ที่ประชุม กนง.มีมติเอกฉันท์ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี สู่ระดับ 1.75% ต่อปี หลังเงินเฟ้อทรงตัวระดับสูง มองจีดีพีปี 66 โต 3.6% แต่จับตาเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอน 'เพิ่มขึ้น'-ตลาดการเงินโลกผันผวน
.....................................
เมื่อวันที่ 29 มี.ค. นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ว่า คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 1.50 เป็นร้อยละ 1.75 ต่อปี โดยให้มีผลทันที
เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง จากภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนเป็นสำคัญ ขณะที่การส่งออกสินค้าเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวจากที่หดตัวในช่วงก่อนหน้า และคาดว่าจะฟื้นตัวชัดเจนขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งจากแนวโน้มเงินเฟ้อและสถานการณ์ปัญหาสถาบันการเงินในประเทศเศรษฐกิจหลัก ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มเริ่มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงกลางปีนี้
แต่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังทรงตัวในระดับสูงและมีความเสี่ยงด้านสูงจากการส่งผ่านต้นทุนและแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ คณะกรรมการฯ เห็นว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องยังสอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ จึงเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี ในการประชุมครั้งนี้
เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ร้อยละ 3.6 และ 3.8 ในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเกือบทุกสัญชาติที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลบวกต่อการจ้างงานและรายได้แรงงาน รวมถึงเป็นแรงส่งต่อเนื่องไปยังการบริโภคภาคเอกชน ขณะที่การส่งออกสินค้าในไตรมาสที่ 1 ปี 2566 เริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวจากที่หดตัวในช่วงก่อนหน้า โดยคาดว่าจะฟื้นตัวชัดเจนขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี
อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้นจากแนวโน้มเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงปัญหาสถาบันการเงินในประเทศเศรษฐกิจหลัก อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มเริ่มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงกลางปี 2566 โดยจะอยู่ที่ร้อยละ 2.9 และ 2.4 ในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ ตามแรงกดดันด้านอุปทานจากค่าไฟฟ้าและราคาน้ำมันที่ทยอยคลี่คลาย ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับลดลงจากปี 2565 มาอยู่ที่ร้อยละ 2.4 ในปี 2566 ก่อนจะทยอยปรับลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.0 ในปี 2567
อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อมีความเสี่ยงที่จะอยู่ในระดับสูงนานกว่าคาดจากการส่งผ่านต้นทุนที่อาจเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการเผชิญภาวะต้นทุนสูงต่อเนื่อง อีกทั้งมีแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ จึงต้องติดตามความเสี่ยงเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิดระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ โดยปัญหาสถาบันการเงินในประเทศเศรษฐกิจหลักในช่วงที่ผ่านมาไม่ได้ส่งผลต่อระบบการเงินไทยอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากสถาบันการเงินและภาคธุรกิจไทยมีความเชื่อมโยงกับสถาบันการเงินและสินทรัพย์เสี่ยงที่เกิดปัญหาจำกัด รวมถึงธนาคาพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง
อย่างไรก็ดี สถานการณ์ในระยะข้างหน้ามีความไม่แน่นอนสูง จึงต้องติดตามพัฒนาการและผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินไทยอย่างใกล้ชิด ด้านความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ฐานะการเงินของผู้ประกอบการ SMEs และครัวเรือนบางส่วนยังเปราะบางและอ่อนไหวต่อค่าครองชีพและภาระหนี้ที่สูงขึ้น คณะกรรมการฯ เห็นควรดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเห็นความสำคัญของการมีมาตรการเฉพาะจุดและแนวทางแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนสำหรับกลุ่มเปราะบาง
ภาวะการเงินโดยรวมอยู่ในระดับผ่อนคลาย โดยตึงตัวขึ้นบ้างจากต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนที่ปรับสูงขึ้นสอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่ยังไม่เป็นอุปสรรคต่อการระดมทุนของภาคเอกชนและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์ สรอ. เคลื่อนไหวผันผวน ตามทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่มีความไม่แน่นอน และตลาดการเงินโลกที่ผันผวนขึ้นจากปัญหาสถาบันการเงินในประเทศเศรษฐกิจหลัก
คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการในตลาดการเงินโลกและผลกระทบต่อตลาดการเงินไทยรวมถึงอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน
คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงเงินเฟ้อจากแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่อาจเพิ่มขึ้น จึงเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเข้าสู่ระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยพร้อมที่จะปรับขนาดและเงื่อนเวลาของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หากแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อไทยเปลี่ยนไปจากที่ประเมินไว้
@‘ธปท.’หั่นจีดีพีปี 66 เหลือ 3.6%-ส่งออกมีสัญญาณฟื้นตัว
นายปิติ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากเครื่องชี้ทางด้านเศรษฐกิจที่ออกมาล่าสุดในเดือน ก.พ.2566 พบว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่ดีขึ้นและได้กลับสู่ระดับก่อนโควิดแล้ว รวมทั้งเมื่อมองไปข้างหน้าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยมีแรงส่งค่อนข้างดี ขณะที่การส่งออกในเดือน ก.พ.2566 มีสัญญาณการฟื้นตัวจากที่หดตัวในช่วงไตรมาส 4/2565 อย่างไรก็ตาม ธปท.ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจในปี 2566 เป็น 3.6% จากเดิม 3.7% และปี 2567 เหลือ 3.8% จากเดิม 3.9%
“เราปรับประมาณการ (จีดีพี) ใหม่ โดยปีนี้คาดว่าจะขยายตัว 3.6% และปีหน้า 3.8% ซึ่งใกล้เคียงกับของเดิม แม้จะมีข้อสังเกตว่าข้อมูลจริงที่ออกมาในช่วงไตรมาส 4 ปีที่แล้ว ต่ำกว่าที่เราคาดไว้ ทำให้จุดตั้งต้นต่ำกว่าที่มองไว้เมื่อคราวก่อน แต่แรงส่งในระยะข้างหน้าถือว่าสูงขึ้น ส่วนการส่งออก แม้ว่าข้อมูลจริงจะออกมาแผ่วลง แต่แนวโน้มในระยะข้างหน้าดีขึ้น โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปี เมื่อเศรษฐกิจโลกมีการฟื้นตัวได้มากขึ้น” นายปิติ กล่าว
นายปิติ ยังระบุว่า แรงส่งสำคัญของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าจะมาจากภาคการท่องเที่ยว โดย ธปท.มองว่าในปี 2566 ไทยจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 28 ล้านคน เทียบกับประมาณการครั้งก่อนที่คาดว่าจะมีจำนวน 25.5 ล้านคน และปี 2567 นักท่องเที่ยวต่างชาติจะมีจำนวน 35 ล้านคน จากเดิมที่คาดว่าจะมีจำนวน 34 ล้านคน
นายปิติ กล่าวว่า ด้านอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลง โดยตัวเลขเงินเฟ้อในเดือน ม.ค.-ก.พ.2566 ต่ำกว่าที่ กนง. มองไว้ และจะเห็นได้ว่าเงินเฟ้อที่มาจากหมวดพลังงานมีบทบาทน้อยลงเรื่อยๆ แต่ตัวที่ต้องจับตาและจะมีบทบาทสำคัญมากขึ้น คือ เงินเฟ้อพื้นฐานที่ยังมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับสูง ดังนั้น กนง.จึงปรับประมาณการเงินเฟ้อทั่วไปทั้งปี 2566 เหลือ 2.9% และเหลือ 2.4% ในปี 2567 ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานทั้งปี 2566 อยู่ที่ 2.4% และปี 2567 อยู่ที่ 2%
“สิ่งที่เราจับตาเป็นพิเศษ คือ แนวโน้มเงินเฟ้อ ซึ่งแม้ว่าตอนนี้จะมีแนวโน้มลดลงแล้ว แต่ด้วยระดับเงินเฟ้อที่สูงกว่าในอดีต จึงเป็นเหตุผลที่คณะกรรมการฯให้ความสำคัญและต้องจับตาเงินเฟ้อต่อไป เนื่องจากธุรกิจยังไม่ได้ส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมาไปทั้งหมดหรือเต็มที่ ดังนั้น เงินเฟ้อที่ยังค้างอยู่ในระบบก็มีความเสี่ยงได้ และเครื่องชี้เงินเฟ้อต่างๆยังอยู่ในแดนที่ต้องจับตาต่อไป แม้ว่าจะมีสัญญาณดีขึ้นบ้าง” นายปิติ กล่าว
@ปัญหา‘สถาบันการเงินต่างประเทศ’ มีผลกระทบจำกัด
นายปิติ กล่าวว่า ด้านการเงินมีภาวะตึงตัวขึ้นตามการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงที่ผ่านมา แต่การส่งผ่านดอกเบี้ย MLR สำหรับผู้กู้รายใหญ่ จะสูงกว่าดอกเบี้ย MRR ของผู้กู้รายย่อย โดยดอกเบี้ย MLR มีการส่งผ่าน 68% ของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และกรณีดอกเบี้ย MRR มีการส่งผ่าน 44% ของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งต่ำกว่าในอดีต สะท้อนว่าธนาคารพาณิชย์พยายามแยกแยะลูกหนี้ว่าสามารถรองรับการขึ้นดอกเบี้ยได้มากน้อยเพียงใด
อย่างไรก็ดี แม้ว่าภาวะการเงินจะตึงตัวขึ้น แต่โดยรวมยังอยู่ในระดับผ่อนคลาย และไม่เป็นอุปสรรคต่อการระดมทุนของภาคเอกชน เห็นได้จากเม็ดเงินสินเชื่อที่ออกไปแต่ละเดือนหรือแต่ละไตรมาสที่ยังขยายตัวได้ โดยเฉพาะในภาคบริการยังคงได้รับสินเชื่อใหม่ต่อเนื่อง ส่วนสินเชื่อในภาคการผลิตลดลงเล็กน้อย ซึ่งสอดคล้องกับเศรษฐกิจโลกและการส่งออกที่ชะลอตัว
ส่วนปัญหาสถาบันการเงินในต่างประเทศ โดยเฉพาะสถาบันการเงินในสหรัฐ นั้น คณะกรรมการฯได้พิจารณาอย่างละเอียด และเห็นว่าปัญหาดังกล่าวมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและระบบการเงินไทยในขอบเขตจำกัดมาก รวมทั้งจะพบว่าตลาดหุ้นไทยในช่วงที่ผ่านมาดัชนีปรับลดลงน้อยเมื่อเทียบกับประเทศที่ประสบปัญหา ซึ่งสะท้อนว่าตลาดโดยรวมไม่ได้มองว่าประเด็นดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อสถาบันการเงินในประเทศมากนัก
อย่างไรก็ตาม ธปท.ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ซึ่งในขณะนี้เองธนาคารพาณิชย์ของไทยมีความมั่นคง และมีการถือครองสินทรัพย์ในธนาคารที่มีปัญหาน้อยมาก ส่วนในแง่ตลาดทุน ซึ่งมีกองทุนที่ไปลงทุนในสินทรัพย์ของสถาบันการเงินในต่างประเทศที่มีปัญหา นั้น พบว่าการลงทุนในสินทรัพย์ดังกล่าวอยู่ในระดับต่ำมากเช่นกัน ดังนั้น ผลกระทบทางตรงต่อสถาบันการเงินไทยจึงค่อนข้างจำกัด แต่จะมีผลในเชิงจิตวิทยามากกว่า
“เมื่อมองไปข้างหน้า คณะกรรมการฯมองว่าประเด็นที่สำคัญ คือ เงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงและน่าจะสูงนานกว่าที่คาดไว้ โดยมีตัวแปรสำคัญ คือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะการฟื้นตัวของภาคบริการและนักท่องเที่ยวที่เข้ามา จึงต้องจับตาว่าเงินเฟ้อที่มาจากอุปสงค์จะไม่ไปซ้ำเติมเงินเฟ้อให้สูงขึ้น ส่วนความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจและการเงินโลกจะต้องจับตาต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งเราไม่ได้มองว่าจะเกิดวิกฤตขนาดใหญ่ แต่ก็ต้องดูพัฒนาการต่อไป” นายปิติ กล่าว
@แรงกดดันเงินเฟ้อยังมีความเสี่ยง-ต้องขึ้นดอกเบี้ยต่อไป
นายปิติ กล่าวถึงแนวโน้มการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ว่า กนง.มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาตั้งแต่เดือน ส.ค.2565 ซึ่งเป็นการถอนคันเร่ง เพื่อทำให้ระดับนโยบายที่ผ่อนคลายมากในช่วงวิกฤติโควิด กลับสู่การผ่อนคลายที่น้อยลงและสอดคล้องกับเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว โดยโจทย์ในช่วงแรกของการ normalization (กลับสู่ภาวะปกติ) หรือเมื่อปีที่แล้ว คือ ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไม่สะดุด แต่โจทย์ในระยะต่อไป คือ การฟื้นตัวเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพ
“โจทย์ในระยะต่อไป คือ ทำให้การฟื้นตัวมีเสถียรภาพ โดยเฉพาะด้านเงินเฟ้อที่ต้องโน้มกลับเข้าสู่เป้าและอยู่ในเป้าต่อไป ซึ่งปัจจัยเสี่ยงของการที่เงินเฟ้อจะอยู่ในเป้าต่อไป คือ อุปสงค์ที่ฟื้นตัวค่อนข้างดีและแนวโน้มนักท่องเที่ยวที่เราเห็นอาจมีอัพไซด์ได้ด้วย คณะกรรมการฯจึงมองว่าแรงกดดันด้านเงินเฟ้อต้องติดตามต่อไป ดังนั้น การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นแนวการดำเนินนโยบายที่เหมาะสม
ขณะที่การประมาณการเศรษฐกิจที่เรามองไว้ในปีนี้และปีหน้า ก็จะขึ้นอยู่กับการดำเนินนโยบายการเงินที่มองไว้เหมือนกัน ซึ่งที่เรามองว่าภาพเศรษฐกิจจะออกมาแบบนั้น ก็ต้องมีสมมติฐานภายในว่า นโยบายการเงินต้องปรับให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจ ดังนั้น ณ ตอนนี้เศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นและมีแรงส่งดี รวมทั้งเงินเฟ้อที่แม้จะลงลด แต่ยังอยู่ในระดับสูงกว่าในอดีต โดยเฉพาะเงินเฟ้อฟื้นฐาน กระบวนการ normalization จึงยังต้องดำเนินการต่อเนื่องไป” นายปิติ กล่าว
นายปิติ ย้ำว่า “ตอนนี้ค่อนข้างชัดว่า เศรษฐกิจมีแรงส่งดี เงินเฟ้อยังมีความเสี่ยงด้านสูงอยู่ นโยบายที่เหมาะสมที่จะทำให้ภาพรวมของเศรษฐกิจกลับเข้ามาอยู่ในจุดที่มีเสถียรภาพ คงต้องมีกระบวนการถอนคันเร่งต่อไป แต่จะถึงจุดไหนนั้น เมื่อมีความไม่แน่นอนสูงขึ้นจากเศรษฐกิจและภาวะการเงินโลก คณะกรรมการฯคงไม่ได้มองจุดใดจุดหนึ่งว่าจะหยุดตรงไหน แต่ข้อมูล ณ ตอนนี้ส่อว่าเราคงต้องดำเนินกระบวนการ normalization ต่อไป และดูแลความเสี่ยงระดับหนึ่งแล้ว”
นายปิติ กล่าวถึงการเลือกตั้งฯที่จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย โดยระบุว่า การเลือกตั้งจะมีผลกระทบต่อกระบวนการจัดทำงบประมาณปี 2567 ซึ่ง ธปท.ได้นำปัจจัยดังกล่าวมีประเมินแล้วว่า จะมีผลกระทบต่อการเบิกจ่ายงบประมาณอย่างไร และต้องมาดูอีกว่าหลังจากเลือกตั้งและมีรัฐบาลใหม่แล้ว รัฐบาลจะมีการปรับเปลี่ยนงบประมาณหรือไม่ แต่เมื่อพิจารณาโมเมนตัมทางเศรษฐกิจขณะนี้แล้ว จะไม่ได้ขึ้นอยู่กับการใช้จ่ายภาครัฐมากนัก
"แม้ในอดีตในช่วงของการเลือกตั้ง จะมีเม็ดเงินลงไปสู่เศรษฐกิจฐานรากมากขึ้นบ้าง แต่ในภาพรวมแล้ว ไม่ได้มีนัยยะต่อเศรษฐกิจในภาพใหญ่ ยิ่งจากเศรษฐกิจไปสู่เงินเฟ้อด้วยแล้ว ที่ผ่านมาในอดีตไม่ได้มีประเด็นตรงนี้ และเราติดว่ารอบนี้ไม่ได้มีประเด็นแตกต่างมากนักในเรื่องการส่งผ่าน จึงมองว่าปัจจัยเสี่ยงเรื่องเงินเฟ้อไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง" นายปิติ กล่าว
อ่านประกอบ :
มติเอกฉันท์! กนง.ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% สกัดเงินเฟ้อ-มองศก.ไทยฟื้นต่อเนื่อง แม้ส่งออกแผ่ว
กนง.มีมติเอกฉันท์ขึ้นดบ.นโยบาย 0.25% สู่ระดับ 1.25%-จับตาเศรษฐกิจโลกเสี่ยงชะลอกว่าคาด
มติเอกฉันท์! กนง.ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จับตา‘เงินบาท’ใกล้ชิด-มองจีดีพีปีนี้โต 3.3%
‘ผู้ว่าฯธปท.’ย้ำไม่จำเป็นต้อง‘รีบเร่ง’ขึ้นดอกเบี้ย-คาด‘เงินเฟ้อ’กลับสู่กรอบกลางปี 66
‘ผู้ว่าฯธปท.’ยันการขึ้นดอกเบี้ยของไทยไม่ได้ช้าไป-ชี้โอกาสเกิด Stagflation เป็นไปได้น้อย
ผู้ว่าฯธปท. : ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ‘ส่วนต่างดอกเบี้ย-ค่าเงิน-ทุนเคลื่อนย้าย-ทุนสำรอง’
กลับสู่ภาวะปกติ!‘ผู้ว่าฯธปท.’ชี้ไม่ได้ขึ้น‘ดอกเบี้ย’ทีเดียวแล้วจบ-คาดGDPไตรมาส 2 โต 3%