ที่ประชุม กนง. มีมติเอกฉันท์ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 1% ต่อปี พร้อมจับตาการเคลื่อนไหวของ ‘ค่าเงินบาท’ ใกล้ชิด มองเศรษฐกิจไทยปีนี้เติบโต 3.3% ปีหน้า 3.8%
.....................................
เมื่อวันที่ 28 ก.ย. นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 0.75 เป็นร้อยละ 1.00 ต่อปี โดยให้มีผลทันที
เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง ตามแรงส่งของภาคท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนเป็นสำคัญ ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังอยู่ในระดับสูงจากการส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา แม้แรงกดดันด้านอุปทานจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีแนวโน้มคลี่คลาย ในภาพรวมแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อใกล้เคียงกับที่ได้ประเมินไว้ก่อนหน้า คณะกรรมการฯ เห็นว่าการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังเป็นแนวทางการดำเนินนโยบายที่เหมาะสม จึงเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี ในการประชุมครั้งนี้
เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ร้อยละ 3.3 และ 3.8 ในปี 2565 และ 2566 ตามลำดับ ตามแรงส่งของภาคท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนเป็นสำคัญ โดยภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวได้ดีกว่าคาดจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อีกทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังมีความทั่วถึงมากขึ้น ทั้งในมิติของสาขาธุรกิจโดยเฉพาะภาคบริการและในมิติของรายได้ที่เริ่มกระจายตัวดีขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจโลกที่ชะลอลงกว่าคาดส่งผลต่อภาคการส่งออก แต่ไม่ได้กระทบแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภาพรวม
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2565 และ 2566 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 6.3 และ 2.6 ตามลำดับ โดยมีแนวโน้มปรับลดลงตามราคาน้ำมันโลกและปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่ทยอยคลี่คลาย ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปี 2565 และ 2566 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 2.6 และ 2.4 ตามลำดับ โดยโน้มสูงขึ้นจากการส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ ด้านค่าจ้างแรงงานปรับเพิ่มขึ้นในบางภาคธุรกิจและบางพื้นที่ที่ขาดแคลนแรงงาน แต่ยังไม่เห็นสัญญาณการปรับเพิ่มขึ้นในวงกว้าง
นอกจากนี้ แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ยังมีจำกัดเนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังอยู่ระหว่างการฟื้นตัว สำหรับอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย คณะกรรมการฯ จะติดตามความเสี่ยงเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการส่งผ่านต้นทุนที่อาจเพิ่มขึ้นหากผู้ประกอบการเผชิญกับแรงกดดันด้านต้นทุนหลายด้านพร้อมกัน
ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ ธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ยังมีผู้ประกอบการ SMEs ในบางสาขาธุรกิจที่ฟื้นตัวช้าและครัวเรือนรายได้น้อยบางกลุ่มที่ยังอ่อนไหวต่อค่าครองชีพ คณะกรรมการฯ เห็นว่าควรดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเห็นความสำคัญของการมีมาตรการเฉพาะจุดและแนวทางแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนสำหรับกลุ่มเปราะบาง
ภาวะการเงินโดยรวมยังผ่อนคลาย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลทยอยปรับสูงขึ้น ในขณะที่ต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนโดยรวมยังเอื้อต่อการระดมทุน ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์ สรอ. ปรับอ่อนค่าเร็วและต่อเนื่องตามการแข็งค่าของดอลลาร์ สรอ. สอดคล้องกับสกุลเงินในภูมิภาค คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการในตลาดการเงินและตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในช่วงที่ค่าเงินบาทมีความผันผวนสูง
ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่มีความเสี่ยงจากเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น จึงเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไปเข้าสู่ระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาว และในกรณีที่แนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในระยะข้างหน้าเปลี่ยนไปจากที่ประเมินไว้
คณะกรรมการฯ พร้อมที่จะปรับขนาดและเงื่อนเวลาของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้เหมาะสมต่อไป
นายปิติ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง จากการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับเข้าสู่ระดับก่อนโควิดในช่วงสิ้นปี 2565 หรือต้นปี 2566 ทั้งนี้ ธปท.ประเมินว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2565 จะอยู่ที่ 9.5 ล้านคน และปี 2566 จะอยู่ที่ 21 ล้านคน ซึ่งสูงกว่าประมาณการครั้งก่อน และคาดว่าเศรษฐกิจปี 2565 จะขยายตัว 3.3% เท่าประมาณการเดิม ส่วนปี 2566 คาดว่าจะขยายตัว 3.8% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 4.2%
“แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะมีแนวโน้มชะลอตัวลง และจะกระทบต่อภาคส่งออก แต่ไม่ได้กระทบต่อภาพรวมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย โดยปีนี้เราคาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 3.3% เท่าเดิม แต่จากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวในปีหน้า จึงมีการปรับคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีหน้าเหลือ 3.8%” นายปิติ กล่าว
นายปิติ กล่าวต่อว่า สำหรับเงินเฟ้อของไทยในภาพรวมนั้น คาดว่าเงินเฟ้อจะโน้มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้ในปี 2566 โดย ธปท.คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2565 จะขยายตัว 6.3% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 6.2% ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน จะขยายตัว 2.6% จากเดิม 2.2% และปี 2566 คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะขยายตัว 2.6% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 2.5% ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน จะขยายตัว 2.4% จากเดิม 2.0%
“ตัวที่เราปรับเร่งขึ้นมา คือ เงินเฟ้อพื้นฐาน ตามข้อมูลจริงที่ทยอยออกมา และมีการส่งผ่านต้นทุนจริงที่สูงกว่าที่เราคาดเล็กน้อย ทำให้ประมาณการเงินเฟ้อพื้นฐานในปีนี้ปรับขึ้นเป็น 2.6% และปีหน้า 2.4% แต่ในภาพรวมเงินเฟ้อจะเข้าสู่กรอบเป้าหมายในปีหน้าอยู่ดี ซึ่งเหตุผลหลักๆที่ทำให้เงินเฟ้อลดลง คือ การคลี่คลายของแรงกดดันในด้านซัพพลายช็อก โดยราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกปรับตัวลดลง จากสัญญาณเศรษฐกิจโลกที่เริ่มชะลอตัว” นายปิติกล่าว
นายปิติ กล่าวด้วยว่า กนง. ได้ประเมินถึงความเสี่ยงที่ว่ามีโอกาสที่เงินเฟ้อจะสูงเป็นเวลานานๆหรือไม่ ซึ่งกรณีของประเทศไทย พบว่าความเสี่ยงกรณีดังกล่าวมีจำกัด เนื่องจากเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวค่อนข้างช้าเมื่อเทียบกับประเทศอื่น เพราะไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวค่อนข้างมาก และโอกาสที่จะเกิด wage-price spiral ในไทยก็มีจำกัด เพราะไทยมีลูกจ้างนอกภาคเกษตรต่ำกว่าประเทศอื่น โครงสร้างแรงงานค่อนข้างยืดหยุ่น และลูกจ้างมีความสามารถในการต่อรองไม่มากนัก
ส่วนเรื่องค่าเงิน คณะกรรมการ กนง. ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และวิเคราะห์ว่า การอ่อนค่าของค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา ยังไม่ส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อและเศรษฐกิจไทยในภาพรวม ในขณะที่การอ่อนค่าของค่าเงินบาทมาจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยมีสาเหตุจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นดอกเบี้ยแรงและเร็วมาก รวมถึงปัญหาความคลุมเครือด้านภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้คนแห่ไปลงทุนในสินทรัพย์ของสหรัฐฯ
“ตั้งแต่ต้นปี ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า 18.4% ซึ่งเยอะเป็นประวัติการณ์ และสร้างปัญหาให้กับคนอื่นในโลก โดยทุกประเทศทั่วโลกมีค่าเงินอ่อนลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้น การที่เงินบาทอ่อนลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ไม่ใช่ปัจจัยเฉพาะของเศรษฐกิจไทย แต่มาจากปัจจัยระดับโลก คือ เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งขึ้น และหากเทียบในภูมิภาคเอเชีย เงินบาทเราอ่อนค่ากลางๆ โดยอ่อนค่า 12.1% อ่อนค่าน้อยกว่าไต้หวัน ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และอังกฤษ” นายปิติ กล่าว
นายปิติ ยังระบุว่า การแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อไทยจำกัด โดยตั้งแต่ต้นปีประเทศไทยมีเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลเข้าสุทธิ 4,474 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และภายใต้บริบทที่ตลาดหุ้นทั่วโลกเป็นตลาดหมี แต่ตลาดหุ้นไทยแทบจะไม่เปลี่ยนเลย ซึ่งสะท้อนว่าเงินทุนไม่ได้หนีออกจากประเทศไทย แต่ตรงกันข้ามนักลงทุนระยะยาวยังมองเห็นศักยภาพของประเทศไทย ในขณะที่เสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยค่อนข้างแข็งแกร่ง
“คณะกรรมการฯ เห็นว่าเรื่องค่าเงินเป็นสิ่งที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในช่วงที่มีความผันผวนสูงทั้งตอนนี้และช่วงที่ผ่ามา แต่คณะกรรมการฯเอง ก็ตระหนักว่า ความสามารถของนโยบายการเงิน และเครื่องมือที่เรามีในการดูแลการแข็งค่าของดอลลาร์มีจำกัด ส่วนเรื่องดอกเบี้ยเป็นแค่ปัจจัยหนึ่งในหลายปัจจัยที่กระทบต่อค่าเงิน และตั้งแต่ต้นปีจนถึงเมื่อวาน ไทยปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ค่าเงินบาทเราอ่อนค่าลง 12% แต่มีหลายๆประเทศ ไม่ว่าจะเป็นนิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ อังกฤษ และเกาหลี ที่ปรับขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าเราเยอะ แต่ค่าเงินก็ยังอ่อนมากกว่าเราอีก” นายปิติ กล่าว
อ่านประกอบ :
‘ผู้ว่าฯธปท.’ย้ำไม่จำเป็นต้อง‘รีบเร่ง’ขึ้นดอกเบี้ย-คาด‘เงินเฟ้อ’กลับสู่กรอบกลางปี 66
‘ผู้ว่าฯธปท.’ยันการขึ้นดอกเบี้ยของไทยไม่ได้ช้าไป-ชี้โอกาสเกิด Stagflation เป็นไปได้น้อย
ผู้ว่าฯธปท. : ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ‘ส่วนต่างดอกเบี้ย-ค่าเงิน-ทุนเคลื่อนย้าย-ทุนสำรอง’
กลับสู่ภาวะปกติ!‘ผู้ว่าฯธปท.’ชี้ไม่ได้ขึ้น‘ดอกเบี้ย’ทีเดียวแล้วจบ-คาดGDPไตรมาส 2 โต 3%
‘ผู้ว่าฯธปท.’ชี้บาทอ่อนสุดในรอบ 7 ปี เหตุดอลลาร์ฯแข็ง-ย้ำไม่จำเป็นต้องขึ้น‘ดบ.’ตามเฟด
เปิดรายงาน กนง. : ขึ้น'ดอกเบี้ย'ในช่วงเวลาเหมาะสม-'บาท'อ่อนสอดคล้องค่าเงินในภูมิภาค
ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ : ‘ความเสี่ยงไปอยู่ที่การดูแลเงินเฟ้อ-ขึ้นดอกเบี้ยเป็นสิ่งที่จำเป็น’
น้ำมัน-อาหารแพง! 'กนง.'ปรับเป้าเงินเฟ้อฯคาดพุ่งแตะ 4.9%-หั่นจีดีพีปีนี้เหลือโต 3.2%
กนง.มีมติเอกฉันท์คงดบ.นโยบาย 0.5% ต่อปี-มองแรงกดดัน'เงินเฟ้อด้านอุปสงค์'อยู่ในระดับต่ำ