‘จุรินทร์’ ยืนยันไม่มีนโยบายปรับเปลี่ยนเกณฑ์การจ่าย ‘เบี้ยผู้สูงอายุ’ พร้อมย้ำไม่ลดเบี้ยฯ ขณะที่ ‘นักวิชาการ’ มองรัฐบาลตัดงบเบี้ยผู้สูงอายุ เพราะไม่ต้องการแตะโครงสร้างความเหลื่อมล้ำ-เก็บภาษีคนรวย
.......................................
เมื่อวันที่ 15 ส.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่กระทรวงมหาดไทยปรับแก้หลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุ ว่า ในส่วนของคณะกรรมการผู้สูงอายุฯ นั้น ยังไม่มีนโยบายในเรื่องการปรับลดเงิน และจำนวนของเบี้ยผู้สูงอายุแต่อย่างใด มีเพียงการศึกษาว่าทำอย่างไรที่จะเพิ่มเติมเบี้ยผู้สูงอายุให้สอดคล้องกับค่าครองชีพและเศรษฐกิจมากขึ้น
“ยังไม่มีนโยบายที่จะไปเปลี่ยนแปลง มีเพียงการศึกษาจะทำอย่างไรที่จะเพิ่มเติมเบี้ยผู้สูงอายุให้สอดคล้องกับภาวะค่าครองชีพ เศรษฐกิจได้มากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องภายในที่ได้มีการพิจารณาศึกษาอยู่ แต่ยืนยันว่ามติที่จะไปดำเนินการ ไม่มีการลดเบี้ย หรือลดจำนวนผู้สูงอายุนั้น ยังไม่มี” นายจุรินทร์ กล่าว
พร้อมย้ำว่า “ส่วนที่มีความกังวลในการตีความเรื่องของความจนนั้น อันนั้นเป็นส่วนที่จะต้องนิยามไปตามระเบียบของกระทรวงมหาดไทย แต่ในส่วนของฝ่ายนโยบาย ยังไม่ได้มีนโยบายที่จะไปทำอย่างนั้น”
นายจุรินทร์ กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาได้เข้าไปยุติปัญหาเรื่องการจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุซ้ำซ้อนไปแล้ว กล่าวคือ มีผู้สูงอายุร่วม 30,000 คน เป็นผู้ที่ได้รับบำนาญตกทอด ทำให้เกิดปัญหาว่าคนกลุ่มนี้สามารถรับเบี้ยผู้สูงอายุซ้ำซ้อนได้หรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้คณะกรรมการผู้สูงอายุฯ ได้เข้าไปแก้ปัญหาดังกล่าว ด้วยการเปิดโอกาสให้สามารถรับเบี้ยผู้สูงอายุซ้ำซ้อนได้ ส่วนคนที่รับไปเบี้ยไปแล้วก็ไม่ต้องนำมาคืน
นายจุรินทร์ ยังระบุว่า พรรคประชาธิปัตย์ เป็นพรรคการเมืองแรกที่เริ่มต้นเบี้ยผู้สูงอายุในสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย โดยเริ่มจาก 200 บาทต่อเดือน จนพัฒนามาเป็น 1,000 บาทต่อเดือนในปัจจุบัน ทั้งนี้ ขอยืนยันว่าเบี้ยผู้สูงอายุเป็นเรื่องจำเป็น และเป็นเรื่องที่มีส่วนช่วยทำให้ผู้สูงอายุมีเงินได้เพื่อยังชีพตามอัตภาพ และในอนาคตหากสามารถเพิ่มเงินเบี้ยผู้สูงอายุได้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ และงบประมาณแผ่นดิน ก็ควรที่จะได้มีการพิจารณาดำเนินการ
ด้าน ดร.ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขียนบทความเรื่อง ‘ประเทศไทยกำลังเดินถอยหลังเรื่องความคุ้มครองความยากจนผู้สูงอายุ’ โดยมีเนื้อหา ว่า “เหตุผลหลักที่ต้องการตัดลดงบประมาณ ‘เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ’ ก็เพราะว่ารัฐบาลไม่ต้องการแตะโครงสร้างความเหลื่อมล้ำ
นั่นคือไม่ต้องการเก็บภาษีจากคนรวย เพื่อทำให้สังคมเป็นธรรมมากขึ้น ทั้งที่มีข้อเสนอเรียกร้องจากทั้งจากภาคประชาชน ภาควิชาการ และภาคการเมือง ก็ถูกตีตก หรือ รัฐบาลเจตนานั่งทับไว้ เพราะกลัวว่าคนกลุ่มน้อยที่กอบโกยผลประโยชน์บนยอดปีรามิด จะเสียประโยชน์ โดยไม่ได้คำนึงว่าอนาคตประเทศไทยจะอยู่กันต่อไปอย่างไร
ศูนย์กลางเครือข่ายระบอบอำนาจของไทย จะไม่คิดแบ่งปันออกมาให้คนส่วนใหญ่ในประเทศอย่างเป็นธรรมบ้างหรือ? ไม่กี่ตระกูลกอบโกยไปอย่างมหาศาลในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ผ่านการสมประโยชน์กันของเครือข่าย กลุ่มทุน และ ภาครัฐที่ยึดกุมอำนาจอยู่ โดยมีการควบคุมความคิดผ่านสื่อที่สนับสนุนจีนและรัสเซีย จนทำให้กลุ่มคนเสียงดังในสังคมมีข้อมูลที่บิดเบือน เช่น ทั้งประเทศจ่ายภาษีแค่ 4 ล้านคน
แน่นอนว่า เราไม่สามารถแยกเรื่องโครงสร้างระบอบอุปถัมภ์ออกจากการเมืองเรื่องจัดตั้งรัฐบาล และการกดขี่ขูดรีดแรงงานและการเอารัดเอาเปรียบทางเศรษฐกิจจากคนไทย ดังนั้น คงจะไม่แปลกใจหากวันหนึ่งความโกรธแค้นของประชาชนเรื่องความเหลื่อมล้ำและความอยุติธรรม จะปะทุออกมาในที่สุด
ประเด็นความสัมพันธ์เรื่อง ‘ความเหลื่อมล้ำ’ และ ‘ความขัดแย้งทางการเมือง’ นี้ ผู้เขียนได้เคยพูดคุยแลกเปลี่ยนในการประชุมร่วมกับเจ้าหน้าที่จากสำนักข่าวกรองแห่งชาติ จึงขอนำเรียนตรงนี้อีกครั้งด้วยความซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพเศรษฐศาสตร์ เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้โปรดตระหนักว่า ตามประวัติศาสตร์มนุษยชาติได้พิสูจน์แล้ว ‘เมื่อความเหลื่อมล้ำรุนแรงมาก สักวันหนึ่งก็ต้องเผชิญวิกฤตขัดแย้งรุนแรง’
เรื่องระบบสวัสดิการคุ้มครองความยากจนผู้สูงอายุ แม้จะมีงานวิจัยแสดงให้เห็นว่า ถึงจะเป็นเบี้ยยังชีพเดือนละ 3 พันบาท ก็ยังใช้งบประมาณน้อยกว่างบบำนาญข้าราชการในระยะยาว ในที่สุดแล้ว เมื่องบประมาณสำหรับบำนาญข้าราชการจะพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วน่ากังวล เราก็ควรที่จะใช้โอกาสนี้ในการจัดสรรทรัพยากรให้เป็นธรรม ตามข้อเสนอทางเศรษฐศาสตร์ที่มีมากมาย เพื่อให้มีงบประมาณสามารถคุ้มครองความยากจนผู้สูงอายุได้ทั้งสังคม
แต่ข้อเท็จจริง คือ รัฐบาลไม่ยอมทำ ดังนั้น การตั้งเป้าหมายตัดลดงบประมาณเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จึงเป็นการเดินถอยหลังของประเทศ”
อ่านประกอบ :
รายจ่ายยากลดทอน 2 ล้านล.! เปิด‘ความเสี่ยงการคลัง’ล่าสุด หลัง‘นักการเมือง’โหม‘ประชานิยม’
สำรวจนโยบาย 'บำนาญแห่งชาติ-เพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ' สู้ศึกเลือกตั้ง-เสี่ยงภาระการคลัง?
เวทีเสวนาฯชงรีดภาษีมั่งคั่ง-ขึ้นVat หางบโปะ‘บำนาญแห่งชาติ’-ห่วง‘รุ่นเกิดล้าน’แก่แล้วจน
จุดยืนล่าสุด 5 พรรคการเมือง หนุน‘บำนาญแห่งชาติ’ แต่ไม่ฟันธงได้เดือนละ 3 พันบาท ปีไหน!
ข้อเสนอ 'บำนาญถ้วนหน้า' เดือนละ 3 พันบาท ทำได้-ไม่ได้ ใช้เงินเท่าไหร่-หาเงินจากไหน?
จี้เลิกลดหย่อนภาษีคนรวย-เจ้าสัว! ‘ภาคปชช.’เคลื่อนไหวผลักดัน‘บำนาญถ้วนหน้า’ 3 พันบาท/ด.
จาก'สงเคราะห์'สู่'สวัสดิการ' เพิ่ม'เบี้ยผู้สูงอายุ' 3 พันบาท ทางเลือกที่รัฐบาลทำได้?
ครม.อนุมัติ 8.3 พันล้าน เพิ่มเบี้ยยังชีพคนชรา 100-250 บาท 6 เดือน
ผลวิจัยฯชี้เพิ่ม‘เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ’เป็น 3 พันบาท/ด. ต้นทุนเทียบเท่าขึ้นแวต 16.9%
รมว.พม.รับข้อเสนอเครือข่ายประชาชน พัฒนา 'เบี้ยผู้สูงอายุ' เป็นระบบบำนาญ