ที่ประชุม กนง. มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.5% แม้ ‘เงินเฟ้อ’ อยู่ในระดับต่ำ ประเมินจีดีพีปี 67 โต 2.6% ส่วนปีหน้า คาดขยายตัว 3%
............................................
เมื่อวันที่ 10 เม.ย. นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ว่า คณะกรรมการฯ มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.50 ต่อปี โดย 2 เสียง เห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี
ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยในปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่สูงขึ้นจากปีก่อน โดยได้รับแรงสนับสนุนต่อเนื่องจากการบริโภคภาคเอกชนและการท่องเที่ยว รวมทั้งมีแรงส่งจากการใช้จ่ายภาครัฐที่จะกลับมาเพิ่มขึ้นในช่วงที่เหลือของปี ขณะที่ภาคการส่งออกยังมีแรงกดดันจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง ด้านอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำจากปัจจัยด้านอุปทานและมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ โดยมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปลายปี 2567
กรรมการส่วนใหญ่เห็นว่า อัตราดอกเบี้ยปัจจุบันอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงิน รวมถึงเห็นว่านโยบายการเงินมีประสิทธิผลจำกัดในการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้ แต่ยังต้องติดตามความไม่แน่นอนของปัจจัยที่จะเข้ามากระทบเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า
ขณะที่กรรมการ 2 ท่าน เห็นว่าควรปรับลดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.25 ต่อปี เพื่อให้สอดคล้องกับศักยภาพเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่ำลงจากปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ชัดเจนขึ้น และจะมีส่วนช่วยบรรเทาภาระของลูกหนี้ได้บ้าง
เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 ขยายตัวชะลอลงจากการฟื้นตัวของภาคการส่งออกที่ล่าช้า การใช้จ่ายภาครัฐที่ลดลงมาก และแรงกดดันจากสินค้าคงคลังที่อยู่ในระดับสูงกว่าปกติ สำหรับปี 2567 ปัจจัยลบดังกล่าวจะทยอยลดลง ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่สูงขึ้น อยู่ที่ร้อยละ 2.6 และ 3.0 ในปี 2567 และ 2568 ตามลำดับ
โดยได้รับแรงสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่ปรับดีขึ้นทั้งในด้านจำนวนนักท่องเที่ยวและค่าใช้จ่ายต่อคน การบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวต่อเนื่องแม้จะชะลอลงจากปีก่อนที่ขยายตัวสูง และการใช้จ่ายภาครัฐที่จะกลับมาเพิ่มขึ้นในช่วงที่เหลือของปี ขณะที่การส่งออกมีแนวโน้มฟื้นตัวได้อย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงครึ่งหลังของปี
อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยโดยรวมที่โน้มต่ำลงหลังวิกฤตโควิด สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างที่กดดันศักยภาพเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการส่งออกและการผลิตที่เผชิญความท้าทายจากความสามารถในการแข่งขันที่ปรับลดลงและภาวะสินค้าล้นตลาด ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยได้รับผลดีจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจำกัด
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 0.6 และ 1.3 ในปี 2567 และ 2568 ตามลำดับ ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มอยู่ที่ร้อยละ 0.6 และ 0.9 ในปี 2567 และ 2568 ตามลำดับ ตามการปรับลดลงของราคาอาหารสดบางกลุ่มเนื่องจากปริมาณผลผลิตที่เข้าสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก อีกทั้งจากราคากลุ่มพลังงานที่ได้รับการสนับสนุนจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ ซึ่งหากหักผลของมาตรการดังกล่าว อัตราเงินเฟ้อทั่วไปตลอดช่วงที่ผ่านมายังคงเป็นบวก
ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะทยอยปรับเพิ่มขึ้นกลับเข้ากรอบเป้าหมายได้ภายในปลายปีนี้ โดยต้องติดตามปัญหาภูมิรัฐศาสตร์และมาตรการภาครัฐที่ส่งผลต่อราคาพลังงาน
ภาวะการเงินโดยรวมทรงตัว ต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนผ่านธนาคารพาณิชย์และตลาดตราสารหนี้ใกล้เคียงเดิม สินเชื่อภาคธุรกิจและครัวเรือนขยายตัวชะลอลงจากการชำระคืนหนี้ ขณะที่ปริมาณสินเชื่อปล่อยใหม่ในภาพรวมยังขยายตัว อย่างไรก็ดี ธุรกิจขนาดเล็กบางกลุ่มและครัวเรือนรายได้น้อยเผชิญภาวะการเงินที่ตึงตัว เนื่องจากมีปัญหาเชิงโครงสร้างในการเข้าถึงสินเชื่อมาต่อเนื่อง ประกอบกับความสามารถในการชำระหนี้ปรับลดลงจากรายได้ที่ฟื้นตัวช้า ซึ่งสอดคล้องกับยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพที่คาดว่าจะทยอยปรับเพิ่มขึ้นแต่ไม่เร่งตัวแบบก้าวกระโดด
นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ มีความกังวลเกี่ยวกับหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และเห็นความสำคัญของกระบวนการปรับลดสัดส่วนหนี้ต่อรายได้ (debt deleveraging) ที่ควรมีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยลดความเปราะบางของเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว รวมถึงพิจารณาว่านโยบายการเงินมีประสิทธิผลจำกัดในการแก้ปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อ จึงสนับสนุนนโยบายของ ธปท. ในการดำเนินมาตรการเฉพาะจุดผ่านสถาบันการเงิน โดยเฉพาะมาตรการการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending)
ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์ สรอ. เคลื่อนไหวผันผวน โดยอ่อนค่านำสกุลเงินภูมิภาค ตามการคาดการณ์ทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ประกอบกับปัจจัยด้านเศรษฐกิจการเงินในประเทศในช่วงที่ผ่านมา คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ติดตามความผันผวนของค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด
ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน กรรมการส่วนใหญ่ประเมินว่าอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันยังสอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ รวมทั้งเอื้อต่อการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว
อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังมีความไม่แน่นอนโดยเฉพาะการฟื้นตัวของภาคการส่งออก รวมทั้งผลของการเบิกจ่ายงบประมาณและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการดังกล่าวและพิจารณานโยบายการเงินให้เหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า
@มองเศรษฐกิจ‘เร่งตัว’ แม้ GDP ปี 67 จะโตแค่ 2.6%
นายปิติ กล่าวเพิ่มเติมว่า คาดว่าเศรษฐกิจปี 2567 จะขยายตัว 2.6% โดยมีแรงสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวและบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ตัวที่เคยเป็นแรงฉุดของเศรษฐกิจในปีที่แล้ว โดยเฉพาะเรื่องสินค้าคงคลังและการเบิกจ่ายภาครัฐนั้น จะค่อยๆทยอยหมดไป และกลายมาเป็นแรงส่งต่อเศรษฐกิจตั้งแต่ไตรมาส 3/2567 ส่วนภาคส่งออกจะขยายตัวได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป แม้ว่าปัจจัยในเชิงโครงสร้างยังเป็นสิ่งที่ต้องดูแลกันต่อไป
“ในภาพใหญ่ เราคาดว่าจีดีพีปีนี้จะขยายตัว 2.6% และปีหน้าประมาณ 3% ซึ่งตัวเลข 2.6% นั้น ถ้าดูเทียบกันแล้ว ก็เป็นตัวเลขการขยายตัวที่ไม่สูงมากนัก แต่ถ้าดูในแง่แรงส่ง หรือการเปลี่ยนแปลงที่เปรียบเทียบเป็นไตรมาสต่อไตรมาส จะเห็นการเร่งขึ้นของเศรษฐกิจไทยในระดับที่สูงพอสมควร คือ เติบโตเฉลี่ย 1% ต่อไตรมาส ถ้าคิดเป็นแบบรายปี ก็โตประมาณ 4% ซึ่งถือเป็นอัตราการขยายตัวที่เร่งตัวในระดับที่ไม่เลวในภาพใหญ่” นายปิติ กล่าว
และย้ำว่า “ถึงแม้ตัวเลขโดยรวมอาจไม่ได้สูงมากนัก แต่ภายใต้ตัวเลขนั้น แรงส่งของเศรษฐกิจในช่วง 3 ไตรมาสแรก อยู่ในระดับค่อนข้างดี”
นายปิติ ระบุด้วยว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/2567 คาดว่าจะขยายตัวที่ระดับ 1% เมื่อเปรียบเทียบแบบปีต่อปี (YoY) ซึ่งดูเหมือนว่าจะต่ำ แต่หากเปรียบเทียบเป็นไตรมาสต่อไตรมาสแล้ว ถือว่าเศรษฐกิจมีการเร่งตัวในระดับที่สูง และเศรษฐกิจปี 2567 ที่คาดว่าจะขยายตัวที่ 2.6% นั้น เป็นอัตราการขยายตัวที่สูงกว่าปีที่แล้ว และเป็นอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ใกล้เคียงกับศักยภาพเศรษฐกิจไทยในภาพรวม
ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ประเมินว่าในปี 2567 การบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวที่ 3.5% จากปีแล้วที่ขยายตัวสูงถึง 7.1% ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติคาดว่าจะอยู่ที่ 35.5 ล้านคน จากปีที่แล้ว 28.2 ล้านคน โดยในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ มีนักท่องเที่ยวฯเข้ามาแล้วกว่า 10 ล้านคน ซึ่งสูงกว่าที่คาดและการใช้จ่ายต่อหัวก็สูงกว่าที่เคยมองไว้เช่นกัน สำหรับภาคการส่งออกคาดว่าจะขยายตัว 2% ในแง่มูลค่า จากปีที่แล้วที่การส่งออกติดลบ 1.7% ในแง่มูลค่า ขณะที่การลงทุนภาครัฐจะขยายตัว 1% จากปีที่แล้วที่ติดลบ 4.6% เป็นต้น
“คณะกรรมการฯมองว่า ตัวเลขที่ให้ไว้ 2.6% ในปีนี้ และ 3.6% ในปีหน้า เป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสมดุลในแง่ความเสี่ยง มีทั้ง upside และ downside ที่ใกล้เคียงกัน โดยด้านบวก คือ อุปสงค์ที่ขยายตัวดีกว่าคาด โดยเฉพาะจากมาตรการกระตุ้นภาครัฐ ซึ่งจะมีการเบิกจ่ายดีกว่าคาด และยังมีเรื่องดิจิทัลวอลเลตมาเสริม ส่วนการท่องเที่ยวก็มี upside ในแง่จำนวนนักท่องเที่ยวและการใช้จ่ายต่อหัว ในขณะที่ปัจจัยด้านลบ ก็เป็นไปได้ว่า ความสามารถในการนำเม็ดเงินเข้าสู่เศรษฐกิจจากการเร่งเบิกจ่ายภาครัฐ จะทำไม่ได้เต็มที่ และการส่งออกจะฟื้นตัวได้อย่างที่คาดหรือไม่” นายปิติ กล่าว
นายปิติ กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ และโครงการดิจิทัลวอลเลต ว่า ทั้ง 2 เรื่อง ได้รวมอยู่ในฉากทัศน์ในการวิเคราะห์เศรษฐกิจครั้งนี้แล้ว ซึ่งเรื่องอสังหาริมทรัพย์นั้น แม้ว่าจะมีแรงกระตุ้นเศรษฐกิจบ้าง แต่ก็มีไม่มากนัก ส่วนโครงการดิจิทัลวอลเลตที่คาดว่าจะเข้ามาในช่วงไตรมาส 4/2567 จะมีผลต่อเศรษฐกิจปี 2567 ไม่มากนัก ส่วนใหญ่จะมีผลในปี 2568 มากกว่า
“เรื่องอสังหาริมทรัพย์ ก็มีแรงกระตุ้นบ้าง แต่ก็ไม่ได้เยอะ ส่วนดิจิทัลวอลเลตที่คาดว่าจะเข้ามาในช่วงไตรมาส 4/2567 เนื่องจากเป็นช่วงปลายปี ก็จะมีผลในปีนี้ไม่ค่อยเยอะ ส่วนใหญ่จะมีผลในปีหน้ามากกว่า และในภาพรวมที่เราเคยประเมินไว้ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ลักษณะตัวโครงการฯ จะมีการทอนจากการซื้อของจากต่างประเทศ ทำให้ผลโดยรวมไม่ได้เยอะ จนจะต้องกระทบต่อการกำหนดนโยบาย แต่ต้องขอดูรายละเอียดโครงการ (ดิจิทัลวอลเลต) ก่อน” นายปิติ กล่าว
@มอง‘เงินเฟ้อ’มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น-กลับสู่กรอบปลายปีนี้
นายปิติ กล่าวว่า ในด้านอัตราเงินเฟ้อนั้น เมื่อมองไปข้างหน้า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน มีแนวโน้มทยอยเพิ่มขึ้น และจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายภายในปลายปีนี้ หลังจากอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำจากแรงกดดันด้านอุปทานและมาตรการด้านพลังงานของภาครัฐ โดยคณะกรรมการฯมองว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2567 จะอยู่ที่ 0.6% และปี 2568 จะอยู่ที่ 1.3% ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปี 2567 จะอยู่ที่ 0.6% และปี 2568 จะอยู่ที่ 0.9%
สำหรับภาวะการเงินนั้น แม้ว่าสินเชื่อธุรกิจชะลอตัวจากการชำระคืนหนี้ แต่เม็ดเงินสินเชื่อโดยรวมยังเพียงพอต่อความต้องการของภาคธุรกิจ ในขณะที่กลุ่มธุรกิจขนาดเล็กบางกลุ่มเผชิญภาวะการเงินตึงตัว เนื่องจากสถาบันการเงินระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งสะท้อนความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการ สำหรับสินเชื่อครัวเรือนยังคงขยายตัว ท่ามกลางระดับหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง
“คณะกรรมการฯมองว่า เรื่องอัตราดอกเบี้ย ไม่ได้เป็นเครื่องมือหลักในการแก้ปัญหาหนี้ที่อยู่ในระดับสูง แต่เป็นหนึ่งในพื้นฐานที่ทำให้ปัญหาไม่แย่ลง ในการไปก่อหนี้เพิ่มขึ้นมากเกินไป และการแก้เรื่องนี้ เรื่องดอกเบี้ยก็ไม่ใช่เครื่องมือที่ดีที่สุดหรือมีประสิทธิภาพที่สุด แต่จะต้องอาศัยมาตรการเฉพาะในเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ และต้องทำให้เศรษฐกิจมีการฟื้นตัวกลับมาเต็มศักยภาพด้วย” นายปิติ กล่าว
นายปิติ ระบุว่า ได้มีการทำแบบจำลองเชิงสถิติพบว่า หากลดดอกเบี้ยนโยบายลง 1% จะช่วยลดภาระหนี้ในระยะสั้น แต่ยอดหนี้จะเพิ่มขึ้นในระยะยาว และยอดหนี้คงค้างที่อยู่ในระดับสูงนั้น จะส่งผลลบต่อเศรษฐกิจในระยะยาว โดยเฉพาะส่งผลกระทบต่ออำนาจซื้อของประชาชน
นายปิติ กล่าวว่า ในส่วนค่าเงินบาทนั้น ในช่วงหลังค่าเงินบาทมีการเคลื่อนไหวผันผวนสูง โดยค่าเงินบาทอ่อนค่าลง ตามทิศทางของอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯที่ดูเหมือนว่าจะอยู่ในระดับปัจจุบันนานขึ้น รวมทั้งมีปัจจัยภายในประเทศที่ทำให้เงินบาทอ่อนค่ามากกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยเรื่องราคาทองคำ และตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาไม่ค่อยดีตามที่คาดไว้ เป็นต้น
อ่านประกอบ :
'นายกฯ'เรียกร้อง'ธปท.'นัดประชุม'กนง.'ก่อนกำหนด ถกลด'ดอกเบี้ย'หลังมีข้อมูลใหม่'สภาพัฒน์'
มติ 5 ต่อ 2! 'กนง.'เสียงแตก คงดอกเบี้ยนโยบาย 2.5%-หั่นคาดการณ์จีดีพีปี 67 โตไม่เกิน 3%
มติเอกฉันท์! กนง.คงดอกเบี้ยนโยบาย 2.5%-หั่นคาดการณ์จีดีพีปีนี้เหลือ 2.4%
3 กรรมการ'กนง.'ฝั่ง'แบงก์ชาติ' มองทิศทาง'ดอกเบี้ยนโยบาย' ท่ามกลาง'ปัจจัยเสี่ยง-แรงกดดัน'
เงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้น! กนง.มีมติเอกฉันท์ขึ้นดบ. 0.25% สู่ระดับ2.5%-มองGDPปีนี้โต 2.8%
สู่ระดับ 2.25%! 'กนง.'มีมติเอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ย 0.25%-มอง'เงินเฟ้อ'มีความเสี่ยงด้านสูง
มติเอกฉันท์! ‘กนง.’เคาะขึ้นดบ. 0.25% สู่ระดับ 2% มองเศรษฐกิจอาจโตเกินคาด-จับตาเงินเฟ้อ
มติเอกฉันท์! กนง.ขึ้นดอกเบี้ย 0.25%สู่ระดับ 1.75% สกัดเงินเฟ้อ-จับตาตลาดการเงินโลกผันผวน
มติเอกฉันท์! กนง.ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% สกัดเงินเฟ้อ-มองศก.ไทยฟื้นต่อเนื่อง แม้ส่งออกแผ่ว
กนง.มีมติเอกฉันท์ขึ้นดบ.นโยบาย 0.25% สู่ระดับ 1.25%-จับตาเศรษฐกิจโลกเสี่ยงชะลอกว่าคาด
มติเอกฉันท์! กนง.ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จับตา‘เงินบาท’ใกล้ชิด-มองจีดีพีปีนี้โต 3.3%
‘ผู้ว่าฯธปท.’ย้ำไม่จำเป็นต้อง‘รีบเร่ง’ขึ้นดอกเบี้ย-คาด‘เงินเฟ้อ’กลับสู่กรอบกลางปี 66
‘ผู้ว่าฯธปท.’ยันการขึ้นดอกเบี้ยของไทยไม่ได้ช้าไป-ชี้โอกาสเกิด Stagflation เป็นไปได้น้อย
ผู้ว่าฯธปท. : ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ‘ส่วนต่างดอกเบี้ย-ค่าเงิน-ทุนเคลื่อนย้าย-ทุนสำรอง’
กลับสู่ภาวะปกติ!‘ผู้ว่าฯธปท.’ชี้ไม่ได้ขึ้น‘ดอกเบี้ย’ทีเดียวแล้วจบ-คาดGDPไตรมาส 2 โต 3%