"...แต่ถ้าผ่านไปอีก 5 - 10 ปี ข้างหน้า ผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นเป็น 20 ล้านคน ฉะนั้นผู้สูงอายุ 20 ล้านคน ได้รับเงินจากรัฐคนละ 3,000 บาทต่อเดือนก็จะเป็น 60,000 ล้านบาทต่อเดือน ก็จะเป็น 7.2 แสนล้านบาทต่อปี ตัวเลขพวกนี้ถามว่าจะสามารถกู้ได้หรือไม่ ก็ถ้ากู้ก็กู้ได้แต่ต้องเพิ่มเพดานไปเรื่อย ๆ แต่จะเป็นภาระด้านการคลัง พอถามต่อว่าแล้วพรรคการเมืองเหล่านี้ทำอย่างไร ก็จะมีพรรคการเมืองที่ไม่ได้บอกวิธีอะไรก็คือใช้วิธีการกู้ต่อไปเรื่อย ๆ แต่มีข้อเสียคือรัฐจะมีหนี้เยอะ พอรัฐมีหนี้เยอะรัฐก็ไม่สามารถกู้เงินไปใช้ทำอย่างอื่นได้..."
การเลือกตั้งครั้งใหม่ ปี 2566 ที่กำลังมาถึงในเร็ววันนี้
การปรับเบี้ยผู้สูงอายุเพื่อให้ครอบคลุมและดึงดูดกลุ่มผู้สูงอายุจำนวนกว่า 12 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 19 ของประชากรของประเทศ ถูกจัดให้เป็นหนึ่งในนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองหลายพรรค
ส่วนสาเหตุสำคัญที่นโยบายนี้ ได้รับความนิยมจากพรรคการเมือง ที่นำมาเป็นนโยบายในการหาเสียงเรียกคะแนนเลือกตั้ง คงหนีไม่พ้น ในช่วงปี 2565 ประเทศไทย ได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society)
ยืนยันจากความเห็นของ นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานสมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และรองประธานคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.) ที่ระบุไว้ชัดเจนว่า ปี 2565 ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) เป็นทางการแล้ว โดยสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) อธิบายตามการให้ความหมายของ United Nations World Population Ageing คือ สังคมไทยจะมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปที่อยู่จริงในพื้นที่ต่อประชากรทุกช่วงอายุในพื้นที่เดียวกันในอัตราร้อยละ 20 ซึ่งเป็นผลมาจากอัตราการเกิดที่น้อยลง
ซึ่งปัจจัยในเรื่องอายุเฉลี่ยของคนไทยที่ยืนยาวขึ้นและสัดส่วนของผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดภาระทางการเงินทั้งในด้านค่าบำรุงสุขภาพและการจัดสรรทรัพยากร เมื่อควบรวมกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันก็มีแนวโน้มว่าในอนาคตจะเกิดภาวะเงินเฟ้อที่รุนแรงขึ้น รวมไปถึงภาวะยากจนหลังวัยเกษียณ
"ปี 2565 เป็นปีที่ไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) แล้ว กล่าวคือมีผู้สูงวัยอายุ 60 ปีขึ้นไป เป็นสัดส่วนราว 20% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งประเทศไทยมีการเตรียมตัวเรื่องนี้มาอย่างยาวนาน โดยเราเริ่มตั้งแต่การประชุมสมัชชาโลกว่าด้วยผู้สูงอายุ ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ปี 2525 กระทั่งในปีเดียวกันเรามีแผนผู้สูงอายุระยะยาว 20 ปี และดำเนินการเรื่อยมาจนจะหมดแผนผู้สูงอายุระยะยาวฉบับที่ 2 แล้ว เรียกได้ว่าเราเตรียมการมานานเป็นเวลา 40 ปี ในช่วงเวลาระหว่างนั้น ได้มีการขับเคลื่อนเรื่องเบี้ยยังชีพของผู้สูงอายุมาตั้งแต่ปี 2534 เริ่มจ่ายเบี้ยยังชีพจริงราวปี 2535 โดยเริ่มจากคนยากไร้ ก่อนจะมีสวัสดิการแบบถ้วนหน้า และพัฒนามาเป็นแบบขั้นบันไดตามลำดับ"
"สำหรับผู้สูงอายุ เป็นเรื่องที่ทุกคนทุกกลุ่มให้ความสนใจ เพราะเป็นกลุ่มหนึ่งที่เป็นที่เคารพนับถือ สำหรับนโยบายที่จะขับเคลื่อนเพื่อดูแลผู้สูงอายุในปี 2565 ที่ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์นี้ ในฐานะที่ตนเองเป็นหนึ่งในคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายของผู้สูงอายุ จะยังคงส่งเสริมให้ผู้สูงอายุเป็นพลังสังคมให้มากที่สุด เพื่อให้พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน และลดการพึ่งพาผู้อื่น ซึ่งนี่เป็นหลักการสำคัญใหญ่ ๆ " นพ.วิชัย โชควิวัฒน ระบุ
ขณะที่ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้เผยผลลัพธ์จากการคำนวณบัญชีกระแสการโอนประชาชาติ (NTA) พบว่า ในการวางแผนการเงินของประชาชนสำหรับการใช้จ่ายตลอดช่วงวัยเพื่อให้สามารถดูแลเด็กวัยเรียน ดูแลคนแก่ และมีเงินเก็บส่วนหนึ่งสำหรับใช้จ่ายหลังเกษียณอายุไปจนถึงอายุ 90 ปี จะต้องมีเงินออมประมาณ 7.7 ล้านบาท ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือนเพื่อใช้ในการดูแลผู้สูงอายุหลังเกษียณไปแล้วจำนวน 3.1 ล้านบาท นับเป็นเงินจำนวนมหาศาลเมื่อเทียบกับรายได้ของแรงงานในประเทศไทย
นั่นหมายถึงรัฐบาลจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมในการรับมือค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเพื่อการใช้ชีวิตในช่วงบั้นปลายของประชาชน รวมทั้งต้องเร่งแก้ไขปัญหาค่าแรงและรายได้ขั้นต่ำอันเป็นสิทธิ์ที่ประชาชนพึงจะได้รับ
จากข้อมูลส่วนนี้ ชี้ให้เห็นว่า ผู้สูงอายุในประเทศไทย ดูเหมือนจะเป็นฐานเสียงสำคัญในการเลือกตั้ง ปี 66 ที่กำลังจะมาถึง แต่การคิดค้นนโยบายเพื่อเรียกความสนใจ จากบรรดาพรรคการเมืองหลายพรรคในขณะนี้ ก็ดูเหมือนจะมีความน่าเป็นห่วงอยู่ไม่ใช่น้อย โดยเฉพาะปัญหาภาระการคลัง และความยั่งยืน ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สำรวจรวบรวมนโยบายของพรรคการเมืองที่มีการหาเสียงเกี่ยวกับเบี้ยผู้สูงอายุ หรือบำนาญประชาชน หรือบำนาญแห่งชาติ หรือการปรับเบี้ยผู้สูงอายุ พบข้อมูลดังต่อไปนี้
1. พรรคไทยสร้างไทย เสนอ
- บำนาญประชาชน 3,000 บาท
2. พรรครวมไทยสร้างชาติ เสนอ
- ปรับเบี้ยผู้สูงอายุให้เท่ากันทุกช่วงอายุ 1,000 บาท/เดือน
3. พรรคก้าวไกล เสนอ
- เพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุเป็น 3,000 บาท ในปี 2570 ใช้งบประมาณ 4.2 แสนล้าน
4. พรรคเสรีรวมไทย เสนอ
- บำนาญประชาชน 3,000 บาท/เดือน
5. พรรคไทยศรีวิไลย์ เสนอ
- เบี้ยผู้สูงอายุ 5,000 บาท/เดือน
อ้างอิง www.naewna.com/politic/718784
6. พรรคพลังประชารัฐ เสนอ
- เพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุเพื่อสานต่อนโยบายสวัสดิการประชารัฐ โดยกำหนดเสนอแนวทางการเพิ่มเบี้ยยังชีพสำหรับผู้สูงอายุแบบขั้นบันได ตั้งแต่อายุ 60 ปี เพิ่มเป็นจำนวน 3,000 บาทต่อเดือน อายุ 70 ปี ขึ้นไป เพิ่มเป็นจำนวน 4,000 บาทต่อเดือน และอายุ 80 ปีขึ้นไป เพิ่มเป็นจำนวน 5,000 บาทต่อเดือน ซึ่งพรรคใช้แคมเปญ ‘เพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ 3 4 5 และ 6 7 8’
7. พรรคเสมอภาค เสนอ
- ร่างพ.ร.บ.สวัสดิการประชาชน เพื่อให้การดูแลช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเปราะบางทุกกลุ่ม ได้แก่ เด็กเยาวชน สตรี ผู้ใช้แรงงาน ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุ ผู้มีความหลากหลายทางเพศและชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่ม ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความเสมอภาคเท่าเทียม มีเกียรติมีศักดิ์ศรีตามหลักสิทธิมนุษยชน และจะผลักดัน ให้เด็กรับเงินอุดหนุนเดือนละ 3,000 บาท ผู้สูงอายุรับเดือนละ 3,000 บาท ผู้พิการรับเดือนละ 3,000 บาท มารดารับเดือนละ 2,000 บาท
8. พรรคประชาชาติ เสนอ
- ดูแลสวัสดิการผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป โดยการทำนโยบาย บำนาญ 3,000 บาทถ้วนหน้า
9. พรรคประชาธิปัตย์ เสนอ
- มีนโยบายเกี่ยวกับเบี้ยผู้สูงอายุแต่ยังไม่ระบุตัวเลข
อ้างอิง www.isranews.org
10. พรรคภูมิใจไทย เสนอ
- นโยบายกองทุนประกันชีวิต 60 ปีขึ้นไป
อ้างอิง www.naewna.com/politic/718784
เมื่อสืบค้นข้อมูล ในช่วงปี 2555-2566 พบว่า รัฐบาลจัดสรรงบเบี้ยผู้สูงอายุ ให้ อปท. กรุงเทพมหานคร (กทม.) และพัทยา ดังนี้
ปี 2555 รัฐบาลจัดสรรงบประมาณ 52,535.42 ล้านบาท
ปี 2556 รัฐบาลจัดสรรงบประมาณ 58,374.04 ล้านบาท
ปี 2557 รัฐบาลจัดสรรงบประมาณ 60,999.87 ล้านบาท
ปี 2558 รัฐบาลจัดสรรงบประมาณ 61,372.10 ล้านบาท
ปี 2559 รัฐบาลจัดสรรงบประมาณ 63,219.44 ล้านบาท
ปี 2560 รัฐบาลจัดสรรงบประมาณ 64,783.64 ล้านบาท
ปี 2561 รัฐบาลจัดสรรงบประมาณ 66,407.36 ล้านบาท
ปี 2562 รัฐบาลจัดสรรงบประมาณ 71,911.17 ล้านบาท
ปี 2563 รัฐบาลจัดสรรงบประมาณ 76,279.64 ล้านบาท
ปี 2564 รัฐบาลจัดสรรงบประมาณ 79,300.15 ล้านบาท
ปี 2565 รัฐบาลจัดสรรงบประมาณ 77,096.40 ล้านบาท
ปี 2566 รัฐบาลจัดสรรงบประมาณ 80,457.20 ล้านบาท
จากข้อมูลที่สืบค้นได้ จะเห็นว่างบประมาณที่รัฐบาลจัดสรรให้ผู้สูงอายุประมาณ 5.2 หมื่นล้าน -8 หมื่นล้านบาท ซึ่งแต่ละปีมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นจาก 6 ล้านคน จนกระทั่งปัจจุบันที่มีผู้สูงอายุประมาณ 12 ล้านคน
ขณะที่จากผลการศึกษา เรื่อง แนวทางการเสนอกฎหมายบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ ของคณะกรรมาธิการสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร ที่ศึกษาเกี่ยวกับการปรับเบี้ยผู้สูงอายุเป็น 3,000 บาท/เดือน ให้ผู้สูงอายุประมาณ 12 ล้านคน จะต้องใช้งบประมาณเริ่มต้น 4.3 แสนล้านบาท
แต่ถ้าหากปรับเป็น 5,000 บาท/เดือน ตามนโยบายของพรรคการเมืองบางพรรคจะต้องใช้งบประมาณมากกว่า 7.2 แสนล้านบาทต่อหนึ่งปีเลยทีเดียว
และดูเหมือนว่าเม็ดเงินจำนวนมหาศาลที่จะถูกใช้ไปกับนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองในเรื่องนี้ กำลังทำให้นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ กำลังมีความกังวลกับเรื่องนี้อยู่ไม่น้อย
ดังเช่น ความเห็นของ ดร.ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย คณะเศรษฐศาสตร์ และศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม มธ. ที่กล่าวในเวทีเสวนา ‘ระบบบำนาญแห่งชาติเพื่อความเป็นธรรมและยั่งยืน’ เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2566 ว่า ความไม่มั่นคงหลังเกษียณ ทำให้มีความต้องจัดทำระบบบำนาญแห่งชาติที่มีความเป็นธรรมและยั่งยืน เพื่อเป็นเครื่องคุ้มครองความยากจนให้กับผู้สูงอายุ
@ ดร.ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย คณะเศรษฐศาสตร์ และศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม มธ.
ดร.ทีปกร ยังได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศราว่า เรื่องการจัดทำบำนาญให้ผู้สูงอายุเป็นเรื่องเร่งด่วน ไม่จำเป็นต้องรออีกต่อไป เพราะมีข้อเสนอมากมาย อีกทั้งยังมีผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร ที่ศึกษาการจัดทำแนวทางการดำเนินการไว้เรียบร้อย
“อดีตเลขาสภาพัฒน์ฯ ท่านหนึ่งเคยพูดไว้ในที่ประชุมพม. บอกว่าต้องขอไปศึกษาก่อน ผมเลยทักท่านหน้าที่ประชุมแล้วบอกยังไม่ต้องศึกษาหรอก ต้องลงมือทำเลย เพราะเรื่องนี้เกี่ยวกับชีวิตคนที่ต้องการอยู่รอด นี่คือประเด็นสำคัญเพราะมันคือชีวิตคน ผมว่าควรผลักดันได้แล้ว พูดง่าย ๆ คือเรื่องนี้ค้างอยู่ที่คุณประยุทธ์ (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ) ค้างอยู่ที่ครม. รายงานฉบับนี้ค้างอยู่ตั้งแต่ พ.ค.ปีที่แล้ว จนป่านนี้ยังไม่เอาเข้าพิจารณา โดยครม. ประยุทธ์ ก็ตีตกไป 5 - 6 ฉบับ” ดร.ทีปกร กล่าว
@ นายนิมิตร์ เทียนอุดม ตัวแทนเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ
เช่นเดียวกับ นายนิมิตร์ เทียนอุดม ตัวแทนเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ที่ระบุว่า อยากให้ทำได้จริง อย่าเป็นนโยบายขายฝัน เรื่องของเบี้ยยังชีพเป็นเรื่องที่นักวิชาการบอกว่าไปละเมิดวินัยการเงินการคลังของประเทศ ก่อให้หนี้เป็นภาระของประเทศ ประเทศอาจจะยังไม่มีเงิน แต่เรื่องนี้เป็นความจำเป็นพื้นฐานของผู้สูงอายุที่ ‘จนก่อนแก่’ ฉะนั้นชีวิตจะดีขึ้นได้ต้องเป็นรัฐสวัสดิการ รัฐสวัสดิการจะเกิดขึ้นได้จากเจตจำนงของรัฐที่ต้องการจะจัดให้กับประชาชน ถ้าพรรคการเมืองมีนโยบายนี้แล้วได้เข้าไปเป็นรัฐบาลและมีเจตนาที่จะทำจริง ๆ ก็น่าจะทำได้ เช่น ปรับลดงบประมาณที่ไม่จำเป็น หรือการปรับภาษี หรือเพิ่มสัดส่วนของงบประมาณ เพื่อมาใช้กับรัฐสวัสดิการ
“มันทำได้ถ้ารัฐบาลอยากทำ ประเด็นสำคัญ คือ พรรคการเมืองที่ออกนโยบายมาเช่นนี้จะต้องจริงใจกับประชาชน ต้องทำจริง ๆ ไม่ใช่มาหลอก ทำเป็นเหมือนว่าจะทำ เพราะประชาชนก็มีบทเรียนเมื่อปี 62 ที่พรรคพลังประชารัฐมีนโยบายเรื่องนี้ พรรคประชาธิปัตย์ก็พูด เสรีรวมไทยก็พูด หลายพรรคการเมืองพูดแต่ไม่ได้ทำ ถ้าพรรคการเมืองเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญแล้วจำเป็นจริง ๆ เป็นประโยชน์กับประชาชนต้องออกมาประกาศ แล้วก็ต้องอธิบายว่าจำเป็นต้องทำแบบนี้ ทำแบบไหน ทำได้ยังไง ต้องอธิบายเพื่อให้เห็นว่าเขาเอาจริงเรื่องนี้” นายนิมิตร์ ระบุ
@ ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)
ขณะที่ ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า ถามว่านโยบายแบบนี้ทำได้หรือไม่ คำตอบ คือ ทำได้ เพราะภาครัฐสามารถกู้มาได้เรื่อย ๆ ถ้ากู้จนเต็มเพดานที่กฎหมายกำหนดก็สามารถยกกรอบเพดานขึ้นได้ ถ้าเราตีว่าจะต้องจ่ายเงิน 3,000 บาท กับผู้สูงอายุในปัจจุบันที่มีจำนวน 12 ล้านคน เท่ากับต้องจ่ายเงิน 36,000 ล้านต่อเดือน ถ้าเป็นต่อปีก็ประมาณเกือบ 4 แสนล้านบาทต่อปี แต่ถ้าผ่านไปอีก 5 - 10 ปี ข้างหน้า ผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นเป็น 20 ล้านคน ฉะนั้นผู้สูงอายุ 20 ล้านคนได้รับเงินจากรัฐคนละ 3,000 บาทต่อเดือนก็จะเป็น 60,000 ล้านบาทต่อเดือน ก็จะเป็น 7.2 แสนล้านบาทต่อปี ตัวเลขพวกนี้ถามว่าจะสามารถกู้ได้หรือไม่ ก็ถ้ากู้ก็กู้ได้แต่ต้องเพิ่มเพดานไปเรื่อย ๆ แต่จะเป็นภาระด้านการคลัง พอถามต่อว่าแล้วพรรคการเมืองเหล่านี้ทำอย่างไร ก็จะพรรคการเมืองที่ไม่ได้บอกวิธีอะไรก็คือใช้วิธีการกู้ต่อไปเรื่อย ๆ แต่มีข้อเสียคือรัฐจะมีหนี้เยอะ พอรัฐมีหนี้เยอะรัฐก็ไม่สามารถกู้เงินไปใช้ทำอย่างอื่นได้
“การที่คุณใช้เงินอย่างหนึ่งก็แปลว่าคุณสูญเสียโอกาสที่จะทำอย่างอื่น เช่น คุณอาจจะไม่สามารถเอาเงินมาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานได้ ส่วนใหญ่ก็จะไปกระทบกับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ แล้วจะแย่ลง นี่คือฝ่ายที่เขาไม่คิดที่จะหาเงินเลย ก็คือใช้อย่างเดียว”
"มีอีกกลุ่มหนึ่งคือ ที่ใช้วิธีพยายามเก็บภาษีจากคนรวย วิธีการนี้ตนคิดว่าเป็นเส้นทางที่ดี เพราะคนรวยบางคนก็ได้รับอภิสิทธิ์พิเศษมากกว่า บางคนก็มาจากการขูดรีดจากค่าแรง ฉะนั้นการเก็บจากคนรวยมาช่วยคนจนเป็นเส้นทางที่ควรจะทำ โดยเฉพาะภาษีที่ดิน ซึ่งตรงนี้จะช่วยลดปัญหาจากการกู้ไปได้ อีกวิธีหนึ่ง คือ การเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เนื่องจากเรามีการช่วยคนจน มีการให้สวัสดิการผู้สูงอายุ วิธีการนี้ก็คล้ายกับวิธีการเก็บภาษีคนรวย เพราะฉะนั้นคนจนจะได้รับเงินอุดหนุน สิ่งที่เสนอ คือ ไม่ได้เก็บแล้วเอาเงินไปไว้ที่กองกลาง แต่เอาเงินมาใส่ไว้ในสวัสดิการถ้วนหน้าหรือเบี้ยผู้สูงอายุ ซึ่งวิธีเหล่านี้จะช่วยลดเรื่องการกู้เงินเพียงอย่างเดียว"
ดร.นณริฏ กล่าวต่อว่า แล้วเรื่องนี้ควรทำหรือไม่ ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าเงิน 3,000 บาทมาจากหลักคิดที่ผู้สูงอายุที่ไม่มีการเตรียมความพร้อม ต้องการเงินอย่างน้อยเท่าไรจึงจะสามารถมีชีวิตอยู่รอดได้ คำตอบ คือ 3,000 บาทต่อเดือนโดยประมาณ
“คำถาม คือ ถ้าเราใช้นโยบายลักษณะนี้จะเหมาะสมกับทุกคนหรือไม่ เช่น การจะให้คนอายุ 60 ในตอนนี้เตรียมพร้อมก็คงทำไม่ได้ แต่ 5 ปี ข้างหน้า ที่คนอายุ 55 ปีในตอนนี้มีเวลา 5 ปีที่จะเตรียมตัวเข้าสู่สังคมสูงวัย หรือคนอายุ 50 มีเวลา 10 ปี ทำไมเราไม่พยายามที่จะคิดระบบที่เป็น co-pay ให้คนกลุ่มนี้เริ่มที่จะเตรียมตัวบ้าง เพื่อจะได้ไม่ภาระทางด้านการคลัง”
"ดังนั้นในแง่ความเหมาะสม ควรจะช่วยเหลือคนที่ช่วยตนเองไม่ไหว เช่น คนอายุ 60 ปี เป็นต้น แต่ถ้าอีก 5 ปีข้างหน้าค่อย ๆ ลงจำนวนเงินลงได้หรือไม่ อย่าให้ 3,000 ไปตลอด ไม่เช่นนั้นจะเป็นการส่งสัญญาณว่าประชาชนไม่ต้องเตรียมความพร้อมต่อการเข้าสู่สังคมสูงวัย "
“เราอายุ 50 45 40 ไม่ต้องทำอะไรเลย เพราะฉะนั้นควรมีการแยกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่จะช่วย 3,000 บาทก็ช่วยไป แต่กลุ่มในอนาคตขอให้เปลี่ยนเป็นระบบ co-pay มาสร้างระบบสวัสดิการที่ร่วมจ่ายกันจะดีกว่า ซึ่งระบบ co-pay คือ ระบบที่รัฐสมบทเอกชนสมทบ พอเกษียณจะได้มีเงินพอ ก็คือคุณต้องออมด้วย ไม่ใช่รอให้รัฐแจก 3,000 เพียงอย่างเดียว แต่เริ่มออมตั้งแต่ตอนนี้เลย 5%-10% ต้องเป็นการออมภาคบังคับ” ดร.นณริฏกล่าว
้เหล่านี้ คือ ข้อสังเกตและความห่วงใย เกี่ยวกับนโยบายบำนาญหรือเบี้ยผู้สูงอายุ ของพรรคการเมืองหลายแห่ง ที่กำลังถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือหาเสียงเลือกตั้งอยู่ในขณะนี้ ส่วนการจะปรับเบี้ยเพิ่มขึ้นหรือมีบำนาญแห่งชาตินั้นทำได้จริงมากน้อยแค่ไหน
ต้องติดตามดูกันต่อไป