‘ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ’ ประเมิน ‘เงินเฟ้อ’ กลับสู่กรอบเป้าหมายที่ 1-3% กลางปีหน้า ย้ำไทยไม่จำเป็นต้อง ‘เร่งรีบ’ ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย พร้อมมองเศรษฐกิจไทยยังฟื้นต่อเนื่อง จากอุปสงค์ภายในประเทศ
....................................
เมื่อวันที่ 5 ก.ย. นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมมนาวิชาการ ธปท. สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประจำปี 2565 ‘อีสานพร้อมปรับ รับกระแสเศรษฐกิจการเงินใหม่’ ตอนหนึ่ง ว่า เศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงกำลังฟื้น และมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยปีนี้คาดว่าน่าจะได้เห็นเศรษฐกิจไทยเติบโตที่ระดับ 3% และปี 2566 คาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโตประมาณ 4%
“ปีที่แล้วโต 1.5% ส่วนปีนี้เรามองว่าน่าจะเห็น 3% และปีหน้าก็ 4% ซึ่งเป็นเรื่องการฟื้นตัวที่ค่อนข้างต่อเนื่อง และมีข้อน่าสังเกตและน่ายินดี คือ เป็นการฟื้นตัวที่มาจากอุปสงค์ภายในประเทศ ทั้งจากการบริโภคภาคเอกชน กิจกรรมเศรษฐกิจที่เห็นสัญญาณการฟื้นกลับขึ้นมา โดยเฉพาะการบริโภคในภาพรวมพบว่าไตรมาส 1 โต 3.5% และไตรมาส 2 โตเกือบๆ 7% ซึ่งฟื้นตัวค่อนข้างแรง ขณะที่รายได้ทั้งในและนอกภาคเกษตรเติบโตเป็นตัวเลข 2 หลัก” นายเศรษฐพุฒิ ระบุ
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวต่อว่า เมื่อมองไปข้างหน้า ปัจจัยสำคัญที่จะมาช่วยพยุงให้เศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่อง คือ การท่องเที่ยว ซึ่งที่ผ่านมาตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติออกมาดีกว่าที่คาด ทำให้ ธปท.คาดว่าในปี 2565 น่าจะได้เห็นตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติมากกว่า 8 ล้านคน จากเดิมที่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยว 6 ล้านคน ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวต่างชาติทุกๆ 1 ล้านคน จะช่วยสนับสนุนจีดีพีได้ 0.4% ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะทำให้เศรษฐกิจไทยมีแรงส่งต่อเนื่อง
“มีกระแสเยอะว่า ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้นเยอะ เราเห็นสัญญาณค่อนข้างชัดว่าโลกจะชะลอตัวลง ไม่เถียง จริง อเมริกาจากการที่เฟดขึ้นดอกเบี้ยเร็ว จีนเองก็มีสัญญาณชะลอตัว ส่งออกเราก็จะแผ่วเป็นเรื่องปกติ แต่ข้อดีของเรา การฟื้นตัวมาจากปัจจัยภายในประเทศเยอะ คือ อุปสงค์ภายในประเทศ รายได้ของคนที่โต บวกกับท่องเที่ยว ซึ่งแม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัว แต่ท่องเที่ยวก็ยังมา เพราะเมืองไทยไม่ได้แพง และคนอยากมาเที่ยวจริงๆ” นายเศรษฐพุฒิ ระบุ
นายเศรษฐพุฒิ ย้ำว่า “การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศน่าจะฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง และความเสี่ยงด้านต่ำในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ผมคิดว่าน้อยกว่าประเทศอื่นๆ ณ ตอนนี้”
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวถึงแนวโน้มเงินเฟ้อในประเทศไทย ว่า ในขณะที่ทั่วโลกกำลังถกเถียงกันว่า เงินเฟ้อในระยะยาว หรือในอีก 3-5 ปีข้างหน้า จะเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นสิ่งที่ตอบได้ยาก แต่สำหรับประเทศไทย แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาเงินเฟ้อทั่วไปจะขยายตัวมากกว่า 7% และทั้งปี 2565 คาดว่าจะได้เห็นเงินเฟ้อทั่วไปที่ระดับ 6% ซึ่งสูงเกินกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อระยะปานกลางที่ 1-3% แต่ ธปท.มองว่า เงินเฟ้อจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้ในช่วงกลางปี 2566
“เงินเฟ้อที่ขึ้นมาเยอะ เป็นเรื่องของราคาน้ำมันโลก ถามว่า ธปท.หรือประเทศไทยจะไปทำอะไรราคาน้ำมันได้หรือไม่ มันก็ทำไม่ได้อยู่แล้ว แต่สิ่งที่เป็นหน้าที่ของธนาคารกลาง คือ อย่าให้เครื่องยนต์ของเงินเฟ้อติด โดยสิ่งที่ ธปท.กำลังจับตามองและกังวลมากกว่าตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปที่ขึ้นไป 7% กว่าแล้ว คือ ตัวเงินเฟ้อพื้นฐาน ซึ่งเงินเฟ้อพื้นฐานเติบโตแบบเดือนต่อเดือน มา 4 เดือนติดต่อกัน ซึ่งมีความเสี่ยงว่าเครื่องยนต์เงินเฟ้อมีโอกาสเริ่มติด แต่ไม่ได้แรงเหมือนในต่างประเทศ
และเมื่อเรามองไปข้างหน้า ในช่วงหลังที่เราเห็นเงินเฟ้อทั่วไปในระดับ 7% กว่า ถามว่าพีคหรือยัง ก็คิดว่ายัง โดยเราคิดว่าเงินเฟ้อน่าจะพีคในช่วงไตรมาส 3 ทั้งไตรมาส และมีโอกาสที่ตัวเลขเงินเฟ้อในเดือน ก.ย.-ต.ค. จะออกมาสูง ทำให้ทั้งปีน่าจะเห็นเงินเฟ้อทั่วไปที่ 6% อย่างไรก็ดี ปีหน้าเรามองว่า เงินเฟ้อจะกลับเข้ามาสู่กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของเรา โดยน่าจะกลับมามาอยู่ในกรอบเป้าหมายที่ 1-3% ในช่วงประมาณกลางปีหน้า” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
นายเศรษฐพุฒิ ยังย้ำว่า ท่ามกลางสถานการณ์เงินเฟ้อที่สูงขึ้นจากราคาพลังงานและอาหาร สิ่งที่ ธปท. ไม่ต้องการให้เกิดขึ้น คือ 1.เงินเฟ้อติด และ 2.การคาดการณ์เงินเฟ้อหลุดออกจากกรอบ เพราะถ้าเงินเฟ้อหลุดจากกรอบ จะทำให้เกิด wage price spiral หรือวงจรอุบาทว์ระหว่างค่าแรงกับราคาสินค้า และจะทำให้เครื่องยนต์เงินเฟ้อติด อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจคาดการณ์เงินเฟ้อระยะยาว ทั้งตัวเลขในตลาดและนักวิเคราะห์ พบว่าเงินเฟ้อคาดการณ์ยังอยู่ในกรอบ 1-3%
“ที่เราเห็นว่ามันโตสูงถึง 7% หลักๆเลยมาจากฝั่งอุปทาน แต่เราไม่ค่อยเห็นสัญญาณเงินเฟ้อที่มาจากฝั่งอุปสงค์ คือ เศรษฐกิจร้อนแรง ทำให้ราคาสินค้าขึ้น และเราก็ไม่เห็นสัญญาณของตลาดแรงงานที่หาคนไม่ได้จนค่าแรงวิ่งสูงขึ้น เหมือนภาพนี้ที่เราเห็นในต่างประเทศ เช่น อเมริกา อังกฤษ เพราะบริบทเงินเฟ้อของเราไม่ได้เป็นอย่างนั้น และโดยโครงสร้างเศรษฐกิจของเรา โอกาสที่จะเกิด wage price spiral ต่ำกว่าประเทศอื่น
เพราะ 40% ของแรงงานของเรา เป็นแรงงานที่ไม่ได้รับค่าจ้าง โดย 1 ใน 3 ของแรงงานเป็นเกษตร และมีแรงงานสัดส่วนไม่น้อยที่เป็นพ่อค้าแม่ค้า ขับแท็กซี่ และประกอบอาชีพอิสระต่างๆ ซึ่งไม่ได้รับค่าจ้าง ดังนั้น แรงส่งจากค่าจ้างที่ไปต่อในเรื่องเงินเฟ้อในบ้านเราเลยต่ำกว่า นอกจากนี้ สัดส่วนค่าใช้จ่ายแรงงานโดยรวมเมื่อเทียบกับต้นทุนการผลิต พบว่าสัดส่วนไม่ได้สูง โดยมีสัดส่วนอยู่ที่ 15% ไม่เหมือนกับในต่างประเทศที่ค่าแรงมีสัดส่วนสูงเมื่อเทียบกับต้นทุนการผลิต
และแรงงานที่นำเอาค่าแรงไปเชื่อมโยงกับเงินเฟ้อโดยตรง คือ ถ้าเงินเฟ้อขึ้นเท่านี้ ค่าแรงก็ต้องขึ้นเท่านี้ ในบ้านเราไม่ค่อยเห็น ไม่เหมือนกับในลาตินอเมริกา หรือประเทศพัฒนาแล้วบางประเทศ ซึ่งถ้ามีปัจจัยพวกนี้ โอกาสเกิดวงจรอุบาทว์จะสูงกว่า ด้วยเหตุผลทั้งหลายเหล่านี้ และตลาดแรงงานของเราก็ไม่ได้ร้อนแรงเหมือนที่อื่น โอกาสเกิดวงจรอุบาทว์ในไทยจึงต่ำกว่าที่อื่น เป็นที่มาว่า ทำไมจึงเรามองว่าเงินเฟ้อจะกลับเข้าสู่กรอบ ไม่ใช่สูงขึ้นไปเรื่อยๆ” นายเศรษฐพุฒิ ระบุ
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ว่า เรื่องนี้ เราบอกแล้วว่า 1.การขึ้นดอกเบี้ยเป็นเรื่องที่จำเป็น และต้องเริ่มปรับนโยบายกลับสู่ภาวะปกติ แต่ 2.เราจะทำแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะโจทย์ของเราตอนนี้ คือ ทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง หรือ smooth take off ซึ่งโจทย์ของไทยต่างจากสหรัฐโดยสิ้นเชิง เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐร้อนแรง เขาจึงทำให้เศรษฐกิจลงอย่าง smooth ส่วนบ้านเรา เราพยายามทำให้เศรษฐกิจขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“ทั้งโจทย์ที่ต่างกัน และบริบทก็ต่างกัน ทำให้การดำเนินนโยบายของเรากับเขาต้องแตกต่างกัน คือ บริบทของเราไม่เหมือนเขา แล้วเราจะเดินนโยบายแบบเขาทำไม และเป็นอะไรที่ผมเห็นว่ามันไม่ make sense เลย อันแรก เขาอยู่ในจุดที่เศรษฐกิจฟื้นตัวมาซักพักหนึ่งแล้ว เศรษฐกิจร้อนแรง และค่าสินค้าก็ขึ้น แต่ของเราไม่มีภาพตรงนั้น โดยภาพการฟื้นตัวของเรายังไม่กลับไปสู่ช่วงก่อนเกิดโควิดเลย
มีนักวิเคราะห์ออกมาบอกว่า มีความกังวลว่า ธปท. ขึ้นดอกเบี้ยช้าไป หรือที่เรียกว่า behind the curve คนอื่นเขาไปหมดแล้ว เรายังไม่ไป ผมยืนยันว่า ไม่ใช่ ถามว่าทำไม ทุกประเทศที่ขึ้นดอกเบี้ย สหรัฐ อังกฤษ เกาหลี และมาเลเซีย ที่ขึ้นดอกเบี้ย เขาขึ้นดอกเบี้ยตอนที่เศรษฐกิจเขาฟื้นกลับมาเข้าสู่ก่อนระดับก่อนโควิดแล้ว แต่เราเป็นประเทศเดียวที่ขึ้นดอกเบี้ย ก่อนที่ระดับเศรษฐกิจกลับมาสู่ก่อนโควิด ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง เราไม่ได้ behind the curve ไม่ได้ช้าเกินไปแน่นอน
ส่วนบริบทของเงินเฟ้อที่แตกต่างกัน ก็สะท้อนภาพที่ไม่เหมือนกันเช่นกัน โดยของเขาเงินเฟ้อมาจากฝั่งอุปสงค์เยอะ เศรษฐกิจร้อนแรง แต่ของเรามาจากฝั่งอุปทานเป็นหลัก และจากโครงสร้างที่เล่ามา ก็เชื่อว่าเงินเฟ้อจะกลับมาสู่กรอบ ดังนั้น ความจำเป็นที่ต้องรีบเร่ง จัดเต็ม ขึ้นดอกเบี้ยเหมือนที่เฟดทำทีละ 0.75% มันไม่มีในไทย และไม่เหมาะด้วย เพราะเศรษฐกิจเราอยู่ในช่วง take off ก็ต้องทำให้มัน smooth
ขณะที่การขึ้นที่ดอกเบี้ยเร็วและแรงเกินไป อาจไม่มีความจำเป็นและอาจส่งผลเสีย เพราะบ้านเรายังมีกลุ่มที่เปราะบางที่ยังไม่ฟื้นตัว หนี้บ้านเราก็อยู่ในระดับที่สูง โดยเฉพาะหนี้ครัวเรือน ด้วยเหตุผลทั้งหลายทั้งปวง สิ่งที่เราชี้แจงไปนั้น ใช่ เราจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ย เพราะเงินเฟ้อมันขึ้น และถ้าเราไม่ take action โอกาสที่คาดการณ์เงินเฟ้อระยะยาวจะหลุดจากกรอบ เครื่องยนต์เงินเฟ้อติด จะโอกาสเกิดสูงขึ้น
แต่ถามว่าขึ้นแบบไหน ก็ตอบว่าขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป และเหมาะสมกับบริบทของเรา ณ จุดนั้น คือ ถ้าข้อมูลมันสะท้อนว่า pause (หยุด) ก็อาจจะ pause แต่ถ้าสะท้อนว่า ต้องขึ้นมากเป็นพิเศษ มากกว่าปกติก็จะทำ” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
อ่านประกอบ :
‘ผู้ว่าฯธปท.’ยันการขึ้นดอกเบี้ยของไทยไม่ได้ช้าไป-ชี้โอกาสเกิด Stagflation เป็นไปได้น้อย
ผู้ว่าฯธปท. : ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ‘ส่วนต่างดอกเบี้ย-ค่าเงิน-ทุนเคลื่อนย้าย-ทุนสำรอง’
กลับสู่ภาวะปกติ!‘ผู้ว่าฯธปท.’ชี้ไม่ได้ขึ้น‘ดอกเบี้ย’ทีเดียวแล้วจบ-คาดGDPไตรมาส 2 โต 3%
‘ผู้ว่าฯธปท.’ชี้บาทอ่อนสุดในรอบ 7 ปี เหตุดอลลาร์ฯแข็ง-ย้ำไม่จำเป็นต้องขึ้น‘ดบ.’ตามเฟด
เปิดรายงาน กนง. : ขึ้น'ดอกเบี้ย'ในช่วงเวลาเหมาะสม-'บาท'อ่อนสอดคล้องค่าเงินในภูมิภาค
ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ : ‘ความเสี่ยงไปอยู่ที่การดูแลเงินเฟ้อ-ขึ้นดอกเบี้ยเป็นสิ่งที่จำเป็น’
น้ำมัน-อาหารแพง! 'กนง.'ปรับเป้าเงินเฟ้อฯคาดพุ่งแตะ 4.9%-หั่นจีดีพีปีนี้เหลือโต 3.2%
กนง.มีมติเอกฉันท์คงดบ.นโยบาย 0.5% ต่อปี-มองแรงกดดัน'เงินเฟ้อด้านอุปสงค์'อยู่ในระดับต่ำ