‘ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ’ คาดเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 โตเกิน 3% เหตุบริโภคในประเทศ-การท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อเนื่อง ย้ำ ‘กนง.’ จะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายแบบค่อยเป็นค่อยไป เผยไม่ใช่การขึ้นดอกเบี้ยทีเดียวแล้วจบ
...................................
เมื่อวันที่ 22 ก.ค. นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในงาน Meet the Press หัวข้อ Policy Normalization : ทำอย่างไรให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ไม่สะดุด โดยระบุว่า วันนี้เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณฟื้นตัวต่อเนื่องและฟื้นตัวชัดเจน โดยไตรมาสแรกปีนี้เศรษฐกิจขยายตัว 2.2% ส่วนไตรมาส 2 คาดว่าจะขยายตัวมากกว่า 3% ทำให้ทั้งปี 2565 คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 3.3% และปี 2566 เศรษฐกิจจะขยายตัวที่ 4.2%
“ไตรมาสที่ 2 ตัวเลขทางการยังไม่ออก แต่เท่าที่ดูตัวเลขและตัวชี้วัดต่างๆ คาดว่าการเติบโตของจีดีพีน่าจะอยู่ที่ 3% ซึ่งอันหนึ่งที่ช่วยทำให้การฟื้นตัวไปได้ต่อเนื่อง คือ การฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ โดยดัชนีการบริโภคของภาคเอกชนน่าจะออกมาที่ 9.9% เทียบกับปีที่แล้วที่ดัชนีการบริโภคฯโดยรวมติดลบ 1.6% และไตรมาส 1/2565 ที่ผ่านมา ดัชนีฯ ขยายตัวที่ 2.9% ซึ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนว่า การบริโภคในช่วงไตรมาสที่ 2 จะมาได้ค่อนข้างดี
และที่ผ่านมาเราก็เห็นว่า รายได้ของประชาชนค่อนข้างดี ความรู้สึกเกี่ยวกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจดีขึ้นกว่าแต่ก่อน ไม่ได้เงียบเหงา ซึ่งสะท้อนออกมาในแง่รายได้ โดยเราคาดว่าในช่วงไตรมาสที่ 2/2565 รายได้ของเกษตรจะเติบโต 16.7% จากปีที่แล้วที่โต 2.9% และไตรมาส 1/2565 ที่เติบโต 6.6% ส่วนรายได้ของแรงงานนอกภาคเกษตร คาดว่าไตรมาส 2/2565 จะเติบโต 10.3% จากปี 2564 ที่ติดลบ 4.2% และไตรมาส 1/2565 เติบโตที่ 9% ซึ่งช่วยพยุงภาคการบริโภค
อย่างไรก็ดี แม้ว่ารายได้แรงงานนอกภาคเกษตร จะยังไม่กลับไปสู่ระดับเดิม แต่มันก็ฟื้น และมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ต่อเนื่อง และชัดเจนมากกว่าเดิม จึงเป็นที่มาว่าที่ทำให้เรามองว่าเศรษฐกิจในภาพรวมมีสัญญาณการฟื้นตัวชัดเจนขึ้น ขณะที่การฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวท่องเที่ยว จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยล่าสุดเทรนด์ของนักท่องเที่ยวต่างชาติยังออกมาดี ซึ่งปีนี้เรามองว่านักท่องเที่ยวฯจะอยู่ที่ 6 ล้านคน” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวต่อว่า ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวชัดเจน มีสิ่งหนึ่งที่ชัดเจนขึ้น คือ การเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ โดยที่ผ่านมาเงินเฟ้อของไทยอยู่ต่ำกว่ากรอบเป้าหมายที่ 1-3% มาโดยตลอด แต่ล่าสุดเงินเฟ้อทั่วไปออกมาที่ 7% กว่าๆ และเห็นสัญญาณของขยายวงของสินค้าและบริการที่มีราคาเพิ่มขึ้นจากการส่งผ่านต้นทุน ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ว่ามีโอกาสที่เครื่องยนต์เงินเฟ้อจะติด และส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพราคา จึงเป็นหน้าที่ของ ธปท. ที่ต้องเข้ามาดูแล
“จากภาพรวมของบริบทเศรษฐกิจ สิ่งที่เราเห็น คือ ‘สมดุลความเสี่ยง’ เปลี่ยนไป จากเดิมที่น้ำหนักอยู่ที่การทำให้ความมั่นใจว่าเศรษฐกิจฟื้น แต่ตอนนี้สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากขึ้น คือ เงินเฟ้อ ซึ่งเมื่อบริบทเศรษฐกิจเปลี่ยน โจทย์ของนโยบายก็ต้องปรับเปลี่ยนไป โดยโจทย์ตอนนี้ ไม่ใช่เรื่องการมาอัดฉีด มากระตุ้นเศรษฐกิจ แต่เป็นการทำอย่างไรที่จะทำให้การฟื้นตัวไปได้อย่างต่อเนื่อง หรือที่เรียกว่า smooth takeoff ทำให้เศรษฐกิจไปได้เรื่อยๆ ไม่สะดุด
ขณะที่โจทย์อันนี้ ต่างจากโจทย์ที่ประเทศพัฒนาแล้วกำลังเจอ เพราะประเทศใหญ่ๆอย่างสหรัฐ ยุโรป โจทย์ของเขาไม่ใช่การ smooth takeoff แต่โจทย์ของเขา คือ soft landing หรือ การลง แต่ต้องลงแบบ soft ซึ่งความหมายของเขา คือ ทำอย่างไรที่เขาจะคุมเงินเฟ้อ โดยไม่ให้เศรษฐกิจถดถอย แต่ของเราอยู่ในช่วงเพิ่งจะเริ่มฟื้น และยังไม่กลับมาฟื้นเต็มที่ เราจะกลับเข้ามาสู่ระดับจีดีพีก่อนโควิดก็ไตรมาส 1 ปีหน้า ช้าที่สุด เมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านในภูมิภาค” นายเศรษฐพุฒิ ระบุ
นายเศรษฐพุฒิ ยังระบุว่า ในขณะที่ตลาดแรงงานของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐ ยุโรป overheat (ร้อนแรงเกินไป) มีตำแหน่งว่างแต่หาคนมาทำงานไม่ได้ ค่าแรงขึ้น เงินเฟ้อมาจากทั้งฝั่งอุปทานและอุปสงค์ เพราะมีการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบมาก แต่สำหรับไทย เราแทบไม่เห็นแรงส่งหรือแรงผลักเงินเฟ้อจากฝั่งอุปทาน อย่างไรก็ดี เพื่อไม่ให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสะดุด สิ่งที่ ธปท. ต้องดูแล คือ ดูแลเงินเฟ้อ และดูแลให้ระบบสถาบันการเงินทำงานได้ตามปกติ
“เมื่อโจทย์ของเรา คือ ทำอย่างไรให้การ takeoff มันไปได้อย่างต่อเนื่อง smooth ไม่สะดุด ก็ต้องมาดูว่าอะไรเป็นที่ทำให้สะดุดได้บ้าง ซึ่งเรื่องแรก คือ ถ้าเราคุมเงินเฟ้อไม่ได้ แล้วเงินเฟ้อมันวิ่งไปต่อเนื่อง ก็จะทำให้การฟื้นตัวไม่ไปต่อเนื่อง เพราะหากค่าครองชีพเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การบริโภคจะไปต่อไม่ได้ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง และถ้าปล่อยให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แล้วเครื่องยนต์เงินเฟ้อติด การดึงลงมาจะลำบาก
เรื่องที่สองที่จะทำให้การฟื้นตัวสะดุด คือ ถ้าสภาพการเงินตึงตัวเกินไป หรือระบบสถาบันการเงินไม่ทำงานอย่างที่ควรจะทำ NPL เพิ่มขึ้นเยอะ แบงก์ไม่ปล่อยสินเชื่อ ดอกเบี้ยขึ้นเร็ว ซึ่งจะทำให้สภาพการเงินไม่เอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อันจะทำให้เศรษฐกิจสะดุดได้เช่นเดียวกัน เราจึงต้องมาดูฐานะของธนาคารพาณิชย์ให้แข็งแกร่ง ดูสภาพคล่อง และการส่งผ่านนโยบายต่างๆให้ดูแลลูกหนี้ได้
เมื่อ 2 เรื่องนี้ เป็นสิ่งที่ต้องทำ เพื่อตอบโจทย์ในการทำให้เศรษฐกิจฟื้นได้อย่างต่อเนื่อง ไม่สะดุด เราจึงต้องทำนโยบายให้กลับสู่ภาวะปกติ (Policy Normalization) ทั้ง 2 ฝั่ง คือ ฝั่งนโยบายการเงิน และฝั่งมาตรการการเงิน โดยจะต้องดูควบคู่กันไป เช่น การปรับนโยบายดอกเบี้ยนโยบาย และการปรับมาตรการเงิน รวมทั้งต้องทำในรูปแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะบริบทเศรษฐกิจของเราที่มีการฟื้นตัวที่ไม่เท่าเทียมกัน” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
นายเศรษฐพุฒิ ย้ำว่า “เมื่อเงินเฟ้อของเขามาจากฝั่งอุปสงค์เยอะ เศรษฐกิจฟื้นตัวแรง เขาก็จำเป็นต้องเหยียบเบรก แต่ของเราไม่ใช่อย่างนั้น ของเราเป็นการถอนคันเร่ง ไม่ใช่เหยียบเบรก ซึ่งนอกจากจะต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไปแล้ว การ Normalize (การกลับสู่ภาวะปกติ) ของเรา จะต้องทำแบบยืดหยุ่น และเหมาะสมกับสถานการณ์ด้วย”
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวด้วยว่า ธปท.คาดว่าในช่วงไตรมาสที่ 3/2565 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยจะพีคสุดที่ 7.5% จากไตรมาส 2/2565 ที่ขยายตัว 6.5% และคาดว่าไตรมาส 4/2565 เงินเฟ้อจะขยายตัวลดลงเหลือ 5.9% ขณะที่การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคาร ถือเป็นสิ่งที่ทำให้การคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อกลับมาอยู่ในกรอบ และปัจจุบันการคาดการณ์เงินเฟ้อระยะยาวยังอยู่ในกรอบ 3% แต่ก็ยังชะล่าใจไม่ได้
“เราไม่ได้มองว่าราคาน้ำมันจะลดเร็ว เรามองว่าราคาจะอยู่ระดับนี้ ซึ่งการที่ราคาน้ำมันอยู่ในระดับสูง ไม่ได้หมายความว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มต่อเนื่อง เพราะราคาน้ำมันขึ้น เงินเฟ้อก็ขึ้นทีหนึ่ง แต่ถ้าราคาน้ำมันอยู่ในระดับที่มันอยู่ และไม่ส่งผลในวงกว้าง เงินเฟ้อก็ไม่น่าเพิ่ม ซึ่งเราคงไม่มีนโยบายอะไรที่จะไปจัดการราคาน้ำมันได้ แต่หน้าที่ของธนาคารกลาง คือ ทำอย่างไรให้การขึ้นของราคาอาหาร น้ำมัน ไม่ทำให้เครื่องยนต์เงินเฟ้อติด คือ การส่งผ่านขยายวงอย่างต่อเนื่อง
ต้องไม่ทำให้คนคิดว่าเงินเฟ้อจะสูงอย่างนี้ และจะสูงต่อไป ดังนั้น สิ่งที่ธนาคารกลางต้องทำ คือ ต้องขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งการขึ้นดอกเบี้ยไม่ได้ไปกระทบราคาน้ำมัน แต่สิ่งที่ช่วย คือ การลงทุนและการบริโภคที่อ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ย จะชะลอตัวลง ที่สำคัญมันจะช่วยทำให้การคาดการณ์เงินเฟ้อกลับมาอยู่ในกรอบ และที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งที่ทำให้เงินเฟ้อไม่หลุดกรอบ มาจากการที่คนเชื่อว่าแบงก์ชาติใส่ใจ และรักษาเงินเฟ้อไม่ให้มันสูง” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวย้ำว่า “เรามองว่าปีหน้า เงินเฟ้อจะกลับเข้ามาอยู่ในกรอบ แต่การมองว่าเงินเฟ้อจะกลับมาอยู่ในกรอบนั้น มันต้องมาจากการที่ธนาคารกลาง take action ไม่ใช่นั่งอยู่เฉยๆ แต่ต้องมาจากปรับดอกเบี้ยขึ้น ซึ่งการปรับของเราจะทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป” พร้อมระบุว่า “เราคงต้องดูว่าที่มาของเงินเฟ้อเป็นอย่างไร ต้องยืดหยุ่น และต้องบาลานซ์เรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และเสถียรภาพการเงิน แต่ไม่ได้หมายความว่า เราจะไม่ขึ้นดอกเบี้ย”
นายเศรษฐพุฒิ ย้ำว่า “การขึ้นดอกเบี้ยของเรา จะขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป แล้วเราต้อง Normalize คือ คงไม่ได้ขึ้นทีเดียวแล้วจบ เพราะดอกเบี้ยตอนนี้ มันต่ำผิดปกติมานานมาก เลยต้องค่อยๆปรับเข้าไปสู่ภาวะปกติ” และว่า “แม้ว่าการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจะมีผลกระทบ แต่เมื่อชั่งดูแล้ว ก็เหมาะสมที่จะทำ แต่เราต้องดูแลกลุ่มที่ถูกกระทบ โดยมีมาตรการดูแลเฉพาะกลุ่ม ซึ่งเรามีเครื่องมืออยู่ค่อนข้างครบ แต่สิ่งที่ต้องทำ คือ ต้องจัดการให้ดี”
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวย้ำว่า การที่ดอกเบี้ยของไทยอยู่ในระดับต่ำ ในขณะที่เงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง ทำให้ผลตอบแทนที่แท้จริงของบริษัทใหญ่ต่ำสุด ซึ่งพฤติกรรม search for yield (พฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงกว่าของนักลงทุน) ที่น่ากังวล นอกจากการที่บุคคลทั่วไปฝากเงินแล้วได้ตอบตอบแทนน้อยไปจึงไปลงในคริปโทฯ ในแง่เสถียรภาพของระบบอาจไม่น่าเป็นห่วงมากขนาดนั้น
แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงกว่า Corporate search for yield เพราะต้นทุนการกู้ยืมต่ำมาก เมื่อกู้ยืมไปแล้วก็นำไปลงทุนในธุรกิจหลักของเขา ซึ่งเราก็เห็นว่าธุรกิจใหญ่ๆ เขาไปลงทุนอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งตรงนี้เป็นผลข้างเคียงจากการเก็บดอกเบี้ยไว้ต่ำ ซึ่งการที่ตนอยู่ใน กนง. มา 6 ปี ดอกเบี้ยตอนเอาลงมันง่าย แต่ตอนขึ้นยาก
"ตอนนี้ถ้าทิ้งดอกเบี้ยไว้ต่ำนานเกินไปจะมีผลข้างเคียงที่ต้องดูแล ซึ่งประเด็น เรื่อง Corporate search for yield เป็นเหตุผลหนึ่ง ที่ทำให้เราต้องทำให้กลับสู่ภาวะปกติ (normalize) ให้ดอกเบี้ยอยู่ในระดับที่เหมาะสม" นายเศรษฐพุฒิ
นายเศรษฐพุฒิ ระบุว่า ขณะนี้ไม่มีความจำเป็นต้องเรียกประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) นัดพิเศษ เพราะทุกอย่างยังเป็นไปตามที่ กนง. คาดการณ์ไว้
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวถึงกรณีที่มีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอย (recession) ว่า ตนคิดว่าโอกาสที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยมีน้อยมาก แต่แน่นอนว่ามีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจบางเศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย โดยเฉพาะเศรษฐกิจยุโรปที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องก๊าซช็อค ส่วนจีน เศรษฐกิจน่าจะเข้าสู่ภาวะชะลอตัว จากมาตรการล็อกดาวน์ และปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ แต่คงไม่ถึงขั้นถดถอย
“โอกาสที่จะเกิดเศรษฐกิจโลกถดถอย ถามว่ามีเยอะไหม ก็คิดว่า ไม่ แต่น่าจะเกิดขึ้นเป็นบางจุดมากกว่า แล้วถ้าสมมติว่ามันเกิด recession จริง จะกระทบเราอย่างไร ผมคิดว่า ถ้าดูๆแล้ว การส่งออกของเราก็ฟื้นกลับมาดี แต่ถ้าถามผม สิ่งที่เสี่ยง ผมคิดว่าจริงๆแล้ว คือ เรื่องท่องเที่ยว แต่ถามว่าท่องเที่ยวเราจะหายไปเยอะไหม ผมคิดว่าอาจไม่ได้แรงอย่างนั้น ที่สำคัญฐานของเราต่ำมาก ปีที่แล้ว 4 แสนคน ปีนี้อย่างไรก็ต้องเพิ่ม ถ้าได้ 6 ล้านคน เราก็ดีใจแล้ว
อีกทั้งโอกาสที่ไทยจะเกิด stagflation (เศรษฐกิจถดถอยแต่เงินเฟ้อสูง) ก็น้อยมาก ซึ่งก็ไม่ใช่อะไรเลย เพราะฐานของเราต่ำ เมื่อมันกลับมา เศรษฐกิจก็ต้องฟื้น ซึ่งปีที่แล้วเราโต 1.5% ส่วนปีนี้โอกาสที่เราจะเห็นเศรษฐกิจไทยโต 1.5% มีน้อยมากๆ อย่างไตรมาส 1 เราโต 2% กว่า ไตรมาส 2 ก็ดูดี และท่องเที่ยวอย่างไรก็มา ซึ่งไม่ได้มาจากความหล่อ ความเท่ห์ แต่มาจากฐานที่ต่ำมาก” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
นายเศรษฐพุฒิ ระบุด้วยว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 1 ล้านคน จะทำให้จีดีพีของไทยขยายตัว 0.4%
อ่านประกอบ :
‘ผู้ว่าฯธปท.’ชี้บาทอ่อนสุดในรอบ 7 ปี เหตุดอลลาร์ฯแข็ง-ย้ำไม่จำเป็นต้องขึ้น‘ดบ.’ตามเฟด
เปิดรายงาน กนง. : ขึ้น'ดอกเบี้ย'ในช่วงเวลาเหมาะสม-'บาท'อ่อนสอดคล้องค่าเงินในภูมิภาค
ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ : ‘ความเสี่ยงไปอยู่ที่การดูแลเงินเฟ้อ-ขึ้นดอกเบี้ยเป็นสิ่งที่จำเป็น’
น้ำมัน-อาหารแพง! 'กนง.'ปรับเป้าเงินเฟ้อฯคาดพุ่งแตะ 4.9%-หั่นจีดีพีปีนี้เหลือโต 3.2%
กนง.มีมติเอกฉันท์คงดบ.นโยบาย 0.5% ต่อปี-มองแรงกดดัน'เงินเฟ้อด้านอุปสงค์'อยู่ในระดับต่ำ
'ธปท.'จ่อปรับคาดการณ์'เงินเฟ้อ'เกิน 1.7%-เชื่อราคา'น้ำมัน-หมู'ลด ช่วงครึ่งหลังของปี
มติเอกฉันท์! กนง.คงดอกเบี้ยนโยบาย 0.5% ต่อปี หนุนศก.ฟื้นตัว-เงินเฟ้อปี 65 สูงเกินคาด
กนง.มีมติเอกฉันท์คงดบ. 0.5% ต่อปี มองจีดีพีปีหน้าโต 3.4%-'โอไมครอน'อาจยืดเยื้อกว่าคาด
'กนง.-กนส.'จับตาความเสี่ยง‘หนี้ครัวเรือน-ตลาดบอนด์ผันผวน'-เกาะติดผลกระทบ'โอไมครอน'