทศไทย
@ปีงบ 65 รัฐบาลขาดดุลการคลัง 1 ล้านล้าน คิดเป็น 5.81% ต่อจีดีพี
สถานการณ์และแนวโน้มความเสี่ยงด้านหนี้
ดุลการคลังและระดับหนี้สาธารณะ
จากผลการจัดเก็บรายได้และการเบิกจ่ายงบประมาณปีงบ 2565 ส่งผลให้ในปีงบฯ 2565 รัฐบาลขาดดุลงบประมาณ อยู่ที่ 614,585 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 3.54% ต่อ GDP ซึ่งหากรวมรายจ่ายรัฐบาลที่มีแหล่งเงินจากเงินกู้ตามกฎหมายเฉพาะ (พ.ร.ก. กู้เงิน COVID-19ฯ และพ.ร.ก. กู้เงิน COVID-19เพิ่มเติมฯ) แล้ว
รัฐบาลจะขาดดุลการคลังรวมอยู่ที่ 1,008,717 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 5.81% ต่อ GDP ลดลงจาก 2 ปีงบประมาณที่ผ่านมา แต่ยังคงอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับช่วงสถานการณ์ปกติ
ทั้งนี้ เพื่อรองรับการขาดดุลการคลังดังกล่าว ในปีงบฯ 2565 รัฐบาลมีการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล จำนวน 681,184 ล้านบาท ต่ำกว่ากรอบวงเงินกู้ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากผลการจัดเก็บรายได้สูงกว่าประมาณการ และมีการกู้เงินตามกฎหมายเฉพาะ อีกจำนวน 381,151 ล้านบาท ในขณะที่มีการชำระคืนเงินต้น (เฉพาะหนี้รัฐบาล) อยู่ที่ 66,482 ล้านบาท ส่งผลให้รัฐบาลมีการกู้เงิน (สุทธิ) อยู่ที่ 995,853 ล้านบาท
ระดับหนี้สาธารณะ ณ สิ้นปีงบฯ 2565 มีจำนวน 10,373,937.59 ล้านบาท คิดเป็น 60.41% ต่อ GDP ยังอยู่ภายใต้กรอบที่คณะกรรมการ นโยบายการเงินการคลังของรัฐกำหนดให้ไม่เกิน 70%
แต่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องจาก 49.47% และ 58.38% ต่อ GDP ณ สิ้นปีงบ 2563 และสิ้นปีงบ 2564 ตามลำดับ จากการเพิ่มขึ้นของเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ และเงินกู้ภายใต้ พ.ร.ก. กู้เงิน COVID-19ฯ และ พ.ร.ก. กู้เงิน COVID-19ฯ เพิ่มเติม เป็นสำคัญ
โครงสร้างหนี้สาธารณะ
ความเสี่ยงของโครงสร้างหนี้สาธารณะ ณ สิ้นปีงบฯ 2565 ยังอยู่ในระดับบริหารจัดการได้ภายใต้การวิเคราะห์และติดตามอย่างใกล้ชิด โดยหนี้สาธารณะในส่วนที่รัฐบาลรับภาระโดยตรงมีจำนวนทั้งสิ้น 8,693,789.64 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 83.80% ของหนี้สาธารณะทั้งหมด หรือคิดเป็น 50.63% ต่อ GDP
โดยมีสัดส่วนภาระดอกเบี้ยของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้ในระยะปานกลางอยู่ที่ประมาณ 8% อยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้และอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ภายใต้สภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน
นอกจากนี้ (1) ความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน อยู่ในระดับที่ต่ำมาก โดยมีสัดส่วนของหนี้ต่างประเทศต่อหนี้สาธารณะทั้งหมดอยู่ที่ 1.71% โดยเป็นหนี้ต่างประเทศที่ปิดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนแล้วเกือบทั้งหมด
(2) ความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ย อยู่ในระดับต่ำ โดยมีต้นทุนการกู้เงินเฉลี่ย 2.37% ต่อปีปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากร้อยละ 3.22 ณ สิ้นปีงบฯ 2562 ขณะที่ 83.97% ของหนี้สาธารณะยังเป็นหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยคงที่
และ (3) ความเสี่ยงด้านการปรับโครงสร้างหนี้อยู่ในระดับต่ำ แต่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดวิกฤต COVID-19 โดยอายุคงเหลือเฉลี่ยจนกว่าจะครบกำหนด (Average to Maturity: ATM) ของหนี้สาธารณะ ณ สิ้นปีงบฯ อยู่ที่ 8 ปี 9 เดือน ปรับตัวสั้นลงต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ATM ที่สั้นลง มีข้อดีในการช่วยให้ต้นทุนในการกู้เงินเฉลี่ยต่ำลง
@รัฐบาลควรให้ความสำคัญลดระดับการก่อหนี้ในระดับสูง
ระบบสัญญาณเตือนภัยทางการคลัง
ระบบสัญญาณเตือนภัยทางการคลัง (Fiscal Early Warning System: FEWS) เป็นเครื่องมือวิเคราะห์ความเสี่ยงของการเกิดวิกฤตการคลัง ผ่านการติดตามข้อมูลที่เป็นตัวบ่งชี้วิกฤตการคลังล่วงหน้า (ตัวบ่งชี้ฯ) ที่ครอบคลุมทั้งภาคเศรษฐกิจจริง ภาครัฐ ภาคปัจจัยภายนอก (เศรษฐกิจระหว่างประเทศ) และภาคการเงิน 19 เพื่อนำมาประมวลผลและคำนวณเป็นดัชนีรวมเตือนภัยทางการคลัง (ดัชนีรวมฯ)
ทั้งนี้ ค่าดัชนีรวมฯ ณ สิ้นปีงบฯ 2565 มีค่าอยู่ที่ 3.35 ปรับตัวสูงขึ้นจาก 2.45 ณ สิ้นปีงบฯ 2564 ยังอยู่ในระดับปกติ แต่เข้าใกล้ระดับขีดเตือนภัยที่ค่า 5 มากขึ้น รัฐบาลจึงควรให้ความสำคัญในการลดระดับการก่อหนี้ในระดับสูงโดยเร็ว เพื่อลดแรงกดดันของความเสี่ยงที่มีต่อภาคการคลังในอนาคตลง
สรุปความเสี่ยงในปีงบประมาณ 2565 และมุมมองความเสี่ยงในอนาคต
ในภาพรวมแล้วความเสี่ยงทางการคลังในปีงบฯ 2565 ปรับตัวดีขึ้นจากปีงบฯ 2564 โดยความเสี่ยงด้านรายได้และด้านสภาพคล่องปรับตัวดีขึ้น จากความสามารถในการจัดเก็บรายได้ให้เป็นไปตามประมาณการที่ดีขึ้นตามสถานการณ์เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงด้านรายจ่ายปรับตัวสูงขึ้นจากวงเงินงบประมาณรายจ่ายฯ ที่ปรับตัวลดลง ในขณะที่รัฐบาลมีสัดส่วนรายจ่ายที่ยากต่อการลดทอนเพิ่มขึ้น ส่งผลให้สัดส่วนรายจ่ายลงทุนลดลง
สำหรับความเสี่ยงด้านหนี้ปรับตัวสูงขึ้น จากการกู้เงินในระดับสูงอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงวิกฤต COVID-19 ที่ผ่านมา ประกอบกับต้นทุนการกู้เงินที่เข้าสู่แนวโน้มขาขึ้นในปีงบฯ 2565 แต่ยังอยู่ในระดับบริหารจัดการได้
หากพิจารณาจากแผนการคลังระยะปานกลาง พ.ศ.2567-2570 (MTFF 2567–2570) เพื่อวิเคราะห์แนวโน้มความเสี่ยงทางการคลังในอนาคต พบว่า มุมมองความเสี่ยงด้านรายได้และด้านสภาพคล่องปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเกิดวิกฤต COVID-19 (ปีงบฯ 2563-2565) จากความสามารถในการจัดเก็บรายได้ให้เป็นไปตามประมาณการที่ดีขึ้นตามสถานการณ์เศรษฐกิจที่ขยายตัวต่อเนื่อง
นอกจากนี้ MTFF 2567–2570 ได้มีการปรับลดระดับการขาดดุลการคลังในระยะปานกลางลงอยู่ที่ไม่เกิน 3% ต่อ GDP ส่งผลให้รัฐบาลยังมีวงเงินกู้กรณีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ เพื่อรองรับกรณีที่ผลการจัดเก็บไม่เป็นไปตามประมาณการตามเอกสารงบประมาณ ซึ่งจะเป็นกลไกในการช่วยบริหารความเสี่ยงด้านสภาพคล่องเพิ่มเติมได้อีกทางหนึ่ง อย่างไรก็ดี รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการเพิ่มสัดส่วนรายได้ต่อ GDP ซึ่งมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องด้วย
ในส่วนของมุมมองความเสี่ยงด้านรายจ่าย รัฐบาลอาจมีแรงกดดันจากรายจ่ายที่ยากต่อการลดทอนที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของรายจ่ายชำระหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นตามระดับหนี้รายจ่ายสวัสดิการของทั้งบุคลากรภาครัฐและของประชาชนที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นตามการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ รายจ่ายชดใช้เงินคงคลังที่ได้เบิกใช้ไปในปีงบประมาณ 2565 รวมไปถึงรายจ่ายจากภาระผูกพันต่างๆ
สำหรับมุมมองความเสี่ยงด้านหนี้ ยังอยู่ในระดับบริหารจัดการได้ภายใต้การวิเคราะห์ติดตามอย่างใกล้ชิด และต้องเพิ่มความระมัดระวังในการก่อหนี้ระดับสูงเพิ่มเติมอีกหลังจากนี้
ทั้งนี้ ระดับหนี้สาธารณะในอนาคตระยะปานกลางมีแนวโน้มดีขึ้นเมื่อเทียบกับ MTFF ฉบับก่อน (ปีงบฯ 2566–2569) จากการกำหนดระดับการขาดดุลไม่เกิน 3% ต่อ GDP โดยประมาณการสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นปีงบฯ 2570 อยู่ที่ 61.25% ต่อ GDP เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยจาก 60.64% ณ สิ้นปีงบฯ 2566
ในขณะที่ประมาณการภาระดอกเบี้ยต่อ GDP อาจปรับตัวสูงขึ้นจาก 1.10% ณ สิ้นปีงบฯ 2566 เป็น 1.62% ณ สิ้นปีงบฯ 2570 จากระดับหนี้สาธารณะที่ยังอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดวิกฤต COVID-19 รวมไปถึงต้นทุนการกู้ยืมที่ปรับตัวสูงขึ้น แต่ยังถือว่าอยู่ขอบเขตที่บริหารจัดการได้
@รัฐบาลต้องทบทวนมาตรการเว้นภาษี-ลดรายจ่ายไม่จำเป็น
อย่างไรก็ดี รัฐบาลควรเร่งรัดดำเนินการเพิ่มความสามารถในการจัดเก็บรายได้ เพื่อให้สัดส่วนภาระดอกเบี้ยระยะปานกลางเมื่อเทียบกับศักยภาพในการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ในระดับสากลด้วย และเพื่อลดความเสี่ยงต่างๆ ดังกล่าวในอนาคต รัฐบาลจึงควรมีการพิจารณาดำเนินการ ดังนี้
(1) ทบทวนมาตรการยกเว้นภาษี และมาตรการลดหย่อนต่างๆ ที่ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ให้มีเท่าที่จำเป็น ควบคู่ไปกับพิจารณาผลักดันแนวทางในการเพิ่มความสามารถในการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลให้มีผลในทางปฏิบัติอย่างจริงจังทั้งในส่วนของการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บ
การขยายฐานภาษีให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงขยายการจัดเก็บภาษีให้ครอบคลุมถึงฐานภาษีใหม่ ๆ เพื่อให้รัฐบาลมีรายได้เพียงพอต่อการจัดทำงบประมาณรายจ่ายที่จำเป็น รวมไปถึงเพื่อเพิ่มศักยภาพในการชำระหนี้ในอนาคต
(2) พิจารณาปรับลดรายจ่ายต่างๆที่ไม่จำเป็นลง ผ่านการพิจารณาปฏิรูปโครงสร้างบุคลากรภาครัฐให้มีขนาดที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ปฏิรูประบบสวัสดิการสำหรับประชาชนโดยบูรณาการข้อมูลและการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆเข้าด้วยกัน เพื่อให้รัฐสามารถจัดทำระบบสวัสดิการแบบมีเงื่อนไข (Conditional transfer) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ดำเนินโครงการตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ เท่าที่จำเป็น โดยควรมีการจัดล าดับความสำคัญของโครงการและผลักดันโครงการที่มีการดำเนินการเป็นประจำทุกปีและสามารถวางแผนล่วงหน้าได้ให้เสนอขอรับจัดสรรงบประมาณจากกระบวนการงบประมาณรายจ่ายประจำปีเป็นลำดับแรก เป็นต้น
(3) จัดสรรงบประมาณรายจ่ายที่มีภาระผูกพันชัดเจน โดยเฉพาะในส่วนของงบชำระหนี้ให้เพียงพอต่อการบริหารจัดการ
(4) กรณีที่ผลการจัดเก็บรายได้สูงกว่าประมาณการ รัฐบาลควรพิจารณาปรับลดวงเงินกู้ชดเชยเพื่อการขาดดุลลงเป็นลำดับแรก เพื่อลดแรงกดดันต่อการบริหารจัดการด้านหนี้ลง
เหล่านี้เป็นบางช่วงบางตอนของ ‘รายงานความเสี่ยงทางการคลัง’ ประจำปีงบ 2565 ของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และหากรัฐบาลชุดใหม่เดินหน้านโยบายประชานิยมตามที่ได้หาเสียงไว้ สิ่งที่ตามมา คือ ภาระทางการคลังที่มากขึ้น และสุดท้ายแล้วรัฐบาลต้องหารายได้เพิ่ม โดยทบทวนภาษีต่างๆ หรืออาจต้องลดการลงทุนลงก็เป็นได้?
อ่านประกอบ :
เวทีเสวนาฯชงรีดภาษีมั่งคั่ง-ขึ้นVat หางบโปะ‘บำนาญแห่งชาติ’-ห่วง‘รุ่นเกิดล้าน’แก่แล้วจน
ครม.ไฟเขียวรายละเอียดงบปี 67 ‘มหาดไทย’ ได้มากสุด 3.51 แสนล.-‘กลาโหม’ เพิ่มเป็น 1.98 แสนล้าน
6 ปี 2.57 แสนล.! ส่องงบ'บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ' ก่อน'พปชร.'ชูจ่าย 700 บาท สู้ศึกเลือกตั้ง
เปิด‘แผนการคลัง’ฉบับปี 67-70 รัฐเล็งกู้ใหม่ 4.7 ล้านล้าน-ภาระผูกพันคงค้างพุ่ง 1.03 ล้านล.
รอปรับตัวเลข! ‘บิ๊กตู่’ ยังไม่เคาะกรอบวงเงินงบปี 67 หลังนั่งหัวโต๊ะหารือ 4 หน่วยงาน
คุมขาดดุลไม่เกิน 3%! ครม.เคาะ‘แผนคลังระยะปานกลาง’ใหม่-ชงงบปี 67 รายจ่ายพุ่ง 3.35 ล้านล.
รัฐซุกหนี้ 1 ล้านล.! พบไม่รวมอยู่ใน‘หนี้สาธารณะ’-‘คลัง’ห่วงภาระช่วยเหลือ‘เกษตรกร’พุ่ง
ฉบับล่าสุด! เปิดรายงาน 'ความเสี่ยงการคลัง' ภาครัฐ รายจ่ายสวัสดิการฯพุ่ง-ชงทบทวนภาษี
'อดีตผู้ว่าฯธปท.'ห่วงภาครัฐ'ขาดดุลนาน-หนี้สูง' ฝาก'แบงก์ชาติ'ต้องอิสระจากผู้มีอำนาจ