‘กนง.’ มีมติเอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 2% ประเมิน 'เศรษฐกิจไทย' มีโอกาสเติบโตสูงกว่าที่คาดไว้ จากปัจจัย 'นโยบายเศรษฐกิจภาครัฐ' ชี้อัตราเงินเฟ้อมีความเสี่ยง ‘ด้านสูง’ จากแรงกดดันด้านอุปทาน
.......................................
เมื่อวันที่ 31 พ.ค.นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ว่า คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 1.75 เป็นร้อยละ 2.00 ต่อปี โดยให้มีผลทันที
เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง จากภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนเป็นสำคัญ ขณะที่การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลง แต่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังทรงตัวในระดับสูง ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อยังมีความเสี่ยงจากแรงกดดันด้านอุปสงค์ในบริบทที่เศรษฐกิจขยายตัวดี รวมทั้งการส่งผ่านต้นทุนผู้ประกอบการอาจปรับสูงขึ้นจากแรงกดดันด้านอุปทาน
คณะกรรมการฯ เห็นว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องยังเหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ จึงเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี ในการประชุมครั้งนี้
เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ร้อยละ 3.6 และ 3.8 ในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลบวกต่อการจ้างงานและรายได้แรงงาน และเป็นแรงส่งต่อเนื่องไปยังการบริโภคภาคเอกชน ด้านการส่งออกทยอยฟื้นตัวใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ และคาดว่าจะขยายตัวดีขึ้นในระยะต่อไป สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่แม้จะชะลอลงบ้างแต่ยังมีทิศทางขยายตัว
คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีโอกาสขยายตัวสูงกว่าที่ประเมินไว้ ส่วนหนึ่งจากนโยบายเศรษฐกิจของภาครัฐ อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามแนวโน้มเศรษฐกิจและการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลักที่ยังมีความไม่แน่นอน
อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มทยอยปรับลดลง โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลงกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย และคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 2.5 และ 2.4 ในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ จากแรงกดดันจากค่าไฟฟ้าและราคาน้ำมันที่ทยอยคลี่คลาย ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานคาดว่าจะทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 2.0 ในปี 2566 และ 2567 ซึ่งอยู่ในระดับสูงเทียบกับอดีต
ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อมีความเสี่ยงด้านสูงจากแรงกดดันด้านอุปสงค์ในบริบทที่เศรษฐกิจขยายตัวดี รวมทั้งการส่งผ่านต้นทุนผู้ประกอบการอาจปรับสูงขึ้นจากแรงกดดันด้านอุปทาน ซึ่งส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับนโยบายเศรษฐกิจของภาครัฐในระยะต่อไป จึงต้องติดตามพฤติกรรมการปรับราคาของผู้ประกอบการที่อาจเปลี่ยนไป
@จับเงินเฟ้อ ‘ระยะกลาง’ อยู่ระดับสูง-จีดีพีอาจโตมากกว่าคาด
นายปิติ กล่าวเพิ่มเติมว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง และขยายตัวได้ใกล้เคียงกับที่ กนง. เคยประเมินไว้ โดย กนง.คาดว่าเศรษฐกิจปีนี้และปีหน้าจะขยายตัวที่ 3.6% และ 3.8% ซึ่งเท่ากับประมาณการเดิม ส่วนการส่งออกที่แผ่วลงและติดลบเมื่อเทียบกับปีก่อนนั้น เป็นสิ่ง กนง.ได้คาดการณ์ไว้แล้ว และคาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังการส่งออกจะฟื้นตัว ขณะที่แรงส่งที่สำคัญของเศรษฐกิจยังคงเป็นภาคการท่องเที่ยวที่ส่งผลบวกต่อการบริโภคภาคเอกชน
“แรงส่งที่สำคัญในเศรษฐกิจ มาจากภาคการท่องเที่ยว ซึ่งในช่วงไตรมาส 1/2566 จำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศไทยมากกว่าที่เราได้ประเมินไว้ ทำให้เราปรับเพิ่มประมาณการนักท่องเที่ยวทั้งปี 2566 เป็น 29 ล้านคน (เดิม 28 ล้านคน) และปี 2567 เป็น 35.5 ล้านคน (เดิม 35 ล้านคน) ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวจากจีนยังคงทยอยกลับมาในประเทศ แต่ส่วนที่เข้ามามากกว่าที่เราประเมินไว้ จะมาจากที่อื่น โดยเฉพาะเพื่อนบ้านในเอเชีย เช่น มาเลเซีย” นายปิติ กล่าว
ทั้งนี้ กนง.ยังได้ปรับประมาณการตัวเลขการส่งออกในปี 2566 โดยคาดว่าการส่งออกจะหดตัวที่ -0.1% จากครั้งก่อนที่คาดว่าการส่งออกจะหดตัว -0.7% ส่วนปี 2567 คาดว่าการส่งออกจะขยายตัว 3.6% ลดลงจากครั้งก่อนที่คาดว่าการส่งออกจะขยายตัว 4.3%
นายปิติ ระบุว่า ในด้านอัตราเงินเฟ้อนั้น ขณะนี้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลงกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย และปรับลดลงมากกว่าที่คาดไว้ ทำให้ กนง.ปรับลดประมาณการเงินเฟ้อในปี 2566 ลง โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2566 จะอยู่ที่ 2.5% จากเดิม 2.9% และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 2% จากเดิม 2.4% ส่วนปี 2567 คาดว่าเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับเดียวกับที่เคยประเมินไว้ในครั้งที่แล้ว คือ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 2.4% และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 2%
“เงินเฟ้อในปีนี้ที่ปรับลดลง เป็นผลจากฐานปีที่แล้วที่อยู่ในระดับสูง ประกอบกับภาครัฐมีมาตรการช่วยเหลือเรื่องค่าไฟฟ้า และมีข้อสังเกตว่า ตัวเลขเงินเฟ้อล่าสุดในเดือน เม.ย.2566 ที่เงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 2.67% และเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 1.7% ซึ่งถือว่าต่ำ แต่หากไปมองในระยะข้างหน้า น่าจะต่ำลงกว่านี้อีก เพราะฐานของระดับราคาในปีที่แล้วค่อนข้างสูง จึงไม่แปลกใจเลย หากตัวเลขเงินเฟ้อที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศในเดือน พ.ค.-มิ.ย. จะต่ำกว่า 2%” นายปิติ กล่าว
อย่างไรก็ตาม หากมองในระยะปานกลาง คือ ในช่วงปลายปีนี้ถึงปีหน้า แรงส่งจากเงินเฟ้อยังมีอยู่ ดังนั้น เงินเฟ้อน่าจะอยู่ในระดับที่สูง โดยเฉพาะเงินเฟ้อพื้นฐานที่คาดว่าน่าจะอยู่ในระดับที่สูงกว่าในอดีตพอสมควร และต้องใช้เวลากว่าผลของเงินเฟ้อที่สูงขึ้นจะหมดไป คณะกรรมการฯจึงต้องเฝ้าระวังว่า จะต้องใช้เวลานานเท่าไหร่ กว่าอัตราเงินเฟ้อจะปรับลดลงมาอยู่ในกรอบเป้าหมายอย่างยั่งยืน
"จากเครื่องชี้แนวโน้มเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ทำให้ต้องมีการเฝ้าระวังพฤติกรรมการตั้งราคาของผู้ประกอบการในระยะถัดไป ขณะเดียวกัน แรงกดดันดันด้านอุปสงค์ที่มาพร้อมกับเศรษฐกิจที่ขยายตัว เป็นอีกปัจจัยที่ต้องจับตา ซึ่งรวมถึงการติดตามว่านโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูงนั้น จะมีผลกระทบต่อเงินเฟ้ออย่างไรบ้าง" นายปิติ ระบุ
นายปิติ กล่าวว่า ในด้านภาวะการเงิน ภาวะการเงินตึงตัวขึ้นสอดคล้องกับการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยธนาคารพาณิชย์มีการปรับขึ้นดอกเบี้ย MLR และ MRR ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. ในการส่งผ่านนโยบายการเงิน ขณะที่ปริมาณการขยายตัวของสินเชื่อชะลอลงอย่างชัดเจน โดยส่วนหนึ่งมาจากการที่ธุรกิจขนาดใหญ่เปลี่ยนการระดมทุนจากธนาคารพาณิชย์ไปเป็นการออกหุ้นกู้มากขึ้น
นายปิติ ระบุด้วยว่า แม้ว่าเงินเฟ้อมีความเสี่ยงในด้านสูงและยังต้องติดตาม แต่มีแนวโน้มว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2566 มีโอกาสขยายตัวมากกว่าที่ กนง.ประเมินไว้ แต่ก็มีสถานการณ์ต่างๆที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่พอสมควร ส่วนปัจจัยที่ต้องติดตามในระยะข้างหน้า ได้แก่ เศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่อาจเร่งตัวมากกว่าที่คาด 2.ทิศทางนโยบายเศรษฐกิจของภาครัฐ และ 3.แนวโน้มเศรษฐกิจโลก
@เดินหน้าปรับ‘ดอกเบี้ยนโยบาย’ให้สอดคล้องกับศักยภาพเศรษฐกิจ
เมื่อถามว่า มีความจำเป็นต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกหรือไม่ นายปิติ ระบุว่า เรื่องกระบวนการ normalize อัตราดอกเบี้ยนั้น คณะกรรมการฯ ได้ดำเนินกระบวนการ normalize มาระยะหนึ่งแล้ว โดยได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยมา 6 ครั้งติดต่อกันแล้ว และโดยรวมแล้วคิดว่าอัตราดอกเบี้ยได้ปรับเข้าสู่ระดับที่สอดคล้องกับการขยายตัวอย่างมีศักยภาพของเศรษฐกิจ ‘มากขึ้น’ และอยู่ในระดับที่ผ่อนคลายตามภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ขยายตัวเต็มที่
“การดำเนินนโยบายการเงินที่ทำมา คณะกรรมการฯคิดว่า ยังเหมาะสมที่จะดำเนินกลยุทธ์แบบนั้นต่อไป แต่ที่สำคัญ คือ ณ ตอนนี้ ความไม่แน่นอนในทุกๆด้านมีค่อนข้างเยอะ คณะกรรมการฯจึงต้องดูแนวโน้ม หรือ outlook แล้วประเมินให้ดีที่สุด ภายใต้ข้อมูลปัจจุบัน และถ้ามีข้อมูลเข้ามาใหม่ แล้วทำให้ outlook ปรับเปลี่ยน คณะกรรมการฯ ก็จะกำหนดอัตราดอกเบี้ยตาม outlook ที่เปลี่ยนไป และดูว่าแนวโน้มข้างหน้าเป็นอย่างไร” นายปิติ กล่าว
นายปิติ กล่าวด้วยว่า คณะกรรมการฯ มองว่า ในเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real Interest Rate) นั้น หากเปรียบเทียบกับประเทศในตลาดเกิดใหม่ที่คล้ายกับประเทศไทย และมีศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ระดับ 3-4% โดยทั่วไปแล้วอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงจะเป็นบวก และยิ่งเศรษฐกิจขยายตัวเร็วขึ้น อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงจะเป็นบวกสูงขึ้น
โดยคณะกรรมการฯเห็นว่า หากเศรษฐกิจแบบประเทศไทยอยู่ในบริบทที่ปกติ คือ เศรษฐกิจโตตามศักยภาพและเงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมาย อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงก็ควรเป็นบวก แต่ทั้งนี้ ในเรื่องอัตราดอกเบี้ยนั้น จะต้องขึ้นอยู่กับวัฏจักรเศรษฐกิจ ณ เวลานั้นด้วยว่าเป็นอย่างไร เช่น หากอยู่ในช่วงที่เศรษฐกิจซบเซา อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงที่เป็นลบ เป็นสิ่งเหมาะสม แต่ในทางกลับกันหากเศรษฐกิจอยู่ในภาวะร้อนแรง อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงที่บวกสูงขึ้นไปบ้าง ก็เป็นสิ่งที่เหมาะสม
“ตอนนี้เรายังไม่ถึงภาวะปกติ 100% เพราะถึงแม้ว่าจีดีพีเรา ฟื้นมามากกว่าระดับก่อนโควิดแล้ว แต่ถ้าเทียบกับระดับศักยภาพที่เราไปได้ ถือว่ายังมี gap (ช่องว่าง) อยู่” นายปิติ กล่าว
@‘กนง.’หารือ ‘ฉากทัศน์’ การดำเนินนโยบายของ‘รัฐบาลใหม่’
เมื่อถามว่า ในที่ประชุม กนง. ได้หารือสถานการณ์ทางการเมือง หลังจากมีการเลือกตั้งหรือไม่ นายปิติ กล่าวว่า แน่นอนว่า ณ ตอนนี้ ทุกคนที่ทำการวิเคราะห์เศรษฐกิจในระยะข้างหน้า ต้องคำนึงถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะในแง่แนวนโยบายที่จะเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งทางคณะกรรมการฯเอง ได้วิเคราะห์ฉากทัศน์ต่างๆของการดำเนินนโยบายด้านอุปสงค์และด้านอุปทานที่จะเกิดขึ้น และชั่งน้ำหนักว่าความเสี่ยงด้านบวกและด้านลบเป็นอย่างไร
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าอะไรคือนโยบายที่จะมา ดังนั้น การหารือของ กนง. ครั้งนี้ จึงเป็นเพียงการวิเคราะห์แบบทั่วไปว่า นโยบายที่อาจเกิดขึ้นจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากน้อยเพียงใด เพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินนโยบาย ณ จุดนี้ เมื่อมองไปข้างหน้าแล้ว สามารถรองรับความเสี่ยงเหล่านั้นได้ และหากการประชุม กนง.ครั้งหน้าหรือคราวต่อๆไป มีความชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายต่างๆแล้ว ก็จะชั่งน้ำหนักได้ว่านโยบายใดจะมีความเสี่ยงมากกว่ากัน
เมื่อถามว่า การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่อาจจะล่าช้าออกไป จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจหรือไม่ นายปิติ กล่าวว่า ตอนนี้การจัดตั้งรัฐบาลยังเป็นไปตามกระบวนการที่เรามีอยู่ และยังไม่มีอะไรที่บอกว่ามีความผิดปกติไปจากประวัติศาสตร์ที่เคยเป็นมา ซึ่งในเรื่องนี้ คณะกรรมการฯไม่ได้พูดคุยกันมาก และเมื่อตั้งรัฐบาลแล้วเสร็จ หากรัฐบาลมีนโยบายอะไร กนง. ก็ต้องมาดูว่ามีนโยบายแบบไหนบ้าง
นายปิติ กล่าวต่อว่า สำหรับเรื่องของเงินทุนเคลื่อนและค่าเงินบาทนั้น เป็นสิ่งที่คณะกรรมการฯ พิจารณาเป็นปกติอยู่แล้ว โดยตั้งแต่ต้นปี เงินทุนเคลื่อนย้ายและค่าเงินบาทมีความผันผวน ทั้งขึ้นทั้งลง ซึ่งมีปัจจัยค่อนข้างมาก ทั้งปัจจัยต่างประเทศและปัจจัยในประเทศ แต่ไม่พบว่ามีอะไรที่ผิดปกติ ทั้งในแง่การเคลื่อนไหวของค่าเงินและเงินทุนเคลื่อนย้าย รวมทั้งไม่ได้มีปัญหาในการทำงานของตลาดในภาพรวม
นายปิติ ยังขยายความถึงกรณีที่ กนง.ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้ามีโอกาสขยายตัวมากกว่าที่คาดไว้ ว่า โอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวดีกว่าที่คาดไว้นั้น จะมาปัจจัยทั้งภายในและปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะปัจจัยภายใน เช่น หากมีการจัดตั้งรัฐบาลเรียบร้อยแล้ว มีความกระจ่าง ก็เป็นไปได้ว่าความมั่นใจในการลงทุนจะเพิ่มขึ้น ในขณะที่ความมั่นใจของผู้บริโภคที่มีค่อนข้างสูงอยู่แล้ว อีกทั้งนโยบายของรัฐบาลจะเป็นตัวที่ช่วยเสริมด้วย แต่จะเป็นปีหน้ามากกว่าไม่ใช่ปีนี้
“ในภาพรวม มีโอกาสที่เศรษฐกิจจะขยายตัวได้มากกว่าที่มองไว้ แต่ต้องดูความชัดเจนในระยะต่อไปอีก” นายปิติ กล่าว
นายปิติ กล่าวด้วยว่า ที่ประชุม กนง.ได้มีหารือเกี่ยวกับเรื่องหนี้สินครัวเรือนกันพอสมควร โดยเฉพาะหนี้ที่ค้างมานานและไม่สามารถชำระได้ ซึ่งคณะกรรมการฯมองว่า หนี้เหล่านี้จะเป็นตัวที่มาถ่วงเศรษฐกิจได้ และแม้ว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยจะไปมีผลกระทบกลุ่มที่เปราะบางได้ แต่มาตรการที่เหมาะสมในการดูแลคนกลุ่มนี้ คงไม่ใช่เรื่องดอกเบี้ย เพราะปัญหาของเขามีมากกว่าเรื่องดอกเบี้ย แต่เป็นเรื่องความสามารถในการชำระหนี้เมื่อเทียบกับรายได้มากกว่า
ดังนั้น การดูแลหนี้เดิมที่มีปัญหา โดยใช้เครื่องมือหรือแนวทางการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาว จึงเป็นสิ่งที่เหมาะสมมากกว่า และเป็นเครื่องมือที่ดำเนินการอยู่แล้ว ในขณะที่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไปนั้น ก็ช่วยดูแลหนี้เดิมได้ระดับหนึ่ง
อ่านประกอบ :
มติเอกฉันท์! กนง.ขึ้นดอกเบี้ย 0.25%สู่ระดับ 1.75% สกัดเงินเฟ้อ-จับตาตลาดการเงินโลกผันผวน
มติเอกฉันท์! กนง.ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% สกัดเงินเฟ้อ-มองศก.ไทยฟื้นต่อเนื่อง แม้ส่งออกแผ่ว
กนง.มีมติเอกฉันท์ขึ้นดบ.นโยบาย 0.25% สู่ระดับ 1.25%-จับตาเศรษฐกิจโลกเสี่ยงชะลอกว่าคาด
มติเอกฉันท์! กนง.ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จับตา‘เงินบาท’ใกล้ชิด-มองจีดีพีปีนี้โต 3.3%
‘ผู้ว่าฯธปท.’ย้ำไม่จำเป็นต้อง‘รีบเร่ง’ขึ้นดอกเบี้ย-คาด‘เงินเฟ้อ’กลับสู่กรอบกลางปี 66
‘ผู้ว่าฯธปท.’ยันการขึ้นดอกเบี้ยของไทยไม่ได้ช้าไป-ชี้โอกาสเกิด Stagflation เป็นไปได้น้อย
ผู้ว่าฯธปท. : ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ‘ส่วนต่างดอกเบี้ย-ค่าเงิน-ทุนเคลื่อนย้าย-ทุนสำรอง’
กลับสู่ภาวะปกติ!‘ผู้ว่าฯธปท.’ชี้ไม่ได้ขึ้น‘ดอกเบี้ย’ทีเดียวแล้วจบ-คาดGDPไตรมาส 2 โต 3%