ที่ประชุม กนง. มีมติเอกฉันท์ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 1.5% ต่อปี ลดแรงกดดันเงินเฟ้อที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง มองแนวโน้มเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ต่อเนื่อง แม้การส่งออกส่งสัญญาณชะลอตัว
..................................
เมื่อวันที่ 25 ม.ค. นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ว่า คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 1.25 เป็นร้อยละ 1.50 ต่อปี โดยให้มีผลทันที
เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนจะได้รับแรงส่งต่อเนื่องจากการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน ขณะที่การส่งออกสินค้าชะลอตัวในปีนี้ แต่จะกลับมาขยายตัวดีขึ้นในปี 2567 ตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ปรับดีขึ้น
ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มลดลง แต่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังทรงตัวในระดับสูง และมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ คณะกรรมการฯ เห็นว่าการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องเป็นแนวทางการดำเนินนโยบายที่สอดคล้องกับแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ จึงเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี ในการประชุมครั้งนี้
เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อเนื่องและมีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยภาคการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวเร็วขึ้นตามการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการจ้างงานและการกระจายรายได้ของลูกจ้างในภาคบริการและผู้ประกอบอาชีพอิสระที่มีจำนวนมาก รวมทั้งเป็นแรงส่งต่อเนื่องไปยังการบริโภคภาคเอกชน ขณะที่การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มชะลอลงในปีนี้ แต่จะฟื้นตัวในปี 2567 ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะผ่านจุดต่ำสุดในปี 2566 ก่อนจะปรับดีขึ้นในปีหน้า
ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงด้านต่ำลดลง ตามแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศเศรษฐกิจหลักรวมถึงจีนที่ปรับดีขึ้น
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มลดลง โดยแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปทานทยอยคลี่คลายตามราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์โลกที่ปรับลดลง แต่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานคาดว่าจะทรงตัวในระดับสูงอีกระยะหนึ่ง ก่อนจะทยอยปรับลดลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย
อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีความเสี่ยงที่จะอยู่ในระดับสูงนานกว่าคาดจากการส่งผ่านต้นทุนที่อาจเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการเผชิญภาวะต้นทุนสูงต่อเนื่อง อีกทั้งการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวจะส่งผลให้แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์เพิ่มขึ้น จึงต้องติดตามความเสี่ยงเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด
ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ ธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนมีแนวโน้มปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ฐานะการเงินของผู้ประกอบการ SMEs และครัวเรือนบางส่วนยังเปราะบางและอ่อนไหวต่อค่าครองชีพและภาระหนี้ที่สูงขึ้น คณะกรรมการฯ เห็นควรดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเห็นความสำคัญของการมีมาตรการเฉพาะจุดและแนวทางแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนสำหรับกลุ่มเปราะบาง
ภาวะการเงินโดยรวมผ่อนคลายลดลง ต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนปรับสูงขึ้นสอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายและการสิ้นสุดมาตรการปรับลดอัตราเงินนำส่งกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF fee) แต่ปริมาณสินเชื่อและการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ยังขยายตัว
ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์ สรอ. ปรับแข็งค่าขึ้น ตามการคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในอัตราที่ชะลอลง และการผ่อนคลายมาตรการการเดินทางของจีนที่จะส่งผลบวกต่อการท่องเที่ยวไทย คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการในตลาดการเงินและความผันผวนในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด
ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน
คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยต้องติดตามความเสี่ยงเงินเฟ้อจากแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่อาจเพิ่มขึ้น จึงเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเข้าสู่ระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยพร้อมที่จะปรับขนาดและเงื่อนเวลาของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หากแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อไทยเปลี่ยนไปจากที่ประเมินไว้
@เศรษฐกิจไทยโตต่อเนื่อง-คาดนักท่องเที่ยวปีนี้ 25.5 ล้านคน
นายปิติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุม กนง. ได้ประเมินเศรษฐกิจในภาพรวม ซึ่งมีปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยยะจากการประชุมในครั้งที่แล้ว 2 ปัจจัย ได้แก่ 1.การเปิดประเทศของจีน และการมีมาตรการเชิงสนับสนุนหรือผ่อนคลายในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน 2.พัฒนาการของเศรษฐกิจในต่างประเทศ เพราะแม้ว่าเศรษฐกิจในต่างประเทศจะชะลอตัวในช่วงไตรมาส 4/2565 แต่พอมาถึงต้นปีนี้ เศรษฐกิจไม่ได้แย่อย่างที่เคยมีการมองกันไว้
ส่วนภาพรวมของเศรษฐกิจไทยนั้น ขณะนี้ระดับจีดีพีของไทยได้กลับเข้าสู่ระดับก่อนโควิดแล้ว และมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง จากภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวค่อนข้างแรง โดยมีนักท่องเที่ยวจีนเป็นตัวแปรหลัก ส่งผลให้ในปีนี้คาดว่าไทยจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 25.5 ล้านคน และปีหน้ามีนักท่องเที่ยว 34 ล้านคน ซึ่งรายได้ของแรงงานในภาคท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น จะทำให้มีการบริโภคในประเทศเพิ่มขึ้นในปีนี้ ในขณะที่การส่งออกของไทยแผ่วลง
“ตัวเลขการส่งออกของกระทรวงพาณิชย์ที่ออกมาติดลบ 14.6% ในเดือน ธ.ค.2565 ถือว่าต่ำกว่าที่เราคาดไว้ ฉะนั้น การส่งออกที่ดูจะแผ่วลงกว่าที่เรามองไว้ และคงใช้เวลาอีกระยะหนึ่งกว่าจะฟื้นขึ้นมานั้น เป็นตัวที่จะไปทอนจีดีพีโดยรวม ในขณะที่นักท่องเที่ยวที่สูงขึ้นนั้นก็จะช่วยสนับสนุน โดยรวมแล้ว (จีดีพี) น่าจะมีอัพไซด์อยู่บ้าง แต่ไม่ได้เยอะขนาดนั้น” นายปิติ กล่าว
นายปิติ กล่าวว่า สำหรับภาพรวมเงินเฟ้อนั้น แม้ว่าแรงกดดันเงินเฟ้อจากปัจจัยด้านอุปทาน เช่น ราคาพลังงาน สินค้าโภคภัณฑ์ และอาหารสด จะลดลงตามที่ได้มีการคาดการณ์ไว้ และทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงสู่กรอบเป้าหมายภายในปลายปีนี้ แต่เมื่อมองไปข้างหน้า คือ ในปีนี้และปีหน้า เงินเฟ้อพื้นฐานจะมีบทบาทมากขึ้น จึงจำเป็นต้องติดตามการส่งผ่านต้นทุนที่จะเพิ่มขึ้นได้ในระยะต่อไป
“ที่ผ่านมาต้นทุนที่สูงขึ้นยังไม่ส่งผ่านไปเต็มที่ จึงมีแรงกดดันที่ยังค้างคาในระบบบ้าง ซึ่งถ้าเศรษฐกิจกระเตื้องขึ้น ก็เป็นไปได้ว่าผู้ประกอบการจะส่งผ่านต้นทุนที่ค้างคาอยู่ หรือปรับมาร์จิ้นขึ้น อย่างไรก็ดี ผลสำรวจล่าสุดในเดือน ม.ค.2566 ยังไม่เห็นสัญญาณชัดเจนว่าจะมีการปรับขึ้นราคาสินค้า แต่ที่มีการปรับขึ้นราคาแล้ว คือ ภาคบริการและภาคท่องเที่ยว ดังนั้น สิ่งที่คณะกรรมการฯต้องจับตา คือ เครื่องชี้แนวโน้มเงินเฟ้อในระยะถัดไป” นายปิติ กล่าว
@จับตา 3 ปัจจัย ‘เศรษฐกิจโลก-จีนเปิดประเทศ-ส่งผ่านต้นทุน’
นายปิติ กล่าวด้วยว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้ภาวะการเงินผ่อนคลายลดลง ประกอบกับการสิ้นสุดมาตรการ FIDF Fee ทำให้ธนาคารพาณิชย์ส่งผ่านต้นทุนไปยังดอกเบี้ยเงินกู้ โดยมีการปรับขึ้นดอกเบี้ย MLR และ MRR แต่จะพบว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ย MRR น้อยกว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ย MLR เนื่องจากครัวเรือนที่มีสินเชื่อซึ่งอ้างอิงดอกบี้ย MRR ยังมีความเปราะบางอยู่ ธนาคารฯจึงพยายามดูแลไม่ให้ภาระดอกเบี้ยในกลุ่มนี้สูงเกินไป
“มองไปข้างหน้า ธนาคารพาณิชย์มองว่าความต้องการสินเชื่อยังมีอยู่ และจะเพิ่มขึ้น ซึ่งสะท้อนภาพเศรษฐกิจที่มีการฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่การเฝ้าระวังการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ยังคงมีอยู่ เช่น ในกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ที่มีความอ่อนไหวภาวะทางเงิน จึงเป็นประเด็นที่ ธปท. และธนาคารพาณิชย์ ยังคงต้องติดตามต่อเนื่อง ในขณะที่มาตรการปรับโครงสร้างหนี้ยังเป็นหนึ่งในช่องทางที่สำคัญต่อไป” นายปิติกล่าว
นายปิติ ย้ำว่า คณะกรรมการฯ มองว่าเศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวต่อเนื่อง และมีปัจจัยที่ต้องติดตาม คือ ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อจากแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่อาจจะเพิ่มขึ้น ดังนั้น การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเข้าสู่ระดับที่เหมาะสมกับขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาวอย่างค่อยเป็นค่อยไป จึงเป็นแนวทางการดำเนินนโยบายที่เหมาะสม ทั้งนี้ หากแนวโน้มภาพเศรษฐกิจ หรือเงินเฟ้อในระยะข้างหน้ามีการเปลี่ยนแปลงจากที่ประเมินไว้ คณะกรรมการณพร้อมที่จะปรับขนาดและเงื่อนเวลาของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้เหมาะสมต่อไป
สำหรับปัจจัยที่ต้องติดตามในระยะข้างหน้า คณะกรรมการฯเน้น 3 ประเด็นหลัก คือ 1.แนวโน้มเศรษฐกิจโลก แม้ว่าจะมีสัญญาณที่ดีขึ้นบ้าง แต่ต้องรอดูความชัดเจนอีกระยะหนึ่ง 2.ติดตามการเปิดประเทศของจีนว่าจะมีพัฒนาการอย่างไร จะมีคนจีนเข้ามามากน้อยเพียงใด และจีนจะมีนโยบายอื่นๆมาเสริมหรือกระตุ้นหรือไม่ และ 3.มีโอกาสที่การส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการอาจเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป
นายปิติ กล่าวว่า ในเรื่องค่าเงินบาท ธปท. และ กนง. มีการจับตาดูอยู่แล้ว ซึ่งในปีที่แล้วค่าเงินบาทมีการขึ้นลงระดับหนึ่ง โดยมีปัจจัยจากภายนอกเป็นหลัก แต่ในช่วงตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ค่าเงินบาทมีการแข็งค่าขึ้น 4-5% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ และหากเทียบกับประเทศอื่นๆค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น 2% ซึ่งคณะกรรมการฯได้พิจารณาเรื่องนี้และเห็นว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นดังกล่าว เป็นสิ่งที่สะท้อนปัจจัยพื้นฐาน ทั้งจากปัจจัยนอกประเทศและปัจจัยในประเทศ
“การที่ธนาคารกลางหลักๆ ทั้ง Fed และ ECB มีท่าทีที่อาจใกล้เคียงกันว่า อาจถึงจุดสูงสุดที่มีการขึ้นอัตราดอกเบี้ย จึงทำให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนลงบ้าง ส่วนปัจจัยภายในนั้น การที่เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มดีขึ้น และนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น ทำให้ภาพเศรษฐกิจไทยดีขึ้น ส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งตลาดก็ได้ตระหนัก และ Price in ปัจจัยพวกนี้ไปแล้ว ขณะที่การเคลื่อนไหวของค่าเงินในช่วงนี้ ก็มีเหตุมีผล…
และแม้ว่าค่าเงินบาทจะแข็งกว่าเพื่อนบ้านบ้าง แต่ก็มีเหตุเฉพาะที่เข้าใจได้ว่า ทำไมถึงแข็ง เพราะประเทศไทยได้รับอานิสงส์มากที่สุดจากนักท่องเที่ยวจีน ทั้งนี้ คณะกรรมการฯไม่ได้มองว่า ตอนนี้ค่าเงินบาทมีการปรับตัวที่ฉีกออกไปจากสิ่งที่ควรจะเป็น จึงต้องเฝ้าติดตามดูต่อไปก่อน และถ้าดูในแง่วัฏจักรเศรษฐกิจ ปีที่แล้วเรายังไม่ฟื้น แต่เขาฟื้นไปแล้ว เราตามเขาอยู่ พอปีนี้มันสลับข้างกัน คือ เราฟื้นต่อเนื่อง แต่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทำให้สินทรัพย์ไทยมีความน่าลงทุน ดังนั้น ณ ตอนนี้เรายังเฝ้าระวังอยู่ ยังไม่ได้เป็นประเด็นที่ต้องทำอะไรเป็นพิเศษ” นายปิติ กล่าว
อ่านประกอบ :
กนง.มีมติเอกฉันท์ขึ้นดบ.นโยบาย 0.25% สู่ระดับ 1.25%-จับตาเศรษฐกิจโลกเสี่ยงชะลอกว่าคาด
มติเอกฉันท์! กนง.ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จับตา‘เงินบาท’ใกล้ชิด-มองจีดีพีปีนี้โต 3.3%
‘ผู้ว่าฯธปท.’ย้ำไม่จำเป็นต้อง‘รีบเร่ง’ขึ้นดอกเบี้ย-คาด‘เงินเฟ้อ’กลับสู่กรอบกลางปี 66
‘ผู้ว่าฯธปท.’ยันการขึ้นดอกเบี้ยของไทยไม่ได้ช้าไป-ชี้โอกาสเกิด Stagflation เป็นไปได้น้อย
ผู้ว่าฯธปท. : ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ‘ส่วนต่างดอกเบี้ย-ค่าเงิน-ทุนเคลื่อนย้าย-ทุนสำรอง’
กลับสู่ภาวะปกติ!‘ผู้ว่าฯธปท.’ชี้ไม่ได้ขึ้น‘ดอกเบี้ย’ทีเดียวแล้วจบ-คาดGDPไตรมาส 2 โต 3%
‘ผู้ว่าฯธปท.’ชี้บาทอ่อนสุดในรอบ 7 ปี เหตุดอลลาร์ฯแข็ง-ย้ำไม่จำเป็นต้องขึ้น‘ดบ.’ตามเฟด
เปิดรายงาน กนง. : ขึ้น'ดอกเบี้ย'ในช่วงเวลาเหมาะสม-'บาท'อ่อนสอดคล้องค่าเงินในภูมิภาค
ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ : ‘ความเสี่ยงไปอยู่ที่การดูแลเงินเฟ้อ-ขึ้นดอกเบี้ยเป็นสิ่งที่จำเป็น’
น้ำมัน-อาหารแพง! 'กนง.'ปรับเป้าเงินเฟ้อฯคาดพุ่งแตะ 4.9%-หั่นจีดีพีปีนี้เหลือโต 3.2%
กนง.มีมติเอกฉันท์คงดบ.นโยบาย 0.5% ต่อปี-มองแรงกดดัน'เงินเฟ้อด้านอุปสงค์'อยู่ในระดับต่ำ