‘สอบ.-เครือข่ายภาคประชาชน-นักวิชาการ’ เดินหน้าผลักดัน ‘บำนาญถ้วนหน้า’ จ่ายเบี้ยยังชีพให้ผู้สูงอายุ เดือนละ 3,000 บาท ยันรัฐบาลมีเงินเพียงพอ แต่ต้องปฏิรูประบบงบประมาณใหม่ พร้อมแนะยกเลิกลดหย่อนภาษีให้ ‘คนรวย-นายทุน-เจ้าสัว’
.......................................
เมื่อวันที่ 12 ม.ค. สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายฯ และนักวิชาการ จัดแถลงข่าวในหัวข้อ ‘ร่วมผลักดันบำนาญถ้วนหน้า สู่นโยบายสำคัญพรรคการเมือง’ เรียกร้องให้ภาคประชาชนและพรรคการเมืองร่วมกันผลักดันนโยบายบำนาญถ้วนหน้า โดยการจัดให้มี ‘บำนาญถ้วนหน้า’ สำหรับผู้สูงอายุทุกคน เดือนละ 3,000 บาท จากปัจจุบันที่ผู้สูงอายุได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเดือนละ 600 บาท ซึ่งไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ
ดร.ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เรื่องการจัดให้มีบำนาญถ้วนหน้าแก่ผู้สูงอายุนั้น ไม่ได้มีเพียงภาคประชาชนเท่านั้นที่เห็นด้วย แต่นักวิชาการจำนวนไม่น้อยก็เห็นด้วยกับเรื่องนี้ แม้แต่ภาคการเมืองก็สนับสนุน ขณะที่ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา มีนักเศรษฐศาสตร์หลายคนได้เสนอกลไกที่จะทำให้รัฐมีงบประมาณมาจ่ายในเรื่องบำนาญถ้วนหน้าด้วย แต่ที่เรื่องนี้ไม่เกิดขึ้นได้จริง เนื่องจากหน่วยงานราชการให้ความเห็นว่า เป็นภาระงบประมาณ ทั้งที่น่าจะมีข้าราชการจำนวนไม่น้อยที่เห็นด้วยกับการสวัสดิการตรงนี้ เพราะคนไทยจะได้ประโยชน์
“เรื่องบำนาญถ้วนหน้าในภาควิชาการเราคุยกันมาจะ 15 ปีแล้ว แต่ที่ยังติดขัดอยู่ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะข้าราชการ” ดร.ทีปกร กล่าว และว่า “ทำไมประชาชนจะได้บำนาญเท่าข้าราชการไม่ได้ แล้วทำไมเราถึงให้บำนาญข้าราชการสูงกว่าเอกชนที่ต้องจ่ายค่าประกันสังคมด้วย…เราควรมาเพิ่มเบี้ยยังชีพให้ผู้สูงอายุ เพิ่มบำนาญให้ประชาชนทุกคนดีกว่าไหม กรุณาอย่าขัดขวางเลย และเราก็ไม่ได้ไปลดบำนาญข้าราชการ เพียงแต่ทำให้ความเหลื่อมล้ำลดลงเท่านั้น”
ดร.ทีปกร ยืนยันว่า แหล่งเงินงบประมาณที่จะนำมาสนับสนุนการจัดทำระบบบำนาญถ้วนหน้านั้น มีอยู่แล้ว แต่ต้องมีการปฏิรูประบบงบประมาณ โดยนำเงินที่เอาไปใช้จ่ายกันอย่างเละๆ และไม่มีประโยชน์ต่อประชาชน มาทำตรงนี้ นอกจากนี้ ภาครัฐควรยกเลิกการลดหย่อนภาษีให้กับคนรวย และยกเลิกการลดหย่อนภาษีบีไอไอ ซึ่งแต่ละปีทำให้รัฐสูญเสียรายได้เป็นแสนล้านบาท รวมทั้งต้องจัดการให้มีการจัดเก็บภาษีทรัพย์สินให้มากขึ้น
“ควรจะต้องยกเลิกการลดหย่อนภาษีคนรวย เพราะมีหลักฐานเชิงประจักษ์แล้วว่า คนที่ได้รับยกเว้นภาษี คือ คนรวยที่อยู่ยอดบนสุด 20% เท่านั้น หรืออย่างบีโอไอที่เราไปหักลดหย่อนภาษีให้ปีละเป็นแสนล้าน ถามว่าเราไปยกเว้นภาษีให้พวกเจ้าสัว นายทุนทำไม แล้วทำไม SME ถึงไม่ได้ด้วย และประเด็นสุดท้าย เราต้องใช้เครื่องมือทางการคลังในการจัดสรรทรัพยากรฯ คือ คนมีมากจ่ายมาก คนมีน้อยจ่ายน้อย แล้วต้องไปเก็บภาษีทรัพย์สินให้มากขึ้น” ดร.ทีปกร กล่าว
ดร.ทีปกร ย้ำว่า การทำให้ประชาชนมีบำนาญถ้วนหน้าเดือนละ 3,000 บาท เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ และยังสามารถทำให้ประชาชนมีบำนาญฯไปถึงเดือนละ 6,000 บาท ได้ แต่คนที่อยากได้เดือนละ 6,000 บาท ต้องออม โดยมีรัฐบาลเป็นผู้สมทบเหมือนกับในประเทศพัฒนาแล้ว เช่น ยุโรป และญี่ปุ่น และหากจะว่าไปแล้วเงินบำนาญถ้วนหน้าที่ประชาชนได้รับเดือนละ 3,000 บาท ในระยะยาวแล้วยังน้อยกว่าข้าราชการอีก
ดร.ทีปกร ยังกล่าวด้วยว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา คนที่รวยที่สุด 50 ตระกูล รวยขึ้นปีละ 20-30% มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้น 6-8 เท่า และรวยเพิ่มขึ้นจาก 10% ของจีดีพี เป็น 1 ใน 3 ของจีดีพีประเทศ โดยเฉพาะในช่วงเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ปีแรก คนไทยทั่วประเทศแทบจะกระอักเลือด แต่มีบางตระกูลรวยขึ้น 1 แสนล้านบาท ภายในปีเดียว ก่อนจะถูกแซงไปโดยคนที่รวยมาจากการได้รับสัมปทานผลิตไฟฟ้าให้ กฟผ. ซึ่งสิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำ
นางหนูเกณ อินทจันทร์ ตัวแทนผู้สูงอายุ เครือข่ายสลัมสี่ภาค กล่าวว่า ที่ผ่านมาการผลักดันเรื่องบำนาญถ้วนหน้าเดือนละ 3,000 บาท ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะมีรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร และแม้ว่าจะได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว แต่ก็มีทหารอยู่ อีกทั้งเวลาที่ประชาชนไปถามข้าราชการเกี่ยวกับเรื่องบำนาญถ้วนหน้า ข้าราชการก็จะบอกว่าจะเงินที่ไหนมาจ่าย หรือไม่ก็บอกว่า หากทำเช่นนั้นประเทศชาติคงล่มจม ทำให้ประชาชนอย่างเรารู้สึกเจ็บปวด
“ตัวเองเป็นข้าราชการ มีเงินเดือนเยอะ และสวัสดิการก็ดีกว่าประชาชน แต่ไม่คิดอะไรที่ก้าวหน้า และอย่าลืมว่าตอนที่พวกเรายังหนุ่มยังสาว เราเป็นคนที่สร้างรายได้ให้กับประเทศ เมื่อเราอายุ 60 ปี รัฐก็ต้องดูแล” นางหนูเกณ ระบุ
นางหนูเกณ กล่าวว่า ทุกวันนี้ผู้สูงอายุได้รับเบี้ยยังชีพคนละ 600-900 บาท/เดือน แต่เบี้ยยังชีพดังกล่าวไม่เพียงพอที่จะทำให้ผู้สูงอายุอยู่ได้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียว และหากเป็นผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพ ซึ่งต้องเดินทางไปหาหมอด้วยแล้ว เงินที่ได้รับยิ่งไม่เพียงพอ ดังนั้น ตนเห็นว่ารัฐบาลควรต้องจัดให้มีบำนาญถ้วนหน้าให้แก่ผู้สูงอายุ เดือนละ 3,000 บาท หรือคิดเป็นวันละ 100 บาท เพื่อให้ผู้สูงอายุบางคนมีเงินซื้อข้าวและอาหารแห้งได้
นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ระบุว่า การจัดสวัสดิการ การมีบำนาญถ้วนหน้า หรือการสร้างหลักประกันรายได้สำหรับผู้สูงอายุนั้น เป็นเรื่องใหญ่ที่ยาก และมีความซับซ้อน จึงจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย เช่นเดียวกันตอนที่มีการผลักดันในเรื่องระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทั้งนี้ ในการผลักดันเรื่องดังกล่าว สช. พร้อมที่จะเข้ามาทำหน้าที่รวมพลังภาคส่วนต่างๆมาเจอกัน เพื่อให้กลายเป็นนโยบายทางเมืองต่อไป
นายนิมิตร์ เทียนอุดม เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ กล่าวว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้เรายังผลักดันเรื่องบำนาญถ้วนหน้าไม่สำเร็จ เพราะประเทศไทยถูกครอบงำโดยรัฐราชการ รัฐทหาร และรัฐเผด็จการ ซึ่งหากประเทศเป็นประชาธิปไตยแล้ว ตนเชื่อว่าเราจะทำเรื่องบำนาญถ้วนหน้าสำเร็จ เพราะนักวิชาการบอกว่าทำได้ ส่วนภาคประชาชน ซึ่งเป็นผู้เผชิญกับปัญหาและเป็นผู้เสียภาษีก็บอกว่าควรทำได้แล้ว
“ตั้งแต่ คสช.มา การบริหารประเทศดำเนินการโดยราชการ พอมีการเลือกตั้งก็ยังไม่ได้เป็นประชาธิปไตย เพราะยังถูกกลไกที่สืบเนื่องต่อเนื่องมาคุมอำนาจอยู่ ขณะที่การบริหารถูกคุมโดยราชการที่ป้อนข้อมูลต่างๆ แล้วยังไปเจอกับรัฐธรรมนูญที่เขียนกันไว้ว่า ต้องมีวินัยการเงินการคลังต่างๆ ตรงนี้เป็นอุปสรรคที่ทำให้การเคลื่อนเรื่องนี้ไม่สำเร็จ ถ้าเราเลือกตั้งแล้ว ฝ่ายประชาธิปไตยชนะเลือกตั้งมโหฬาร อันนี้น่าจะจบได้แล้ว” นายนิมิตร์ กล่าว
นายนิมิตร์ กล่าวว่า เพื่อผลักดันให้บำนาญถ้วนหน้าเกิดขึ้นได้จริง ในช่วงที่พรรคการเมืองต่างๆกำลังจะหาเสียงเลือกตั้ง ทางเครือข่ายฯ ได้ทำแคมเปญว่า ให้เลือกผู้แทนที่พร้อมทำเรื่องบำนาญถ้วนหน้า พร้อมทั้งจะส่งคนไปในทุกเวทีที่มีการหาเสียงเพื่อถามว่าพรรคการเมืองนั้นๆ มีนโยบายเรื่องบำนาญถ้วนหน้าเดือนละ 3,000 บาท หรือไม่ รวมถึงจะทำจดหมายไปถึงพรรคการเมืองแต่ละพรรคว่ามีนโยบายในเรื่องนี้อย่างไร
“ถ้าจะดันเรื่องนี้ต่อ ต้องทำในจังหวะของการหาเสียง และถ้าเราจะเป็นประชาธิปไตยจริงๆ แล้วจะผลักดันเรื่องบำนาญให้เกิดขึ้นจริงๆให้ได้ สิ่งที่ประชาชนต้องทำ คือ ประชาชนจะต้องออกคำสั่งให้นักการเมืองหรือพรรคการเมืองทำเรื่องนี้ ซึ่งการออกคำสั่งได้ ก็คือ การเข้าคูหาเลือกพรรคที่มีนโยบายและประเมินแล้วว่า จะทำจริง” นายนิมิตร์ กล่าว
น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า การผลักดันเรื่องบำนาญถ้วนหน้าให้สำเร็จนั้น ไม่ได้ต่างอะไรกับการทำเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า คือ ต้องมีหลายภาคส่วนเข้ามาร่วมสนับสนุน เช่น ภาคประชาชน และหากถามว่าเรามีเงินพอที่จะมาทำเรื่องนี้หรือไม่ ภาคประชาชนยืนยันชัดเจนว่า มีแน่นอน และทำได้ ซึ่งที่ผ่านมา สอบ.ได้ให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทำวิจัยว่า แหล่งเงินที่จะนำมาทำเรื่องนี้จะมาจากแหล่งใดบ้าง
“เราขอให้จุฬาฯทำวิจัย ว่า มีแหล่งเงินที่เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ว่า สามารถเอาทำเรื่องระบบบำนาญถ้วนหน้า จะเอามาจากไหนได้บ้าง ซึ่งน่าจะได้เห็นร่างรายงานได้ในช่วงเดือน ก.พ.นี้ และในขณะที่บางคนคิดว่าเรื่องบำนาญถ้วนหน้าเป็นภาระ แต่เงินที่เป็นบำนาญเหล่านี้สุดท้ายก็จะนำกลับมาใช้จ่าย และทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน อีกทั้งการสนับสนุนให้เกิดบำนาญถ้วนหน้า จะช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำได้จริง” น.ส.สารี กล่าว
อ่านประกอบ :
จาก'สงเคราะห์'สู่'สวัสดิการ' เพิ่ม'เบี้ยผู้สูงอายุ' 3 พันบาท ทางเลือกที่รัฐบาลทำได้?
ครม.อนุมัติ 8.3 พันล้าน เพิ่มเบี้ยยังชีพคนชรา 100-250 บาท 6 เดือน
ผลวิจัยฯชี้เพิ่ม‘เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ’เป็น 3 พันบาท/ด. ต้นทุนเทียบเท่าขึ้นแวต 16.9%
รมว.พม.รับข้อเสนอเครือข่ายประชาชน พัฒนา 'เบี้ยผู้สูงอายุ' เป็นระบบบำนาญ