กนง.มีมติเอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 1.25% ต่อปี มองเศรษฐกิจไทยฟื้นต่อเนื่อง ปีนี้โต 3.2% ส่วนปีหน้า 3.7% ขณะที่ 'เงินเฟ้อทั่วไป' ปี 66 มีแนวโน้มสูงกว่าคาดการณ์ จับตาเศรษฐกิจโลกไม่แน่นอนสูง-เสี่ยงชะลอตัวกว่าคาด
.....................................
เมื่อวันที่ 30 พ.ย. นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ว่า คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 1.00 เป็นร้อยละ 1.25 ต่อปี โดยให้มีผลทันที
เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนจะยังเป็นแรงส่งสำคัญของเศรษฐกิจในระยะต่อไป และช่วยลดทอนผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2566 มีแนวโน้มสูงกว่าประมาณการครั้งก่อนจากราคาพลังงานในประเทศเป็นสำคัญ แต่จะยังคงโน้มลดลงและกลับสู่กรอบเป้าหมายในปี 2566 คณะกรรมการฯ เห็นว่าการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังเป็นแนวทางการดำเนินนโยบายที่สอดคล้องกับทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและแนวโน้มเงินเฟ้อ จึงเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี ในการประชุมครั้งนี้
เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ร้อยละ 3.2 3.7 และ 3.9 ในปี 2565 2566 และ 2567 ตามลำดับ ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวชัดเจนสะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ประกอบกับการบริโภคภาคเอกชนได้รับแรงสนับสนุนจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจรวมถึงการจ้างงานและรายได้แรงงานที่ปรับดีขึ้นและกระจายตัวทั่วถึงมากขึ้น โดยภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนจะเป็นแรงส่งสำคัญต่อเนื่องในปี 2566 และ 2567 แม้การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจะทำให้ภาคการส่งออกขยายตัวลดลง ส่งผลให้แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภาพรวมยังใกล้เคียงเดิม
อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนสูงและอาจชะลอตัวมากกว่าคาด และความต่อเนื่องของการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มอยู่ที่ร้อยละ 6.3 3.0 และ 2.1 ในปี 2565 2566 และ 2567 ตามลำดับ โดยผ่านจุดสูงสุดในไตรมาสที่ 3 ปี 2565 สำหรับปี 2566 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเทียบกับประมาณการครั้งก่อนจากการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าเป็นสำคัญ แต่จะยังคงโน้มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายภายในสิ้นปี
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ โดยจะทยอยลดลงอยู่ที่ร้อยละ 2.6 2.5 และ 2.0 ในปี 2565 2566 และ 2567 ตามลำดับ ด้านอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามความเสี่ยงเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการส่งผ่านต้นทุนที่อาจเพิ่มขึ้น และการปรับราคาพลังงานในประเทศที่ยังมีความไม่แน่นอน
ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ ธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนโดยรวมปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ฐานะการเงินของผู้ประกอบการ SMEs และครัวเรือนบางส่วนยังเปราะบางจากรายได้ที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ซึ่งจะทำให้อ่อนไหวต่อค่าครองชีพและภาระหนี้ที่สูงขึ้น คณะกรรมการฯ เห็นว่าควรดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเห็นความสำคัญของการมีมาตรการเฉพาะจุดและแนวทางแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนสำหรับกลุ่มเปราะบาง
ภาวะการเงินโดยรวมยังผ่อนคลาย ต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนทยอยปรับสูงขึ้นสอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่โดยรวมยังเอื้อต่อการระดมทุน โดยปริมาณสินเชื่อและการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ยังขยายตัว ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์ สรอ. เคลื่อนไหวผันผวนสูงจากทิศทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลักเป็นสำคัญ ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการในตลาดการเงินและความผันผวนในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด
ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่มีความเสี่ยงจากเงินเฟ้อที่ต้องติดตาม จึงเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเข้าสู่ระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ภายใต้ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจการเงินโลกที่สูงขึ้นในระยะข้างหน้า
หากแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อไทยเปลี่ยนไปจากที่ประเมินไว้ คณะกรรมการฯ พร้อมที่จะปรับขนาดและเงื่อนเวลาของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้เหมาะสมต่อไป
@ปรับคาดการณ์เงินเฟ้อทั่วไปปี 66 เป็น 3% เหตุราคาไฟฟ้าเพิ่ม
นายปิติ กล่าวเพิ่มเติมว่า เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณชัดเจนว่าจะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง จากภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา สูงกว่าประมาณการครั้งก่อนอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งจะช่วยลดทอนผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกได้ และคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับเข้าสู่ระดับก่อนโควิดในช่วงปลายปี 2565
“การเข้ามาของนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคเอเชียจะช่วยพยุงเศรษฐกิจต่อไปได้ เพราะเศรษฐกิจของเอเชียมีแนวโน้มดีกว่าประเทศเศรษฐกิจหลัก ดังนั้น การชะตัวของเศรษฐกิจโลกจึงกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวของเราไม่มากนัก ขณะที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีการกระจายตัว โดยเฉพาะภาคบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวที่มีการฟื้นตัวค่อนข้างเร็ว และรายได้ของกลุ่มแรงงานมีลักษณะทั่วถึงและแพร่กระจายมากขึ้น” นายปิติ กล่าว
นายปิติ ยังระบุว่า กนง.ได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2565 เหลือ 3.2% จากเดิม 3.3% และปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจปี 2566 เหลือ 3.7% จากเดิม 3.8% เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอลง โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐที่คาดว่าจะขยายตัว 0.5% และยุโรปที่คาดว่าจะขยายตัว 0.4% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวมากกว่า 1% จะทำให้การส่งออกไทยเติบโตน้อยกว่าที่คาดไว้เล็กน้อย ส่วนปี 2567 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ที่ 3.9%
"ดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2565 จะขาดดุลเพิ่มขึ้นเป็น 1.65 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสะท้อนถึงเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง และทำให้การส่งออกไทยไม่ดีเท่าที่คาดไว้ แต่เมื่อมองไปปีหน้า คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดน่าจะกลับมาเกินดุล พร้อมๆกับนักท่องเที่ยวที่กลับเข้ามา และในปี 2567 ไทยจะเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมากขึ้นไปอีก” นายปิติ กล่าว
สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว ตั้งแต่เดือน ส.ค.2565 และไตรมาส 3/2565 ที่ผ่านมา เพราะแรงกดดันด้านอุปทานมีแนวโน้มคลี่คลายลง โดยราคาน้ำมัน ก๊าซ และสินค้าโภคภัณฑ์มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง แต่ปัจจัยที่ทำให้ กนง.ต้องปรับคาดการณ์เงินเฟ้อทั่วไปในปี 2566 เป็น 3% จากเดิม 2.6% เนื่องจากจะมีการปรับขึ้นอัตราค่าไฟฟ้าในประเทศตามต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงไตรมาส 3/2566
“อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเราแทบไม่ได้ปรับจากครั้งที่แล้วเลย ซึ่งแสดงว่าแรงกดดันต่อเงินเฟ้อค่อนข้างคงที่ แต่เนื่องจากมีการปรับคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในหมวดพลังงานเพิ่มเป็น 9.9% จากเดิม 7.3% เราจึงต้องปรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2566 เพิ่มขึ้น ขณะที่ผลสำรวจเงินเฟ้อคาดการณ์ ซึ่งสำรวจจากนักวิเคราะห์ พบว่าค่อนข้างคงที่ ไม่ได้ปรับเปลี่ยนอะไรมากอย่างมีนัยยะ” นายปิติ กล่าว
นายปิติ ย้ำว่า “การเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2566 ไม่ได้เกี่ยวกับอุปสงค์ที่ร้อนแรง ไม่ได้เกี่ยวกับเศรษฐกิจที่จะฟื้นตัวเร็วกว่าคาด จนทำให้มีการจ้างงานเยอะมาก และสร้างแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ”
ส่วนภาวะการเงินในต่างประเทศที่มีความผันผวนมาก โดยเฉพาะค่าเงินนั้น พบว่าในภาพรวมแล้ว ส่งผลกระทบต่อภาวะการเงินในประเทศไทยค่อนข้างจำกัด และแม้ว่าอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทกับเงินดอลลาร์สหรัฐจะมีความผันผวนค่อนข้างมาก และในช่วงหลังค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น หลังจากเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง อีกทั้งเมื่อเทียบค่าเงินบาทของไทยกับค่าเงินของประเทศคู่ค้า ก็พบว่าค่าเงินแทบไม่ได้เปลี่ยนเท่าไหร่เลย จึงถือว่าค่าเงินบาทมีเสถียรภาพ
@กนง.จับตา 2 ปัจจัยเสี่ยง ‘เศรษฐกิจโลกชะลอ-การส่งผ่านต้นทุนฯ’
นายปิติ ระบุว่า การดำเนินนโยบายการเงินของ กนง. ยังคงมุ่งเน้นไปที่การทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังคงไปได้ โดยไม่สร้างแรงกดดันต่อเงินเฟ้อในอนาคต ซึ่งขณะนี้เงินเฟ้อได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วและมีแนวโน้มลดลง ขณะที่เสถียรภาพในระบบเศรษฐกิจมีแนวโน้มดีขึ้น จากการจ้างงานและรายได้มีการฟื้นตัวอย่างแพร่กระจายมากขึ้น แต่ยังมีกลุ่มเปราะบางที่ยังต้องจับตาอยู่ เพราะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นและอัตราดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้น
“เมื่อจุดแย่สุดของวิกฤติผ่านพ้นไปแล้ว ก็มีการค่อยๆถอนการสนับสนุนเศรษฐกิจในวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นมาตรการลด FIDF Fee และมาตรการ LTV ที่จะหมดสิ้นลงในสิ้นปีนี้ ส่วนมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูฯ จะมีไปถึงช่วงแรกของปีหน้า อย่างไรก็ดี ในส่วนมาตรการที่จะดูแลกลุ่มเปราะบาง เช่น มาตรการแก้หนี้ระยะยาวอย่างยั่งยืน จะมีการดำเนินการต่อไปทั้งปีหน้า ควบคู่ไปกับการถอนคันเร่งของนโยบายการเงินในระยะต่อไป” นายปิติ กล่าว
นายปิติ กล่าวว่า “การดำเนินนโยบายแบบค่อยเป็นค่อยไปเช่นที่ผ่านมา เป็นสิ่งที่เหมาะสมและควรดำเนินต่อไป แต่เมื่อมองไปข้างหน้า มี 2 ประเด็นที่ กนง. ให้ความสำคัญ คือ เรื่องแรก เศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอลงชัดเจนและมีความไม่แน่นอนสูง ทั้งประเทศเศรษฐกิจหลักที่มีการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายค่อนข้างเยอะ ทำให้เศรษฐกิจชะลอลง และมีเรื่องเศรษฐกิจจีนที่มีปัญหาภายในประเทศ โดยเฉพาะภาคอสังหาฯที่ยังไม่ได้สะสางปัญหาได้เต็มที่ รวมถึงการเปิดให้นักท่องเที่ยวออกมาด้วย และเรื่องที่สอง การส่งผ่านต้นทุนในประเทศจากสั่งสมในช่วงที่ผ่านมา และแนวนโยบายและมาตรการภาครัฐในการดูแลราคาพลังงานจะเป็นอย่างไร”
นายปิติ กล่าวด้วยว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. ในครั้งนี้ แน่นอนว่าจะทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องส่งผ่านต้นทุนไปยังผู้กู้ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์เองได้มีการส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไปบ้างแล้ว และเมื่อการลด FIDE Fee สิ้นสุดลงในปีนี้ ในปีหน้าธนาคารพาณิชย์จะมีการส่งผ่านต้นทุนในส่วนนี้ให้กับผู้กู้อีกเช่นกัน แต่มาตรการแก้หนี้ที่ ธปท. กำลังดำเนินการอยู่และจะดำเนินการต่อไปนั้น จะช่วยลดแรงกระแทกให้กลุ่มเปราะบางได้
@เศรษฐกิจเดือน ต.ค.ฟื้นตัวต่อเนื่อง-เกินดุลบัญชีเดินสะพัดต่อ
ด้าน นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย แถลงภาวะเศรษฐกิจและการเงินเดือน ต.ค.2565 ว่า เศรษฐกิจไทยยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัว แม้ว่าการขยายตัวจะลดลงจากช่วยก่อนหน้า เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากการส่งออกสินค้าที่ปรับลดลงตามอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัว และปัจจัยชั่วคราวจากการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นน้ำมัน ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมและเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนปรับลดลง
อย่างไรก็ดี ภาคการท่องเที่ยวยังฟื้นตัวต่อเนื่องตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ และปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อยังปรับดีขึ้น ทั้งการจ้างงาน รายได้ และความเชื่อมั่นของผู้บริโภค
ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจากเดือนก่อน ตามอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานและหมวดอาหารสดที่ลดลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ด้านตลาดแรงงานฟื้นตัวต่อเนื่องและอยู่ในระดับใกล้เคียงช่วงก่อนการแพร่ระบาดของ COVID-19 สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเพิ่มขึ้นตามดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่ขาดดุลลดลง โดยในเดือน ต.ค.2565 ไทยมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 จากเดือน ก.ย.2565 ที่ไทยการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับรายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทยเดือน ต.ค. มีดังนี้
มูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อนตามการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเป็นสำคัญ โดยเฉพาะ 1.หมวดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับลดลงตามอุปสงค์ประเทศคู่ค้า 2.หมวดเคมีภัณฑ์ที่ลดลงต่อเนื่องตามการส่งออกไปจีน หลังจากจีนมีนโยบายผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า
และ3.หมวดปิโตรเลียมที่ลดลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก ประกอบกับมีการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นน้ำมัน อย่างไรก็ดี หมวดสินค้าเกษตร รวมทั้งยานยนต์และชิ้นส่วนปรับดีขึ้นในบางสินค้า อาทิ การส่งออกข้าวและรถยนต์นั่งไปกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง
การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับลดลงจากเดือนก่อนในหลายหมวด โดยเฉพาะหมวดปิโตรเลียมที่ลดลงจากการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่น รวมถึงหมวดฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ลดลงตามการชะลอตัวของอุปสงค์ประเทศคู่ค้าเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี การผลิตหมวดวัสดุก่อสร้างเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับการฟื้นตัวของภาคก่อสร้าง
เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับลดลงจากเดือนก่อนตามการลงทุน ด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ปรับลดลง สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรม อย่างไรก็ดี การลงทุนหมวดก่อสร้างเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างและยอดขายวัสดุก่อสร้างที่ปรับดีขึ้น
มูลค่าการนำเข้าสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงในทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะการนำเข้าหมวดเชื้อเพลิงที่ลดลงมากตามน้ำมันดิบ เนื่องจากมีการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่น นอกจากนี้ การนำเข้าก๊าซธรรมชาติปรับลดลงจากราคาเป็นสำคัญ หลังจากปัญหาการขาดแคลนก๊าซธรรมชาติในยุโรปปรับดีขึ้น
เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนในเกือบทุกหมวด โดยเฉพาะหมวดสินค้าคงทนที่ลดลงหลังเร่งไปในช่วงก่อนหน้า ประกอบกับผู้บริโภคบางส่วนชะลอการซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เพื่อรอการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่
สำหรับการใช้จ่ายหมวดสินค้าไม่คงทนลดลงเล็กน้อยจากสถานการณ์น้ำท่วมในบางพื้นที่ อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายในหมวดบริการฟื้นตัวต่อเนื่อง สอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลให้การจ้างงาน รายได้ และความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับดีขึ้น
การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนหดตัวเล็กน้อยเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนตามรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางที่หดตัวจากผลของฐานที่มีการเบิกจ่ายสูงในปีก่อน ขณะที่รายจ่ายประจำขยายตัวตามการเบิกจ่ายของหน่วยงานด้านการศึกษาเป็นสำคัญ นอกจากนี้ รายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัว ตามการเบิกจ่ายของโครงการด้านพลังงานและสาธารณูปโภคเป็นสำคัญ
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในหลายสัญชาติ โดยเฉพาะยุโรปและสหรัฐฯ สำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวเดินทางระยะใกล้ (short-haul) อาทิ ฮ่องกง และไต้หวัน เพิ่มขึ้นตามการผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทาง ส่งผลให้กิจกรรมในภาคบริการปรับดีขึ้นต่อเนื่อง
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจากเดือนก่อน ตามราคาหมวดพลังงานและหมวดอาหารสดที่ลดลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นเล็กน้อยตามราคาอุปกรณ์ซักล้างทำความสะอาดและราคาอาหารสำเร็จรูป
ด้านตลาดแรงงานฟื้นตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่ปรับดีขึ้น สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเพิ่มขึ้น ตามดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่ขาดดุลน้อยลงจากการลดลงของรายจ่ายค่าระวางสินค้า ประกอบกับรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น
ขณะที่ดุลการค้าเกินดุลลดลงเล็กน้อย ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์ สรอ. เฉลี่ยอ่อนค่าลง ตามเงินดอลลาร์ สรอ. ที่แข็งค่าขึ้น เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐฯ มีแนวโน้มดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดกว่าที่ตลาดคาดการณ์
อ่านประกอบ :
มติเอกฉันท์! กนง.ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จับตา‘เงินบาท’ใกล้ชิด-มองจีดีพีปีนี้โต 3.3%
‘ผู้ว่าฯธปท.’ย้ำไม่จำเป็นต้อง‘รีบเร่ง’ขึ้นดอกเบี้ย-คาด‘เงินเฟ้อ’กลับสู่กรอบกลางปี 66
‘ผู้ว่าฯธปท.’ยันการขึ้นดอกเบี้ยของไทยไม่ได้ช้าไป-ชี้โอกาสเกิด Stagflation เป็นไปได้น้อย
ผู้ว่าฯธปท. : ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ‘ส่วนต่างดอกเบี้ย-ค่าเงิน-ทุนเคลื่อนย้าย-ทุนสำรอง’
กลับสู่ภาวะปกติ!‘ผู้ว่าฯธปท.’ชี้ไม่ได้ขึ้น‘ดอกเบี้ย’ทีเดียวแล้วจบ-คาดGDPไตรมาส 2 โต 3%
‘ผู้ว่าฯธปท.’ชี้บาทอ่อนสุดในรอบ 7 ปี เหตุดอลลาร์ฯแข็ง-ย้ำไม่จำเป็นต้องขึ้น‘ดบ.’ตามเฟด
เปิดรายงาน กนง. : ขึ้น'ดอกเบี้ย'ในช่วงเวลาเหมาะสม-'บาท'อ่อนสอดคล้องค่าเงินในภูมิภาค
ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ : ‘ความเสี่ยงไปอยู่ที่การดูแลเงินเฟ้อ-ขึ้นดอกเบี้ยเป็นสิ่งที่จำเป็น’
น้ำมัน-อาหารแพง! 'กนง.'ปรับเป้าเงินเฟ้อฯคาดพุ่งแตะ 4.9%-หั่นจีดีพีปีนี้เหลือโต 3.2%
กนง.มีมติเอกฉันท์คงดบ.นโยบาย 0.5% ต่อปี-มองแรงกดดัน'เงินเฟ้อด้านอุปสงค์'อยู่ในระดับต่ำ