ที่ประชุม กนง. มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.5% ขณะที่ 2 เสียง เห็นควรลดดอกเบี้ย 0.25% เพื่อให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่ำจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง พร้อมปรับลดคาดการณ์จีดีพีปี 2567 เหลือ 2.5-3%
..................................
เมื่อวันที่ 7 ก.พ. นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ในวันนี้ (7 ก.พ.) ว่า คณะกรรมการฯ มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 2.50 ต่อปี โดย 2 เสียง เห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี
เศรษฐกิจไทยในปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงจากภาคการส่งออกและการผลิต เนื่องจากอุปสงค์โลกและเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวช้า รวมถึงปัจจัยเชิงโครงสร้างกระทบการขยายตัวของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวมากกว่าที่ประเมินไว้ แต่อุปสงค์ในประเทศยังขยายตัวต่อเนื่องและเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจ ด้านอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ โดยมีแนวโน้มทยอยเพิ่มขึ้นเข้าสู่กรอบเป้าหมายช้ากว่าที่ประเมินไว้
คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจที่ขยายตัวชะลอลงในช่วงที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เกิดจากแรงส่งจากภาคต่างประเทศที่น้อยลงและผลกระทบจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง แต่การบริโภคยังขยายตัวดีต่อเนื่อง ขณะที่อัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงินซึ่งเป็นรากฐานสำคัญสำหรับการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนในระยะยาว
กรรมการส่วนใหญ่จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้ ขณะที่กรรมการ 2 ท่าน เห็นว่าควรปรับลดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.25 ต่อปี เพื่อให้สอดคล้องกับศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ต่ำลงจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง
เศรษฐกิจไทยในปลายปี 2566 ขยายตัวชะลอลงกว่าคาดจากการส่งออกสินค้าและการผลิตที่ฟื้นตัวช้าตามภาวะการค้าโลกและสินค้าคงคลังที่อยู่ในระดับสูง การเปลี่ยนพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ทำให้รายรับต่อคนน้อยกว่าในอดีต และการลงทุนภาครัฐที่ลดลงในช่วงที่งบประมาณรายจ่ายประจำปีล่าช้า แรงส่งทางเศรษฐกิจที่ลดลงในช่วงปลายปี 2566 ส่งผลให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2567 ปรับลดลงและคาดว่าจะอยู่ในช่วงร้อยละ 2.5-3
โดยการบริโภคภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยวยังเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ ขณะที่การส่งออกและการผลิตมีแนวโน้มการขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่วนหนึ่งจากอุปสงค์โลกและวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ไทยที่ฟื้นตัวช้ากว่าคาด มองไปข้างหน้า ปัญหาเชิงโครงสร้างโดยเฉพาะด้านความสามารถในการแข่งขันของประเทศจะเป็นอุปสรรคมากขึ้น หากไม่มีการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มปรับลดลงกว่าที่ประเมินไว้จากปัจจัยด้านอุปทาน ทั้งราคาอาหารสดและราคาพลังงาน รวมทั้งการขยายมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อที่ต่ำในปัจจุบันไม่ได้บ่งชี้ถึงอุปสงค์ที่อ่อนแอ โดยราคาสินค้าไม่ได้ปรับลดลงเป็นวงกว้างแต่สะท้อนปัจจัยเฉพาะในบางกลุ่มสินค้า และหากหักผลของมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังคงเป็นบวก
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2567 มีแนวโน้มทรงตัวในระดับต่ำใกล้เคียงร้อยละ 1 ก่อนที่จะทยอยเพิ่มขึ้นในปีหน้า ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มทรงตัวใกล้เคียงเดิม ทั้งนี้ ยังต้องติดตามความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่อาจส่งผลต่อราคาพลังงาน ผลกระทบต่อราคาสินค้าเกษตรจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ
ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ ธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง สำหรับการระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้โดยรวมยังดำเนินการได้ตามปกติ แม้มีผู้ออกตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงสูงบางรายระดมทุนทดแทนหุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอน (rollover) ได้ไม่เต็มจำนวน
คณะกรรมการฯ ให้ความสำคัญกับการดูแลคุณภาพสินเชื่อของ SMEs และครัวเรือนกลุ่มเปราะบางที่รายได้ยังฟื้นตัวช้า โดยสนับสนุนนโยบายของ ธปท. ที่ผลักดันให้สถาบันการเงิน ดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมาตรการเฉพาะจุดและแนวทางแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนสำหรับกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะมาตรการการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending)
ภาวะการเงินโดยรวมทรงตัว ต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนผ่านธนาคารพาณิชย์และตลาดตราสารหนี้ใกล้เคียงเดิม ภาคธุรกิจและครัวเรือนโดยรวมยังได้รับสินเชื่อใหม่ต่อเนื่อง ขณะที่ยอดคงค้างสินเชื่อลดลงเล็กน้อยจากการชำระคืนหนี้เป็นหลัก ผู้ประกอบการในภาพรวมยังสามารถชำระหนี้ได้ตามปกติ แม้การฟื้นตัวของรายได้เป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปและต้นทุนวัตถุดิบอยู่ในระดับสูง
อย่างไรก็ดี กลุ่มธุรกิจขนาดเล็กในบางอุตสาหกรรมอาจเผชิญภาวะสินเชื่อที่ตึงตัวตามความระมัดระวังของสถาบันการเงิน ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์ สรอ. ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2567 อ่อนค่าสอดคล้องกับสกุลเงินภูมิภาค ตามการคาดการณ์ทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ เป็นสำคัญ
ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน
คณะกรรมการฯ ประเมินว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มชะลอลงเป็นผลมาจากปัจจัยต่างประเทศและปัญหาเชิงโครงสร้าง ขณะที่อุปสงค์ในประเทศมีแรงส่งต่อเนื่องและอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มทยอยเพิ่มขึ้นเข้าสู่กรอบเป้าหมาย อัตราดอกเบี้ยปัจจุบันยังสอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจ รวมทั้งเอื้อต่อการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว
อย่างไรก็ดี คณะกรรมการฯ เห็นว่ายังมีความไม่แน่นอนสูงในระยะข้างหน้าจากปัจจัยวัฏจักรเศรษฐกิจและปัจจัยเชิงโครงสร้าง โดยการดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้าจะพิจารณาให้เหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ
@เศรษฐกิจปี 66 ขยายตัวต่ำคาด-มองปี 67 โต 2.5-3%
นายปิติ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด-19 ได้เกือบสมบูรณ์แล้ว แต่มีข้อสังเกตว่าการฟื้นตัวจากวิกฤติโควิดครั้งนี้ค่อนข้างช้า เมื่อเทียบกับวิกฤติอื่นๆที่ประเทศไทยต้องเผชิญ ไม่ว่าจะวิกฤติน้ำท่วม วิกฤติการเงินโลก และระยะเวลาการฟื้นตัวใกล้เคียงกับวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 ขณะเดียวกัน ยังพบว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวจากวิกฤติโควิดได้ช้าและต่ำกว่า เมื่อเทียบกับการฟื้นตัวของประเทศอื่นในภูมิภาค ซึ่งสะท้อนถึงปัญหาปัจจัยเชิงโครงสร้าง
นายปิติ กล่าวต่อว่า จากข้อมูลที่เข้ามาล่าสุด ตัวเลขส่วนใหญ่บอกว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2566 น่าจะเติบโตต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ (เดิม ธปท.คาดว่าเศรษฐกิจปี 2566 จะขยายตัวที่ 2.4%) เนื่องจากปัจจัยภายนอก คือ ตัวเลขในภาคการส่งออกที่ต่ำกว่าที่คาดไว้ และปัจจัยพิเศษเฉพาะ คือ ค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่อทริปลดลงและต่ำผิดปกติ แม้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเป็นไปตามที่คาดการณ์ 28 ล้านคน และการเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้
นอกจากนี้ มีสัญญาณชัดเจนว่าเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้าง เห็นได้จากการส่งออกของไทยขยายตัวต่ำกว่าประเทศคู่แข่งในเอเชีย ความสามารถการแข่งขันในประเทศมีปัญหา โดยในช่วงหลังมีการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะสินค้าจากจีนที่เข้ามาตีตลาดการผลิตสินค้าในประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และนักท่องเที่ยวต่างชาติเปลี่ยนพฤติกรรม คือ อยู่ไทยสั้นลงและค่าใช้จ่ายต่อทริปลดลงด้วย
อย่างไรก็ดี การบริโภคในประเทศยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปี 2566 ในขณะที่ปัจจัยที่สนับสนุนการบริโภคภาคเอกชน ได้แก่ การจ้างงานที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รายได้แรงงานโดยรวมเพิ่มขึ้น แต่รายได้กลุ่มอาชีพอิสระยังฟื้นตัวไม่ถึงระดับก่อนโควิด และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคดีขึ้นต่อเนื่อง
นายปิติ กล่าวด้วยว่า “การที่ภาคการผลิตฟื้นตัวช้า และภาคการบริโภคที่ฟื้นตัวเร็ว แต่ตัวเลขจีดีพีโดยรวมกลับออกมาไม่สูงมากนัก สะท้อนว่ามีสินค้าคงคลังที่ถูกลดทอนไปเรื่อยๆ และมีข้อสังเกตว่า การเปลี่ยนแปลงสินค้าคงคลังในช่วงหลังมีบทบาทเยอะมาก โดยไตรมาส 3/2566 การเปลี่ยนแปลงสินค้าคงคลังติดลบ 9.8% แต่ถ้าดูการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ไม่รวมแรงฉุดจากสินค้าคงคลัง พบว่าเติบโตได้ 11.2% ในขณะที่การจับจ่ายใช้จ่ายยังคงมีศักยภาพ”
นายปิติ ระบุว่า คณะกรรมการฯ คาดว่าเศรษฐกิจปี 2567 จะขยายตัว 2.5-3% ซึ่งยังไม่รวมโครงการดิจิทัลวอลเลต โดยคาดว่าการส่งออกจะขยายตัว 2.6% และมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 34.5 ล้านคน อย่างไรก็ดี มีปัจจัยไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจทั้งในแง่บวกและแง่ลบ แง่บวก เช่น อุปสงค์ในประเทศฟื้นตัวสูงกว่าคาด และภาครัฐมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วนแง่ลบ เช่น เศรษฐกิจโลกแย่กว่าคาด และผลดีจากการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกน้อยกว่าคาดจากปัญหาเชิงโครงสร้าง
“การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจก็ยังดำรงต่อไป อัตราการขยายตัวปีต่อปีอาจลดลง แต่แรงส่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดีอยู่ ซึ่งในบริบทดังกล่าว คณะกรรมการฯมองว่า นโยบายการเงินมีข้อจำกัดในการดูแลการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่มาจากปัจจัยภายนอกและปัจจัยเชิงโครงสร้าง อีกทั้งอัตราดอกเบี้ยนโยบายของงไทยต่ำมากเมื่อเทียบกับโลก ขณะที่การทำงานของนโยบายการเงิน จะกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศเป็นหลัก ซึ่ง ณ ตอนนี้อุปสงค์ในประเทศขยายตัวดีอยู่” นายปิติ กล่าว
นายปิติ ระบุว่า “นโยบายอัตราดอกเบี้ย คงไม่สามารถแก้ไขปัญหาความสามารถในการส่งออก และการผลิตได้ตรงจุด และถ้าพูดในแง่ค่าเงิน ก็ไม่ได้เป็นกลไกที่จะมาช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้ภาคส่งออกได้อย่างยั่งยืน”
@มอง‘เงินเฟ้อ’ระยะข้างหน้า มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
นายปิติ กล่าวต่อว่า สำหรับอัตราเงินเฟ้อที่แนวโน้มต่ำลงในช่วงที่ผ่านมา โดยล่าสุดตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ม.ค.2567 ติดลบ 1.1% นั้น มาจากมาตรการลดค่าครองชีพด้านพลังงานของภาครัฐ และการลดลงของราคาอาหารสด แต่หากไม่รวมผลจากมาตรการของภาครัฐ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังเป็นบวก ทั้งนี้ เงินเฟ้อที่ลดลงมาค่อนข้างเร็วถือเป็นเรื่องดี เพราะเป็นการลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชนได้พอสมควร
“ถ้าดูตะกร้าเงินเฟ้อ สินค้า 75% ยังมีราคาเพิ่มขึ้นอยู่ มีเพียง 25% ที่ลดลง ไม่ได้เป็นการปรับลดลงของราคาสินค้าอย่างทั่วหน้า จึงไม่ใช่ภาวะเงินฝืด ไม่ได้เป็นเรื่องอุปสงค์ที่อ่อนแอ และถ้าหักผลของมาตรการภาครัฐออกไป เงินเฟ้อก็ยังเป็นบวก” นายปิติ กล่าวและว่า “คณะกรรมการฯ อยากให้แน่ใจว่า เงินเฟ้อจะไม่กลับมาเป็นภาระซ้ำเติมค่าครองชีพของประชาชน จึงต้องจับตาในแง่การกระจายตัวของราคาทั่วไปด้วย ไม่ใช่แค่ตัวเลขรวมของ CPI เท่านั้น”
นายปิติ กล่าวว่า ในระยะข้างหน้า เงินเฟ้อมีแนวโน้มจะค่อยๆเพิ่มขึ้น ทั้งอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานและอัตราเงินเฟ้อทั่วไป เนื่องจากปัจจัยเรื่องฐานที่นำมาคำนวณค่อยๆหมดไป รวมทั้งราคาอาหารสดที่อาจจะเพิ่มขึ้นจากปัจจัยเอลนีโญ
นายปิติ ระบุว่า ในส่วนภาคการเงินโดยรวมนั้น อยู่ในระดับทรงตัว โดยสินเชื่อที่ชะลอตัวลง ส่วนหนึ่งมาจากการใช้คืนหนี้ แต่ก็มีเม็ดเงินใหม่เข้าไปในระบบสูงกว่าในช่วงก่อนหน้านี้ นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาในประเด็นด้านเสถียรภาพทางการเงิน พบว่ามีแนวโน้มและทิศทางดีขึ้น โดยหนี้ครัวเรือนและหนี้ภาคธุรกิจต่อจีดีพีลดลง แต่ก็ยังอยู่ในระดับสูง และอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับที่ไม่ซ้ำเติมการก่อหนี้ให้มากขึ้น ก็จะช่วยลดความเปราะบางของสินเชื่อลงได้
ทั้งนี้ กนง.ยังคงตระหนักถึงผลกระทบต่อลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะครัวเรือนผู้มีรายได้น้อย จึงมีความจำเป็นต้องมีมาตรการดูแลเฉพาะจุด ซึ่ง ธปท.มีมาตรการอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ในช่วงเกิดโควิด และล่าสุดได้ออกมาตการการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม และการคุ้มครองลูกหนี้ ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2567
@การบริโภคขยายตัวดี ย้ำยังไม่เข้าภาวะ‘เงินฝืด’
เมื่อถามว่า รัฐบาลบอกว่า เงินเฟ้อติดลบ 4 เดือน อาจเข้าข่ายภาวะเงินฝืด จึงขอให้ใช้นโยบายการเงินเข้ามาช่วยกระตุ้น กนง. มีมุมมองอย่างไร นายปิติ กล่าวว่า ถ้าเป็นเรื่องนิยามภาวะเงินฝืดแล้ว คงถกเถียงกันได้ระดับหนึ่ง ซึ่งภาวะเงินฝืดจะมาพร้อมกับแรงซื้อที่หายไปเลย คือ คนไม่ใช้จ่ายเลย และทำให้ราคาสินค้าลดลงในวงกว้าง รวมทั้งถ้าเป็นเรื่องของกำลังซื้อที่หมดไป ก็ต้องหมดไประยะหนึ่ง ไม่ใช่หมดไปวันเดียวแล้วกลับขึ้นมาใหม่ แต่ภาพที่เราเห็นไม่ใช่แบบนั้น
“ตัวเลขของสภาพัฒน์และเครื่องชี้อื่นที่เราดู ก็ชี้ว่าการบริโภคในภาพรวมขยายตัวค่อนข้างดี ปีที่แล้ว 3 ไตรมาสแรก ขยายตัว 7-8% ถือว่าสูงเป็นประวัติการณ์ และจากเครื่องชี้ล่าสุดก็ยังขยายตัวต่อเนื่อง จึงเป็นภาพที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวอยู่ ไม่ได้มีภาวะเงินฝืด” นายปิติ กล่าว
เมื่อถามว่า แรงกดดันทางการเมือง มีผลต่อการตัดสินใจของคณะกรรมการฯ หรือไม่ นายปิติ กล่าวว่า การพูดคุยเรื่องดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมา ก็เป็นเรื่องปกติที่ต้องมีการมองจากหลายภาคส่วน ซึ่งเป็นเรื่องดีและเป็นประโยชน์ เพราะทำให้เราได้มองในหลายแง่มุม และทำให้แน่ใจว่าเราไม่ลืมอะไรไป ซึ่งในต่างประเทศเอง ก็มีการดีเบตกันอย่างกว้างขวางในการดำเนินนโยบายโดยทั่วไป รวมถึงนโยบายการเงินด้วย
อ่านประกอบ :
มติเอกฉันท์! กนง.คงดอกเบี้ยนโยบาย 2.5%-หั่นคาดการณ์จีดีพีปีนี้เหลือ 2.4%
3 กรรมการ'กนง.'ฝั่ง'แบงก์ชาติ' มองทิศทาง'ดอกเบี้ยนโยบาย' ท่ามกลาง'ปัจจัยเสี่ยง-แรงกดดัน'
เงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้น! กนง.มีมติเอกฉันท์ขึ้นดบ. 0.25% สู่ระดับ2.5%-มองGDPปีนี้โต 2.8%
สู่ระดับ 2.25%! 'กนง.'มีมติเอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ย 0.25%-มอง'เงินเฟ้อ'มีความเสี่ยงด้านสูง
มติเอกฉันท์! ‘กนง.’เคาะขึ้นดบ. 0.25% สู่ระดับ 2% มองเศรษฐกิจอาจโตเกินคาด-จับตาเงินเฟ้อ
มติเอกฉันท์! กนง.ขึ้นดอกเบี้ย 0.25%สู่ระดับ 1.75% สกัดเงินเฟ้อ-จับตาตลาดการเงินโลกผันผวน
มติเอกฉันท์! กนง.ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% สกัดเงินเฟ้อ-มองศก.ไทยฟื้นต่อเนื่อง แม้ส่งออกแผ่ว
กนง.มีมติเอกฉันท์ขึ้นดบ.นโยบาย 0.25% สู่ระดับ 1.25%-จับตาเศรษฐกิจโลกเสี่ยงชะลอกว่าคาด
มติเอกฉันท์! กนง.ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จับตา‘เงินบาท’ใกล้ชิด-มองจีดีพีปีนี้โต 3.3%
‘ผู้ว่าฯธปท.’ย้ำไม่จำเป็นต้อง‘รีบเร่ง’ขึ้นดอกเบี้ย-คาด‘เงินเฟ้อ’กลับสู่กรอบกลางปี 66
‘ผู้ว่าฯธปท.’ยันการขึ้นดอกเบี้ยของไทยไม่ได้ช้าไป-ชี้โอกาสเกิด Stagflation เป็นไปได้น้อย
ผู้ว่าฯธปท. : ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ‘ส่วนต่างดอกเบี้ย-ค่าเงิน-ทุนเคลื่อนย้าย-ทุนสำรอง’
กลับสู่ภาวะปกติ!‘ผู้ว่าฯธปท.’ชี้ไม่ได้ขึ้น‘ดอกเบี้ย’ทีเดียวแล้วจบ-คาดGDPไตรมาส 2 โต 3%