กนง.มีมติ 6 ต่อ 1 คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.5% หลังเศรษฐกิจไทยขยายตัวตามคาด-เงินเฟ้อกลับสู่กรอบเป้าหมาย จับตาผลกระทบ ‘หนี้เสีย’
....................................
เมื่อวันที่ 21 ส.ค. นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ว่า คณะกรรมการฯ มีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.50 ต่อปี โดย 1 เสียง เห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี
เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวตามที่ประเมินไว้ จากการท่องเที่ยวและอุปสงค์ในประเทศ ขณะที่การส่งออกโดยรวมฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป สำหรับอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปลายปี 2567 กรรมการส่วนใหญ่เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจที่โน้มเข้าสู่ศักยภาพและการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงิน จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้
อย่างไรก็ดี ต้องติดตามผลกระทบของคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลงต่อภาวะการเงินและเศรษฐกิจโดยรวม ขณะที่กรรมการ 1 ท่าน เห็นว่าควรปรับลดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.25 ต่อปี เพื่อให้สอดคล้องกับศักยภาพทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่ำลงจากปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ชัดเจนขึ้น และจะมีส่วนช่วยบรรเทาภาระของลูกหนี้ได้บ้าง
เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ โดยมีแรงขับเคลื่อนสำคัญจากการท่องเที่ยวและอุปสงค์ในประเทศ แม้แรงส่งจากการบริโภคภาคเอกชนในระยะต่อไปจะชะลอลงบ้างหลังขยายตัวดีในช่วงก่อนหน้า ขณะที่การส่งออกสินค้าและภาคอุตสาหกรรมฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยการส่งออกสินค้าบางกลุ่มยังถูกกดดันจากปัจจัยเชิงโครงสร้างและความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง
ทั้งนี้ เศรษฐกิจในแต่ละภาคส่วนยังฟื้นตัวแตกต่างกันโดยรายได้แรงงานในภาคการผลิตและผู้ประกอบอาชีพอิสระมีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่ากลุ่มอื่น ในระยะต่อไป ต้องติดตามความเสี่ยงด้านต่ำจากการลงทุนและการบริโภคภาคเอกชน
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มปรับลดลงกว่าที่ประเมินไว้ โดยราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มชะลอลงตามผลผลิตที่ขยายตัวดีจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ส่งผลให้แนวโน้มราคาหมวดพลังงานและอาหารสดไม่เร่งสูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับอดีต ประกอบกับการแข่งขันที่สูงขึ้นจากสินค้านำเข้า
ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางยังอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับกรอบเป้าหมาย และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะทยอยกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปลายปี 2567 แต่ต้องติดตามการขยายมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ
ภาวะการเงินโดยรวมตึงตัวขึ้นบ้าง โดยตลาดการเงินเคลื่อนไหวผันผวนจากมุมมองผู้ร่วมตลาดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลัก อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์ สรอ. ปรับแข็งค่า ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยปรับลดลงตามการเคลื่อนไหวของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ
ด้านต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนผ่านธนาคารพาณิชย์และตลาดตราสารหนี้ยังทรงตัวใกล้เคียงเดิม สินเชื่อภาคธุรกิจโดยรวมทรงตัว โดยสินเชื่อในอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์หดตัวส่วนหนึ่งจากปัญหาเชิงโครงสร้าง
ขณะที่สินเชื่อ SMEs หดตัวจากความเสี่ยงด้านเครดิตที่สูงขึ้น ด้านสินเชื่อครัวเรือนชะลอลงและคุณภาพสินเชื่อปรับด้อยลง ส่วนหนึ่งจากความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนกลุ่มเปราะบางที่ปรับลดลงจากรายได้ที่ฟื้นตัวช้า คณะกรรมการฯ เห็นว่าควรติดตามผลกระทบของคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลงต่อต้นทุนการกู้ยืมและการขยายตัวของสินเชื่อในภาพรวม รวมถึงนัยต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
คณะกรรมการฯ ตระหนักถึงปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อของ SMEs จึงสนับสนุนมาตรการเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว เช่น มาตรการค้ำประกันสินเชื่อ รวมทั้งยังสนับสนุนนโยบายของ ธปท. ที่ให้สถาบันการเงินช่วยเหลือลูกหนี้ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุดและมีส่วนช่วยให้กระบวนการปรับลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ (debt deleveraging) เกิดขึ้นต่อเนื่อง
ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน กรรมการส่วนใหญ่เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันยังสอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ และเอื้อต่อการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว
อย่างไรก็ดี คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการของเศรษฐกิจและภาวะการเงินที่มีความเชื่อมโยงกัน โดยจะพิจารณานโยบายการเงินให้เหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า
@คาดจีดีพีไตรมาส 3/67 โต 3%-ทั้งปีขยายตัว 2.6%
นายปิติ กล่าวเพิ่มเติมว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/2567 ที่ขยายตัวได้ 2.3% นั้น เป็นตัวเลขเดียวกับที่ กนง.ได้ประเมินไว้ในการประชุมครั้งที่แล้ว ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 นั้น การขยายตัวทางเศรษฐกิจจะมีความสมดุลมากขึ้น โดยภาคการส่งออกสินค้าจะกลับมาเป็นบวก การบริโภคกาคเอกชนจะทยอยมีบทบาทน้อยลงเมื่อเทียบกับในช่วงก่อนหน้านี้ ซึ่งขยายตัวมากกว่าปกติ และภาคการท่องเที่ยวจะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป
“ในแง่ไตรมาสต่อไตรมาส แรงส่งในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 จะแผ่วกว่าครึ่งแรกของปี ส่วนตัวเลขปีต่อปีนั้น เนื่องจากฐานในช่วงครึ่งหลังของปีแล้วต่ำมาก ทำให้ตัวเลขปีต่อปี ค่อยๆเพิ่มขึ้น เรามองว่าไตรมาสที่ 3/2567 ก็จะใกล้เคียง 3% ไตรมาสที่ 4/2567 จะเป็น 3% แก่ๆใกล้เคียง 4% ทั้งหมดนี้ ถ้าบวกกันแล้ว จะหมายถึงตัวเลขทั้งปีที่โต 2.6% ตามที่เราประมาณการไว้ แต่แรงส่งไตรมาสต่อไตรมาสชะลอตัวลงในช่วงครึ่งหลังของปี” นายปิติ กล่าว
นายปิติ ระบุว่า แม้ว่าเศรษฐกิจไทยในภาพรวมยังขยายตัวได้ แต่มีความแตกต่างกันในภาพย่อย โดยภาคเศรษฐกิจที่ขยายตัวได้ค่อนข้างดี คือ ภาคการท่องเที่ยวและกิจกรรมในภาคบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ส่วนภาคที่ทรงตัว คือ ภาคเกษตร ภาคอสังหาริมทรัพย์ และภาคก่อสร้าง แต่ก็มีภาคการผลิตบางภาคที่ถูกกระทบจากการนำเข้าสินค้าจีน เช่น เฟอร์นิเจอร์ สิ่งทอ ในขณะที่ภาคเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวค่อนข้างล่าช้า คือ ภาคยานยนต์ และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์
“ในเช็กเตอร์ที่ยังฟื้นตัวไม่ดีนั้น บางเซ็กเตอร์ที่ฟื้นตัวช้า มาจากปัจจัยเชิงวัฏจักร แต่ก็เริ่มมีสัญญาณที่คลี่คลายลงบ้าง โดยสินค้าอิเล็กทรอนิกส์นำเข้าเพื่อส่งออกไปต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นแผงวงจร ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ เราเห็นสัญญาณการนำเข้าสินค้าของภาคเหล่านี้เริ่มกระเตื้องขึ้น ซึ่งหมายความว่าน่าจะมีคำสั่งมาแล้ว แล้วเราก็เห็นว่าวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของโลกเริ่มกลับมาเป็นบวกแล้ว รวมถึงดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมค่อยๆผงกหัวขึ้น” นายปิติ กล่าว
@‘เงินเฟ้อต่ำ’ไม่ได้สะท้อนความ‘อ่อนแอ’อุปสงค์
นายปิติ กล่าวว่า ในส่วนอัตราเงินเฟ้อในภาพรวมนั้น ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากที่ กนง.ได้มองไว้ในการประชุมครั้งแล้ว โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะทยอยฟื้นตัวกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปลายปี 2567 และในช่วงปลายปีหน้าคาดว่าจะอยู่ในระดับด้านต่ำของขอบล่าง ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อช่วงนี้อยู่ในระดับต่ำกว่าที่ประเมินไว้เล็กน้อย มาจากการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างของสินค้าบางหมวดหมู่
“มีปัจจัย global หรือโลก ที่ทำให้ราคาอาหารอยู่ในระดับต่ำ รวมถึงมีปัจจัยภายในประเทศด้วย แต่ประเด็นสำคัญ คือ ไม่ได้มีปัจจัยที่สะท้อนความอ่อนแอของอุปสงค์ และการจับจ่ายใช้สอยในประเทศ มันเป็นปัจจัยเฉพาะของสินค้า” นายปิติ กล่าวและย้ำว่า การนำเข้าสินค้าจากจีนที่มีราคาต่ำและต่ำมากในบางหมวด รวมถึงการนำเข้าเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อของไทยถูกกระทบไปโดยปริยาย ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องอุปสงค์ภายในประเทศแต่อย่างใด
นายปิติ ระบุด้วยว่า แม้ว่าการนำเข้าสินค้าราคาถูกจากจีน จะทำให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าในราคาถูกได้ แต่มีผลกระเชิงลบต่อภาคการผลิต และทำให้แข่งขันยากมาก ขณะเดียวกัน การที่เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำนั้น ครัวเรือนผู้มีรายได้น้อยจะมีภาระค่าครองชีพสูงกว่ากลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางและสูง เพราะครัวเรือนผู้มีรายได้น้อยจะมีสัดส่วนการใช้จ่ายในหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์สูงกว่ากลุ่มอื่นๆ นอกจากนี้ สินค้าที่มีราคาถูกจะมีการปรับราคามากกว่าสินค้าราคาแพงด้วย
“ในภาพรวมที่เงินเฟ้ออยูในระดับต่ำ มันไม่ได้หมายความว่าประชาชนไม่เดือดร้อน หรือไม่เผชิญกับภาวะราคาแพง และราคาก็อยู่ในระดับที่สูงเมื่อเทียบกับเมื่อก่อน ซึ่งคณะกรรมการฯ (กนง.) ก็ไม่อยากให้เงินเฟ้อสูงไปมากหรอก เพราะถือว่าเป็นภาระเพิ่มเติม อยากให้อยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ ยึดเหนี่ยวได้ดี ไม่สร้างภาระโดยรวมต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ นี่คือเป้าหมายหลักในแง่เงินเฟ้อ” นายปิติ กล่าว
@‘กนง.’จับตาคุณภาพ‘สินเชื่อ’หวั่นกระทบศก.ภาพรวม
นายปิติ กล่าวว่า สำหรับภาวะการเงินในภาพรวมนั้น สินเชื่อธุรกิจโดยรวมทรงตัว โดยสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ยังพอไปได้ แต่สินเชื่อธุรกิจ SMEs หดตัว ซึ่งภาพนี้เป็นมาระยะหนึ่งแล้ว อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาในแง่คุณภาพสินเชื่อ พบว่าคุณภาพสินเชื่อ โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ปรับตัวแย่ลงบ้าง ในขณะที่สินเชื่อครัวเรือนมีอัตราการขยายตัวที่ชะลอลง และคุณภาพสินเชื่อด้อยลง แต่ไม่ได้ก้าวกระโดด และยังคงเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้
“คณะกรรมการฯ จับตาค่อนข้างเยอะว่า คุณภาพสินเชื่อในระยะต่อไปจะเป็นอย่างไร โดยในเรื่องคุณภาพสินเชื่อนั้น ถ้าดูเฉพาะ NPL หรือหนี้เสีย จะพบว่ามีความสัมพันธ์กับเศรษฐกิจ ถ้าเศรษฐกิจไม่ดี ก็จะมีหนี้เสียเพิ่มขึ้น ซึ่งในช่วงโควิด เศรษฐกิจเราหดตัว แต่ NPL ไม่ได้เพิ่มขึ้น เพราะภาครัฐเข้ามาช่วยค่อนข้างเยอะ ทั้งภาคการคลังที่อัดฉีดเม็ดเงิน รวมถึงแบงก์พาณิชย์ที่แบกภาระค่อยช่วยปรับโครงสร้างหนี้ ช่วยเหลือลูกหนี้ไม่ให้เป็นหนี้เสีย...
คล้ายๆกับอมหนี้ ที่มีปัญหาเอาไว้ในช่วงโควิด และพยายามปรับโครงสร้าง พยายามช่วยเหลือไว้ ซึ่งช่วยไว้ได้ส่วนหนึ่ง แต่โดยธรรมชาติแล้ว มันจะค่อยๆออกมา ดังนั้น ส่วนหนึ่งของ NPL ที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปีที่แล้วจนถึงปัจจุบัน เป็นส่วนหนึ่งของการช่วยเหลือในช่วงโควิด ก็ช่วยได้ประมาณหนึ่ง แต่สุดท้ายก็คายออกมา ในแง่การมองตัวเลข NPL อยากให้มองด้วยว่า NPL ที่เกิดขึ้นใหม่ จริงๆแล้วมีส่วนหนึ่งที่มาจากคายมาจากยอดที่ช่วยเอาไว้ด้วย” นายปิติ กล่าว
นายปิติ ระบุว่า คณะกรรมการฯ จะติดตามอย่างใกล้ชิดว่า พัฒนาการของคุณภาพสินเชื่อในระยะต่อไป จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างไร เพราะคุณภาพสินเชื่อที่แย่ลง จะทำให้ผู้ปล่อยสินเชื่อหรือแบงก์พาณิชย์ระวังมากขึ้น เมื่อระมัดระวังมากขึ้น ก็จะทำให้กิจกรรมเศรษฐกิจชะลอลง และเมื่องบดุลหรือสถานะทางการเงินของผู้ประกอบการหรือประชาชนแย่ลง ก็จะทำให้คุณภาพสินเชื่อแย่ลง วนเป็นลูปและทำให้สถานการณ์โดยรวมชะลอลงได้ แต่ตรงนี้ยังไม่เกิดในไทย
@ให้น้ำหนัก‘ภายในประเทศ’ พิจารณาจุดยืนดอกเบี้ย
เมื่อถามว่า มีโอกาสจะได้เห็น กนง. ลดดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้หรือไม่ เนื่องจากเศรษฐกิจยังมีความเปราะบางอยู่ และยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับมาตรกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล นายปิติ กล่าวว่า คณะกรรมการฯ กำลังมองพัฒนาการของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า และแม้ว่าจะมีปัจจัยเฉพาะที่ทำให้การบริโภคเอกชนในช่วงที่ผ่านมาดิ่งลงบ้าง ทำให้ต้องดูว่าอุปสงค์ภายในประเทศมีแนวโน้มเป็นอย่างไร แต่ในภาพรวมแล้ว คณะกรรมการฯยังมองภาพเศรษฐกิจ ‘เหมือนเดิม’
“ในภาพรวม เรามองเศรษฐกิจเหมือนเดิม ในภาพใหญ่ ฟื้นตัวไปเรื่อยๆ และกลับสู่เทรนด์ในระยะครึ่งปีหน้า ตัวที่สอง ตัวเงินเฟ้อเอง ไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากรอบที่แล้ว และในระยะข้างหน้า ณ ตอนนี้ ก็ไม่ได้เป็นประเด็นมาก ถึงแม้เงินเฟ้ออาจจะอยู่ในระดับที่ต่ำหน่อยในระยะปีหน้า ซึ่งเป็นเหตุผลเฉพาะจากเทรนด์อาหารสด ไม่ได้เป็นเรื่องอุปสงค์ที่อ่อนแอ ตัวที่สาม ภาวะการเงิน อันนี้ต้องรอดูความชัดเจนในเรื่องพัฒนาการคุณภาพสินเชื่อ โดยเฉพาะครัวเรือน” นายปิติ กล่าว
ส่วนกรณีที่มีการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะลดดอกเบี้ยในปีนี้นั้น นายปิติ กล่าวว่า การพิจารณาดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. ไม่ได้อิงกับดอกเบี้ยสหรัฐมากขนาดนั้น โดยในช่วงที่ กนง.ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย กนง.ก็ขึ้นดอกเบี้ยตามหลังสหรัฐค่อนข้างมาก และขึ้นดอกเบี้ยน้อยกว่ามาก อย่างไรก็ดี ความชัดเจนของสหรัฐเกี่ยวกับแนวนโยบายในเรื่องดอกเบี้ยนั้น จะช่วยในเรื่องความนิ่งของตลาดการเงินโลก
“ปัจจัยหลักที่เรามอง คือ ภายในประเทศ ในเรื่องพัฒนาการภาวะการเงิน ที่มาเชื่อมโยงกับภาวะเศรษฐกิจว่า มันจะมีอะไรที่ต้องมาประเมินภาพใหม่หรือเปล่า ถ้ามีอะไรที่เป็นนัยยะ ที่ไม่ได้คาดคิดไว้ ก็มีสิทธิ์ที่เราอาจจะต้องมาดูเรื่องความเหมาะสมจุดยืนด้านนโยบาย แต่ถ้ายังเป็นแบบที่มองไว้ จุดยืนในปัจจุบันก็ใกล้เคียงกับ neutral หรือเป็นกลาง” นายปิติ ย้ำ
นายปิติ ยังย้ำว่า แม้ว่า กนง.จะประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะยังขยายตัวได้ที่ 2.6% แต่มีความเสี่ยงด้านต่ำ (downside risk) เพิ่มขึ้น จากความเสี่ยงต่างๆ เช่น อุปสงค์ภายในประเทศ การลงทุนภาคเอกชน การลงทุนและการใช้จ่ายภาครัฐ รวมทั้งพัฒนาการของคุณภาพสินเชื่อที่จะไปมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ซึ่งจะต้องติดตามดู
@ชี้'ค่าเงินบาท'เคลื่อนไหวทิศทางเดียวกับ‘ภูมิภาค’
ส่วนค่าเงินบาทที่แข็งค่ามาอยู่ที่ระดับ 34 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ นั้น นายปิติ กล่าวว่า หากเทียบค่าเงินของไทยกับค่าเงินในภูมิภาคและโลกแล้ว ค่าเงินบาทก็อยู่ในแนวเดียวกัน ซึ่งเป็นผลมาจากแนวนโยบายของสหรัฐในเรื่องดอกเบี้ย ที่คาดว่าเฟดจะลดเร็วขึ้นและลดมากกว่าที่คาด ทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง โดยก่อนหน้านี้ค่าเงินบาทอยู่ในขาอ่อนใกล้ 36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แต่ค่าเงินบาทในตอนนี้แทบไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากในช่วงต้นปีเลย
“เราใกล้เคียงกับ regional peer และส่วนใหญ่ของค่าเงินที่แข็งค่าขึ้นในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา...มาจากค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนลง จากการที่ตลาดปรับมุมมองว่าเฟดจะลดดอกเบี้ยเร็วขึ้น และมากกว่าที่คาดไว้ ส่วนปัจจัยเฉพาะของเราก็มีบ้าง คือ ทองมีราคาดี ทำให้มีการส่งออกทองค่อนข้างเยอะ และในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา มีความชัดเจนเรื่องรัฐบาล ก็ช่วยให้มีเสถียรภาพมากขึ้นบ้าง ตอนนี้ (ค่าเงินบาท) เคลื่อนไหวใกล้เคียงกับเพื่อนบ้าน มีเหตุมีผล” นายปิติกล่าว
เมื่อถามว่า สถานการณ์ทางการเมืองล่าสุดที่ได้นายกฯคนใหม่แล้ว และกำลังจัดตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะมีผลต่อภาพเศรษฐกิจอย่างไร นายปิติ กล่าวว่า การที่มีนายกฯ และ ครม.ใหม่ นั้น หากเป็นในเรื่องงบประมาณปี 2567 แล้ว ก็คงไม่มีผลกระทบอะไร เพราะงบประมาณผ่านไปแล้ว ยกเว้นจะเกิดปัญหานอกเหนือจากนี้ที่ทำให้จัดตั้ง ครม.ได้ช้า แต่ในภาพใหญ่ ก็คงไม่มีผลกระทบต่องบประมาณมากนัก
@รอความชัดเจนมาตรกระตุ้นเศรษฐกิจ‘รัฐบาลใหม่’
เมื่อถามว่า กนง.ได้มีการหารือกันถึงนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ที่อาจมีการปรับเปลี่ยนเป็นการจ่ายเงินสด หรือไม่ นายปิติ กล่าวว่า “ทุกครั้ง เรามีการคุยกันถึงมาตรการภาครัฐ มาตรการคลังโดยรวมทุกรอบอยู่แล้ว เป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญที่เราต้องพิจารณาดูตลอดเวลา และถ้าถามถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะดิจิทัลวอลเลต เราพยายามอัพเดตตลอดเวลาว่าจะเป็นอย่างไร และดูความชัดเจนในระยะข้างหน้าว่าเป็นอย่างไร
แต่ตอนนี้ยังต้องขอดูว่า ความชัดเจนของมาตรการกระตุ้นจะเปลี่ยนไปอย่างไร ส่วนที่เราเคยประเมินไว้ในคราวที่แล้ว และอัพเดตในรอบนี้ ถ้าเป็นเรื่องดิจิทัลวอลเลต ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นปีหน้า และอาจไม่ได้เยอะมาก เพราะลักษณะของโครงการ โดยเฉพาะถ้าไปเบียดงบจากการใช้จ่ายภาครัฐประเภทอื่น ก็จะทำให้ผลสุทธิต่อเศรษฐกิจไม่ได้เยอะมาก ถ้าเป็นดิจิทัลวอลเลตรูปแบบเดิม แต่ถ้ามีมาตรการกระตุ้นที่เปลี่ยนรูปแบบไป ต้องมาประเมินกันอีกรอบ”
เมื่อถามว่า หากรัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยการแจกเงินสดให้เฉพาะกลุ่มเปราะบาง จะมีส่วนช่วยเพิ่มการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนอย่างไร รวมทั้งจะมีผลต่อเงินเฟ้อมากน้อยเพียงใด นายปิติ กล่าวว่า “ถ้าเปลี่ยนรูปแบบ ไปให้กลุ่มเปราะบางที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น เรามองว่า ผลกระทบบาทต่อบาทจะเยอะกว่า เพราะกลุ่มคนเปราะบางจะมีการใช้จ่ายเงินก้อนนั้น เมื่อเทียบกับการไม่มีเงินก้อนนั้น สูงกว่า ผลต่อเศรษฐกิจย่อมสูงกว่าอยู่แล้ว
แต่นั่นก็มาพร้อมกับเม็ดเงินที่เล็กลงด้วย เพราะถ้าทอนเม็ดเงินลง และให้เฉพาะกลุ่มเปราะบาง แน่นอนว่ากลุ่มเปราะบางมีผลต่อเศรษฐกิจเยอะกว่า แต่คนอื่นๆที่ไม่ได้ไป ก็มีผลลบด้วย
ดังนั้น จึงต้องมาดูว่าขนาดเป็นอย่างไร ถ้าสเกลลดลงมามาก ผลกระทบสุทธิก็อาจจะน้อยกว่า แต่สุดท้ายแล้ว ถ้าเป็นเงินโอน คือ โอนให้ประชาชน ผลต่อเนื่อง หรือ multiplier ต่อเศรษฐกิจ จะมีจำกัด ไม่ได้สูงมาก เมื่อเทียบกับการที่รัฐบาลใช้จ่ายโดยตรงเอง ลงทุนด้วยตัวเอง หรือไปบริโภคด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นเหมือนการสร้างกำลังซื้อใหม่โดยทันที แต่ถ้าส่งให้คน ส่วนใหญ่แล้วก็จะต้องมีการลดทอนลงไป เช่น คนเอาไปออมบ้าง จึงทำให้แรงกระตุ้นน้อยกว่า”
อ่านประกอบ :
มติ 6 ต่อ 1! กนง.คงดอกเบี้ยนโยบาย 2.5% ชี้สอดคล้องการขยายตัวศก.-กังวล‘หนี้ครัวเรือน’สูง
มติ 5 ต่อ 2 เสียง! 'บอร์ด กนง.' เสียงแตก คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.5%-มอง GDP ปี 67 โต 2.6%
'นายกฯ'เรียกร้อง'ธปท.'นัดประชุม'กนง.'ก่อนกำหนด ถกลด'ดอกเบี้ย'หลังมีข้อมูลใหม่'สภาพัฒน์'
มติ 5 ต่อ 2! 'กนง.'เสียงแตก คงดอกเบี้ยนโยบาย 2.5%-หั่นคาดการณ์จีดีพีปี 67 โตไม่เกิน 3%
มติเอกฉันท์! กนง.คงดอกเบี้ยนโยบาย 2.5%-หั่นคาดการณ์จีดีพีปีนี้เหลือ 2.4%
3 กรรมการ'กนง.'ฝั่ง'แบงก์ชาติ' มองทิศทาง'ดอกเบี้ยนโยบาย' ท่ามกลาง'ปัจจัยเสี่ยง-แรงกดดัน'
เงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้น! กนง.มีมติเอกฉันท์ขึ้นดบ. 0.25% สู่ระดับ2.5%-มองGDPปีนี้โต 2.8%
สู่ระดับ 2.25%! 'กนง.'มีมติเอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ย 0.25%-มอง'เงินเฟ้อ'มีความเสี่ยงด้านสูง
มติเอกฉันท์! ‘กนง.’เคาะขึ้นดบ. 0.25% สู่ระดับ 2% มองเศรษฐกิจอาจโตเกินคาด-จับตาเงินเฟ้อ
มติเอกฉันท์! กนง.ขึ้นดอกเบี้ย 0.25%สู่ระดับ 1.75% สกัดเงินเฟ้อ-จับตาตลาดการเงินโลกผันผวน
มติเอกฉันท์! กนง.ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% สกัดเงินเฟ้อ-มองศก.ไทยฟื้นต่อเนื่อง แม้ส่งออกแผ่ว
กนง.มีมติเอกฉันท์ขึ้นดบ.นโยบาย 0.25% สู่ระดับ 1.25%-จับตาเศรษฐกิจโลกเสี่ยงชะลอกว่าคาด
มติเอกฉันท์! กนง.ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จับตา‘เงินบาท’ใกล้ชิด-มองจีดีพีปีนี้โต 3.3%
‘ผู้ว่าฯธปท.’ย้ำไม่จำเป็นต้อง‘รีบเร่ง’ขึ้นดอกเบี้ย-คาด‘เงินเฟ้อ’กลับสู่กรอบกลางปี 66
‘ผู้ว่าฯธปท.’ยันการขึ้นดอกเบี้ยของไทยไม่ได้ช้าไป-ชี้โอกาสเกิด Stagflation เป็นไปได้น้อย
ผู้ว่าฯธปท. : ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ‘ส่วนต่างดอกเบี้ย-ค่าเงิน-ทุนเคลื่อนย้าย-ทุนสำรอง’
กลับสู่ภาวะปกติ!‘ผู้ว่าฯธปท.’ชี้ไม่ได้ขึ้น‘ดอกเบี้ย’ทีเดียวแล้วจบ-คาดGDPไตรมาส 2 โต 3%