‘บอร์ด กนง.’ มีมติ 6 ต่อ 1 เสียง คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.5% ชี้เป็นระดับที่สอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจ มองจีดีพีปี 67 โต 2.6% ส่วนปี 68 ขยายตัว 3% กังวล ‘หนี้ครัวเรือน’ สูง
...................................
เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ว่า คณะกรรมการฯ มีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.50 ต่อปี โดย 1 เสียง เห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี
เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวจากอุปสงค์ในประเทศและภาคการท่องเที่ยว ขณะที่การส่งออกขยายตัวในระดับต่ำ โดยสินค้าส่งออกบางกลุ่มมีแรงกดดันเพิ่มเติมจากการแข่งขันที่สูงขึ้น ด้านอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มทยอยปรับขึ้นและประเมินว่าจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปี 2567
กรรมการส่วนใหญ่เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจที่โน้มเข้าสู่ศักยภาพและการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงิน จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้
ขณะที่กรรมการ 1 ท่าน เห็นว่าควรปรับลดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.25 ต่อปี เพื่อให้สอดคล้องกับศักยภาพทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่ำลงจากปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ชัดเจนขึ้น และจะมีส่วนช่วยบรรเทาภาระของลูกหนี้ได้บ้าง
เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวที่ร้อยละ 2.6 และ 3.0 ในปี 2567 และ 2568 ตามลำดับ โดยเศรษฐกิจในปีนี้ได้รับแรงส่งจากอุปสงค์ในประเทศที่สูงกว่าคาดในไตรมาสที่ 1 ภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่อง รวมทั้งการเบิกจ่ายภาครัฐที่กลับมาเร่งขึ้นในไตรมาสที่ 2
ขณะที่ภาคการส่งออกในปีนี้จะยังขยายตัวในระดับต่ำ ส่วนหนึ่งสะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างและความท้าทายจากความสามารถในการแข่งขันที่ปรับลดลง อีกทั้งสินค้าบางกลุ่มโดยเฉพาะหมวดยานยนต์เผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมจากอุปสงค์ต่างประเทศที่ชะลอลง ทั้งนี้ ต้องติดตามการฟื้นตัวของการส่งออกและภาคการผลิต รวมทั้งแรงกระตุ้นจากนโยบายภาครัฐในช่วงครึ่งหลังของปี
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มใกล้เคียงเดิมอยู่ที่ร้อยละ 0.6 และ 1.3 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 0.5 และ 0.9 ในปี 2567 และ 2568 ตามลำดับ โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปล่าสุดกลับมาเป็นบวก และมีแนวโน้มปรับขึ้นตามราคาพลังงานในประเทศจากการทยอยลดการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซล ขณะที่แรงกดดันด้านอุปทานที่ทำให้ราคาหมวดอาหารสดอยู่ในระดับต่ำมีแนวโน้มคลี่คลาย
ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะทยอยกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปี 2567 โดยอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางยังอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับกรอบเป้าหมาย
ภาวะการเงินโดยรวมทรงตัว อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์ สรอ. ปรับอ่อนค่า ตามทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ประกอบกับปัจจัยในประเทศในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยปรับสูงขึ้นบ้างหลังตลาดปรับคาดการณ์นโยบายการเงินของไทย
ด้านต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนผ่านธนาคารพาณิชย์ใกล้เคียงเดิม สินเชื่อภาคธุรกิจโดยรวมขยายตัว ขณะที่สินเชื่อภาคครัวเรือนขยายตัวชะลอลง โดยเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อและบัตรเครดิตตามคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยล
คณะกรรมการฯ มีความกังวลต่อหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และเห็นว่าการให้สินเชื่อควรสอดคล้องกับกระบวนการปรับลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ (debt deleveraging) เพื่อเสริมสร้างเสถียรภาพระบบการเงินในระยะยาว จึงสนับสนุนนโยบายของ ธปท. ที่ให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อตามความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้ ควบคู่ไปกับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีปัญหาการชำระหนี้
นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ตระหนักถึงปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อของ SMEs ที่มีมาอย่างต่อเนื่อง จึงสนับสนุนการใช้มาตรการที่ตรงจุด เช่น มาตรการค้ำประกันสินเชื่อ เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อของ SMEs ที่มีศักยภาพซึ่งจำเป็นต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน กรรมการส่วนใหญ่ประเมินว่าอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันสอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่ปรับดีขึ้น รวมทั้งเอื้อต่อการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว
อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามพัฒนาการของเศรษฐกิจโดยเฉพาะการฟื้นตัวของภาคการส่งออกและมาตรการภาครัฐ โดยคณะกรรมการฯ จะพิจารณานโยบายการเงินให้เหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า
@คาด 3 ไตรมาสที่เหลือ เศรษฐกิจโตแบบ‘ขั้นบันได’
นายปิติ กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะกรรมการฯมองว่า เศรษฐกิจไทยปี 2567 มีแนวโน้มจะขยายตัวได้ที่ 2.6% เท่ากับประมาณการในครั้งก่อน โดยไตรมาส 2/2567 คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวเกิน 2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ไตรมาส 3/2567 เศรษฐกิจอาจจะขยายตัว 2% ปลายๆใกล้ 3% และไตรมาส 4/2567 เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ 3% ปลายๆใกล้ 4% ซึ่งเป็นการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่มีลักษณะเป็นขั้นบันได สะท้อนจากฐานของปีที่แล้วอยู่ในระดับต่ำ
“ไตรมาส 1 ขยายตัวได้ 1.5% ไตรมาส 2 น่าจะเกิน 2% ไตรมาส 3 อาจจะ 2% ปลายๆใกล้ 3% และไตรมาส 4 จะอยู่ที่ 3% ปลายๆใกล้ 4% ซึ่งมีลักษณะเป็นขั้นบันได สะท้อนจากตัวฐานที่ต่ำของปีที่แล้ว” นายปิติ กล่าว
นายปิติ กล่าวว่า คณะกรรมการฯ ยังมองว่าองค์ประกอบเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2567 จะมีความสมดุลมากขึ้น โดยการส่งออกจะขยายตัวมากขึ้นจากในปีที่แล้วที่ติดลบ ส่วนการบริโภคภาคเอกชนจะมีบทบาทน้อยลง จากที่เคยมีบทบาทสูงในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่ปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจในปี 2567 ได้แก่ การท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่อง การบริโภคภาคเอกชนที่ยังคงขยายตัว และการเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐที่เร่งตัวขึ้นในช่วงไตรมาส 2/2567
“ปีนี้ การเร่งขึ้นของนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับก่อนโควิด แนวโน้มก็ยังดีต่อไป ส่วนการบริโภคภาคเอกชนในช่วงเหลือของปีนี้ทอดไปสู่ปีหน้า แม้จะชะลอลงบ้าง แต่ถือว่าเป็นการกลับเข้าสู่อัตราการขยายตัวที่เป็นปกติ สอดรับการท่องเที่ยวและบริการที่กลับเข้าสู่ระดับปกติ และการลงทุนภาครัฐที่เคยได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก ตอนนี้เบิกงบลงทุนไปแล้ว 39% และมีแนวโน้มว่าจะเบิกจ่ายได้สูงกว่าปี 2563 ซึ่งเบิกจ่ายงบลงทุนได้ 63%” นายปิติ กล่าว
นายปิติ ย้ำด้วยว่า “ถือเป็นสัญญาณบวกที่ทำให้เรามั่นใจว่า downside risk (ความเสี่ยงด้านต่ำ) ไม่ได้มีมาก เท่ากับที่มองไว้เมื่อต้นปี ส่วนสัญญาณบวกอีกตัวหนึ่งที่ต้องดูต่อไป และยังไม่มั่นใจว่าจะเป็นอย่างไร คือ ภาคการส่งออกและภาคการผลิต ที่มีทั้งข่าวดีข่าวร้าย โดยขณะนี้เห็นสัญญาณว่าการส่งออกในหมวดอิเล็กทรอนิกส์เริ่มฟื้นแล้ว แต่กลุ่มมาช้ากว่าที่เรามองไว้ คือ หมวดสินค้าไฟฟ้าและยานยนต์ โดยเฉพาะภาคยานยนต์ที่ยังมีปัญหาอยู่”
นายปิติ ระบุด้วยว่า ในปี 2568 คณะกรรมการฯคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ที่ 3% ซึ่งเป็นระดับใกล้เคียงกับศักยภาพของเศรษฐกิจไทย และเท่ากับประมาณการที่ให้ไว้ในครั้งที่แล้ว
“ภาพเศรษฐกิจโดยรวม ณ ตอนนี้ ที่มองแนวโน้มในปีนี้และปีหน้า ก็ใกล้เคียงของเดิม และจุดหมุดแรกของไตรมาส 1/2567 ถือเป็นจุดหมุดหมายที่ดี” นายปิติ กล่าว
@ชี้เศรษฐกิจปีนี้โต 3% เป็นไปได้ หากเร่งรัดเบิกจ่าย
ส่วนกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจ อนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยตั้งเป้าผลักดันให้เศรษฐกิจปี 67 ขยายตัวได้ 3% รวมถึงจะมีการเบิกจ่ายเงินในโครงการดิจิทัลวอลเลตได้ในช่วงปลายปี 2567 นั้น นายปิติ กล่าวว่า มาตรการดังกล่าว บางส่วนมีความชัดเจน แต่บางส่วนก็ความชัดเจนน้อยกว่า อย่างไรก็ตาม ธปท.ได้ควบรวมมาตรการที่ชัดเจนเข้าไปอยู่ Baseline แล้ว โดยเฉพาะเรื่องที่อยู่ในงบประมาณ เช่น งบลงทุน และการเบิกจ่ายบริโภคภาครัฐ
“ตัวที่เป็นมาตรการเสริม เราได้พูดคุยกันว่า ผลกระทบจะมีมากน้อยแค่ไหน ก็เป็น upside risk ที่คณะกรรมการฯได้พิจารณา ส่วนมาตรการดิจิทัลวอลเลต มีเคสที่เราดูว่า จะเพิ่ม (จีดีพี) ไตรมาส 4 ประมาณหนึ่ง และในต้นปีหน้า ซึ่งอันนี้เป็น upside risk ที่ได้พิจารณาเช่นกัน ทั้งนี้ ไม่ว่ามาตรการภาครัฐจะมามากกว่าที่เรามองไว้หรือไม่ แต่ภาพเศรษฐกิจโดยรวมไม่ได้เปลี่ยนไปมาก ทิศทางก็ยังเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
โดยจุดยืนนโยบายการเงินที่กำหนด สามารถรองรับความเสี่ยงด้านสูงตอนนั้นได้ รวมถึงความเสี่ยงด้านต่ำที่มาจากภาคการส่งออกด้วย จึงขอเรียนว่า ได้พิจารณาทุกมาตรการรัฐที่ประกาศมาทั้งหมด และคิดว่าในภาพรวมทิศทางเศรษฐกิจอยู่ที่ประมาณนี้ ส่วนตัวเลขจีดีพีที่ 3% ก็เป็นไปได้ ถ้ามีการเร่ง โดยเฉพาะการเร่งเบิกจ่ายภาครัฐ หรือถ้ามีดิจิทัลวอลเลตมา ก็เป็นไปได้เหมือนกัน แต่ต้องดูกันไป” นายปิติกล่าว
@เงินเฟ้อกลับสู่กรอบไตรมาส 4-ต้องลดหนี้ครัวเรือน
นายปิติ กล่าวว่า ในด้านอัตราเงินเฟ้อ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน พ.ค.2567 ที่ออกมาที่ 1.54% นั้น เป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับที่ ธปท. คาดไว้ และมีแนวโน้มว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไป จะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 1-3% ภายในไตรมาส 4/2567 และอยู่ในกรอบต่อไป อย่างไรก็ตาม หากมองไปในระยะ 2-3 เดือนข้างหน้า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มต่ำกว่า 1% ซึ่งเป็นผลของฐาน จากนั้นตั้งแต่เดือน ต.ค.2567 เป็นต้นไป ก็จะเห็นอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่มากกว่า 1%
นายปิติ กล่าวต่อว่า ประเด็นที่คณะกรรมการฯหารือกันมาก คือ เรื่องสินเชื่อครัวเรือนและสินเชื่อธุรกิจ โดยข้อมูลล่าสุดแม้ว่าสินเชื่อครัวเรือนจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวลง โดยเฉพาะในหมวดบัตรเครดิตและเช่าซื้อรถยนต์ และสินเชื่อครัวเรือนมีคุณภาพสินเชื่อด้อยลง แต่การเพิ่มขึ้นของหนี้ด้อยคุณภาพ (NPLs) และหนี้ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ (SM) เป็นสิ่งที่ ธปท.มองไว้ตั้งแต่ปลายปีที่แล้วว่า NPLs จะเพิ่มขึ้นบ้าง และไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด
ส่วนสินเชื่อธุรกิจโดยรวม แม้ว่าจะกลับมาขยายตัวได้ แต่มีความแตกต่างกันระหว่างการขยายตัวของสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่และสินเชื่อธุรกิจขนาดเล็ก โดยสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ยังขยายตัวได้ดี แต่สินเชื่อธุรกิจขนาดเล็กมีการหดตัว ซึ่งเป็นการหดตัวหลังจากเร่งในช่วงโควิด ขณะที่ NPLs และ SM ของสินเชื่อธุรกิจยอดต่ำกว่า 500 ล้านบาท ผงกหัวขึ้นในช่วงหลัง และเป็นสิ่งที่คณะกรรมการฯต้องจับตาในแง่คุณภาพสินเชื่อของธุรกิจรายเล็ก
สำหรับในเรื่องสภาพคล่องนั้น จากการสำรวจว่า ธุรกิจมีปัญหาสภาพคล่องหรือไม่ พบว่า SMEs มีปัญหาสภาพคล่องมากกว่าธุรกิจโดยรวม เช่น กลุ่มวัสดุก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ และการผลิตยานยนต์
“ประเด็นของสินเชื่อครัวเรือน คือ การมีหนี้ระดับที่สูง จึงต้อง deleveraging หรือลดหนี้ต่อรายได้ ซึ่งมีหลายวิธีการที่จะแก้ปัญหาหนี้อยู่ ส่วนหนี้ธุรกิจนั้น ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่ามีหนี้เยอะเกินไป แต่เป็นปัญหาเรื่องการจัดสรรทรัพยากร การเข้าถึง คือ บริษัทที่มีศักยภาพไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้เท่าที่ควร เช่น SMEs บางราย” นายปิติ กล่าว
นายปิติ กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงการคลังเสนอให้มีการทบทวนกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ว่า เป็นปกติที่ กนง. และกระทรวงการคลัง จะหารือร่วมกันในการกำหนดกรอบเป้าหมายเงินทุกปี ซึ่งตอนนี้ก็เดินตามกระบวนการปกติที่จะมีการพูดคุยกัน ส่วนรายละเอียดในการพูดคุยก็ต้องรอดูกันต่อไป
“หน้าที่สำคัญที่สุดของเป้าหมายเงินเฟ้อ คือ การยึดเหนี่ยวการคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะปานกลาง แน่นอนว่า เราไม่อยากให้คาดการณ์เงินเฟ้อระยะปานกลาง ปรับขึ้นลงๆ มีความผันผวนมาก เพราะจะสร้างความยากลำบากกับการวางแผนของภาคธุรกิจและครัวเรือน” นายปิติ กล่าว
นายปิติ ย้ำว่า “แม้ว่าเงินเฟ้อระยะสั้นจะอยู่นอกเป้าด้านบนหรือด้านล่างบ้าง ถือเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นจากช็อค แต่สิ่งที่สำคัญกว่า คือ เมื่อเกิดช็อคแล้ว ประชาชน ผู้ประกอบการ มองแนวโน้มในอนาคตอย่างไร ถ้ามองว่าจะโน้มกลับสู่กรอบ กลับเข้าสู่จุดยึดเหนี่ยวระยะปานกลาง ก็เป็นสิ่งที่ดี เพราะทางธนาคารกลางจะได้ไม่ต้องมาต่อสู้เงินเฟ้อเหมือนในต่างประเทศที่มีการขึ้นดอกเบี้ยไปถึง 5% ไปถึง 6%”
(ปิติ ดิษยทัต)
นายปิติ กล่าวด้วยว่า จุดยืนในการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ 2.5% ในขณะนี้นั้น ไม่ได้เป็นจุดยืนที่จะไปฉุดรั้งหรือเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือส่งผลให้การปล่อยสินเชื่อลดลง จนทำให้ภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจสะดุดแต่อย่างใด
“คณะกรรมการฯมองว่า ไม่ได้สูงเกินไป แล้วถามว่าบรรทัดฐานว่า อันไหนถือว่าสูงหรือไม่สูง ตัวอย่างหนึ่ง ถ้าเทียบกับต่างประเทศ ค่อนข้างชัดว่า หลายประเทศมีดอกเบี้ย 4-5% อยู่ ทั้งสหรัฐ อังกฤษ และสหภาพยุโรป ส่วนเพื่อนบ้านเรา ดอกเบี้ยก็อยู่ที่ 4-5% ดอกเบี้ยไทยเมื่อเทียบกับโลกถือว่าไม่ได้สูง แต่ที่สำคัญกว่า คือ ต้องเทียบดอกเบี้ยของไทยกับสถานการณ์ของไทย และโครงสร้างพื้นฐานของไทย ซึ่งเป็นสิ่งที่กรรมการฯถก และสอบทานทุกๆครั้งที่ประชุมว่า ระดับดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ สอดคล้องกับอัตราการขยายตัวตามศักยภาพของประเทศไทยหรือไม่
แนวโน้มเงินเฟ้อที่กำลังจะเป็นหรือไม่ ซึ่งภาพเศรษฐกิจที่ได้ฉายไปว่าปีนี้จะฟื้นตัวที่ 2.6% ปีหน้า 3% ส่วนอัตราเงินเฟ้อค่อยๆปรับเข้าเป้าในไตรมาส 4/2567 และอยู่ในเป้าปีหน้า ภาวะการเงินโดยรวม แม้ว่าสินเชื่ออาจจะน้อยลง จากที่ได้เร่งปล่อยไปก่อนหน้านี้ แต่ไม่ได้หล่นเป็นเหวไปเลย ส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพที่เพิ่มขึ้นนั้น ก็เป็นไปตามที่คาดไว้ ก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด และมีปัจจัยเฉพาะที่อธิบายได้ เมื่อชั่งน้ำหนักมาหลายด้านแล้ว ก็คิดว่ามันจุดที่เหมาะสม ณ จุดนี้ กับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยและสอดคล้องกับภาพที่มองไว้” นายปิติ กล่าว
ส่วนกรณีที่มีข่าวว่ามีโรงงานปิดตัวลงจำนวนมากนั้น นายปิติ กล่าวว่า หากดูตัวเลขทั้งหมด พบว่า ตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา อัตราการเปิดธุรกิจใหม่สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนประมาณ 8% ทำให้โดยรวมแล้ว มีธุรกิจเปิดใหม่มากกว่าธุรกิจที่ปิดตัวลง โดยมีจำนวนธุรกิจที่เปิดใหม่อยู่ที่ 4,000-5,000 แห่งต่อเดือน เทียบกับธุรกิจที่ปิดตัว 1,000 แห่งต่อเดือน ในขณะที่ภาพการปิดและเปิดโรงงานก็คล้ายกัน คือ มีโรงงานที่ปิดตัวน้อยกว่าโรงงานที่เปิดใหม่ในแต่ละเดือน
“ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ถ้ามองว่า มีจำนวนโรงงานปิดมีเยอะ แต่ถ้าไปดู โรงงานที่ปิดจะมีน้อยกว่าโรงงานที่เปิดใหม่ ซึ่งการปิดและเปิดโรงงาน เป็นกลไกที่จะย้ายทรัพยากรจากที่ที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ เพื่อไปอยู่ที่ที่มีประสิทธิภาพมากกว่า ในขณะที่แรงงานที่ต้องปล่อยไปจากโรงงานที่ปิด เทียบกับจำนวนที่จ้างเข้ามาใหม่ในโรงงานที่เปิด เน็ตๆแล้ว จำนวนที่จ้างใหม่สูงกว่าที่ปิดพอสมควรเลย คิดเป็นหลายหมื่นคนต่อเดือน อีกทั้งเม็ดเงินลงทุนที่หายไปเมื่อโรงงานปิดกับเม็ดเงินใหม่ที่เข้ามาตอนเปิดธุรกิจหรือเปิดโรงงานก็พบว่า Flow เป็นบวก ตรงนี้จึงยังไม่ใช่ประเด็นที่เป็นปัญหาในภาพใหญ่” นายปิติ กล่าว
อ่านประกอบ :
มติ 5 ต่อ 2 เสียง! 'บอร์ด กนง.' เสียงแตก คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.5%-มอง GDP ปี 67 โต 2.6%
'นายกฯ'เรียกร้อง'ธปท.'นัดประชุม'กนง.'ก่อนกำหนด ถกลด'ดอกเบี้ย'หลังมีข้อมูลใหม่'สภาพัฒน์'
มติ 5 ต่อ 2! 'กนง.'เสียงแตก คงดอกเบี้ยนโยบาย 2.5%-หั่นคาดการณ์จีดีพีปี 67 โตไม่เกิน 3%
มติเอกฉันท์! กนง.คงดอกเบี้ยนโยบาย 2.5%-หั่นคาดการณ์จีดีพีปีนี้เหลือ 2.4%
3 กรรมการ'กนง.'ฝั่ง'แบงก์ชาติ' มองทิศทาง'ดอกเบี้ยนโยบาย' ท่ามกลาง'ปัจจัยเสี่ยง-แรงกดดัน'
เงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้น! กนง.มีมติเอกฉันท์ขึ้นดบ. 0.25% สู่ระดับ2.5%-มองGDPปีนี้โต 2.8%
สู่ระดับ 2.25%! 'กนง.'มีมติเอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ย 0.25%-มอง'เงินเฟ้อ'มีความเสี่ยงด้านสูง
มติเอกฉันท์! ‘กนง.’เคาะขึ้นดบ. 0.25% สู่ระดับ 2% มองเศรษฐกิจอาจโตเกินคาด-จับตาเงินเฟ้อ
มติเอกฉันท์! กนง.ขึ้นดอกเบี้ย 0.25%สู่ระดับ 1.75% สกัดเงินเฟ้อ-จับตาตลาดการเงินโลกผันผวน
มติเอกฉันท์! กนง.ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% สกัดเงินเฟ้อ-มองศก.ไทยฟื้นต่อเนื่อง แม้ส่งออกแผ่ว
กนง.มีมติเอกฉันท์ขึ้นดบ.นโยบาย 0.25% สู่ระดับ 1.25%-จับตาเศรษฐกิจโลกเสี่ยงชะลอกว่าคาด
มติเอกฉันท์! กนง.ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จับตา‘เงินบาท’ใกล้ชิด-มองจีดีพีปีนี้โต 3.3%
‘ผู้ว่าฯธปท.’ย้ำไม่จำเป็นต้อง‘รีบเร่ง’ขึ้นดอกเบี้ย-คาด‘เงินเฟ้อ’กลับสู่กรอบกลางปี 66
‘ผู้ว่าฯธปท.’ยันการขึ้นดอกเบี้ยของไทยไม่ได้ช้าไป-ชี้โอกาสเกิด Stagflation เป็นไปได้น้อย
ผู้ว่าฯธปท. : ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ‘ส่วนต่างดอกเบี้ย-ค่าเงิน-ทุนเคลื่อนย้าย-ทุนสำรอง’
กลับสู่ภาวะปกติ!‘ผู้ว่าฯธปท.’ชี้ไม่ได้ขึ้น‘ดอกเบี้ย’ทีเดียวแล้วจบ-คาดGDPไตรมาส 2 โต 3%