"...การสร้างแรงจูงใจด้วยนโยบาย “บำนาญให้ประชาชน” ถ้วนหน้า เพื่อให้ประชาชนยินดีและเต็มใจเข้าสู่ระบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญที่จะขยายฐานภาษีอย่างกว้างขวางเพื่อเพิ่มรายได้เข้ารัฐ ตามที่ผู้เขียนเคยเสนอไว้ในตอนที่ 1 และ 2 แล้ว จะช่วยรองรับคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุที่กำลังเพิ่มขึ้น และแก้ปัญหาคนวัยทำงานให้สร้างครอบครัว กล้าที่จะมีลูก เมื่อเกิดความมั่นใจในความมั่นคงของครอบครัวในอนาคตด้วย..."
ผู้เขียนได้เสนอแนวคิดเรื่องบำนาญประชาชนไปแล้ว 2 ตอนเพื่อชี้ให้เห็นถึงแนวทางและความจำเป็นที่สังคมไทยควรเริ่มต้นได้แล้ว แค่เรื่องเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุยังไม่เพียงพอ ในตอนนี้ ผู้เขียนขอพูดในประเด็น “มายาคติเรื่องรัฐสวัสดิการ” ที่มักถูกหยิบยกเป็นข้ออ้างว่า ประเทศไทยยังไม่พร้อมที่จะมีรัฐสวัสดิการ
รัฐสวัสดิการทำให้คนขี้เกียจ
ตรรกะที่คนในสังคมมักพูดกันว่า คนที่ขยัน คนที่ทำงานหนักควรได้ผลอบแทนมากกว่านั่นเป็นเรื่องยุติธรรมอยู่แล้ว หากคนได้รับเงินฟรีๆ ได้รับสวัสดิการดีแบบฟรีๆ จะทำให้คนขี้เกียจทำงาน แต่ข้อมูลในประเทศหลายแห่งที่มีรัฐสวัสดิการที่ดีพิสูจน์แล้วว่า ไม่จริง เพราะในหลายประเทศที่มีสวัสดิการที่ดีอย่างเดนมาร์ก นอร์เวย์ สวีเดน ฟินแลนด์ ต่างสร้างนวัตกรรมและสร้างเศรษฐกิจให้เข้มแข็งได้ มองในทางกลับกัน เมื่อคนในสังคมมั่นใจว่ารัฐให้ความปลอดภัยและดูแลครอบครัวเขา เขากลับจะขยันมากขึ้น ยิ่งหากเราออกแบบให้เห็นว่าตราบใดที่เสียภาษีเต็มเม็ดเต็มหน่วย สวัสดิการจากรัฐจะเพิ่มพูนเป็นขั้นบันได ผู้เขียนเชื่อว่ายิ่งจะทำให้คนในสังคมขยันและไม่เลี่ยงจ่ายภาษี สำหรับประเทศไทย สวัสดิการที่ผู้ประกันตนได้รับจากระบบประกันสังคมก็มาจากแนวคิดนี้ เพียงแต่จำกัดเฉพาะลูกจ้างที่มีเงินเดือนประจำเท่านั้น จึงเป็นเพียงสวัสดิการเฉพาะกลุ่ม
รัฐสวัสดิการต้องมีความพร้อมทางเศรษฐกิจ
ตรรกะนี้นับเป็นตรรกะที่ล้าหลังมาก ชนชั้นนำในสังคมไทยอ้างสาเหตุนี้มาไม่น้อยกว่า 60 ปี ดร.ปรีดี พนมยงค์ผู้นำการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 เคยเสนอเรื่องรัฐสวัสดิการในเค้าโครงเศรษฐกิจแต่ถูกโยนทิ้งด้วยเหตุผลว่ามาจากแนวทางแบบคอมมิวนิสต์ มาในปี 2518 ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ได้เขียนบทความเรื่อง “ คุณภาพแห่งชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน ”เตือนสติสังคมว่าควรสร้างรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า ในปีถัดไปดร.ป๋วยต้องลี้ภัยการเมืองไปต่างประเทศด้วยข้อหาเป็นคอมมิวนิสต์อีกเช่นกัน
หากเราลองตั้งสติให้ดี การบริหารเศรษฐกิจเป็นเรื่องของการจัดสรรทรัพยากรให้มีประโยชน์สูงสุดและมีประสิทธิภาพ รัฐใช้เงินภาษีจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์นับหมื่นนับแสนล้านได้ รัฐสร้างหน่วยงานที่มีภารกิจซ้ำซ้อนมากมายโดยสิ้นเปลืองงบประมาณ เรามีนายพลในกระทรวงกลาโหมมากในระดับต้นๆของโลก ฯลฯ ผู้เขียนเห็นว่าขนาดเศรษฐกิจของประเทศไทยสามารถสร้างสวัสดิการสังคมแบบถ้วนหน้าได้ หากรัฐมองเรื่อง “คุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน” เป็นสิ่งสำคัญสูงสุด ทำไปทีละเรื่องทีละประเด็น แต่ต้องต่อเนื่องและไม่หยุดทำ
หากมองย้อนไปในหลายประเทศ ฟินแลนด์และสวีเดนก็เคยเป็นประเทศยากจนมาก่อน สหราชอาณาจักรและประเทศญี่ปุ่นต่างก็บอบช้ำทางเศรษฐกิจและสังคมจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 2484 – 2488 แต่หลังจากนั้นไม่นาน ก็สร้างระบบสวัสดิการสังคมในประเทศได้
คนต้องมีความรู้ก่อนจึงสร้างรัฐสวสดิการได้
ตรรกะนี้ยิ่งเพี้ยนหนักไปใหญ่ ความจริงแล้วการสร้างคนในชาติให้มีความรู้นับเป็นภารกิจของรัฐบาลและเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สมควรเป็นสวัสดิการจากรัฐ รัฐบาลทุกยุคสมัยทราบดีว่า เรามีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาอยู่มาก แม้ช่วงหนึ่งจะพยายามเพิ่มสถาบันการศึกษาในทุกระดับตั้งแต่เด็กเล็กจนถึงปริญญาตรี ตั้งกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา( กยศ.) มีโครงการนมโรงเรียนและอาหารกลางวันเป็นสวัสดิการแก่นักเรียน แต่เราก็พบปัญหาทับซ้อนปัญหา ความเป็นรัฐรวมศูนย์ ไม่กระจายอำนาจ ความอุ้ยอ้ายของกระทรวงศึกษาและระบบราชการ ระบบอุปถมภ์และปัญหาคอรัปชั่น ทำให้เราปรับตัวปรับหลักสูตรไม่ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของโลก ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เชื่องช้าไปทุกเรื่อง
พัฒนาการด้านสวัสดิการสังคมของไทย
หากเราได้อ่านบทความ “...จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ที่ดร.ป๋วยเคยเขียนไว้ รัฐควรสวัสดิการสังคมถ้วนหน้าให้คนในชาติตั้งแต่อยู่ในครรภ์จนตาย แม้รัฐบาลไทยจะริเริ่มช้าไปในสายตาผู้เขียน แต่ถือว่าได้ลงมือทำ ตามลำดับดังนี้
ปี 2533 เริ่มมีระบบประกันสังคม ในสมัยรัฐบาลพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัน โดยสมทบทุน 3 ฝ่ายคือนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาล จัดเป็นสวัสดิการเฉพาะกลุ่มคนทำงานมนุษย์เงินเดือน ซึ่งถือเป็นคนทำงานส่วนน้อย
ปี 2535 เริ่มมีโครงการนมโรงเรียนสำหรับนักเรียนทั่วประเทศ ในสมัยรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน จัดเป็นสวัสดิการเฉพาะนักเรียนที่อยู่ในระบบโรงเรียน
ปี 2536 เริ่มมีโครงการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในสมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย โดยระยะแรกเริ่มจากผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยและไม่มีผู้ดูแล ต่อมามีการพัฒนาเป็นสวัสดิการถ้วนหน้าในภายหลัง
ปี 2538 เริ่มตั้งกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา( กยศ.) เพื่อช่วยเยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ในสมัยรัฐบาลนายบรรหาญ ศิลปอาชาเพื่อเพิ่มโอกาสให้คนยากจนได้เข้าถึงการศึกษา และต่อมามีโครงการเรียนฟรีในปีเดียวกัน เพื่อลดภาระผู้ปกครอง
ปี 2545 เริ่มมีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าในชื่อโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร เป็นโครงการสวัสดิการถ้วนหน้าโครงการเดียวที่ครอบคลุมประชาชนไทยไม่ว่ายากดีมีจน
จะเห็นว่า ปี2535 แม้จะเพิ่งผ่านเหตุการณ์ทางการเมืองอย่างพฤษภาทมิฬ เราก็สามารถจัดสรรงบเพื่อสวัสดิการได้ ปี2540ที่ไทยประสบวิกฤตการณ์การเงิน”ต้มยำกุ้ง”ผ่านพ้นไปเพียง5ปีเราก็สามารถทำโครงการ”30บาทรักษาทุกโรค”ได้ และมีข้อน่าสังเกตว่า โครงการสวัสดิการเหล่านี้มักเกิดในรัฐบาลพลเรือนและนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งทั้งสิ้น
การสร้างแรงจูงใจด้วยนโยบาย “บำนาญให้ประชาชน” ถ้วนหน้า เพื่อให้ประชาชนยินดีและเต็มใจเข้าสู่ระบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญที่จะขยายฐานภาษีอย่างกว้างขวางเพื่อเพิ่มรายได้เข้ารัฐ ตามที่ผู้เขียนเคยเสนอไว้ในตอนที่ 1 และ 2 แล้ว จะช่วยรองรับคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุที่กำลังเพิ่มขึ้น และแก้ปัญหาคนวัยทำงานให้สร้างครอบครัว กล้าที่จะมีลูก เมื่อเกิดความมั่นใจในความมั่นคงของครอบครัวในอนาคตด้วย
รีบลงมือทำเถอะครับ เรากำลังช้าไปอีกแล้ว