เว็บไซต์รัฐสภา แพร่สถานะ ‘ร่าง พ.ร.บ.บำนาญประชาชน’ 3 ฉบับ พบ ‘นายกฯไม่รับรอง’ ขณะที่ ‘เครือข่ายภาคปชช.’ ไม่แปลกใจ เพราะรัฐบาลมุ่งแจก ‘เงินหมื่น’ ตามนโยบายหาเสียง
.................................
จากกรณีที่เว็บไซต์รัฐสภาได้เผยแพร่ข้อมูลสถานะของร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการมีบำนาญประชาชนอย่างน้อย 3 ฉบับ จากทั้งหมด 4 ฉบับ ประกอบด้วย ร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติและสวัสดิการผู้สูงอายุ พ.ศ. .... เสนอโดยคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ ,ร่าง พ.ร.บ.บำนาญพื้นฐานถ้วนหน้าฯ เสนอโดยนายเซีย จำปาทอง และร่าง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ. .... เสนอโดย นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ซึ่งเป็น ‘ร่างการเงิน’ ว่า มีสถานะ ‘นายกรัฐมนตรีไม่รับรอง’ นั้น
น.ส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ตัวแทนเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ หนึ่งในผู้ริเริ่มผลักดันให้รัฐจัดสวัสดิการในรูปแบบบำนาญประชาชน เพื่อสร้างหลักประกันด้านรายได้ให้กับผู้สูงอายุ กล่าวว่า ไม่แปลกใจกับผลที่ออกมาในครั้งนี้ เพราะรัฐบาลชุดนี้เพิ่งแจกเงินหมื่นให้ประชาชนตามนโยบายหาเสียง ย่อมไม่เอาบำนาญประชาชน เพราะไกลไป แต่ก็ทำให้ประชาชนที่สนับสนุนบำนาญประชาชนได้รู้ว่า เป้าหมายการเลือกตั้งครั้งหน้าจะต้องการรัฐบาลแบบใด
“รัฐบาลชุดนี้มีแนวโน้มจะทำหวยเกษียณ ซึ่งเข้าทางเอาหวยขึ้นบนดิน หากอยากจะทำอย่างนี้ อยากให้รัฐบาลคิดเพิ่มว่า หากอยากสร้างหลักประกันให้คนสูงวัยจริง ไม่จำเป็นต้องผูกกับพนัน แต่เอาเงินรายได้จากหวย ภาษีสรรพสามิตอื่นๆ รวมถึงภาษีมูลค่าเพิ่มบางส่วน มาเฉลี่ยให้เป็นบำนาญถ้วนหน้าก็สามารถลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้ทันที” น.ส.สุรีรัตน์ กล่าว
ด้าน นายสมวงศ์ อุไรวัฒนา ผู้สูงอายุซึ่งได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเดือนละ 600 บาท กล่าวว่า การที่นายกฯ ไม่ให้คำรับรองร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับบำนาญประชาชนทั้ง 3 ฉบับ เป็นสิ่งที่ไม่เหนือความคาดหมาย เพราะรัฐบาลไม่ได้มีเจตนารมณ์ในเรื่องสวัสดิการของประชาชนอยู่แล้ว รัฐบาลชุดนี้ไม่สนใจเรื่องของคุณภาพชีวิตประชาชน โดยเฉพาะคนที่คิดว่าไม่ได้สร้างผลผลิตให้กับประเทศ และมองว่าเป็นภาระงบประมาณ
“อย่าไปหวังกับรัฐบาลชุดนี้ทั้งชุด วิธีคิดเขามีวิธีเดียวคือกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างที่บอกว่าจะเพิ่มเบี้ยยังชีพเป็น 1,000 บาท ถามก่อนว่าจะได้เมื่อไหร่ ผู้สูงอายุควรนำมาเป็นบทเรียนว่า ควรเลือกรัฐบาลแบบนี้หรือไม่” สมวงศ์ กล่าว
สำหรับ ร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 3 ฉบับ รวมถึงร่าง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ พ.ศ. …. ที่เสนอโดย นายนิมิตร์ เทียนอุดม เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ มีหลักการสำคัญ คือ กำหนดให้รัฐจ่ายเงินบำนาญพื้นฐานรายเดือนให้บุคคลที่มีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป แบบถ้วนหน้า ในอัตราเงินบำนาญต้องไม่ต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจนตามเกณฑ์ที่กำหนดโดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี