“...ในเชิงพื้นฐานของเรา ในแง่ต่างประเทศ เราไม่ได้ weak (อ่อนแอ) ขนาดนั้น ทุนสำรองฯก็เยอะ หนี้ต่างประเทศก็น้อย ดุลบัญชีเดินสะพัดตอนนี้ติดลบ เดี๋ยวท่องเที่ยวกลับมาก็เป็นบวก sentiment ก็มีโอกาสสวิง..."
.............................
หมายเหตุ : ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงาน Meet the Press ในหัวข้อ ‘ชี้แจงประเด็นความเข้าใจผิดเกี่ยวกับส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย ค่าเงินบาท เงินทุนเคลื่อนย้าย และเงินทุนสำรอง ณ โถงหน้าห้องประชุมภัทรรวมใจ อาคาร 2 ชั้น 2 ธปท. สำนักงานใหญ่ เมื่อวันที่ 22 ก.ค.2565
อยากจะขอชี้แจง อธิบายเรื่องที่มีการพูดกันเยอะ ซึ่งไม่ค่อยถูก จึงอยากมาอธิบายว่า ทำไมถึงไม่ถูก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าเงิน ดอกเบี้ยเรากับดอกเบี้ยต่างประเทศ เงินทุนเคลื่อนย้าย และเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ
นิทานที่เราได้เห็นบ่อยๆ มีอารมณ์ประมาณว่า ส่วนต่างดอกเบี้ยมันสูง ดอกเบี้ยไทยต่ำกว่าสหรัฐ เงินทุนเลยไหลออก แล้วค่าเงินบาทอ่อน เงินทุนสำรองฯเราลดลง และเสถียรภาพจะเปราะ เดี๋ยวเราจะเกิดวิกฤติสไตล์ปี 2540 คือ เห็นค่าเงินอ่อน ทุนสำรองฯลง
ฟังดูเผินๆก็เหมือนจะ make sense (มีเหตุผล) ว่า เมื่อมีส่วนต่างดอกเบี้ย เงินก็ไหลออกไปสิ ไปหาที่ที่มีดอกเบี้ยสูง พอเงินไหลออก ค่าเงินก็ต้องอ่อน แบงก์ชาติต้องเข้ามาทำโน่นทำนี่ ทุนสำรองฯก็ลดลง เมื่อทุนสำรองฯลดลง ก็บอกว่าจะเกิดวิกฤติ ถ้าคนพูด คนเขียน เขียนเก่ง พูดเก่ง คนก็อาจเคลิ้มตาม
แต่ผมอยากจะคลี่ออกมาให้เห็นว่า จริงๆแล้วมีหลายเรื่อง ที่ไม่ตรงกับ fact (ข้อเท็จจริง) และไม่ได้จำเป็นต้องเป็นอย่างนั้น ซึ่งความน่าเป็นห่วงเรื่องนี้ สำหรับผม ไม่ได้น่ากังวลขนาดนั้น โดยเฉพาะด้วยบริบทของเศรษฐกิจเราตอนนี้
ลองมาไล่ที่ข้อ
@ส่วนต่างดอกเบี้ย ‘ไทย-สหรัฐ’ ไม่ใช่ตัวขับเคลื่อนเงินทุนไหลเข้า-ออก
1.ส่วนต่างดอกเบี้ยไทยกับสหรัฐกว้างขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ค่าเงินเราอ่อน เงินทุนไหลออก
ถามว่าส่วนต่างดอกเบี้ย เป็นปัจจัยเดียวหรือที่ทำให้เงินทุนไหลออก และค่าเงินมันอ่อน คำตอบ คือ ไม่ใช่
เพราะถ้าเราดู จะเห็นว่ามีตัวอย่างหลายประเทศ ที่ส่วนต่างดอกเบี้ยของเขาเทียบกับสหรัฐ เขาสูงกว่า แต่เขายังเจอเรื่องเงินทุนไหลออก
ถ้าเอาตาม fact ตอนนี้ Year to date (YTD) นับตั้งแต่ต้นปีถึงตอนนี้ สุทธิแล้วเงินทุนไหลเข้าไทย 3.5 พันล้านเหรียญฯ จึงไม่ได้เป็นอย่างที่คนบอกว่า เงินทุนไหลออกมหาศาล
ใช่ มีบางช่วงที่เงินออก ซึ่งเป็นเรื่องปกติ บางช่วงก็ออก บางช่วงก็เข้า แต่ Net แล้วล่าสุด ทั้งฝั่งพันธบัตร ตลาดหลักทรัพย์ บอนด์ และ equity (ทุน) ยังบวก 3.5 พันล้านเหรียญ
แล้วถามว่าส่วนต่างดอกเบี้ยเป็น key driver (ตัวขับเคลื่อน) ของเงินทุนไหลเข้า-ไหลออก หรือเปล่า คำตอบ คือ ไม่ใช่
เพราะถ้าเราดูตัวอย่าง อินเดีย และอินโดนีเซีย ของเขาดอกเบี้ยนโยบายสูงกว่าสหรัฐ แต่เงินทุนของเขาก็ยังไหลออก ซึ่งสะท้อนว่าเรื่องส่วนต่างดอกเบี้ย คงไม่ใช่ปัจจัยเดียว
อีกตัวอย่างหนึ่งที่บอกว่า การขึ้นดอกเบี้ย จะทำให้เงินทุนไม่ไหลออก และไม่ทำให้ค่าเงินอ่อน คือ เกาหลีใต้ เกาหลีใต้ขึ้นดอกเบี้ยมา 5 ครั้ง แต่ค่าเงินเขาอ่อนเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ และอ่อนกว่าเรา ดังนั้น จะไปโฟกัสเฉพาะส่วนต่างดอกเบี้ย คงไม่ใช่
@เงินทุนไหลออกไม่ได้เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ ‘ค่าเงินบาท’ อ่อน
2.เงินทุนไหลออก เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนความจริงหรือไม่
คำตอบ คือ ไม่
เพราะค่าเงินบาทที่เราคิด ปกติเราจะคิดค่าเงินบาทเทียบเป็นดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งล่าสุดเงินบาทอยู่ที่ 36.86 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ถามว่า 36 บาท คืออะไร ก็ตอบว่า มันคือราคาของเงินดอลลาร์ฯ เหมือนกับเราบอกว่าราคาเสื้อตัวนี้ 100 บาท มันก็คือ ราคาของเสื้อ
คือ เมื่อไหร่ที่ราคาของดอลลาร์ฯมันขึ้น ขึ้นด้วยปัจจัยว่าเฟด (ธนาคารกลางสหรัฐ) จะทำอะไร ปัจจัยของโลก และอะไรต่างๆ ถ้าดอลลาร์ขยับ บาทต่อดอลลาร์ฯก็ต้องขยับ เมื่อไหร่ที่ดอลลาร์ฯแข็ง บาทก็ต้องอ่อน ซึ่งเป็นสิ่งที่เราเห็นตอนนี้
ถามว่าตัวนี้ เป็นปัจจัยหลักที่กำหนดการเคลื่อนไหวของค่าเงิน ราคาของค่าเงินบาทหรือไม่
ถ้าเราไปวิเคราะห์ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่าการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท 86% มาจากปัจจัยภายนอก ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องอะไรของเรา ไม่ได้เกี่ยวกับดอกเบี้ยเรา ไม่ได้เกี่ยวกับเหตุการณ์หรือสภาวะเศรษฐกิจของเรา เกี่ยวกับปัจจัยต่างประเทศเป็นหลักเลย
โดยมีตัวอย่างว่า เงินทุนไหลเข้าไทย แต่เงินบาทก็อ่อนได้ ซึ่งเราก็เห็นในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. คือ เงินทุนในหลักทรัพย์เข้ามาในประเทศ แต่ค่าเงินก็อ่อนค่า ไม่จำเป็นต้องเป็นว่า เงินทุนไหลเข้า บาทต้องแข็ง เงินทุนไหลออก บาทต้องอ่อน โดยราคาบาทต่อดอลลาร์ จะขึ้นกับราคาของดอลลาร์ฯ
“ในช่วงหลังการอ่อนค่าของค่าเงินบาท ไม่ได้มาจากเรื่องเงินทุนไหลออกเลย เพราะว่า Fact มันไม่ใช่”
@ตัวเลข ‘เงินทุนสำรองฯ’ ลดลง เพราะการเปลี่ยนแปลงมูลค่าสินทรัพย์
3.เงินทุนไหลออก ค่าเงินอ่อน แบงก์ชาติต้องเข้ามาแทรกแซง ทำให้ทุนสำรองฯลดลงมาก
อันแรกเลย การที่เรามีนโยบายการเงินแบบ Floating Exchange Rate (อัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว) ไม่ได้ Fixed ค่าเงินไว้ ทำให้ความจำเป็นของเรา ที่ต้องเข้ามาพยุงค่าเงินบาทน้อยลงไปเยอะ ไม่เหมือนกับสมัยปี 2540 ซึ่งเรา Fixed เรื่องค่าเงิน
ที่สำคัญ ตัวเลขที่เราเห็นและสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงของทุนสำรองฯ จริงๆไม่ได้มาเฉพาะจากการที่มีการเข้าไปในตลาด แต่การเปลี่ยนเปลี่ยนของทุนสำรองมาจาก 3 เรื่องด้วยกัน ได้แก่
ผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุน ถ้าได้ผลตอบแทนที่เป็นบวก ทุนสำรองฯก็เพิ่ม ถ้าผลตอบแทนติดลบ ทุนสำรองฯก็จะหด
การดำเนินนโยบายค่าเงินของ ธปท. เช่น ธปท.เข้าไปขายดอลลาร์ฯ เพื่อดูแลค่าเงิน ทุนสำรองฯก็จะลดลง
แต่มีอีกประเด็นที่สำคัญ โดยเฉพาะในยามนี้ คือ การตีมูลค่าหลักทรัพย์ (Valuation)
ซึ่งก็คือ ช่วงที่ดอลลาร์ฯแข็ง สินทรัพย์ที่อยู่ในสกุลอื่นๆ ถ้าวัดเป็นดอลลาร์ฯจะลดลง ซึ่งเป็นตัวสำคัญที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงทุนสำรองฯตามตัวเลข เป็นไปในทิศทางนั้น เพราะอย่างที่ทราบกันธนาคารกลางทุกที่ ไม่ได้ถือทุนสำรองฯไว้เฉพาะเป็นเงินดอลลาร์ฯ แต่ถือเป็นอย่างอื่นด้วย
เช่น มีประเทศหนึ่งถือทุนสำรองฯเป็นทองทั้งหมดเลย ถ้าราคาทองเทียบกับดอลลาร์ฯลดลงมา 5% คือ ดอลลาร์ฯแข็ง แล้วราคาทองลงมาเทียบกับดอลลาร์ฯ ทุนสำรองฯของประเทศนั้น ก็จะลดลง 5%
"ที่มาของการเปลี่ยนแปลงทุนสำรองฯมาจากหลายปัจจัย และความจำเป็นของเราที่ต้องเข้าก็น้อยลง เพราะเราใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัว"
@ทุนสำรองฯของไทยสูงติดท็อปของโลก-เงินไหลออกไม่น่ากังวล
4.ค่าเงินบาทอ่อน ทุนสำรองฯลดลง ไปกระทบเสถียรภาพของไทยคล้ายกับวิกฤติปี 2540
ที่มีคนเขาเรียกว่า perfect storm เรื่องอันโน้น อันนี้สารพัด แต่ถ้าไปดูสถานการณ์ของเรากับประเทศที่เจอวิกฤติ เช่น ศรีลังกา ต่างกันโดยสิ้นเชิง
ทุนสำรองฯของเราตอนนี้ ถึงแม้มันจะดูว่ามีการลดลง จากการดูแลเรื่องค่าเงิน หรือจาก Valuation change (การเปลี่ยนแปลงมูลค่า) หรือจากผลตอบแทนการลงทุน
ซึ่งตอนปี 2540 เรามีทุนสำรองฯ 9,000 ล้านดอลลาร์ฯ แต่ตอนนี้มี 2.47 แสนล้านดอลลาร์ฯ ถามว่ามันพอไหม เราต้องเทียบกับความต้องการจะใช้เงินตราต่างประเทศ โดยเฉพาะหนี้ต่างประเทศระยะสั้นของเรามีเท่าไหร่
เพราะว่าถ้าประเทศขาดเสถียรภาพ มีความเปราะบาง แล้วเจ้าหนี้เขาเรียกหนี้คืน เหมือนกับที่เราเจอตอนปี 2540 ถ้าเขาดูแล้วว่าถ้าเรียกหนี้คืน แล้วประเทศไม่มีเงินทุนสำรองฯพอ เขาจะตกใจ และรีบเรียกหนี้คืนไป ถ้าไม่เรียกหนี้คืนก็จะไม่ได้เงิน เงินต่างประเทศก็ไหลออก ทุนสำรองฯก็จะหาย
แต่ของเราทุนสำรองระหว่างประเทศเมื่อเทียบกับหนี้ต่างประเทศระยะสั้น มีประมาณ 2.6 เท่า
พูดง่ายๆ คือ ถึงแม้เขาจะเรียกหนี้ต่างประเทศทั้งหมด ทุนสำรองระหว่างประเทศก็มีพอ เขาจึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องเรียกหนี้ เพราะเขารู้สึกว่าปลอดภัย และถ้าเทียบอันดับในโลก ทุนสำรองของเรากับหนี้ต่างประเทศ เราอยู่ในอันดับท็อปๆของโลก
ในแง่เสถียรภาพอะไรต่างๆ ภาพไม่ได้น่าห่วงขนาดนั้น ผลของการที่ค่าเงินอ่อน ถามว่าน่าเป็นห่วงเหมือนเมื่อปี 2540 หรือไม่ คำตอบก็คือ ไม่ เพราะหนี้ต่างประเทศของเรา สมัยปี 2540 เหตุผลที่เรากลัวมากเรื่องค่าเงินอ่อน เป็นเพราะว่าหนี้ต่างประเทศเราเยอะ
ตอนที่บริษัทฯมีหนี้ต่างประเทศเยอะ ถ้ากู้มา 100 ล้านเหรียญ แล้วค่าเงินบาทวิ่งไปที่เกือบ 25 บาท กลายเป็น 52 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ การค้างหนี้ในรูปเงินบาทจะเพิ่มขึ้น 2 เท่า แต่ตอนนี้ ถึงแม้บาทวิ่งขึ้นไป อ่อนสุดในรอบเท่าโน้นเท่านี้ปี
เมื่อหนี้ต่างประเทศของเราไม่ได้สูงอย่างนั้น ผลกระทบเรื่องเสถียรภาพการเงินจากการที่ค่าเงินบาทอ่อน ก็ไม่ได้มาก ซึ่งเราก็ไม่ได้อยากเห็นการขึ้นของอัตราแลกเปลี่ยนเร็วขนาดนี้ แต่มันมาจากปัจจัยภายนอก มาจากดอลลาร์ฯ โดยค่าเงินที่อ่อน ทำให้สินค้านำเข้าแพงขึ้น และไปซ้ำเติมผลของเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราเป็นห่วง และไม่อยากเห็น
“ไม่ได้บอกนะว่า มันไม่มีเรื่องที่น่าห่วง มันมี แต่ถามว่าผมกังวลเรื่องนี้ที่สุดหรือเปล่า คำตอบก็คือ ไม่ สิ่งที่ผมกังวลเรื่องเดียว คือ เราอยากเห็นการฟื้นตัวของเราที่ต่อเนื่อง และถ้าเราจะเห็นแบบนั้น รายได้ต้องกลับมา ซึ่งตัวที่ไปกระทบกับรายได้ คือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว อันนี้เป็นความเสี่ยงที่เราต้องห่วง น่าใส่ใจ
ส่วนเรื่องเงินทุนเคลื่อนย้าย เรื่องอะไรพวกนี้ ด้วยบริบทของเราปัจจุบัน เราจับตามอง ไม่ได้ชะล่าใจ เรามอนิเตอร์ตลอดเวลา แต่จุดนี้ไม่ใช่ตัวที่น่ากังวลขนาดที่จะไปกระทบเรื่องเสถียรภาพ และทำให้การฟื้นตัวของเราสะดุด”
@ค่า ‘บาทอ่อน’ ไม่ได้เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ ‘เงินเฟ้อ’ เพิ่ม
เราไม่ได้มีเป้าว่าอัตราแลกเปลี่ยนควรเป็นเท่าไหร่ ไม่มีการเซ็ตไว้ว่าการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนห้ามกันเท่านั้น เท่านี้ ทิศทาง เราปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด แต่สิ่งที่เราไม่อยากเห็น คือ การปรับตัวที่เร็วเกินไป จนทำให้ผู้ประกอบการปรับตัวไม่ทัน จึงทำให้บางช่วง บางจังหวะ เราต้องเข้าไปช่วยดูแลค่าเงิน
ถามว่าการที่ค่าเงินมันอ่อน แล้วส่งผลต่อเงินเฟ้อหรือไม่
แต่ถ้าดูจะเห็นว่าเงินเฟ้อที่ขึ้นมา หลักๆไม่ได้มาจากค่าเงินบาทที่อ่อน แต่มาจากราคาพลังงานมากกว่า ที่ทำให้เงินเฟ้อพุ่งเยอะ ถามว่าเราทำอะไรกับตัวนี้ได้หรือเปล่า คำตอบก็คือ ไม่ได้ ซึ่งในบางประเทศเขาจะเข้ามาด้วยมาตรการอื่น เช่น มาตรการฝั่งการคลัง มาอุดหนุนพลังงานนั่นอีกเรื่อง
ส่วนหน้าที่ของเราในเรื่องเงินเฟ้อ คือ การทำให้ราคาที่เพิ่มขึ้น ไม่ทำให้การคาดการณ์เงินเฟ้อ หรือเครื่องยนต์เงินเฟ้อติด เราจึงทำเรื่องนโยบายการเงินฝั่งดอกเบี้ย
“สิ่งที่เราไม่อยากเห็น คือ การขึ้นของค่าเงินบาทไม่ได้มาจากปัจจัยพื้นฐาน เช่น มาจากการเก็งกำไรต่างๆ แต่บางทีการเคลื่อนไหวของค่าเงิน มันมาจากปัจจัยที่จริง คือ เรื่องเฟด (ธนาคารกลางสหรัฐ) เช่น ถ้าเฟดบอกว่าจะเหยียบเบรกแรงขึ้นกว่าเดิม ก็เป็นเรื่องปกติที่ดอลลาร์จะต้องแข็ง และบาทก็ต้องอ่อน แต่เราดู Speed ไม่ให้มันมากเกินไป
แต่ถ้าเป็นเงินทุนเคลื่อนย้ายที่เข้ามาเก็งกำไร ที่ไม่มีที่มาที่ไป เราจะต้องเข้าไปดูทั้งที่มาของการเคลื่อนไหวว่า มาจากตรงไหน และดูเรื่อง Speed ซึ่งค่าเงินบาทจะผันผวนอย่างนี้ แต่ในท้ายที่สุดแล้ว สิ่งที่เราอยากเห็น คือ ผู้ประกอบการต้องทำ Hedging (ประกันความเสี่ยงค่าเงิน) ให้มากขึ้น แต่ก็เข้าใจว่าต้นทุนมันสูง แต่ก็ลดลงมาแล้ว”
(ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ)
@จับตาค่าเงินบาท ‘พลิกกลับ’ หากเงินเฟ้อสหรัฐถึงจุดพีค
เรื่องเสียงบ่นทำใจเถอะ แข็งก็บ่น อ่อนก็บ่น เพราะคนที่ได้ประโยชน์เขาจะเงียบ ส่วนคนที่โดนเขาจะบ่น
สมมติบอกว่า เราไม่ต้องการให้อ่อน ให้ค่าเงินบาท Fixed กับเงินดอลลาร์ฯ ไว้ระดับหนึ่ง ผลที่ตามมา คือ เงินบาทเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นจะแข็ง จึงเป็นที่มาที่เราปล่อยให้ลอยตัว
“ในเชิงพื้นฐานของเรา ในแง่ต่างประเทศ เราไม่ได้ weak (อ่อนแอ) ขนาดนั้น ทุนสำรองฯก็เยอะ หนี้ต่างประเทศก็น้อย ดุลบัญชีเดินสะพัดตอนนี้ติดลบ เดี๋ยวท่องเที่ยวกลับมาก็เป็นบวก sentiment ก็มีโอกาสสวิง อย่างสหรัฐ ตอนนี้ทุกคนก็เฮโลไปฝั่งนี้ฝั่งเดียว
แต่ตอนที่มันพลิก ซึ่งโอกาสพลิกมันมี เช่นว่า ถ้าเมื่อไหร่ที่เงินเฟ้อในสหรัฐพีค sentiment ที่โน่นเปลี่ยนแล้ว แล้วของเรา ถ้าเขาเห็นตัวเลขท่องเที่ยวกลับมาดี ตอนนั้น sentiment จะกลับ จึงย้ำว่าขอให้ Hedging กันเถอะ เพราะไม่มีใครรู้ว่าระยะเวลาของการปรับเปลี่ยนเป็นอย่างไร”
อ่านประกอบ :
กลับสู่ภาวะปกติ!‘ผู้ว่าฯธปท.’ชี้ไม่ได้ขึ้น‘ดอกเบี้ย’ทีเดียวแล้วจบ-คาดGDPไตรมาส 2 โต 3%
‘ผู้ว่าฯธปท.’ชี้บาทอ่อนสุดในรอบ 7 ปี เหตุดอลลาร์ฯแข็ง-ย้ำไม่จำเป็นต้องขึ้น‘ดบ.’ตามเฟด
เปิดรายงาน กนง. : ขึ้น'ดอกเบี้ย'ในช่วงเวลาเหมาะสม-'บาท'อ่อนสอดคล้องค่าเงินในภูมิภาค
ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ : ‘ความเสี่ยงไปอยู่ที่การดูแลเงินเฟ้อ-ขึ้นดอกเบี้ยเป็นสิ่งที่จำเป็น’
น้ำมัน-อาหารแพง! 'กนง.'ปรับเป้าเงินเฟ้อฯคาดพุ่งแตะ 4.9%-หั่นจีดีพีปีนี้เหลือโต 3.2%
กนง.มีมติเอกฉันท์คงดบ.นโยบาย 0.5% ต่อปี-มองแรงกดดัน'เงินเฟ้อด้านอุปสงค์'อยู่ในระดับต่ำ
'ธปท.'จ่อปรับคาดการณ์'เงินเฟ้อ'เกิน 1.7%-เชื่อราคา'น้ำมัน-หมู'ลด ช่วงครึ่งหลังของปี
มติเอกฉันท์! กนง.คงดอกเบี้ยนโยบาย 0.5% ต่อปี หนุนศก.ฟื้นตัว-เงินเฟ้อปี 65 สูงเกินคาด
กนง.มีมติเอกฉันท์คงดบ. 0.5% ต่อปี มองจีดีพีปีหน้าโต 3.4%-'โอไมครอน'อาจยืดเยื้อกว่าคาด
'กนง.-กนส.'จับตาความเสี่ยง‘หนี้ครัวเรือน-ตลาดบอนด์ผันผวน'-เกาะติดผลกระทบ'โอไมครอน'