กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.5% ระบุเป็นอัตราที่เหมาะสมกับบริบทเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัว-เอื้อให้ 'เงินเฟ้อ' อยู่ในกรอบเป้าหมาย หั่นคาดการณ์จีดีพีปี 66 เหลือ 2.4% ส่วนปีหน้าโต 3.8%
..........................................
เมื่อวันที่ 29 พ.ย. นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ว่า คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 2.50 ต่อปี โดยในการประชุมครั้งนี้ กรรมการ 1 ท่านลาประชุม
เศรษฐกิจไทยในภาพรวมอยู่ในทิศทางฟื้นตัวต่อเนื่อง แม้ภาคการส่งออกและการผลิตที่เกี่ยวข้องชะลอลง โดยในปี 2567 และ 2568 เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวอย่างสมดุลขึ้น จากอุปสงค์ในประเทศ การท่องเที่ยว และการฟื้นตัวของภาคการส่งออก ด้านอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้นในปี 2567 ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและแรงกดดันด้านอุปทานจากปรากฏการณ์เอลนีโญ
คณะกรรมการฯ ประเมินว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับปัจจุบันเหมาะสมกับบริบทที่เศรษฐกิจกำลังทยอยฟื้นตัวกลับสู่ระดับศักยภาพ เอื้อให้เงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมายอย่างยั่งยืน เสริมสร้างเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว และป้องกันการสะสมความไม่สมดุลทางการเงิน อีกทั้งช่วยรักษาขีดความสามารถของนโยบายการเงินในการรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้า จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้
เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 2.4 และ 3.2 ในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ ทั้งนี้ หากรวมผลของโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล อัตราการขยายตัวในปี 2567 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 3.8 ลดลงจากร้อยละ 4.4 ที่ประเมินไว้ในการประชุมครั้งก่อน ในภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัว โดยได้รับแรงส่งจากการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวดีตามการใช้จ่ายในหมวดบริการ รวมทั้งแรงสนับสนุนจากการจ้างงานและรายได้แรงงานที่ปรับดีขึ้น
ขณะที่ภาคการส่งออกสินค้าและภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด ส่วนหนึ่งจากเศรษฐกิจจีนและวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์โลกที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ในระยะต่อไป เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวสมดุลมากขึ้น ภายใต้บริบทที่ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อเนื่องและภาคการส่งออกสินค้ากลับมาขยายตัว แต่มีความเสี่ยงที่อาจไม่ได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเท่าที่คาดจากปัจจัยเชิงโครงสร้างที่เปลี่ยนแปลงไป
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มอยู่ในกรอบเป้าหมาย และคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 1.3 และ 2.0 ในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ โดยหากรวมผลของโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2567 จะอยู่ที่ร้อยละ 2.2 ลดลงจากร้อยละ 2.6 จากประมาณการครั้งก่อน อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2566 ปรับลดลงจากฐานที่สูงในปีก่อนหน้าและปัจจัยชั่วคราวโดยเฉพาะมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพด้านพลังงาน และราคาอาหารสดที่ต่ำกว่าคาด
ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ยังไม่รวมผลของโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัลคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 1.3 และ 1.2 ในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ ทั้งนี้ ยังต้องติดตามความเสี่ยงจากต้นทุนราคาอาหารที่อาจปรับสูงขึ้นจากปรากฏการณ์เอลนีโญ รวมถึงความไม่แน่นอนของสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่อาจส่งผลให้ราคาพลังงานโลกปรับสูงขึ้น
ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ ธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง แต่ต้องติดตามพัฒนาการของคุณภาพสินเชื่อที่อาจได้รับแรงกดดันจากความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ประกอบการ SMEs และครัวเรือนบางส่วนที่ยังเปราะบางจากภาระหนี้ที่สูงขึ้นและรายได้ที่ยังฟื้นตัวช้า
คณะกรรมการฯ สนับสนุนการดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมาตรการเฉพาะจุดและแนวทางแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนสำหรับกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะมาตรการการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending)
ภาวะการเงินโดยรวมตึงตัวขึ้นบ้าง โดยต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนโน้มสูงขึ้นตามการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ผ่านมา แต่ในภาพรวมไม่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยสินเชื่อธุรกิจเริ่มทรงตัวสอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าสอดคล้องสกุลเงินภูมิภาค ตามการคาดการณ์ทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ เป็นสำคัญ
ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยทยอยฟื้นตัวกลับเข้าสู่ระดับศักยภาพ และอัตราเงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมาย โดยอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาว
ทั้งนี้ การดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้าจะพิจารณาให้เหมาะสมกับแนวโน้มและความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ
@เศรษฐกิจฟื้นต่อเนื่องนำโดย‘ภาคบริการ’
นายปิติ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัวต่อเนื่อง และกลับมาอยู่เหนือระดับก่อนโควิดแล้ว เมื่อมองไปข้างหน้าเศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยแรงผลักดันสำคัญในช่วงที่ผ่านมา คือ นักท่องเที่ยวต่างชาติที่กลับเข้ามา และคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับเข้าสู่แนวโน้มปกติได้ในช่วงปลายปี 2568 อย่างไรก็ดี แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจยังกลับมาไม่ครบ เนื่องจากภาคการผลิตและภาคการส่งออกยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่
“นักท่องเที่ยวจีนมาน้อยกว่าที่เราคาดไว้ จากปัญหาต่างๆและการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวจีนด้วย รวมทั้งมีความเป็นไปได้ว่า ในระยะยาวอาจมีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่ว่า จำนวนนักท่องเที่ยวจีนจะมีสัดส่วนน้อยกว่า แต่ในขณะเดียวกันจะมีนักท่องเที่ยวที่ไม่ใช่มาจากจีนเข้ามาทดแทน ส่วนตัวที่ยังมีความแผ่วอยู่ คือ การส่งออก ซึ่งสะท้อนไปยังดัชนีการผลิตของผู้ประกอบการที่มีธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการส่งออกค่อนข้างเยอะ” นายปิติ ระบุ
นายปิติ ระบุด้วยว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยหลังโควิด-19 นั้น นำโดยภาคบริการเป็นสำคัญ โดยการบริโภคบริการเพิ่มขึ้นแรงและต่อเนื่อง ส่วนการบริโภคสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป นอกจากนี้ การฟื้นตัวของภาคบริการยังเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ และทำให้ภาคแรงงานโดยรวมกลับมาอยู่ในระดับเหนือก่อนโควิด อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาข้อมูล GDP พบว่า กิจกรรมด้านการผลิตและการใช้จ่ายในภาคบริการ มีความแตกต่างกันมากขึ้นตั้งแต่ช่วงหลังโควิด-19
@ลดคาดการณ์จีดีพีปี 67 เหลือ 3.8% จาก 4.4%
นายปิติ กล่าวว่า กนง.ได้ปรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจไทยใหม่ โดยในปี 2566 คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวที่ 2.4% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 2.8% ส่วนปี 2567 คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 3.2% แต่ถ้ารวมผลจากโครงการดิจิทัลวอลเลตแล้ว เศรษฐกิจไทยปี 2567 จะขยายตัว 3.8% ลดลงจากประมาณการครั้งก่อนที่คาดว่าจะขยายตัว 4.4% เนื่องจากนักท่องเที่ยวต่างชาติน้อยกว่าที่คาดไว้เดิม และการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขโครงการดิจิทัลวอลเลต
“เหตุผลหลักๆที่ทำต้องปรับประมาณการเศรษฐกิจในปีหน้าลดลง ส่วนหนึ่งมาจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะมาน้อยลงเมื่อเทียบกับที่ได้คาดไว้ในคราวที่แล้ว อีกส่วนหนึ่งเป็นเรื่องโครงการดิจิทัลวอลเลต ซึ่งเงื่อนเวลาอาจมาช้ากว่าที่เราตั้งสมมติฐานไว้ รวมทั้งรูปแบบและเม็ดเงินก็เปลี่ยนไปด้วย แต่โดยภาพรวมแล้ว เศรษฐกิจยังฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ส่วนปี 2568 คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 3% บวกลบ ใกล้เคียงกับศักยภาพของเรา” นายปิติ กล่าว
นายปิติ ระบุว่า ในแง่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปนั้น ตัวเลขที่ออกมาในเดือน ต.ค.2566 ติดลบ ขณะที่ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยชั่วคราว ไม่ว่าจะเป็นมาตรการภาครัฐที่ช่วยอุดหนุนค่าไฟฟ้ากับราคาน้ำมัน รวมทั้งราคาอาหารสดปรับตัวลดลงจากปัจจัยเฉพาะ โดยปัจจัยชั่วคราวดังกล่าวจะค่อยๆหมดไป และทำให้ในระยะข้างหน้าเงินเฟ้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และทรงตัวอยู่ในกรอบเป้าหมาย
“เมื่อพิจารณาในแง่เศรษฐกิจและแง่เงินเฟ้อแล้ว คณะกรรมการฯมองว่า ในภาพรวมความเสี่ยงทั้งขาสูงและขาต่ำ มีความสมดุล มีความเสี่ยงค่อนข้างเยอะ โดยปีหน้ามีความเสี่ยงทั้งจากภายนอก เช่น เศรษฐกิจโลก สถานการณ์ในตะวันออกกลาง ราคาน้ำมันโลก ส่วนภายในประเทศนั้น มีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับมาตรการรัฐ ว่า จะมีเงื่อนเวลาและรูปแบบอย่างไร” นายปิติ กล่าว
ทั้งนี้ คณะกรรมการฯคาดว่าเงินเฟ้อทั่วไปปี 2567 จะอยู่ที่ 2% แต่หากรวมโครงการดิจิทัลวอลเลต เงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 2.2% ส่วนปี 2568 คาดว่าเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 2% แต่หากรวมโครงการดิจิทัลวอลเลต เงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 1.9% ขณะที่เศรษฐกิจปี 2567 คาดว่าจะขยายตัว 3.2% แต่หากรวมโครงการดิจิทัลวอลเลต เศรษฐกิจจะขยายตัว 3.8% ส่วนปี 2568 คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 3.1% แต่หากรวมโครงการดิจิทัลวอลเลต เศรษฐกิจจะขยายตัว 2.8%
@ดอกเบี้ยขึ้น 2% ไม่ทำให้‘หนี้เสีย’เพิ่มขึ้นมาก
นายปิติ ย้ำว่า คณะกรรมการฯ เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันสอดคล้องกับแนวโน้ม underlying ของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ และเหมาะสมกับการดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจระยะปานกลาง สะท้อนได้จากการขยายตัวของจีดีพีทยอยกลับสู่ระดับศักยภาพ เงินเฟ้อกลับสู่กรอบเป้าหมาย หนี้ในระบบเศรษฐกิจ ทั้งหนี้ธุรกิจและหนี้ครัวเรือนทยอยปรับลดลง แต่ยังคงเป็นประเด็นความเสี่ยงที่ต้องแก้ไขต่อไป และอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันอยู่ในระดับ Neutral
“อัตราดอกเบี้ยที่ปรับขึ้น 2% ในช่วงที่ผ่านมา ถือว่าค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ทั้งในเอเชียและประเทศพัฒนาแล้ว และการส่งผ่านของเราไม่ได้สูงมากไปกว่าประเทศในแถบนี้ โดยรวมแล้ว เราอยู่ในโหมดที่กลับสู่สภาพปกติ จึงเป็นเหตุผลที่คณะกรรมการฯมีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ และคิดว่าอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบัน เหมาะสมกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการมีเสถียรภาพในระยะยาวแล้ว” นายปิติ กล่าว
นายปิติ ยังระบุว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจาก 0.5% สู่ระดับ 2.5% หรือเพิ่มขึ้น 2% ในช่วงที่ผ่านมา นั้น มีการส่งผ่านไปยังดอกเบี้ย MLR และ MRR ประมาณ 1.5-1.6% หรือ 60-70% ซึ่งการปรับขึ้นดอกเบี้ยดังกล่าวส่งผลกระทบต่อลูกหนี้แต่ละกลุ่มแตกต่างกัน โดยในกลุ่มเปราะบาง และเอสเอ็มอี ได้มีมาตรการเฉพาะจุดมาช่วยดูแลอยู่ ส่วนการเปลี่ยนแปลงคุณภาพสินเชื่อโดยรวมนั้น ดอกเบี้ยเป็นแค่ส่วนหนึ่ง และต้องขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมด้วย
“ในภาพรวม NPL (หนี้เสีย) ทรงตัวอยู่ในระดับที่ไม่ได้สูงมาก และมองไปข้างหน้า ธนาคารพาณิชย์ก็มีแผนชัดเจนในการจัดการหนี้ที่มีปัญหา แต่ยังต้องติดตามต่อไป” นายปิติ ย้ำ
@เศรษฐกิจ‘วิกฤติ-ไม่วิกฤติ’ขึ้นอยู่กับการตีความ
นายปิติ กล่าวถึงแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป ว่า คณะกรรมการฯได้พิจารณาแนวโน้ม Outlook ในระยะข้างหน้า รวมทั้งพิจารณาฉากทัศน์ทั้งเชิงบวกและเชิงลบแล้ว เห็นว่า ณ จุดนี้ ที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 2.5% ซึ่งใกล้เคียงกับระดับ Neutral นั้น น่าจะรอบรับเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ระดับหนึ่ง แต่คงไม่มี bias (อคติ) ว่า จะขึ้นดอกเบี้ยหรือลดดอกเบี้ยอะไร
“ไม่ได้มี bias (อคติ) ว่าจะขึ้น (ดอกเบี้ย) หรือลงอะไร แค่มองว่าตอนนี้ ภาพโดย baseline เป็นไปอย่างที่มองไว้ และถึงแม้จะมีการปรับลดตัวเลขลงบ้าง ทั้งเงินเฟ้อและจีดีพี แต่ในแง่แนวโน้มหลัก ไม่ได้เปลี่ยนไป และถ้ามองทิศทางการฟื้นตัวทั้งเงินเฟ้อและเศรษฐกิจ รวมทั้งสินเชื่อที่ค่อยลงมา เป็นอะไรที่เรามองไว้แล้ว ดังนั้น นโยบายที่ขึ้น (ดอกเบี้ย) มาถึงจุดนี้ คิดว่ารองรับได้ในหลายสถานการณ์” นายปิติ กล่าว
นายปิติ ระบุด้วยว่า “ณ ตอนนี้ เราขึ้น (ดอกเบี้ย) มาอยู่ในระดับที่เรียกว่าใกล้ Neutral และเงินเฟ้อก็กลับเข้ามาอยู่ในกรอบแล้ว หากไม่มีอะไรมากระทบแบบมีนัยยะต่อ Outlook ของเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และเสถียรภาพทางการเงิน จุดยืนในปัจจุบันถือว่าเหมาะสม ไม่ได้มีว่าจะต้องลดหรือจะต้องเพิ่มอะไรในระยะอันใกล้”
นายปิติ กล่าวต่อว่า นับตั้งแต่เกิดวิกฤติโควิด เศรษฐกิจไทยเดินมาไกลพอสมควร โดยผู้มีงานทำทุกสาขาการผลิตเพิ่มขึ้นสูงกว่าระดับก่อนโควิดแล้ว ระดับจีดีพีก็กลับสู่ระดับเหนือก่อนโควิด เงินเฟ้อที่เคยสูงถึง 8% ในปีที่แล้ว ลดลงสู่ระดับ 1% ในปีนี้ และเศรษฐกิจไทยก็ทยอยขึ้นไป ดังนั้น น่าจะถึงเวลาที่เหมาะสมในการเข้ามาดูเรื่องการพลิกฟื้นศักยภาพของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว และศักยภาพการแข่งขันของภาคส่งออก ซึ่งคณะกรรมการฯให้ความสำคัญในเรื่องนี้
“ถ้ามองในแง่การขยายตัว แม้ว่าปีนี้อาจจะน้อยกว่าที่เรามองไว้ระดับหนึ่ง แต่ถ้ามองไปข้างหน้า การกลับมาของภาคการส่งออกที่คิดว่าจะขยายตัว และมาเพิ่มสมดุลให้กับการขยายตัว เงินเฟ้อที่อยู่ในกรอบ เสถียรภาพการเงินก็โน้มเข้าสู่ในกรอบ กรรมการฯจึงคิดว่าจุดยืนนโยบายเหมาะสมอยู่ และคงขึ้นอยู่จะตีความว่า วิกฤติหรือไม่วิกฤติ แต่ภาพเศรษฐกิจเป็นอย่างนี้จริงๆ” นายปิติ ตอบคำถามผู้สื่อข่าวที่ถามว่า เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะวิกฤติหรือไม่
เมื่อถามว่า เศรษฐกิจในเวลานี้มีความจำเป็นต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่ นายปิติ กล่าวว่า “ตอนนี้เข้าใจว่ามาตรการที่พิจารณาอยู่ คือ ดิจิทัลวอลเลต ซึ่งเป็นมาตรการที่รัฐบาลกำลังพิจารณาอยู่ แต่ยังมีความไม่แน่นอนทั้งในแง่กระบวนการและรูปแบบ ทั้งนี้ หากพิจารณาถึงศักยภาพของเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัว 3% บวกลบ แล้ว ตอนนี้ก็ถือว่าการขยายตัวเศรษฐกิจในปีหน้า ใกล้เคียงหรือสูงกว่าศักยภาพเศรษฐกิจไทยเล็กน้อย และฟื้นตัวต่อเนื่อง”
เมื่อถามว่า การปรับเพิ่มเงินเดือนข้าราชการ และการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ จะเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อหรือไม่ นายปิติ กล่าวว่า คณะกรรมการฯได้นำปัจจัยการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการมาพิจารณาในการประชุมครั้งนี้ ส่วนการประชุมในครั้งที่แล้วได้พิจารณาปัจจัยเรื่องการปรับค่าจ้างขั้นต่ำไปแล้ว ซึ่งการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการที่เพิ่งประกาศไปนั้น มีผลน้อยกว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และมีผลกระทบต่อเงินเฟ้อน้อยมาก
“รูปแบบที่เป็นปัจจุบัน กระทบแค่ข้าราชการแรกเข้า ซึ่งไม่ได้เยอะขนาดนั้น โดยรวม คิดว่าจะมีผลกระทบต่อค่าจ้างโดยรวมประมาณ 0.15% โดย 0.15% ที่ต่อไปยังเงินเฟ้อ ยิ่งน้อยเข้าไปใหญ่ ดังนั้น ในภาพรวมผลต่อเงินเฟ้อไม่ได้เยอะมากจนมีนัยยะ” นายปิติ กล่าว
อ่านประกอบ :
3 กรรมการ'กนง.'ฝั่ง'แบงก์ชาติ' มองทิศทาง'ดอกเบี้ยนโยบาย' ท่ามกลาง'ปัจจัยเสี่ยง-แรงกดดัน'
เงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้น! กนง.มีมติเอกฉันท์ขึ้นดบ. 0.25% สู่ระดับ2.5%-มองGDPปีนี้โต 2.8%
สู่ระดับ 2.25%! 'กนง.'มีมติเอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ย 0.25%-มอง'เงินเฟ้อ'มีความเสี่ยงด้านสูง
มติเอกฉันท์! ‘กนง.’เคาะขึ้นดบ. 0.25% สู่ระดับ 2% มองเศรษฐกิจอาจโตเกินคาด-จับตาเงินเฟ้อ
มติเอกฉันท์! กนง.ขึ้นดอกเบี้ย 0.25%สู่ระดับ 1.75% สกัดเงินเฟ้อ-จับตาตลาดการเงินโลกผันผวน
มติเอกฉันท์! กนง.ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% สกัดเงินเฟ้อ-มองศก.ไทยฟื้นต่อเนื่อง แม้ส่งออกแผ่ว
กนง.มีมติเอกฉันท์ขึ้นดบ.นโยบาย 0.25% สู่ระดับ 1.25%-จับตาเศรษฐกิจโลกเสี่ยงชะลอกว่าคาด
มติเอกฉันท์! กนง.ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จับตา‘เงินบาท’ใกล้ชิด-มองจีดีพีปีนี้โต 3.3%
‘ผู้ว่าฯธปท.’ย้ำไม่จำเป็นต้อง‘รีบเร่ง’ขึ้นดอกเบี้ย-คาด‘เงินเฟ้อ’กลับสู่กรอบกลางปี 66
‘ผู้ว่าฯธปท.’ยันการขึ้นดอกเบี้ยของไทยไม่ได้ช้าไป-ชี้โอกาสเกิด Stagflation เป็นไปได้น้อย
ผู้ว่าฯธปท. : ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ‘ส่วนต่างดอกเบี้ย-ค่าเงิน-ทุนเคลื่อนย้าย-ทุนสำรอง’
กลับสู่ภาวะปกติ!‘ผู้ว่าฯธปท.’ชี้ไม่ได้ขึ้น‘ดอกเบี้ย’ทีเดียวแล้วจบ-คาดGDPไตรมาส 2 โต 3%